ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

จิตร ภูมิศักดิ์ และการเขียนข่าวกรณีดิเรก ชัยนาม กล่าวหาปรีดี พนมยงค์

5
พฤษภาคม
2566

Focus

  • จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2473 เขาคือนักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักภาษาศาสตร์ กวี ปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนสำคัญของไทย เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ถูกล้อมยิง ที่บ้านหนองกุง อําเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ขณะเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
  • ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ กลายเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในสังคมไทยหลักการลี้ภัยทางการเมืองในสาธารณรัฐประชาชนจีน นายดิเรก ชัยนาม ผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายปรีดีจึงถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง แม้ตอนนั้นเขาจะลดบทบาทของตนเองในด้านต่างๆ และปลีกตัวออกไปจากการเมืองแล้ว
  • จิตร ภูมิศักดิ์ ขณะนั้นทำงานประจำเป็นคอลัมนิสต์อยู่หนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ จึงเขียนถึงกรณีนายดิเรกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อถึงนายปรีดีด้วยฝีไม้ลายมือที่เฉียบคม จนสามารถฉายภาพได้ว่าท่าทีของนายดิเรกเป็นไปด้วยความไม่เต็มใจที่จะกล่าวหานายปรีดี

 

ชายหนุ่มวัยสามสิบกลางๆ คนหนึ่งถูกล้อมยิงจนตายในชายป่าบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 เขาคือ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน และปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนสำคัญ

หากย้อนไปก่อนหน้าที่จิตรจะเข้าป่าเพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เขาเคยถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาคัดค้านรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ. 2501-2508 ตรากตรำชีวิตอยู่ในคุกนานหลายปีกว่าจะได้รับอิสรภาพ และหากย้อนไปอีกในทศวรรษ 2490 จิตรเคยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งช่วงหนึ่งได้เกิดเหตุการณ์ที่นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จับเขาโยนบกกลางหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ภายหลังรักษาร่างกายบอบช้ำจนหายดี จิตรก็เข้าไปทำงานในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเต็มตัว

เรื่องราวของ จิตร ภูมิศักดิ์ ดูเหมือนไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องราวของ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เลย เพราะตอนที่จิตรแสดงบทบาทอันเป็นที่กล่าวขานตลอดช่วงทศวรรษ 2490 นั้น นายปรีดีต้องลี้ภัยทางการเมืองออกไปพำนักในต่างประเทศเสียแล้ว แม้จิตรจะเคยติดตามข่าวสารบ้านเมืองสมัยนายปรีดีครองตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลคณะราษฎรและเอ่ยถึงในบันทึกประจำวันของเขาสมัยยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมทั้งที่พระตะบองและกรุงเทพมหานครอยู่บ้าง เฉกเช่นคราวหนึ่งเคยบันทึกไว้ว่า “วันนี้ ปรีดีกลับมาจากต่างประเทศ”

จิตรถือเป็นเยาวชนผู้เติบโตท่ามกลางบรรยากาศการโฆษณาสำนึกชาตินิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงไม่แปลกที่เขาจะซึมซาบความรู้สึกทำนองนั้นมาอยู่กับตัว แม้ช่วงวัยรุ่น จิตรจะใช้ชีวิตในพระตะบองร่วมกับชาวเขมร (ขณะนั้นพระตะบองยังเป็นดินแดนของไทย เพิ่งได้รับคืนมาหลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ. 2484) แต่เขาก็มั่นคงต่อสำนึกความเป็นไทย ทั้งยังบ่มเพาะความไม่ชอบคนจีนหรือ “เกลียดเจ๊ก” ไว้มิใช่เบา ฉะนั้น จิตรในช่วงทศวรรษ 2480 จึงน่าจะหลงใหลได้ปลื้มกับแนวทางชาตินิยมของท่านผู้นำจอมพล ป. เสียมากกว่าแนวทางความเป็นสากลนิยมของนายปรีดี กระทั่งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปิดฉากลง ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบองให้กับฝรั่งเศส จิตรเดินทางกลับสู่เมืองไทยด้วยหัวใจคั่งแค้น เขาถึงกับแต่งโคลงสี่สุภาพชื่อ “อาฆาตานุสรณ์” ว่า

