ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อทหารหาญ ทำงานเสรีไทย ตอน ๑ : หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน : ท่านชิ้น แห่งกองทัพบกสยามและกองทัพบกอังกฤษ

24
เมษายน
2568

Focus

  • ชีวิตและผลงานพันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือที่รู้จักกันในนาม “ท่านชิ้น” สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของทหารในขบวนการเสรีไทยที่ไม่ได้มีเพียงแต่ขบวนการของพลเรือน
  • บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงความกล้าหาญ วิสัยทัศน์ และความเสียสละของ พันโท หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในฐานะทหารอารักขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงบทบาทในการฝึกยุทธวิธีและจัดตั้งเสรีไทยสายอังกฤษที่สำคัญคือการจัดตั้งพลพรรคทหารในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิจังหวัดตากและโดยเฉพาะปักษ์ใต้อย่าง จังหวัดนครศรีธรรมราช, ตรัง, พัทลุง, สตูล, ปัตตานี  เป็นต้น

 

“....เรื่องราวของขบวนการเสรีไทย เท่าที่มีผู้เขียน ๆ ไว้แล้ว มักจะเน้นว่าเป็นขบวนการฝ่ายพลเรือน ข้าราชการปกครองท้องถิ่น ราษฎรในท้องถิ่น เพราะผู้ก่อตั้งขบวนการคือนายปรีดี พนมยงค์ กับผู้ร่วมงานในชั้นต้นล้วนแต่เป็นพลเรือนทั้งสิ้น ผู้อ่านทั่วไปจึงอาจมองข้ามบทบาทกองทัพไทย.......... จนกระทั่งจอมพล ป. พ้นตำแหน่งบังคับบัญชาทหารแล้ว จึงชวนทหารเข้ามาร่วมในขบวนการเสรีไทยในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗ ....”

(ทศ พันธุมเสน จากมหาสงคราม สู่สันติภาพ)

 


แม่, หนุ่น (ไอ้ฟู่, ตุ๋น, Madame Kiss), พ่อ, ต้อ (หนูหนิด, Niddy, Madame Toreau)
ที่มา: ชีวิตของพ่อ "หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน"

 

จากข้อความของทศ พันธุมเสน อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “จากมหาสงคราม สู่สันติภาพ” จึงน่าสนใจศึกษาค้นคว้าว่า มีนายทหารจากกองทัพไทยผู้ใดบ้างที่มีส่วนร่วมกับขบวนการเสรีไทยในการรับใช้ชาติ มากน้อยเพียงใด ซึ่งเมื่อศึกษาแล้วพบว่า องคาพยพของกองทัพไทยสามเหล่า ภายใต้พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) แม่ทัพใหญ่ และพลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่ หลังจากจอมพล ป. พิบูลสงครามสิ้นสุดอำนาจทางทหาร มีส่วนร่วมลักลอบประสานยุทธศาสตร์กับผู้นำเสรีไทย และผู้แทนกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร มีนายทหารและหน่วยสำคัญของกองทัพบก เรือ อากาศจำนวนมากที่ดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่น

ในบทความตอนแรกจะเล่าถึง พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน นายทหารกล้าแห่งกองทัพบกไทยและกองทัพบกอังกฤษ กัลยาณมิตรเชื้อขัตติยะของนายปรีดี พนมยงค์ตราบชั่วชีวิต ในหลายบทความได้มีหลายท่านได้เขียนถึงชีวิต อุดมการณ์ ไปจนถึงปรัชญาจากการตกผลึกชีวิตของท่านเอง

ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอรื้อฟื้นบทบาทของ ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ผู้ทรงฝ่าฟันปฏิบัติงานเสรีไทย ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงกันมานานแล้ว เริ่มจากการอาสาช่วยราชการกองทัพอังกฤษเพื่อปลดปล่อยดินแดนไทย หลังญี่ปุ่นรุกราน การสร้างความเชื่อถือในขบวนการต่อต้านของไทย จากทั้งคนไทยกลุ่มต่าง ๆ และคนอังกฤษ จนถึงความกล้าหาญเยี่ยงชายชาติทหารเสี่ยงชีวิตลักลอบเข้าไปปฏิบัติงานใต้ดินในดินแดนไทย และการเปิดพระทัยยอมรับนายปรีดี พนมยงค์ อดีตปฏิปักษ์ทางการเมืองคราวปฏิวัติ ๒๔๗๕ ให้เป็นผู้นำขบวนการรับใช้ชาติ

 

นายทหารอาชีพเชื้อพระวงศ์ - ข้าพระบาท

พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์เสงี่ยม สวัสดิวัตน (ราชสกุลเดิม สนิทวงศ์) เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ (ค.ศ. 1900) ทรงเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ และทรงมีอนุชา ๒ องค์ที่จะได้เป็นเสรีไทยในเวลาต่อมาได้แก่ ม.จ.ยุธิษเสฐียร สวัสดิวัตน เสรีไทยสายอเมริกา และ ม.จ.กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน เสรีไทยสายอังกฤษ นอกจากนี้ทรงมีพระภาคินัย (หลานอา) ผู้มีชื่อเสียงอีก ๑ ท่าน คือ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

 


ร.อ. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (ซ้ายสุด) ทรงฉายกับคณะนายทหาร ชุดทดสอบรถบรรทุกปืนใหญ่กองทัพบกสยาม  เช่น ร.อ.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สี่จากซ้าย) ร.อ.หลวงสินาดโยธารักษ์ (พล.ท. ชิต ม. สินาดโยธารักษ์ ขวาสุด) ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระอินทร์สรศัลย์ (สอาด แพ่งสภา)
ที่มา: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระอินทร์สรศัลย์ (สอาด แพ่งสภา) ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร วันที่ 23 มีนาคม 2518

 

ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนทรงสำเร็จการศึกษาโรงเรียนนายร้อยทหารบกอังกฤษ และโรงเรียนนายร้อยทหารปืนใหญ่วูลิช (Royal Military Academy, Woolwich สถาบันเดียวกับที่รัชกาลที่ ๗ ทรงสำเร็จการศึกษา) แล้วเสด็จกลับประเทศสยาม พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. 1922) ทรงรับราชการในแผนกจเรทหารปืนใหญ่ และโรงเรียนทหารปืนใหญ่ ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี ในสังกัดกองทัพบกสยาม จนทรงรับยศทหารเป็นนายพันตรี ได้ทรงร่วมงานกับนายทหารปืนใหญ่ ผู้ที่จะได้เป็นบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น นายพลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศศร เกษมศรี นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน - พลเอก) นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์ (พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์) นายร้อยเอก หลวงอดุลเดชจรัส (พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส) และนายร้อยเอก หลวงสวัสดิ์กลยุทธ (สวัสดิ์ ไกรฤกษ์ - พลเอก) เป็นต้น

จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ (ค.ศ. 1930) รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าให้ ร.อ. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์เสด็จไปศึกษาต่อด้านตำรวจที่อังกฤษ (กองตำรวจสก็อตแลนด์ยาร์ด) และอเมริกา เสด็จกลับสยามภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. 1932) ทรงย้ายไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารรักษาวัง จึงมีหน้าที่ถวายอารักขาองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เจ้าเหนือหัวสูงสุดในชีวิตของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗

วีรกรรมสำคัญคือทรงคุ้มกันขบวนเสด็จในรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระบรมราชินี และพระประยูรญาติ ในคราวกบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖ (ค.ศ. 1933) จากวังไกลกังวล หัวหิน ไปยังจังหวัดสงขลา โดยทรงหลอกล่อพนักงานยึดขบวนรถไฟพาเสด็จ เพื่อหลบหลีกอิทธิพลฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏบวรเดช หากการครั้งนี้ได้ขยายความคลางแคลงระหว่างรัชกาลที่ ๗ กับรัฐบาลคณะราษฎรผู้ชนะ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จึงทรงเป็นศัตรูทางการเมืองสำหรับคณะราษฎรไปด้วย จนยุติด้วยการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๗๗ (ค.ศ. 1934) ม.จ.ศุภสวัสดิ์จึงตามเสด็จรัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระบรมราชินีไปที่อังกฤษ จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. 1939) และรัชกาลที่ ๗ เสด็จสวรรคต พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941)

 

เสรีไทยอังกฤษอาสาท่านแรก

 


พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ในเครื่องแบบนายทหารบกอังกฤษ

 

หลังจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทย ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) ด้วยความที่ พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนทรงเป็นนายทหารมาแต่ดั้งเดิม ทรงปรารถนาต่อสู้กองทัพญี่ปุ่น และทรงเชื่อว่าในประเทศไทยย่อมมีบุคคลจำนวนมากที่ต้องการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น จึงทรงอักษรไปยังเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษยามสงคราม เพื่อทรงขอร่วมมือกับกรมเสนาธิการทหารบกอังกฤษ (General Staff) ในการวางแผนแทรกซึมดินแดนไทย

หลังจากนั้นต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1942) ทรงรับสาสน์ตอบกลับจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ยินดีที่จะทรงร่วมมือสู้ญี่ปุ่น โดยทรงรับบรรจุกรมเสนาธิการอังกฤษ ทรงรับภารกิจทำแผนที่ประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยสภาพที่ตั้งภูมิศาสตร์ เส้นทางคมนาคม เมืองหลวงและเมืองสำคัญ และทรงเสนอแผนการคร่าว ๆ ทรงประเมินว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านญี่ปุ่น ในชั้นต้นทหารอาสาเสรีไทยจากอังกฤษ จะแทรกซึมและชักชวนคนไทยตั้งขบวนการใต้ดินต่อสู้กองทัพญี่ปุ่น

 


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2447-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527)
ที่มา: ขบวนการเสรีไทย : ภารกิจร่วมเพื่อชาติ และสัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับปรีดี-พูนศุข

 

พร้อมกันนี้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และพระประยูรญาติฝ่ายใน ทรงอาสางานกาชาดและงานแนวหลังแก่รัฐบาลอังกฤษอยู่เสมอ จนสิ้นสงคราม กับทั้งทรงสนับสนุนปฏิบัติงานเสรีไทยสายอังกฤษ โปรดพระราชทานเลี้ยงอาหาร เป็นมิ่งขวัญแก่เสรีไทยในอังกฤษทุกคนจนสิ้นสงคราม

 


นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในเครื่องแบบชุดพันตรีแห่งกองทัพบกอังกฤษ
ที่มา: ป๋วย อึ๊งภากรณ์ : ทหารชั่วคราว

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้กลุ่มนักเรียนอังกฤษนำโดยนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายเสนาะ นิลกำแหง และนายเสนาะ ตันบุญยืน ได้รวมตัวขึ้นเสรีไทยสายอังกฤษ มีนายมณี สาณะเสนได้ช่วยประสานการจัดตั้งกลุ่มร่วมกับเสรีไทยสายอเมริกา โดยที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงประสานกับกระทรวงกลาโหมอังกฤษ ให้รับนักเรียนไทยในอังกฤษกลุ่มนี้บรรจุฝึกทหาร ซึ่งในชั้นแรกได้บรรจุประจำกองทหารโยธา (Pioneer Corps) อันเป็นหน่วยทหารที่มีเกียรติภูมิต่ำต้อยที่สุดในอังกฤษ เพื่ออำพรางสถานะที่แท้จริงของทหารเสรีไทยสายอังกฤษเหล่านี้ที่จะต้องปฏิบัติงานลับ จนต่อมาจึงได้ทรงวางแผนแนวทางการฝึกใช้นักเรียนทหารเสรีไทยเหล่านี้ ให้เป็นประโยชน์ในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในดินแดนไทย โดยส่งทหารเหล่านี้ไปรับการฝึกกับโรงเรียนสงครามพิเศษต่าง ๆ ภายใต้กองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) แห่งสำนักปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ (Special Operation Executive - SOE.) ที่อินเดียและลังกา ก่อนจะแทรกซึมประสานกับขบวนการต่อต้านในดินแดนไทยต่อไป

 

จากอาสาเสรีไทย สู่แผนการแทรกซึม

จนต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน จึงได้เสด็จโดยทางเครื่องบิน ไปที่เมืองเมียรุท (Meerut) ในอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบังคับการกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) แห่งสำนักปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ (Special Operation Executive - SOE.) พร้อมกันกับที่เรือโดยสารของทหารเสรีไทยจากอังกฤษเดินทางถึงอินเดีย ที่เมียรุททรงรับมอบภารกิจในการประสานและดูแลการฝึกนักเรียนทหารไทย และการวางแผนการแทรกซึมเข้าดินแดนไทย นอกจากนี้

