ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

นายปรีดี พนมยงค์กับกรณีคอมมิวนิสต์ รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการสอบสวนฯ ครั้งที่ 2

10
กันยายน
2567

 

Focus

  • หลังจากกรรมาธิการได้ตกลงรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1 แล้ว ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงให้หลวงประดิษฐมนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์)ทราบวิธีดําเนินการพิจารณาซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตกลงไว้แล้วโดยที่มติของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งปัญหามาให้พิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม เปนคอมมิวนิสต์ดั่งที่กล่าวหากันในสมัยรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดานั้นหรือไม่ และได้เชิญหลวงประดิษฐมนูธรรมมาเข้าร่วมในการประชุมฯ ครั้งที่ 2
  • ในการประชุมกรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรม เปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ รายงานการประชุมครั้งที่ 2 นี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำการสอบสวนความคิดของหลวงประดิษฐมนูธรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ การเมือง การคลัง และการโภคกิจอย่างละเอียด

 

กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรม
เปนคอมมิวนิสต์หรือไม่

รายงานการประชุมครั้งที่ ๒

 

 

เปิดประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ เวลา ๙.๑๕ น.

มีผู้มาประชุม คือ

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประธานกรรมาธิการ
พระยาศรีสังกร กรรมาธิการ
พระยานลราชสุวัจน์ กรรมาธิการเลขาธิการ
เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ผู้เชี่ยวชาญ
นาย ร. กียอง ผู้เชี่ยวชาญ

และหลวงประดิษฐมนูธรรม ซึ่งกรรมาธิการเชิญมา

เมื่อกรรมาธิการได้ตกลงรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๑ แล้ว ประธานกรรมาธิการได้ชี้แจงให้หลวงประดิษฐมนูธรรมทราบวิธีดําเนินการพิจารณาซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตกลงไว้แล้ว คือว่า โดยที่มติของสภาผู้แทนราษฎร ตั้งปัญหามาให้พิจารณาว่า หลวงประดิษฐมนูธรรม เปนคอมมิวนิสต์ดั่งที่กล่าวหากันในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ นั้นหรือไม่

ประเด็นอันจะพึงพิจารณา จึงอยู่ที่ความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม และมิได้อยู่ที่เค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม. คํากล่าวหาที่อ้างถึงนั้น เป็นคํากล่าวหาในทางการเมือง หาใช่ข้อหาในทางตุลาการไม่ เพราะฉะนั้น คณะกรรมาธิการจึงได้ตกลงว่า จะดําเนินการพิจารณาดังนี้ คือ ขอให้ผู้เชี่ยวชาญ ทั้ง ๒ ร่างบันทึกร่วมกันมาเพื่อวางบทวิเคราะห์ลักษณะฉะเพาะของลัทธิคอมมิวนิสม์ บัดนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๒ ได้ร่างบันทึกที่ว่านี้ส่งมาแล้วและประธานกรรมาธิการก็ได้ส่งไปให้หลวงประดิษฐมนูธรรมทราบแล้ว. จึงขอถามหลวงประดิษฐมนูธรรมว่า บรรดาลักษณะต่าง ๆ ซึ่งวางบทวิเคราะห์ไว้ในบันทึกนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรมพอใจแล้วหรือไม่ว่าเป็นลักษณะฉะเพาะของลัทธิคอมมิวนิสม์.

ถ้ามีข้อสังเกตอย่างไร ก็ขอให้หลวงประดิษฐมนูธรรมแสดงมา. เมื่อตกลงกันในบทวิเคราะห์ลักษณะต่าง ๆ แล้ว ก็จะได้ถามความเห็นทางการเมืองของหลวงประดิษฐมนูธรรม ในข้อลักษณะนั้น ๆ ต่อไป.

 

.๒.

 

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม รับรองหลักเกณฑ์วินิจฉัยลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสม์ ดั่งที่ผู้เชี่ยวชาญว่าไว้ในบันทึกร่วมกัน กล่าวคือ อะไรที่มีอยู่ฉะเพาะแต่ในกําหนดการคอมมิวนิสต์เท่านั้น และไม่อยู่ในกําหนดการของคณะพรรคการเมืองอื่น ๆ ไซร้ จึงจะเปนส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์โดยไม่เป็นปัญหา

หลวงประดิษฐมนูธรรม ขอตั้งข้อสังเกตเป็น ๒ ตอน ตอนหนึ่งว่าด้วยหลักการ อีกตอนหนึ่งว่าด้วยความหมายของถ้อยคําบางแห่งซึ่งใคร่จะให้ไขความให้ชัด.

