ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

จดหมายของปรีดี พนมยงค์ ถึงลูก ๆ เรื่องที่ 3 การเปลี่ยนจากระบบศักดินามาสู่ระบบทุนเปรียบเทียบ

24
กันยายน
2567

จดหมายของปรีดี พนมยงค์เขียนสอนเรื่องความรู้ทั่วไป แก่ลูก ๆ คือ ปาล แป๋ว ดา

 

(วันที่ 11 พ.ย. 2511)

ปาล, แป๋ว, ดา ลูกรัก

1. แม่ถือคติพุทธมิใช่คติตามที่ฝรั่งเรียกว่า Religion ซึ่งแผงมาจากคำลาติน Religase =ฉะนั้นจึงมีสมองสะอาดที่ใช้ความสังเกตุเพื่อหาสัจจะของความเคลื่อนไหวที่พบเห็นเช่นในการที่แม่เห็นว่ามีคนฝรั่งเศสซื้อแฟล๊ตที่สร้างใหม่จํานวนมากจึงปรารภว่าคนเอาเงินที่ไหนมาซื้อกัน ความต้องการรู้ของแม่ที่ปรารภมานั้นเป็นประเด็นที่ลูกทั้งสามควรสนใจอย่างยิ่งเพราะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของสังคมระบบทุนในฝรั่งเศสที่กําลังเป็นอยู่และจะพัฒนาต่อไปอย่างไรในอนาคตขอให้ลูกระลึกคําสอนของท่านเลที่ว่าเมธีมิได้ปล่อยให้เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งผ่านไปคือได้ค้นคว้าเพื่อรู้แจ้งในกฎของสังคม ฉะนั้นขอลูกอย่าละเลยสภาพการณ์ที่ประจักษ์อยู่แก่ตาตนเอง แล้วศึกษาค้นคว้าให้รู้ทั้งข้อเท็จจริงและรู้ว่ากฎแท้จริงของสังคมได้วิวรรตไปอย่างไร ฉะนั้นให้ลูกศึกษาค้นคว้าดังต่อไปนี้แล้วแจ้งให้แม่ทราบด้วย

ก. ขอให้ลูกช่วยกันติดต่อสอบถามจากเพื่อน จากสํานักงานขายแฟล๊ตจากครูบาอาจารย์ให้รู้ข้อเท็จจริงเป็นเบื้องกว่าผู้ที่ซื้อแฟล๊ตกันมามากมายนั้นเป็นบุคคลจําพวกใดอยู่ในอาชีพและเหล่าอันดับของชนชั้นวรรณะใด

สําหรับพ่อที่อยู่ห่างไกลนั้นไม่รู้ข้อเท็จจริงได้อย่างใกล้ชิดแต่มีข้อสังเกตเท่าที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่เคยรับเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น เห็นว่าปัญหาที่เราจะต้องพิจารณาคือแฟล๊ตใหม่ชนิดที่มีราคาขายระหว่าง 5 หมื่น-2 แสนแฟรงค์ซึ่งมีความต้องการมาก พ่อจึงมีความเห็นเพื่อให้ลูกลองสอบสวนดูว่าจะเป็นเช่นที่กล่าวต่อไปนี้หรือไม่

(1) สําหรับกรรมกรนั้นไม่มีทุนที่จะซื้อแฟล๊ตดังกล่าวนี้ได้ ส่วนนายทุนที่เป็นเจ้าสมบัติผูกขาดหรือนายทุนขนาดใหญ่นั้น เขาก็ย่อมมีบ้านและแฟล๊ตอยู่ในทําเลดีมาก่อนแล้ว เขาคงจะไม่ชื่อแฟล๊ตตามที่ราคากล่าวข้างต้นนอกจากเขาจะเป็นเจ้าของอาคารสร้างแฟล๊ตชนิดดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นผู้ซื้อแฟล๊ตตามราคาดังกล่าวแล้วก็คงจะเป็นผู้มีรายได้ขนาดกลาง ในการนี้ก็อาจมีผู้มีรายได้ขนาดกลางที่เป็นพนักงานของรัฐชั้นหัวหน้ากองขึ้นไปหรือชั้นหัวหน้าแผนกขึ้นไปสุดแท้แต่ว่าเวลานี้ข้ารัฐการเหล่านั้นมีอัตราเงินเดือนในอัตราที่พอจะซื้อได้อย่างไร, พวกที่ทํางานในวิสาหกิจของนายทุนซึ่งมีเงินเดือน ขนาดรัฐการดังกล่าวแล้ว พวกประกอบวิสาหกิจและการค้าขนาดกลางรวมทั้งผู้เป็นนายหน้าและตัวแทนค้าต่าง ๆ รายได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าข้ารัฐการที่กล่าวแล้ว, พวกประกอบอาชีพอิสระ เช่นทนายความ แพทย์ ศิลปินและนักเขียนต่าง ๆ ฯลฯ ที่มีรายได้ดังกล่าวแล้ว, นักเกษตรกรขนาดกลางซึ่งปัจจุบันนี้ขายพืชผลได้ดีเพราะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและต้องการที่จะมีแฟล๊ตอยู่ในเมือง และพวกอาชีพอื่น ๆ ที่มีรายได้เทียบดังกล่าวข้างต้นนี้