จึงต้องเสด็จไปมาระหว่างเมืองเมียรุท (Meerut) กับเมืองปูนา (Poona ปัจจุบันคือพูเน่ - Pune) เพื่อเสด็จเยี่ยมนักเรียนทหารเสรีไทย ซึ่งกำลังรับการฝึกที่โรงเรียนสงครามภาคพื้นตะวันออก (Eastern Warfare School) ที่เมืองปูนาทั้งชุดนี้มีสถานะเป็นนักเรียนนายร้อย หลักสูตรของค่ายนี้คือการฝึกสงครามพิเศษ ได้แก่การรบกองโจร การกระโดดร่ม จารกรรม (การข่าว) การก่อวินาศกรรม ฯลฯ ทหารเสรีไทยทุกนายต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก ระหว่างเดือนพฤษภาคม - กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) ทุกนายได้รับยศร้อยตรีกองทัพบกอังกฤษ หลังจากสำเร็จการฝึก มีความพร้อมที่จะแทรกซึม สืบข่าว และฝึกอาวุธยุทธวิธีกองโจรให้แก่พลพรรคไทย

ในอีกภารกิจสำคัญ ๆ ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงจัดทำแผนการแทรกซึมเข้าดินแดนไทย โดยในรายงาน ม.จ.ศุภสวัสด์ฯ ทรงให้ข้อมูลการทหาร กลุ่มคนต่าง ๆ ในประเทศ บุคคลสำคัญ การเมืองของไทย ภูมิศาสตร์ เส้นทางคมนาคม ทรงประเมินว่าคนไทยจำนวนมาก หลากหลายกลุ่มสังคม อุดมการณ์ อาชีพ ถิ่นฐาน ต้องการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานดินแดนไทย

และประเมินว่ามีบุคคลสำคัญของไทย ที่จะเป็นผู้นำต่อต้านญี่ปุ่น เช่น นายปรีดี พนมยงค์ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น.อ.หลวงศุภชลาศัย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายเตียง ศิริขันธ์ เป็นต้น หรือบุคลากรคุณภาพอีกหลายท่าน ที่แม้จำเป็นร่วมมือญี่ปุ่นตามนโยบายรัฐบาล หากสามารถใช้งานต่อต้านญี่ปุ่นได้ และทรงเสนอแผนการแทรกซึมจัดตั้งหน่วยรบกองโจรไทยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยทรงมั่นพระทัยว่า ยังมีอีกหลายจังหวัดที่พร้อมร่วมมือขบวนการต่อต้าน และอยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนลำดับแผนการจัดตั้งหน่วยพลพรรคในไทย และรูปแบบหน่วยพลพรรคที่เหมาะสม

รายงานนี้สร้างความประทับใจบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองกำลัง Force 136 ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จึงทรงร้องขอนายทหารชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ในประเด็นสำคัญ ซึ่งได้รับอนุมัติทุกข้อได้แก่

  • ทหารอาสาเสรีไทยที่รับการฝึก จะต้องรับยศเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร มีศักดิ์ศรีเทียบเทียมนายทหารอังกฤษทุกประการ ไม่ใช่ทหารอาณานิคม
  • การปฏิบัติงานในขั้นต่อไปจะต้องประสานกับฝ่ายอเมริกา
  • จะต้องอนุญาตให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เดินทางไปประสานกับนายจำกัด พลางกูร

 

พบจำกัด พลางกูร สู่รัฐบาลเสรีไทยชั่วคราวที่ล้มเหลว

 


จำกัด พลางกูร

 

จากแผนการแทรกซึมเข้าดินแดนไทย จำเป็นที่จะต้องมีการประสานกับขบวนการต่อต้านในประเทศให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้การแทรกซึมเป็นไปอย่างปลอดภัย และขยายผลการต่อต้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงทราบว่านายจำกัด พลางกูรได้เดินทางไปที่นครหลวงจุงกิง (ปัจจุบันเรียกด้วยสำเนียงจีนกลางว่า ฉงชิ่ง) เพื่อประสานให้ชาติสัมพันธมิตรรับรู้ถึงขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศ จึงทรงทราบโดยนัยว่า จำกัดคือผู้แทนนายปรีดี พนมยงค์ตามที่ทรงประเมินบุคคลสำคัญของไทย จึงทรงขออนุญาตผู้บังคับบัญชากองกำลัง Force 136 เพื่อติดต่อพบนายจำกัดให้ได้เร็วที่สุด ซึ่ง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงได้รับอนุมัติจากหน่วยเหนือ

หลังจากนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จึงเสด็จไปนครหลวงจุงกิง เพื่อทรงพบกับนายจำกัด พลางกูร ซึ่งทรงรู้จักคุ้นเคยเมื่อนายจำกัดกำลังศึกษาต่อที่อังกฤษ อย่างไรก็ตามปรากฏว่า เจ้าหน้าที่จีนและสหรัฐอ้างข้อขัดข้องต่าง ๆ ไม่ให้เข้าพบนายจำกัด จนทรงได้รับจดหมายจากนายจำกัดผ่านสถานทูตอังกฤษในจุงกิงว่าต้องการเชิญเสด็จ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ พบกับเขาอย่างส่วนตัว จึงได้เสด็จไปพบกับนายจำกัดที่โรงแรมที่พักของเขา เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943)

จากการสนทนาระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ กับนายจำกัด จึงทำให้ทั้งสองได้ปรับความเข้าใจในประเด็นสำคัญ

  • โดยในระยะนั้นฝ่ายจีนและอเมริกาเชื่อว่า เสรีไทยสายอังกฤษจะต้องการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทย ผ่านเจ้านายสำคัญในขบวนการ เช่น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ
  • เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่ายจีนและสหรัฐต่อฝ่ายอังกฤษ ซึ่งไม่ยอมประกาศรับรองเอกราชของไทยโดยทันที ซึ่งอาจสอดคล้องกับข้อแรกว่า อังกฤษจะควบคุมประเทศไทยแล้วช่วยฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ จึงทรงแสดงความบริสุทธิ์พระทัย แก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าอังกฤษจะอาศัยพระราชวงศ์ไทย ในการควบคุมประเทศไทยและฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังสงคราม โดยที่พระราชวงศ์ไทยในอังกฤษไม่ได้ทรงสิทธิ์ในราชสมบัติอยู่แล้ว จึงมิอาจชิงราชสมบัติฟื้นระบอบเก่าได้ และประชาชนไทยต่างยอมรับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงแสดงความบริสุทธิ์พระทัย ในการการปฏิบัติของเสรีไทยสายอังกฤษ ที่จะยอมรับสถานะของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และผู้นำสูงสุดของขบวนการเสรีไทย นอกจากนี้ทั้งสองยังเห็นพ้องต้องกัน ที่ไทยจะมีการเมืองประชาธิปไตยโดยแท้จริง ไม่มีอำนาจเผด็จการอื่นใดครอบงำ และจะไม่มีการประหัตประหารทางการเมือง นักโทษการเมืองต่าง ๆ ควรได้รับการอภัยโทษ

