Focus
- บทความนี้นำเสนอประวัติของทวีปและกานดา วรดิลก รวมไปถึงความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตกับนายปรีดี พนมยงค์ โดยผู้เขียนได้ใช้หลักฐานชั้นต้นที่เกี่ยวข้องกับผู้วายชนม์ทั้งคู่จึงทำให้งานเขียนมีความสมบูรณ์
- ทวีป วรดิลก ให้ความสำคัญ เคารพ และติดตามบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์นับตั้งแต่ที่ตนเองเป็นนักศึกษามหาวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ดังนั้นในบทความนี้จึงเชื่อมโยงให้เห็นบทบาทผู้ประศาสน์การของนายปรีดี และมหาวิทยาลัยฯ ในยุคหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490
เพิ่งจะได้ยินข่าวมรณกรรมของ กานดา วรดิลก นักแปลผู้ใช้นามปากกา “นารียา” เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2567 อีกทั้งในวันที่ 25 สิงหาคมก็ยังครบรอบ 96 ปี ชาตกาลของทวีป วรดิลก นักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายประชาธิปไตยคนสำคัญ ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของ กานดา ด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเหมาะเจาะที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของทั้ง ทวีป และ กานดา โดยเฉพาะเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับ นายปรีดี พนมยงค์
ผมเองไม่เคยได้พบตัวจริงของ ทวีป เพียงแต่ทำความรู้จักแนวคิดของเขาผ่านงานเขียนทว่า กานดา นั้นผมเคยเจอตัวจริงที่งานสมานมิตรบรรเทองซึ่งจัดขึ้น ณ มติชนอคาเดมี่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2558 โดยได้นั่งร่วมโต๊ะอาหารพร้อมกับ จีรวรรณ พนมยงค์ และได้สนทนากันพอสมควร
ทวีป วรดิลก ลืมตายลโลกครั้งแรกสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2471 ที่ย่านบ้านหม้อ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายของ อำมาตย์โทพระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) อดีตเจ้าเมืองกระบี่และชลบุรีกับนางจำรัส (สกุลเดิมคือ ชีวกานนท์) หรือ นางทวีปธุรประศาสน์ ถือเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน พี่ชายคนโตของ ทวีป เป็นนักประพันธ์คือ สุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา “รพีพร” ซึ่งผมเคยเขียนถึงไว้แล้วใน “100 ปีชาตกาล สุวัฒน์ วรดิลก และความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์”
ทวีปมีชื่อเล่นว่า“หมึก”ส่วนชื่อจริงนั้นมาจากช่วงที่ผู้เป็นบิดาเพิ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระทวีปธุรประศาสน์ รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ช่วงนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตและพระชายาเสด็จประพาสกระบี่ พระทวีปฯ จึงขอพระราชทานนามให้ลูกชาย กรมพระนครสวรรค์ฯ จึงทรงรับสั่งว่า “เป็นลูกพระทวีปฯ ก็ชื่อ ‘ทวีป’ ก็แล้วกัน”
ความที่บิดาเป็นข้าราชการนักปกครอง ช่วงเยาว์วัยทวีปจึงมิแคล้วต้องย้ายตามบิดาไปอยู่หัวเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะทางหัวเมืองปักษ์ใต้ต่อมาพระทวีปธุรประศาสน์ ต้องออกจากราชการภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม
พ.ศ. 2476 เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับพวกกบฏ การยุติชีวิตราชการส่งผลให้ทางครอบครัวเผชิญปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาสภาพการเงิน อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนนามสกุลใหม่จาก “พรหมบุตร” มาเป็น “วรดิลก” ไม่เพียงเท่านั้น พระทวีปฯ ตัดสินใจไปพำนักอยู่ที่อำเภอหลังสวนจังหวัดชุมพรแล้วยึดอาชีพทนายความ
อย่างไรก็ดี แม้ พระทวีปฯ จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายกบฏ แต่ทางครอบครัววรดิลกกลับมีความสนิทแน่นแฟ้นกับครอบครัวพนมยงค์ เนื่องจาก พระทวีปฯ รู้จักมักคุ้นและชอบพออัธยาศัยกับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี มาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย โดยพระทวีปฯ สอบเป็นเนติบัณฑิตสยามได้ก่อนหน้านายปรีดี สองรุ่น
ทวีป อยู่กับบิดาที่หลังสวนและเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสวนศรีวิทยาในปี พ.ศ. 2478 ต่อมาจึงย้ายมาเข้าเรียนต่อชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนพร้อมมูลวิทยาในกรุงเทพมหานคร แล้วเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนวัดโสมนัส และไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ก่อนจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.ม.ธ.ก. ในปี พ.ศ. 2486 ถือเป็นรุ่นที่ 6 ครั้นสำเร็จตามหลักสูตรก็เข้าเรียนด้านกฎหมายในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
ระหว่างที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ช่วงต้นทศวรรษ 2490 ทวีป ได้รับเลือกให้เป็นบรรณกรวารสาร ธรรมจักร รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการ อีกทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองก็ต้องลี้ภัยอยู่ในต่างแดน การเคลื่อนไหวของนักศึกษาหัวก้าวหน้าจึงถูกเพ่งเล็งและปราบปราม
ทวีป เป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้า เขายังไม่ทันจะเรียนจบ เหลือเพียงอีกวิชาเดียวก็จะสำเร็จเป็นบัณฑิต แต่ต้องมาถูกเล่นงานทางการเมืองพร้อม ๆ กับเพื่อนนักศึกษาคนอื่น ๆ อย่าง อารีย์ อิ่มสมบัติ จนต้องถูกลบชื่อออกจากมหาวิทยาลัย
ทวีป มีความสามารถที่โดดเด่นทางด้านการเขียนบทกวี โดยเขียนมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นรวมถึงตลอดช่วงที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์สร้างผลงานเผยแพร่ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ เริ่มต้นจากการเขียนบทกวีเกี่ยวกับความงามของธรรมชาติและความรัก ก่อนจะเปลี่ยนมาเขียนบทกวีที่สะท้อนสังคมและการเมือง บทกวีแนวการเมืองหลายชิ้นลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เอกราช เมื่อปี พ.ศ. 2489 เช่น “อู่ข้าว-อดข้าว” และ “เปลี่ยนพรรคหรือเปลี่ยนพักตร์” ซึ่งได้รับคำชื่นชมจากบรรณาธิการคือ อิศรา อมันตกุล อย่างมาก หรือในตอนที่เกิดเหตุการณ์สังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, จำลอง ดาวเรือง, ถวิล อุดล และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2492 ทวีป ก็เขียนบทกวีถึงกรณีนี้ว่า
