ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

100 ปีชาตกาล สุวัฒน์ วรดิลก และความสัมพันธ์กับนายปรีดี พนมยงค์

14
กรกฎาคม
2566

Focus

  • สุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา “รพีพร” และอื่นๆ ผู้มีชื่อเสียงในด้านวรรณกรรมในระดับตำนาน เป็นนักเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเข้าเรียนปริญญาตรีกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง มีความสัมพันธ์อันดีกับนายปรีดี พนมยงค์  สมัยก่อนลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน และแนบแน่นมากขึ้นเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ พำนักในประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขาเป็นผู้นำคณะศิลปินไทยไปเปิดการแสดงที่มหานครปักกิ่ง สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2500
  • การอยู่ในประเทศจีนกว่า 40 วัน ทำให้สุวัฒน์ วรดิลก ได้เรียนรู้ความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ (ผู้อยู่เบื้องหลังการทำให้คณะศิลปินได้ไปแสดงที่ประเทศจีน) มากขึ้น ได้รับความช่วยเหลือ และคำแนะนำในการกลับเมืองไทยโดยไม่ให้ถูกรัฐบาลจับกุมในข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จากนายปรีดี พนมยงค์ ในสภาวะที่ต้องรอให้สหรัฐอเมริกาผ่อนคลายความตึงเครียดกับประเทศจีนลงมา
  • ผลงานที่มีชื่อเสียงอย่างมากของเขา อาทิ ภูติพิศวาส  ( 2505) ลูกทาส  (2506) พิราบแดง (2501 และในภายหลัง) ทำให้เขากลายเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ด้วยจุดยืนในทางประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ รวมทั้งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ สุวัฒน์ วรดิลก นักคิดนักเขียนคนสำคัญแห่งเมืองไทย เจ้าของนามปากกา “รพีพร” รวมถึงอีกหลากหลายนามปากกา เช่น ไพร วิษณุ, ศิวะ รณชิต, สันติ ชูธรรม และ ยุพดี เยาวมิตร ส่วนผลงานการประพันธ์ที่น่าจะคุ้นเคยสายตานักอ่านก็เฉกเช่น เปลวสุริยาราชินีบอดภูตพิศวาสลูกทาสนางสาวโพระดก และ นางสาวทองสร้อย สุวัฒน์ ยังถือเป็นบุคคลผู้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ นายปรีดี พนมยงค์ 

 

 

ในโอกาสพิเศษนี้ ผู้เขียนจึงปรารถนาเชิญชวนคุณผู้อ่านให้มาทำความรู้จัก สุวัฒน์ วรดิลก โดยเน้นนำเสนอถึงเรื่องราวระหว่างเขากับ นายปรีดี

ขอเริ่มด้วยการกล่าวถึงชีวประวัติของสุวัฒน์ว่า แท้แล้วเขาถือกำเนิด ณ บ้านริมคลองข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร เป็นบุตรชายของ พระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) และ นางจำรัส ความที่บิดาเป็นข้าราชการนักปกครอง ช่วงเยาว์วัยเขามิแคล้วต้องย้ายตามบิดาไปอยู่หัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะทางหัวเมืองปักษ์ใต้ สุวัฒน์จึงเคยเรียนหนังสืออยู่หลายจังหวัด ทั้งที่กระบี่และตรัง ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เขาถูกส่งตัวมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนมัธยมวัดโสมนัสวรวิหาร แล้วไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร

แม้ด้วยใจจริง สุวัฒน์ปรารถนาจะศึกษาต่อทางด้านอักษรศาสตร์ แต่เพื่อทำตามความประสงค์ของบิดาที่หมายมั่นจะให้บุตรชายเจริญรอยตามเส้นทางนักปกครองเยี่ยงเดียวกับตน เขาจึงตัดสินใจเข้าโรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ต.ม.ธ.ก. ในปี พ.ศ. 2483 ถัดมาอีกสองปีก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คร่ำเคร่งอยู่กับตำรับตำรากฎหมาย ทั้งๆ ที่ค้นพบว่าตนเองไม่ชอบวิชาจำพวกนี้เลย แต่อุตส่าห์สู้ทนร่ำเรียน พร้อมกับเริ่มต้นทำงานเป็นข้าราชการตำแหน่งผู้คุมที่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงมหาดไทย แค่เพียงปีเดียว ย้ายไปเป็นเสมียนการเงินที่กรมบัญชีกลางทหารเรือ ถัดมาอีกปีก็ย้อนกลับมาสอบเป็นเสมียนพนักงานของกรมราชทัณฑ์

การศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง สุวัฒน์ย่อมจะต้องเคยพบปะสนทนากับนายปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย ดังที่เขาเปิดเผยถึงความรู้จักต่อ นายปรีดี ว่า 

 

“ผมรู้จักอาจารย์ปรีดีฯ ใน ๒ สถานๆ หนึ่งท่านเคยรู้จักชอบพอกับพ่อ ซึ่งเป็น “เนติบัณฑิต” ก่อนอาจารย์ปรีดีฯ ๒ รุ่น อีกสถานหนึ่ง ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยฯ ที่ผมเข้าไปศึกษา แต่ไม่เคยสอนผมหรือพูดอีกที ผมเข้าเรียนไม่ทันยุคที่ท่านสอน แต่ก็ทันฟังโอวาท จากท่านบ่อยๆ ตั้งแต่วันเปิดเรียนภาคแรกของ “ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๓” เป็นต้นมา

พ่อยกย่องเสมอว่า อาจารย์ปรีดีฯ เป็นคนเดียวใน “คณะราษฎร” ที่กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้อาศัยสาเหตุอื่นมาเป็นพลังผลักดันเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งบางคนน้อยอกน้อยใจที่พลาดตำแหน่งๆ สำคัญของราชการ เพราะตกไปเป็นของพวกเจ้าเสียหมด บางคนก็เห่อเหิมทะเยอทะยานอยากได้ลาภได้ยศ บางคนก็เจ็บแค้นใจที่ได้รับการกดขี่ หรือความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แต่อาจารย์ปรีดีฯ คิดและกระทำด้วยอุดมคติ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รับระบบปกครองที่ให้ความเป็นธรรมแก่สังคมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้”

 

หากใครเคยอ่านประวัติของสุวัฒน์ คงพอจะทราบว่าบิดาของเขาคือ พระทวีปธุรประศาสน์ ต้องออกจากราชการภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับพวกกบฏ การยุติชีวิตราชการส่งผลให้ทางครอบครัวเผชิญปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาสภาพการเงิน อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนนามสกุลใหม่จาก “พรหมบุตร” มาเป็น “วรดิลก” ตอนนั้น พระทวีปฯ ตัดสินใจไปพำนักอยู่ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ถึงแม้ พระทวีปฯ จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายกบฏ แต่ทางครอบครัววรดิลกกลับมีความสนิทแน่นแฟ้นกับครอบครัวพนมยงค์ นั่นเพราะ พระทวีปฯ รู้จักมักคุ้นและชอบพออัธยาศัยกับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี มาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนโรงเรียนกฎหมาย โดย พระทวีปฯ สอบเป็นเนติบัณฑิตสยามได้ก่อนหน้านายปรีดี สองรุ่น

ในความรับรู้ของคนรุ่นลูก เยี่ยงสุวัฒน์ ภาพของ นายปรีดี จึงเป็นไปในลักษณะ

 