ที่สำคัญจำกัดข้อเสนอฝ่ายไทยที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่น เพื่อให้การดำเนินงานกู้ชาติอยู่ในการควบคุมของไทยโดยตรง ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่น นำโดยผู้นำการเมืองและการทหารที่จะออกมาจากประเทศไทย เช่น นายปรีดี พนมยงค์ ร่วมมือกับผู้แทนเสรีไทยในอังกฤษและสหรัฐฯ เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อให้การดำเนินงานกู้ชาติอยู่ในการควบคุมของไทยโดยตรง สร้างสถานะของประเทศไทยที่ปลอดจากอิทธิพลอักษะให้ฝ่ายสัมพันธมิตรยอมรับ และสามารถชักชวนคนไทยทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน ประชาชนเข้าร่วมมือกับขบวนการต่อต้านได้

จากการสนทนาเฉพาะบุคคลทั้งสอง ทำให้นายจำกัด พลางกูร เกิดความเชื่อถือใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทองค์นี้ ทั้งสองตกลงว่าจะช่วยกันอธิบายถึงขบวนการเสรีไทยในประเทศ จน ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงพานายจำกัดเข้าพบเอกอัครราชทูตอังกฤษในจีน  โดยทูตอังกฤษชี้แจงว่า อังกฤษนิยมประชาธิปไตย และลงนามร่วมกับสหรัฐฯ ในกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter) ที่จะไม่มีการแสวงหาเมืองขึ้นเพิ่มเติมอีก ในอีกประเด็นสำคัญ คือการจัดตั้งรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นนั้น อังกฤษจะสนับสนุนต่อเมื่อ ไทยเสนอกลุ่มผู้นำอันเป็นที่ยอมรับนับถือของปวงชนชาวไทย

ทว่าในระยะที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงพบกับจำกัด พลางกูรนั้น จำกัดมีสุขภาพที่วิกฤต ร่างกายซูบผอมและดำคล้ำลงไปมาก มีอาการไม่สบายทางกายตลอดเวลา หลังจากนั้น ๒ เดือนเศษ นายจำกัด พลางกูรได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943)

หลังจากพบกับนายจำกัดที่จีน พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนจึงเสด็จไปอังกฤษตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) ทรงเคลื่อนไหวให้อังกฤษ ทั้งกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศยอมรับที่จะร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในประเทศ ซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งในด้านปฏิบัติการทหาร และการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นเสรีไทย ทว่าในด้านการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นนี้กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากความเห็นไม่ลงรอยระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท กับผู้นำเสรีไทยจากสหรัฐ เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายมณี สาณะเสน ตลอดจนความระแวงทางการทูตระหว่างอังกฤษ กับจีนและสหรัฐอีกฝ่ายหนึ่ง จนอังกฤษไม่อาจรับรองจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยได้หากในทางทหาร อังกฤษยอมรับถึงความน่าเชื่อถือของขบวนการเสรีไทยในประเทศ จึงยินยอมที่จะร่วมมือทางทหารด้วย ผ่านกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) และกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (South - East Asia Command) โดยอังกฤษให้เงื่อนไขทางการทูตว่า หากต้องการให้อังกฤษรับรองเอกราชไทยหลังสงคราม อังกฤษจะพิจารณาจากความร่วมมือของไทยในทางทหารเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

 

การแทรกซึมเข้ากองบัญชาการเสรีไทยในประเทศ

ภายหลังเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) กองกำลัง ๑๓๖ ย้ายไปที่เมืองแคนดี ศรีลังกา (ซีลอน) เพื่อกระชับการประสานกับกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (South - East Asia Command SEAC) พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัฒนทรงรับมอบภารกิจในการวางหลักสูตรสำหรับนายทหารอังกฤษ ที่จะเข้าปฏิบัติการในประเทศไทย ในค่ายฝึกสงครามพิเศษ M25 ที่ลังกา

ในระยะนี้ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) จนถึงช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ได้มีการส่งนายทหารเสรีไทยชุดเริ่มแรกแทรกซึมนำโดยชุดของ ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และชุดของ ร.ต. สวัสดิ์ ศรีศุข ซึ่งต้องผ่านอุปสรรคเป็นเวลาหลายเดือน จนสามารถส่งวิทยุจากในห้องขังกองสันติบาล ติดต่อฐานทัพที่อังกฤษสำเร็จ ประจวบเหมาะกับการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ในช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ที่เสรีไทยในประเทศสนับสนุน จนมีรัฐมนตรีเสรีไทยสั่งการกระทรวงสำคัญ และอธิบดีกรมตำรวจที่ร่วมมือเสรีไทย เสรีไทยสายอังกฤษ ๓ ชุดแรกจึงสามารถสร้างการติดต่อที่เป็นระบบระหว่างไทย - อังกฤษ และสร้างค่ายพลพรรคครั้งแรกที่หัวหินและสกลนคร

 


พล.ท. หลวงชาตินักรบ (ศุข ชาตินักรบ) เสนาธิการทัพบก ผู้ลักลอบเจรจาวางแผนยุทธการสู้ญี่ปุ่น ร่วมกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ
ภาพจาก อนุสรณ์นายร้อย จปร. พ.ศ.  ๒๔๙๒

 

ต่อมาทางกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศ ได้ส่งคณะของนายดิเรก ชัยนาม และพลโท หลวงชาตินักรบมาตกลงหลักการยุทธศาสตร์ต่อต้านญี่ปุ่น ที่กองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (South - East Asia Command SEAC) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) หลังจากนั้นจึงมีการส่งนายทหารฝ่ายไทยและอังกฤษ แลกเปลี่ยนไปประจำกองบัญชาการของแต่ละฝ่าย เพื่อการร่วมวางแผนและประสานการยุทธ รวมทั้งกำกับดูแลเสรีไทยสายอังกฤษประจำค่ายพลพรรคทั่วประเทศ จึงเลือกนายทหารอังกฤษและเสรีไทยสายอังกฤษอาวุโส โดยมอบให้พลจัตวา วิคเตอร์ เจคส์ (Victor Jacques นามรหัส Hector) เป็นผู้บังคับการ พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (นามรหัส อรุณ) และ พันตรี ธอม ฮอบบส์ (Thom Hobbs) เป็นผู้ช่วย ให้เดินทางด้วยเครื่องบินทะเลในชื่อรหัสปฏิบัติการแพนิเคิล (Operation Panicle)

