ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

สร้างสรรค์ศิลป์เพื่อสันติภาพ สันติวิธีของนายปรีดี พนมยงค์ในภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก

2
กรกฎาคม
2567

Focus

  • ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนถึงงานศึกษาเรื่องสันติวิธีของปรีดี พนมยงค์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก โดยสุรัยยา (เบ็ญโส๊ะ) สุไลมาน ว่าสะท้อนให้เห็นจินตนาการแห่งสันติภาพไกลกว่า “ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์” อย่างสงครามยุทธหัตถีคือมีทฤษฎีสันติภาพและสันติวิธีเข้ากับวิธีการศึกษาในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ
  • ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกเป็นนวนิยายเมื่อสมัยที่นายปรีดี พนมยงค์ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระหว่าง พ.ศ. 2481-2484 เป็นยุคสมัยมืดมิดที่โลกตกอยู่ในสงครามโลกครั้งที่สอง นายปรีดีจึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น เพื่อต่อต้านท่าทีการกระหายสงครามที่กําลังครอบงําสังคมไทยในยุคนั้นผ่านกระแสลัทธิชาตินิยมและอํานาจทหารนิยม
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้นายปรีดีมีเป้าประสงค์ที่จะสื่อสารกับโลกสากลในเรื่องสันติภาพเพราะได้นําไปสร้างเป็นภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง เป็นเรื่องแรกของไทยแล้วนําออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2484

 

ต้นปีพุทธศักราช 2544 เกิดปรากฏการณ์ทางภาพยนตร์ที่สําคัญ เพราะมีภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสําเร็จทางรายได้มหาศาลเรื่องหนึ่ง ภาพยนตร์เรื่องนี้อิงประวัติศาสตร์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองของชาว บ้านบางระจัน ที่รวมกําลังต่อสู้กับศัตรูผู้มารุกรานอย่างหาญกล้า แม้ที่สุดบางระจันจะถูกทําลาย แต่วีรกรรมของชาวบ้านอย่างนายจัน หนวดเขี้ยว นายทองเหม็น และพระอาจารย์ธรรมโชติ ยังตราตรึงอยู่ในตําราประวัติศาสตร์ไทย และบัดนี้ด้วยอัศจรรย์แห่งเทคนิคภาพยนตร์ เหตุการณ์ในตําราประวัติศาสตร์ถูกสร้างให้สมจริงทั้งรอยเลือดและคมดาบ เพื่อที่จะได้ประทับไว้ในความทรงจําของผู้ชมสืบไปว่า เมื่อสองร้อยปีก่อน อยุธยายศล่มแล้วด้วยน้ํามือพม่าข้าศึก

ในเวลาเดียวกัน ความทรงจําแห่งความเป็นศัตรูระหว่างไทยกับพม่าก็เคลื่อนที่จากแผ่นฟิล์มสะท้อนอดีตมาสู่ปัญหาชายแดนที่ผู้คนเดือดแค้นเพราะอธิปไตยของประเทศถูกละเมิดโดยฝีมือ “ศัตรูเก่า” จนเกิดการสู้รบฆ่าฟันกันขึ้น บางระจันจึงสมจริง แต่มิใช่กับเหตุการณ์ในอดีต หากรับกับเหตุการณ์ในปัจจุบันยิ่งกว่า ไม่ว่าจะเป็นจากแง่มุมของสิ่งที่เรียกว่า “การเสียกรุงครั้งที่สามทางเศรษฐกิจ” หรือ “การรุกล้ําอธิปไตยของพม่ารามัญ” กระทั่งหลายหน่วยงานส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าชม เพื่อกระตุ้นสํานึกรักชาติให้เข้มข้นขึ้น

ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง บางระจัน

ภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก แตกต่างจาก บางระจัน มากที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะเป็นว่า ขณะที่ประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวของชาวบางระจันไว้ พระเจ้าช้างเผือก เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น เป็นนวนิยายเมื่อท่านปรีดีดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประมาณปี พ.ศ. 2481-2484 และนําไปสร้างเป็นภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง เป็นเรื่องแรกของไทย นําออกฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2484