“อาจารย์ปรีดีฯ อยู่ในตำแหน่ง “มันสมอง” ของ “คณะราษฎร” หรือนัยหนึ่ง “มันสมอง” ของชาติในยุคนั้น เพราะท่านมีสมองปราดเปรื่อง มีความคิดริเริ่ม และมีความรู้รอบในวิชากฎหมายและด้านการปกครอง ผลงานของท่านที่ปรากฏออกมาเป็นไปในลักษณะ “สร้างสรรค์” โดยตลอด เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่านได้สร้างระบบการปกครองท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า “เทศบาล” ขึ้นมาใช้กันกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการ ต่างประเทศ ก็แก้ไขสนธิสัญญาที่ประเทศไทยทำไว้กับนานาประเทศในลักษณะ “เสียเปรียบ” ให้เท่าเทียมกันในสิทธิ 

เมื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้มีการเลิกภาษีรัชชูประการ ซึ่งเรียกเก็บจากชายฉกรรจ์ทุกคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ปีละ ๖ บาท มาใช้ประมวลรัษฎากรฯ เรียกเก็บภาษีจากสิ่งอื่นแทน อาทิ อากรมหรสพ, อากรบุหรี่, ไม้ขีดไฟ ฯลฯ ซึ่งใครใช้มากก็เสียมาก และเสียโดยทั่วหน้ากัน ไม่เลือกเพศหรือวัย รายได้ของรัฐจึงถีบตัวขึ้นสูงกว่าที่ได้จากภาษีรัชชูประการหลายเท่า ในระยะที่ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงครามไทยเข้าร่วมรบร่วมรุกกับฝ่ายอักษะประเทศ ซึ่งมีเยอรมันกับญี่ปุ่นเป็นผู้นำ ประเทศไทยถูกยึดครองด้วยทหารญี่ปุ่น

อาจารย์ปรีดีฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ได้ก่อตั้งขบวนการกู้ชาติขึ้นในชื่อ “ขบวนการเสรีไทย” ดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น และประกาศตัวเป็นฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยพ้นจากฐานะประเทศแพ้สงครามเมื่อเยอรมันกับญี่ปุ่นพ่ายแพ้ไปแล้ว และมีผลให้เพื่อนร่วมคณะก่อการ ๗๕ ของท่านหลายคนรอดพ้นจากการถูกนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงโตเกียวในฐานะอาชญากรสงคราม แต่ต่อมาเพื่อนของท่านเหล่านั้นก็ร่วมมือกัน “สนองน้ำใจ” ท่านด้วยการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๔๙๐ และนำเอาคดีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ ออกมาเป็นเครื่องมือห้ำหั่นทำลายอาจารย์ปรีดีฯ จนย่อยยับ และกลายเป็น “รัฐบุรุษผู้ไร้แผ่นดิน” ไปในที่สุด”

 

ด้านความทรงจำเกี่ยวกับ “อาจารย์ปรีดี” ขณะ สุวัฒน์ยังเป็นนักเรียน ต.ม.ธ.ก. นั้น เขาบอกเล่าถึงตอนที่นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจะไปเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนช่วงปี พ.ศ. 2483 ในสมัยรัฐบาล หลวงพิบูลสงคราม ซึ่ง นายปรีดีไม่เห็นพ้องด้วยและพยายามห้ามปรามนักศึกษา

 

“ครั้งมีการเดินขบวนเรียกร้องดินแดน (อินโดจีน) คืนมาจากฝรั่งเศสนั้น ผมยังเป็นนักศึกษา รร. เตรียมปริญญาฯ ปีที่ ๑ (พ.ศ. ๒๔๘๓) จำได้ว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์กำลังเตรียมเดินขบวน อาจารย์ปรีดีฯ ทราบเข้า ท่านรีบรุดมาพบพวกเรา เรียกนักศึกษาชั้นมหาวิทยาลัย และ “เตรียมปริญญาฯ” ขึ้นไปพบในห้องประชุม (เล็ก) ของมหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสเข้าไปนั่งฟังแถว หน้าใกล้อาจารย์ปรีดีฯ มากที่สุด

ท่านชี้แจงเหตุผลว่า ยังไม่ควรเดินขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ควรกระทำกันทางศาลโลก และด้วยสันติวิธี ไม่ใช่การข่มขู่ด้วยการเดินขบวน...”

 

น้ำเสียงแจกแจงเหตุผลของ “อาจารย์ปรีดี” คือ

 

“เหตุการณ์ที่ปรากฏ ก็เหมือนหนึ่งเพื่อนท่านชิงเอาปากกาของท่านไปเขียน ท่านอยากได้คืน แต่เพื่อนท่านใหญ่โตมีกำลังกว่าท่าน ท่านก็ไม่กล้า ต่อมาเพื่อนท่านเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายทรุดโทรมลง ท่านเจรจากับเขาดีๆ เพื่อนท่านก็อาจคืนปากกาให้ท่าน แต่ถ้าท่านข่มขู่เขาอย่างได้ที เขาอาจคืนปากกาให้ท่านอย่างจำใจ แต่เขาก็มีใจอาฆาตว่า สักวันหนึ่งเขากลับแข็งแรงกว่าเก่า เขาจะต้องเอาปากกาด้ามนั้นคืนไปจากท่านอีกแน่ การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนก็เหมือนกัน เป็นการข่มขู่ฝรั่งเศสในยามที่ฝรั่งเศสแพ้สงครามในยุโรป ฝรั่งเศสอาจยินยอมยกดินแดนคืนให้เราด้วยความจำเป็น เพราะเขาหมดกำลังแล้ว แต่วันหน้าฝรั่งเศสกลับมีกำลังขึ้นมา เขาจะต้องเอาดินแดนที่ให้เรามาคืนกลับไปอีกแน่นอน....”

 

นายปรีดี มองว่าการเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีนควรจะดำเนินการทางศาลโลกเสียมากกว่า เพราะเมื่อศาลโลกตัดสินเด็ดขาดแล้ว แม้ภายหลังฝรั่งเศสจะชนะสงครามก็ไม่มีผลอะไร ทางไทยเราก็ยังมีกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนนั้น แต่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีหาได้คิดเช่นเดียวกับนายปรีดี ในที่สุด มีการปลุกระดมจนเกิดการเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนจากอินโดจีน เริ่มริเดินขบวนโดยนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดม ฝ่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองกลัวจะน้อยหน้าที่อื่น จึงไปเดินขบวนบ้าง ทว่ามีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยเชื่อฟัง “อาจารย์ปรีดี” จึงไม่ไปร่วมเดินขบวนซึ่งหนึ่งในนั้นมีสุวัฒน์ด้วย

เมื่อสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเกิดขึ้น และต่อมาปลายปี พ.ศ. 2484 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในเมืองไทย สภาวะสงครามทอดห้วงเวลายาวมาจนกระทั่งสิ้นสุดลงกลางปี พ.ศ. 2488 สุวัฒน์จึงตระหนักได้ว่าสถานการณ์ต่างๆเป็นไปตามที่นายปรีดีคาดคะเน

 

“สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสจึงอุบัติขึ้น ฝรั่งเศสเปลี้ยจากสงครามยุโรปเต็มทีแล้ว ไทยเราจึงได้ดินแดนคืนมาบ้าง ภายใต้การไกล่เกลี่ยชี้ขาดของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรี ป. พิบูลสงคราม ได้ความชอบด้วยตำแหน่ง “จอมพล” คนแรกในยุคประชาธิปไตย

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรได้กลายเป็น “ผู้ชนะสงคราม” เป็น ๑ ใน ๕ ประเทศที่ควบคุมโลกในขณะนั้น (อเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, จีน) ไทยเราก็จำต้องมอบดินแดนที่รบพุ่งชิงเอามา คืนกลับไปให้ฝรั่งเศสอีกครั้งตรงตามคำของอาจารย์ปรีดีฯ ทุกประการ

ดินแดนได้มา ต้องคืนเขาไป สิ่งที่ไม่อาจคืนได้ ก็คือชีวิตทหารไทยที่ล้มตายในสมรภูมิอินโดจีน…”

 

