ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

การทูตสไตล์ปรีดี พนมยงค์ : ความคิดมูลฐานต่อนโยบายสันติภาพ

16
พฤษภาคม
2565

ภายใต้รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พระยาพหลพลพยุหเสนา “นโยบายสันติภาพ” มีฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย “หลักเอกราช” อันเป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร เหตุที่เรื่องนี้กลายมาเป็นเรื่องหลักของรัฐบาล เนื่องมาจาก ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่เสมือนคำมั่นสัญญากับประชาชนนั้น ผู้ก่อการได้เล็งเห็นถึงปัญหาของการสูญเสียเอกราชของประเทศ ที่ต้องเร่งกอบกู้โดยเร็ว

ความพยายามของ ปรีดี พนมยงค์ จึงก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นถัดจากนั้น เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 9 สิงหาคม 2480 ถึง 15 ธันวาคม 2481

วางรากฐานการต่างประเทศด้วยการแก้ไขชุดกฎหมายปกครอง

ในเอกสารชุด “สยามสันติภาพ” หรือ “LE SIAM PACIFISTE” ซึ่งรวบรวมข้อเขียนและการพูดทางวิทยุกระจายเสียงของปรีดี เผยให้เห็นความคิดมูลฐานของการระหว่างประเทศของเขาไว้อย่างคมชัด ว่าเหตุใดหลายกรณีปรีดีจึงเลือกเจรจากับมหาอำนาจ โดยไม่ใช้ท่าทีลำหักลำโคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ปรีดีอยู่บนเก้าอี้หมายเลขหนึ่งของกระทรวงบัวแก้ว  

เนื่องจากความยากลำบากของสยามในฐานะประเทศที่มีกำลังอ่อนกว่า การยืนบนหลักการที่แม่นยำช่วยให้การดำเนินนโยบายที่สยามเข้าร่วมเป็นคุณกับสยามมากกว่า ซึ่งลักษณะเช่นนี้ปรีดีเองถือว่า คำขวัญของเขาที่ว่า “สยามต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับชาติอื่นใด” อันเป็นการดำเนินตามวิเทโศบายการเมืองระหว่างประเทศส่วนที่ดีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ

คำอธิบายเช่นนี้ แตกต่างจากคำอธิบายเลื่อนลอยที่มักเชื่อกันว่าผู้นำคณะราษฎรเป็น “นักเรียนนอก” ที่ปฏิเสธความคิดของระบอบเก่าในทุกมิติ การศึกษานโยบายต่างประเทศตามแนวทางนี้ ช่วยให้เราเห็นความคิดของปรีดีในด้านการต่างประเทศที่ต่างออกไป

ปรีดีได้รับความคิดเช่นนี้มา เมื่อครั้งศึกษาที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม หนึ่งในจุดอ้างอิงคือบทประพันธ์เรื่อง “ธรรมาธรรมสงคราม” ของพระมงกุฏเกล้าฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านโยบายสันติภาพของปรีดี มิได้ปฏิเสธสงครามโดยสิ้นเชิง หากแต่ต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอื่นเข้าประกอบ เนื่องจากการที่สยามประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีในสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ก็ด้วยเห็นว่าประเทศทั้งสอง เปิดฉากรุกรานประหัตประหารมนุษย์อย่างโหดร้ายทารุณ เช่น เริ่มใช้อาวุธก๊าซพิษ ใช้ปืนใหญ่ทำลายบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ ทำให้พลเมืองสามัญหญิงชาย คนแก่ คนเฒ่า ตลอดจนเด็กที่ไร้เดียงสาต้องล้มตายพลัดที่นาคาที่อยู่เป็นจำนวนมาก[1]

กรอบคิดเช่นนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งอันส่งผลต่อการดำเนินเจรจาการต่างประเทศของปรีดีในเวลาต่อมา เมื่อสยามเปลี่ยนเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยปรีดีเริ่มวางรากฐานทางกฎหมายขึ้นเสียก่อน เพื่อให้มีกฎเกณฑ์เทียบชั้นอารยประเทศ โดยเขามุ่งไปยังการพิจารณาชุดกฎหมายปกครองใหม่ทั้งหมด

