ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

หวอเหงียนย้าป - แม่ทัพผู้พิชิต

4
ธันวาคม
2565

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 ผมได้อ่านสารคดีเกี่ยวกับชีวิตการต่อสู้ของนายพลเอกหวอเหงียนย้าป แม่ทัพผู้พิชิตฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาในหนังสือพิมพ์ The Sunday Nation ฉบับประจำวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1995 ผู้เขียนชื่อ ไฆมี สปิตส์ คอฟสกี้ ซึ่งได้สัมภาษณ์ นายพลเอกหวอเหงียนย้าปเป็นพิเศษด้วย

ผมอ่านข้อเขียนดังกล่าว แล้วก็หวนนึกถึงนามหวอเหงียนย้าปผู้พิชิตสงครามเดียนเบียนฟู ซึ่งเป็นข่าวใหญ่สะเทือนโลกอยู่ในสมัยนั้น โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ขณะนั้น ผมเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ไทยซึ่งมีคุณบรรจบ ชุวานนท์ เป็นบรรณาธิการ

ผมยังจำได้ดีว่า ทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ขอให้ประเทศทั้งหลายในโลกเสรีลดธงชาติลงครึ่งเสาทั่วกัน รัฐบาลไทยของเราซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็พลอยหน้าหนาลดธงลงครึ่งเสาไปกับคำขอหรือคำสั่งก็ไม่ทราบของฝรั่งเศสด้วย ทั้งๆ ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม คนเดียวกันนี้เองที่เคยปลุกระดมความรักชาติของคนไทยให้เดินขบวนประณามฝรั่งเศสที่เคยยึดเอาดินแดนไปจากไทย

การที่ประเทศทั้งหลายในโลกเสรี (ระหว่างสงครามเย็น โลกแบ่งออกเป็นสองค่าย คือ โลกเสรีกับค่ายคอมมิวนิสต์ หรือค่ายทุนนิยมกับสังคมนิยม) การลดธงของประเทศในโลกเสรี สันนิษฐานว่าฝรั่งเศสต้องการแสดงให้เห็นว่า ตนต้องพ่ายแพ้แก่คอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ตามความเป็นจริงของประวัติศาสตร์ ความพ่ายแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟูของฝรั่งเศส เป็นสัญญาณที่แสดงถึงความเสื่อมสลายของจักรวรรดิเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสไม่มีวันจะกอบกู้ให้กับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้

ระหว่างนั้น คิงสลีย์ มาร์ติน บรรณาธิการนิตยสาร New Statesman and the Nation อันทรงอิทธิพลของอังกฤษก็ได้เปิดเผยความจริงที่โลกตื่นตระหนกในข้อเขียนของท่านในนิตยสารดังกล่าวซึ่งปรากฏว่าไอเซนฮาวร์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา อภิมหาอำนาจผู้นำของโลกเสรีได้ดำริที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูลงในอินโดจีนเพื่อกวาดล้างคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก

นับว่ายังเป็นเคราะห์ดีของมวลชนพลโลกที่ไอเซนฮาวร์ได้ถามความเห็นของวินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีบริติชก่อน พอเชอร์ชิลรู้เรื่องเข้าก็รีบยับยั้งไอเซนฮาวร์ โลกจึงปลอดพ้นจากภัยของระเบิดปรมาณูไปได้

เรื่องนี้ คิงสลีย์ มาร์ติน เปิดเผยว่า เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียผู้ยึดมั่นในสันติภาพ และก็คัดค้านสงครามรุกรานล่าเมืองขึ้นเป็นผู้เปิดเผยให้ทราบ ในฐานะเพื่อนสนิทผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันในหลายๆ ประการ นับตั้งแต่คัดค้านลัทธิล่าเมืองขึ้นไปจนถึงสงครามปรมาณู

ต่อมา ผมยังจำได้ว่า นิตยสาร Newsweek ของอเมริกันได้ไปสัมภาษณ์เจียงไคเช็ค ผู้นำรัฐบาลก๊กมินตั๋งซึ่งพ่ายแพ้สงครามกลางเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์ ต้องเนรเทศตนเองไปอยู่ไต้หวันว่า มีความเห็นอย่างไรในกรณีที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ จะใช้ระเบิดปรมาณูในสงครามอินโดจีน

ทั้งๆ ที่เจียงไคเช็ก เกลียดคอมมิวนิสต์เข้ากระดูกดำ ก็ยังตอบว่า “ถ้าอเมริกันทิ้งระเบิดปรมาณูลงในอินโดจีน ชาวเอเชียจะเกลียดชังอเมริกาไปอีกหลายชั่วคน”

เป็นอันว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริการะงับความคิดที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูภายหลังฝรั่งเศสปราชัยในสงครามเดียนเบียนฟู แต่ก็ยังไม่ยอมเห็นด้วยกับฝรั่งเศสในการถอนตัวจากอินโดจีน

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เตรียมกำลังทหารสองแสนคนที่จะเข้าไปพิชิตเวียดมินห์ภายใต้การนำของโฮจิมินห์ นายพลฝรั่งเศสคนหนึ่งก็ได้กล่าวว่า

“ไม่เชื่อว่า ทหารอเมริกันสองแสนคนจะสามารถรบชนะในสมรภูมิที่ทหารฝรั่งเศสแสนคนพ่ายแพ้มาแล้ว”