กลางปี พ.ศ. 2487 สุวัฒน์ได้เข้าพบนายปรีดี เนื่องจากพระทวีปฯ ผู้บิดาให้เขาทำหน้าที่นำของฝากจากอำเภอหลังสวนไปมอบให้ ก่อนที่เขาจะไม่ได้พบเจอ “อาจารย์ปรีดี” อีกนานกว่า 13 ปี ยิ่งพอหลังเหตุการณ์รัฐประหารเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นายปรีดีต้องเดินทางระหกระเหินลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ

 

“ผมไม่มีโอกาสพบอาจารย์ปรีดีฯ อีกเลย จากการพบในเมืองไทยครั้งหลังสุด เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ซึ่งขณะนั้น ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการ พ่อฝากผลไม้จากหลังสวนมา ๒ ชะลอมใหญ่ ผมนำไปให้ท่าน และสนทนากับท่าน และ “ท่านผู้หญิง” ที่ศาลาริมน้ำในทำเนียบท่าช้างได้ราวๆ ครึ่งชั่วโมง ผมได้พบท่านอีกเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๐ ที่หอวัฒนธรรมนครกวางตุ้ง (จีนแดง)”

 

ปลายทศวรรษ 2480 สุวัฒน์หมั่นเขียนงานส่งไปตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารต่างๆ และเริ่มทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ประจำหนังสือพิมพ์ เอกราช ภายใต้การนำของบรรณาธิการนาม อิศรา อมันตกุล เมื่อปี พ.ศ. 2489 ด้วยความหลงใหลแวดวงน้ำหมึก เขาตัดสินใจลาออกจากราชการมาเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว แต่ก็ค้นพบว่าตนเองน่าจะถนัดและชื่นชอบการเป็นนักประพันธ์เสียมากกว่านักข่าวหรือนักหนังสือพิมพ์

ต้นทศวรรษ 2490 สุวัฒน์ สามารถสร้างชื่อเสียงลือเลื่องในการเขียนนวนิยาย ผลงานแต่ละชิ้นของเขาได้รับความนิยมจากนักอ่านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ เปลวสุริยา และ ราชินีบอด ขณะเดียวกัน สุวัฒน์ได้ก้าวเข้าไปสู่วงการละครเวที เริ่มต้นด้วยการนำผลงานเขียนของตนเรื่อง สัญญารักของจอมพล มาเขียนดัดแปลงเป็นบทละครเวทีให้คณะเทพอำนวย แต่ยังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ เพราะเขายังไม่ค่อยถนัดในการเขียนบทเท่าใดนัก ครั้นต่อมาได้รู้จักกับคณะศิวารมณ์ซึ่งสนใจที่จะขอซื้อนวนิยายเรื่อง เปลวสุริยา ไปทำละครเวที โดย สุวัฒน์รับเขียนบทเอง แต่คราวนี้ได้รับคำแนะนำจาก ครูเนรมิต ผู้เชี่ยวชาญการเขียนบทด้วย จึงทำให้ละครเวทีเรื่องดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างสูง สุวัฒน์พลันกลายเป็นบุคคลที่ครองบทบาทสำคัญและโดดเด่นแห่งวงการละครเวที

ความรุ่งโรจน์ทั้งในด้านงานเขียนและงานละครเวทีทำให้ สุวัฒน์ตัดสินใจยุติการเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเรียนมายาวนานนับแต่ พ.ศ. 2485-2495 แล้วออกมายึดอาชีพนักประพันธ์และนักทำละครเวทีอย่างเต็มตัว ทว่าพอถึงปลายปี พ.ศ. 2495 ละครเวทีมีอันเสื่อมความนิยมลง สุวัฒน์ลองเบนไปเขียนบทภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ชอบ เลยกลับมาเขียนนวนิยายดังเดิม

สุวัฒน์เป็นผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยและชิงชังระบอบเผด็จการ เขาจึงร่วมเคลื่อนไหวกับพวกนักศึกษาธรรมศาสตร์เนืองๆ จนเคยถูกควบคุมตัวไปสอบสวนในกรณี "กบฏสันติภาพ" ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ร่วมกับน้องชายคือ ทวีป วรดิลก แต่เขาก็รอดพ้นการจับกุมคุมขัง

ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2500 สุวัฒน์ได้รับเชิญให้นำคณะศิลปินไทยเดินทางไปเปิดการแสดงที่ประเทศจีน ซึ่งตอนนั้นถูกมองว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ มีคำเรียกขานว่าเป็น “จีนแดง” ขณะรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน

 

“ตอนนั้นผมได้รับเชิญให้พาศิลปินกลุ่มหนึ่ง เดินทางไปเปิดการแสดงในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการเดินทางที่ “ไม่อาจเปิดเผย” ได้ ศิลปินนักแสดงทุกคน ไม่มีโอกาสรู้ว่าจะต้องเข้าไปแสดงใน “จีนแดง” แม้แต่คนเดียว เพราะผมลงทุน “หลอก” ว่าจะไปแสดงที่ฮ่องกง แล้วถ่ายทำหนังไทยติดมือกลับมาเมืองไทยด้วย ทั้งนี้ เพราะเกรงว่าข่าวจะแพร่สะพัดไปก่อน ซึ่งจะมีผลร้ายแรง นอกจากไม่ได้ไปกันแล้ว ผมซึ่งเป็นตัวการจะพลอยถูกจับเข้าคุก

การเชิญครั้งนั้น หนังสือเชิญมาจาก “กรมวิเทศสัมพันธ์” ของจีน หลังจากมีคนมาติดต่อ ทาบทามผมก่อนแล้ว และผมเดินทางไปพบปะเจรจากับผู้แทนฝ่ายจีน (แดง) ที่ฮ่องกงเมื่อปลาย เดือนมีนาคมศกเดียวกันนั้น

ผมนำศิลปินนักแสดงไปคราวนั้น ๔๒ คน มีพ่อค้าสมทบไปด้วย เพราะเป็นผู้สนับสนุนการเงิน ทั้งค่าฝึกซ้อมและค่าเดินทาง (สายการบินแอร์อินเดีย) ออกเดินทางในยามวิกาล เวลา ๐๑ น. ของวันที่ ๒๖ เมษายน”

 

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นคำว่า “จีนแดง” เสมือน “ผีห่าซาตาน” คอยหลอกหลอนรัฐบาลไทยซึ่งทำตัวประหนึ่งสมุนของสหรัฐอเมริกาแทบจะไม่ลืมหูลืมตา แต่เหตุที่ สุวัฒน์ตัดสินใจไปเมืองจีนก็เพราะแรงผลักดันที่เขาเคยสนใจเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านการอ่านหนังสือพงศาวดารจีน เช่น สามก๊ก รวมถึงความเอาใจใส่ต่อสถานการณ์ทางการเมืองของจีน โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้นำเยี่ยง เจียงไคเชก ที่เขาปลาบปลื้มยิ่งนัก แต่กลับมาค้นพบภายหลังว่าความชื่นชอบบุคคลผู้นี้ของเขาช่างผิดถนัด ดัง สุวัฒน์เล่ารายละเอียดว่า

 

“ผมรู้จักชื่อเสียงของจอมพลเจียงไคเชค ตั้งแต่อายุ ๑๓-๑๔ จากหนังสือเรื่อง “กบฏเมืองซีอัน” ซึ่งมีผู้แปลเป็นไทย ยกย่องเกียรติคุณของ เจียงไคเชค กับ มาดามซุงเมหลิง ผู้เป็นศรีภรรยา หนังสือเล่มนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เจียงไคเชคถูกจางซูเหลียง นายทหารใต้บังคับบัญชาออกอุบายจับเอาตัวไปขังไว้ที่เมืองซีอัน และมาดามซุงเมหลิงไปเจรจาจนฝ่ายจับกุมปล่อยตัวเจียงไคเชคออกมา ผมอ่านแล้วพลอยเลื่อมใสเจียงไคเชคกับภรรยาไปกับผู้อ่านคนไทยอื่นๆ จำนวนมาก (ราวๆ พ.ศ. ๒๔๗๙-๘๐) 

