ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

“มิชชั่น: อิมพอสซิเบิ้ล” ของศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ในฐานะนักวิชาการมุสลิมด้านสันติวิธีศึกษา ผู้ทำงานเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงกับภาครัฐ

25
มกราคม
2568

Focus

  • บทความนี้เสนอประวัติชีวิตด้านการทำงานสันติวิธีของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ทั้งในด้านองค์กรสันติวิธีต่าง ๆ และในทางวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ข่าวสารสันติภาพ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พ.ศ. 2531 ซึ่งเป็นสถาบันสันติศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่สันติวิธีในแนวคิดของศาสนาอิสลามในเชิงวิชาการ ส่วนผลงานสำคัญยิ่งของศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ได้แก่ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ที่เป็นผู้ริเริ่มการเจรจาสันติภาพในทางลับระหว่างรัฐไทยและตัวแทนของขบวนการติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ในทางวิชาการศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ ได้รับรางวัลกีรตยาจารย์ (พ.ศ. 2549) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่มีความเป็นเลิศในฐานะครู อาจารย์ และนักวิชาการ และยังได้รับรางวัลนักสันติวิธีดีเด่นระดับโลก จากสมาคมวิจัยสันติภาพนานาชาติ และรางวัลเกียรติคุณในด้านการศึกษาสันติวิธี

 


ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักทฤษฎีด้านสันติวิธีและความไม่รุนแรงทางการเมือง
และอดีตกรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
(25 มกราคม 2498-27 มิถุนายน 2567)

 

ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปในประเทศไทยและทั่วโลกในฐานะนักวิชาการด้านสันติวิธีคนสำคัญ ด้วยอาจารย์ชัยวัฒน์มุ่งมั่นท้าทายมายาคติที่แวดล้อมแนวคิดเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรง พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกการไม่ใช้ความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์ตลอดช่วงชีวิตของท่าน อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นทั้งผู้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านสันติศึกษาแห่งแรกในประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังเคยร่วมงานกับสถาบันการศึกษาวิจัยด้านสันติภาพและสันติวิธีนานาชาติเป็นจำนวนมาก ท่านเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการด้านสันติวิธีในสมาคมวิจัยสันติภาพนานาชาติ (International Peace Research Association, IPRA) และเคยทำดำรงตำแหน่งกรรมการใน ‘International University for Peoples’ Initiative for Peace ณ เมืองโรเวอเรโต ประเทศอิตาลี อาจารย์ชัยวัฒน์ เคยได้รับรางวัล “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์” ใน พ.ศ. 2549 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งรางวัลศรีบูรพา และรางวัล International El-Hibri Peace Education Prize ซึ่งมอบให้แก่ผู้อุทิศตนที่ทำงานด้านสันติภาพและสันติวิธี ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. 2555

ในขณะที่งานด้านสันติวิธีศึกษาและความสำเร็จ ตลอดจนรางวัลต่าง ๆ ที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ ได้รับตลอดช่วงชีวิตของท่านนั้นเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนที่อาจเป็นที่รับรู้กันน้อยกว่าอาจคือแง่มุมที่ว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ มีมุมมองต่องานสันติวิธีศึกษาที่ท่านทุ่มเทตลอดช่วงชีวิตของท่านอย่างไร บรรดาลูกศิษย์และคนใกล้ชิดของอาจารย์ชัยวัฒน์ ต่างรับรู้กันดีว่าทุกครั้งที่เสียงเพลงจากภาพยนตร์ “มิชชั่น: อิมพอสซิเบิ้ล” ซึ่ง อาจารย์ชัยวัฒน์ เลือกตั้งเป็นเสียงริงโทนประจำตัวในโทรศัพท์มือถือของท่านอยู่หลายปีดังขึ้นนั้น อาจารย์ชัยวัฒน์กำลังจะต้องไปปฏิบัติภารกิจ “มิชชั่น: อิมพอสซิเบิ้ล” ในงานสันติวิธีและการสร้างสันติภาพ ณ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทยหรือที่ไหนสักแห่งในโลกอีกครั้งแล้ว

