Focus
-
นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนถึงนโยบายสันติภาพระหว่าง 3 เดือนแรกของรัฐบาลซึ่งมีนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีนายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าประเทศและกระทรวงการคลัง ขณะนั้นรัฐบาลยังยึดหลัก 6 ประการในการดำเนินนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
-
นายปรีดี บันทึกไว้ว่า ทางรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ได้ขอให้ตนร่วมในรัฐบาลใหม่โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไปโดยยืนยันดำเนินนโยบายสันติภาพเช่นเดียวกับรัฐบาลพระยาพหลฯ และต่อมาทางหลวงพิบูลฯ ได้ขอให้นายปรีดีรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาลยืนยันดำเนินตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรและนโยบายสันติภาพต่อไป ทั้งนี้นายปรีดีได้กล่าวถึงหลักการของรัฐบาลในเวลานั้นไว้ว่า "ผลปฏิบัติของรัฐบาลในทุก ๆ ทาง ย่อมจะกระเทือนถึงราษฎร และในทำนองเดียวกันความทุกข์สุขของราษฎร ก็จะกระเทือนถึงรัฐบาลด้วย"
-1-
ข้าพเจ้าขอให้ความเป็นธรรมแก่หลวงพิบูลสงครามว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีซึ่งมีพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ลาออกเพราะวาระของสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ความไว้ใจ ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ แล้วได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทหนึ่งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ได้เปิดประชุมเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น มีผู้ก่อการ 24 มิถุนาฯ จำนวนหนึ่งขอให้หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี หลวงพิบูลฯจึงได้ปรารภกับข้าพเจ้าต่อหน้าหลวงอดุลฯ ว่า ไม่ประสงค์รับตำแหน่งนั้นโดยต้องการให้พระยาพหลฯรับเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก
มีบุคคลทำบัตรสนเท่ห์แจกจ่ายแก่ผู้ก่อการ 24 มิถุนาฯ ใจความว่าพระยาพหลฯอ่อนแอ สมควรสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะเป็นผู้เข้มแข็ง แม้หลวงพิบูลฯ ได้ปรารภดังที่กล่าวข้างบนนั้นแต่ในการที่ประธานสภาฯ ทาบทามผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภทว่า ผู้ใดสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยประธานสภาฯ ใช้วิธีเชิญสมาชิกมาประชุมเป็นการภายในให้ลงมติ โดยต่างคนเขียนชื่อผู้ที่ตนเห็นว่าสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ในการนั้นมีผู้เขียนชื่อพระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช และหลวงพิบูลฯ ปรากฏว่าหลวงพิบูลฯ ได้คะแนนมากกว่าผู้อื่นตามการจัดตั้งของคนจำนวนหนึ่ง ดังนั้น ประธานสภาฯ จึงเสนอคณะผู้สำเร็จราชการฯแต่งตั้งหลวงพิบูลฯเป็นนายกรัฐมนตรี
หลวงพิบูลฯ ได้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมในรัฐบาลใหม่โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไปโดยยืนยันดำเนินนโยบายสันติภาพเช่นเดียวกับรัฐบาลพระยาพหลฯ ข้าพเจ้าจึงรับเข้าร่วมในรัฐบาลใหม่นี้ ครั้นถึงวันนัดประชุม ผู้ที่หลวงพิบูลฯ ทาบทามและรับเข้าร่วมในรัฐบาลเพื่อร่างนโยบายที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร คือ พระยาไชยยศสมบัติ ที่รับว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นได้เกิดเปลี่ยนใจขึ้นมาฉับพลัน ขอไม่ร่วมในรัฐบาลนี้ความโกลาหลจึงเกิดขึ้น หลวงพิบูลฯ จึงขอร้องข้าพเจ้าขณะนั้นว่า ขอให้ข้าพเจ้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยยืนยันดำเนินตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎรและนโยบายสันติภาพต่อไป จะเห็นได้ว่านอกจากคำแถลงของรัฐบาลต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2481 แล้วข้าพเจ้ายังได้รับอนุมัติจากนายกรัฐมนตรีให้กล่าวคำปราศรัยแก่ประชาชนชาวสยามทางวิทยุกระจายเสียงเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (ปีอย่างเก่าที่สิ้นปีวันที่ 31 มีนาคม อย่างใหม่วันเดือนนั้นจะต้องเป็นใน พ.ศ. 2482) มีความดังต่อไปนี้