แต่แล้วมาทราบความจริงภายหลังว่า การจับกุมเจียงไคเชคครั้งนั้นเป็นการกระทำของนายทหารจีนผู้รักชาติ ต้องการบังคับให้เจียงไคเชคสู้กับญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามายึดครองแมนจูเรียเอาไว้ทั้งหมด การปล่อยตัวเจียงไคเชค ครั้งนั้น ก็หาได้เกิดจาก “ลิ้นสาริกา” ของมาดามซุงเมหลิงไม่ หากเกิดจากฝ่ายจับกุม ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์ฯ ร่วมงานอยู่ด้วย เล็งเห็นว่าเจียงไคเชค ยังเป็นที่เชื่อถือยกย่องของคนจีนทั่วประเทศ ขอเพียงให้เจียงไคเชคให้สัญญาจะร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นผลสำเร็จเพราะเกียรติคุณชื่อเสียงของเจียงไคเชคยังดีอยู่ ผลต่อมากลับปรากฏว่า เจียงไคเชคตอบแทนพวกนายทหารและประชาชนผู้รักชาติเหล่านั้นด้วยการทรยศ จับกุมเอาจางซูเหลียงไปขังไว้จนตาย และสังหารนายทหารใหญ่ๆ เสียหลายคน พร้อมกับระดมปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แทนการปราบญี่ปุ่น 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น ญี่ปุ่นร่วมกับฝ่ายเยอรมัน สู้กับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งมีอเมริกา, รัสเซีย, อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นผู้นำ เมื่อสงครามสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของเยอรมันและญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๔๘๘) ประวัติศาสตร์ของจีนก็เปลี่ยนไป พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะในการปราบปรามพวกปฏิกิริยาก๊กมินตั๋งซึ่งนำโดยเจียงไคเชคอย่างเด็ดขาด เจียงไคเชค ซึ่งมีแต่ถอยร่นจากเหนือลงใต้ เอาแต่โฆษณาชวนเชื่อแก่ชาวโลกอยู่เรื่อยๆ ก็บินหนีเอาชีวิตรอดไปอยู่เกาะไต้หวัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสถาปนาระบอบใหม่ขึ้นมาในประเทศและตั้งรัฐบาลขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ (ค.ศ. ๑๙๔๙) เรียกว่าระบอบ “สาธารณรัฐของประชาชนจีน” ในการนำของ “เหมา เจ๋อตง”” 

 

สุวัฒน์ยังสนใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน

 

“จีนกับไทยมีสัมพันธภาพต่อกันมาด้วยดีตั้งแต่ครั้งโบราณกาล คนจีนอพยพหนีความอดอยากยากแค้นมาอยู่เมืองไทยมากกว่าที่อื่น ส่วนใหญ่มาในลักษณะ “เสื่อผืนหมอนใบ” แล้วมากลายเป็นเจ้าสัวทีหลังมากมายจนนับจำนวนไม่หวาดไหว กระทั่งระยะหลังๆ (โดยเฉพาะหลังสงคราม ๒๔๘๘) โอกาสที่จะเป็นเจ้าสัวน้อยลง “เสื่อผืนหมอนใบ” ที่อุตส่าห์หอบมาจากเมืองจีนกลับต้องใช้ห่อศพคนจีนหลายคนลอยแม่น้ำไปตามยถากรรม เพราะระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ยิ่งนานไปคน “มือยาว" ยิ่งสบาย คน “มือสั้น” ยิ่งลำบาก และเมื่อจีนเปลี่ยนระบบปกครองรวมทั้งบุคคลชั้นนำในการ ปกครองเสียใหม่ คนจีนที่อพยพมาเมืองไทย แทนที่จะเป็นคนยากจนหนี ความอดอยากมาสร้างเนื้อสร้างตัว กลับกลายเป็นคนมั่งมี หอบทรัพย์สินเงินทองเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยด้วยข้ออ้าง “เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์” ส่วนคนจีนที่ยากจนกลับรักชาติบ้านเมืองของเขา พวกเขาพอใจในระบบปกครองของคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งช่วยให้พวกเขาพ้นความอดอยากยากแค้นไปได้อย่างสิ้นเชิง ยิ่งนานวันคนจีนยากจน ก็ไม่ยอมอพยพจากแผ่นดินที่รักของเขาอีกเลย

ในด้านนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับ “จีนใหม่” ไม่ต้องพูดถึง เพราะนโยบายต่างประเทศของไทยเรา “เกาะขา” และ “ตามก้น” อเมริกาอย่างจริงจังตลอดเวลา เมื่ออเมริกายังสนับสนุนรัฐบาลจีนไต้หวันของเจียงไคเชค ไทยเราก็สนับสนุนด้วย และด้วยอิทธิพลของอเมริกา รัฐบาลจีนไต้หวัน ซึ่งมีประชากรไม่ถึง ๑๐ ล้านคน (ระยะนั้น) เนื้อที่กระจ้อยร่อยกลับเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎบัตรสหประชาชาติ สามารถมีที่นั่งอยู่ต่อไปในสหประชาชาติแทนประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีเนื้อที่ (ทางภูมิศาสตร์)ไพศาล และประชากรถึง ๖๐๐ ล้านคน (ขณะนั้น) การชี้ “นก” แล้วบอกว่า “ไม้” ให้ประเทศบริวารสนับสนุนเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม้” นับเป็นความสามารถของอเมริกาอย่างหนึ่ง 

ไทยเราเคยมีสัมพันธภาพทางการทูตกับประเทศจีนมา เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่แล้ว ในระดับเอกอัครราชทูต (นายสงวน ตุลารักษ์) เมื่อเจียงไคเชคพ่ายแพ้เหมาเจ๋อตง จีนเปลี่ยนไปสู่ระบบปกครองสังคมนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไทยจึงตัดสัมพันธไมตรีกับประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ทันที ตัวเอกอัครราชทูตเลยไม่กล้ากลับเมืองไทย ทนอยู่ในเมืองจีนหลายปี พอกลับมาก็ถูกส่งตัวเข้าคุกลาดยาวไปโดยมีแต่ข้อหาไม่มีการฟ้องร้อง 

การปลุก “ผีคอมมิวนิสต์” ซึ่งรัฐบาลอเมริกาเริ่มก่อน รัฐบาลไทย “ปลุก” ตามการต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” โดยเฉพาะ "จีนแดง” จึงเป็นไปอย่างเข้มงวดจริงจัง “คอมมิวนิสต์” จึงกลายเป็นยักษ์เป็นมาร เป็นผู้ทำลายศาสนาพระมหากษัตริย์ (โปสเตอร์โฆษณา และยี่เกต่อต้านของกรมประชาสัมพันธ์) เพื่อต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” รัฐบาลไทยจัดส่งทหารไทยไปรบเกาหลี, เวียดนาม, ลาว และเขมร ทหารไทยที่เสียชีวิตมิใช่เพื่อปกป้อง ประเทศชาติหรือแผ่นดินปิตุภูมิ กลับเสียชีวิตเพื่อ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ตามนโยบายของอเมริกาไปเป็นจำนวนหมื่น แม้กระนั้น ก็ไม่อาจเอาชนะโดยปราบปราม “คอมมิวนิสต์” ให้สงบราบคาบได้ อย่าว่าแต่ไทยเราเลย แม้อเมริกาผู้เป็นหัวโจกในการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ก็ยังพ่ายแพ้ พินาศทั้งเงินทองและเกียรติภูมิเหลือคณานับ…”