ไฆมี สปิตส์ คอฟสกี้ ได้กล่าวยกย่อง นายพลหวอเหงียนย้าป ดังนี้

“นายพลหวอเหงียนย้าป แห่งเวียดนาม ได้สร้างตำแหน่งแหล่งที่ของท่านไว้ในประวัติศาสตร์ ในฐานะที่เป็นอัจฉริยะที่ใหญ่ยิ่งที่สุดคนหนึ่งในทางทหารตลอดมาทุกยุคสมัย ในปี พ.ศ. 2497 ท่านได้โจมตีลัทธิล่าเมืองขึ้นจนถึงกาลแตกดับ สามารถพิชิตฝรั่งเศสในสงครามเดียนเบียนฟู ที่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่วโลก แล้วในปี พ.ศ. 2518 ท่านก็ได้พิชิตสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางทหารที่ใหญ่ยิ่งที่สุดในศตวรรษ

นักยุทธศาสตร์ผู้ไม่เคยพ่ายแพ้ในสงครามท่านนี้เคยมีชัยญี่ปุนและจีนมาแล้วนายพลย้าปเป็นผู้บังคับบัญชาทหารของท่านมาเป็นเวลาสามสิบปีในปี ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ท่านได้เริ่มต้นก่อตั้งกำลังทหารของท่านขึ้นด้วยจำนวนเพียง 34 คนเท่านั้น ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1970 กำลังทหารภายใต้การบังคับบัญชาของท่านมีจำนวนถึงร่วมล้านคน”

พลจัตวา ปีเตอร์ แม็กโดแนลด์ ผู้เขียนชีวประวัติของนายพลหวอเหงียนย้าปโดยละเอียด ด้วยการเดินทางไปศึกษาประวัติและผลงานทางทหารของท่านในเวียดนาม ก็ได้ยกย่องท่านว่า “ท่านเป็นผู้นำสงครามจรยุทธ์ที่สามารถปราดเปรื่องที่สุดในประวัติศาสตร์”

ปัจจุบันนี้ นายพลท่านนี้ซึ่งมีอายุเก้าสิบปีอยู่ในบ้านในฮานอย เมืองหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดยที่ผมเคยประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่เมื่อสี่สิบห้าปีก่อน และยังติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศมาโดยตลอด จึงสนใจชีวประวัติและการต่อสู้ของนายพลเอกหวอเหงียนย้าปมาโดยละเอียด ในโอกาสที่น้องเขย — ศุขปรีดา พนมยงค์ ได้เดินทางไปเยือนเวียดนามเมื่อสองปีก่อน จึงได้ขอร้องว่า ถ้ามีโอกาสได้พบท่านนายพลหวอเหงียนย้าป ก็ขอให้พูดขอร้องกับท่านว่า ผมจะขอรบกวนเวลาของท่านสักหนึ่งหรือสองชั่วโมง เพื่อจะได้เขียนชีวประวัติและทรรศนะของท่าน ภายหลังก็ได้ทราบจากศุขปรีดาว่า ท่านนายพลหวอเหงียนย้าปยินดีที่จะให้พบ ผมก็รู้สึกยินดีและถือเป็นเกียรติอย่างสูง

ผมได้ทราบมาก่อนแล้วว่า โฮจิมินห์ผู้นำเวียดนามในระหว่างการต่อสู้กู้เอกราชมีความสัมพันธ์อันดีกับท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประมุขขบวนการเสรีไทย ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา และหลังสงครามโลกยุติลงใหม่ๆ โดยท่านปรีดีได้ช่วยเหลือและสนับสนุนการต่อสู้กู้เอกราชของเวียดนามภายใต้การนำของโฮจิมินห์ และโฮจิมินห์ก็เคยลี้ภัย (จากฝรั่งเศส) มาอยู่ในเมืองไทย

ท่านปรีดีเคยช่วยเหลือการต่อสู้ของเวียดนามแม้จนกระทั่งอาวุธ โฮจิมินห์ก็ได้ตั้งชื่อกองพันทหารของท่านกองพันหนึ่งว่า “กองพันสยาม” เป็นที่ระลึก

เมื่อโฮจิมินห์ดำรงตำแหน่งผู้นำของเวียดนามเหนือในช่วงที่เวียดนามถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศ เหนือกับใต้ ท่านปรีดีก็เคยเดินทางไปเยี่ยมเยียนโฮจิมินห์

 

ภาพใน้องรับรองในบ้านที่พำนักของนายพลหวอเหงียนย้าป ท่านนายพลพร้อมด้วยครอบครัวได้แก่ ดั่งบั๊กฮา ภรรยา ละหวอเดียนเบียน บุตรชายท่านนายพล ถ่ายภาพร่วมกับคณะมิตรภาพชาวไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตรงกลางเป็นของขวัญ ภาพปรีดี พนมยงค์ ขณะนั่งเสวนากับโฮจิมินห์ บนแผ่นเซรามิก
ภาพในห้องรับรองในบ้านที่พำนักของนายพลหวอเหงียนย้าป ท่านนายพลพร้อมด้วยครอบครัวได้แก่ ดั่งบั๊กฮา ภรรยา และหวอเดียนเบียน บุตรชายท่านนายพล ถ่ายภาพร่วมกับคณะมิตรภาพชาวไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2544 ตรงกลางเป็นของขวัญ ภาพปรีดี พนมยงค์ ขณะนั่งเสวนากับโฮจิมินห์ บนแผ่นเซรามิก