ในส่วนหลักการนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรมขอตั้งข้อสังเกต เนื่องในลักษณะ การโภคกิจข้อ ๖ ซึ่งวางไว้ว่า บังคับให้ทุกคนทํางาน. “ใครไม่ทํางาน ก็ไม่ ได้กิน” (กําหนดการฝรั่งเศส หน้า ๒๑) ดังนี้. หลวงประดิษฐมนูธรรมเสนอว่า หลักการข้อนี้มีอยู่ในกําหนดการของคณนาซีด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตามหลักเกณฑ์วินิจฉัยซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้วางไว้ ก็ควรจะถอนลักษณะการโภคกิจ ข้อ ๖ นี้ออกเสีย เพราะว่ามิได้เปนลักษณะฉะเพาะของคณคอมมิวนิสต์

นาย ร. กียอง  หลักการที่ว่านี้ คณะคอมมิวนิสต์เป็นผู้เริ่มใช้ แต่บัดนี้คณะบงการแผ่นดินต่าง ๆ เช่น คณะนาซี และคณะฟัสซิสต์ นําเอาไปใช้ด้วย.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ถึงแม้ว่าคณอื่น ๆ นําเอาไปก็ยังเปนลักษณะสารสําคัญของคอมมิวนิสม์

นาย ร. กียอง แต่ตามเกณฑ์วินิจฉัยที่ได้วางไว้นั้น ควรจะถอนหลักการนี้ออกได้

หลวงประดิษฐมนูธรรม  หลักการอันนี้เปนสุภาษิตซึ่งใช้กันมาตั้งแต่ครั้ง แซงต์ ซีมอง และตามกําหนดการของคณะคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสหน้า ๒๑ นั้น ก็มิได้กล่าวในเชิงว่าเปนหลักการ แต่หากกล่าวในเชิงปลุกใจผู้กระทําการเลือกตั้งให้เลื่อมใสในหลักการคอมมิวนิสต์ที่ว่า มูลย์ค่าต่าง ๆ อาศัยแรงงานเปนที่ตั้ง.

 

.๓.

 

 

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์  เปนหลักเก่าก็จริงอยู่ แต่ก็ยังเปนหลักของคอมมิวนิสม์อยู่

หลวงประดิษฐมนูธรรม ถ้าถือเคร่งตามหลักที่วางไว้นี้แล้ว การบังคับให้คนทํางานบางอย่างซึ่งมีอยู่ในกฎหมายไทย ณ บัดนี้ เช่น พระราชบัญญัติดัดสันดานคนจรจัดแลคนที่เคยต้องโทษหลายครั้ง ร.ศ. ๑๒๗ และพระราชบัญญัติเกณฑ์จ้าง ร.ศ. ๑๑๙ ก็จะกลายเปนการกระทําตามแบบคอมมิวนิสม์ไป. อนึ่ง กฎหมายของประเทศอื่น ๆ เช่น บัลแกเรีย และ ปารกวัย ก็มีบังคับให้คนทำงานบางอย่าง และตามอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายแรงงานของสันนิบาตชาติ ก็ยอมให้เกณฑ์แรงงานเป็นบางกรณี ได้ปี ๑ ไม่เกิน ๖o วัน

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์. หลักนี้ย่อมมีข้อยกเว้นเปนธรรมดา. ถึงแม้ว่าในรัสเซีย หญิงมีครรภ์ก็ได้รับความยกเว้นไม่ต้องทํางาน แต่หลักที่ว่าทุกคนต้องทํางานนั้น ได้วางไว้อย่างหนักแน่น ถึงกับมีบทบัญญัติว่า จะเอากิจส่วนตัวเช่นการแต่งงานมาของขัดหน้าที่ต่อรัฐไม่ได้เลย

หลวงประดิษฐมนูธรรม แนวความคิดอันเปนสาระสําคัญของลัทธิคอมมิวนิสม์ ก็มีแสดงอยู่ในตัวศัพท์แล้วว่า เปนการนิยมสรรพสาธารณ์ คณนาซีปฏิเสธอย่างแข็งแรงว่าไม่เปนคอมมิวนิสต์เลย แต่ก็มีบทบังคับให้คนทํางาน.