 

หากสยามยังอยู่ยั้ง             ปางใด เพื่อนเอย
หากสยามยังคงไทย           คู่ฟ้า
หากสยามกลับเกรียงไกร     องอาจ นาท่าน
แปดเขตต์ไทยเดิมอ้า          โอบเข้า ถิ่นสยาม

 

ที่เมืองไทย จิตรในวัยสิบเจ็ด เข้าเรียนชั้นมัธยม 6 ณ โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้น กำลังปรากฏกระแสต่อต้านชาวจีนขึ้นภายหลังสงครามโลก เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อต้าน “พวกเจ๊ก”

จิตรคงจะเปิดโลกใหม่ทางความรู้สึกนึกคิดก็ตอนเข้ามาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความที่อ่านหนังสือหลากหลาย หมั่นเรียนรู้มาก และพากเพียรเขียนงานต่างๆ อย่างแข็งขัน จึงทำให้เขาเฉียบคมยิ่งขึ้น โดยเริ่มเบนบ่ายมาสนใจแนวคิดสังคมนิยมของพวกฝ่ายซ้ายและแนวทางต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ มีเรื่องเล่าว่า จิตรชื่นชอบหนังสือ Das Kapital ของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) จนแอบขโมยจากหอสมุดกลางมหาวิทยาลัยมาอ่านไว้คนเดียว

ในปี พ.ศ. 2496 ขณะจิตรศึกษาชั้นปีที่ 3 เขาได้รับมอบหมายให้เป็นสาราณียกรจัดทำหนังสือ มหาวิทยาลัย ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๖ เขาจึงปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่โดยนำเสนอเนื้อหาและแนวคิดทางสังคมเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่เรื่องความไม่เหมาะสม ล่วงถึงวันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 จิตรจะต้องมาแถลงชี้แจงในฐานะสาราณียกร ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถ้อยคำของเขากลับสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ พวกนั้นจึงเข้ามาจับตัวของจิตรโยนบกตกลงมาจากเวทีสูงประมาณ 5 ฟุตจนสลบคาพื้นไม้ เพื่อนๆ นำตัวส่งโรงพยาบาลเลิดสิน บางรัก ครั้นจิตรฟื้นสภาพก็มิได้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มนิสิตที่จับเขาโยนลงมา ทว่าเรื่องการโยนบกกลายเป็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับของวันถัดมา

จิตรไม่เพียงแต่เจ็บตัว เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน เขายังถูกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยร่วมกันพิจารณาโทษสั่งพักการเรียนหนึ่งปี ส่วนกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่จับจิตรโยนบกก็ได้รับการพิจารณาโทษโดยให้จับโยนน้ำตามประเพณี แต่พอตอนลงโทษกลับปล่อยให้เดินลงไปในน้ำเอง ไม่ได้ถูกจับตัวโยนลงไป

ต้นปี พ.ศ. 2497 จิตรไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนอินทรศึกษาราว 3-4 เดือน ปรากฏว่าโรงเรียนปิดกิจการ พอเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เขาจึงเข้าทำงานประจำหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ สำนักงานตั้งอยู่ตรอกกัปตันบุช สี่พระยา รับหน้าที่ควบคุมดูแลเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดี ทั้งเขียนแนะนำหนังสือ ใช้นามปากกา “บุ๊คแมน” เขียนประวัติบุคคล เขียนบทความเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์ และเขียนบทวิจารณ์ภาพยนตร์ลงในคอลัมน์ “ภาพยนตร์และผู้ดู” ใช้นามปากกา “มูฟวี่แมน”

นามบัตรของ จิตร ภูมิศักดิ์

ห้วงเวลานี้เอง จิตรได้อ่านหนังสือหลากหลายแนว และตระเวนชมภาพยนตร์สารพัดสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทย, หนังอเมริกัน และหนังยุโรป ตามโรงภาพยนตร์หลายแห่ง แต่ดูเหมือนเขาจะสนอกสนใจภาพยนตร์อิตาเลียนเป็นพิเศษ