 

ภายหลังเมื่อท่านปรีดีพำนักอยู่ในกรุงปารีส ทูตเวียดนามประจำฝรั่งเศสก็เคยไปเยี่ยมเยี่ยนท่านเป็นประจำ และเคยมอบของที่ระลึกให้ท่านปรีดีชิ้นหนึ่ง ซึ่งทูตเวียดนามชี้แจงว่า เป็นเศษโลหะจากเครื่องบินบี 52 ของอเมริกันลำแรกที่บินมาทิ้งระเบิดเวียดนามแล้วถูกยิงตก

จากความสัมพันธ์อันดีระหว่างท่านปรีดีกับโฮจิมินห์ ซึ่งเชื่อได้ว่าผู้นำของเวียดนามที่มีความสำคัญเป็นรองโฮจิมินห์ทราบกันดี ในฐานะบุตรชายของท่านปรีดี ศุขปรีดาจึงได้เดินทางไปเยือนเวียดนาม โดยนำของที่ระลึกไปมอบให้ทางการและผู้นำเวียดนาม ของที่ระลึกดังกล่าวเป็นภาชนะทำด้วยเซรามิก จารึกเป็นภาพท่านปรีดีกับโฮจิมินห์จากภาพที่เคยถ่ายคู่กัน โอกาสที่จะนำของที่ระลึกไปมอบให้นี้ก็คือ วันที่ 2 กันยายนที่ ผ่านไปนี้ ซึ่งเป็นวันฉลองวันประกาศเอกราชของเวียดนามเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488)

คณะของเราโดยการนำของ ศุขปรีดา พนมยงค์ ไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กรหรือสถาบันของทางราชการใดๆ หากแต่ประกอบด้วยผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ กัน ส่วนมากเป็นคนรุ่น 14 ตุลาคมหรือใกล้ๆ กัน นอกจากศุขปรีดากับผมแล้ว ก็มีนักวิชาการอย่าง ดร.ธร สุนทรายุทธ อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา, ปรีดา ข้าวบ่อ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร, กมล กมลตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ และวิมล กมลตระกูล สองสามีภรรยาซึ่งเคยไปศึกษาและประกอบธุรกิจอยู่ในสหรัฐอเมริกาถึงยี่สิบปี แล้วยังมีนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงอย่าง สุจินต์ พิทักษ์ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยและรองประธานกลุ่มเซรามิก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, กำธร เลาหะวรรธนะ แห่งโรงงานอุตสาหกรรมทำรองเท้า, กิรทัต หัตถีกุล วศบ. แอ๊กติวิสต์สมัย 14 ตุลา และวิญญู จริยาวุฒิกุล นักธุรกิจและกรรมการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว

สมาชิกในคณะของเราที่ไปเยือนเวียดนามครั้งนี้ มีความปรารถนาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันร่วมกับผมคือ ขอให้ได้พบปะสนทนากับท่านนายพลหวอเหงียนย้าป ก็นับว่าเป็นเกียรติอันสูงยิ่งแล้ว

เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้มีเวลาจำกัดเพียงสี่ห้าวันเท่านั้น กำหนดการจึงอัดไว้เต็ม แทบจะไม่มีที่ว่างเลย แต่ก็ได้ผลสมตามความมุ่งหมายทุกประการ นักธุรกิจก็ได้เจรจาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านธุรกิจและการลงทุนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนาม ได้ไปเยือนบ้านที่พักของเกาหง หลั่นท์ นักปฏิวัติอาวุโสรุ่นโฮจิมินห์ ซึ่งเคยมาอยู่เมืองไทยและทำงานร่วมกับโฮจิมินห์ ปัจจุบันท่านมีอายุถึง 97 ปีแล้ว

หัวหน้าคณะซึ่งได้แก่ ศุขปรีดา พนมยงค์ ได้มีโอกาสพบบุคคลสำคัญๆ ของพรรคและรัฐบาลที่รู้จักท่านปรีดีเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อสามารถพูดภาษาเวียดนามได้คล่องแคล่วไม่ด้อยกว่าภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีนกลางและกวางตุ้ง ทั้งๆ ที่ทางเวียดนามได้เตรียมล่ามผู้สามารถคือ เมอซิเออร์ลวน ที่พูดและแปลภาษาเวียดนามเป็นไทย และภาษาไทยเป็นเวียดนามได้คล่อง โดยเฉพาะกลอนของผมซึ่งท่านล่ามออกตัวว่า ขอแปลเอาใจความ แต่ผมก็พอจะสังเกตได้จากคำแปลเป็นภาษาเวียดนามของท่านที่เจ้าภาพชาวเวียดนามแสดงความรู้สึกออกมาบนใบหน้า สอดคล้องกับ

ใจความในกลอนภาษาไทย

ในส่วนของผมในฐานะกวีได้เขียนกวีนิพนธ์สองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นกลอนสดสดุดีโฮจิมินห์ในสมุดเยี่ยมและคารวะ ณ บ้านที่พำนักของท่านกับกวีนิพนธ์สดุดีวันประกาศเอกราชของเวียดนามเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 ซึ่งโฮจิมินห์เป็นผู้ประกาศด้วยตนเองอีกชิ้นหนึ่ง และก็ได้มอบให้สมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทยเป็นที่ระลึก

 

แด่-ประชาชนเวียดนาม

 