ในฐานะนักวิชาการด้านสันติวิธีศึกษาผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม อาจารย์ชัยวัฒน์ หรือในชื่อทางศาสนาอิสลามว่า Qader Muheideen เป็นที่รู้จักไม่เพียงเพราะท่านมีคุณูปการต่อสันติวิธีศึกษาผ่านการนำเสนอมุมมองของศาสนาอิสลาม หากยังรวมถึงการทำงานด้านการไม่ใช้ความรุนแรงกับองค์กรภาครัฐ ซึ่งตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดเกี่ยวกับรัฐอันแพร่หลายของ Max Weber ที่ว่ารัฐเป็นสถาบันทางการเมืองที่ผูกขาดการใช้ความรุนแรงนับตั้งแต่การก่อกำเนิดรัฐสมัยใหม่เป็นต้นมา[2]

 

 

ในฐานะนักวิชาการด้านสันติวิธีศึกษาผู้นับถือศาสนาอิสลาม อาจารย์ชัยวัฒน์ ได้นำเสนอแนวคิดการไม่ใช้ความรุนแรงในมุมมองของศาสนาอิสลามผ่านงานวิจัยและงานเขียนของท่านหลากหลายชิ้น งานเขียนเหล่านี้จำนวนมากถูกแปลและตีพิมพ์ในภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอารบิก อินโดนีเซีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน ญี่ปุ่นและเกาหลี งานเขียนเช่น Islam and Nonviolence (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1993) เป็นผลงานที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ และเกล็น ดี. เพจ (Glenn D. Paige) อาจารย์ของท่าน ร่วมกันสำรวจและนำเสนอข้อถกเถียงว่าการไม่ใช้ความรุนแรงหาใช่แนวความคิดที่แปลกแยกจากศาสนาอิสลามแต่อย่างใด[3] หนังสือ The Life of This World: Negotiated Muslim Lives in Thai Society (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2005) เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อเขียนกว่าสองทศวรรษของ อาจารย์ชัยวัฒน์ ว่าด้วยชีวิตและมุมมองของมุสลิมผู้เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย[4] ในหนังสือ Nonviolence and Islamic Imperatives (ตีพิม์เมื่อ ค.ศ. 2017) อาจารย์ชัยวัฒน์นำเสนอแนวคิดการไม่ใช้ความรุนแรงในศาสนาอิสลาม ผ่านการวิเคราะห์ตัวบททางศาสนาและตัวอย่างการไม่ใช้ความรุนแรงร่วมสมัยของชาวมุสลิมทั่วโลก[5] ในโลกที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) อาจารย์ชัยวัฒน์ อุทิศชีวิตของท่านเพื่อมุ่งท้าทายมายาคติเรื่องความรุนแรงในศาสนาอิสลาม และถกเถียงว่าการไม่ใช้ความรุนแรงและศาสนาอิสลามนั้นหาได้ขัดแย้งกันแต่อย่างใด

 


The Prince Second Edition Second Edition Niccolò Machiavelli
ที่มา : The University of Chicago Press

 

นอกจากบทบาทในฐานะนักวิชาการมุสลิมด้านสันติวิธีศึกษาแล้ว “มิชชั่น: อิมพอสซิเบิ้ล” สำคัญอีกประการของ อาจารย์ชัยวัฒน์ คือการทำงานด้านการไม่ใช้ความรุนแรงกับภาครัฐ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ความคิดที่จะชี้ชวนให้ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญและความเป็นไปได้ในการไม่ใช้ความรุนแรงของ อาจารย์ชัยวัฒน์ อาจเริ่มต้นขึ้นในช่วงที่ท่านกำลังศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิตอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawai’i at Mãnoa) ในช่วงทศวรรษที่ ค.ศ. 1970 และ ค.ศ. 1980 ด้วย อาจารย์ชัยวัฒน์ มีความสนใจในทฤษฎีการเมืองและการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นพิเศษ จึงเลือกเขียนวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อ “เจ้าผู้ปกครองที่ไม่ใช้ความรุนแรง” (The Nonviolent Prince) โดยเลือกจะตีความหนังสือ “เจ้าผู้ปกครอง” (The Prince) ที่นักปรัชญาการเมืองนามอุโฆษ นิโคโล มาคิอาเวลลี (Niccolò Machiavelli) ประพันธ์ขึ้นในศตวรรษที่ 16 เสียใหม่ จากเดิมที่หนังสือ เจ้าผู้ปกครอง มักถูกขนานนามว่าเป็นคู่มือแห่งการปกครองและใช้อำนาจอย่างโหดเหี้ยม ทว่าในวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตของ อาจารย์ชัยวัฒน์ กลับพยายามนำเสนอให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของ “การเมืองแห่งการไม่ใช้ความรุนแรง” และการปกครองที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงทางกายภาพ[6]