เสียดายชายชาตรีที่องอาจ
เคยกู้ชาติจากภัยใหญ่มหันต์
เสียดายชายชาตรีที่ตายพลัน
ในยุคอันเหล่าร้ายป้ายมลทิน
เสียดายชายชาตรีที่แกล้วกล้า
ทรงศักดาเลื่องชื่อบันลือสิ้น
เสียดายชายชาตรีจบชีวิน
ยังได้ยินกระดูกร้องก้องกังวาน
นอกจากนี้ ทวีป ก็มีผลงานต่าง ๆ ลงตีพิมพ์ใน ประชามิตร, อักษรสาส์น, ธรรมจักร, เริงรมย์ มิเว้นกระทั่ง สตรีสาร
ภายหลังต้องออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ทวีป เข้ามายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์และเขียนหนังสืออย่างเต็มตัว ช่วงปลายทศวรรษ 2490 และต้นทศวรรษ 2500 เขาทำงานประจำกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น สยามนิกร และ พิมพ์ไทย ต่อมาได้เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง
กระทั่งช่วงทศวรรษ 2500 ที่มีการกวาดล้างนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าและจับกุมตัวไปคุมขังโดยมองว่าได้เสนอทรรศนะเข้าข่ายการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทวีป เป็นคนหนึ่งที่ถูกจับกุมตัวไปคุมขังพร้อมกับนักหนังสือพิมพ์คนอื่น ๆ อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ และ ทองใบ ทองเปาด์ เป็นต้น
ในระหว่างถูกคุมขังนานกว่าสิบเดือนทวีปสามารถเรียนหนังสือและสอบเนติบัณฑิตได้สำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2504 แต่ก็ล้มป่วยด้วยวัณโรคจึงได้รับการประกันตัวออกมารักษาสุขภาพ
ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ทวีปเริ่มทำงานด้านกฎหมายประจำสำนักงานทนายความของมารุต บุนนาค ก่อนย้ายไปประจำฝ่ายกฎหมายของธนาคารไทยพัฒนาซึ่งต่อมากลายเป็นธนาคารมหานคร
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ทวีป เดินทางไปพำนักอยู่ในประเทศอังกฤษ ครั้นหวนคืนกลับมาเมืองไทย ก็สร้างผลงานเขียนทั้งเขียนบทความ บทกวี สารคดีประวัติศาสตร์ แต่งเพลง และแปลนวนิยายต่างประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับหลายบริษัท
ทางด้านครอบครัว ทวีป เข้าพิธีสมรสกับ กานดา พงศ์ธรานนท์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2508 ทั้งสองได้รู้จักและคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ช่วงที่ กานดา เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดของบริษัทไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์อย่าง สยามนิกร, พิมพ์ไทย และ สยามสมัย เป็นต้น ส่วน ทวีป ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์
กานดา ลืมตายลโลกหนแรกสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2473 ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 8 คนของนายบุญและนางแก้ว พงษ์ธรานนท์ เธอเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนจะขึ้นเหนือไปเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนเรยีนาเชลี จังหวัดเชียงใหม่ ครั้นในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็กลับมาเรียนต่อที่นครสวรรค์อีก แล้วจึงลงมาเข้าโรงเรียนจีนหนานหยางจงเซี้ยะที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะมาจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จากนั้นเดินทางไปศึกษาชั้นปริญญาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน
เดิมที กานดา เคยสมรสครั้งแรกกับ อารีย์ ลีวีระ เจ้าของบริษัทไทยพาณิชยการ และมีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคนชื่อ อารียา ซึ่งต่อมาคือ พลตรีหญิงแพทย์หญิงอารียา เทพชาตรี
อารีย์ ลีวีระ ถือเป็นนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย เขาเคยเป็นอดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ถึง 2 สมัยในช่วงต้นทศวรรษ 2490 เขาสำเร็จการศึกษาทางด้านอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เคยเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด แต่ก็มีความสนใจด้านหนังสือพิมพ์ จึงเริ่มเขียนหนังสือประจำหนังสือพิมพ์ภาษาจีนหลายฉบับ ทั้งยังริเริ่มเปิดหน้าภาษาไทยในหนังสือพิมพ์ภาษาจีน
ความที่รักหนังสือพิมพ์ในที่สุดอารีย์จึงรวมตัวกับผองเพื่อนออกหนังสือพิมพ์เอง แต่ก็ขาดทุนจนต้องขายกิจการ
ในช่วงระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2 อารีย์ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นพอสงครามสงบลง เขาตัดสินใจซื้อกิจการบริษัทไทยพาณิชยการซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ แต่ต้องเผชิญปัญหาการเงินอันเป็นผลกระทบจากภาวะสงคราม
บริษัทไทยพาณิชยการภายใต้การดูแลของ อารีย์ ออกหนังสือพิมพ์กรอบเช้าอย่าง พิมพ์ไทย ได้สำเร็จ เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2489 หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขายดีมาก อารีย์ จึงกลายเป็นบุคคลที่มีบทบาทสูงในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ไทยห้วงยามนั้น เขาพยายามวางนโยบายให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีความเป็นอิสระ ไม่พัวพันและสยบยอมต่อพรรคการเมือง มุ่งรับใช้ประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพอารีย์ยังได้ถ่ายทอดปณิธานของนักหนังสือพิมพ์อีกว่า“คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย”
ช่วงที่มีการจับกุมหนังสือพิมพ์หลายคนในคดีกบฏสันติภาพเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 อารีย์ มิแคล้วเป็นคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียอิสรภาพด้วย ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496
ในวันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 อารีย์ เข้าพิธีสมรสกับ กานดา พงษ์ธรานนท์ แล้วทั้งสองก็เดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
แต่เหตุไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้น !
วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 อารีย์ ได้ถูกคนร้ายบุกเข้าไปลอบยิงจนเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 40 ปี ผู้ลั่นไกสังหารเป็นตำรวจยศสิบโท และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พันตำรวจโทศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชรลูกน้องของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์
หลังจากที่ กานดา ต้องเผชิญเหตุสะเทือนขวัญและสูญเสียผู้เป็นสามี ครั้นกาลเวลาล่วงผ่านมาถึงปี พ.ศ. 2508 เธอจึงได้สมรสครั้งที่ 2 กับ ทวีป นักประพันธ์เจ้าของนามปากกา “ทวีปวร” ด้วยความที่เธอเคยเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีความรู้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี กานดา จึงแปลงานเขียนจากภาษาจีนและภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย โดยใช้นามปากกาว่า “นารียา” ผลงานแปลชิ้นสำคัญของเธอก็จำพวกวรรณกรรมของนักประพันธ์ใหญ่ชาวจีนอย่าง ปาจิน (Ba Jin) เช่นเรื่อง ใบไม้ผลิ และ ใบไม้ร่วง เป็นต้น รวมถึงนวนิยายสะท้อนภาพนักปฏิวัติในอิตาลีอย่างเรื่อง The Gadfly ของอี.แอล. วอยนิช (E.L. Voynich) นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช ซึ่งแปลมาในชื่อภาษาไทยว่า อ้ายเหลือบ วีรชนยอดนักสู้ และกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง ทวีป และ กานดา นั้น ก็เป็นไปตามข้อเขียน “อาลัยรัก” ของฝ่ายหญิงที่เธอถ่ายทอดความรู้สึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพของฝ่ายชาย
“ข้าพเจ้าแต่งงานกับคุณทวีป วรดิลก เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๘ และคุณทวีปจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นเวลา ๔๐ ปี ที่ได้ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
ตลอดวันเวลาเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ในความรักและความอบอุ่นที่เธอได้ให้แก่ครอบครัวเป็นอย่างดี ทั้งยังได้รับรู้ถึงความสนใจที่เธอมีต่อการอ่านและการเขียนหนังสืออย่างที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน คุณทวีปรักหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ ได้ทยอยซื้อหามาสะสมไว้เรื่อย ๆ ดั่งสมบัติอันล้ำค่า และมีมากมายหลากหลายสาขา ทั้งวรรณกรรม ศิลปะการเมือง ชีวประวัติบุคคล ฯลฯ มีทั้งอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อเสริมสร้างปัญญาให้แก่ตนเอง และเพื่อใช้สำหรับค้นคว้าอ้างอิง นอกจากในห้องหนังสือแล้ว บ้านเล็กๆ ของเราแทบจะไม่มีส่วนใดที่ปราศจากหนังสือเข้ามาอยู่ร่วมด้วย นี่เป็นความสุขและความภูมิใจของเธอ
คุณทวีปเริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่วัยรุ่น บทกวีชิ้นแรกได้ออกอากาศเมื่ออายุ ๑๔ ปี ต่อจากนั้นก็มีงานกวีลงในวารสารต่าง ๆ ภายหลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว เธอทำงานหนังสือพิมพ์เป็นอาชีพแรก ต่อมาได้ประกอบอาชีพทนายความ และเคยผ่านงานการเมืองเป็นรองหัวหน้าพรรคกิจประชาคม ที่มี คุณบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อเริ่มแรกก่อตั้งพรรคมาช่วงหนึ่ง แต่เธอบอกว่าไม่มีงานใดที่จะชอบเท่างานเขียน หลังจากนั้น เธอจึงปล่อยวางงานอื่น นอกจากเป็นกรรมการที่ปรึกษาของบริษัทมติชนฯ ที่ปรึกษาของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และที่ปรึกษาของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์
เธอได้ให้เวลาแก่งานเขียนอย่างเต็มเวลาตามความมุ่งมั่น และใช้พิมพ์ดีดในการทำงาน งานแต่ละชิ้นจะพิถีพิถันมาก ไม่ว่างานเขียนหรืองานแปล หากมีข้อข้องใจใดก็จะพยายามตรวจสอบอย่างละเอียดบทกวีเป็นงานประพันธ์ที่เธอรักและสันทัดที่สุด คุณสมบัติพิเศษของเธอคือ ความขยัน ความให้ศึกษาและสมองที่ดีเลิศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ คุณทวีปได้รับโล่เกียรติคุณหนังสือพิมพ์ที่ควรยกย่อง ปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้รับเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับรางวัลบุคคลเกียรติยศจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทึป ผลงานชั่วชีวิตที่เธอทิ้งไว้คงไม่สูญแปล่า หากสามารถเป็นประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นที่ชื่นชอบของท่านผู้อ่าน ดวงวิญญาณของคุณทวีปได้หยั่งทราบด้วยญาณวิถีใด ๆ คงปีติยิ่ง ข้าพเจ้าภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตเคียงข้างเธอมา