สำหรับชุดเสรีไทยสายอังกฤษ ได้เดินทางมาถึงประเทศไทยด้วยเครื่องบินทะเลที่หาดชะอำ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) แล้วล่องเรือศุลกากรจนถึงกรุงเทพฯ ตั้งกองบังคับการในกรุงเทพฯ ที่ค่ายเชลยศึกมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ต่อมาในเดือนสุดท้ายของสงครามได้ย้ายตามค่ายเชลยไปที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย มีชุดปฏิบัติการแอพพริชิเอชั่น (Appreciation) สองนาย ซึ่งเป็นเสรีไทยสายอังกฤษชุดแรกที่กระโดดร่มเข้าดินแดนไทย ได้แก่พันตรี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (นามรหัส เข้ม) และร้อยเอก ประทาน เปรมกมล ทำหน้าที่พลวิทยุและประสานงาน

ในระยะที่ชุดปฏิบัติการแพนิเคิลเพิ่งเดินทางถึงประเทศไทย นายปรีดี พนมยงค์ได้จัดให้ชุดเสรีไทยสายอังกฤษผู้ใหญ่ชุดนี้ พบปะสนทนาและรับประทานอาหารเย็นในเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับบุคคลสำคัญฝ่ายไทย ได้แก่ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส นายดิเรก ชัยนาม พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ พล.ท.หลวงชาตินักรบ พ.อ.เนตร เขมะโยธิน เพื่อตกลงหลักในการประสานและอำนวยการร่วม ทั้งการทหารและการทูตระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ใหญ่ฝ่ายไทยและอังกฤษ และเพื่อการส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยประจำกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่ลังกา

เฉพาะ พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงรับมอบภารกิจสำคัญได้แก่

ก) จัดตั้งกองพลพรรคเสรีไทย ด้านจังหวัดตาก จังหวัดสุพรรณบุรี และหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

ข) ติดต่อประสานกองทัพบกไทย ในการวางแผนการต่อต้านญี่ปุ่น ให้สอดคล้องกับแผนกองบัญชาการสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์

ค) จัดตั้งกองพลพรรคเสรีไทยพระนคร

ง) เตรียมการอพยพกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศ เมื่อเกิดการปะทะกับกองทหารญี่ปุ่น

ในการวางแผนยุทธการกับกองทัพบกไทย พ.ท.ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงวางแผนร่วมกับพลโท สินาดโยธารักษ์ รองแม่ทัพใหญ่และรองแม่ทัพบก (ครองอำนาจบังคับบัญชาทหารแทนจอมพล ป. พิบูลสงคราม) พลโท หลวงชาตินักรบ เสนาธิการทัพบก และพันเอก สุรจิตร จารุเศรณี หัวหน้าแผนกที่ ๓ (ยุทธการ) กรมเสนาธิการทัพบก โดยที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงรับราชการในกองทัพบกสยามมาก่อนปฏิวัติ ๒๔๗๕ จึงทรงคุ้นเคยกับนายทหารบกไทยชั้นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะแม่ทัพสินาดโยธารักษ์ ซึ่งเคยร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด ที่แผนกจเรทหารปืนใหญ่ โคกกะเทียม ลพบุรีมาก่อน

โดยแผนการยุทธนี้กำหนดให้กองทัพที่ ๑๒ (อังกฤษ) รุกเข้าประเทศไทย โดยเน้นการรุกเข้าภาคกลางเป็นเส้นการรุกหลัก ดังนั้นทัพบกไทยและพลพรรคเสรีไทยในภาคกลาง มีหน้าที่ช่วงชิงญี่ปุ่นยึดกุมกรุงเทพฯ และหัวเมืองภาคกลางสำคัญ เช่นลพบุรีและสระบุรี อันเป็นแหล่งชุมทางคมนาคมให้เด็ดขาด รองรับการรุกสัมพันธมิตร ในขณะเดียวกันกองทหารบกไทยและพลพรรคเสรีไทยในภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ปักษ์ใต้ ภาคพายัพ และภาคอีสาน จะต้องตัดขาดและก่อกวนแนวตั้งรับทัพญี่ปุ่น ทั้งนี้ได้กำหนดอัตราบรรจุอาวุธยุทธภัณฑ์อังกฤษสำหรับกองพันต่าง ๆ ของกองทัพบก ร่วมกับอาวุธเดิมของกองทัพ (แต่ไม่ทันบรรจุได้ครบทุกหน่วย สงครามยุติไปเสียก่อน)

ในระยะนี้ปฏิบัติการเสรีไทยสายอังกฤษ สามารถขยายความร่วมมือกับพลพรรคในดินแดนไทยกว้างขวางมากขึ้น จากหัวหิน สกลนคร ขยายไปที่นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น เลย หนองคาย นครพนม ลำปาง ยะลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ รวมทั้งจังหวัดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนจะต้องทรงอำนวยการโดยตรง ได้แก่ตาก นครศรีธรรมราช - สงขลา สุพรรณบุรี และกรุงเทพฯ

 

สมานฉันท์เสรีไทยเชื้อพระวงศ์และเสรีไทยคณะราษฎร

การที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทเสด็จมาทรงปฏิบัติงานร่วมกับเสรีไทยในประเทศ ที่นำโดยผู้สำเร็จราชการฯ ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้นำสายพลเรือนแห่งคณะราษฎรคราวปฏิวัติ ๒๔๗๕ ซึ่งมีความขัดแย้งบาดหมางกับองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ในอดีต รวมทั้ง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน อดีตนายทหารรักษาวังผู้ใกล้ชิดพระองค์รัชกาลที่ ๗ ด้วยนั้น ทาง Force 136 ต้นสังกัดเสรีไทยสายอังกฤษต้องตรวจสอบความชัดเจนว่า ปรีดีจะยินดีต้อนรับคณะของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ หรือไม่ถึง ๒ ครั้ง ซึ่งปรีดีตอบตกลง

แต่แล้วทาง Force 136 ยังไม่แน่ใจ ถึงกับถามเฉพาะตัว พ.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งทำหน้าที่พลวิทยุให้ปรีดี ว่าปรีดีตอบด้วยความจริงใจ หรือตอบด้วยชั้นเชิงการทูต ป๋วยแจ้งว่าปรีดีตอบด้วยความจริงใจ ทาง Force 136 จึงยินยอมให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เสด็จร่วมปฏิบัติการในดินแดนไทยภายใต้นายปรีดี พนมยงค์

