Focus
- นายปรีดี พนมยงค์ เสนอถึงการเมืองภายในไทยในบริบทสงครามโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งเผด็จการฟาสซิสต์เรืองอำนาจในประเทศฝ่ายอักษะ โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี ขณะที่นายปรีดีพบว่าในไทยนั้นรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จากเดิมยึดหลัก 6 ประการและสันติภาพในการดำเนินนโยบายแต่เมื่อมีนายประยูร ภมรมนตรี และหลวงวิจิตรวาทการหนุนเสริมเพื่อให้จอมพล ป. เอาอย่างฮิตเลอร์
- นายปรีดีเสนอประเด็นสำคัญเรื่องการเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. โดยมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนชื่อประเทศดังกล่าว หากนายปรีดีได้โต้แย้งด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าชื่อเดิมคือ สยามนั้นมีบริบทประวัติศาสตร์มากกว่าชื่อไทย
-1-
ภายในรัฐบาลมีบุคคลที่นิยมทรรศนะและวิธีการของฮิตเลอร์ และมีบุคคลที่เพ้อฝันในการสถาปนามหาอาณาจักรไทยโดยรวบรวมคนเชื้อชาติไทยในเอเซียใต้ทั้งหมดเข้าเป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ตามอย่างที่ฮิตเลอร์ดำเนินการผนวกดินแดนในยุโรปหลายแห่งเข้าอยู่ในมหาอาณาจักรเยอรมัน โดยขู่เข็ญว่า จะทำสงครามบ้าง ลงมือใช้กำลังอาวุธเข้ายึดครองโดยพลการบ้าง
บุคคลเช่นว่านี้ พยายามโฆษณายกย่องหลวงพิบูลฯ เป็น “ผู้นำ” เช่นเดียวกับที่คนเยอรมันเรียกฮิตเลอร์ว่า “ฟูเรอร์” และ คนอิตาเลียนเรียกมุสโสลินีว่า “อิล ดูเช”
วิทยุกรมโฆษณาการได้กระจายเสียงเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการแต่งหลายเพลงบ่อย ๆ เนื้อเพลงกล่าวถึงคนเชื้อชาติไทยมีอยู่ในดินแดนอันกว้างใหญ่แห่งเอเชียอาคเนย์และอาเซียใต้ อาทิ เพลงที่มีเนื้อร้องเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาละวิน (แม่น้ำทั้งสองนี้มีต้นน้ำจากประเทศจีน) และมีเนื้อร้องเกี่ยวกับไทยอิสลามในมลายูว่า ไทยอิสลามอยู่ลำน้ำปัตตานี ต่อลงไปไทยก็มีอยู่เหมือนกัน
-2-
นายประยูร ภมรมนตรี ผู้สันทัดกรณีเยอรมัน (เมื่อ พ.ศ. 2470 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้นำคำสัมภาษณ์ของผู้นี้ลงพิมพ์พร้อมทั้งรูปถ่ายที่ผู้นี้แต่งเครื่องแบบทหารไทยขี่ม้าในเมืองไทยร่วมไปกับนายทหารเยอรมันในประเทศเยอรมันระหว่างสงคราม) มีผู้ให้ฉายานายประยูรฯ ว่าเป็น “เกอริง”
นายประยูรเป็นเจ้ากรมยุวชนทหารตามแบบ “Hitler Jungen” ได้มีบทบาทสำคัญในการขยายยุวชนชนิดนี้เข้ามาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยบางแห่งเพื่ออบรมฝึกฝนตามอย่างฮิตเลอร์ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ยุวชนหลงในคติที่เกินเลยไปจากที่พระมงกุฎเกล้าฯ ได้อบรมลูกเสือให้รักชาติที่แท้จริง (partriotism) ตามแนว “สยามานุสสติ” ของพระองค์ ส่วนคติของฮิตเลอร์นั้นเป็นการ “คลั่งชาติ” (chauvinism หรือ jingoism)
ต่อมาเมื่อได้จัดตั้งเตรียมปริญญาขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ข้าพเจ้าไม่ยอมรับระบบยุวชนทหารแบบฮิตเลอร์เข้ามาในมหาวิทยาลัยนี้ โดยข้าพเจ้าได้จัดให้นักศึกษาเตรียมปริญญาสมัครเป็นลูกเสือสมุทรเสนา เพื่อฝึกฝนอบรมให้เกิดคติรักชาติที่ถูกต้องตามแนวของพระมงกุฎเกล้าฯ
-3-