 

ถัดมาในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2500 สุวัฒน์และคณะศิลปินไทยสี่สิบกว่าชีวิตก็เดินทางถึงจีนแผ่นดินใหญ่ 

 

“คณะศิลปินไทยถึงนครกวางตุ้งเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ หลังพิธีต้อนรับของเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนซึ่งมี “ปู้จ่าง” (เทศาภิบาล) ประจำมณฑล เป็นประธานแล้ว “สนาน” ล่ามประจำตัวผมซึ่งเป็นคนไทย (ผสมจีน) รู้จักชอบพอกับผมมาก่อนตั้งแต่เขายังอยู่ในเมืองไทย บอกผมว่าคนไทยลี้ภัยการเมืองคนหนึ่งอยากพบปะผมและคณะฯ เพื่อเลี้ยงน้ำชาต้อนรับ เมื่อถามว่าเป็นใคร “สนาน” ตอบว่า “ท่านปรีดี พนมยงค์”

เขาแนะนำต่อไปว่าเป็นสิทธิของคณะศิลปินไทยที่จะตัดสินใจเอาเองว่าควรไปพบหรือไม่ หากคิดว่า การมาเมืองจีนเพื่อเปิดการแสดงทางด้านศิลปวัฒนธรรมเพียงด้านเดียว ไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับการเมืองหรือนักการเมือง ก็ไม่ควรไปพบ

ผมตอบเขาไปในทันทีนั้นว่า “เราจะไปพบท่าน””

 

นายปรีดีมารอคอยคณะศิลปินจากเมืองไทยด้วยใจจดจ่อ ณ หอวัฒนธรรมประจำมณฑลกวางตุ้ง ส่วน “สนาน” ที่ได้รับการพาดพิงนาม ผมคิดว่าน่าจะเป็นคนเดียวกันกับ สนาน วรพฤกษ์

สุวัฒน์ยังเล่าอีกทำนองตอนที่เขาบอกแก่คณะว่าจะไปเยี่ยมเยียนรัฐบุรุษอาวุโสผู้ต้องลี้ภัยนั้น มีศิลปินบางคนกล่าวหาว่า สุวัฒน์ล่อลวงมาให้เขาต้องมาพัวพันกับการเมืองที่อันตราย

 

“ขณะนั่งรถมุ่งไปพบอาจารย์ปรีดีฯ ที่หอวัฒนธรรมประจำมณฑล ซึ่งท่านรออยู่ที่นั่น (ฝ่ายจีนจัดให้) ผมบอกสนานว่า ผมต้องการพบอาจารย์ปรีดีฯ ด้วยเหตุผล ๒ ประการๆ แรกท่านเป็นอาจารย์ผมและศิลปินบางคนในคณะ (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์) อีกประการ ในฐานะที่ท่านเป็นคนไทยมีบุญคุณใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนไทย คณะศิลปินไทยควรมีมารยาทพอที่จะไปเยี่ยมคำนับท่านเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการเมือง”

ศิลปินบางคนพอรู้ว่าจะไปพบอาจารย์ปรีดี เขารู้สึกเหมือนกำลังไปพบเสือหรือมหาโจรตัวฉกาจ แสดงความหวาดหวั่นพรั่นพรึง แอบกระซิบกล่าวหาว่า ผมหลอกลวงเขามาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ก่อให้เกิดความเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะศิลปินผู้นั้นเป็นชาย ฝ่ายหญิงทุกคนกลับไม่มีใครปริปาก

แต่เมื่อเผชิญหน้ากับอาจารย์ปรีดีซึ่งผมขาวโพลนทั้งศีรษะ และฟังคำปราศรัยของท่านแล้ว พวกเราทุกคนตื้นตันใจจนพูดไม่ออก ศิลปินที่วุ่นวายใจเมื่อครู่ พลอยออกปากสงสารท่านไปด้วย”

 

นายปรีดีรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบปะกับคณะศิลปินชาวไทย จึงกล่าวโอภาปราศรัยกับทุกๆคนด้วยน้ำเสียงที่สุวัฒน์บันทึกว่า “...เสียงท่านเปลี่ยนไปเหมือนมีก้อนอะไรขวางอยู่ในลำคอ และมีผลให้ศิลปินบางคนใจอ่อนถึงกับแอบซับน้ำตา”

ถ้อยคำของนายปรีดี คือ

 

“แม้ผมจะมีอันเป็นต้องพลัดพรากจากประเทศอันเป็นที่รักมาเป็นเวลาช้านาน ผมยังมั่นใจว่า ผมเป็นคนไทย เมื่อได้ทราบว่าคนไทยกลุ่มหนึ่งกล้าเสี่ยงภัยดั้นด้นมาจนถึงแผ่นดิน “ต้องห้าม” แห่งนี้ ผมก็เต็มไปด้วยความรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่ง...”

 

และ

 

“การกระทำของพวกท่านในวันนี้ แม้จะไม่เป็นที่ชอบใจของรัฐบาล แต่ท่านจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ ผลของการกระทำแม้ไม่ปรากฏในขณะนี้ แต่ในวันหน้า งานของท่านวันนี้จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทยและคนจีนไม่อาจลืมได้...”

 

นายปรีดียื่นมือให้สุวัฒน์จับ ไต่ถามทุกข์สุขของพระทวีปธุรประศาสน์ แต่มิยอมปริปากถามถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือรัฐบาลไทยเลย

สุวัฒน์บันทึกความเป็นไปของฉากและบรรยากาศตอนนั้นว่า

 

“อาจารย์ปรีดีอพยพครอบครัวมาอยู่กวางตุ้งนานแล้ว เพราะท่านทนอากาศปักกิ่งไม่ไหว ทางการจีนก็ตามใจให้ท่านเลือกมาอยู่ที่เมืองกวางเจา เพราะอากาศคล้ายคลึงกับเมืองไทย

ท่านบอกผมให้ทราบว่า คณะศิลปินไทยจะต้องไปเปิดการแสดงที่นครปักกิ่งก่อนพอดีกับวาระวันเมย์เดย์ จะมีโอกาสเที่ยวงานวันกรรมกรของโลกที่ปักกิ่งด้วย จากนั้นก็ตระเวนไปแสดงเมืองต่างๆ ทางภาคอีสาน แล้วจึงล่องลงมาทางใต้ถึงกวางตุ้งอีกครั้ง

“กลับมากวางเจาเราจะได้คุยกันอีกนะ สุวัฒน์”

ท่านบอกผมตอนที่ผมพาคณะฯ เข้าอำลาท่านกลับ”

 

สุวัฒน์กับคณะศิลปินไทยออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษมุ่งหน้าสู่มหานครปักกิ่ง รถไฟแล่นขบวนทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาราว 2 วัน 2 คืน โดยใช้เวลาว่างขณะโดยสารนำเอาโน้ตเพลงให้นักร้องฝึกซ้อมเตรียมร้องโชว์

คณะศิลปินไทยเปิดการแสดงที่มหานครปักกิ่งภายหลังวันเมย์เดย์ (ตรงกับ 1 พฤษภาคม) จัดแสดงที่โรงละครสองโรง โรงแรก 1 คืนและโรงหลัง 2 คืน จากนั้น พักผ่อนและตระเวนเที่ยวในปักกิ่งอีก 7 วันเต็ม ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังเมืองทางภาคอีสานของจีน ในเวลาเกือบสองเดือน สามารถตระเวนแสดงนาฏศิลป์และบทเพลงไทยไปตามเมืองต่างๆ มากถึง 9 เมือง แล้วย้อนกลับคืนมายังนครกวางเจาในมณฑลกวางตุ้งอีกครา