เมื่อเสด็จมาถึงแล้ว ทรงสนทนาทำความเข้าใจกับนายปรีดีถึงความหลังที่เคยบาดหมาง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงยืนยันว่ามิได้ทรงมีพระประสงค์ในการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งสองเห็นพ้องว่าปรารถนาจะเห็นความสามัคคีในประเทศ เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ปราศจากการข่มเหงลิดรอนสิทธิ ไม่ยกหมู่คณะหนึ่งใดเหนือกว่ามวลชน นอกจากนี้นายปรีดีจะจัดการให้เกิดความยุติธรรมเสมอหน้า เช่น การสนับสนุนคณะรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจ ขอพระราชทานอภัยโทษและคืนสิทธิ ยศถาบรรดาศักดิ์แก่นักโทษการเมือง ตั้งแต่หลังปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งได้ออกกฎหมายอภัยโทษ และกฎหมายนิรโทษกรรมตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ที่สำคัญในการปฏิบัติงานเสรีไทยจะไม่มีการเรียกร้องความดีความชอบใดแก่เสรีไทยทุกคน

ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการถวายพระเกียรติยศแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รับว่าจะได้ขนานพระนามในสถานะพระมหากษัตริย์ อัญเชิญพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๗ ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ จะได้ประดิษฐานพระบรมรูป พระบรมฉายาลักษณ์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ในเขตพระราชฐานคืนที่ตามเดิม และเตรียมจัดสร้างพระบรมรูปเพื่อประดิษฐานที่ปราสาทพระเทพบิดร

จากการปฏิบัติงานเสรีไทย ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงพิจารณาแล้วว่า นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ที่กระทำการกู้ชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง คร่ำเคร่งประชุม วางแผนจัดตั้งพลพรรค แผนการยุทธ การดูแลเสรีไทยจากต่างประเทศและนายทหารสัมพันธมิตรให้ปลอดภัย การถวายความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งแผนการอพยพต่าง ๆ หากเกิดการปะทะกับกองทัพญี่ปุ่น ทว่านายปรีดีกลับละเลยแผนรักษาความปลอดภัยตนเอง ถึงกับผู้ร่วมงานเสรีไทยต้องบังคับนายปรีดีในเรื่องนี้

และที่สำคัญในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) นายปรีดี พนมยงค์ได้ตกลงใจให้กองรบเสรีไทยเริ่มต้นลุกฮือรบกองทัพญี่ปุ่น เพื่อให้ความรักชาติของคนไทยเป็นที่ประจักษ์แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรและชาวโลก เป็นจังหวะเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นเพิ่งพ่ายศึกพม่าและยังไม่ตั้งมั่นในไทยเป็นปึกแป แม้ในขณะนั้นการจัดตั้งหน่วยเสรีไทยยังไม่พร้อมสมบูรณ์ และแม้กองทัพและตำรวจไทยก็ยังไม่พร้อมก็ตาม หากว่าเมื่อแจ้งแก่กองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งฝ่ายอังกฤษและฝ่ายอเมริกา ทั้งสองชาติรีบห้ามปรามนายปรีดีทันที ด้วยเกรงจะเสียผลทางยุทธศาสตร์ฝ่ายสัมพันธมิตร กระนั้นก็ดีการตัดสินใจของปรีดีครั้งนี้ ได้แสดงความตั้งใจ ความจริงใจ และความกล้าตัดสินใจในการต่อสู้ญี่ปุ่น อันเป็นลักษณะของแม่ทัพที่ดีในทัศนะของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทั้งหมดนี้ทำให้ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เกิดความเคารพนับถือนายปรีดีสุดชีวิตจิตใจ แม้นายปรีดีจะเคยขัดแย้งต่อสู้การเมืองกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เจ้าเหนือหัวของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์มาในอดีต

 

พลพรรคพลเรือนจังหวัดตาก

เมื่อทรงประสานงานในหลักการที่กรุงเทพฯ เบื้องต้นแล้ว ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เสด็จไปทรงอำนวยการค่ายพลพรรคที่จังหวัดตาก ซึ่งนับมีความสำคัญเป็นเมืองด่านชายแดนไทย - พม่า ในช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ที่กองทัพญี่ปุ่นพ่ายศึกในพม่าและถอนกำลังรบเข้าดินแดนไทย โดยกำหนดแนวรบจังหวัดตาก – พิษณุโลกเป็นด่านป้องกันอังกฤษรุกเข้าแดนไทย

 


หมัง สายชุ่มอินทร์ ส.ส.ตาก ผู้นำเสรีไทย จ.ตาก
ที่มา: เล่าเรื่องเมืองตาก

 

ที่จังหวัดตากแห่งนี้ได้เคยมีวีรชนกล้ายามสงคราม คือกลุ่มประชาชนภายใต้นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดตาก และนายบุญธรรม อินทรวรรณโน ผู้ใหญ่บ้านประดาง ได้เคยซุ่มโจมตีไล่ฆ่ากองทหารญี่ปุ่นที่แม่สอด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ต่อมาเมื่อตั้งค่ายเสรีไทยด้านจังหวัดตากแล้ว กลุ่มคนไทยชุดนี้จึงสมัครเข้าสมทบเสรีไทยจังหวัดตากด้วย โดยอาศัยซ่อนตัวจากนายทหารญี่ปุ่นไปด้วยในตัว

 


นายพึ่ง ศรีจันทร์ ส.ส.สุโขทัย หัวหน้าเสรีไทยด้านภาคกลางตอนบน
ที่มา: ประธานรัฐสภา ‘พึ่ง ศรีจันทร์’ ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้รัฐประหาร 2490

 


นายใหญ่ ศวิตชาติ สส.นครสวรรค์ และผู้บังคับค่ายเสรีไทยบ้านห้วยเหลือง (บ้านแม้ว) จ.ตาก

 

ค่ายพลพรรคจังหวัดตากนี้ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ผู้แทนราษฎรสุโขทัยซึ่งเป็น ส.ส.อาวุโสร่วมมือกับนักการเมือง ข้าราชการปกครอง ตำรวจ ศึกษา ทหาร อาสาประชาชน ในจังหวัดจัดตั้งขึ้นมา นำโดยนายใหญ่ ศวิตชาติ ส.ส.นครสวรรค์ ทำหน้าที่ผู้บังคับการค่าย นายหมัง สายชุ่มอินทร์ ส.ส.ตาก ขุนสีมะสิงห์สวัสดิ์ (ใหญ่ สีมะสิงห์) ข้าหลวงประจำจังหวัดตาก ฯลฯ ซึ่งได้จัดตั้งค่ายก่อนหน้าที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ เสด็จไปที่ตากแล้ว

โดยก่อนหน้านั้นมีเสรีไทยสายอังกฤษชุดปฏิบัติการ “เนโรเนียน” (Neronian) ร่วมปฏิบัติงาน นำโดยร้อยตรี อรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า) และร้อยตรี หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ (รัศมี หรือ ขุนช้าง) ต่อมาพันตรี ไบรซ์ สมิธ (Bryce Smyth) นายทหารอังกฤษ และร้อยตรี ปัทม์ ปัทมสถาน นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษเดินทางมาสมทบ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ช่วยทำการฝึกที่ค่ายพลพรรคตากแห่งนี้