มีผู้โจษจันกันเกินเลยไปว่า หลวงวิจิตรวาทการกราบหลวงพิบูลฯ แล้วบอกว่า เห็นรัศมีฉายออกมาจากตัวหลวงพิบูลฯ ข่าวลือนี้คงมีอยู่จนเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้ทำสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิวัติ” เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2501 ซึ่งได้เชิญหลวงวิจิตรฯ ไปปรึกษาที่กรุงลอนดอนก่อนที่จอมพล สฤษดิ์ จะกลับมากรุงเทพฯ ทำการ “ปฏิวัติ” ต่อมาเมื่อจอมพลผู้นี้เป็นนายกรัฐมนตรีและเอาหลวงวิจิตรฯ เป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือพิมพ์ขอคำสัมภาษณ์จอมพลผู้นี้เกี่ยวกับหลวงวิจิตรฯ จอมพลผู้นี้ได้กล่าวเชิงสัพยอกเป็นใจความว่า อย่าให้หลวงวิจิตรฯ เห็นแสงรัศมีก็แล้วกัน
ข้าพเจ้าคิดว่าข่าวลือต่อ ๆ กันมาที่ว่า หลวงวิจิตรฯ เห็นแสงรัศมีหลวงพิบูลฯ นั้น คงเนื่องจากการแสดงมหกรรมในวันคล้ายวันเกิดหลวงพิบูลฯ ครั้งหนึ่งที่วังสวนกุหลาบ ในวันนั้นหลวงวิจิตรฯ เป็นผู้จัดรายการแสดงมหกรรม ซึ่งผู้ได้รับเชิญไปในงานนั้นคงยังจำกันได้ว่า มีตอนหนึ่งแสดงว่า ผู้มีบุญญาภินิหารได้มาจุติในโลกพิภพตรงตามวันเกิดของหลวงพิบูลฯ อีกตอนหนึ่งหลวงวิจิตรฯแสดงโดยตนเองเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อคนง่อยนั้นได้เห็นหลวงพิบูลฯ แล้ว ก็ได้กัมลงกราบหลวงพิบูลฯ ชายชราง่อยคนนั้นก็หายจากความพิการกลับมีกำลังวังชาแข็งแรงขึ้นหลวงวิจิตรได้กล่าวความทำนองเสภาประกอบด้วย ผู้ชมบางคนก็ดีความเอาเองว่า หลวงวิจิตรเห็นแสงรัศมีพิบูลฯ ข่าวลือก็แพร่สะพัดไปจนมาถึงสมัยจอมพล สฤษดิ์
ข้าพเจ้านั่งเคียงข้างอยู่กับหลวงพิบูลฯ สังเกตว่า หลวงพิบูลฯ กระดากที่ถูกหลวงวิจิตรฯ ยกยออภินิหารเช่นนั้น คือ หลวงพิบูลฯ เหลียวมาทางข้าพเจ้าด้วยสีหน้าเจื่อน ๆ แล้วก็ยกมือไหว้หลวงวิจิตรฯ แสดงว่า หลวงวิจิตรฯ ทำเกินไป
ผู้ที่หนุนหลวงพิบูลฯ นั้น มิใช่มีเพียงนายประยูรฯ กับหลวงวิจิตรฯ เท่านั้น คือ ยังมีบุคคลอื่นที่อยู่นอกคณะรัฐมนตรี แต่เป็นผู้คอยเอาใจส่งเสริมเมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ในปารีสตั้งแต่ พ.ศ. 2513 แล้วได้มีเพื่อนเก่าจากเมืองไทยมาเยี่ยม ซึ่งบางคนได้สนทนาถึงความหลังแล้ว ก็ได้ปรารภขึ้นก่อนถึงบุคคลทั้งสี่ซึ่งสมัยโน้นมีฉายาว่า “จตุสดมภ์” ของหลวงพิบูลฯ มีผู้เอาชื่อเดิมของสี่คนนี้มาผูกเป็นวลีสอดคล้องกัน (คนรุ่นปัจจุบันอยากรู้ก็ให้ถามคนรุ่นเก่านั้นบางคนที่ยังจำได้)
ส่วนหลวงวิจิตรฯ นั้นไม่เข้าอยู่ใน “จตุสดมภ์” แต่มีผู้ให้ฉายาว่า “ปุโรหิต” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดิมตามลัทธิพราหมณ์ว่าเป็นผู้สอนพระราชา ถ้าจะเทียบศัพท์อังกฤษปัจจุบันก็น่าจะได้แก่คำว่า “theoritician” ในความหมายว่า “บุคคลที่เป็นเอตทัคคะในทฤษฎีแห่งศิลปะและวิทยาศาสตร์การเมืองบางชนิด”
แต่เมื่อหลวงพิบูลฯ ถูกเยินยอบ่อยครั้งขึ้น จะเคลิบเคลิ้มไปอย่างไรบ้างนั้น เราก็ย่อมวินิจฉัยจากการปฏิบัติว่า ได้ออกห่างจากอุดมคติเดิมที่ตกลงกันไว้ในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนาฯ เพียงใดบ้าง
-4-
หลวงวิจิตรฯ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลหลวงพิบูลฯ ได้เดินทางไปฮานอยค้นคว้าเรื่องคนเชื้อชาติไทยซึ่งสำนักตะวันออกไกลได้สำรวจทำแผนผังไว้ ว่าคนเชื้อชาติไทยนอกจากในสยามแล้ว มีอยู่ในเอเชียอาคเนย์ ในอินเดียและในมณฑลกวางสีกับยูนานของจีนอีกมากมายประมาณกว่า 20 ล้านคนตามสถิติในขณะนั้น หลวงวิจิตรฯ ทำแผนผังนั้นมาเสนอนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งข้อสันนิษฐานของหลวงวิจิตรฯเองว่า คนเชื้อชาติไทยยังมีมากกว่าแผนผังนั้นอีกคือ มีเหนือขึ้นไปจนถึงภูเขา “ALTAI” อันเป็นเขตแดนระหว่างโซเวียตกับจีน หลวงวิจิตรฯ สันนิษฐานว่า “TAI” อันเป็นคำต่อท้าย “AL” นั้นคือ “ไทย” นั่นเอง คือ สันนิษฐานตามเสียงของคำท้าย (ขณะนั้นข้าพเจ้างงเพราะไม่เคยรู้มาแต่ก่อน จึงยังไม่คัดด้านความเห็นนี้ เพราะยังมิได้ค้นคว้าไปถึงนั้น)