นาย ร. กียอง  หลักนี้เปนหลักเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ในชุมชนกระฎุมพีมีก็ใช้กันอยู่ แต่โดยมากมักจะใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ไม่วางเปนบท กฎหมายประจําเปนนิจ เช่นฝรั่งเศส ก็เคยบังคับให้คนทํางานในกรณีฉุกเฉิน และเท่าที่นายกียองจําได้ ในมาดากาสการ์ ก็ดูเหมือนเคยมีบทกฎหมาย ฉะเพาะแคว้นนั้นบังคับให้ทุกคนต้องมีอาชีพ.

ภายใน ๑๐ ปีที่แล้วมานี้ ชุมชนกระฎุมพีก็ออกจะยอมรับว่า การบังคับให้คนมีอาชีพนั้นเปนหน้าที่ทางธรรมจริยาของพลเมืองอย่างหนึ่ง และเปนหลักประเพณีทางโภคกิจของประเทศอย่างหนึ่งด้วย. แต่พวกคอมมิวนิสต์นั้นอยากจะตั้งหลักอันนี้ขึ้นเปนบทกฎหมายมีการลงโทษด้วย และกระทําการอันนี้โดยที่เปนผลอันจําเปนเนื่องมาจากการเลิกล้างรายได้และมฤดก.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์  ที่ว่าบังคับให้ทํางานตามลักษณะข้อ ๖ ที่เป็นปัญหาอยู่นี้หมายความถึงบังคับให้ทํางานเพื่อประโยชน์คอมมิวนิสต์.

นาย ร. กียอง  แต่ตามข้อความในกําหนดการฝรั่งเศสซึ่งอ้างมานี้ ไม่มีความหมายเช่นนั้น.

 

.๔.

 

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม  หลักการอันนี้ไม่มีอยู่ในหลักการมอสโคว์.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ความมุ่งหมายในกําหนดการฝรั่งเศสมีอยู่ว่า จะบังคับให้พวกกระฎุมพีขี้เกียจนั้นทํางานตามหลักการทั่วไปของคณคอมมิวนิสต์ระหว่างประเทศ.

หลวงประดิษฐมนูธรรม ความมุ่งหมายของหลักการคอมมิวนิสต์ในข้อนี้มีอยู่ว่า โดยที่มูลย์ค่าต่าง ๆ เนื่องมาจากแรงงาน ถ้าผู้ใดไม่ออกแรงงาน จึ่งไม่ควรจะยอมให้มีรายได้ ซึ่งมิได้เนื่องมาจากแรงงาน และไม่ยอมให้มีมรดกโดยนัยดุจเดียวกัน.

นาย ร. กียอง ตามกําหนดการมอสโคว์นั้น ได้วางหลักข้อนี้ไว้เปนทางวิทยา การมากกว่า ในกําหนดการฝรั่งเศส ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง หลักในกําหนดการมอสโคว์มีอยู่ว่า งานมิใช่เปนอุปกรณ์การหาเลี้ยงชีพ แต่เปนความจําเปนแห่งชีวิตทีเดียว และความคิดอันนี้ก็กําลังขยายออกไปในประเทศอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ในบัดนี้ก็ไม่เปนลักษณะฉะเพาะของคอมมิวนิสต์เสียแล้ว.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ขอเวลาไปร่างมาใหม่.

ในส่วนถ้อยคําอันจะพึงไขความนั้น หลวงประดิษฐขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้:

 

การเมือง

๑. คําว่า “รัฐบาลโดยคณกรรมการ” นั้น ออกจะกว้างไป มหาชนอาจ จะเข้าใจผิดว่า หมายความถึงคณกรรมการตามระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาก็ได้.

ตกลงแก้เป็น “การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คุณกรรมการคนงาน ชาวนา และทหาร)”

 

การคลัง

๑. คําว่า “เอาธนาคารเอกชนมาเป็นของประชาชาติ” อาจเข้าใจผิด ไปถึงการตั้งธนาคารชาติก็ได้

ตกลงแก้เป็น “การรับเอาธนาคารเอกชนมาเป็น.........”