(2) พวกดังกล่าวข้างต้นนั้นก็มีเงินรายได้จากอาชีพของเขาดังได้กล่าวมาแล้ว นั่นเป็นวิธีที่เราพิจารณารายได้ทางตรงของเขาที่ได้เป็นประจําอยู่ แต่ปัญหาที่ลูกควรศึกษาซึ่งมีสอนไว้ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และทางกฎหมายคือการประหยัดโดยวิธีเอาประกันชีวิต วิธีนี้ไม่เคยปรากฏในระบบเศรษฐกิจศักดินา (เศรษฐกิจลูกนาหรือเศรษฐกิจส่วย) แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระบบทุนและได้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น ผู้เอาประกันชีวิต 1 แสนแฟรงค์เป็นเวลา 20 ปีก็จ่ายเบี้ยประกันประมาณปีละ 5 พันแฟรงค์เท่านั้น ถ้าผู้เอาประกันตายก่อน 20 ปีทายาทก็ได้เงิน 1 แสนแฟรงค์ แต่ถ้าผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ถึง 20 ปีก็ได้เงิน 1 แสนแฟรงค์แล้ว ยังมีโบนัสแถมให้อีกประมาณ 3 หมื่นแฟรงค์เป็นต้น พวกฝรั่งได้นิยมการออมทรัพย์โดยวิธีประกันชีวิตนี้มาก

ฉะนั้นในปีหนึ่ง ๆ การเอาประกันชีวิตก็ถึงกําหนดกันมากและเมื่อผู้เอาประกันชีวิตได้เงินประกันครบถ้วนพร้อมทั้งโบนัสแล้วก็เอาไปซื้อหลักทรัพย์ เช่นใครไม่มีที่อยู่ก็เอาไปซื้อแฟล๊ต ให้ถามแม่ดูก็รู้ว่าเมื่อครั้งลิตาเกิดพ่อเอาประกันชีวิต 1 หมื่นบาทเป็นเวลา 20 ปี และเมื่อปาลเกิดพ่อก็เอาประกันชีวิตจำนวนเท่ากันกับที่ลิตาเกิด แต่เนื่องจากเกิดสงครามราคาเงินตกต่ำและพ่อต้องระเหเร่ร่อนจึงไม่ได้ประโยชน์จากการประกันชีวิตที่ทําไว้ ถ้าสมมติว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วและราคาเงินยังดีอยู่ในปี พ.ศ. 2492 พ่อก็จะได้รับเงินรวมทั้งโบนัสประมาณ 1 หมื่น 3 พันบาทซึ่งตามราคาเงินเก่าแล้วสร้างบ้านที่เป็นตึกได้ 1 หลัง และในปี พ.ศ. 2494 ก็จะได้เงินจํานวนเท่ากันนั้นซึ่งอาจใช้เป็นทุนการศึกษาของลูก ๆ ได้อีก