หลวงวิจิตรฯ ยังสันนิษฐานต่อไปอีกว่า เมือง “จุงกิง” นครหลวงของจีนระหว่างสงครามนั้นตามแผนที่ฝรั่งเคยเขียนไว้ว่า “PE” จึงสันนิษฐานว่า ตรงกับภาษาไทยว่า “แป” ที่หมายความตามภาษาไทยได้ว่าไม้พาดใต้หลังคาบ้าน ฉะนั้น เดิมจึงเป็นเมืองของไทย (หลวงวิจิตรฯได้ทำแผนที่ประกอบการแสดงละครว่าด้วยต้นตระกูลไทย ซึ่งแม้ในสมัยที่จอมพล ป. กลับมีอำนาจอีกภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. ผู้ชมละครหลวงวิจิตรฯย่อมเห็นแผนที่นี้)
ฝ่ายหลวงพิบูลฯ ที่ไม่เคยรู้เรื่องตามที่หลวงวิจิตรฯ เสนอนี้มาก่อน จึงเกิดทึ่งขึ้นมาได้ว่า สยามที่เป็นเอกราช น่าจะต้องเป็นหัวหน้ารวมคนต่าง ๆ ตามความเห็นหลวงวิจิตรฯ เข้าเป็นมหาอาณาจักรไทย ครั้นแล้ว หลวงพิบูลฯ ได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อตกลงเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็น “ประเทศไทย”
นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอหลักการในการเปลี่ยนชื่อประเทศ ส่วนคำชี้แจงนั้นมอบหลวงวิจิตรฯ
หลวงวิจิตรฯชี้แจงว่าคำว่า “สยาม” นั้นเพิ่งใช้เป็นชื่อประเทศสมัยพระจอมเกล้าฯ (รัชกาลที่ 4) ส่วนฝรั่งเรียกว่า “SIAM” นั้นเอาอย่างจีนที่เรียกประเทศของเราว่า “เสี่ยมล้อ” (ตามสำเนียงแต้จิ๋วที่คนไทยส่วนมากรู้จัก แต่คนจีนอีกหลายร้อยล้านคนเรียกอย่างอื่นและโดยเฉพาะภาษาจีนกลางอันเป็นมาตรฐานนั้นเรียกว่า “เสียนโหล”) จึงสมควรเปลี่ยนชื่อประเทศตามคำไทยว่า “ประเทศไทย”
ข้าพเจ้าได้แถลงคัดด้านว่า คำว่า “สยาม” เป็นชื่อของประเทศมาช้านานก่อนพระจอมเกล้าฯ หลายศตวรรษแล้ว จะเห็นได้จากจารึกในกฎหมายตราสามดวงซึ่งเมื่อจุลศักราช 1166 (พ.ศ. 2347, ค.ศ. 1804-5) พระพุทธยอดฟ้าฯ (รัชกาลที่ 1) ได้รวบรวมกฎหมายตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยามาประชุมไว้เป็นเล่มเดียวกันคล้ายกับเป็นประมวลกฎหมาย ในอารัมภบทที่พระองค์เรียกว่า “พระธรรมสาตร” ก็ได้จารึกไว้ ซึ่งข้าพเจ้าได้ลงพิมพ์ในหนังสือ “ประชุมกฎหมายไทย” (พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2473) ของข้าพเจ้าว่าดังนี้
“อิทานิ ในกาลบัดนี้ ปุริเสน อันบุรุษผู้เป็นวินิจฉัยอำมาตย
ทุคฺคาฬฺหํ จะยังรู้เป็นอันยาก อิห สามเทเส ในสยามปรเทสนี้
ตสฺมา เหตุดั่งนั้น อหํ อันว่าข้า
รจิสฺสํ จักตกแต่ง ตํ ธมฺม สตฺถํ ซึ่งคัมภีร์พระธรรมสาตรนั้น
สามภาสาย ด้วยสยามภาสา ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย
สุณาถ จงฟัง ตํ สตฺถํ ซึ่งคัมภีร์พระะรรมสาตรนั้น
สนฺติกา แต่สำนัก นิเม แห่งเรา”
หลวงวิจิตรฯ เถียงว่า คำว่า “สยาม” ไม่มีคำแปลในภาษาบาลี จะมีก็แต่คําสันสกฤต “สยาม” ที่แปลว่า ดํา หรือสีคล้ํา ทําให้คนไทยกลายเป็นนิโกรไป ข้าพเจ้าแย้งว่า ตามที่หลวงวิจิตรฯ อ้างว่า พระจอมเกล้าฯได้นําคํานี้มาใช้เรียกชื่อประเทศนั้นแต่เราก็ย่อมรู้กันว่าพระองค์ทรงมีความรู้แตกฉานในภาษาบาลีก็ย่อม ทรงทราบว่า คํานี้มีความหมายที่เป็นมงคลแก่ปวงชนชาวสยาม ข้าพเจ้าแม้ ไม่ใช่มหาเปรียญแต่เห็นว่า คําว่า “สยาม” ที่พระมหากษัตราธิราชตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาใช้เรียกชื่อประเทศนี้ซึ่งกรุงรัตนโกสินทร์รับสืบทอดต่อมานั้น ท่าน แผลงมาจากคําบาลี “สาม” ซึ่งมาจากรากศัพท์บาลี “สม” ที่แปลว่า เสมอภาค พระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนท่านทรงทราบดีว่า ประเทศของท่านแม้จะมีคนเชื้อชาติไทยเป็นจํานวนส่วนข้างมาก แต่ก็มีคนเชื้อชาติอื่นที่มีเมืองหรือแคว้นของตนต่างหากอยู่เดิม แล้วค่อย ๆ รวมกันเข้าเป็นประเทศเดียวกัน