สุขภาพของคุณทวีปเริ่มเสื่อมโทรมลงตอนปลายชีวิต ประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๕ มีอาการขาอ่อนไม่มีแรง ได้เข้าทำการรักษาบำบัดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อาการดีขึ้นแต่ก็ยังไม่หมือนเดิม เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังอยู่ในความดูแลของนายแพทย์อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ เธอได้ฟุบไปที่โต๊ะอาหารในภัตตาคาร ภายหลังที่ได้รับประทานอาหารมื้อเที่ยงกับญาติมิตรเรียบร้อยแล้ว และเตรียมตัวจะกลับบ้าน ญาติมิตรในที่นั้นได้นำส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที เมื่อฟื้นขึ้นก็มีอาการอัมพฤกษ์ทางซีกซ้าย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดในสมองอุดตัน ต่อจากนั้นก็ทำการบำบัดเพื่อฟื้นฟูสุขภาพมาเรื่อย ๆ เนื่องจากมีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่ด้วย อาการจึงอยู่ในลักษณะทรงกับทรุด คุณทวีปอยู่ในความดูแลของแพทย์และพยาบาลเป็นเวลา ๑ ปี กับ ๒ เดือน ในที่สุดก็เหลือความสามารถของแพทย์ที่จะรักษาเยียวยาได้ และเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจล้มเหลวอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในเวลา ๐๙.๒๓ น. ของวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๘ สิริรวมอายุ ๗๗ ปี
ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อคณะแพทย์และพยาบาลห้องพิเศษ ชั้น ๑๐ แห่งศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่ได้ทำการรักษาบำบัดและดูแลเอาใจใส่คุณทวีปเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ ขอให้ผลแห่งความดีนี้ จงสนองตอบให้ทุกท่านประสบแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิต
ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญคุณความดีที่คุณทวีปได้บำเพ็ญไว้ในภพนี้ จะเป็นพลวปัจจัยส่งให้ดวงวิญญาณของคุณทวีปสถิตในสุคติสัมปรายภพ สงบสุขชั่วนิรันดร์
ด้วยรักและอาลัยยิ่ง
กานดา วรดิลก”
ทวีป เป็นผู้ที่เอาใจใส่ต่อบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ เสมอมา ทั้งนี้อาจเพราะเขาเคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รวมถึงครอบครัววรดิลกก็มีความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวพนมยงค์
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของ นายปรีดี เขียนเล่าไว้ในข้อเขียน “ระลึกถึงคุณทวีป วรดิลก” ซึ่งปรากฏในหนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพของ ทวีป ความว่า
“คุณทวีป วรดิลกเป็นคนในสกุล วรดิลก คนแรกที่ข้าพเจ้ารู้จัก ซึ่งต่อมาข้าพเจ้าได้รู้จักพี่น้องสกุล วรดิลก เหลืออีกหลายคน
เหตุการณ์แม้จะล่วงมาเกือบ ๖๐ ปีแล้ว แต่ยังอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า
๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้เกิดรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่นายปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การ พลอยถูกกระแสการเมืองกระหน่ำอย่างแรง ขณะนั้นคุณทวีปเป็นนักศึกษาและมีตำแหน่งเป็นบรรณกรวารสารธรรมจักร เดิมนั้นทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนการเผยแพร่วารสารธรรมจักร ในหลาย ๆ ด้านความผันแปรทางการเมือง ทำให้ผู้บริหารชุดใหม่ของมหาวิลัยมิเพียงไม่ให้การสนับสนุน หากยังเพ่งเล็งกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มคุณทวีป ซึ่งเป็นพวกหัวก้าวหน้า
คุณทวีป กับเพื่อน ๆ นักศึกษาอีก ๒-๓ คน ได้มาหาข้าพเจ้าที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม
ข้าพเจ้ารับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยความเห็นใจและได้ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
นี่เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้พบและรู้จักคุณทวีป วรดิลก
คุณทวีป เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนบทกวีในนาม “ทวีปวร” ให้กำลังใจคนหนุ่มสาว แสวงหาเสรีภาพและประชาธิปไตย
นอกจากนี้ คุณทวีป เป็นผู้ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ แปลและเรียบเรียงวรรณกรรมต่างประเทศ และประวัติศาสตร์ต่างประเทศ
ผลงานของคุณทวีปเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ
เมื่อครั้งที่นายปรีดี พนมยงค์ยังมีชีวิต คุณทวีป ได้ไปเยี่ยมและแสดงเคารพต่ออาจารย์ ณ บ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
หลังจากนายปรีดี พนมยงค์ วายชนม์ บรรดาศิษย์ได้ก่อตั้งมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ คุณทวีปเป็นกรรมการคนหนึ่ง และยังได้เป็นกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ทำหน้าที่บรรณาธิการวารสาร ปรีดีสาร
คุณทวีปทุ่มเทให้งานปรีดีสารมุ่งมั่นการเผยแพร่ความคิดและอุดมการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ในหมู่สมาชิกและคนรุ่นใหม่
ในโอกาสเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ คุณทวีปได้เขียนคำขวัญสั้นๆ แต่ครบถ้วนกระบวนความว่า
“ดวงประทีปประชาธิปไตย เสรีไทยกู้เอกราชชาติยืนยง”
อันเป็นการแสดงความคารวะผู้เป็นอาจารย์ของตน ในส่วนตัวข้าพเจ้า เมื่อมีอายุครบ ๘๐ ปี ๘๔ ปี และ ๙๐ ปี คุณทวีปได้เขียนบทกลอนอันไพเราะมอบให้แก่ข้าพเจ้าเป็นของขวัญ
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายและเสียใจอย่างยิ่งต่อการจากไปไม่มีวันกลับของคุณทวีป ขอให้ความดีทั้งปวงที่คุณทวีป บำเพ็ญมาตลอดชีวิต จงดลบันดาลให้คุณทวีป วรดิลก ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ และคงอยู่ในความทรงจำของญาติมิตรตลอดไป”
ได้กล่าวแล้วว่า หลังจากที่ ทวีป ต้องออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เขาได้ยึดอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ ทั้งยังคอยติดตามข่าวคราวของนายปรีดีอยู่เนือง ๆ
ช่วงกลางปี พ.ศ. 2497 ทางรัฐบาลทหารนำโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร 2490 ได้รับข่าวลือและข่าวจากสำนักประมวลข่าวกลางหรือซีไอเอ (CIA) ทำนองว่า นายปรีดี กำลังพำนักอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือที่ทางการไทยเรียกขานว่า “จีนแดง” และที่น่าแปลกใจยิ่งก็คือ นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีและนักการทูตผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายปรีดีได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งสร้างความตกใจให้กับกลุ่มของคนที่รักและศรัทธานายปรีดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายดิเรกคือลูกศิษย์ผู้ให้ความเคารพรักใคร่ต่อนายปรีดีอย่างสูง เคยทำงานร่วมกันราบรื่นและมีความสัมพันธ์แนบแน่น แต่เหตุใด นายดิเรกจึงกล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นายดิเรกยังยืนยันต่อสื่ออีกว่า โดยส่วนตัวเขายังคงรักและนับถืออาจารย์ปรีดี แต่ก็ไม่เคยนิยมยกย่องลัทธิคอมมิวนิสต์เลย ถ้าอาจารย์ปรีดีหันไปเป็นคอมมิวนิสต์ เขาก็จะไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย
ตอนนั้นทวีปครองตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต่างประเทศประจำหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทยรายวันเกิดความสงสัยต่อท่าทีของนายดิเรกยิ่งนักแต่เมื่อเขาได้อ่านหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ เขาก็อยากจะรู้จักผู้เขียนข่าวทันที เพราะ
“...ผู้สื่อข่าวผู้นี้สามารถเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกและเข้าใจได้ว่า อาจารย์ดิเรกให้สัมภาษณ์โดยมีปืนจ่อหลังซึ่งความสามารถในการเขียนข่าวเช่นนี้ได้แก่การทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจข้อความที่มีอยู่ระหว่างบรรทัด แต่ไม่ปรากฏเป็นตัวหนังสือเลยที่เรียกกันว่า between the lines ซึ่งความสามารถของคนข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์เช่นนี้มีความจำเป็นอยู่มาก โดยเฉพาะในยุคเผด็จการหรือทรราชครองเมือง”
ทวีป โทรศัพท์ติดต่อไปยัง สุภา ศิริมานนท์ ซึ่งกำลังดูแลหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ เพื่อถามว่าใครเป็นผู้เขียนข่าวที่ตนชื่นชม ซึ่งก็ได้รับทราบว่าคือ จิตร ภูมิศักดิ์
ทวีปจึงเดินทางไปพบจิตร นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งสองคนได้เจอกันและคบหาเป็นเพื่อนที่สนทนาถูกคอ เนื่องจากมีแนวความคิดและความหลงใหลต่ออะไร ๆ ที่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการอ่านและการเขียน