ส่วนเบี้ยประกันนั้นก็จ่ายเพียงปีหนึ่งฉบับละประมาณ 500 บาทเท่านั้น วิธีประหยัดโดยเอาประกันชีวิตพวกเศรษฐกิจศักดินาไม่รู้จัก ยกเว้นพวกเจ้าและขุนนางชั้นสูงสมัยเก่าบางคนที่รู้เรื่องก็เอาประกันชีวิตกับบริษัทฝรั่งไว้ ต่อมาในสมัย ร.6 และร.7 จึงมีบริษัทเอาประกันชีวิตสิงคโปร์มาตั้งสาขาซึ่งพ่อเอาประกันชีวิตไว้ดังกล่าวแล้วและมีการโฆษณาเผยแพร่ไปยังข้าราชการในหัวเมืองซึ่งผู้ที่มีเงินเดือนประมาณ 300 บาทสมัยนั้นเช่นหัวหน้าศาลที่พอรู้เรื่องประกันชีวิตก็เอาประกันชีวิตไว้เช่นพระนิติฑัณท์ เป็นต้น ในเมืองไทยเวลานี้ มีบริษัทประกันชีวิตมากมาย การออมทรัพย์โดยเอาวิธีประกันชีวิตที่กําลังพัฒนาไปตามทํานองของเมืองฝรั่งแห่งทุนนิยม

(3) เงินได้โดยวิธีออมทรัพย์ซึ่งธนาคารต่าง ๆ จัดขึ้น เช่นในเมืองไทยธนาคารออมสินได้มีประกาศอยู่เสมอว่าถ้าฝากออมสินไว้เป็นเวลาที่ปีเป็นจํานวนเงินเท่าใด ก็มีสิทธิ์จากธนาคารออมสินเท่ากับเงินฝากเพื่อเอาไปสร้างบ้านผ่อนส่งระยะยาวเป็นเวลา 15 ปีก็มีและคิดดอกเบี้ยโดยราคาถูก

(4) โดยบริษัทเครดิทอสังหาริมทรัพย์ที่ปลูกอาคารแล้วขายแฟล๊ตโดยวิธีส่งเงินผ่อน เข้าใจว่าในฝรั่งเศสมีบริษัทเช่นนี้มากและพวกฝรั่งเศสด้วยกันก็ซื้อเงินผ่อนได้สะดวกกว่าคนต่างประเทศ นอกจากนั้นผู้ที่ซื้อแฟล๊ตด้วยเงินสดก็มีทางจํานองโดยเสียออกเบี้ยถูกกว่าที่จะเช่าแฟล๊ตเขาอยู่

เท่าที่พ่อได้กล่าวมาแล้วนี้เพียงข้อสังเกตโดยสังเขปเท่านั้นขอให้ลูกศึกษาค้นคว้าต่อไปเพราะเป็นกฎความเคลื่อนไหว ของสังคมที่มีระบบทุนกําลังดําเนินอยู่เราจะหลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยจะตั้งทัศนศึกษาเอาแต่เศรษฐกิจอย่างเก่าก็จะตามเหตุการณ์ไม่ทัน

ข. เมื่อได้ข้อเท็จจริงและรู้หลักการพอสมควรดังกล่าวในข้อ ก. แล้วก็จะต้องพิจารณาต่อไปถึงการวิวรรตแห่งชนชั้นวรรณะว่าเมื่อระบบทุนเข้าไปแล้วได้มีชนชั้นวรรณะอย่างใดเกิดขึ้นในระหว่างกลางมากน้อยเพียงใด และถ้ายิ่งระบบทุนดําเนินไปเร็วชนชั้นวรรณะกลางที่เพิ่มขึ้นเร็ว ปัญหาสําคัญในทางทฤษฎียังมีอีกว่า

(1). แฟล๊ตอันเป็นที่อาศัยของบุคคลนั้นถือว่าเป็นปัจจัยการผลิตหรือไม่ ตามลัทธิสังคมนิยมที่มุ่งเอาปัจจัยการผลิตเปนของสังคมนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับแฟล๊ตอันเป็นที่อาศัยอยู่หรือไม่