ท่านจึงทรงปรารถนาที่จะให้ปวงชนชาวสยามไม่ว่าจะมีเหล่ากําเนิดหรือถือศาสนาใด มีความเสมอภาคทั่วหน้ากัน ท่านจึงได้ใช้คําว่า “สยาม” อันเป็นมงคลนามตามความหมายดังกล่าวแล้ว เป็นชื่อของประเทศนี้ ส่วนที่อ้างว่าฝรั่งเรียกว่า “SIAM” เอามาจากจีนนั้น ไม่ปรากฏว่าฝรั่งโบราณไปเมืองจีนก่อนแล้วจึงมาสยาม ฝรั่งมาไทยตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็มาทางทะเลอ้อมแหลมกู๊ดโฮปผ่านอินเดีย, ลังกา, มลายู แล้วมาไทย ฝรั่งจึงเรียกตามคนอินเดีย, ลังกา, มลายู ตามมูลศัพท์บาลี แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ขอความเห็นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งเสียงส่วนข้างมากเห็นควรให้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ประเทศไทย”
ข้าพเจ้าเสนอต่อไปว่า ถ้าจะเอาคําว่า “ไทย” เป็นชื่อของประเทศนี้ เพื่อแสดงว่า ประเทศนี้มีคนเชื้อชาติไทยเป็นส่วนข้างมาก ก็ขอให้ตัดคําว่า “ประเทศ” ออกโดยใช้ชื่อตามที่สามัญชนคนไทยใช้กันอยู่ โดยเรียกชื่อ ประเทศของตนว่า “เมืองไทย” แต่คําเสนอของข้าพเจ้าไม่ได้รับผล ข้าพเจ้าถามหลวงวิจิตรฯ ว่าในการติดต่อกับต่างประเทศนั้นจะเรียกชื่อประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่ากระไร หลวงวิจิตรฯ ตอบว่า ในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “THAILAND” และในภาษาฝรั่งเศสจะเรียกว่า “THAILANDE”
ข้าพเจ้าแถลงว่า การเติมค่า “LAND” ต่อท้ายค่าว่า “ไทย” นั้น ทําให้ฝรั่งเห็นว่า ประเทศเรานี้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ (ในสมัยนั้น) เช่น Zululand, Ayasaland, Somaliland etc. ส่วนประเทศที่เป็นเอกราชจาก อังกฤษแล้ว เขาก็ได้เปลี่ยนชื่อประเทศของเขาโดยไม่มีคําว่า “LAND” หรือ “LANDE” ต่อไว้ข้างท้าย เช่น “Ireland” เปลี่ยนเป็น “Fire” ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่ภาษาของเขาอยู่ในตระกูลเดียวกับอังกฤษ เช่น “Netherland” ก็เป็นไปตามลักษณะภาษาของเขา ไม่จําเป็นที่เราซึ่งมีรากภาษาต่างกันจะต้อง เอาอย่าง ข้าพเจ้าจึงขอเสนอว่า ขอให้ใช้ชื่อในภาษาไทยว่า “เมืองไทย” และ ใช้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า“MUANG THAI” แต่ข้อเสนอของข้าพเจ้าไม่ได้รับผล รัฐบาลจึงนําเรื่องเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้เปลี่ยนชื่อประเทศตามที่นายกรัฐมนตรีและหลวงวิจิตรฯ เสนอ
สรุปก็คือการเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” นั้น มิใช่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ และภาษาศาสตร์ หากตั้งอยู่บนความคิดที่เตรียมไว้ต้อนรับการสถาปนามหาอาณาจักรไทย เมื่อได้เปลี่ยนชื่อประเทศดังนั้นเสร็จแล้ว ก็มีปัญหาเกิดขึ้นในทางไสยศาสตร์ พุทธศาสตร์ และราชศาสตร์ และการเขียนคนสัญชาติไทยเป็นภาษาต่างประเทศ ซึ่งผู้คิดเปลี่ยนชื่อประเทศมิได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า เป็นต้นว่า
ก. ในทางไสยศาสตร์นั้น ชาวสยามจํานวนไม่น้อยถือคติ “พหูเทวา” ที่ ถ่ายทอดมาจากอินเดียตั้งแต่โบราณกาล คือ ถือว่ามีเทวามากมายหลายองค์ แต่มี “เทวาธิราช” ที่สูงสุดอยู่องค์หนึ่งซึ่งปกป้องสยามรัฐสีมา มีชื่อว่า “พระ สยามเทวาธิราช” ตรงกันกับที่ชาวกรีกโบราณถือว่ารัฐ หรือนครอื่น ๆ ของกรีกโบราณมีอภิเทวาอยู่โดยเฉพาะแต่ละแห่ง ผู้นิยมไสยศาสตร์บางคนที่อยู่นอกวงการรัฐบาล ตั้งปัญหาระหว่างกันว่า จะต้องเปลี่ยนชื่อของพระสยามเทวาธิราชอนุโลมตามทางการให้เป็น “ไทยเทวาธิราช” โดยวิธีใด โบราณท่าน ได้กระทําพิธีเทวาภิเศกด้วยเวทย์มนต์คาถาใด และเวทย์มนต์ที่จะใช้เปลี่ยนชื่อ เทวาองค์นี้ควรจะใช้ว่ากระไรจึงจะมิให้ท่านโกรธเคือง ปัญหาก็เชื่อมโยงไปถึงของขลังที่ปลุกเสกขึ้นในระยะภายหลังเปลี่ยนชื่อประเทศนั้นด้วย
เพราะบางคนถือว่าของขลังเป็นทางไสยศาสตร์ ที่ต้องขึ้นอยู่แก่อิทธิพลของเทวาธิราชองค์นั้นที่มีวิญญาณครอบงําทางไสยศาสตร์ทั้งปวง (แต่บัดนี้ข้าพเจ้าไม่ทราบ ว่าจะได้มีพิธีเฉลิมนามเทวาธิราชองค์นั้นเป็น “พระไทยเทวาธิราช” แล้วหรือยัง)
ข. ในทางพุทธศาสตร์ มีคาถาสวดมนต์บางบท อาทิ การถวายอดิเรกพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นคาถาที่มีมาแต่โบราณกาล คือเมื่อพระที่ได้รับนิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีหลวง เมื่อได้สวดยะถาสัพพี ภะวะตุสัพพะมังคะลังอย่างที่สวดในงานชาวบ้านเสร็จแล้ว ก็สวดถวายอดิเรกซึ่งพระแม้เป็นเปรียญ แล้วมิได้อยู่ในอันดับนิมนต์ไปในงานพิธีหลวงก็ไม่จําเป็นท่องคาถาสวดมนต์นี้ ความในคาถาถวายอดิเรกมีว่า “จิรัญสุขิตา ยุนิรามโย...สยามินโท มหาราชา...” พระเถระผู้ใหญ่องค์หนึ่งได้ปรารภกับข้าพเจ้าว่า คําว่า “ไทย” ไม่มี ในภาษาบาลีแต่ก็จําต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทางการ คือเปลี่ยนจาก “สยามินฺโท” มาเป็น “ไทยินโท”
ค. เมื่อพระท่านได้เปลี่ยนเช่นนั้นแล้วข้าพเจ้าจึงคิดว่า ในทางราชศาสตร์ ซึ่งมีพระบรมราชโองการบางชนิดที่พระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนได้ทรงลงพระ ปรมาภิไธยว่า “สยามมินทร์” ก็จะต้องเปลี่ยนเป็น “ไทยินทร์” หากแต่ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมีคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ เรื่องก็อาจต้องรอไปก่อนจนกว่าจะเสด็จกลับขึ้นครองราชย์ว่า จะทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการบางชนิดที่พระมหากษัตริย์แต่ปางก่อนได้ทรงลงพระปรมาภิไธยไว้ว่า “สยามมินทร์” นั้นมาเป็น “ไทยินทร์” หรือจะทรงมีพระราชนิยมประการใดก็สุดแท้แต่พระราชอัธยาศัย
ง. แม้กระทรวงการต่างประเทศไทยจะเขียนบอกสัญชาติของผู้ถือว่า “THAÏ” แต่ความปรากฏว่าบัตรประจำตัวที่ทางการฝรั่งเศสออกให้แก่คนไทยในฝรั่งเศสเขียนตามหลักภาษาของเขาว่า “THAÏLANDAIS” ถ้าเป็นเพศหญิงเขียนว่า “THAÏLANDAISE” บางคนปรารภว่าฟังดูแม่ง ๆ ชอบกล แทนคำว่า “SIAMOIS,” “SIAMOISE” หรือภาษาอังกฤษว่า “SIAMESE” ที่ฝรั่งเคยรู้จักมาช้านานหลายศตวรรษแล้ว
(ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ ได้เปลี่ยนชื่อประเทศในภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสให้เป็น “SIAM” ตามเดิม แต่รัฐบาลภายหลังรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ได้เปลี่ยนกลับมาเรียกชื่อประเทศเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAILAND” ภาษาฝรั่งเศสว่า “THAÏLANDE” (บางคนบ่นว่าฟังทะแม่ง ๆ อยู่เพราะคนไทยกลายเป็น “ไตลองเด” ไปเสียแล้ว) ครั้นต่อมา มีผู้เสนอในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาว่างประมาณ 12 ปีนั้น ให้เปลี่ยนชื่อประเทศกลับเป็น “สยาม” แต่เสียงข้างมากซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลคติหลวงวิจิตรฯไม่เห็นชอบด้วย)
-5-