จนสิ้นสุดสงครามมีพลพรรคจำนวนประมาณ ๕๐๐ นาย จากตำรวจ พลเรือน ครูประชาบาล และประชาชน ขณะเดียวกันในเมืองตาก กรมทหารราบที่ ๖ (กองทัพบกไทย) ได้ตั้งหน่วยสนามประจัญหน้าเตรียมสู้กองบัญชาการทหารญี่ปุ่นในเมือง

ที่ตั้งค่ายพลพรรคจังหวัดตากบ้านห้วยเหลือง ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๔๐ กิโลเมตร ในสมัยนั้นเป็นหมู่บ้านชาวม้งในพื้นที่ป่าเขาและไร่ข้าวโพด เส้นทางเข้าถึงลำบากใช้พาหนะได้ จึงเหมาะสมต่อการซ่อนพรางตั้งค่ายฝึกนี้ มีการสร้างโรงเรือนไม้หลังคาผ้าร่ม เป็นกองบังคับการ ศูนย์วิทยุ เรือนพัก เรือนครัว และคลังอาวุธ ทั้งนี้ด้านปากทางเข้าหมู่บ้านห้วยเหลือง ยังมีบ้านประดางที่ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจะช่วยดูต้นทางและแจ้งข่าว ทั้งยังเป็นจุดรับส่งเสบียงอาหารอีกด้วย ในบ้านห้วยเหลืองมีผาวอกเป็นที่ตั้งกองบังคับการค่าย ใกล้กันมีแนวที่ราบป่าหญ้าแปลงเป็นสนามรับร่มได้

เมื่อ พันโท “อรุณ” ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ทรงอำนวยการค่ายพลพรรคจังหวัดตากได้ดำเนินการดังนี้

  • จัดหน่วยกองรบพลพรรคประมาณ ๕๐๐ นาย เป็น ๓ กองรบ ทำการรบแบบกองโจร
  • จัดอาวุธยุทธภัณฑ์ประจำกายและประจำหน่วย ให้เหมาะสมแก่การรบแบบกองโจร เช่น ปืนกลมือสะเต็น (Sten Gun) ปืนเล็กยิงเร็วคาร์ไบน์ (M1 Carbine) ปืนกลเบาเบรน (Bren Gun) ปืนต่อสู้รถถังเพียต (PIAT) และระเบิดทีเอ็นที เป็นต้น
  • จัดระบบเส้นทางเสบียงอาหารจากจังหวัดตากและจังหวัดกำแพงเพชร พักรวมเสบียงที่บ้านประดังและตำบลนาโบสถ์
  • จัดสร้างสนามบินรับร่มที่บ้านโป่งแดงและตำบลนาโบสถ์
  • วางข่ายสืบข่าวด้านจังหวัดตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์

 

พลพรรคทหารบกปักษ์ใต้

 


พ.อ. สวัสดิ์ ไกรฤกษ์ ผบ.กองพลที่ ๖ (ปักษ์ใต้) ผู้วางแผนพลพรรคเสรีไทยปักษ์ใต้ ร่วมกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ภาพจากหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิ์กลยุทธ (สวัสดิ์ ไกรฤกษ์)

 

หลังจากทรงอำนวยการจนค่ายพลพรรคจังหวัดตากจนเป็นระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมพ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์จึงเสด็จไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมงานใต้ดินกับพันเอก สวัสดิ์ ไกรฤกษ์ (หลวงสวัสดิ์กลยุทธ) ผู้บัญชาการกองพลที่ ๖ และพันเอก แสวง ณ พัทลุง เสนาธิการกองพล อำนวยการจัดกำลังทหารบกปักษ์ใต้แห่งกองพลที่ ๖ ให้พร้อมทำการรบแบบกองโจร โดยตั้งกองบัญชาการสำรองของกองพลที่ ๖ ที่เขาหลวง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช (ที่ตั้งค่ายฝึกการรบพิเศษสิชลในปัจจุบัน) อันเป็นพื้นที่ป่าเขาพรางการรับรู้ของญี่ปุ่นได้ มีกำลังทหาร ๒ กองร้อยรักษาการณ์ และดัดแปลงภูมิประเทศบางส่วนเป็นสนามรับร่มอาวุธยุทธภัณฑ์ มอบให้พลาธิการกองพลที่ ๖ รับผิดชอบ

กล่าวเฉพาะกองพลที่ ๖ ได้เคยสู้รบกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกบุกปักษ์ใต้ พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) อย่างกล้าหาญมาก่อน รวมทั้งตัว พ.อ. สวัสดิ์ ไกรฤกษ์ ซึ่งเคยเป็นเสนาธิการกองพลที่ ๖ ในแนวรบวันนั้นด้วย และที่สำคัญ พ.อ.สวัสดิ์ยังเป็นนายทหารปืนใหญ่รุ่นน้อง ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ที่แผนกทหารปืนใหญ่ นอกจากนี้ พ.อ. แสวง ณ พัทลุง เสนาธิการกองพลในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ มีชาติกำเนิดคนภาคใต้เชื้อสายเจ้าเมืองพัทลุง จึงรู้จักเส้นทางในภาคใต้ดี และเป็นผู้รับตัวเสรีไทยต่างประเทศและนายทหารสัมพันธมิตรซุกซ่อนในค่ายทหารจำนวนหนึ่ง หน่วยกองพลที่ ๖ นี้จึงพร้อมรับใช้ชาติ และร่วมงานกับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ

ดังนั้น กองกำลังฝ่ายไทยทั้งทหารไทยและเสรีไทยในภาคใต้จึงมีภารกิจดังต่อไปนี้

๑) ตัดเส้นทางคมนาคมโดยเฉพาะเส้นทางรถไฟในปักษ์ใต้ของประเทศไทย เพื่อแบ่งแยกกองทัพญี่ปุ่นในปักษ์ใต้จากกองทัพญี่ปุ่นในภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศไทยและมลายู รบกวนการป้องกันภาคใต้ของกองทัพญี่ปุ่น

๒) ป้องกันการปลดอาวุธและการคุกคามของกองทัพญี่ปุ่น ที่อาจกระทำต่อทหารและประชาชนในปักษ์ใต้

๓) ในการสู้รบกับญี่ปุ่นที่จะเกิดขึ้น ปักษ์ใต้จะเป็นพื้นที่ถูกตัดขาด ทหาร ตำรวจ และเสรีไทยในปักษ์ใต้จะได้รับมอบให้ขึ้นต่อผู้บัญชาการกองพลที่ ๖