หลังจากเรียนจบในระดับดุษฎีบัณฑิต อาจารย์ชัยวัฒน์เดินทางกลับมาสอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และก่อตั้ง “ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ” ขึ้นใน พ.ศ. 2531 ถือเป็นสถาบันสันติศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยและสะท้อนความเชื่อหลักของอาจารย์ชัยวัฒน์ที่ว่าสังคมไทยจำเป็นต้องรับมือกับความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างสร้างสรรค์บนฐานของความรู้เป็นสำคัญ นอกจากนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ ยังเปิดสอนวิชา “สัมมนา: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง” ขึ้นในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นการเปิดสอนวิชาความรุนแรงและสันติวิธีในระดับมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย[7] และท่านยังมักเขียนบทความ กล่าวปาฐกถา เป็นวิทยากรและให้สัมภาษณ์เพื่อเตือนสติสังคมไทยเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งสำคัญอยู่เสมออีกด้วย

ด้วยความเชื่ออันหนักแน่นในเรื่องการเมืองเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง อาจารย์ชัยวัฒน์ มีส่วนผลักดันให้มีการก่อตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีขึ้นภายใต้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2544 โดย “ทำหน้าที่ตรวจสอบประเมินสถานการณ์เตือนภัย และเสนอแนวทางการป้องกันและจัดการปัญหาความขัดแย้ง โดยสันติวิธีต่อรัฐบาลและสาธารณชน รวมทั้งเผยแพร่ ประสานความเข้าใจแนวทางสันติวิธีในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งให้เป็นจุดยืนและทิศทางของชาติ และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของสันติภาพและการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี”[8] คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ตลอดจนนักวิชาการ ไม่เพียงริเริ่มนโยบายและข้อเสนอเกี่ยวกับสันติวิธีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐและสังคมไทยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการสานเสวนา (ซึ่งบ่อยครั้งเกิดขึ้นในทางลับ) ระหว่างคู่ขัดแย้งทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและประชาชน[9] ทั้งที่เป็นกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งความขัดแย้งและรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ตัวอย่างของผลงานสำคัญของคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ได้แก่ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ที่ระบุให้ “องค์กรรัฐให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นการนำเสนอนวัตกรรมความมั่นคงของชาติที่ให้ความสำคัญในการปกป้องวิถีชีวิตด้วยสายสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ทั้งระหว่างผู้คนทุกหมู่เหล่าและระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยสันติวิธี ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบัน ลดความขัดแย้งที่ไม่จําเป็นในอนาคต และเป็นการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ...เน้นการเสริมสร้างพลังความสามัคคี บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ในบรรยากาศของการมีทัศนคติที่ดีห่วงใย เอื้ออาทร ทําให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บนพื้นฐานของความหลากหลายในวิธีคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรม โดยอาศัยจินตนาการและพลังปัญญา พร้อมเผชิญและเรียนรู้การแก้ไขปัญหาร่วมกันและไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันเมื่อเกิดความขัดแย้งหรือความเห็นต่างกัน”[10]

นอกจากนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธียังมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ภาครัฐยอมรับชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ “อย่างมีความสุข บนเอกลักษณ์เฉพาะของศาสนาและวัฒนธรรม”[11] และเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีนี้เองที่เป็นผู้ริเริ่มการเจรจาสันติภาพในทางลับระหว่างรัฐไทยและตัวแทนของขบวนการติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้[12] ซึ่งยังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 


โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung)
ที่มา : Johan Galtung, “the father of peace studies,” dies at 93

 