เพื่อประกอบการพิจารณาว่าควรจะคิดสถาปนามหาอาณาจักรไทยที่อาจมีแนวความคิดคล้าย ๆ หรือไม่นั้น ข้าพเจ้าขอเสนอเรื่องที่ข้าพเจ้าประสบมาระหว่างไปลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนเป็นเวลากว่า 20 ปี ที่ได้มีโอกาสทำการค้นคว้าเรื่องคนเชื้อชาติไทยในประเทศจีน ปรากฏว่า คำว่า “ALTAI” นั้นเป็นคำในภาษามงโกลแปลว่า “ทอง” ภูเขาอัลไตจึงแปลว่า “ภูเขาทอง” บริเวณนั้นอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตร 50 องศา ติดต่อกับไซบีเรียตะวันตกเฉียงใต้ ฤดูหนาวอุณหภูมิลดลงกว่า 30 องศาใต้ศูนย์เซนติเกรต ถ้าคำสันนิษฐานว่าบรรพบุรุษไทยเป็นเจ้าของเดิมของดินแดนนั้นถูกต้อง ก็ดูเหมือนคนไทยเดิม ทนหนาวได้มากเหมือนคนอยู่ในไซบีเรีย ความจริงนั้นคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนนั้น เป็นคนผ่าหนึ่งของมงโกลและเผ่าหนึ่งของเชื้อชาติคอสซัก อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของบริเวณนั้นขึ้นอยู่กับสหภาพโซเวียต ซึ่งจัดตั้งเป็นเขตโซเวียตปกครองตนเองไปเสียแล้ว ส่วนเมืองจุงกิงนั้น จีนโบราณเขียนเป็นตัวอักษรจีนออกสำเนียงว่า “เผย” แต่ฝรั่งเขียนเป็นอักษรลาตินว่า “PE” คำนี้มิได้หมายความว่า “แป” หรือไม้ชื่อไม้แป หากแปลว่า ที่เนินซึ่งแม่น้ำหลายแควได้ประสบกันที่นั้นฤดูหนาวก็หนาวพอดู ฤดูร้อนก็ร้อนจัดยิ่งกว่าในเมืองไทยปัจจุบันมาก ถ้าสมมติว่า จะเรียกร้องเอาดินแดนที่สันนิษฐานว่าเป็นของคนเชื้อชาติไทยเดิมมาผนวกกับเมืองไทยปัจจุบัน คนในบริเวณจากไทยถึงเมือง “PE” มีมากกว่าพลเมืองไทยประมาณ 4 เท่า สามารถกลืนคนไทยในเมืองไทยปัจจุบันได้ แต่ทั้งนี้เป็นเรื่องสันนิษฐานของหลวงวิจิตรฯที่สมมุติเรื่องเอามาเล่นละครอย่างไรก็ตาม ไม่ควรคิดว่าหลวงพิบูลฯ จะหลงเชื่อไปทั้งหมด แต่ก็ยังมีคนที่หลงเชื่อว่าเป็นจริง ถึงกับนำไปเขียนหนังสือหรือมีทรรศนะตามคติหลวงวิจิตรฯ
ไม่ควรคิดว่าหลวงวิจิตรฯ คนเดียวเข้าใจผิดเรื่องแหล่งเดิมของคนเชื้อชาติไทย คือยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจผิดหรือวางตนเป็นทิศาปาโมกข์รู้สารพัดอย่าง หากใช้วิธีเดา ๆ เอาเองจากหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นผู้แปล และอาศัยฉบับที่ฝรั่งเขียนบ้าง ท่านเจ้าพระยาคนนั้นแปลโดยทับศัพท์ชื่อของบุคคลในสามก๊กตามสำเนียงฮกเกี้ยน มิใช่สำเนียงจีนกลาง แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าหนังสือ ตำนานสามก๊ก นั้นผู้แต่งชื่อ “หลัว กว้าน จง” (อายุระหว่าง ค.ศ. 1330 ถึง 1400) ได้รวบรวมนิยายที่มีผู้เล่าตามร้านขายน้ำชาซึ่งเป็นประเพณีที่ทำกันต่อมาจนถึงกาละไม่นานมานี้ คือ ตามร้านขายน้ำชานั้นมีคนคอยรับจ้างเล่านิยายให้ผู้มาที่ร้านฟัง บางคนก็ตีกรับประกอบด้วยทำนองขับเสภาคล้ายกับประเพณีในเมืองไทย ผู้เล่านิยายก็ต่อเติมให้สนุกขึ้นกว่าที่มีสาระจริงเพียงเล็กน้อย หลัวกว้านจงจึงเก็บเอานิยายเหล่านี้มาแต่งเป็นหนังสือหลายเล่ม
เล่มหนึ่งชื่อ “ซานกั๊วะ เหยียนยี่” (“ตำนานสามก๊ก”) ที่ฮกเกี้ยนออกสำเนียง “ซานก๊วะ” ว่า “ซำก๊ก” เจ้าพระยาพระคลังแผลงมาเป็น “สามก๊ก” ซึ่งเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับหลายเรื่องของฝรั่งเช่น “ทแกล้วสามเกลอ” (LES TROIS MOUSQUETAIRES) ของ Alexandre Dumas ซึ่งกล่าวถึงชื่อสถานที่และบุคคลที่มีจริง แต่เนื้อหาเกินเลยจากความจริงมาก ขุนช้างขุนแผนของสุนทรภู่ก็มีชื่อบุคคลและสถานที่จริงแต่เนื้อหาก็เกินเลยจากความจริงมาก สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังนั้นแปลจากฉบับที่ได้มีการปรับปรุงให้สนุกเพิ่มขึ้นอีกในศตวรรษที่ 17 สมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) ยังมีบุคคลที่ประสมรอยฝรั่งบางคนที่ไปเมืองจีนราว ๆ ปลายของศตวรรษที่ 19 สมัยราชวงศ์ชิง (เช็ง) ยังครองราชย์อยู่