แต่ข้อแตกต่างจาก บางระจัน ที่สําคัญยิ่งกว่า คือ ช่วงเวลาดังกล่าว เป็นยุคสมัยมืดมิดที่โลกตกอยู่ใต้ภัยมหาสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านปรีดีจึงสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น เพื่อต่อต้านท่าทีการกระหายสงครามที่กําลังครอบงําสังคมไทยในยุคนั้นผ่านกระแสลัทธิชาตินิยมและอํานาจทหารนิยม

พระเจ้าช้างเผือก จึงเป็นภาพยนตร์แห่งสันติภาพ และแตกต่างจากภาพยนตร์แนวรักชาติจําพวก บางระจัน ในปัจจุบัน หรือ ขุนศึก กับ มหาราชดำ ในอดีตอย่างสิ้นเชิง

 


ศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เขียนถึงสันติวิธีของนายปรีดี พนมยงค์ จากงานเรื่องกระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก โดย สุรัยยา ( เบ็ญโส๊ะ ) สุไลมาน

 

กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? กรณีศึกษาเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ของสุรัยยา (เบ็ญโต๊ะ) สุไลมาน เล่มนี้ เป็นงานเขียนทางวิชาการที่สําคัญ เพราะได้ทําให้เห็นว่า พระเจ้าช้างเผือก พิเศษอย่างไร

ประการแรก งานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นจินตนาการแห่งสันติภาพ ที่ไปไกลกว่า “ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์” อย่างสงครามยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชา ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะแบ่งปันจินตนาการดังกล่าวกับเพื่อนร่วมโลกในรูปของภาพยนตร์ไทยพูดภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง

ประการที่สอง งานของสุรัยยาสําคัญ ก็เพราะงานชิ้นนี้มิใช่การวิเคราะห์เนื้อหาของ พระเจ้าช้างเผือก ด้วยคําอธิบายทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากเป็นการประสมประสานทฤษฎีสันติภาพ-สันติวิธีเข้ากับวิธีการศึกษาในสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ คือศึกษาพระเจ้าช้างเผือก ในฐานะที่เป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

นานมาแล้ว Romain Rolland นักเขียนชาวสวิสนามอุโฆษ เคยอ้าง ทัศนะของลีโอ ตอลสตอย ผู้เขียน สงครามและสันติภาพ ว่า “ศิลปะจักต้องทําลายความรุนแรง และมีก็แต่ศิลปะเท่านั้นที่ทําเช่นนั้นได้”[1] งานศิลป์สามารถทําเช่นที่ตอลสตอยคิดไว้ได้ ก็เพราะงานศิลป์อาจติดปีกแห่งจินตนาการที่พามนุษย์ไปพ้นจากโลกแห่งความรุนแรง

ประการที่สาม งานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าจินตนาการแห่งสันติภาพนั้น ต้องต่อสู้กับการครอบงําของพลังแห่งความรุนแรง และการต่อสู้เช่นนี้เริ่มต้นจากการเห็นว่า ความรุนแรงมิใช่เรื่องสามัญปรกติ แต่เป็นปัญหาชนิดที่ต้องหาทางออก เช่นที่พระเจ้าจักราทรงพยายามที่จริงปัญหาความขัดแย้งมากหลายจําเป็นต้องหาทางออก แต่ทางออกที่ใฝ่สันติคือทางออกที่พยายามเอื้ออาทรต่อผู้คนทั่วไป อีกทั้งต่อต้านกับมายาคติแห่งสงคราม และความรุนแรงที่เติบโตอยู่ด้วยความเกลียดชัง และเห็นผู้คนเขาอื่นเป็น“ศัตรู” ชั่วร้าย