                            

.๕.

 

 

เมื่อได้ตกลงกันในลักษณะต่าง ๆ แห่งคอมมิวนิสม์ เว้นแต่ลักษณะการโดยกิจข้อ ๖ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญรับเอาไปพิจารณาใหม่นั้นแล้ว ประธานกรรมาธิการได้ถามความเห็นในทางการเมืองของหลวงประดิษฐฯ เนื่องในลักษณะการต่าง ๆ นั้น และได้ทําความตกลงว่า บรรดาคําตอบของหลวงประดิษฐฯ นั้น จะเปนการตอบตรงกับลักษณะต่าง ๆ ครบถ้วนทุกข้อหรือไม่นั้น ขอให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นด้วย แต่ในข้อที่ว่า คําตอบเหล่านั้นมีน้ำหนักเพียงไร ย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ และมิใช่หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่จะวินิจฉัย.

หลวงประดิษฐฯ แสดงความเห็นเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ :

 

การเมือง

๑. การตั้งรัฐบาลโซเวียต (คณกรรมการ คนงาน ชาวนา และทหาร)

หลวงประดิษฐมนูธรรม ข้าพเจ้าไม่คิดที่จะตั้งรัฐบาลโซเวียตเลย เพราะว่ามีความเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีส่วนในการตั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร์สยาม และมีส่วนในการออกกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งนี้เปนหลักพยานให้เห็นว่า ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญและรัฐสภาอยู่แล้ว

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ หลวงประดิษฐคิดจะแก้หลักการอันเปนสาระสําคัญในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งฉะบับที่ใช้อยู่ ณ บัดนี้หรือไม่ ?

หลวงประดิษฐมนูธรรม ตั้งใจจะรักษาหลักสาระสําคัญนั้น ๆ ไว้ จะมีการแก้ไขบ้างก็เช่นว่า การเลือกตั้ง ๒ ชั้นนั้น คิดว่าต่อไปจะแก้ไขให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยตรงทีเดียว และการแก้ไขต่าง ๆ นั้น ก็จะได้แก้โดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ และไม่คิดจะใช้วิธีปกครองโดยโซเวียตเลย

 

การคลัง

๑. การรีบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของประชาชาติ และโอนทองคํา สํารอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้น ๆ มาเปนของรัฐ.

หลวงประดิษฐมนูธรรม  ไม่มีความคิดเลยที่จะริบเอาธนาคารเอกชนมาเป็นของชาติ และโอนทองคําสํารอง หลักทรัพย์ เงินฝาก ฯลฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ในธนาคารนั้น ๆ มาเป็นของรัฐ เพราะว่าเลื่อมใสในกรรมสิทธิทรัพย์สินเอกชนที่จะเปนเจ้าของ.

 

.๖.

 

 

๒. การเพิกถอนและปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนต่างประเทศและในประเทศ

หลวงประดิษฐมนูธรรม ยิ่งการเพิกถอนหรือปฏิเสธหนี้สินต่อนายทุนในประเทศและนอกประเทศแล้ว ยิ่งไม่มีความคิดที่จะกระทําเช่นนั้นเลย เพราะมีความประสงค์จะรักษาสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศไว้ให้มั่นคง. เมื่อข้าพเจ้าร่างคําแถลงการณ์ ของรัฐบาลพระยามโนฯ ก็ได้บรรจุข้อความเช่นนี้ไว้ในคําแถลงการณ์นั้นเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะปฏิเสธหนี้สินทั้งภายในและภายนอกประเทศเลย

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ไม่มีทางที่จะปฏิเสธลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ชัดแจ้งกว่านี้ได้แล้ว.

 

การชุมชน

๑. การใช้กําลังบังคับเลิกล้มระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณีนั้น ทั้งหมด เพื่อเปนทางเดียวที่จะบรรลุวัตถุประสงค์คอมมิวนิสต์.

หลวงประดิษฐมนูธรรม  คําว่า ระเบียบการชุมชน ซึ่งมีอยู่ตามประเพณี” นั้นขอซ้อมความเข้าใจในความหมายเสียก่อน หมายความถึงการครอบครัว...ฉะนี้ไม่ใช่หรือ ?