ฝรั่งอ้างว่านครหลวงแห่งอาณาจักรน่านเจ้าซึ่งกษัตริย์เชื้อชาติไทยครอบครองนั้น ตั้งอยู่ที่เมือง “ตาลีฟู” โดยระบุชื่อกษัตริย์ว่า “ตีโล่โก๊ะ, โก๊ะโล่ฝง ฯลฯ” ถ้าเราใช้ความสังเกตบ้างก็จะฉงนว่า ชื่อกษัตริย์ไทยนั้นไม่เป็นคำไทยเลย บางคนก็ช่วยฝรั่งตีความหมายชื่อเมือง “ตาลีฟู” ว่าคำว่า “ตาลี” นั้นเป็นคำไทยที่จีน (แต่จิ๋ว) พูดไม่ชัดคือ “ตาหรือต้า” นั้นตรงกับคำไทยว่า “ท่า” และคำว่า “ลี” ตรงกับคำไทยว่า “ดี” แต่จีน (แต่จิ๋ว) ออกสำเนียง “ด” ไม่ได้จึงออกเสียงว่า “ลี” บางคนที่ว่านี้จึง สรุปว่าเมืองนั้นคือ “ท่าดี” นั่นเอง อันที่จริงฝรั่งที่เป็นต้นตำรับของผู้เขียนเกี่ยวกับประวัติคนเชื้อชาติไทยนั้น เรียกเมืองที่กล่าวถึงนี้ว่า “ตาลีฟู” ตามอย่างที่ราชวงศ์ชิงแบ่งเขตปกครองโดยเรียกจังหวัดหรือเขตหนึ่งๆ ว่า “ฟู” ก่อนราชวงศ์ชิงไม่ใช้คำนี้เรียกชื่อเขต ฉะนั้นถ้าถอยหลังขึ้นไปถึงสมัยสามก๊ก เขตที่สมมติกันว่าเป็นน่านเจ้าจึงไม่ไช่ “ฟู” เขตนี้คำจีนออกสำเนียงว่า “ต้าหลี่” แปลว่า “หินอ่อน” เพราะเป็นแหล่งหินอ่อนและหยก ฝรั่งเขียนเป็นอักษรลาตินไม่ได้ชัดจึงเขียนว่า “TALI” มีคำว่า “FU” ต่อท้ายไว้ แสดงว่าเป็นเขตตามราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมพลเมืองเขตนี้มา ปรากฏว่าคนพื้นเมืองส่วนมากที่สุดเป็นคนเชื้อชาติ “ไป๋” ใช้คำพูดต่างกับไทยมาก แม้การนับก็ต่างกันเป็นคนละภาษาทีเดียว จีนกวางตุ้งและแต้จิ๋วยังออกสำเนียงการนับใกล้เคียงกับไทย
คนเชื้อชาติไทยในประเทศจีนปัจจุบันมีระหว่าง 10 ถึง 20 ล้านคน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณส่วนใต้ของมณฑลนาน นับตั้งแต่ติดแดนอัสสัมของอินเดียมาจนถึงในเขตปกครองตนเองของคนเชื้อชาติ “จ้วง” (ตามสำเนียงที่คนเชื้อชาติไทยในเขตนี้เรียกตนเอง ส่วนฝรั่งเขียนว่า “CHUANG” คนเชื้อชาติไทยเหล่านี้ ที่อยู่ในตอนใต้ของยูนานเคยได้รับวัฒนธรรมจากมอญพม่าที่มีคำตามมูลศัพท์บาลีสันสกฤต บ้างก็มีคำพูดหลายดำที่มาจากบาลีสันสกฤตเพิ่มเติมจากคำไทยเดิมแท้ๆ แต่เมื่อได้รับวัฒนธรรมจีนก็มีคำจีนเพิ่มเติมเข้ามาด้วย พวกนี้เดิมเรียกชนชาติฮ่านซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมากของจีน (ซึ่งไทยสยามเรียกคนฮ่านว่า “จีน”) นั้นว่า “เข่” หรือ “กนเข่” คือ “คนเข่” รวมทั้งคนที่อยู่เหนือยูนานตามที่อ้างว่าเป็นดินแดนของไทยเดิมด้วย ในบริเวณกวางสีซึ่งสมัยเก่าจัดเป็นมณฑลหนึ่งของจีนเรียกว่ามณฑลกวางสีนั้น ประเทศจีนใหม่จัดตั้งให้เป็น “เขตปกครองตนเองของชนชาติจ้วง” โดยมีคณะกรรมการปกครองประกอบด้วยชนชาติต่าง ๆ ในบริเวณนั้นมีชนชาติจ้วงซึ่งเป็นคนเชื้อชาติไทยเป็นพลเมืองส่วนข้างมากกว่าชนชาติอื่นๆ คนเชื้อชาติไทยส่วนนี้ไม่เคยรับวัฒนธรรมอินเดียและขอมจึงไม่มีคำพูดที่มาจากภาษาเหล่านั้น ไม่สามารถเข้าใจคำใหม่ๆ ของไทยสยาม แต่ถ้าหากพูดกันด้วยคำไทยเดิมแท้ ๆ ก็เข้าใจได้ ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้ไปเยี่ยมคนเชื้อชาติไทยหรือจ้วงในบริเวณนี้ รองประธานคณะกรรมการปกครองเขตเป็นผู้ต้อนรับ การสนทนาด้วยคำไทยเดิมนั้นเราเข้าใจกันได้ซึ่งเป็นคำที่ไม่เป็นไปตามการแบ่งชั้นวรรณะ ชั้นแรกข้าพเจ้าก็กระดากอยู่บ้างเพราะเคยชินต่อการใช้คำที่แบ่งชั้นวรรณะ
ฉะนั้น จึงไม่กล้าเอ่ยพูดกูมึงกับท่านรองประธานฯ แต่ท่านเป็นผู้เริ่มก่อนโดยวางหน้าตาเฉยเหมือนอย่างฝรั่งพูด “ไอ, ยู” ข้าพเจ้าก็เลยหมดความกระดากในการใช้คำกูมึงกับท่านรองประธาน คือ เมื่อท่านเชิญให้ข้าพเจ้ารับประทานอาหารท่านก็บอกว่า “มึงกินเข่า” ชวนดื่มก็ว่า “มึงกินเหล่า” ชมอาหารก็ว่า “ปาดี เป็ดดี ฯลฯ รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ข้าพเจ้ายืนสนทนากับท่านรองประธาน ตำรวจอารักขาที่เป็นคนจ้วง ยกเก้าอี้มาบอกข้าพเจ้าว่า “มึงนั่ง” เวลาข้าพเจ้าจะเดินทางกลับกวางตุ้ง ข้าพเจ้ากล่าวคำอำลาท่านรองประธานตามธรรมเนียมคนไทยเดิมที่นั่นว่า “กูไปมึงอยู่”