2 กันยาศก                                      1945 มงคลสมัย
ท่ามกลางคลื่นแห่งมหาประชาชัย       ห้าแสนคนเกริกไกรก้องดินฟ้า
มหาบุรุษเอกอุตม์ท่านประกาศ           เอกราชเวียดนามสนั่นหล้า
จัตุรัสบาดิ่นห์ถิ่นลือชา                        สิทธิ์เสรีศรีศรัทธาคู่ชีวิต
ประชาชาติเวียดนามหนึ่งเดียวกัน        อุดมการณ์มุ่งมั่นเจิดไพจิตร
ปลดแอกชาติเพื่อเป็นไทชัยพิชิต        พร้อมอุทิศชีวิตเป็นชาติพลี
หลากธงทิวแดงพลิ้วละลิ่วเด่น             งามดาวทองผ่องเพ็ญโรจน์รังษี
เสียงไชโยโห่ร้องก้องธาตรี                 วันปรีดีศุภโยคนำโชคชัย

ประวัติศาสตร์เวียดนามงามจำรัส        เกียรติประวัติโศกสุขทุกสมัย
ต้องต่อสู้ศึกสรรพ์ฝ่าฟันไป               ส่ำศัตรูมหาภัยใหญ่เกินตน
หมายพิชิตฤทธากล้าประจัญ            ไม่พรึ่งพรั่นบั่นบุกทุกแห่งหน
สองหัตถาอาวุธรุทรแรงรณ               เลือดน้ำตาหลั่งท้นราวสายธาร
ยืดหยัดอยู่คู่แผ่นดินถิ่นก่อเกิด          สองพันปีที่กำเนิดยังฮึกหาญ
รวมดวงใจเอกจิตกฤดาการ              ดังเหล็กกล้าทนทานผองเภทภัย
เหตุแปรผันมุ่งประจัญไม่เข็ดขาม      มวลเวียดนามมนัสมั่นมิหวั่นไหว
สู้อีกครั้งแล้วอีกครั้งโดยตั้งใจ           ชูธงชัยมั่นคงดำรงมา

ด้วยแรงกายแรงใจไม่สุดสิ้น             ฝากชีพไว้ในแผ่นดินกำเนิดข้า
ยุคต่อสู้ผ่านพบประสบมา                 ยุคสร้างสรรค์มรรคาแสนกว้างไกล
แต่ละยุคแต่ละยุคเข้าบุกบั่น             ประณิธานมุ่งมั่นมิหวั่นไหว
การต่อสู้มิสิ้นสุดรุดหน้าไป               ขึ้นยุคใหม่สู้ใหม่ไม่ผ่อนพัก
ยุคอุดมสมบูรณ์จำรูญจิต                  จักสมหวังรังสฤษฏ์สมศรีศักดิ์
ไม่นานเนิ่นเกินรอด้วยแรงรัก            สมานสมัครเวียดนามงามน้ำใจ
ศุภฤกษ์เบิกนภันตร์อันโอภาส          เวียดนามผองผ่องพิลาสอุษาสมัย
มหาอำนาจชาติทั้งสองต้องพ่ายไป   สันติภาพสดใสทั่วแผ่นดิน

 

ตามกำหนดการเดิมนั้น คณะของเราจะได้พบกับนายพลหวอเหงียนย้าป ในวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นวันแรกที่ไปถึงฮานอย แต่นายพลหวอเหงียนย้าป ขอเลื่อนเนื่องจากวันนั้นไม่ว่าง สันนิษฐานว่าท่านคงจะติดงานวันที่ 2 กันยายน ซึ่งเป็นวันฉลองประกาศเอกราช

หลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมคารวะและพบปะเจรจาด้านธุรกิจการลงทุนแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ต้อนรับก็พาคณะของเราไปพักผ่อนที่ฮาลอง เมืองพักตากอากาศชายทะเล เมื่อกลับมาฮานอยบ่ายวันที่ 3 กันยายน ก็ได้ทราบข่าวดีว่า ท่านนายพลหวอเหงียนย้าป จะให้เราไปพบที่บ้านที่พำนักของท่านเวลา 18 นาฬิกา พวกเราดีใจกันทุกคนเพราะโอกาสอย่างนี้หาไม่ได้อีกแล้ว โดยท่านให้เวลาคณะของเราหนึ่งชั่วโมงเต็ม

บ้านที่พำนักของท่านเป็นเรือนไม้สองชั้น พอจะเทียบกับบ้านชาวไทยในกรุงเทพฯ ที่เป็นชนชั้นกลาง มีสิ่งของที่ระลึกประดับในห้องรับแขกมาก และก็มีภาพของโฮจิมินห์ผู้นำผู้ยิ่งใหญ่

ตามประวัติ ท่านนายพลหวอเหงียนย้าป เกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะยากจนในหมู่บ้านอานซา, มณฑลกว๋างบิ่นห์ อันเป็นดินแดนที่แคบที่สุดของเวียดนาม เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1911

วันเกิดของท่านนี้ ผมเห็นวันที่ท่านเกิดที่เขียนไว้เป็นตัวเลขและอักษรตัวโตติดฝาผนังนั้นเอง วันเกิดนี้ไม่ตรงกับวันเกิดที่ผู้เขียนชีวประวัติของท่านหลายคนระบุว่า “28 สิงหาคม” จนผมอดข้องใจไม่ได้เมื่อถามล่ามจึงได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นว่า 25 สิงหาคม (ตรงกับวันเกิดของผมพอดี)