(2). ถ้าผู้ซื้อแฟล๊ตมิใช่มีรายได้จากการกดขี่ขูดรีดแต่เป็นการเอาเงินโดยน้ำพักน้ำแรงของตนตามวิธีการประหยัดต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้วจะถือว่าเป็นทุนได้อย่างไรหรือไม่ ให้ศึกษาดูในแถลงการณ์ 1847 ที่กล่าวว่ารายได้ที่บุคคลหามาได้ด้วยแรงงานของตนมิใช่เป็นสิ่งที่จะต้องแตะต้องแต่ปัญหาที่มีต่อไปอีกถึงอัตรารายได้ที่ลูกจ้างในวิสาหกิจมีอยู่แต่ก่อน ๆ ว่าแพงไปหรือไม่มีค่าส่วนเกินหรือไม่ ทั้งนี้ก็มีผู้แย้งอีกว่าในสังคมที่อัตราเงินเดือนยังมีแตกต่างกันอยู่ก็ได้อธิบายกันไว้ว่าเป็นค่าแรงตามคุณภาพของแรงทางกายหรือทางสมอง ดังนั้นผู้ที่ได้เงินเดือนไม่สูงเกินไปแต่แทนที่เขาจะสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินเดือนให้หมดในทันทีเช่นได้ เดือนละ 1 พันบาทแต่เขาจะเก็บไว้เดือนละ 200 บาทคือ ใช้เพียงเดือนละ 800 บาท เช่นนี้เงินที่เขาออมทรัพย์ไว้เดือนละ 200 บาทนั้นเมื่อ 20 ปีก็เป็นเงิน 4 หมื่น 8 พันบาทจะถือว่าเขากดขี่ขูดรีดชนชั้นวรรณะใด ปัญหาเรื่องนี้ก็ยังมีอีกมากซึ่งจะต้องคอยศึกษาต่อไปและเรื่องนี้ก็ต้องทําดั่งที่คติพจน์สอนไว้ว่าต้องศึกษาเศรษฐกิจไม่ว่าจากผู้ใดทั้งสิ้น ผู้ใดมีพื้นฐานเศรษฐกิจถึงขนาดไหนก็มีวรรณะทางการเมืองขนาดนั้น แต่โลกทุกวันนี้กําลังเคลื่อนไหวมีการเศรษฐกิจของระบบทุนที่ก้าวหน้าก็ต้องศึกษาให้รู้ถึงระบบทุนพัฒนาอย่างไรและวิทยาศาสตร์สิ่งที่แท้จริงจะต้องดําเนินอย่างไร

2. ภายหลังที่ได้ส่งความรู้ทั่วไปมายังลูกเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของสังคมไทยภายใต้ระบบทุนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วตามกฎของเมธีนั้นแล้ว พ่อก็ได้รับฟังวิทยุและอ่านเอกสารหนังสือพิมพ์ทั้งภายในและต่างประเทศ มีข่าวที่ไม่ต้องค้นคว้าอะไรอีก มายในระหว่าง 7 วันนี้จึงขอบอกมายังลูกโดยสังเขปดังจะกล่าวต่อไปนี้

ก. ขอให้ลูกยึดหลักให้มั่นตามที่ส.อธิบายไว้ว่าความแวดล้อมทางภูมิศาสตร์มีอิทธิพลเพียงแต่ทำให้วิวรรคการของสังคม ช้าหรือเร็วลงบ้างเท่านั้นมิใช่เป็นปัญหาชี้ขาด อันที่จริงการที่นักภูมิศาสตร์แบ่งโลกเป็นทวีปต่าง ๆ นั้นก็แบ่งซีกโลกเอาเองส่วนดินฟ้ายากนั้นบางทวีปก็มีทั้งหนาวร้อน เช่นอาเซียที่ไซบีเรียก็หนาวจัดที่อินโดนีเซียกร้อน ในอาฟริกาที่มีอากาศต่าง ๆ กันในอเมริกาเหนือกลางใต้ที่มีอากาศต่าง ๆ กัน ท่าน ส.จึงกล่าวไว้ว่าสิ่งเด็ดขาดที่ทําให้สังคมวิวรรตไปคือวิถีการผลิตอันได้แก่พลังการผลิต ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือการผลิตและบุคคลที่สามารถทําและใช้เครื่องมือนั้นซึ่งความสัมพันธ์ทางการผลิตว่าจะเป็นระบบใดต้องพัฒนาให้สอดคล้องไปและท่านได้กล่าวว่าปัญหาเริ่มมาจากเครื่องมือการผลิตซึ่งมนุษย์พัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ข. พ่อฟังวิทยุและอ่าน น.ส.พ.ต่างประเทศได้ความเพิ่มเติมถึงการเคลื่อนไหวของบางประเทศแห่งบางทวีปดังต่อไปนี้