(ไหน ๆ ข้าพเจ้าก็ได้กล่าวเกินไปจนถึงเพียงนี้แล้วก็ขอเพิ่มเติมความไว้ในวงเล็บต่อไปนี้ด้วยว่า ในการศึกษาสนทนากับคนไทยเดิมนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเขาพูดถึง “คน” ว่า “กน" อยู่บ่อย ๆ จึงนึกขึ้นมาว่ามีคำไทยสยามบางดำที่ยังไม่ปรากฏว่าผู้ใดอธิบายไว้ คือ คำว่า “กลาโหม, มหาดไทย, มหาดเล็ก” ถามพี่น้องไทยเดิมก็ไม่รู้ ข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานเอาเอง จะผิดถูกอย่างไรข้าพเจ้าไม่รับรอง แต่ได้บอกเพื่อนไทยจากสยามให้รับไปช่วยค้นคว้าให้ได้ความถูกต้องด้วย คือ ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือไทยในสมุดข่อย พบว่าคำว่า “คน” นั้นโบราณบางท่านเขียนว่า “คล” บ้าง “กล” บ้าง และได้ทราบตามประวัติการปกครองสมัยโบราณที่ท่านมอบให้ “สมุหพระกลาโหม” บังคับหัวเมืองปักษ์ใต้ ส่วน “สมุหนายก” บังคับหัวเมืองภาคเหนือ ซึ่งชาวบ้านกล่าวสั้น ๆ ว่า “กลาโหมว่าปักษ์ใต้ มหาดไทยว่าฝ่ายเหนือ” จึงน่าสันนิษฐานว่า คำว่า “กลาโหม” นั้นท่านอาจผสมคำว่า “กล” ที่หมายถึง “คน” เข้ากับ “อาหม” หรือ “อาโหม” เป็น “กลาโหม” ไปก็ได้ ซึ่งหมายถึงคนไทยอาโหมที่อาศัยอยู่ปักษ์ใต้
ไทยอาโหมนั้นยังมีอยู่ในบริเวณอัสสัมของอินเดียและจีนและอาจมีอยู่ในปักษ์ใต้ของสยามตั้งแต่โบราณกาล เมื่อสันนิษฐานคำว่า “กลาโหม” แล้วข้าพเจ้าสันนิษฐานต่อไปถึงคำว่า “มหาดไทย” ซึ่งคำว่า “มหาด” นั้นไม่รู้ว่าแปลว่ากระไร จึงจำต้องสันนิษฐานว่า คนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา แม้ตามชนบทแถวผักไห่และเสนา ใกล้สุพรรณบุรีทุกวันนี้ ชอบออกสำเนียงลาก ๆ เสียงจึงอาจออกเสียง “มห” ที่แปลว่า “ใหญ่” เป็นสำเนียงว่า “มหาด” ไปได้ ถ้าคำสันนิษฐานนี้ถูกต้อง คำว่า “มหาดไทย” ก็หมายถึง “ไทยใหญ่” ซึ่งตรงกับที่ไทยสยามเรียกคนไทยที่อยู่ฝ่ายเหนือขึ้นไปว่า “ไทยใหญ่” อันเป็นหน้าที่ของท่านว่าการมหาดไทยสมัยโบราณปกครอง ส่วนคำว่า “มหาดเล็ก” นั้นเมื่อสันนิษฐานว่า “มหาด” คือ “มห” แล้วก็ติดอยู่ที่คำว่า “เล็ก” นั้นหมายความว่าเล็กน้อยไม่ได้ เพราะผู้รับใช้พระมหากษัตริย์ไม่ใช่คนเล็ก ๆ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะ ได้แก่ คำว่า “เลข” เพราะในสมัยเก่านั้น พลเมืองชายถูกสักเป็น “เลข” ต้องเข้าเวรตามเจ้านายที่ตนสังกัดมีกำหนดปีละกี่วันกี่เดือน คือ เท่ากับมารับใช้เจ้าสังกัด ฉะนั้น ผู้ที่รับใช้พระมหากษัตริย์ก็เข้าลักษณะเป็นเลข แต่เป็นเลขที่ใหญ่กว่าเลขของขุนนางธรรมดาจึงอาจเป็น “มหเลข” ซึ่งพูดลากเสียงคำต้นเป็น “มหาด” แต่คำหลังเน้นหนักเป็น “เล็ก” จึงอาจกลายเป็น “มหาดเล็ก” ในสมัยต่อมา)
ระหว่างฤดูร้อน พ.ศ. 2514 ข้าพเจ้ามีโอกาสสนทนากับนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ข้าพเจ้าได้ปรารภถึงประวัติคนเชื้อชาติไทยดังกล่าวนั้น และฝากให้ท่านไปดำริว่า สมควรที่ท่านจะริเริ่มตั้งกรรมการค้นคว้าเขียนขึ้นให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และประวัติศาสตร์ ท่านรับข้อเสนอของข้าพเจ้า ต่อมาข้าพเจ้าทราบว่า ก่อนที่ท่านลาออกจากตำแหน่งไม่กี่สัปดาห์ท่านได้ไปพูดวิทยุกระจายเสียงถึงความดำริของท่านในเรื่องนี้
หมายเหตุ:
- คงอักขรและการสะกดตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม:
- ปรีดี พนมยงค์. “การหนุนให้หลวงพิบูลฯ เอาอย่างฮิตเลอร์และให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทย” ใน, โมฆสงคราม บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2558), น. 77-96.