อย่างไรก็ตามโดยที่กองพลที่ ๖ เป็นกองทหารขนาดเล็ก ไม่สามารถจะกระจายกำลังรบครอบคลุมพื้นที่สำคัญของภาคใต้ได้ทั้งหมด จึงมีพื้นที่ปฏิบัติการหลักด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา อันเป็นแกนกลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเล และเป็นศูนย์กลางการปกครอง การทหาร ประชากร และเศรษฐกิจปักษ์ใต้ ซึ่งกองรบหลักญี่ปุ่นตั้งอยู่เช่นเดียวกัน โดยจัดกำลังทหารของกองพลที่ ๖ เป็นหน่วยพลพรรคดังนี้

  • กองบัญชาการกองพลที่ ๖ ตั้งอยู่ที่ค่ายทหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช กองบัญชาการสำรองตั้งที่อำเภอสิชล
  • กองพันพลพรรคที่ ๑ (กองพันทหารราบที่ ๔๒) ย้ายจากปัตตานี ปฏิบัติการตัดเส้นทางในพื้นที่ตำบลนาสารและอำเภอฉวาง
  • กองพันพลพรรคที่ ๒ (กองพันทหารราบที่ ๓๘) ปฏิบัติการที่ชุมทางรถไฟที่ทุ่งสง และชุมทางเขาชุมทองร่อนพิบูลย์ สองชุมทางรถไฟหลักปักษ์ใต้
  • กองพันพลพรรคที่ ๓ (กองพันทหารราบที่ ๔๐) ตั้งที่จังหวัดตรัง มีพื้นที่ปฏิบัติการจนถึงช่อง กันตัง ห้วยยอด และพัทลุง
  • กองพันพลพรรคที่ ๔ (กรมทหารราบที่ ๑๘) ตั้งที่ค่ายทหารสวนตูล สงขลา (ค่ายพระปกเกล้าในปัจจุบัน) มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการในพื้นที่สงขลาและชุมทางหาดใหญ่ มีหน่วยรองได้แก่ กองพันทหารราบที่ ๕ (หาดใหญ่) กองพันทหารราบที่ ๔๑ (สงขลา)กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๓ (สงขลา)
  • กำลังทหารที่เหลือตั้งอยู่ที่ค่ายทหารนครศรีธรรมราช เพื่อรักษาสถานการณ์ในพื้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่กองพันทหารราบที่ ๓๙ และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๕
  • การสืบข่าวมอบให้เป็นภารกิจตำรวจภูธรจังหวัดต่าง ๆ วางข่ายการสืบข่าวและจัดตำรวจลับรักษาความปลอดภัยค่ายพลพรรคต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามการจัดหน่วยกองพลที่ ๖ และจังหวัดต่าง ๆ ในรูปพลพรรคพร้อมอาวุธทันสมัยของอังกฤษ ยังไม่ทันสำเร็จสมบูรณ์ สงครามได้ยุติลงเสียก่อน เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ซึ่งในโครงการประมาณว่าจะสามารถตั้งหน่วยวินาศกรรมในปักษ์ใต้จากชุมพรถึงชายแดนได้ ๒๑ หน่วย

 

สิ้นสงคราม

เมื่อสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพา เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ปรากฏว่า พ.ท. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนไม่ทันได้ทรงจัดตั้งหน่วยพลพรรคสุพรรณบุรี และหน่วยพลพรรคพระนคร (อย่างไรก็ตามในกรุงเทพฯ มีหน่วยต่อต้านที่เข้มแข็งอยู่แล้ว เช่น กรมสารวัตรทหาร และกองพลที่ ๑ เป็นต้น)

 


นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทศวรรษ 2480
ที่มา: ปรีดี พนมยงค์ ในบทบาทผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กับการกอบกู้เอกราชและอธิปไตยของชาติ

 

หลังจากนั้นทรงร่วมให้ความเห็นกับรัฐบาล ในการเจรจาเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ ทรงรับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นราชองครักษ์พิเศษ และทรงเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ ประทับที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถวายรับใช้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เช่นเดิม และกลับทรงเป็นกัลยาณมิตรใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองก่อนยามสงคราม เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ต้องออกจากประเทศและกลายเป็นจำเลยสังคม ภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ (ค.ศ. 1947) ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงปกป้องนายปรีดีอยู่เสมอ จนต้องทรงพ้นจากหน้าที่ราชการ

ต่อมาทรงย้ายกลับมาประทับประเทศไทยถาวรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. 1952) ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยทรงรับพระราชตำหนักที่ประทับสำหรับครอบครัวที่วังศุโขทัย แล้วทรงสร้างสวนเสมาที่หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (จุดเดียวกับที่เสด็จเข้าประเทศไทย เพื่อทรงปฏิบัติงานเสรีไทย) พร้อมกับทรงประกอบธุรกิจฟาร์มที่นั่นเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษ ทรงมีโอกาสรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชอาคันตุกะ คือเจ้าฟ้าหญิงอเล็กซานดร้าแห่งเค้นท์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ (ค.ศ. 1963) พร้อมกันนั้นทรงเข้าหาศึกษาและปฏิบัติพระธรรม ทรงนิพนธ์หนังสือเชิงธรรมะและปรัชญาเล่มต่าง ๆ ทว่าในเวลาต่อมากิจการสวนเสมากลับล้มเหลว ไม่นานนักพันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ (ค.ศ. 1967)

 

บรรณานุกรม

  • ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๔๔๓ - ๒๒ เมษายน ๒๕๑๐. (กรุงเทพฯ) : อมรินทร์พริ้นติ้ง, ม.ป.ป
  • ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิ์กลยุทธ์ (สวัสดิ์ ไกรฤกษ์) ม.ป.ช. ม.ว.ม. ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๕
  • ทศ พันธุมเสน, จินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงคราม สู่สันติภาพ. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน จ.ช. ณ เมรุวัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี วันเสาร์ ที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
  • นรุตม์ (นามปากกา). ใต้ร่มฉัตร. หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๓๙
  • เนตร เขมะโยธิน, พล.อ. งานใต้ดินของพันเอกโยธี. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเนตร เขมะโยธิน ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๒๘.
  • พยุง ย. รัตนารมย์. ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นและเสรีไทยในจังหวัดตาก. วันปรีดี พนมยงค์ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๑
  • ยุทธการทหารบก, กรม. การจัดหน่วยในสงครามอินโดจีนและมหาเอเชียบูรพา ๒๔๘๓ - ๒๔๘๘ กรมยุทธการทหารบก, ๒๕๑๐
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอกแสวง ณ พัทลุง ท.ม. ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร วันอังคารที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๑๗