ใน พ.ศ. 2548 หลังจากที่ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้นอีกครั้งและดำเนินไปร่วมปี อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้น “เพื่อให้บุคคลจากส่วนต่าง ๆ ของสังคม มาร่วมแรงร่วมใจกันหาทางยุติปัญหาดังกล่าวของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ สันติสุข และความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง”[13] กอส. ประกอบด้วยกรรมการทั้งจากภาคการเมือง หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 50 คน อาจารย์ชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ยกร่างรายงาน กอส. โดยอาศัยกรอบแนวคิดเรื่องสามเหลี่ยมความรุนแรง (Triangle of violence) ของโยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) เพื่ออธิบายว่าความรุนแรงทางกายภาพที่ปะทุขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นผลจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน

นอกจากนี้ ในรายงาน กอส. ยังได้นำเสนอ “วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย” ทั้งมาตรการสมานฉันท์เฉพาะหน้า เช่น การจัดตั้งหน่วยสันติเสนาหรือกองกำลังไม่ติดอาวุธเพื่อปฏิบัติงานสร้างสันติในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ และมาตรการสมานฉันท์ยั่งยืน ที่มุ่งแก้ปัญหาความรุนแรงที่เชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม เช่น การออกกฎหมายให้ชุมชนมีสิทธิจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานความเชื่อทางศาสนา ประกาศให้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาทำงาน (working language) เพิ่มเติมอีกหนึ่งภาษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญความขัดแย้ง เป็นต้น[14]

นอกจากนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ยังเป็นครูที่ทุ่มเทให้กับการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และเมตตาต่อศิษย์อยู่เป็นนิจ เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาในระดับปริญญาตรีอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีโอกาสได้เรียนวิชา “สัมมนา: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง” กับ อาจารย์ชัยวัฒน์ พร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนมากหน้าหลายตา ทั้งที่เป็นนักศึกษาในคณะรัฐศาสตร์เองและนักศึกษาต่างคณะ ขณะที่ผู้ร่วมชั้นเรียนอีกจำนวนไม่น้อยเป็นคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียนวิชานี้ กระทั่งไม่ใช่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เป็นที่ทราบกันดีว่าในชั้นเรียนที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ เปิดสอนนั้นจะมีผู้คนมากหน้าหลายตามาร่วมแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนเช่นนี้อยู่เสมอ อาจเพราะด้วยเหตุนี้ผู้คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ลูกศิษย์ของอาจารย์ชัยวัฒน์” จึงไม่เคยจำกัดอยู่เพียงแค่นักศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ หรือกระทั่งนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เลย

ในทำนองเดียวกัน เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาช่วยงานที่ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ หนึ่งในภาพที่เห็นจนชินตาคือภาพที่ผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งที่เป็นนักศึกษาและไม่ใช่นักศึกษาแวะเวียนมาขอพบ อาจารย์ชัยวัฒน์ เพื่อขอคำปรึกษาทั้งในเรื่องวิชาการและการใช้ชีวิต และไม่ว่าการงานในวันนั้นของอาจารย์ชัยวัฒน์ จะยุ่งเพียงใด แต่อาจารย์ก็มักพยายามหาเวลาพูดคุยและให้คำแนะนำแก่คนเหล่านั้นอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องสมควรยิ่งที่ใน พ.ศ. 2549 อาจารย์ชัยวัฒน์ จะได้รับรางวัลกีรตยาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลผู้มี “คุณสมบัติ ทั้งทางด้านคุณธรรม ความสามารถในการสอนและมีความประพฤติเป็นแบบอย่างสมฐานะความเป็นครู เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางสำหรับประชาคมธรรมศาสตร์ รวมถึงความเป็นนักวิชาการที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ”[15]

 


นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เขียนคำอาลัยถึงศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