พลจัตวา ปีเตอร์ แม็กโดแนลด์ นายทหารอังกฤษผู้ได้รับคำเชิญจากรัฐบาลเวียดนามให้มาศึกษารวบรวมข้อมูลและถ่ายภาพเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสงครามกู้เอกราชเวียดนาม ซึ่งยืดเยื้อยาวนานและโหดร้ายที่สุดสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์การทหาร ได้กล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัตินายพลย้าปว่า “มีน้อยคนนักที่สามารถปลี่ยนวิถีทางของประวัติศาสตร์ แต่ทารกที่เกิดในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1911 ก็ได้มีนามอันเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกในฐานะแม่ทัพผู้พิชิต ซึ่งกองทัพที่ท่านบังคับบัญชาสามารถรบชนะมหาอำนาจถึงสองมหาอำนาจชาติตะวันตกผู้ยิ่งใหญ่ นามของแม่ทัพท่านนี้คือ หวอเหงียนย้าป

โดยบิดาของหวอเหงียนย้าป แม้ว่าเป็นชาวนาที่ยากจน แต่ก็มีความรู้ทางหนังสือ และก็มีความสำนึกในชาติเวียดนาม ท่านได้มีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสซึ่งมา “เป็นเจ้าเข้าครอง” เวียดนาม ทั้งในปี ค.ศ. 1885 และ 1888 ผลก็คือ ถูกจับเข้าคุก หลังจากนั้นเพียงสองสามสัปดาห์ก็ล้มป่วย ต้องเสียชีวิตไปในคุกนั้นเอง

หวอเหงียนย้าป มีพี่สาวสองคนและน้องชายสองคน เมื่ออายุได้เพียงสิบขวบ หลังจากเสียพ่อแล้วก็ต้องเสียพี่สาวไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งหลังจากถูกจับแล้ว แม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัว พี่สาวของหวอเหงียนย้าปก็ล้มป่วยเสียชีวิตไป

 

(จากขวา) นายพลหวอเหงียนย้าป, ศุขปรีดา พนมยงค์, และทวีป วรดิลก
(จากขวา) นายพลหวอเหงียนย้าป, ศุขปรีดา พนมยงค์, และทวีป วรดิลก

 

ด้วยเหตุนี้ หวอเหงียนย้าปจึงได้มีความรู้สึกในเรื่องชาตินิยมและชิงชังจนถึงเคียดแค้นนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสมาแต่เยาว์วัย พอเริ่มเรียนหนังสือไม่นาน เมื่ออายุเพียงสิบสามขวบก็มีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสกับเพื่อนนักเรียนระหว่างเรียนอยู่ที่โรงเรียนในเว้อย่างลับๆ ระหว่าง ค.ศ. 1924 - 1925 จนมีประวัติอยู่ในแฟ้มตำรวจลับ

งานเขียนที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปฏิวัติต่อต้านฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่อเด็กชายหวอเหงียนย้าป วัยสิบสามสิบสี่ปีนั้น เป็นของ เหวียนอ๋ายก๊วก (เหวียนผู้รักชาติ) ซึ่งภายหลังรู้จักกันในนามโฮจิมินห์ ย้าปจึงเริ่มต้นการต่อสู้โดยมีความคิดเป็นนักชาตินิยมก่อน แล้วเป็นมาร์กซิสต์ภายหลัง

หวอเหงียนย้าปศึกษาที่โรงเรียนในเว้ต่อและก็ถูกจับเป็นครั้งแรกระหว่างเป็นนักเรียนที่โรงเรียนในเว้นี้เอง ย้าปถูกพิพากษาจำคุกสองปีโทษฐานนำนักเรียนเดินขบวน แต่ติดคุกจริงเพียงสามเดือน เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่จะลงโทษตามฟ้องได้ หวอเหงียนย้าปไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในฮานอยซึ่งมีแห่งเดียวในอินโดจีน จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1937 โดยได้ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต และประกาศนียบัตรเศรษฐศาสตร์การเมือง

ในปีเดียวกันนี้ก็ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งเพิ่งจะได้ก่อตั้งขึ้นโดยผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส

ระหว่างศึกษาในมหาวิทยาลัยฮานอย หวอเหงียนย้าป รักกับ เหงียนธิกวางถาย ที่เคยรู้จักมาตั้งแต่ครั้งเรียนที่เว้ซึ่งเธอได้เป็นแอ๊กติวิสต์, มีบทบาทเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศส หนุ่มสาวทั้งสองแต่งงานกันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1938

แม้ว่าย้าปกับภรรยาจะมีอายุน้อย ผลงานก็เป็นที่ยกย่องกันว่า สามีภรรยาคู่นี้เป็นผู้นำชั้นยอดในสิบคนของพรรค

ในปี ค.ศ. 1938 หวอเหงียนย้าปมีบทบาทแข็งขันในการออกหนังสือพิมพ์ใต้ดิน โดยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ทินตึ๊ก (ข่าว), ยันยัน (ประชาชน) และ เหนอะเหลา (ภูเขาไฟใต้หิมะ)

จากความสนใจงานปฏิวัติอย่างใจจดใจจ่อ หวอเหงียนย้าปต้องชำระราคาของมันโดยสอบตกในวิชากฎหมายปกครอง พอดีมีความจำเป็นต้องเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากมีลูกกับเหงียนธิกวางถายภรรยาคนแรก หวอเหงียนย้าปจึงต้องมาเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนทังลองในฮานอย

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 หวอเหงียนย้าป ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปอีกซึ่งได้แก่น้องสะใภ้ที่เป็นนักปฏิวัติเต็มตัว หลังจากเดินทางกลับจากไปศึกษาลัทธิมาร์กซ์-เลนินในโซเวียตรัสเซีย เมื่อเดินทางกลับมาถึงไซง่อนก็ถูกจับและถูกประหารชีวิต

ยิ่งกว่านี้ย้าปต้องสูญเสียภรรยาคนแรกในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1943 เหงียนธิกวางถายถูกจับในมณฑลเหงะอาน ภาคกลางของเวียดนาม แล้วตายในเรือนจำกลางในฮานอย

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 หวอเหงียนย้าปซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ยี่สิบเก้าปีก็ได้เดินทางไปคุนหมิงทางใต้ของจีนกับนักปฏิวัติพรรคเดียวกันซึ่งมีอายุแก่กว่าหวอเหงียนย้าปสี่ปี นักปฏิวัติผู้นี้ชื่อฟ่ามวันด่ง ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นสานุศิษย์เอกอันดับหนึ่งของโฮจิมินห์ โดยมีหวอเหงียนย้าปเป็นสานุศิษย์เอกอันดับสอง

ภายหลัง สานุศิษย์ทั้งสองก็เท่ากับแขนขวาแขนซ้ายของโฮจิมินห์โดยโฮจิมินห์มอบหมายให้ฟ่ามวันด่ง รับผิดชอบงานการเมือง ส่วนหวอเหงียนย้าป รับผิดชอบด้านการทหาร

โฮจิมินห์มีความประทับใจในความรู้ด้านประวัติศาสตร์การสงครามของหวอเหงียนย้าป โดยที่ย้าปเคยเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ และก็มีความสนใจในประวัติศาสตร์สงคราม จึงได้ศึกษาด้วยใจรักและมีความอุตสาหะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์การสงครามระหว่างจีนกับเวียดนาม ซึ่งเคยสู้รบกันมาหลายต่อหลายศตวรรษ ถัดมาก็ได้แก่การทำสงครามของ นโปเลียน แม่ทัพผู้ใหญ่ยิ่งของฝรั่งเศส จนถึง ที.อี. ลอเรนซ์ (ลอเรนซ์แห่งอารเบีย) นักการทหารคนสำคัญของบริติช โดยเฉพาะงานเขียนทางทหาร The Seven Pillars of Wisdom

ในส่วนหวอเหงียนย้าปนั้นได้เล่าภายหลังว่า เมื่อพบครั้งแรกไม่ต้องมีใครแนะนำก็รู้ได้ทันทีว่าบุรุษผู้ซึ่งมีบุคลิกสำคัญอยู่ในตัวผู้นี้ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากเหวียนอ๋ายก๊วก หรือโฮจิมินห์ ผู้มีความสุภาพและถ่อมตน งำประกายไว้ได้มิดชิด และก็เป็นผู้มีปรีชาญาณอันสูงส่ง จะเห็นได้จากการที่กองทัพนาซีเยอรมันสามารถพิชิตฝรั่งศสได้ภายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 นี้ ด้วยความมองการณ์ไกลของท่านโฮจิมินห์คาดว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในอินโดจีนในฐานะเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ตามแผนเดิมที่จะส่งหวอเหงียนย้าปไปศึกษาการทหารในเอี๋ยนอัน เมืองหลวงและฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เปลี่ยนไป

ทั้งๆ ที่โฮจิมินห์มีความประทับใจในความรู้ที่แม่นยำและลึกซึ้งทางประวัติศาสตร์การสงครามของหวอเหงียนย้าป และคิดจะมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบทางการทหาร แต่ด้วยความสุขุมรอบคอบก็คิดว่าจะต้องทดสอบด้วยการมอบให้หวอเหงียนย้าปทำงานด้านการเมืองก่อน

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1941 พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนก็ได้มีการประชุมสมัยที่แปดขึ้นที่บั๊กบ๋อ ทางเหนือของเวียดนาม ในที่ประชุมโฮจิมินห์และคณะผู้นำของพรรคก็ไส้ลงมติให้จัดตั้งองค์การผู้รักชาติ อันประกอบด้วย ชาวนา, คนงาน, พ่อค้าและทหาร ซึ่งจะทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของเวียดนาม หรือ “เวียดนาม ค็อก แล็ป ดง มินห์” เรียกย่อๆ ว่า “เวียดมินห์” แปลตรงตัวว่า “สันนิบาตเอกราชเวียดนาม” นี่คือองค์การนำของประชาชนเวียดนามในการต่อสู้กับฝรั่งเศสจนได้เอกราชโดยสมบูรณ์

ในปี ค.ศ. 1941 หวอเหงียนย้าปก็ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านข่าวกรอง โดยสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานด้านข่าวกรองและการจัดตั้งฐานที่มั่นทางการทหาร เพื่อเตรียมการสำหรับทำสงครามจรยุทธ์กับฝรั่งเศส