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี ค.ศ. 1917 Herman Hesse ชาวเยอรมันผู้เขียน สิทธารถะ ซึ่งรู้จักกันทั่วไป ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมัน คัดค้านคําปราศรัยของท่านรัฐมนตรีที่ยืนยันว่า แม้ประเทศนั้นจะใฝ่สันติภาพ แต่ด้วยความจําเป็นก็ต้องเข้าสู่สงครามอย่างกล้าหาญ Hesse เขียนว่า ถ้อยคําของท่านรัฐมนตรีขาดอะไรไปบางอย่างที่ทําให้ถ้อยคํามีคุณค่าและความหมาย เพราะ “คําของท่านขาดความรัก ไม่มีความเป็นมนุษย์” Hesse ยังชวนให้ท่านรัฐมนตรีได้หัดมองและสดับฟังสรรพสําเนียงที่ไม่ใช่ผลประโยชน์และภารกิจ แต่ให้เห็นว่า สงครามที่ท่านต้องรับผิดชอบทําให้

“โลกเต็ม ไปด้วยซากศพและคนที่กําลังจะตาย โลกแตกยับดับสลาย ไหม้เกรียม และถูกทําให้หมองเศร้า ท่านควรมองเห็นทหารกล้านอนทรมานอยู่ที่ชายแดนเป็นวัน ๆ พวกเขาตาย ทั้งที่ไม่สามารถยกมืออันยับเยินปัดแมลงวัน ที่มาตอมตามแผลบนร่างได้ ท่านควรจะต้องได้ยินเสียงของคนเจ็บ เสียงคร่ําครวญของคนเสียสติ เสียงประท้วงกันว่าของบรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ ของเจ้าสาวและสตรีมากหลาย และเสียงร่ําร้องด้วยความหิวโหยของผู้คน”[2]

“พระเจ้าช้างเผือก” ชี้ให้เห็นว่า จินตนาการของผู้เขียนคือความพยายามที่จะไม่เห็นสามัญชนเป็นศัตรู อีกทั้งไม่ปรารถนาให้ใครอื่นต้องรับทุกข์ การต่อสู้ระหว่างพระเจ้าจักราและพระเจ้าหงสา แม้จะไม่ใช่สันติวิธี แต่ก็เป็นการจํากัดพื้นที่แห่งการใช้ความรุนแรงอย่างสําคัญ มิให้ไปทําร้าย ทหารเล็ก คนน้อย หรือสามัญชนทั้งหลาย ได้ เช่นที่ Hesse เป็นห่วง ที่สําคัญคือ การไม่ยอมสร้างภาพผู้คนที่ไม่ใช่ “พวกเรา” ให้เป็นยักษ์มาร ก็เป็นการเปิดหนทางสู่สันติที่มีความหมายยิ่ง

งานของสุรัยยาทําให้เห็นชัดว่า หนทางสู่สันติภาพในวิธีคิดของท่าน ปรีดีที่ปรากฏอยู่ใน พระเจ้าช้างเผือก จะเป็นไปได้ก็ด้วยเริ่มจากการปฏิเสธความรุนแรง การอาศัยจินตนาการแสวงหาทางเลือกโดยมุ่งพิทักษ์คุ้มครอง คนเล็กคนน้อย ผสานกับการไม่เห็นผู้คนในสังคมอื่นที่ต่างจากตนเป็นศัตรู บางทีงานศิลปะจะช่วยเปิดประตูจินตนาการแห่งสันติภาพเพื่ออนาคต ของมนุษยชาติก็เป็นได้

 

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ
มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา
มีนาคม 2544

 

 

หมายเหตุ:

  • คงรูปแบบการเอนตามต้นฉบับ และปรับปรุงวรรคตอนบางส่วนโดยบรรณาธิการ

 

ภาคผนวก:

ภาพการถ่ายทำภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย :

  • สุรัยยา ( เบ็ญโส๊ะ ) สุไลมาน, กระบวนทัศน์สันติวิธีของปรีดี พนมยงค์ ? กรณีศึกษาเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์, 2544)

 


[1] Romain Rolland, Tolstoy (New York : E.P.Dutton, 1911), p. 203.

[2] Herman Hesse, "Letter to a Minister of State", in Edward Guinan (ed.) Peace and Nonviolence. (New York : Paulist Press, 1973), p.107.