ที่กวางเจา คณะศิลปินไทยเปิดการแสดง ณ หอประชุมจงซานซึ่งเป็นโรงขนาดใหญ่บรรจุคนได้ถึง 6,000 คน จัดแสดงสองคืน ในคืนสุดท้ายมีพิธีปิดการแสดง นายปรีดีและครอบครัวไปรับชมด้วย ครั้นเพลงชาติไทยบรรเลง นายปรีดียกผ้าเช็ดหน้าขึ้นซับน้ำตาตนเอง พอวันรุ่งขึ้น รัฐบุรุษอาวุโสแกงไก่หม้อใหญ่ส่งมาให้คณะศิลปินไทยเป็นการตอบแทนที่เดินทางมามอบความสุขใจและความประทับใจ

ช่วงที่คณะศิลปินไทยพำนักในเมืองกวางเจา สุวัฒน์หมั่นแวะเวียนไปพบปะสนทนาและปรึกษาหารือกับนายปรีดี อยู่เนืองๆ เขาจึงสัมผัสถึงสภาพความเป็นอยู่ของรัฐบุรุษอาวุโสในแผ่นดินจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งสุวัฒน์เคยนำเขียนเล่าว่า

 

“ทางการจีนให้อาจารย์ปรีดีฯ กับครอบครัวพักในตึกหลังน้อย มีรถยนต์ใช้ส่วนตัว ๑ คัน คนขับ (จีน) พร้อมคนครัว คนซักรีด ทำความสะอาดเป็นคนที่ทางจีนจัดให้ ท่านมีรายได้ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมืองตามรัฐธรรมนูญของจีนแดงเดือนละประมาณ ๒,๕๐๐ บาท การเจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการรักษาฟรี แต่การเข้าไปพบท่านต้องได้รับการเห็นชอบจากอาจารย์ปรีดีฯ เอง หาไม่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าอนุญาตให้ใครไปพบ หรือไม่ยอมให้เข้าพบ

ระยะนั้นเรากำลังวุ่นวายเกี่ยวกับปัญหาการกลับเมืองไทย เพราะไม่อาจกลับทางฮ่องกงได้ กงสุลอังกฤษประจำมณฑลกวางตุ้งตอบมาว่า ได้ติดต่อรัฐบาลไทยแล้ว รมต.กระทรวงการต่างประเทศ (กรมนราธิปฯ) ตอบมาว่า “ศิลปินไทยมาอย่างผิดกฎหมาย ฉะนั้นรัฐบาลไทยไม่อาจรับรู้ได้” ซึ่งเท่ากับ “มาเองได้ก็หาทางกลับเอาเอง”

ผมจึงย่องไปเยี่ยมอาจารย์ฯ บ่อยๆ เพื่อปรึกษาหารือ ถือโอกาสกินข้าวกลางวันกับท่านด้วย (อาจารย์ปรีดีฯ ตำน้ำพริกแอปเปิลอร่อยมาก)

“เสด็จในกรมฯ ตอบตามที่ตาแปลก” ท่านให้ความเห็นสำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจารย์ปรีดีฯ เรียก ๒ อย่าง “ตาแปลก” อีกอย่างหนึ่ง “กัปตัน” ซึ่งคงหมายถึงจอมพล ป. อยู่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล

“ตาแปลกคงถูกอเมริกันเล่นงานที่ปล่อยให้ศิลปินไทยหนีมาแสดงเมืองจีน...ตอนพวกคุณมากันตาแปลกรู้หรือเปล่า...”

ผมตอบว่าไม่ทราบ แต่คิดว่า “คนสนิท” คงรายงานเมื่อเราออกเดินทางมาแล้ว “งั้นก็ต้องรอสักระยะ” ท่านว่า ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ระยะนี้ปัญหาการเมืองระหว่าง ๒ ค่ายเริ่มจะคลี่คลายตัวลงมา เมื่ออเมริกา “ผ่อนคลาย” ฝ่ายไทยก็คง “ผ่อนคลาย” ตาม ระยะนั้นพวกเราคงมีโอกาสกลับบ้านเมืองเสียที”

 

สุวัฒน์ได้เรียนรู้และซักถามข้อน่าสงสัยต่างๆ จาก “อาจารย์ปรีดี” ของเขา ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่ต้องพาดพิงถึงบุคคลอื่นๆ แล้วนายปรีดีมักจะตอบอย่างระมัดระวังเสมอ เฉกเช่นตอนหนึ่ง 

 

“ผมตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดรัฐบาลทุกชุด (สมัยนั้น) ต้องอาศัยกรมนราธิปฯ (พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร) เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่เรื่อย อาจารย์ ปรีดีฯ ตอบว่า

“พระองค์วรรณฯ เป็นคนรอบรู้ และเป็นคนที่ผู้มีอำนาจพอใจเพราะท่านไม่เคยมีคำว่า “โน” มีแต่ “เยส” ตลอด....ไม่มีอะไรที่ท่านจะทำไม่ได้ กัปตันเขาถามอะไร ท่านบอก “ได้” เสมอ และก็ “ได้” จริงๆ เสียด้วย...."”

 

จากการคลุกคลีกัน สุวัฒน์ทราบว่านายปรีดีเคยมีโรคประจำตัวคือเส้นเลือดในหัวใจตีบ แพทย์ที่เมืองจีนรักษาไม่หาย จึงต้องไปรักษาที่รัสเซียพักหนึ่ง แต่ก็ไม่หายอีก ต่อมานายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล แนะนำให้ลองรักษาด้วยสมุนไพรตามตำรับยาแผนโบราณ คือใช้โสมต้มน้ำตาลทรายแดง ดื่มแทนน้ำวันละชั่งเท่านั้น ปรากฏว่าได้ผลชะงัด นายปรีดีหายเป็นปกติในเวลาเพียงสองปี

นายปรีดียังชอบรับฟังวิทยุต่างประเทศทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นประจำ คืนหนึ่ง ได้โทรศัพท์เรียกสุวัฒน์ไปพบด่วนที่บ้านพัก พอเห็นหน้าลูกศิษย์ อาจารย์ก็ยิ้มแล้วกล่าวว่า

 

“เมื่อกี้วิทยุอเมริกาประกาศว่ารัฐบาลอนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ๑๕ คน เดินทางมาจีนได้แล้ว คุณมีหวังกลับเมืองไทย.... เพราะเมื่ออเมริกา “หย่อน” ท่าทีลงอย่างนี้ ตาแปลกคงรีบฉวยโอกาสช่วยศิลปินไทย เพราะหมอนี่ดีอยู่หน่อย เป็นคนรักชาติรักพวกพ้อง”

 

หากในความรู้สึกขณะนั้นของสุวัฒน์กลับเป็นไปในทำนอง

 

“ผมฟังแล้ว ไม่สู้จะเห็นด้วยกับท่านนัก รักชาติไม่แน่ แต่รักพวกพ้อง จอมพล ป. มีแน่ ยกเว้นพวกพ้องจะทำอะไรให้เกิด “ขัดประโยชน์” ของท่านเท่านั้น พวกพ้องอย่างอาจารย์ปรีดีฯ ซึ่งกอดคอเสี่ยงตะแลงแกงเปลี่ยนการปกครองมาด้วยกัน จอมพล ป. ยังทำลายได้ลงคอ

คำพูดของอาจารย์ปรีดีฯ น่าจะเป็นจริงเฉพาะข้อที่ “อเมริกาหย่อนท่าที” จอมพล ป. ต้องฉวยโอกาสเท่านั้นเอง สามวันต่อมา ผมได้รับแจ้งจากฝ่ายต้อนรับ (จีน) ว่า “คนสนิท” ของจอมพล ป. โทรเลขมาว่า “อนุญาตให้ศิลปินไทยกลับเมืองไทยได้ ให้มาเรือบริษัทโหงวฮก”...” 

 

เมื่อสุวัฒน์รีบแจ้งให้นายปรีดีทราบ รัฐบุรุษอาวุโสสั่นหน้า และตอบว่า “อย่าเพิ่งรีบกลับ ตอบไปทางโน้นก่อนว่า ถ้าจะให้กลับต้องไม่มีการจับกุม ถ้าจับ ก็จะไม่กลับ ขออยู่เมืองจีนทั้งหมด

สุวัฒน์ทำตามคำแนะนำของผู้เป็นอาจารย์ รออยู่เกือบสองสัปดาห์เต็ม จึงได้รับคำตอบจากทางกรุงเทพฯ ว่า “จะไม่มีการจับกุม ท่านนายกฯ บอกว่า คนไทยมีหน้าที่กลับประเทศไทย”

พอสุวัฒน์เรียนข้อความนี้ต่อนายปรีดี ก็ได้รับฟังท่านอาจารย์แสดงความเห็น

 

“ถ้าพวกคุณไม่ยอมกลับ กัปตันจะเสียหน้ากับ “ไอ้กัน” คนเดียว จะถูกมันระแวงว่าสนับสนุนศิลปินไทยคณะนี้ให้มาแสดงที่จีนแดง ถ้าไม่สนับสนุนจะหลบมากันได้ยังไงตั้งสี่สิบห้าสิบคน ฉะนั้นการที่พวกคุณกลับไปแล้วถูกจับ ทางจีนเขาก็อาจไม่ไว้ใจตาแปลกอีกก็ได้ ผมคิดดูแล้ว จึงให้คุณต่อรองไป คุณกลับไปเถอะคงไม่ถูกขังหรอก.....”

 

ส่วนเรื่องที่ทางฝ่ายจีนยินดีออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการว่าจ้างเรือโหงวฮกในการรับคณะศิลปินไทยกลับบ้านเกิดเมืองนอนให้นั้น รัฐบุรุษอาวุโสตอบยิ้มๆ

 

“จีนคงไม่ได้เสนออย่างนั้นหรอก คงเป็นเงื่อนไขของตาแปลกบอกมา เมื่อเชิญพวกคุณมาแสดง ฝ่ายเชิญก็ต้องรับภาระในเรื่องค่าเดินทาง ทั้งไปและกลับ นี่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของทุกชาติอยู่แล้ว แต่ถึงตาแปลกไม่บอกมา ทางจีนเขาก็พร้อมที่จะ “ควักกระเป๋า” อยู่ตลอดเวลา เพราะฐานะของเขาเวลานี้เหมือนลูกเมียน้อย ทำดีก็เสมอตัว ถ้าพลาดพลั้งเป็นถูกโจมตีแหลกลาญ... นี่ลองพวกคุณกลับไม่ได้จริงๆ ฝ่ายโลกเสรีโจมตีจีนเขายับเยินแน่ หาว่ากักตัวบ้างละ จับตัวไว้ล้างสมองบ้างละ จีนเขาจึงจำเป็นให้คุณกลับเมืองไทยครบถ้วนตามจำนวนที่มาและเร็วที่สุด”

 

เพื่อป้องกันมิให้ศิลปินร่วมคณะที่พอกลับไปถึงเมืองไทยแล้วอาจถูกตำรวจข่มขู่จนมาให้การเท็จใส่ร้ายหัวหน้าคณะคือ สุวัฒน์ ได้ นายปรีดีจึงแนะนำให้ร่างคำให้การร่วมกันขึ้นฉบับหนึ่ง แล้วให้ศิลปินทั้งคณะที่มาด้วยลงชื่อกันทุกคน รัฐบุรุษอาวุโสเน้นย้ำ “อย่าลืมเขียนไว้ในคำให้การตอนท้ายด้วยว่า ข้อความทั้งหมดเป็นความจริง และคุณไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้เขาลงชื่อ ทุกคนลงชื่อด้วยความสมัครใจ”

นายปรีดียังบอกสุวัฒน์อีก ทางจีนเขาสืบทราบว่าในคณะศิลปินไทยมีตำรวจสันติบาลมาด้วย ถ้าพวกตำรวจสันติบาลยอมลงชื่อในคำให้การร่วมกันก็ย่อมจะส่งผลดีต่อหัวหน้าคณะ ดังสุวัฒน์เปิดเผยรายละเอียดว่า

 

“ตำรวจสันติบาลที่มาด้วยเป็นพวกกระบี่กระบอง นำคณะของเขาโดย ส.อ. จำนง บำเพ็ญทรัพย์ แต่ก็อยู่ในความควบคุมรับผิดชอบของ “ครูดาบ” (มงคล จันทบุปผา) ซึ่งเป็นผู้กำกับด้านการต่อสู้บนเวทีละคร เคยร่วมงานมากับผมช้านาน

ผมร่างคำให้การ “ร่วมกัน” ขึ้น แล้วนำไปให้อาจารย์ตรวจในวันต่อมา ปรากฏว่าท่านให้แก้ไขเฉพาะข้อ ๑ ในจำนวน ๔ ข้อ ที่ผมอ้างเหตุผลในการมาแสดงที่จีนแดง คือ (เท่าที่จำได้คร่าวๆ)

๑. ศิลปินที่นำมาแสดงเป็นศิลปินอาชีพ มาเพื่อรับสินจ้าง ซึ่งจีนตกลงจะจ่ายให้ในราคาสูงกว่าธรรมดา

๒. เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เท่ากับเป็นการรับใช้ชาติอีกด้วย

๓. เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างจีนกับไทย ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมาช้านาน เสมือนพี่น้อง ความแตกต่างทางลัทธิการเมืองไม่น่าจะเป็นอุปสรรคจนชนในชาติทั้งสองจะคบหาพึ่งพาอาศัยกันไม่ได้

๔. เพื่อแผ่เมตตาจิตต์ในฐานะพุทธศาสนิกชน เพราะตลอดเวลาฝ่ายประเทศคอมมิวนิสต์ถูกโจมตีว่าโหดร้ายทารุณ เป็นยักษ์เป็นมารบ้าง และคอยแต่รุกรานประเทศอื่นบ้าง บางทีวัฒนธรรมไทยที่นำมาแสดงให้ดูอาจทำให้จิตใจพวก “คอมมิวนิสต์” อ่อนโยนลงได้บ้าง

  อาจารย์ปรีดีฯ ให้เหตุผลในการขอให้ตัดข้อ ๑ ว่า

“งานของคณะศิลปินไทยครั้งนี้ จะปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ของทั้งสองชาติ ฉะนั้น อย่าอ้างถึงสินจ้างรางวัลใดๆ มันจะทำให้ฝ่ายไทยเราต้องเสื่อมศักดิ์ศรี ขอให้เรามาด้วยเหตุผลประการอื่นจะเหมาะกว่า แสดงโดยรับจ้างเขา...”

ข้อความอื่นๆ ผมเขียนขึ้นตามคำแนะนำของอาจารย์ปรีดีฯ ทั้งหมด ลักษณะเหมือนบันทึกประจำวันที่อยู่ในเมืองจีน ทั้งนี้เพื่อยืนยันแก่ฝ่ายเจ้าหน้าที่สันติบาลไทยว่า ผมไม่ได้นำคณะฯ ไปร่วมเข้าประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ หรือไปรับการอบรม “ล้างสมอง” รวมทั้งตัวผมซึ่งเป็นหัวหน้าคณะ ก็ไม่ได้ “แอบ” เล็ดลอดสายตาเพื่อนศิลปินไปกระทำสิ่งเหล่านั้น นอกจากมาแสดงละครอย่างเดียว

ผมนำคำให้การ “ร่วม” ไปให้ศิลปินในคณะลงชื่อ ทุกคนเต็มใจลงชื่อ แม้แต่กลุ่มกระบี่กระบองที่เป็นตำรวจสันติบาล มีอยู่คนเดียวไม่ยอมลงชื่อ เป็นศิลปินฝ่ายดนตรี แต่เป็นผู้ใกล้ชิดชอบพอกับ พ.ต.อ. พุฒ บูรณะสมภพ รองผู้การสันติบาลขณะนั้น

เมื่อผมไปเรียนให้อาจารย์ฯ ทราบ ท่านบอกว่า ไม่เป็นไร......

“สี่สิบเอ็ดต่อหนึ่ง คุณเป็นต่อ” (คณะศิลปินมี ๔๒ คน)”

 

สุวัฒน์ยังเรียนรู้จากนายปรีดี เรื่องการทำนา เพราะตอนนั้น รัฐบุรุษอาวุโสกำลังศึกษาวิธีทำนาของชาวจีนในมณฑลกวางตุ้ง และมักจะชอบออกไปเดินย่ำทุ่งนาในเมืองกวางเจาบ่อยๆ นายปรีดีปรารภว่าอยากให้เกษตรกรชาวไทยได้มาศึกษาดูงาน เพราะลักษณะดินฟ้าอากาศและสภาพพื้นดินของเมืองกวางเจาเหมือนเมืองไทยมาก แต่ฝ่ายจีนสามารถทำนาได้ปีละสามครั้ง ขณะที่เมืองไทยทำนาได้ปีละครั้งเดียว

แล้วก็มาถึงวันที่คณะศิลปินไทยจะต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งก่อนจะอำลาเมืองกวางเจา สุวัฒน์ก็ได้ไปเข้าพบนายปรีดี 

 

“ผมนำศิลปินระดับหัวหน้าทุกฝ่าย เข้าไปอำลาอาจารย์ปรีดีฯ เมื่อเรารู้กำหนดวันลงเรือกลับเมืองไทยแน่นอนแล้ว ท่านอวยพรและให้ศีลให้พรตามธรรมเนียม

“เมื่อไหร่อาจารย์จะกลับเมืองไทยคะ”

ศิลปินหญิงคนหนึ่งถามขึ้น อาจารย์ปรีดีฯ ไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มด้วยใบหน้าแดงเข้ม”

 

สุวัฒน์ วรดิลก และคณะเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์
สุวัฒน์ วรดิลก และคณะเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์

 

ภายหลังจากที่สุวัฒน์นำคณะศิลปินไทยกลับมาถึงบ้านเกิดเมืองนอนโดยสวัสดิภาพแล้ว เขาจึงเพิ่งทราบถึงมูลเหตุที่เขาได้รับเชิญให้ไปเยือนถิ่น “จีนแดง” 

 

“การที่รัฐบาลจีนติดต่อเชิญผมให้นำคณะศิลปินไทยไปเปิดการแสดงบนผืนแผ่นดินใหญ่นั้น เป็นความคิดของอาจารย์ปรีดีฯ ทั้งหมด ท่านวานพ่อค้าคนหนึ่ง ซึ่งสนิทคุ้นเคยเป็นที่ไว้วางใจกับท่านมาติดต่อผมโดยตรง เมื่อฝ่ายเราพร้อมที่จะไป ท่านก็ติดต่อให้นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล ซึ่งชอบพอกับท่านเป็นผู้เชิญในนามกรมวิเทศสัมพันธ์จีน พวกเราจึงได้รับความสะดวกสบายโดยตลอด เพราะเป็น “แขกของนายกโจวเอินไหล””

 

แม้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะไม่ทราบถึงการที่คณะศิลปินไทยเดินทางไปจัดแสดงในเมืองจีน แต่เมื่อมาทราบภายหลัง นายกรัฐมนตรีผู้นี้ก็พอใจ เพราะตอนนั้นจอมพล ป. เล็งเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเอาเปรียบไทยทุกวิถีทาง จนเมืองไทยแทบจะกลายเป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้น รัฐบาลจอมพล ป. จึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีและดำเนินนโยบายต่างประเทศเสียใหม่ มีความพยายามที่จะติดต่อสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น ส่งกรรมกรไปร่วมงานวันเมย์เดย์ และส่งคณะบาสเกตบอลไปแข่งขัน หรือตอนที่คณะศิลปินไทยกลับมาถึง แม้จะมีเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวไป แต่เป็นเพียงการแสดงออกเชิงพิธีการ มาจับกุมในตอนเช้า พอตอนค่ำก็ให้ประกันตัว ไม่มีใครถูกคุมขัง

การเปลี่ยนท่าทีของ จอมพล ป. สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มก้อนของพวกศักดินาและนายทุน กระทั่งที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จน จอมพล ป. ต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ สุวัฒน์เองทราบว่า จอมพล ป. อยากจะนัดหมายเขาให้ไปพบปะพูดคุยเรื่องเมืองจีนกันที่บางแสน แต่ยังมิทันจะได้ไป ท่านจอมพลก็สูญสิ้นอำนาจเสียก่อน

แม้การไปเยือน “จีนแดง” ของ สุวัฒน์จะไม่ได้ทำให้ต้องถูกจับกุมคุมขัง แต่พอผ่านไปไม่นาน เมื่อเขาตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็ถูกฝ่ายตรงข้ามใส่ร้าย จนส่งผลให้ สุวัฒน์ และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ภรรยาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2501 ถูกตั้งข้อหาร้ายแรงคือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ถูกคุมขังในเรือนจำ สุวัฒน์ยังคงเขียนหนังสืออย่างต่อเนื่อง และต้องแอบนำต้นฉบับออกมาเผยแพร่ภายนอกคุกตะราง ครั้นเขาได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2505 (เพ็ญศรีได้รับการปล่อยตัวออกมาก่อน) สุวัฒน์ไปอุปสมบทที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อลาสิกขาแล้วจึงกลับมายึดอาชีพนักคิดนักเขียนอีกหน เขาเริ่มใช้นามปากกา “รพีพร” เขียนนวนิยายเรื่อง ภูติพิศวาส เมื่อปี พ.ศ. 2505 และเขียนเรื่อง ลูกทาส เมื่อปี พ.ศ. 2506 สร้างชื่อเสียงระบือลือลั่นจนกลายเป็นนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย

ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สุวัฒน์สนับสนุนความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เขายังถ่ายทอดแนวคิดของตนผ่านนวนิยายการเมืองอีกหลายเรื่อง เช่น พิราบแดง ซึ่งเคยเขียนค้างเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 แล้วนำมาเขียนต่อจนจบเรื่อง

สุวัฒน์ยังมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และกองทุนต่างๆเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมวิชาชีพการประพันธ์

กล่าวได้ว่า สุวัฒน์ วรดิลก คือบุคคลผู้อาศัยคมปากกาและตัวอักษรเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดแบบประชาธิปไตย รวมถึงเพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งนับเป็นแนวทางอันสอดคล้องกับแนวคิดของ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้เป็นอาจารย์ ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลนี้ จึงควรที่จะหวนระลึกถึงยอดนักประพันธ์ผู้ยึดมั่นต่ออุดมการณ์เยี่ยงเขา

 

เอกสารอ้างอิง

  • ถนนหนังสือ. ปีที่ 2 ฉบับที่ 12 (มิถุนายน 2528)
  • ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน. แปลจาก Ma vie mouvementee’ et mes 21 ans d’exil en chine populaire โดย พรทิพย์ โตใหญ่ และจำนง ภควรวุฒิ. กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529.
  • สุวัฒน์ วรดิลก. ชีวิตในความทรงจำ. กรุงเทพฯ: กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต, 2517
  • สุวัฒน์ วรดิลก. ลูกทาส. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิง นายสุวัฒน์ วรดิลก นางเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ 19 กันยายน 2550. ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2550.