จากความสามารถในการจัดตั้งและสติปัญญาอันสูงส่ง ในฐานะผู้นำหวอเหงียนย้าปก็ดำเนินงานก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว พอสิ้นปีที่สองก็ได้สร้างฐานที่มั่นทางการเมืองขึ้นที่บั๊กซอนและวูไน มีการออกหนังสือข่าวเพื่อประโยชน์ในการโฆษณา และรายงานข่าวสารให้ประชาชนได้รู้ถึงสถานการณ์ทั้งในเวียดนามและต่างประเทศ ถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 เวียดมินห์มีฐานที่มั่นสำหรับนักจรยุทธ์หกมณฑลในเวียดนาม

ในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1945 เมื่อฐานที่มั่นพร้อมแล้วที่จะทำสงครามยืดเยื้อกับฝรั่งเศส หวอเหงียนย้าปก็ได้ตัดสินใจตั้งเขตสงครามขึ้นในหกมณฑลที่มีฐานที่มั่นของเวียดมินห์ตั้งอยู่

กำลังรบของเวียดมินห์ที่ย้าปได้จัดตั้งขึ้นในแต่ละท้องที่ก็ได้รวมกันเป็นกองทัพภายใต้การบังคับบัญชาของหวอเหงียนย้าป

ย้าปก็ได้รับแต่งตั้งยศทหารเป็นนายพลตรี ผู้บัญชาการกองทัพปลดแอก กำลังทหารทั้งสิ้นมีห้าพันคนทั้งชายและหญิง มาตรฐานของนักรบเหล่านี้สูงมาก ทั้งความสำนึกทางการเมืองและประสิทธิภาพในการสู้รบ โดยที่ชาวเวียดนามมีคุณสมบัติสำคัญที่ความทรหดอดทน

 

ที่ตั้งของสำนักหวอเหงียนย้าปที่เมืองพาง สองข้างเจาะอุโมงค์สำหรับหลบภัย

 

ที่ตั้งของสำนักหวอเหงียนย้าปที่เมืองพาง สองข้างเจาะอุโมงค์สำหรับหลบภัย
ที่ตั้งของสำนักหวอเหงียนย้าปที่เมืองพาง สองข้างเจาะอุโมงค์สำหรับหลบภัย

 

คำปฏิญาณเมื่อเข้าเป็นทหารในกองทัพปลดแอก “มีความเคารพประชาชน, ช่วยเหลือประชาชน, ปกป้องประชาชน, จะต้องได้รับความเชื่อถือและความรักจากประชาชน, จะต้องมีความเข้าใจระหว่างกันโดยสมบูรณ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพ”

เคล็ดลับสำคัญของกองทัพปลดแอกที่หวอเหงียนย้าปสร้างขึ้นก็ได้แก่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างทหารกองทัพปลดแอกกับประชาชนเวียดนาม อย่างที่แม่ทัพฝรั่งเศสคนหนึ่งเคยพูดภายหลังที่ปราชัยในการสู้รบไปแล้วว่า “เราไม่ได้รบกับกองทัพเวียดนามเท่านั้น แต่เราต้องรบกับประชาชนเวียดนามทุกคนทั้งชาติ”

บัดนี้ แม่ทัพของกองทัพปลดแอกประชาชนเวียดนามกำลังเดินช้าๆ เข้ามาในห้องรับแขกภายในบ้านของท่าน พร้อม ดั่งบั๊กฮา ภรรยาคนที่สองที่ท่านแต่งงานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ภายหลังภรรยาคนแรกเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1943

หวอเหงียนย้าปสวมเครื่องแบบทหารยศพลเอกสี่ดาว ไม่ได้ติดอิสริยาภรณ์หรือเหรียญตราใดๆ เป็นการให้เกียรติอย่างสูงแก่อาคันตุกะผู้มาเยือนตามประเพณีทหาร มีดั่งบั๊กฮาภรรยาเดินเคียงข้าง

ที่น่าสนใจตามคำแนะนำของล่ามได้แก่ชายหนุ่มที่มีใบหน้าอ่อนกว่าวัย (45 ปี) ซึ่งมีนามว่า หวอเดียนเบียน บุตรชายคนหนึ่งในจำนวนลูกสี่คนของท่านซึ่งเป็นชายสองหญิงสอง

หวอเดียนเบียน เป็นนามที่มีกำเนิดจากเดียนเบียนฟูนั่นเอง เนื่องจากบุตรชายคนนี้เกิดขึ้นมาในยามที่บิดาเป็นแม่ทัพผู้พิชิตเดียนเบียนฟู จึงได้นามอันเป็นมงคลจากชัยชนะในการสู้รบของพ่อ

ภรรยาของนายพลย้าปมีขนมต้อนรับพวกเรา โดยชี้แจงว่า ขนมนี้ตามประเพณีเลี้ยงกันในพีธีหมั้นระหว่างหนุ่มสาว

ศุขปรีดาทักทายและสนทนาภาษาเวียดนามกับท่านด้วยความสนิทสนมท่านแม่ทัพขอให้แนะนำสมาชิกของเราทุกคนที่มาเยี่ยมเยียนท่าน หลังจากนั้น ท่านก็ได้เท้าความหลังเมื่อยี่สิบปีก่อนซึ่งท่านยังจำได้ดีที่ท่านปรีดีได้มาเยี่ยมท่าน โฮจิมินห์ ระหว่างผู้นำทั้งสองสนทนากัน แม่ทัพหวอเหงียนย้าปก็อยู่ด้วย และก็ยังจำศุขปรีดาได้ดี ท่านสวมกอดศุขปรีดาแสดงความสนิทสนม

