ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

ทัณฑนิคม: ปฏิบัติการราชทัณฑ์สมัยใหม่สมัยคณะราษฎร

13
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความชิ้นนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของทัณฑนิคมสมัยใหม ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2500 ผ่านแนวคิด การจัดตั้ง และพัฒนาการของงานทัณฑนิคมหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จากการศึกษาพบว่าการตั้งทัณฑนิคมเป็นผลมาจากความพยายามปฏิรูป ราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ภายใต้แนวคิดฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังสามารถแก้ไขฟื้นฟู เป็นพลเมืองดี นำไปสู่การตั้งทัณฑนิคม ณ จังหวัดยะลาและจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติการราชทัณฑ์ระบอบใหมในทัณฑนิคมให้ความสำคัญกับการดำเนินงานทางเศรษฐกิจและการดูแลสุขภาพอนามัยแก่นักโทษ อย่างไรก็ตามจากปัญหาการควบคุมนักโทษ การบริหารงานทัณฑนิคมที่ด้อยประสิทธิภาพ ประกอบกับวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กิจการทัณฑนิคมประสบความล้มเหลว อันนำไปสู่การยุบเลิกทัณฑนิคมหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490

 


บรรยากาศเรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. 2479 ประกอบด้วยเรือนขังนักโทษขนาดใหญ่กับพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ภายในรั้วไม้ ส่วนนอกรั้วไม้เป็นแนวถนนสายหลักของนิคม อาคารสำนักงาน และบ้านพักของเจ้าพนักงานทัณฑนิคม
ที่มา : University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 

บทนํา

ทัณฑนิคมเป็นสถาบันราชทัณฑ์รูปแบบหนึ่งซึ่งใช้ปราการทางธรรมชาติในการควบคุมหรือกักกันผู้ต้องขังภายในพื้นที่ที่กําหนด วัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการฝึกฝนอบรมนักโทษให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและฟื้นฟูจิตใจให้เป็นพลเมืองดี อันเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายราชทัณฑ์ของรัฐบาลคณะราษฎรที่มุ่งหมายจะขยายการดําเนินงานราชทัณฑ์ออกไปให้กว้างขวาง โดยรัฐบาลคณะราษฎรเห็นว่าการใช้แรงงานนักโทษให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจนับเป็นหัวใจสําคัญของการจัดระเบียบราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ ดังนั้นบทความนี้จึงเป็นการอธิบายถึงจุดกําเนิดและพัฒนาการของทัณฑนิคมสมัยคณะราษฎร ถัดมาจะพิจารณาปฏิบัติการราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ภายในทัณฑนิคม โดยเฉพาะการจัดการเศรษฐกิจราชทัณฑ์ซึ่งมุ่งเน้นการให้นักโทษมาเป็นแรงงานที่สร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐ การดูแลสุขอนามัยของนักโทษ ตลอดจนการฝึกอบรมให้นักโทษได้เรียนรู้ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ และสุดท้ายเป็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการล่มสลายของทัณฑนิคมหลังประสบปัญหาการดําเนินงาน ต่าง ๆ ทั้งการหลบหนีของนักโทษ การทุจริตของเจ้าพนักงาน ตลอดจนปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไข้มาลาเรีย ทว่าสิ่งที่สําคัญที่สุดคือ แนวคิด และนโยบายของรัฐบาลหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่นําไปสู่การยุบเลิกกิจการทัณฑนิคมในท้ายที่สุด

 