ในหนังสือ หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ ของวิชัย นภารัศมี กล่าวถึงบันทึกที่จิตรบอกเล่าชีวิตช่วงทำงานประจำหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ซึ่งเขามองว่าการควบคุมดูแลเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดีนั้นชักนำให้เขาได้ศึกษาทฤษฎีศิลปวรรณคดีของฝ่ายประชาชน ดังความว่า

 

“หน้าที่นี้เอง ได้บังคับให้ข้าพเจ้าต้องศึกษาทฤษฎีศิลปวรรณคดีของฝ่ายประชาชน เพื่อให้ข้อเขียนมีเนื้อหาถูกต้อง ระยะนี้เอง เป็นระยะที่ข้าพเจ้าได้พัฒนาความคิดที่เลือนรางไร้ทิศทางปฏิบัติที่ถูกต้องให้ค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอยขึ้น และเริ่มเป็นระบบขึ้น และกล่าวได้ว่าความเข้าใจทฤษฎีมาร์กซ์-เลนินที่เป็นระบบ และเริ่มจะถูกต้องเข้ารูปเข้ารอยจริงจังของข้าพเจ้า ตั้งต้นขึ้นด้วยการศึกษาและปฏิบัติงานทางศิลปะ-วรรณคดี ที่ นสพ.ไทยใหม่นี้เอง จากนี้ข้าพเจ้าก็ค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจทางปรัชญาลัทธิมาร์กซ์-เลนินให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ข้อเขียนในระยะนี้ ซึ่งเขียนทุกวัน หรือเกือบทุกวัน เป็นข้อเขียนที่เขียนไปศึกษาไป จึงมีทั้งที่ผิดพลาด และมีทั้งที่ค่อยๆ ถูกต้องขึ้น ทั้งนี้ ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าที่พัฒนาไปทุกวัน”

 

ใช่เพียงแค่เนื้อหาด้านศิลปะและวรรณคดีเท่านั้นที่จิตรควบคุมดูแล บ่อยครั้งเขายังรับหน้าที่เขียนรายงานข่าวสารนานาด้วย

กลางปี พ.ศ. 2497 ทางรัฐบาลไทยซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลทหารนำโดยนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร 2490 ยินข่าวลือและข่าวจากสำนักประมวลข่าวกลางหรือซีไอเอ (CIA) ทำนองว่า นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ลี้ภัยการเมืองเงียบหายไปกำลังพำนักอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือที่ทางการไทยเรียกขานว่า “จีนแดง”

นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีและนักการทูตผู้ใกล้ชิดสนิทสนมกับนายปรีดีจึงถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง แม้ตอนนั้นเขาจะลดบทบาทของตนเองในด้านต่างๆ และปลีกตัวออกไปจากการเมืองแล้ว

ต้นเดือนสิงหาคม ปรากฏข่าวผ่านหน้าหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับในทำนองเดียวกัน นั่นคือ นายดิเรกให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่านายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์

เฉกเช่นถ้อยคำของนายดิเรกที่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ประชาธิปไตย นำมารายงานในฉบับวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2497 มีความตอนหนึ่งว่า

 

“...ผมเป็นนักกฎหมายถ้าไม่มีหลักฐานก็ต้องสันนิษฐานว่าสุจริต ในการกระทำของหลวงประดิษฐ์ซึ่งไปปรากฏตัวก็ดีหรือไปเขียนสาส์นตำหนิติเตียนรัฐบาลก็ดี ย่อมแสดงชัดแล้วว่าหลวงประดิษฐ์ได้เป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่ต้องสงสัย…”

 

สิ่งนี้สร้างความตกใจระคนเคลือบแคลงสงสัยให้กับคนจำนวนมาก ยิ่งโดยเฉพาะในกลุ่มของคนที่รักและศรัทธานายปรีดี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า นายดิเรกคือลูกศิษย์ผู้ให้ความเคารพรักใคร่ต่อนายปรีดีอย่างสูง เคยทำงานร่วมกันราบรื่นและมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ด้านนายปรีดีเองก็ให้ความเมตตานายดิเรกถึงขั้นเคยเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุไฉนเล่า นายดิเรกจึงหาญกล้ากล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์

นายดิเรกยังยืนยันต่อสื่ออีกว่า โดยส่วนตัวเขายังคงรักและนับถืออาจารย์ปรีดี แต่ก็ไม่เคยนิยมยกย่องลัทธิคอมมิวนิสต์เลย ถ้าอาจารย์ปรีดีหันไปเป็นคอมมิวนิสต์ เขาก็จะไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย

ทวีป วรดิลก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย รายวัน ในตำแหน่งบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ โดยมี บรรจบ ชุวานนท์ เป็นบรรณาธิการใหญ่ควบคุมดูแลอีกชั้น บอกเล่าถึงกรณีนี้ว่า

 

“ความสำคัญของข่าวของหนังสือพิมพ์รายวันส่วนใหญ่ที่เสนอคงคล้ายๆ กัน แต่เนื่องจากผมสนใจข่าวนี้เป็นพิเศษ จึงอ่านข่าวนี้โดยละเอียดในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ แล้วก็ลงความเห็นว่า หนังสือพิมพ์ไทยใหม่เสนอข่าวเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เนื่องจากผู้สื่อข่าวแสดงความสามารถในการเขียนข่าวนี้ได้เป็นเยี่ยม

คำว่า “ดีที่สุด” ที่ผมยกย่องก็เพราะผู้สื่อข่าวผู้นี้สามารถเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกและเข้าใจได้ว่า อาจารย์ดิเรกให้สัมภาษณ์โดยมีปืนจ่อหลังซึ่งความสามารถในการเขียนข่าวเช่นนี้ได้แก่การทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านและเข้าใจข้อความที่มีอยู่ระหว่างบรรทัด แต่ไม่ปรากฏเป็นตัวหนังสือเลยที่เรียกกันว่า between the lines ซึ่งความสามารถของคนข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์เช่นนี้มีความจำเป็นอยู่มาก โดยเฉพาะในยุคเผด็จการหรือทรราชครองเมือง”

 

การที่ผู้สื่อข่าวของ ไทยใหม่ เขียนว่านายดิเรกให้สัมภาษณ์โดยมีปืนจ่อหลัง ก็เพราะทราบถึงเบื้องลึกดี แท้จริงนายดิเรกไม่ปรารถนาที่จะกล่าวหานายปรีดีเลยสักนิด แต่รัฐบาลทหารใช้อำนาจขู่บังคับให้ต้องทำแบบนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้เท่าทันและไม่หวั่นเกรงอำนาจใดของผู้สื่อข่าว ทวีปนึกสงสัยครามครันว่า ผู้สื่อข่าวคนนี้ของหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ เป็นใครกัน เขาจึงติดต่อไปยัง สุภา ศิริมานนท์ ดังทวีปเปิดเผยว่า

 

“โดยที่ผมทราบดีว่า หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ที่พิมพ์ออกจำหน่ายในระยะนั้น คุณสุภา ศิริมานนท์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์นรายเดือนเป็นผู้อำนวยการโดยพฤตินัย (de facto) จึงติดต่อทางโทรศัพท์กับคุณสุภา ซึ่งในด้านวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ท่านมีคุณูปการหลายประการต่อผม กล่าวคือ เป็นทั้งครู เป็นทั้งพี่ชาย และเพื่อน ฯลฯ ผมถามคุณสุภาว่า “ข่าวที่อาจารย์ดิเรกให้สัมภาษณ์ คุณสุภาบอกผมได้ไหมครับว่า ใครเป็นคนเขียน?”

“แล้วเขาเขียนเป็นอย่างไรล่ะ?”

“เขียนได้ดีมากครับ ผมอ่านก็รู้ได้ทันทีว่า อาจารย์ดิเรกพูดโดยมีปืนจี้อยู่ข้างหลัง”

เสียงคุณสุภาหัวเราะมาทางโทรศัพท์ “รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ ไหมล่ะ?”

 “จิตรไหนครับ?”