หลังจากนั้นผมก็ถามถึงว่า ได้ทราบจากประวัติของท่านว่า ท่านศึกษาวิชากฎหมายจนได้ปริญญา แต่ท่านกลับมาเป็นทหารโดยไม่ได้ศึกษาวิชาทหารเลยใช่หรือไม่นายพลย้าปตอบเสียงหนักแน่นว่า ท่านไม่เคยศึกษาวิชาทหารจากสถานศึกษาใดๆ ที่มาเป็นทหารก็เพราะท่านโฮจิมินห์มอบหมายให้ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบทางทหาร ท่านก็เป็นทหารตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

คุณวิมล ภรรยาของกมล กมลตระกูล ก็ได้พูดกับนายพลย้าปว่า “ระหว่างศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาชาวไทยและชาติอื่นๆ หลายชาติ รวมทั้งอเมริกา ชุมนุมกันเดินขบวนคัดค้านรัฐบาลอเมริกาทำสงครามรุกรานเวียดนาม สำหรับพวกเราในสมัยนั้น ท่านนายพลคือ Hero ของพวกเราทุกคน”

คงจะเป็นเพราะคุณวิมลเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะ มีใบหน้าอ่อนกว่าวัย ทำให้มองดูเหมือนเด็กสาว ท่านนายพลย้าปจึงมองด้วยความสนใจขณะคุณวิมลพูดแล้วจึงกล่าวตอบว่า “ในยามประเทศชาติเผชิญวิกฤตหรือถูกต่างชาติรุกราน ทุกคนในชาติก็มีหน้าที่ต่อสู้เพื่อชาติด้วยกันทั้งนั้น ในเวียดนามเอง มีผู้หญิงหลายคนที่เป็นนักรบและบางคนก็มีความสามารถยิ่งกว่าผู้ชายเสียอีก”

จากนั้น สมาชิกในคณะของเราก็พูดกับท่านโดยยกย่องในความสามารถและชื่อเสียงเกียรติคุณของท่าน เมื่อสมาชิกคณะเราได้มีโอกาสพูดกันอย่างทั่วถึงแล้ว ท่านแม่ทัพก็กล่าวตอบด้วยคำขอบคุณโดยบอกว่า “ขอขอบคุณที่ท่านทั้งหลายพูดถึงในด้านดีงามของผม”

แล้วท่านก็นิ่งไปครู่หนึ่งจึงกล่าวเสริมว่า เมื่อครั้ง โรเบิร์ต แม็คนามารา (รัฐมนตรีกลาโหมสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเคนเนดี้ และลินคอน บี. จอห์นสัน ซึ่งเท่ากับเป็นแม่ทัพของสหรัฐอเมริกาที่ได้เข้ามาทำสงครามกับแม่ทัพย้าปตรงตัว) ท่านเล่าว่า มีสมาชิกในคณะของแม็คนามาราคนหนึ่งถามท่านว่า ในความเห็นของท่าน ใครเป็นทหารที่มีความสามารถสูงสุดของเวียดนาม ท่านเล่าว่า “ผมก็ตอบเขาไปว่า ชาวเวียดนามทุกคนเป็นทหารที่สามารถที่สุด ไม่ใช่ใครอื่น”

กมล กมลตระกูล พูดถึงเรื่องที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนไทยคัดค้านนโยบายสนับสนุนสหรัฐอเมริกาที่ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือของรัฐบาลเผด็จการทหารไทย นายพลย้าปยิ้มน้อยๆ แล้วพูดด้วยเสียงนุ่มนวลว่า “พอเครื่องบินอเมริกันมาถึงอู่ตะเภา เราก็รู้ทุกลำ”

แม่ทัพย้าปคงยืนยันว่า ความเข้มแข็งจนถึงมีชัยในสงครามครั้งสำคัญทั้งกับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ก็เนื่องจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกองทัพกับประชาชนเวียดนาม “ผมเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องมีความเคารพรักทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เช่นเดียวกับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชามีความเคารพรักผู้บังคับบัญชา จากพื้นฐานนี้ เราจึงประสบความสำเร็จ”

ท่านนายพลหวอเหงียนย้าป บัดนี้อยู่ในวัยเก้าสิบปีพอดี ท่านได้ผ่านงานทั้งด้านการทหารและการเมือง โดยเป็นผู้บัญชาการหรือแม่ทัพสู้รบกับข้าศึกตลอดเวลาหลายสิบปี เคยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทย, รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกลาโหม สร้างพื้นฐานทางทหารที่เข้มแข็งให้แก่เวียดนามเหนือในการทำสงครามครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศที่ยากจนและด้อยพัฒนา ให้สามารถเอาชนะอภิมหาอำนาจที่มีแสนยานุภาพใหญ่ยิ่งที่สุดในโลกได้สำเร็จ

หลังจากอำลาท่านและออกจากบ้านของท่านมาแล้ว เราทุกคนพูดตรงกันว่า ได้จับมือกับท่านนายพลสี่ดาวแล้วรู้สึกแปลกใจไม่ได้

เพราะมือของท่านน่าจะเป็นมือของศิลปินหรือนักประพันธ์มากกว่าทั้งแบบบางและนุ่มนวล

 

ที่มา : ทวีป วรดิลก. ปรีดา ข้าวบ่อ (บรรณาธิการ), หวอเหงียนย้าป - แม่ทัพผู้พิชิต, ใน, หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์, (กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2553), น. 174-190.

บทความที่เกี่ยวข้อง :