การทดลอง “นิคมนักโทษจรจัด” ก่อนการปฏิวัติ 2475

แรกเริ่มรัฐบาลระบอบเก่าได้ทดลองจัดตั้งนิคมสําหรับควบคุมคนจรจัดและคนต้องโทษหลายครั้งภายใต้การกํากับดูแลของเจ้าหน้าที่ตํารวจกองตระเวน อันเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐสยามในการจัดระเบียบทางสังคมผ่าน การกวาดล้างคนจรจัดและคนต้องโทษหลายครั้งที่ก่อปัญหาอาชญากรรม จนนําไปสู่การประกาศใช้กฎหมายดัดสันดานคนจรจัดและคนต้องโทษหลายครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2451[1] ให้อํานาจแก่เจ้าหน้าที่จับกุมและส่งคนทั้งสองกลุ่มไปตัดสันดานตามหัวเมืองห่างไกลที่มีลักษณะคล้ายกับการเนรเทศภายใน (internal exile) โดยรัฐบาลสยามคาดหวังว่านักโทษเหล่านี้จะเลิกประพฤติชั่วและกลับตัวเป็นคนดีได้ในสภาพแวดล้อมใหม่ ทว่าการส่งนักโทษเหล่านี้ไปยังหัวเมือง กลับสร้างปัญหาให้กับคนในท้องถิ่น เช่น ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับคนท้องถิ่น[2] หรือชักจูงให้คนท้องถิ่นเป็นโจรผู้ร้าย[3] อันเปรียบเสมือน “เป็นการเพาะความ ชั่วร้ายตามหัวเมือง” ด้วยเหตุนี้กระทรวงนครบาลสมัยรัชกาลที่ 6 จึงเสนอ ให้นําคนจรจัดและคนต้องโทษหลายครั้งมาควบคุมบนเกาะที่ห่างไกลเป็นการเฉพาะ คือ เกาะไผ่ จังหวัดชลบุรี[4]

โครงการนิคมนักโทษจรจัดที่เกาะไผ่ ออกแบบโดย อริก เซนต์.เย. ลอซัน ชาวต่างชาติที่รับราชการในกระทรวงนครบาล จัดตั้งใน พ.ศ. 2456 โดยวางอยู่บนหลักการสําคัญ คือ 1) นักโทษต้องสร้างประโยชน์ให้เพียงพอกับ ค่าอาหารและเครื่องนุ่งห่ม และ 2) รายได้ที่เกิดจากนักโทษหลังหักค่าใช้จ่าย จะตกเป็นสมบัติของนักโทษ ทั้งนี้กระทรวงนครบาลส่งนักโทษไปอยู่ที่นิคมเกาะไผ่ตั้งแต่ พ.ศ. 2456-2459 รวม 591 คน[5] โดยทําการเผาถ่าน ปลูกตะไคร้ ปลูกต้นละหุ่งกลั่นน้ํามันขาย อันสะท้อนว่าโครงการนิคมนักโทษจรจัดแห่งนี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างเป็นนิคมเกษตรกรรม (Agricultural Colony) มุ่งเน้นการควบคุมนักโทษด้วยการใช้ทํางานหนักกลางแจ้งเพื่อ “ดัดสันดาน” ให้ เข็ดหลาบ ไม่กลับไปกระทําความผิดอีก ทั้งยังต้องการรวบรวมให้นักโทษจรจัดเข้ามาอยู่ร่วมกันเพื่อสะดวกต่อการควบคุมและป้องกันมิให้ก่อความเดือดร้อนกับสังคมได้ ทว่าการดําเนินงานนั้นกลับประสบปัญหาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2458 เป็นต้นมา เมื่อนักโทษที่ถูกส่งมายังเกาะมีจํานวนมากกว่าที่รัฐกําหนดถึง 2 เท่า ดังนั้นนิคมเกาะไผ่จึงมีนักโทษแออัดและเริ่มขาดแคลนน้ําดื่มรวมถึงทรัพยากรต่าง ๆ รายได้จากนิคมไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย[6] ส่งผลให้เกิดความยากลําบาก ในการปกครองนักโทษมากยิ่งขึ้น[7] ดังนั้นรัฐบาลสยามจึงยกเลิกการส่งนักโทษจรจัดไปยังเกาะไผ่ และกลับไปใช้วิธีการเนรเทศไปอยู่ตามหัวเมืองเช่นเดิม นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459 เป็นต้นมา[8]

ความล้มเหลวของนิคมนักโทษจรจัดภายใต้การจัดการของรัฐบาลระบอบเก่าสะท้อนให้เห็นว่า โครงการจัดระเบียบนักโทษจรจัดและคนต้องโทษหลายครั้งมุ่งเน้นบังคับใช้แรงงานอย่างหนักเพื่อ “ดัดสันดาน” หรือการลงโทษแก่นักโทษให้เข็ดหลาบ มากกว่ามุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักโทษให้ดีขึ้น นอกจากนี้จากความโหดร้ายทารุณในการทํางานและความยากลําบากในการดํารงชีพกลับยิ่งผลักดันให้นักโทษก่อความรุนแรงมากขึ้น จนทําให้นิคมแห่งนี้ถูกยุบเลิกหลังจากดําเนินงานไม่นาน แม้ว่ารัฐบาลสยามจะนําเรื่องนิคมนักโทษมาพิจารณาอีกครั้งในการปรับปรุงเรือนจําสมัยรัชกาลที่ 7 แต่จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้รัฐบาลสยามตัดสินใจระงับเรื่องนิคมนักโทษออกจากโครงการปรับปรุงเรือนจําอย่างไม่มีกําหนด[9]