“จิตรนิสิตจุฬาฯ คนที่เคยถูกพวกอันธพาลมันจับโยนบกไงล่ะ” คุณสุภาพูดโดยใช้ถ้อยคำน้อยที่สุด แต่ก็กินความกว้างขวางที่สุด

“อ๋อ-” ผมอุทานเสียงยาว “ผมสันนิษฐานว่า จะเป็นคนคนเดียวกับคนเขียนวิจารณ์ หนังและแนะนำนักประพันธ์และนวนิยายในไทยใหม่ ดูเหมือนจะใช้นามปากกาว่าบุ๊คแมน กับ มูฟวี่แมน ใช่ไหมครับ?”

“ใช่แล้ว” คุณสุภาตอบมาตรงๆ ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าเป็นคนอื่นถาม คงจะไม่ตอบอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ “ผมอยากจะรู้จักจิตรครับ ผมต้องการคุยกับเขา เพื่อจะเอามาเขียนหนังสือบ้าง”

“จิตรเขามานั่งประจำทำงานที่ไทยใหม่ทุกวันแหละ สะดวกวันไหน หมึกก็ตรงมาเลย”

 

สำนักงานหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตั้งอยู่แถวสีลม ไม่ห่างไกลจากสี่พระยา พอสี่โมงเย็นของวันนั้น ทวีปก็รีบเดินทางมาเพื่อจะพบตัวจิตร

นั่นเป็นครั้งแรกสุดที่ทั้งสองคนได้เจอกัน มิหนำซ้ำ ยังสนทนากันถูกคอจนนำไปสู่การคบหาเป็นเพื่อนและนัดพบปะกันบ่อยๆ แวะเวียนไปเยี่ยมเยือนถึงบ้าน ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน บ้านของจิตรอยู่เชิงสะพานเสาวนีย์ แถวสวนจิตรลดา ส่วนบ้านของทวีปอยู่ซอยไชยา ใกล้สนามม้านางเลิ้ง

เรื่องที่หยิบยกมาแลกเปลี่ยนพูดคุยก็มีทั้งปัญหาศิลปวรรณคดี ข่าวสารบ้านเมืองและสถานการณ์ต่างๆ ของสังคม รวมถึงกรณีจิตรเคยถูกโยนบกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทวีปเคยถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เพราะเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทหาร

จิตร ภูมิศักดิ์ คือนักคิด นักเขียน และปัญญาชนที่สร้างสรรค์ผลงานอันส่งทอดอิทธิพลทางความคิดต่อนักอ่านในด้านต่างๆ ทั้งโบราณคดี วรรณกรรมและบทเพลง การเมืองและประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะผลงานหนังสือเล่มสำคัญอย่าง โฉมหน้าศักดินาไทย แม้เขาจะปราศจากโอกาสสัมผัสคลุกคลีกับนายปรีดีโดยตรง แต่บทบาทของเขากับ นายปรีดีก็มีความคล้ายคลึงกันในแง่การนำเอาความรู้ของตนมาต่อสู้กับอำนาจไม่เป็นธรรม ระบอบศักดินา และระบอบเผด็จการในสังคมไทย รวมถึงเรียกร้องให้ชาวประชาสามัญได้มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

โดยเฉพาะผลงานเขียนข่าวอย่างรู้เท่าทันในเรื่องระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ กับ นายดิเรก ชัยนาม ซึ่งปรากฏผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ นั้น นับว่าแสดงฝีมือไว้อย่างโดดเด่นเลยทีเดียว ถ้าจะมีอะไรน่าเสียดายอยู่บ้างก็คงเป็นเรื่องที่ นายปรีดีกับจิตรไม่เคยได้ร่วมงานกัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น บางทีโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าทึ่ง

เอกสารอ้างอิง :

  • ทวีป วรดิลก. (2546). จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ผมรู้จัก. กรุงเทพฯ: มติชน.
  • ประชาธิปไตย. (7 สิงหาคม 2497).
  • ปรีดี พนมยงค์. (2529). ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en Chine populaire แปลโดย พรทิพย์ โตใหญ่ และ จำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ.
  • วิชัย นภารัศมี. (2546). หลายชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.