
แผนที่เดินเรือเสรีไทย
ที่มา: หนังสือกบฏกู้ชาติ
เมื่อทราบว่า คุณจำกัด พลางกูร ผู้แทนของขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศไทยออกไปถึงจุงกิง กำลัง ๑๓๖ ส่ง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ไปพบที่จุงกิง และได้ตกลงกันที่จะส่งสาส์นให้ผู้ถือเข้าไปทางบกทางเดียวกับที่คุณจำกัดออกจากประเทศไทยมา เพื่อไปมอบให้แก่ท่านปรีดี พนมยงค์ นัดแนะสัญญาณ และสถานที่ฝ่ายอังกฤษจะส่งเสรีไทยไปขึ้นทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทยใกล้พังงาโดยเรือดำนํ้าในเดือนธันวาคม ประกอบด้วยคุณป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณประทาน เปรมกมล และคุณเปรม บุรี เมื่อถึงที่กำหนดนัดพบ ลอยลำขึ้นในเวลากลางคืนเพื่อดูสัญญาณของฝ่ายรับ จมลงในเวลาตอนกลางวัน เป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืน ก็ไม่เห็นวี่แววผู้มารับ ต้องแล่นกลับเกาะลังกาด้วยความผิดหวัง ปรากฏว่า ผู้ถือสาส์นนัดหมายถึงประเทศไทยเดือนมิถุนายน ๒๔๘๗ ช้ากว่ากำหนดไปหกเดือน

พันโทพอยน์ตัน
ที่มา: กบฏกู้ชาติ
เมื่อการส่งทางเรือดำนํ้าไม่สำเร็จ พันโท เอ. ซี. พอยน์ตัน หัวหน้าหน่วยประเทศไทยในกำลัง ๑๓๖ คิดหาวิธีใหม่ที่จะส่งเสรีไทยเข้าประเทศไทยอีกวาระหนึ่ง โดยให้โดดร่มอย่างไม่ต้องนัดหมายล่วงหน้า เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ในบริเวณป่าภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลก แต่วันนั้นไม่สามารถจะโดดลงได้ นักบินไม่แน่ใจในสถานที่ ต้องบินกลับ และออกไปใหม่ อีกอาทิตย์ต่อมาจึงโดดลงได้ แต่ผิดที่ แทนที่จะลงในป่ากลับลงไปบนคันนาของชาวบ้าน คุณป๋วยขาแพลง เพราะลงไปคร่อมบนคันนา พบชาวบ้านออกไปตัดไม้ทำถ่าน จึงทราบว่าอยู่ในตำบลวังนํ้าขาว จังหวัดชัยนาท ต้องเดินย้อนไปหาป่า รอนแรมในป่าถึงสามวัน คุณป๋วยถูกปลัดอำเภอประจำ ตำบลพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้านล้อมจับได้ ระหว่างที่อีกสองคนออกไปหาที่ส่งวิทยุ ส่งตัวเข้ากรมตำรวจ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส มอบให้ร้อยตำรวจเอก โพยม จันทรัคคะ เป็นผู้ควบคุมตัวอยู่ที่สันติบาล

เมื่อไม่ได้ข่าวจากคณะเสรีไทยโดดร่มชุดแรก พันโท พอยน์ตันจัดส่งคณะที่สอง ประกอบด้วยคุณสำราญ วรรณพฤกษ์ คุณรจิต บุรี และคุณธนา โปษยานนท์ ไปโดดร่มในบริเวณใกล้เคียงกับคณะแรกในเดือนเมษายน แล้วก็ไม่ได้รับการติดต่ออีกเหมือนกัน จึงเปลี่ยนแผนการเป็นใช้เครื่องบินทะเลส่งคณะลูกจีนสามคนลงทางปักษ์ใต้ของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม โดยคิดว่าจะปลอดภัยมากกว่าสองพวกแรก เพราะทางใต้มีคนจีนพำนักอยู่มาก อาจรอดหูรอดตาญี่ปุ่นไปได้ ข่าวแรกที่กำลัง ๑๓๖ ได้รับจากการส่งสามคณะเข้าประเทศไทยก็คือ คณะที่สามต้องต่อสู้กับตำรวจไทย หัวหน้าถูกยิงตาย อีกสองคนถูกจับ รอจนเดือนกรกฎาคมจึงได้ข่าวทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า เสรีไทยสองคณะแรกถูกตำรวจไทยจับหมดต้องคุมขังอยู่ ยิ่งกว่านั้น เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารญี่ปุ่นยังนำตัวไปทำการสอบสวนปากคำอีกด้วย ทำให้พันโท พอยน์ตันเสียอกเสียใจมาก เพราะทุกวิธีการที่คิดขึ้นประสบแต่ความล้มเหลว ผลมีอย่างเดียวคือ ถ้าไม่ตายก็ถูกจับ เพิ่มนํ้าหนักให้แก่ปริศนาที่มีผู้ตั้งคำถามว่า คณะต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทยไทยมีจริงหรือไม่
พันโท พอยน์ตันเป็นห่วงเป็นใยในความเป็นอยู่ของเสรีไทยที่ถูกจับอย่างสุดซึ้ง มองเห็นภาพสารวัตรทหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงด้านทารุณกรรมคงจะคาดคั้นเอาความลับและความจริงเกี่ยวกับกำลัง ๑๓๖ แผนดำเนินงาน วิธีการปฏิบัติ ตลอดจนรหัส เครื่องมือสัมภาระ และเจ้าหน้าที่ที่ใช้ให้จงได้ แล้วเสรีไทยที่ยังคงเหลืออยู่กับกำลัง ๑๓๖ จะรู้สึกพรั่นพรึงเพียงใดเมื่อทราบผลปฏิบัติที่เพื่อนได้รับภายในประเทศไทย ขวัญจะถูกทำลายสิ้นไม่เหลือหลอ และที่ร้ายที่สุด เจ้าหน้าที่ในหน่วย เอส.โอ.อี. ที่กรุงลอนดอนบางคน ซึ่งไม่สู้จะศรัทธาในความดำริของกำลัง ๑๓๖ อยู่แล้ว จะพลอยซํ้าเติมเอาว่า ที่เสรีไทยเข้าไปในป่าดิบต้องถูกจับกุมชั่วระยะเวลาสั้น ปราศจากข่าวการต่อสู้ ชะรอยจะเป็นเพราะต่างยอมจำนนวิ่งเข้าหาที่ตำรวจไทยมากกว่า หากแต่ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ยังไม่หลงระแวงเช่นนั้น เพราะทราบอุปนิสัยใจคอของเสรีไทยทั้งหกคนดี ถ้ามีความขลาดกลัวเป็นเดิมพันจริงแล้ว ไฉนเลยจะไม่ถือโอกาสเลือกเดินทางกลับประเทศไทยเสียตั้งแต่มีทางจะทำได้เมื่อสามเดือนก่อน กลับยอมทนทุกข์ทรมานเข้าปฏิบัติงานเยี่ยงกรรมกรในหน่วยการโยธาแห่งกองทัพอังกฤษอย่างไม่ย่อท้อ ทั้ง ๆ ที่ต่างมีปริญญาสูงส่งกันทั้งนั้น และการฝึกอบรมต่อมาในประเทศอินเดียก็ล้วนแต่หนักหน่วง เช่น การฝึกเดินป่า ปีนเขา การปฏิบัติการจารกรรม การโดดร่มจากเครื่องบิน การต่อสู้ป้องกันตัว การก่อวินาศกรรม การยุทธแบบกองโจร ฯลฯ

พันตรี แอนดรูว กิลคริสต์ ทหารชั่วคราว แผนกประเทศสยาม Force 136
ที่มา : กรุงเทพฯ ลับสุดยอด ปฏิบัติการเสรีไทยสายอังกฤษ. โดย เซอร์แอนดรูว์ กิลคริสต์, แปลโดย ดุสิต บุญธรรม, ศยาม, ๒๕๖๐
ในช่วงนี้ พันตรี เอ. กิลคริสต์ อดีตเลขานุการสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ผู้มีความรู้ภาษาไทยและภูมิประเทศไทยดีผู้หนึ่งและกว้างขวางในวงสังคมไทย เดินทางมาถึงกรุงเดลีพอดี เพื่อเข้ารับตำแหน่งในหน่วยประเทศไทยของกำลัง ๑๓๖ พันตรี เอ. กิลคริสต์ เสนอความเห็นใหม่แก่พันโท พอยน์ตัน ให้ลองส่งคนโดยเครื่องบินทะเลลงในลำน้าโขง ซึ่งเป็นเขตแดนของประเทศไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้เหตุผลประกอบว่า เท่าที่ทราบ ไม่มีกองกำลังทหารญี่ปุ่นอยู่ในบริเวณนั้นมากเท่าใด และถ้าหากจะประสบความขัดข้อง ก็มีทางที่จะหลบหนีเข้าอินโดจีนได้ไม่ยาก การติดต่อกับกรุงเทพฯ จะสะดวกขึ้น และแทนที่จะเสี่ยงเข้าไปโดยไม่มีนัดหมาย อังกฤษอาจจะทำตามที่ตกลงกับสายในอินโดจีน พันโท พอยน์ตันแสดงความสนใจในข้อเสนอนี้ และได้ตกลงสั่งให้บินสำรวจบริเวณพื้นที่ในลุ่มแม่นํ้าโขงเพื่อความแน่นอนก่อน และการที่จะอาศัยความร่วมมือทางอินโดจีนจะต้องอธิบายให้ตระหนักว่า การดำเนินงานครั้งนี้มิใช่เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เพราะฝรั่งเศสยังไม่ลืมการเสียดินแดนให้แก่ไทยโดยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น แต่เพื่อประโยชน์ในการที่ฝ่ายสหประชาชาติจะจัดการกับประเทศญี่ปุ่นเอง ระหว่างที่รอผลของการสารวจบริเวณ ลุ่มนํ้าโขงทางอากาศและการติดต่อขอความร่วมมือจากฝ่ายฝรั่งเศส เหตุการณ์ในประเทศไทยได้คลี่คลายไปโดยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องพ้นจากอำนาจไป ความหวังที่จะติดต่อกับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศอาจจะสะดวกขึ้น จึงได้มิได้มีการติดตามแผนแม่นํ้าโขงต่อไป
หมายเหตุ :
- กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต้นฉบับจากศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศแล้ว
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “เสรีไทยเข้าประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 195-198.
บรรณานุกรม :
- ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล, เรื่อง “เสรีไทยเข้าประเทศไทย”, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ถึง ๒๔๙๕ (กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, ๒๕๖๖), น. 195-198.
บทความที่เกี่ยวข้อง :
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 1 : สงครามโลกครั้งแรก
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 2 : สงครามโลกครั้งที่ ๒
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 3 : วิเทโศบายของไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 4 : การเรียกร้องดินแดนคืน
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 5 : การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 6 : ประเทศไทยเข้าสงครามข้างญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 7 : ผลกระเทือนของการร่วมมือกับญี่ปุ่น
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในญี่ปุ่น ภาค 1 การต่างประเทศไทย หลัง ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 8 : สองปีในประเทศญี่ปุ่น ภาค 2 ภารกิจหลังการตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา
- การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ – ๒๔๙๕ ตอนที่ 9 : ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นภายในประเทศไทย