คงเพราะทวีปเองเป็นคนชอบและถนัดในการเขียนบทกวี เขามิวายกระตือรือร้นเมื่อล่วงรู้ว่า นายปรีดี ก็เคยเขียนบทกวีไว้ด้วย อีกทั้งยังนำเสนอข้อเขียนชิ้นหนึ่งเพื่อเอ่ยถึงความสามารถของปรีดีในเชิงกาพย์กลอน ดังมีเนื้อความว่า
ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา หลังจากกองทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและบริเทน นำไทยเข้าเป็นสมุนของประเทศเผด็จการในค่ายที่เรียกกันว่า ‘อักษะประเทศ’ โดยที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีคนสำคัญ ผู้นำฝ่ายพลเรือนในคณะรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการเป็นพันธมิตร หรือที่ถูกคือสมุนของญี่ปุ่น จึงถูกจอมพล แปลก กีดกันออกไปจากตำแหน่งทางการเมือง โดยตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา
ผลต่อมา คือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามในการประกาศสงครามกับมหาอำนาจตะวันตกตามความต้องการของ จอมพล แปลก ขณะเดียวกันก็ตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้นกู้ชาติต่อต้านญี่ปุ่นดังเป็นที่ทราบกันแล้วนั้น
โดยที่ จอมพล แปลก ได้พยายามตั้งตนเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ไม่ให้น้อยหน้าผู้นำผู้ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ฮิตเลอร์ มุสโสลินี หรือพลเอกโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จึงได้ประกาศสร้างชาติไทยเป็นมหาอำนาจด้วยการบังคับให้คนไทยทุกคนเวลาออกนอกบ้านต้อง สวมหมวก ใส่เกือก ให้ใช้สรรพนามเฉพาะคำว่า ‘ฉัน’ กับ ‘ท่าน’ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องล้อมกรอบหน้าหนึ่งด้วยคำขวัญ “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” แม้แต่ตัวหนังสือไทยก็มีการแก้ไขสะกดการันต์เสียใหม่ คำว่า ‘โฆษก’ เลยกลายเป็น ‘โคสก’ ไป ฯลฯ
แล้ว จอมพล แปลก ก็ตั้งตนเป็น ‘องค์อุปถัมภกศิลปวรรณคดีแห่งชาติ’ ผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะนายกวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2485 - 2487) ก็ได้แสดงตนเป็นนักคิด นักเขียน โดยใช้นามปากกาว่า ‘สามัคคีชัย’ อันเป็นชื่อทำเนียบรัฐบาล ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า ‘ราชสำนักตราไก่’ (เนื่องจาก จอมพล แปลก เกิดปีระกา จึงถือไก่เป็นสัญลักษณ์ของตน)
สำหรับข้อเขียนของ ‘สามัคคีชัย’ นี้ พอจะถือเป็นแบบอย่างของการแสดงความเขลาของผู้เขียนเองได้ด้วย เป็นต้นว่า ผู้เขียนแสดงข้อคิดว่า คนไทยจะรวยนั้นง่ายนิดเดียว คือ ทำสวนครัวขึ้น แล้วก็หารายได้โดย “ขายถั่วงอกเพื่อนบ้าน เท่านั้นหมดจน” ข้อคิดเหล่านี้แม้แต่ตัว จอมพล แปลก เอง ในโอกาสที่ได้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งหลัง (พ.ศ. 2491-2500) ก็ยังไม่ยอมหยิบยกขึ้นมาอ้างหรือเอ่ยถึงแม้แต่คำเดียว
ในส่วนของศิลปวรรณคดีนั้น ในราชสำนักตราไก่ก็ได้มีการชุมนุมกวี นักเขียน และนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่รับใช้ท่านผู้นำในสมัยนั้นกัน เพื่อสร้างงานวรรณกรรมที่เป็นอมตะ แต่งานส่วนใหญ่ปรากฏว่า ตายไปก่อนผู้เขียนทั้งสิ้น เมื่อมีงานหรือพบปะสังสรรค์กันก็จะมีการเขียนกลอนสดโชว์สำนวนกัน ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงต้องมาร่วมด้วย ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นกำลังถูกญี่ปุ่นแกะรอย เพราะสงสัยในเรื่องก่อตั้งขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นอยู่
ในโอกาสหนึ่ง พระนางเธอลักษมีลาวัณ ได้เขียนสักวา ‘ท้าทาย’ ความเป็นปฏิภาณกวีของผู้สำเร็จราชการฯ ออกมาซึ่งหมายความว่าผู้ที่ถูกท้าทายจะต้องตอบด้วยกลอนสดเช่นกัน ข้อความของสักวาของพระนางเธอลักษมีลาวัณมีดังนี้
“สักวาฉันขอเชิญผู้สำเร็จ
ทั้งสองเสด็จรับสั่งอย่ายั้งเฉย
ประทานเกียรติแก่กวีอภิเปรย
ท่านปรีดีเล่าก็เคยชำนาญกลอน
ประทานเกียรติให้แก่สมาคม
เพื่อผสมเก็บเข้าเอาไว้สอน
ขออย่าทรงปฏิเสธคำอ้อนวอน
โปรดอุปกรณ์การประพันธ์ช่วยฉันเอยฯ”
จากข้อความในสักวาดังกล่าวนี้ เราก็ได้ทราบว่า ดร.ปรีดี มีความสนใจในการประพันธ์ด้านกวีอยู่มากทีเดียว เพราะดูจะเป็นที่ทราบกันดีในวงการปัญญาชนสมัยนั้น ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากวิชาชีพในทางกฎหมาย และภารกิจการงานของท่านในฐานะรัฐมนตรีคนสำคัญของรัฐบาลในช่วงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากสักวาของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ดังกล่าว ดร.ปรีดี ก็ได้แสดงปฏิภาณกวีของท่านออกมาดังนี้
“สักวาถูกท้าจากฝ่ายหญิง
ครั้นขืนนิ่งก็จะว่าสู้ไม่ได้
แต่ถ้าขืนเอ่ยตอบไม่ชอบใจ
ขออภัยอย่าพิโรธโกรธรังแก
อันการกวีชนิดที่ได้เขียนแต่ง
มีมากแห่งที่เป็นชายใช้แน่แน่
แต่ฝ่ายหญิงชนิดยิ่งกวีแท้
ส่งเสียงแหวนี่แหละท่าน ฉันแพ้เอยฯ"
เท่าที่ทราบสักวาบทนี้สร้างความครื้นเครงในวงกวีของวรรณคดีสมาคมสมัยนั้นได้ไม่เบาทีเดียว ต่อมา หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงราวสิบเดือนเศษก็มีกลอนบทหนึ่งลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชามิตรรายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2489 โดยใช้ชื่อผู้เขียนว่า “นายปรีดี” บทกวีนี้มีชื่อเรื่องว่า “สงครามและสันติภาพ” หัวใจของเรื่อง (Theme) เป็นการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นยากนักหนาที่จะมีผู้หยิบยกมาเขียนกันในรูปแบบของบทกวี
ยิ่งกว่านี้เนื้อหาของกลอนบทนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเรียกร้องต้องการของยุคสมัยอันเป็นสากล ได้แก่ การต่อสู้กู้เอกราชของประชาชาติเมืองขึ้น ซึ่งนับว่าแปลกและใหม่มากทีเดียวและความจริงก็เป็นปัญหาสำคัญที่ยืดเยื้อเรื้อรังจนโลกต้องหมิ่นเหม่ต่อสงครามใหญ่หลายครั้งมาแล้วด้วย
ปรากฏว่า บทกวีนี้ในสมัยนั้น บุคคลภายนอกโดยทั่วไปไม่มีใครทราบกันเลยว่า “นายปรีดี” ผู้เขียนก็คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสท่านเดียวของเมืองไทยจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่ข้อคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศของท่านเป็นข้อคิดเห็นในเชิงรัฐบุรุษโดยแท้ และผู้เขียนเองก็ได้แสดงออกถึงความเป็นรัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มาแล้ว จากการกอบกู้เอกราชของชาติที่ จอมพล แปลก นำเข้าไปร่วมในสงครามกับญี่ปุ่น
น่าสังเกตด้วยว่านอกไปจากเนื้อหาซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้กู้เอกราชของประชาชาติเมืองขึ้นที่ท่านผู้เขียนได้ระบุไว้ว่า มี อินโดนีเซีย ญวน ลาว ซึ่งเป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในสมัยนั้นแล้ว ท่านยังกล่าวถึง ระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวที่ผลิตได้ในสมัยนั้น และก็ถือกันด้วยว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมแพ้ โดยท่านยืนยันว่า ตราบใดที่ประชาชาติเมืองขึ้นยังต้องต่อสู้กู้เอกราชของตนอยู่โดยไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าระเบิดปรมาณูจะมีฤทธิ์เดชร้ายแรงเพียงไรก็ตาม ก็ไม่มีทางที่จะป้องกันสงครามไม่ให้เกิดขึ้นได้ จากเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของโลกตลอดเวลาสามสิบกว่าปีมานี้ ก็ได้ยืนยันถึงความถูกต้องของข้อคิดนี้ด้วย
นับว่าข้อเขียนข้างต้นของทวีป ได้เปิดเผยให้สาธารณชนได้มองเห็นอีกแง่มุมของ นายปรีดี ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รับทราบกันอย่างแพร่หลายเท่าใดนัก
อีกบทบาทของทวีป คือการเขียนบทกวียกย่องนายปรีดีแล้วตีพิมพ์เผยแพร่เป็นจำนวนมากชิ้นตามวาระต่าง ๆ ซึ่งย่อมสะท้อนถึงความศรัทธาของเขาที่มีต่อรัฐบุรุษอาวุโส ดังเช่นบทกวีขนาดยาวชื่อ “คนดีศรีอโยธยา” เผยแพร่เนื่องในวันครบรอบชาตกาลของนายปรีดีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า
จอมพลเกริกไกรไพศาล หดหัวเคยหาญ
ญี่ปุ่นศักดามหามิตร
ผู้นำพลเรือนใครคิด อุทิศชีวิต
กอบกู้เอกราชชาติไทย
รวมผู้รักชาติฉกาจไกร สร้างเสรีไทย
เพื่อไทยคงไทสถิตฟ้า
คนดีสืบศรีอโยธยา นามเทิดศรัทธา
หลวงประดิษฐ์- ปรีดี พนมยงค์
ปิ่นประชาธิปไตยเที่ยงตรง นิติรัฐดำรง
นามคงคู่ชาติธวัชชัย
โลกสร้างสรรค์ มหาบุรุษมิ่งขวัญของยุคใหม่
ทุ่มอุทิศชีวิตทั้งกายใจ ประเทศชาติเหนืออื่นใดในโลกนี้
เพื่อบรรลุอุดมการณ์ภารอภิวัฒน์ เสรีภาพรุ่งจรัสไทยน้องพี่
สมภาพผ่องผุดสุดยินดี ภราดรพรฤดีประดับใจ
ทองคำแท้บริสุทธิ์แสนผุดผ่อง เพลิงแผดเผาประกายก่องยิ่งสุกใส
ศัตรูร้ายหมายพิฆาตอนาถใจ กึ่งชีวิตลี้ภัยในต่างแดน
ท่านกู้คืนผืนแผ่นดินถิ่นนามไทย กำจัดภัยอริราชชาติหวงแหน
ที่ผืนน้อยน่าอนาถต้องขาดแคลน สุดยากแค้นท่องไปในโลกา
มิตรประเทศมากมวลล้วนยกย่อง เสียงแซ่ซ้องรัฐบุรุษสุดสรรหา
ไทยอาเพศเลศกลีชี้ชะตา ได้อัฐิกลับมาสุดอาลัย
หกสิบปีบัดนี้ไทยทั้งชาติ ผลิตผู้นำสามารถมีหน้าไหน
ผู้เลิศล้ำนิติธรรมผ่องอำไพ เกียรติเกริกไกรรัฐบุรุษเอกอุตดม
“ปรีดี พนมยงค์” คงนามมั่น เป็นมิ่งขวัญประชาธิปไตยไพสิฐสม
สัญลักษณ์นิติรัฐอุบัติชม นามนิยมเชิดชูคู่แผ่นดิน
หากโลกนี้มีธรรมเป็นอำนาจ อธรรมผองพ่ายพินาศประลาตสิ้น
เมื่ออาทิตย์สัจธรรมค่ำแผ่นดิน นาม “ปรีดี” ยลยินชั่วดินฟ้า
นอกจากนี้ก็ยังมีบทกวีชื่อ “แด่ ผู้ประศาสน์การ” เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ต.ม.ธ.ก. เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเขียนทั้งในรูปแบบของวสันตดิลกฉันท์ 14 และกลอนสุภาพ โดยบทกวีนี้ได้ขยายความจากถ้อยคำ “ดวงประทีปประชาธิปไตย เสรีไทยกู้เอกราชชาติยืนยง” ซึ่ง ท่านผู้หญิงพูนศุข ประทับใจ ให้ออกมาเป็นบทร้อยกรอง ดังจะยกมาแสดงให้เห็นต่อไปนี้
ดวงประทีปประชาธิปไตย
เหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยามหานที
ดุจรพีผ่องนภันตร์อันไพศาล
ประทีปธรรมจำรัสชัชวาล
แสงบรรสานไทยตื่นฟื้นสำนึก
ไทยคือไทใช่ทาสประกาศตน
ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นคนได้รู้สึก
สิทธิเสรีศรีแผ่นดินยินล้ำลึก
หักโซ่ตรวนสู้ศึกศักดินา
ท่านผู้ชูประทีปประเทืองชนม์
ฉายโชติช่วงดวงกมลคนทั่วหล้า
ร้างสถานประศาสน์ศิษย์พิทยา
รากฐานธรรมนำประชาธิปไตย
นาม ปรีดี พนมยงค์ ธำรงสถิต
ผู้นำสิทธิ์เสรีชีวิตใหม่
ธรรมศาสตร์การเมืองเลื่องลือไกล
เพื่อชาวไทยไม่เป็นทาสประดาษดล
ธรรมศาสตร์สถาปนามาช้านาน
เป็นศัตรูเผด็จการทุกแห่งหน
มรสุมรุมกระหน่ำจำทุกข์ทน
ไม่มีวันยอมตนเป็นทาสใคร
อันวิญญาณธรรมศาสตร์ประกาศกล้า
มุ่งทายท้าทุรยุคทุกสมัย
ดวงประทีปปรีดีวิถีชัย
นำประชาธิปไตยสู่แผ่นดิน
เสรีไทยกู้เอกราชชาติยืนยง
เมื่อญี่ปุ่นยึดครองผองแดนไทย
จอมพล ป. ยิ่งใหญ่ใครทั้งสิ้น
สวามิภักดิ์ซามูไรใจทมิฬ
แสนโหดหินเหยียบย่ำทำลายไทย
ท่านผู้ประศาสน์การหาญต่อสู้
เพื่อกอบกู้เอกราชชาติขึ้นใหม่
รวบรวมผู้รักชาติประกาศชัย
เพื่อชาติไทยคงเป็นไทชั่วดินฟ้า
ภารกิจศักดิ์สิทธิ์สุดสามารถ
ประวัติศาสตร์ทูนเทิดล้ำเลิศค่า
นาม ปรีดี พนมยงค์ ดำรงมา
คู่แผ่นดินคู่ฟ้าสถาพร
ศิษย์เก่าเตรียมปริญญาวาระนี้
ฉลองครบหกสิบปีอนุสรณ์
ต.ม.ธ.ก. แปดรุ่นแสนสุนทร
มิตรภาพถาวรคือพรชัย
ตราบสายน้ำเจ้าพระยาธารินหลั่ง
สายน้ำมิตรจิตหวังยังสดใส
ตราบโดมเทิดสถิตอยู่คู่แดนไทย
ตราบนั้น “โดมในดวงใจ” เราทั้งมวล
ชัดเจนว่าบทกวีโดยเจ้าของนามปากกา “ทวีปวร” ได้ฉายให้เห็นภาพบทบาทของ นายปรีดี พนมยงค์ ไว้อย่างรอบด้าน เฉียบคม และกินใจ
ทวีป วรดิลก ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลวไปแล้วเกือบจะยี่สิบปี ขณะที่ กานดา คู่ชีวิตของเขา เพิ่งจะถึงแก่กรรมในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2467 นี้ ทั้งทวีปและกานดาถือเป็นนักต่อสู้ฝ่ายประชาธิปไตยที่อาศัยปากกาและตัวอักษรในการขับเคลื่อนความคิดทางสังคม มิหนำซ้ำยังเคยถูกรังแกจากระบอบเผด็จการอย่างแสนสาหัส แต่ท้ายที่สุด ผลงานของทั้งสองก็ยืนยันหนักแน่นให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพแบบประชาธิปไตยย่อมเป็นล้ำค่ายิ่งต่อเมืองไทย
หมายเหตุ :
- คงรูปแบบการอ้างอิงและเลขไทยตามต้นฉบับ
เอกสารอ้างอิง :
- ดั่งอาทิตย์เมื่ออุทัย: รวมบทกวีนิพนธ์และบทเพลงของ ทวีปวร. หนังสืออันเป็นอนุสรณ์คำนึงถึง นายทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร 30 กรกฎาคม 2548. กรุงเทพฯ: มติชน, 2548
- ทวีป วรดิลก. จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546
- ทวีป วรดิลก. “บทกวีของ ดร.ปรีดี พนมยงค์.” ปรีดีสาร (มกราคม 2545), หน้า 35-38.
- ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 5. เจ้าภาพพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายอารีย์ ลีวีระ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2506 ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยพณิชยการ, 2506
- สยามชน. ยุคสยอง. พระนคร: ประชามิตร, 2504
- สุวัฒน์ วรดิลก. ชีวิตในความทรงจำ. กรุงเทพฯ: กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต, 2517
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. “จิตร ภูมิศักดิ์ และการเขียนข่าวกรณีดิเรก ชัยนาม กล่าวหาปรีดี พนมยงค์”, https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1517