ปรีดีมีส่วนในการผลักดันการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ และพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักรขึ้นมาใช้ รวมไปถึงการจัดทำกฎหมายว่าด้วยครอบครัว มรดก กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา และกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม การสร้างกลไกทางกฎหมายข้างต้น ส่งผลต่อความสำเร็จในการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับต่างประเทศ ในเวลาต่อมา

หลักกิโลเมตรแรก คือ “เอกราชทางการศาล”

ในบรรดาการดำเนินนโยบายสันติภาพที่ดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ หนึ่งในผลงานที่ดูจะเป็นหลักหมายสำคัญ คือการเจรจาถอนคดีของกงสุลต่างประเทศจนกว่าออกประมวลกฎหมายแล้ว 5 ปี ซึ่งถือเป็นการเสียเอกราชทางการศาล และแก้ไขการให้สัญชาติอังกฤษและฝรั่งเศสแก่คนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสที่เกิดในประเทศสยาม

ชุดอาคารศาลฎีกาคือหนึ่งในสิ่งเตือนใจความสำเร็จครั้งนั้น ซึ่งสร้างขึ้นในปี 2482 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนอย่างสมบูรณ์ในปี 2481 นับจากที่ต้องสูญเสียไปตั้งแต่เมื่อครั้งทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4[2]

 


กลุ่มอาคารศาลฎีกาของคณะราษฎร
ที่มา : ข่าวสด

 

นอกจากนี้กฎหมายชุดดังกล่าวยังเอื้อต่อการแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจอันมาจากสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น แก้ไขสนธิสัญญาจากสหรัฐในปี 2463 ยังมีการกำหนดเพดานสูงสุดของภาษีศุลกากรที่สยามสามารถเรียกเก็บได้อยู่เป็นเวลา 10 ปี จนในช่วงปี 2480 สนธิสัญญาใหม่มีส่วนทำให้ไทยมีอิสระเต็มที่ทางรัษฎากร

ระบบกฎหมายสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูป จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการเจรจากับมหาอำนาจ กรณีนี้ยังส่งผลเป็นคุณในการเจรจาเรื่องเขตแดนด้วย เมื่อรัฐบาลพระยาพหลฯ ต้องเจรจาสนธิสัญญาพาณิชย์และการเดินเรือใหม่กับนานาประเทศ  อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม สวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐ นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่นและเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะกำหนดไม่ได้ก็เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องเขตแดนเขาพระวิหาร ซึ่งจะเป็นปมปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอีกนานหลายทศวรรษ ปรีดีได้เปิดเผยเรื่องนี้ไว้ว่า เขาได้เตรียมการเจรจาเขตแดนเขาพระวิหารไว้ โดยเชื่อว่าแนวทางการเจรจาจะได้ผลดีกว่านำเรื่องสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะเหตุแผนที่ต่อท้ายสัญญาซึ่งฝ่ายผู้เจรจาสมัยก่อนและนายทหารที่ได้ทำการปักปันเส้นเขตแดน ได้ลงนามไว้มีสัตยาบันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว แต่ยังมิทันลงมือเปิดเจรจา ก็ได้ออกจากกระทรวงการต่างประเทศไปพร้อมด้วยรัฐบาลพระยาพหลฯ

ในตอนหน้า เราจะมาพิจารณาประเด็นหลังม่านทางการทูต ในสมัยปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเผยให้เห็นว่ามีปัจจัยใดชี้นำให้ปรีดีตัดสินใจเป็นฝ่ายเปิดการเจรจากับประเทศมหาอำนาจ ทั้งที่ดูเสมือนว่าสยามจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

 

[1] ปรีดี พนมยงค์, โมฆสงคราม : บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. (กรรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์), หน้า 49-50

[2] ชาตรี ประกิตนนทการ, สถาปัตยกรรมไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49. (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558), หน้า 357-375.