“ท่านผู้ฟังทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญของสำนักงานโฆษณาการให้มาปราศรัยกับท่านทั้งหลายโดยทางวิทยุกระจายเสียงถึงนโยบายทั่วไปของรัฐบาล เพื่อซ้อมความเข้าใจและขอความร่วมมือร่วมใจจากท่านทั้งหลาย ในการที่จะช่วยกันจรรโลงประเทศชาติไปสู่ความเจริญตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ต่อสภาผู้แทนราษฎร”
เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรี ที่จะดำเนินงานบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบายที่ได้แถลงแล้ว จึงเป็นอันว่านโยบายของรัฐบาลได้แปรสภาพเป็นนโยบายของชาติ ซึ่งย่อมมีความผูกพันไม่เฉพาะแต่คณะรัฐบาลเท่านั้น แต่ย่อมผูกพันราษฎรทั้งประเทศผู้เป็นเจ้าของประเทศสยามและมีส่วนได้ส่วนเสียในโชดชะตาของชาติทั้งในส่วนแต่ละคนและในส่วนรวมด้วย
โดยที่เหตุที่นโยบายของรัฐ เป็นนโยบายของชาติดังกล่าวแล้ว และโดยเหตุที่นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะตั้งเข็มไปในทางที่จะให้เกิดผลดีถึงราษฎรโดยเร็ว ความผูกพันทั้งรัฐบาลและทั้งราษฎรจึงย่อมแน่นกระชับขึ้น ผลปฏิบัติของรัฐบาลในทุก ๆ ทาง ย่อมจะกระเทือนถึงราษฎร และในทำนองเดียวกันความทุกข์สุขของราษฎร ก็จะกระเทือนถึงรัฐบาลด้วย รัฐบาลกับราษฎรไม่ใช่คู่อริหรือคู่แข่งขันกัน แต่เป็นคู่ร่วมคิดร่วมมือกันปฏิบัติงานของชาติ ทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้เป็นอันขาด รัฐนาวาของเราจะเล่นไปโดยผาสุกสวัสดีได้ก็โดยที่ทุก ๆ หน่วยของเรือปฏิบัติการด้วยความร่วมมือและประสานงานกัน ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอซ้อมความเข้าใจในเรื่องนี้ไว้กับท่านทั้งหลายด้วย
เพื่อสนับสนุนข้อความตามนัยที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ในส่วนที่เกี่ยวพันกันระหว่างรัฐบาลกับราษฎร ข้าพเจ้าขออ้างนโยบายทั่วไปของรัฐบาลข้อ 6 และข้อ 8 ดังต่อไปนี้
ข้อ 6 ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน รัฐบาลนี้จะเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ แต่ในเวลาเดียวกันประชาชนก็จะต้องเคารพต่อกฎหมาย และปฏิบัติหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญด้วย
ข้อ 8 รัฐบาลนี้จะดำเนินการให้รัฐและราษฎร มีความสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะปลูกและส่งเสริมภราดรภาพในระหว่างข้าราชการกับราษฎรให้มีความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยิ่งขึ้น
รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้น จนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอำนาจศาล และการภาษีอากรโดยอาศัยไมตรีจิตต์ความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีคุณค่าสำคัญยิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติ ผลอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในทันตาเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็คือกระทรวงการคลังได้สั่งให้เปิดด่านศุลกากรบางแห่งตามชายแดนแม่น้ำโขงแล้ว
ความได้มาซึ่งสิทธิอธิปไตย และสิทธิเสมอภาคอันสมบูรณ์จากนานาประเทศในสนธิสัญญาฉบับใหม่นี้ รัฐบาลปัจจุบันจะสงวนและดำรงรักษาไว้อย่างแข็งขัน และจนสุดความสามารถภายใต้ความสัมพันธ์กับนานาชาติ ในหลักแห่งการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน หลักความเป็นธรรมและหลักคุณประโยชน์แก่กันและกันโดยแบบเดียวและสม่ำเสมอกันต่อทุกประเทศ และจะไม่ยอมให้อำนาจหรืออุปสรรคใด ๆ มาทำลายล้างสิ่งซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันจะสืบทอดไปยังกุลบุตรชั้นหลัง ดังจะเห็นได้จากนโยบายส่วนหนึ่งซึ่งรัฐบาลได้วางไว้สำหรับกระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรมนั้นแล้ว
เมื่อนานาชาติได้ผูกสัมพันธไมตรีกับเราด้วยความเสมอภาคด้วยความไว้วางใจและความนับหน้าถือตาฉะนี้แล้ว นับว่าความปรารถนาใหญ่ยิ่งของสยามใหม่ในอันที่จะได้คืนมา ซึ่งอธิปไตยสมบูรณ์จากด้านต่างประเทศนั้น เป็นอันสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ ควรที่ประชาชนชาวสยามทุกคนจะภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับนี้ และในเวลาเดียวกันควรจะระลึกว่าเราได้มาซึ่งสนธิสัญญาใหม่นี้ ก็โดยความเห็นใจและความเข้าใจอันดีจากนานาชาติ ในนโยบายและสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ สมรรถภาพเช่นว่านี้เราจะต้องช่วยกันส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น และมีผลจริงจังโดยรวดเร็ว...”