ทว่า ยิ่งกว่าความสำเร็จและรางวัลทั้งหมดนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์ “เป็นมนุษย์ที่อ่อนโยน มีน้ำใจและมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม”[16] นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้เขียนคำอาลัยถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ ด้วยข้อความส่วนตัวว่า “แม้ในขณะที่ข้าพเจ้ากล่าวคำอำลาต่อจิตวิญญาณอันน่าเคารพของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ข้าพเจ้าก็ค้นพบการปลอบประโลมในมรดกที่ชัยวัฒน์ทิ้งไว้เบื้องหลัง ข้าพเจ้าขอให้ความทรงจำของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราทั้งหลายได้เดินไปตามเส้นทางแห่งสันติภาพ แสวงหาความเข้าใจต่อกันเมื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก และสร้างโลกที่ความสามัคคีและความเคารพต่อกันเป็นสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด...เราทุกคนพึงให้เกียรติและรำลึกถึงชีวิตของชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้เป็นที่รัก ด้วยการสานต่องานของเขาเพื่อให้ประเทศไทยและโลกที่ไม่ใช้ความรุนแรงเป็นไปได้จริง”[17]

 

หมายเหตุ :

  • รูปแบบการอ้างอิงทางวิชาการเป็นไปตามต้นฉบับ
 

[1] เกี่ยวกับผู้เขียน "ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์" ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] Max Weber, “Politics as a Vocation,” in Hans Heinrich Gerth and C. Wright Mills (Trans.), From Max Weber: Essays in Sociology (New York: Galaxy, 1958), 212.

[3] Glenn D. Paige Chaiwat Satha-Anand, and Sarah Gilliatt (Eds.), Islam and Nonviolence (Honolulu: Center for Global Nonviolence, 1993).

[4] Chaiwat Satha-Anand, The Life of This World: Negotiated Muslim Lives in Thai Society (Singapore: Marshall Cavendish International, 2005).

[5] Chaiwat Satha-Anand, Nonviolence and Islamic Imperatives (Sparsnäs, Sweden: Irene Publishing, 2017).

[6] See Chaiwat Satha-Anand, The Nonviolent Prince (Doctoral dissertation submitted to the Department of Political Science, University of Hawai’i at Mãnoa, 1982).

[7] ปัจจุบันนี้ ยังมีการเปิดสอน “สัมมนา: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรงทางการเมือง” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผู้เขียนเอง

[8] “แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี” ใน RYT9, https://www.ryt9.com/s/cabt/248681, ตีพิมพ์เมื่อ 5 มิถุนายน 2544, เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2568.

[9] สัมภาษณ์ คุณพิชัยรัตนพล อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566.

[10] “คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี”เข้าถึงได้ที่ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ,

https://peaceresourcecollaborative.org/deep-south/peacepolicy#, เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2568.

[11] สภาความมั่นคงแห่งชาติ, “นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2542-2546),” หน้า 4; สามรถเข้าถึงได้ที่ ศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ, https://peaceresourcecollaborative.org/deep-south/southpolicy, เข้าถึงเมื่อ 19 มกราคม 2568.

[12] สัมภาษณ์ คุณพิชัย รัตนพล. 

[13] “ภาคผนวก ก: การแต่งตั้ง ภารกิจและองค์ประกอบ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 104/2548 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2548, ที่ 132/2548 ลงวันที่ 12 เมษายน 2548 และที่ 212/2548 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2548” ใน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์: รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กรุงเทพ: คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 2548), 109.

[14] ดู “บทที่ 5 วิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย” ใน เอาชนะความรุนแรงด้วยพลังสมานฉันท์: รายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ, 58-99.

[15] “ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องรายชื่อผู้ได้รับรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549.”

[16] ข้อความดังกล่าวนี้แปลและเรียบเรียงจากข้อเขียนเพื่อรำลึกถึง อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ โดยเควิน พี เคลมอนส์ (Kevin P. Clements) ผู้อำนวยการสถาบันสันติภาพโทดะ (Toda Peace Institute) ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นถ้อยคำที่งดงามยิ่งจึงขอหยิบยกมารวมไว้ในข้อเขียนชิ้นนี้ด้วย Kevin P. Clements, “Obituary: Professor Chaiwat Satha-Anand” in Toda Institute, https://toda.org/news-and-announcements/2024/obituary-professor-chaiwat-satha-anand.html, published on 8 July 2024, accessed on 10 January 2025.

[17] แปลและเรียบเรียงจาก Anwar Ibrahim, “Deeply saddened to learn of the passing of Professor Chaiwat Satha-Anand…” in Facebook: Anwar Ibrahim, https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1049278766553690&id=100044147303672&set=a.278884863 593088, published on 28 June 2024, accessed on 10 January 2025.