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ หมายความถึงการครอบครัว การปกครอง การแบ่งชั้นและโครงร่างของชุมนุมชนทั้งมวล แต่ข้อสําคัญอยู่ที่ว่าจะกระทําการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ให้ตั้ง ๑ กันใหม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ถ้าเปนการเปลี่ยนแปลงอย่างตั้ง ๑ กันใหม่แล้ว จึงจะเปนลักษณะส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสม์.

หลวงประดิษฐมนูธรรม  ไม่มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นการนับ ๑ ใหม่เลย ในการปกครอง ข้าพเจ้าเลื่อมใสในระบอบรัฐธรรมนูญ ดังกล่าวแล้วข้างต้น. ในการครอบครัว ข้าพเจ้าก็ได้มีส่วนร่างประมวลกฎหมายแพ่งในเรื่องนี้ และความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ก็เป็นไปในทางรักษาประเพณีของไทย. ในทางอื่น ๆ ก็เหมือนกัน หลักประเพณีอันใดที่เหมาะสมแก่สมัยก็ตั้งใจจะรักษาไว้ ส่วนข้อที่จะแก้ไขก็จะได้แก้ไขตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ. ส่วนการเปลี่ยนแปลง เปนการนับ ๑ ใหม่นั้นเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์. ในเรื่องสงครามระหว่างชั้นนั้น ได้พยายามชี้แจงให้คนต่าง ๆ เข้าใจว่าไม่เปนการบังควร เพราะจะเปนการทําให้นองเลือดเปล่า ๆ.

 

.๗.

 

 

นาย ร. กียอง และ เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ ข้อสําคัญอยู่ที่การใช้กําลังบังคับ ในอันจะเลิกล้มหลักประเพณีต่าง ๆ แต่ถ้าไม่คิดจะใช้กําลังบังคับแล้ว ก็ไม่เข้าอยู่ในลักษณคอมมิวนิสม์

๒. การกระทําสงครามเนืองนิจในความบงการของพวกบุถุชนเพื่อทําลายกําลังและประเพณีต่าง ๆ ของชุมชนอย่างเก่า และทําลายพวกกระฎุมพี ที่อาจโผล่ขึ้นมาใหม่.

หลวงประดิษฐมนูธรรม  ดิกเตเตอร์ขึ้นหรือลัทธิบงการแผ่นดินนั้น ข้าพเจ้าไม่ชอบเลย. ที่ไม่ชอบนั้น ไม่ใช่ฉะเพาะแต่การที่จะให้คนจนเข้าถืออํานาจบงการเท่านั้น. ถึงแม้ว่าคนชั้นอื่นจะเข้ายึดอํานาจบงการแผ่นดินก็ไม่เห็นชอบด้วยเหมือนกัน.

๓. การเลิกมรดก

หลวงประดิษฐมนูธรรม ไม่มีความคิดที่จะเลิกมรดกเลย. นายกียองย่อมทราบ อยู่ว่า ในการร่างประมวลกฎหมายแพ่ง ข้าพเจ้าเคยสนับสนุนให้มีประมวลมรดกอยู่ด้วย.

 

การโภคกิจ

๑. การริบโดยไม่มีค่าทดแทน ซึ่งกิจการเอกชน (นายทุน) ใหญ่ ๆ ทั้งหมด เช่น โรงงาน การงาน เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า รถไฟ การขนส่ง การคมนาคม อสังหาริมทรัพย์ที่ดินใหญ่ ๆ เครื่องจักร์ ฯลฯ.

หลวงประดิษฐมนูธรรม  ไม่มีความคิดเช่นนี้เลย มีเหตุผลเหมือนกันที่ได้กล่าวมา แล้ว ว่าด้วยลักษณการคลัง. ข้าพเจ้ายืนยันว่า มีความเลื่อมใสในทรัพย์สินเอกชน.

๒. การโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ดิน ซึ่งได้รับมานั้นให้แก่ชาวนา

๓. ต่อจากนั้น ห้ามมิให้ซื้อขายที่ดินที่ได้โอนมานั้น.

๔. ริบอสังหาริมทรัพย์บ้านเรือนใหญ่ ๆ และย้ายคนงานและคนจนไปอยู่ในบ้านเรือนและถิ่นที่อยู่ของเศรษฐีหรือกระฎุมพี.

๕. การเพิกถอนการจํานอง อันเป็นที่เสียหายแก่ชาวนาที่จน.

หลวงประดิษฐมนูธรรม คําตอบสําหรับ (๒), (๓), (๔), (๕), ก็เช่นเดียวกันเพราะเปนลักษณะเนื่องมาจาก (๑)

 

.๘.

 

 

แต่ถ้อยคําในข้อ ๕ ที่ว่า “การเพิกถอนการจํานอง อันเปนที่เสียหายแก่ชาวนาที่จน” นั้น ดูยังกํากวมอยู่.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ เห็นด้วย และรับว่าจะไปคิดแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะ และชี้แจงว่า อาจเปนที่พึงปรารถนาที่จะบันเทาทุกข์บางอย่างให้แก่ชาวนาที่จนในเรื่องการจํานอง ข้อสําคัญอยู่ที่ว่าจะต้องใช้วิธีการรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง.

หลวงประดิษฐมนูธรรม รับรองว่า ถ้าจะทําการใด ๆ ในเรื่องการจํานองเช่นว่านี้แล้ว ก็จะได้ทําโดยวิถีทางรัฐธรรมนูญ เช่นให้มีการปราณีประนอม เป็นต้น

๖. บังคับให้ทุกคนทํางาน “ใครไม่ทํางานก็ไม่ได้กิน”

ข้อ ๖ เอาไว้พิจารณาใหม่

๗. สัมพันธไมตรีทางโภคกิจอย่างแข็งแรงกับสหปาลีริปับลิกโซลิสต์โซเวียต

หลวงประดิษฐมนูธรรม  ไม่คิดสัมพันธไมตรีเช่นนี้ แต่ถ้อยคําดูยังกํากวมอยู่ คงไม่ หมายความถึงสัญญาการค้าขายอย่างเช่นที่อังกฤษและอเมริกันทำ.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ เห็นด้วย และว่าจะได้คิดแก้ไขถ้อยทําให้กระชับขึ้น.ในการที่จะไปคิดร่างข้อ ๖ ใหม่นั้น เซอร์ รอเบอร์ต อยากทราบความคิดเห็นของหลวงประดิษฐฯ ในเรื่องการบังคับให้ทํางานนั้น ว่ามีอยู่อย่างไรบ้าง.

หลวงประดิษฐมนูธรรม ชี้แจงว่า ฐานะการเปนไปในประเทศสยามนี้ ต่างกับที่เปนอยู่ในประเทศตวันตก กล่าวคือ ในประเทศสยาม คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) เปนคนที่ทํางาน. ชาวนาเสียอีกมีเวลาว่างมาก ซึ่งชวนจะให้เกียจคร้าน และใช้เวลาที่ว่างนั้นในทางไม่พึงปรารถนา เช่น การเสพย์สุรายาเมา และ การปล้นสดมภ์เปนต้น ซึ่งเราควรจะคิดแก้ไข

อนึ่ง คนไม่มีงานทําในกรุงเทพฯ นี้ก็มีมาก เขาทั้งหลายนี้จึงควรมีอาชีพเปนหลักแหล่ง จะได้เปนทางป้องกันมิให้ คนเหล่านี้กระทําความผิดทางอาญา ส่วนอาชีพนั้น จะให้เลือกเอาได้ตามชอบใจ. ไม่บังคับว่า ต้องทําอย่างนั้นอย่างนี้ เปนแต่ขอว่าให้มีอาชีพเท่านั้น.

นาย ร. กียอง ที่หลวงประดิษฐฯ ว่ามานี้ ก็คือจะจัดการเพื่อความปลอดภัยแก่ชุมนุมชน คือป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีอาชีพไปกระทําความผิดทางอาญา มิใช่ว่าจะไปบังคับผู้ที่มีอาชีพอยู่แล้วให้ทํางาน.

 

.๙.

 

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม ชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปว่า คนที่เกาะกินตามวัดก็มี และถ้าเลิกรัชชูปการเสีย คนก็จะขี้เกียจยิ่งขึ้น ถ้าคนไม่ทํางานประเทศก็จะไม่เจริญ ข้าพเจ้าจะใคร่ให้คนเหล่านี้แหละมีอาชีพ และมิได้มีความมุ่งหมายที่จะบังคับให้คนชั้นกลาง (บูร์จัวส์) ทํางาน.

เซอร์ รอเบอร์ต ฮอลแลนด์ พวกคอมมิวนิสต์นั้น เป็นปรปักษ์ต่อพวกบูร์จัวส์ แต่หลวงประดิษฐฯ ไม่เปน. เจ้าชายแห่งเวลส์ก็สนพระทัยอย่างเดียวกับหลวงประดิษฐฯ เหมือนกัน คือในการจัดค่ายทํางานให้แก่ยุพชนที่ไม่มีงานทํา ถ้ามีงานอันประดิษฐผลให้ทําแล้ว ก็คงจะจัดการได้สําเร็จ แต่ถ้าไม่มีงานให้ทําแล้วก็จะจัดได้ด้วยยากจะทําได้ก็แต่บํารุงการศึกษาและอบรมคนไม่มีงานทําให้ทํางานในการจัดค่ายทํางาน.

หลวงประดิษฐมนูธรรม ชี้แจงว่า คิดจะให้ชาวนาเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และปลูก ผักกินเองบ้าง ดั่งได้เคยทําแล้วที่ภูเก็ต แต่ว่าการทั้งนี้ก็ต้องกระทําด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรตามวิถีทางรัฐธรรมนูญที่ดําริไว้นั้นก็คือ คิดจะออกกฎหมายใหม่ คนมีอาชีพและบํารุงการศึกษาวิชาชีพ และไม่คิดจะมีบทบาทกำหนดโทษผู้ที่ไม่ทำงาน

ในส่วนข้อ ๖ นั้น หลวงประดิษฐ์ฯ ชี้แจงว่า อยากจะให้เอาออก เพราะว่าถ้าทิ้งไว้คนจะเข้าใจผิดว่า พระราชบัญญัติเกณฑ์จ้างและพระราชบัญญัติดัดสันดานคนจรจัดแลที่เคยต้องโทษหลายครั้ง พระราชบัญญัติรัชชูปการที่มีบทบังคับให้คนทํางานบางอย่างนั้น จะเข้าอยู่ในลักษณคอมมิวนิสม์ และจะมีคนขอให้เลิกกฎหมายเหล่านี้เสีย ดังได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเกณฑ์ทางแล้ว.

เซอร์ รอเบอร์ด ฮอลแลนด์ ถ้าจะเอาข้อ ๖ ออกเสียแล้ว หลวงประดิษฐฯ จะไม่มีช่องทางที่จะแสดงความเห็นในเรื่องบังคับให้คนมีอาชีพ.

ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า หลวงประดิษฐฯ ได้ให้คํามั่นแก่รัฐบาลไว้ แล้วว่าจะไม่ใช้วิธีใหม่ใด ๆ ที่จะบังคับซื้อที่ดินและบังคับจ้างแรงงานเปนวิธีบํารุงการโภคกิจเพราะฉะนั้น ถ้าจะเอาข้อ ๖ ออกเสียแล้ว และให้กรรมาธิการถามหลวงประดิษฐฯเนื่องในคํามั่นนั้น ๆ ก็ได้

นาย ร. กียอง การบังคับมีลักษณต่าง ๆ กัน การบังคับอย่างคอมมิวนิสต์นั้นคือ การเลิกล้างรายได้และมรดก แต่การบังคับอย่างนาซีนั้นเปนการบังคับฐานที่เปนหน้าที่ของพลเมือง. และการบังคับอีกอย่างหนึ่งก็คือ มนุษยสงเคราะห์ของสันนิบาตชาติ.

 

.๑๐.

 

 

หลวงประดิษฐมนูธรรม แถลงว่า เท่าที่คิดจะกระทํานั้นคือ แบบมนุษยสงเคราะห์ ของสันนิบาตชาติ และเพื่อให้พลเมืองได้มีอาชีพและหางานให้พลเมืองทำ.

 

ปิดประชุมเวลา ๑๒.๔๐.
วรรณไวทยากร วรวรรณ

 

หมายเหตุ :

  • คงอักขร การสะกดคำ การเว้นวรรค และเลขไทยตามต้นฉบับ

 

หลักฐานชั้นต้น

  • กรมเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, กรรมาธิการสอบสวนว่าหลวงประดิษฐมนูธรรมเปนคอมมิวนิสต์หรือไม่ รายงานประชุมครั้งที่ 2, น. 1-10.