-2-
ในระยะ 3 เดือนแรกหลวงพิบูลฯ ยังคงซื่อสัตย์ต่ออุดมคติประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้ตกลงกันมา อาทิ หลวงพิบูลฯ ยังคงมียศนายพันเอกเพราะตกลงกันในระหว่างผู้ใหญ่ฝ่ายทหารของคณะราษฎรว่า ฝ่ายทหารมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีทหารเพียงเท่าที่จะป้องกันรักษาเขตแดนของเราไว้โดยไม่มีความประสงค์แผ่อาณาเขตด้วยการรุกราน ฉะนั้น กองทัพไทยในสมัยนั้นจึงเป็นกองทัพเล็ก หัวหน้าฝ่ายการทหารจึงเห็นว่า ในยามปกตินายทหารมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอก แต่ในยามสงครามจึงมีนายพลได้เพียง 1 คนสำหรับผู้ที่เป็นผู้บัญชาการทหารทั่วไป ดังนั้นนายพลที่ประจำการอยู่ก่อนการอภิวัฒน์ 2475 จึงถูกปลดเป็นนายทหารกองหนุนทุกคน ยกเว้นเฉพาะคนเดียวคือ สมุทราชองครักษ์ของพระมหากษัตริย์ที่มียศนายพลอยู่ก่อนแล้ว
ในด้านพลเรือนนั้นได้ยกเลิกยศพลเรือนทั้งสิ้น ซึ่งเดิมเทียบยศทหาร (ราชบุรุษเทียบนายดาบ, รองอำมาตย์ตรีเทียบร้อยตรี, รองอำมาตย์โทเทียบร้อยโท, รองอำมาตย์เอกเทียบร้อยเอก, อำมาตย์ตรีเทียบพันตรี, อำมาตย์โทเทียบพันโท, อำมาตย์เอกเทียบพันเอก, มหาอำมาตย์ตรีเทียบพลตรี, มหาอำมาตย์โทเทียบพลโท, มหาอำมาตย์เอกเทียบพลเอก, มหาอำมาตย์นายกเทียบจอมพล เมื่อเลิกยศพลเรือนแล้วเราถือตำแหน่งเป็นเกณฑ์ คือ เสมียน, ประจำแผนก, หัวหน้าแผนก, หัวหน้ากอง, อธิบดี ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นชั้น คือ จัตวา, ตรี. โท, เอก, พิเศษ)
แต่มีผู้หนุนหลวงพิบูลฯว่า ถ้าหลวงพิบูลฯ ทำอย่างพระยาพหลฯโดยตรึงยศของตนไว้เพียงเป็นนายพันเอกเท่านั้นแล้ว นายทหารชั้นรอง ๆ ลงไปก็จะต้องติดตันอยู่ในยศที่ต่ำกว่า พวกที่หนุนเช่นนี้แสดงความเห็นว่าพวกเขาไม่รังเกียจเลยที่หลวงพิบูลฯ จะเป็นนายพลหลวงพิบูลฯ เสียแค่นไม่ได้[1] จึงได้เป็นนายพลตรี
บรรณานุกรม:
- ปรีดี พนมยงค์. “นโยบายสันติภาพของรัฐบาลซึ่งนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี” ใน, “โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 61-67.
[1] “เสียแค่นไม่ได้” หมายถึง ทนการคะยั้นคะยอไม่ได้ - กองบรรณาธิการ