(1) บทความวิทยุญี่ปุ่นเกี่ยวกับญี่ปุ่น 100 ปีในสัปดาห์ที่แล้วได้อธิบายถึงการที่ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนระบบศักดินามาเป็นระบบทุนเริ่มในสมัยเมจิเมื่อ ค.ศ. 1868 (ให้สังเกตุว่าในขณะมีแถลงการณ์ ค.ศ. 1847 นั้นญี่ปุ่นยังเป็นประเทศกสิกรรมแบบศักดินาทอผ้าใช้เครื่องจักรไอน้ำอย่างยุโรปแต่ก็ยังต่อแตะอยู่อีก ครั้นถึง ค.ศ. 1901 จึงเริ่มมีโรงถลุงเหล็กยาวากาซึ่งถลุงได้เพียงปีละ 1 หมื่น 5 พันตันเท่านั้นแล้วจึงค่อยๆมีร.ง. แต่หนักไปทางสร้างอาวุธและเรือรบ ญี่ปุ่นร่ำรวยในสมัยสงครามครั้งที่ 1 เพราะยุโรปเป็นสนามรบอุตสาหกรรมต้องชะงัด แต่เสร็จสงครามครั้งที่ 1 แล้ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นตกต่ำแล้วญี่ปุ่นใช้วิธีรุกรานจนเกิดสงครามครั้งที่ 2 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมญี่ปุ่นถูกทําลายลงเกือบราบคาบ ญี่ปุ่นเพิ่งฟื้นตัวเมื่อ พ.ศ. 2498

และอีก 10 ปีต่อมาก็ได้พัฒนาเครื่องมือการผลิตโดยเทคนิคสมัยใหม่อย่างรวดเร็วจนปรากฏกันแล้วว่าเวลา ญี่ปุ่นต่อเรือขนาด 3 แสนตันเศษใหญ่ที่สุดในโลก ทํารถยนต์ให้เป็นที่ 2 ในโลกแม้แต่เปียโนก็ใช้เครื่องอีเล็กโทรนิคและ เครื่องจักรกลไกในการประดิษฐ์และอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งนับว่ารวดเร็วที่สุดเร็วในชั่วระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้ที่ระบบทุนได้พัฒนาไปตามกฏของปฐมเมธี

(2) ได้ฟังข่าวกีฬาโอลิมปิกว่าต่อจากจะมีที่เมืองมูนิคที่เยอรมันแล้วครั้งต่อไปนั้นประเทศในอาฟริกาขอร้องเป็นเจ้าภาพซึ่งเขาแสดงถึงความสะดวกและสถานที่อีกทั้งมีนักกีฬาของเขาที่สามารถ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเราจะดูถูกพวกอาฟริกาว่า ล้าหลังยังไม่ทันกับเหตุการณ์นั้นไม่ได้ ลูก ๆ อยู่ในฝรั่งเศสขอให้สนใจเกี่ยวกับเรื่องของอาฟริกาว่าระบบทุนพัฒนาขนาดไหน ในอียิปต์ ตูนิเซีย มอรอคโค ฯลฯ

(3) เมื่อคืนนี้พ่ออ่าน น.ส.พ.โซเชียเวิร์คจาก ถ.ท. ฉบับวันที่ 6 เดือนนี้พบเรื่องที่มีหัวข้อข่าวว่า “นครที่เติบโตเร็ว ที่สุดในโลก” ซึ่งกล่าวถึงนคร “ซาโอโปโล” ในประเทศบราซิลและได้บอกไว้ชัดว่าในชั่วระยะ 10 ปีที่ผ่านมานั้นนครนี้ได้เติบโตเร็วซึ่งเดิมมีพลเมืองประมาณ 3 ล้านคนแล้วขยายขึ้นเป็น 6 ล้านคนเพราะมีอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ทําตะปูจนถึงทําแทร็กเตอร์ มีรถยนตร์ที่ประกอบขึ้น 1 คันทุก 90 วินาที พ่อไม่มีโอกาสค้นคว้าว่านครอื่น ๆ ในอเมริกาลาตินจะได้พัฒนาไปรวดเร็วขนาดไหน ฉะนั้นจึงขอให้ลูกที่อยู่ในฝรั่งเศสซึ่งมีทางที่จะค้นคว้าได้เพราะมีเอกสารอยู่สมบูรณ์ ก็จงค้นคว้าเพื่อเป็นความรู้ของลูกเองโดยอาศัยกฎวิทยาศาสตร์ที่แท้จริงของเมธีมาประยุกต์กับข้อเท็จจริงที่ประจักษ์

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร และวิธีการสะกดตามต้นฉบับ
  • เอกสารส่วนบุคคลประเภทจดหมายนายปรีดี พนมยงค์ถึงบุคคลต่าง ๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง