ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ถาม-ตอบ ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ

23
สิงหาคม
2567

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

ช่วงสุดท้ายนี้จะขอเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ให้ความเห็นนะคะ แล้วก็ดิฉันเห็นคุณอังคณา นีละไพจิตร นั่งอยู่ตรงนี้ในฐานะที่คุณอังคณาหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องหนึ่งที่ทำให้คุณสมชาย นีละไพจิตรที่เป็นบุคคลสูญหายเพราะท่านคือหนึ่งในทนายความงานที่ไปทำงานให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ผ่านมาวันนี้ 20 ปีแล้วเช่นกันเท่า ๆ กับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

จากที่คุณอังคณาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบและช่วง 20 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คือเปลี่ยนไปแค่ภรรยาของทนายความคนหนึ่งต้องมาเป็นทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนและมาเป็น สว. เป็นปากเป็นเสียงให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนะคะ ขอเรียนเชิญพี่อังคณาได้มาแลกเปลี่ยนกับพวกเราในวงพูดคุยนี้ด้วยนะคะ ขอเชิญค่ะ

 

 

อังคณา นีละไพจิตร :

ขอบคุณสถาบันปรีดี พนมยงค์ที่จัดงานแบบนี้ขึ้นมานะคะ ขอบคุณคุณแยมและวิทยากรทุกท่าน อันดับแรกดิฉันต้องอธิบายก่อนว่าดิฉันไม่ได้เป็นกรรมการ กอส. (หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร) นะคะเดี๋ยวเขาจะว่าเอาแล้วก็ต้องขอบคุณวิทยากรที่แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ดิฉันมีความเห็นในสามส่วนนะคะ

ประการแรก ดิฉันอยากจะมองในเรื่องของการทำงานด้านสันติวิธีในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ดิฉันคิดว่า 20 ปีผ่านมานี้ นักสันติวิธีก็ควรทบทวนตัวเองด้วยว่าแล้วที่ผ่านมา 20 ปีมาแล้วมันมีอะไรดีขึ้น ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากแล้วดิฉันก็ติดตามคณะกรรมาธิการสันติวิธีในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดิฉันเห็นว่ากรรมาธิการชุดนี้ประกอบไปด้วยคนกลุ่มเดียวเครือข่ายเดียวกันรู้จักกันเองหมดเลย ไม่ได้มีองค์ประกอบที่หลากหลายไม่ได้มีองค์ประกอบของคนที่เห็นต่างนะคะ ทั้งรัฐและไม่ใช่รัฐเข้าไปนั่งอยู่ด้วย ดิฉันจึงคิดว่าสุดท้ายกรรมาธิการจะมีรายงานมาฉบับหนึ่ง แล้วก็บอกให้ทำแบบนี้แล้วดิฉันก็ไม่มั่นใจว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งสนับสนุนความความคิดเห็นของอาจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจที่อาจารย์อนุสรณ์ได้พูดตั้งแต่แรกคือ เรื่องของสันติธรรมที่ต้องควบคู่ไปกับสิ่งที่มนุษยชนแล้วยังเห็นว่าในหมู่ของนักสันติวิธี มีอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ท่านเดียวที่ยืนยันเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าการยุติความรุนแรงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิมนุษย์ชนและความยุติธรรม

ในเรื่องที่ 2 คืออยากจะพูดถึงบทบาทของรัฐในการแก้ปัญหาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ทางวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ในการจะให้สภาที่ปรึกษากลับมามีบทบาทแล้วก็พระราชบัญญัติการบริหารการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี '53 สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ก็คือ การนำนโยบายการเมืองนำการทหารกลับนำมาใช้ ความท้าทายก็คือแล้ว ศอ.บต.จะกล้านำกอ.รมน. หรือเปล่า ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้เราต้องติดตามกันนะคะ

 

 

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่าง ยิ่งอยากจะเรียนด้วยความเคารพเลยนะคะว่ายังคิดว่าเจ้าหน้าที่ฯ ยังมีความระแวงประชาชนมาโดยตลอด ไม่นานมานี้สัก 2 เดือนมาแล้วตอนที่ดิฉันได้รับจดหมายฉบับนึงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ไปเป็นพยานกรณีที่กลุ่มเยาวชนถูกฟ้องร้องในคดีความผิดอั้งยี่ ซ่องโจรเพียงเพราะจัดกิจกรรมเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเองน่าจะเป็นคนละคดีฯ กับทางท่านวิทยากร คือตอนที่ได้รับจดหมายถึงอยู่ต่างประเทศแล้วก็มีคนสแกนจดหมายไปให้ดู เพราะกลับมาดิฉันก็มานั่งอ่านทีละข้อ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขอให้ดิฉันไปให้การด้วยตนเองหรือตอบหนังสือหรือตอบคำถาม

คำถามแรก ท่านมีความเข้าใจเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตัวเองแค่ไหน คำถามที่สอง ท่านร้องเพลงชาติไทยเป็นหรือเปล่า คำถามที่สาม ท่านเข้าใจความหมายของเพลงชาติไทยหรือไม่ มีประมาณ 10 คำถาม ดิฉันก็ทำหนังสือตอบว่า “ดิฉันได้อ่านคำถามทั้งหมดแล้ว แล้วก็ดิฉันมีความเห็นว่าหนังสือฉบับนี้ เป็นหนังสือที่ไม่แสดงถึงความเคารพไม่ให้เกียรติและอาจเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ดิฉันจึงไม่มีความยินดีและดีใจไปให้การในชั้นสอบสวนเช่นเคย ยินดีอย่างมากที่จะไปให้การเป็นพยานในชั้นศาล และขอความกรุณารีบนำส่งคดีขึ้นสู่ศาลด้วย” ไม่นานดิฉันได้รับจดหมายตอบกลับมาว่า “ขอถอนหนังสือฉบับเดิมออก เนื่องจากเป็นความเข้าใจผิด” ดิฉันก็งงว่าทำไมก่อนเขียน ไม่รู้จักคิดแต่ทำไปแล้วแล้วมันสร้างความเสียหาย

สิ่งที่สอง ที่ดิฉันอยากจะพูดถึงในเรื่องของรัฐ ก็คือทุกครั้งที่เราได้ยินคำพูดจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า “ใช้ในการปฏิบัติการทางกฎหมาย” นั่นหมายถึงมีการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้น แต่ถ้าในทางกฎหมายการที่วิสามัญฆาตกรรมจะทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นอย่างยิ่งช่วยเพื่อปกป้องชีวิตของเจ้าหน้าที่ต้องให้ได้สัดส่วนด้วย แต่ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่มีเกิดเหตุการณ์วิสามัญเกิดขึ้นและใช้คำว่าเป็นปฏิบัติการทางกฎหมาย อันนี้คือการใช้กฎหมายเพื่ออาจจะเป็นการปิดปากเพราะกลัวของผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมด้วยดิฉันจึงคิดว่าเรื่องตรงนี้จำเป็น

ในฐานะคนนอกอย่างดิฉันเอง คนนอกพื้นที่ด้วยเหมือนกัน และที่คุณแยมพูด เรื่องถูกออนไลน์บุลลี่นี่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นที่ต่อเนื่อง คือบุลลี่จนกระทั่งแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์ ใช้คำพูดที่ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อยู่มาก จนกระทั่งผ่านมา 20 ปีก็เห็นนักสันติวิธีจัดเวทีประจำให้กับหน่วยงานความมั่นคงก็เห็นดูเข้าใจกันดี แต่ที่จริงแล้วความหวาดระแวงไม่เคยหมดไปแล้วยังคิดว่ามันคงส่งผ่านกันมาโดยตลอด เจ้าหน้าที่ที่อยู่ปฏิบัติงานอยู่ที่นั่นก็อยู่กันมา 20 ปีก็อยู่มาด้วยกันแล้วก็ไม่ได้ย้ายไปไหนก็ยังคงอยู่ตรงนั้น

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

เจ้าหน้าที่ฯ บางคนกำลังจะเป็นแม่ทัพแล้วค่ะ

 

 

อังคณา นีละไพจิตร :

ใช่ค่ะ ก็คงได้เห็นอยู่เร็ว ๆ นี้นะคะ

สุดท้ายนี้เนื่องจากจะพูดถึงสังคมมลายู ดิฉันอยากให้สังคมมลายูได้ทบทวนตัวเองด้วย เวลาที่เราพูดถึงเรื่องที่เราขอให้มีการกระจายอำนาจ ดิฉันมองยังจังหวัดปัตตานี คือผู้ว่าฯ ก็เป็นคนปัตตานี เป็นผู้หญิงด้วย นายก อบจ. ที่เป็นมายาวนานมากก็เป็นคนมลายู สจ. สส. ดิฉันยังไม่เห็นคนที่มีอำนาจที่มีในจังหวัดในพื้นที่ก็คือคนมลายู แล้วอันนี้ถือได้ว่าเป็นการกระจายอำนาจหรือยังแล้วมันเพียงพอไหมและจะต้องแค่ไหน ดิฉันก็ยังอยากที่จะได้รับคำตอบ

แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันมองเห็นและการที่สังคมมลายูควรวิพากษ์ถึงตัวเองก็คือ เรื่องปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องการเลือกปฏิบัติในสังคมมลายูยังมีอยู่ ในระหว่างคนที่มีสถานะทางสังคมคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี คนกลุ่มหนึ่งซึ่งส่งลูกไปเรียนหาดใหญ่ ไปเรียนกรุงเทพฯ ไปเรียนต่างประเทศ แต่คนในพื้นที่ก็ยังคงถูกสอนให้เรียนในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษาทางศาสนาอยู่ เด็กยังคงมี IQ ต่ำ ผู้หญิงและเด็กยังไม่สามารถเข้าถึงเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์หรืออนามัยแม่และเด็กได้ เรื่องผัวตีเมียเป็นเรื่องปกติ

หรือในเรื่องการข่มขืน ตอนที่ดิฉันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับเรื่องร้องเรียนหลายเรื่อง อย่างในเรื่องการข่มขืนในครอบครัวหรือในเพื่อนบ้านใกล้ชิด แล้วโดยมากเหยื่อจะถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ข่มขืน เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมในพื้นที่เองยังมาต่อว่าดิฉันว่า “คนที่เขาข่มขืนเนี่ยเขาอุส่าห์แต่งงานด้วยก็ดีเท่าไหร่แล้ว” อะไรแบบนี้แล้วแม้กระทั่งเรื่องแต่งงานเด็กอย่างนี้ ให้แต่งงานกับผู้สูงอายุทั้งหลาย เรากลับถูกเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมเองก็ยังมองว่า “อยู่ดี ๆ จะไปพรากเมียพรากผัวเขาทำไม” อะไรแบบนี้คิดว่าเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างมันยังมีอยู่

คิดว่าทุกอย่างต้องทำไปด้วยกัน คิดว่าคนที่เป็นคนท้องถิ่นจริง ๆ คนที่ต้องเช่าที่ในการทำสวนทำนาอยู่ ไม่มีอะไรที่เป็นของตัวเองจะได้ก้าวขึ้นมาพร้อมกัน ไม่ใช่สุดท้ายแล้วอำนาจอยู่กับคนที่มีอภิสิทธิ์บางคนบางกลุ่มเท่านั้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย :

มีหลายเรื่องที่น่าเศร้าใจ แล้วก็มันสะท้อนเรื่องของความยุติธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ ขอเชิญท่านถัดไปค่ะ

 

 

อนุชา จินตกานนท์ :

ขอบคุณครับ ผมใช้อภิสิทธิ์ที่อยู่ใกล้ ๆ กับคุณอังคณานะครับ ผมขอแนะนำตัว ผมคือผู้ช่วยศาสตราจารย์เกษียณแล้ว อนุชา จินตกานนท์ ในรัฐบาลที่แล้วผมเป็นรองประธานฯ และที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงฯ แล้วก็เป็นประธานอนุกรรมการฯ ที่มีหน้าที่เสนอข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้เน้นที่ปฏิบัติได้ ผมอยากจะเรียนว่าที่ท่านทั้งหลายผู้คนเวที ผมคิดว่าได้นำเสนอทั้งหมด 99 เปอร์เซ็นต์แล้ว ผมคิดว่าข้าราชการที่เป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ส่วนมากเห็นด้วยที่ติดขัดก็คือผู้ที่มีอาวุโสสูงกว่าที่มีสิทธิ์จะระงับหรือไม่รับ ผมพูดแค่นี้เพื่อทราบแล้วอย่างที่ท่านเสนอด้วยความชัดเจนและตรงไปตรงมาเพราะผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เคร่งข้าราชการที่อยู่ในกระทรวงรวมถึงที่ปรึกษาสมัยคุณพิษณุ หรือพลเอก เปรมแล้ว  เพราะฉะนั้นทุกอย่างนี้ชัดเจน ได้พูดถึงเรื่องผลประโยชน์อาจจะเป็นปัญหาเท่าที่พิสูจน์ว่าเท่าที่ผมมีความรู้ ซึ่งเท่ากับท่านภราดรอย่างมาก รวมถึงวิทยากรท่านอื่น ๆ ทุกท่าน

คือคิดว่า อันที่หนึ่ง ความไม่ชอบที่จะพูดถึงเรื่องความไม่ชอบมุสลิมและมุสลิมก็ไม่ชอบฝ่ายพุทธด้วย ความไม่ชอบเป็นปัญหาทำให้เกิด Bias มาก

อันที่สอง ผมคิดว่าที่พูดแล้วก็คือ มีผลประโยชน์ ในที่สุดผมต้องยอมรับว่าพฤติกรรมเรื่องเสนอว่ามันคงมีผลประโยชน์มันทำให้เราดำเนินการเขว

 

อันที่สาม อันนี้ผมจับประเด็นได้ก็คือว่าที่ท่านภราดรพูดก็คือ ความเชื่อว่าจะมีการแบ่งแยกดินแดน ผมคุยกับผู้แทนภายใต้ทั้งหมดมาก็ 4 ปีกว่าแล้ว ผมคิดว่าเราเริ่มจากความเข้าใจที่ไม่เหมือนกันทีเดียว แต่จบลงด้วยความเข้าใจที่ค่อนข้างเหมือนกัน อย่างผมอยากจะพูดว่าเริ่มแบ่งแยกดินแดนในส่วนที่เราคุย ไม่มี แต่ว่าขออัตลักษณ์ซึ่งเราทำได้เราเสนอพยายาม แล้วก็ขอว่ามีการปกครองที่ให้พิเศษเหมือนกรุงเทพมหานครหรือพัทยาอะไรเป็นต้น เราก็เสนอไป แต่ที่ท่านพูดก็คือถูกต้อง คือมันต้องมีการคุยกันอย่างจริงจังแล้วก็ต่อเนื่องเริ่มจากที่เราจะมีความเห็นต่างกันพอสมควรจนที่สุดผมคิดว่าความต่างที่มันน้อยที่สุด สรุปแล้วก็คือที่ท่านพูดหมดแล้วที่จะกล่าวอาจจะเป็นก็เพราะว่าด้วยระดับสูงกว่ามีความเห็นในด้านความมั่นคงที่ค่อนข้างชัดเจน ก็อาจจะไม่ได้เห็นด้วยทีเดียวนักกับข้อเสนอแนะที่เป็นการปรองดองนะครับ

 

 

ชญานิตย์ แสงสอาด :

ขอบคุณค่ะ ก็สำหรับการเสวนาในวันนี้นะคะ ยังมีอีกท่านหนึ่งนะคะ ขอคำถามสั้น ๆ นะคะ

 

 

ผู้ร่วมเสวนา :

ผมขอสอบถามวิทยากรสั้น ๆ นะครับ คือแต่ละคนก็เสนอแนวทางมาในเรื่องของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้ว ณ เวลานี้เราจะพอทราบกันอยู่แล้วว่ามีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ชื่อว่าแพทองธาร ชินวัตรแล้ว อยากถามวิทยากรว่ามีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาจริง ๆ จัง ๆ หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ

 

ชญานิตย์ แสงสอาด :

ขอเป็นตัวแทนอาจารย์หนึ่งท่านมาพูดถึงการแนวทางการแก้ไขในรัฐบาลคนใหม่สั้น ๆ ได้เลยค่ะ

 

 

อายุบ เจ๊ะนะ :

ผมขอตอบสั้น ๆ นะครับ ในฐานะที่เป็นคนในพื้นที่ก็ยังยืนยันคำเดิม แม้ว่าใครก็ตามที่เป็นนายกรัฐมนตรีนี่ต้องประกาศเจตจำนงทางการเมืองให้ชัดในเรื่องของการแก้ปัญหา คำนี้เป็นคำที่จะให้ความเชื่อมั่นกับคนในพื้นที่และคนทั้งประเทศให้ได้ ถ้าตัวนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ผมคิดว่ากระบวนการสันติภาพหรือแนวทางการแก้ปัญหาจะเดินต่อไปข้างหน้าได้ ถ้าตัวนี้ไม่เกิดผมคิดว่าเราก็ต้องทำงานหนักต่อไปครับผม

 

ชญานิตย์ แสงสอาด :

ขอบคุณค่ะ

 

 

ผศ. ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ :

ขยายนิดเดียวค่ะ ก็คือประกาศเจตนารมณ์ก็อย่างน้อยเราต้องเห็นคือ นโยบายของรัฐบาล เพราะว่าอันนี้ คือข้อผูกมัดสำคัญที่จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ด้วย แล้วก็มีหลักฐานอ้างอิงอย่างชัดเจน อันนี้ก็คือรูปธรรมที่เราอยากเห็น

 

 

พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร :

รออีกนิดเพราะว่ารัฐบาลเพิ่งจะตั้งไข่ พอแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบาย แล้วไปแถลงนโยบายในสภาฯ นั่นแหละ จะเห็นทิศทางเลยว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาไหมถ้าเกิดแผนนโยบายในเรื่องความมั่นคง ไม่มีแผนตัวนี้ชัดเจนอันนั้นเป็นสิ่งบอกเหตุแล้วว่าความสัมฤทธิ์มันจะเกิดยาก ขอบคุณครับ

 

 

ชญานิตย์ แสงสอาด :

วันนี้ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านนะคะ ที่ได้ทำงานอยู่หลายฝ่ายในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งคือ คำที่อยากฝากไว้และเป็นคำที่พี่แยมได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าปัญหาของชายแดนใต้ เป็นเรื่องของการยอมรับความแตกต่างหรือว่าความหลากหลาย อาจจะเป็นการเปิดใจ เปิดพื้นที่ให้หลาย ๆ ฝ่ายได้มาร่วมแลกเปลี่ยนหรือว่าได้มาหาทางออกร่วมกัน ขอขอบคุณทุกท่านค่ะ

 

 

รับชมถ่ายทอดสดฉบับเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bX35ndG_MPg&t=76s

 

ที่มา : PRIDI Talks #27: 79 ปี วันสันติภาพไทย : “ถอดบทเรียน 2 ทศวรรษไฟใต้ : เพื่อเส้นทางสู่สันติภาพ” วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์