 

กําเนิดและการขยายตัวของทัณฑนิคมในระบอบใหม่

หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรได้ปฏิรูปกิจการราชทัณฑ์ ครั้งใหญ่ภายใต้แนวคิดการลงโทษเพื่อฟื้นฟูผู้กระทําผิดให้กลายเป็นพลเมืองดี อันแตกต่างจากสมัยระบอบเก่าที่มุ่งลงโทษผู้กระทําผิดด้วยความรุนแรงเพื่อการแก้แค้น โดยรัฐบาลระบอบใหม่ได้นําองค์ความรู้ด้านอาชญาวิทยาสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับกิจการราชทัณฑ์ไทย รวมถึงมีการให้ความรู้และฝึกอบรมนักโทษให้มีทักษะในการประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษ นอกจากนี้รัฐบาลคณะราษฎรยังมุ่งหวังว่าการราชทัณฑ์ในระบอบใหม่จะมีบทบาทสําคัญในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตสินค้าภายในประเทศเพื่อลดการนําเข้าจากต่างประเทศโดยอาศัยแรงงานนักโทษในการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในเรือนจําต่าง ๆ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของกรมราชทัณฑ์และเป็นเงินตอบแทนให้แก่นักโทษด้วย[10]

จากแนวคิดการปฏิรูปราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ข้างต้น รัฐบาลคณะราษฎรจึงกลับมาสนใจการควบคุมนักโทษในรูปแบบทัณฑนิคมอีกครั้ง ผ่านการผลักดันของสงวน ตุลารักษ์ สมาชิกคณะราษฎรและหัวหน้าแผนกทั่วไป กองผลประโยชน์ กรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการศึกษาดูงานราชทัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสําเร็จอย่างมากในการดําเนินกิจการทัณฑนิคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดําเนินงานในทัณฑนิคมบนเกาะฮอกไกโด ได้พัฒนาเกาะฮอกไกโดจากดินแดนที่ล้าหลังห่างไกลให้กลายเป็นดินแดนสําหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวญี่ปุ่นภายใต้การควบคุมโดยรัฐ เพื่อรองรับการอพยพของเสรีชนชาวญี่ปุ่น[11]

การจัดตั้งทัณฑนิคมตามทัศนะของสงวน ตุลารักษ์มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการอบรมฝึกฝนนักโทษให้เปลี่ยนแปลงเป็นพลเมืองดี มุ่งเน้นการฝึกวิชาชีพในทางเกษตรกรรมด้วยการปฏิบัติจริงตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น โดยสงวนมองว่าโครงการทัณฑนิคมที่กรมราชทัณฑ์จะตั้งขึ้นควรมีแนวทาง 3 ประการ เริ่มจาก (1) การคัดเลือกนักโทษ ควรคัดเลือกนักโทษที่มีกําหนดโทษเหลือ 4-5 ปี อายุไม่เกิน 50 ปี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง (2) หากนักโทษประพฤติตัวดีจะอนุญาตให้นําบุตร ภรรยา หรือสามีไปอยู่ในนิคมได้ และจะมีการปันผลรวมทั้งจัดสรรที่ดินให้ เมื่อพ้นโทษแล้วจะจัดที่อยู่ที่ทํากินให้ภายในนิคม และ (3) การเปลี่ยนสภาพเรือนจํา ทัณฑนิคมมีกําหนดยุติความเป็นเรือนจําให้กลายเป็นชุมชนเมืองและนักโทษทุกคนจะพ้นโทษในปีเดียวกัน[12]

 

การเริ่มต้นงานทัณฑนิคมสมัยใหม่ที่ธารโต

ทัณฑนิคมธารโต จังหวัดยะลา เป็นทัณฑนิคมแห่งแรกของประเทศสยาม เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ในระบอบใหม่พิจารณาว่า การดําเนินงานเรือนจํา แบบเดิมไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทั้งจํานวนผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้น สภาพของเรือนจําอันเก่าแก่ ทรุดโทรมและคับแคบ อีกทั้งเรือนจําแต่ละแห่ง ต่างตั้งอยู่ในที่ชุมชนทําการขยับขยายได้ยากลําบาก การควบคุมผู้ต้องขังจึง เน้นหนักไปที่การป้องกันผู้ต้องขังหลบหนี รัฐบาลระบอบใหม่จึงเห็นชอบให้มีการปรับปรุงระบบเรือนจําใหม่ด้วยการจัดตั้งทัณฑนิคมขึ้นในพื้นที่ว่างเปล่าสําหรับฝึกอบรมผู้ต้องขังที่ยังสามารถแก้ไขฟื้นฟูได้ ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงมีคําสั่งไปยังข้าหลวงประจําจังหวัดทุกแห่งให้สํารวจพื้นที่แล้วส่งมาพิจารณา[13]

ปลาย พ.ศ. 2476 กรมราชทัณฑ์ได้รับเหมาจากกรมโยธาธิการเพื่อถางทางและตัดถนนยะลา-เบตง โดยมีคําสั่งให้สงวน ตุลารักษ์เข้าสํารวจพื้นที่จึงพบว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าทึบ เสือดําชุกชุม หาอาหารการกินลําบาก แต่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์สําหรับการทําป่าไม้ การกสิกรรม และเหมืองแร่ อันสมควรแก่การจัดตั้งทัณฑนิคม[14] ดังนั้นสงวนจึงส่งรายงานผลการสํารวจและเสนอโครงการตั้งทัณฑนิคมโดยวางอยู่บนหลักการควบคุมนักโทษที่ผ่อนคลายแบบทัณฑนิคม เน้นการอบรมศีลธรรม และฝึกหัดวิชาชีพให้สอดคล้องกับทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้กับกรมราชทัณฑ์เพื่อให้นักโทษทดลองดํารงชีพสุจริตในฐานะพลเมือง ซึ่งจากการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบในการจัดตั้งทัณฑนิคมในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2478[15]

 


สงวน ตุลารักษ์ (กลาง) ผู้บัญชาการเรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา ถ่ายภาพร่วมกับคณะข้าราชการที่เข้าเยี่ยมชมกิจการทัณฑนิคม บริเวณหน้าอาคารบัญชาการเรือนจำเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2479
ที่มา : University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 

ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์มอบหมายให้สงวน ตุลารักษ์ เป็นหัวหน้าผู้จัดตั้งทัณฑนิคมที่จังหวัดยะลา โดยเลือกเฟ้นนักโทษเด็ดขาดจากเรือนจํากองลหุโทษ และกองมหันตโทษจํานวน 59 คน มาเป็นแรงงานนักโทษชุดแรกในการบุกเบิกพื้นที่ป่าเขานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478[16] เพื่อสร้างโรงเรือนที่พักชั่วคราว 1 หลัง จากนั้นได้มีการส่งนักโทษมาเพิ่มเติมเพื่อสร้างที่พักผู้ต้องขัง 2 หลัง โรงครัว 1 หลัง ที่พักพัศดี 1 หลัง ที่ทําการกองบัญชาการ 1 หลัง ร้านสหกรณ์ 1 หลัง หลังจากงานก่อสร้างโรงเรือนต่าง ๆ เสร็จสิ้น ได้มีการจัดแบ่งผู้ต้องขังออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยให้ทําการเพาะปลูกพืชผักที่จะสามารถนํามาใช้เป็นอาหารต่อไปได้[17]

เมื่อดําเนินการในขั้นต้นของทัณฑนิคมสําเร็จแล้ว กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งทัณฑนิคมธารโตเป็น “เรือนจําภาคธารโต จังหวัดยะลา” เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2478 และตั้งสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้บัญชาการเรือนจํา[18]นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ยังได้คัดเลือกนักโทษเด็ดขาดส่งมาสมทบที่ทัณฑนิคมอีกหลายครั้ง ขณะเดียวกันได้เพิ่มกําลังเจ้าพนักงานให้มากขึ้นและเริ่มต้น โครงการฝึกหัดนักโทษโดยส่งผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านมาฝึกอบรมวิชาชีพสอนทักษะต่าง ๆ ให้ปฏิบัติงานเพื่อสร้างผลประโยชน์แก่เรือนจํา โดยเลือกสรรงานสอดคล้องกับทรัพยากรเรือนจําและสามารถนําไปขายตามตลาดท้องถิ่นได้อันได้แก่ การป่าไม้การโรงเลื่อยจักรการก่อสร้างและขนส่ง การทําเหมืองแร่ การกสิกรรม และการย่อยหิน

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการตั้งทัณฑนิคมธารโต กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายให้ขุนนิยมบรรณสาร (ทองย้อย ศรนิยม) สารวัตรเรือนจํา ดําเนินการสํารวจพื้นที่ป่าบริเวณตําบลคลองไผ่ อําเภอจันทึก (อําเภอสีคิ้วในปัจจุบัน) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจัดตั้งเป็น “เรือนจําภาคคลองไผ่” ในรูปแบบทัณฑนิคม[19] โดยนํานักโทษจากเรือนจําจังหวัดนครราชสีมาจํานวนกว่า 500 คน มาเป็นแรงงานบุกเบิกป่าและปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ[20] ตลอดจนดําเนินงานหาผลประโยชน์จากกิจการป่าไม้ของนิคม ได้แก่ การทําฟืน การเผาถ่านและโรงเลื่อยไม้[21] นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ยังวางแผนจะบุกเบิกที่ดินเพื่อการเพาะปลูกเนื้อที่ราว 1,000 ไร่ สําหรับปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วลิสง พริกขี้หนู ฝ้าย ละหุ่ง และถั่วเหลือง ตลอดจนทําที่นา ทําสวนผัก และเลี้ยงสัตว์[22]

เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรได้ดําเนินงานปฏิรูปราชทัณฑ์จนนําไปสู่การประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการราชทัณฑ์ 3 ฉบับในช่วงปลายทศวรรษ 2470 ที่ให้อํานาจกับกรมราชทัณฑ์ในการควบคุมและฟื้นฟูนักโทษ ผู้กระทําผิดซ้ำ รวมถึงเด็กที่กระทําผิดให้กลับตัวเป็นพลเมืองดี[23] ดังนั้นกรมราชทัณฑ์จึงสร้างสถาบันราชทัณฑ์ขนาดใหญ่สําหรับรองรับนักโทษและผู้กระทําผิดซ้ำที่มีจํานวนมาก ด้วยการใช้แนวทางแบบทัณฑนิคมในการจัดตั้งและขับเคลื่อนสถาบันราชทัณฑ์เหล่านั้น โดยอาศัยกิจการทัณฑนิคมธารโตเป็นต้นแบบในการจัดตั้งทัณฑนิคมแห่งอื่น ๆ

 

แนวคิดและการออกแบบทัณฑนิคม

ใน พ.ศ. 2479 รัฐบาลระบอบใหม่ได้จ้างซินยอร์ ยูเลียว เบรารเดลี (Dr. Comm. Berardelli) นักอาชญาวิทยาชาวอิตาลี มาเป็นที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ประจํากรมราชทัณฑ์ เพื่อให้คําแนะนําในการออกแบบจัดสรรพื้นที่ภายในทัณฑนิคม และเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดําเนินงานทัณฑนิคมให้ได้มาตรฐานเดียวกับทัณฑนิคมในประเทศแถบยุโรปตะวันตก[24] ซึ่งตามทัศนะของเบรารเดลีทัณฑนิคมเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่าห่างไกลที่รวบรวมนักโทษที่กรมราชทัณฑ์ส่งมาเพื่อปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะกับการกสิกรรมและอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาในแง่ของหลักทัณฑวิทยา ทัณฑนิคมยังเป็นสถานที่ลงโทษชั้นเลิศ และการราชทัณฑ์ทั่วโลกต่างเห็นพ้องว่าการส่งนักโทษมาอยู่ในทัณฑนิคมมีส่วนช่วยฟื้นฟูให้สามารถกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้จากการอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและการทํางานกลางแจ้งอันเป็นเครื่องมือให้นักโทษมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความคิดที่ ผ่องใส รวมถึงได้สร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นักโทษภายในทัณฑนิคมจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับกรรมกรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้คุม เช่น การปรับปรุงพื้นที่ สร้างถนน ขุดคลอง สร้างที่พัก เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทําป่าไม้ เผาถ่าน และขุดแร่ ความสําเร็จของการจัดตั้งทัณฑนิคมนั้นจึงเป็นการตระเตรียมพื้นที่ไว้สําหรับให้ครอบครัวของนักโทษได้ไปทํามาหาเลี้ยงชีพยกที่ดินเหล่านั้นให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเหล่านักโทษ ตลอดจนยกฐานะทัณฑนิคมให้เป็นคณาภิบาล[25]

การจัดตั้งและดําเนินงานทัณฑนิคมในสมัยรัฐบาลคณะราษฎรนับว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับทัณฑนิคมในยุโรปสมัยใหม่นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่มีลักษณะโดดเด่นอยู่ 3 ประการ ได้แก่ (1) ที่ตั้งของทัณฑนิคมอยู่ในเขตชนบทและตัดขาดจากพื้นที่เมือง นักโทษจะทํางานกลางแจ้งตลอดทั้งวันและเรือนขังนักโทษมีความแตกต่างจากเรือนจําสมัยใหม่ (2) ชาวนิคมเป็น “คนที่ถูกลงโทษทางอาญา” (criminalized) ผู้ถูกศาลพิพากษาจําคุกหรือเป็นกลุ่มคนที่ถูกควบคุมตามคําสั่งของศาลอาญา ศาลทหาร ศาลการเมือง และตํารวจ เพื่อความปลอดภัยของสังคม และ (3) จากความพยายามหาผลประโยชน์สูงสุดจากนักโทษ การใช้แรงงานของนักโทษจึงกลายเป็นหัวใจสําคัญของกิจการทัณฑนิคม[26]

รัฐบาลสยามได้ออกแบบให้ทัณฑนิคมเป็นสถาบันราชทัณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่ป่าเขาห่างไกลจากชุมชนเมืองเพื่อใช้ธรรมชาติเป็นปราการในการตัดขาดชาวนิคมออกจากโลกภายนอก ส่งผลให้การหลบหนีออกจากทัณฑนิคมเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันทัณฑนิคมธารโตยังอยู่ไม่ไกลจากพรมแดนประเทศสยามที่ติดกับอาณานิคมมลายาของอังกฤษ หากมีนักโทษหลบหนีทางอาณานิคมอังกฤษจะจับกุมและส่งตัวนักโทษเหล่านี้กลับมายังประเทศสยามตามข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดังนั้นทัณฑนิคมจึงไม่จําเป็นต้องออกแบบเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนและมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันนักโทษหลบหนีเหมือนกับเรือนจําในเขตเมือง สถาปัตยกรรมราชทัณฑ์ในทัณฑนิคมจึงประกอบด้วยกําแพงเรือนจําไม้หรือสังกะสี ซึ่งสร้างล้อมรอบกองบัญชาการเรือนจํา บ้านพักผู้บัญชาการเรือนจําและเจ้าพนักงาน เรือนขังนักโทษ โรงพยาบาล โรงครัว โรงเลี้ยงอาหาร และโรงเก็บพัสดุ โดยอาคารทั้งหมดล้วนถูกออกแบบให้มีลักษณะเรียบง่าย ประหยัด เน้นพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง อันสัมพันธ์กับผลผลิตจากกิจการป่าไม้ของแต่ละทัณฑนิคม ดังปรากฏจากภาพถ่ายเรือนจําภาคธารโตใน พ.ศ. 2479 ที่แสดงภาพอาคารเรือนขังนักโทษขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้หลังคาสังกะสีโดยมีกําแพงเรือนจําไม้ล้อมรอบ และนอกแนวกําแพงไม้เป็นอาคารที่ทําการหรือบ้านพักเจ้าพนักงานเรือนจํา

ภายในเรือนจําภาคธารโต ผู้บัญชาการเรือนจําได้ออกแบบและจัดวางหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับพื้นที่ของเรือนจําและสัมพันธ์กับสภาพภูมิประเทศ เพื่อความสะดวกในการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภค การปกครอง การจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติ และการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง โดยที่ตั้งหน่วยงานแบ่งออกเป็น 6 พื้นที่ ได้แก่

(1) ตําบลบาตูตามง ตั้งอยู่บริเวณปากทางถนนสายยะลา-เบตง บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของหมู่รักษาการและหน่วยตรวจหาแร่

(2) ตําบลไอเยอร์กระดง อยู่บริเวณริมถนนสายยะลา-เบตง เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการชั่วคราวสําหรับการขยายงานทัณฑนิคมและหน่วยป่าไม้โรงเลื่อยจักร

(3) ตําบลบันนังแบแจะ เป็นที่ตั้งหน่วยย่อยหิน เนื่องจากมีหินคุณภาพดีเหมาะสําหรับใช้ในการทําถนน

(4) ตําบลบ้านแหร เป็นบริเวณกึ่งกลางของพื้นที่ทัณฑนิคม เหมาะสําหรับการอํานวยการกิจการต่าง ๆ ของทัณฑนิคม รวมถึงมีความสะดวกในการติดต่อคมนาคมทั้งภายในและภายนอกนิคม ดังนั้นพื้นที่นี้จึงถูกกําหนดเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทัณฑนิคม หน่วยพยาบาลกลาง และหมู่รักษาการ

(5) ตําบลบัวทอง เป็นพื้นที่ราบและห่างไกลจากถนนสายยะลา-เบตง เหมาะกับการตั้งเรือนจําสําหรับเป็นที่ควบคุมผู้ต้องขังที่ยังไม่ได้รับความไว้วางใจให้อยู่เขตทัณฑนิคม รวมถึงใช้เป็นที่ตั้งหน่วยกสิกรรมปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

(6) ตําบลบ้านโต อยู่บริเวณปลายถนนสายยะลา-เบตงของทัณฑนิคมเป็นที่ตั้งหน่วยรักษาการและหน่วยทําแร่[27]

 


เรือนจำภาคธารโต อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา พ.ศ. 2479
ที่มา : University of Wisconsin-Milwaukee Libraries, Robert L. Pendleton Collection

 


แผนผังเรือนจำภาคธารโต จังหวัดยะลา
ที่มา : กรมราชทัณฑ์ 80 ปี (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมราชทัณฑ์, 2539), 163.

 

 


แผนผังเรือนจำภาคคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา
      ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ

 

แผนผังเรือนจําภาคคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา แสดงให้เห็นว่าเรือนจําแห่งนี้ประกอบด้วยเรือนขังนักโทษ 4 หลัง ห้องขังพิเศษสําหรับนักโทษที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเรือนจํา ที่พักยาม 2 หลัง โรงเก็บวัสดุ 2 หลัง โรงเลี้ยงอาหารนักโทษ 1 หลัง โรงครัว 1 หลัง และโรงพยาบาล 1 หลัง ส่วนบ้านพักเจ้าพนักงานอยู่ภายนอกเขตกําแพงเรือนจํา จากแผนผังเรือนจํานี้นับเป็นตัวอย่างที่สะท้อนการออกแบบเรือนจําภายในทัณฑนิคมว่ามีหน้าที่เพียงคุมขัง จัดเลี้ยง อาหาร และรักษาพยาบาลแก่นักโทษเท่านั้น ขณะที่การทํางานของนักโทษนั้นอยู่ภายนอกเขตกําแพงเรือนจํา โดยผู้บัญชาการทัณฑนิคมแต่ละแห่งจะตั้งหน่วย หรือกองงานที่มีลักษณะเป็นเรือนจําชั่วคราว เพื่อดําเนินกิจการทางเศรษฐกิจโดยอาศัยแรงงานนักโทษกระจายไปตามพื้นที่อันกว้างใหญ่ของทัณฑนิคม

 

ปฏิบัติการราชทัณฑ์ระบอบใหม่ในทัณฑนิคม

ปฏิบัติการราชทัณฑ์หลังการปฏิรูปราชทัณฑ์ของรัฐบาลคณะราษฎรปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมจากการดําเนินงานของทัณฑนิคม โดยรัฐบาลได้วางโครงการทัณฑนิคมให้เป็นสถาบันราชทัณฑ์ในอุดมคติที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและฟื้นฟูผู้ต้องขังให้กลายเป็นพลเมืองดีกลับคืนสู่สังคม ปฏิบัติการราชทัณฑ์ของรัฐต่อผู้ต้องขังในทัณฑนิคมนั้นสามารถพิจารณาได้จากการควบคุมผู้ต้องขังของเจ้าพนักงาน อันสอดคล้องกับหัวใจของระบบราชทัณฑ์สมัยใหม่ในยุโรปนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กําหนดบทบาทให้เจ้าพนักงานในสถาบันราชทัณฑ์สั่งสอนและให้การศึกษาอบรมฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง สร้างระบบ การบังคับใช้แรงงานที่มุ่งหมายจะช่วยฝึกฝนให้ผู้ต้องขังเรียนรู้วินัยในสังคมอุตสาหกรรมและสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐ ตลอดจนการจัดอาหารและดูแลสุขภาพร่ายกายผู้ต้องขังให้มีความพร้อมสําหรับการฟื้นฟูศีลธรรม[28]

จากเอกสารการดําเนินกิจการของทัณฑนิคมธารโตในช่วง พ.ศ. 2480 สงวน ตุลารักษ์ ชี้ให้เห็นว่าทัณฑนิคมมิได้มีความสําคัญในแง่ของเศรษฐกิจเท่านั้นยังมีคุณค่าในฐานะเป็นสิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศสยามในระบอบใหม่ อันเป็นผลมาจากการดําเนินนโยบายราชทัณฑ์ของรัฐบาลที่ประสงค์จะใช้ทัณฑนิคมเป็นพื้นที่ต้นแบบในการดําเนินงานทางเศรษฐกิจทั้งการบุกเบิกที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาและอบรมศีลธรรมให้แก่นักโทษ รวมถึงการดําเนินงานด้านสาธารณสุขและสุขาภิบาล โดยใช้แรงงานนักโทษในการขับเคลื่อนกิจการต่าง ๆ พร้อมกันนั้นกรมราชทัณฑ์ยังเปิดโอกาสให้ข้าราชการไทย พระสงฆ์ และชาวต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าเยี่ยมชมทัณฑนิคมแห่งนี้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2479-2480 เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกิจการทัณฑนิคมให้ก้าวหน้ามากขึ้น[29] อันนําไปสู่การขยายกิจการทัณฑนิคมให้กว้างไกลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการหาผลประโยชน์จากทัณฑนิคมแห่งนี้

 

เศรษฐกิจการราชทัณฑ์ในทัณฑนิคม

จากการศึกษาทัณฑนิคมธารโตของภมรี สุรเกียรติ ชี้ให้เห็นว่าการจัดตั้งทัณฑนิคมยังเกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐในการนํานักโทษไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพื่อบุกเบิกป่าดิบอันรกร้างว่างเปล่าให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทํากิน อันเป็นการนําคนไม่พึงประสงค์ออกจากสังคม ขณะเดียวกันนักโทษยังถูกแปรมาเป็นแรงงานที่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ในบริเวณที่ห่างไกล อันทําให้กรมราชทัณฑ์ในระบอบใหม่มีลักษณะเป็นกระดูกสันหลังในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของชาติ[30]

การนําแรงงานนักโทษมาเป็นแรงงานในการสร้างผลประโยชน์ให้แก่ทัณฑนิคมถือเป็นหัวใจของการดําเนินกิจการทัณฑนิคมในระบอบใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้แก่กรมราชทัณฑ์ รวมถึงเป็นการเป็นการฝึกฝนอบรมวิชาชีพแก่นักโทษไปในตัว การดําเนินงานทางเศรษฐกิจของทัณฑนิคมเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของระบบเศรษฐกิจภายในเรือนจําที่รัฐบาลคณะราษฎรวางโครงการไว้ โดยอาศัยเงินทุนและแรงงานนักโทษจํานวนมากมาใช้ดําเนินการ ซึ่งกิจการทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของทัณฑนิคมสามารถจําแนกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) กิจการป่าไม้และโรงเลื่อย (2) กิจการกสิกรรม (3) กิจการอื่น ๆ ตามทรัพยากรธรรมชาติของทัณฑนิคม

(1) กิจการป่าไม้และโรงเลื่อย

กิจการป่าไม้และโรงเลื่อยจักรเป็นกิจการแรกที่ทัณฑนิคมดําเนินงานนับตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งทัณฑนิคม อันสัมพันธ์กับการหักโค่นต้นไม้เพื่อบุกเบิกพื้นที่นิคมและนําไม้มาใช้เป็นวัสดุปลูกสร้างโรงเรือนชั่วคราว โดยทัณฑนิคมธารโตมีการดําเนินกิจการป่าไม้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 ซึ่งแบ่งสัดส่วนพื้นที่โค่นต้นไม้กับพื้นที่ป่าที่จะสงวนไว้ใช้ประโยชน์ในการเป็นแหล่งอาหารหรือหาของป่าอย่างชัดเจน[31]ด้านทัณฑนิคมคลองไผ่นั้นดําเนินกิจการป่าไม้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องจากนิคมแห่งนี้มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงสามารถหารายไดจากการตัดไม้ ทําฟืนส่งขายให้กับกรมรถไฟ รวมถึงการตั้งโรงเลื่อยไม้สําหรับขายไม้ให้กับหน่วยราชการและประชาชน โดยทัณฑนิคมแห่งนี้ตั้งโรงเลื่อยขนาดเล็ก 1 แห่งขึ้นใน พ.ศ. 2480 สามารถทําการเลื่อยไม้ได้วันละ 120 คิวบิกฟุต ซึ่งสร้างรายได้สูงถึง 21,600 บาทต่อปี[32]

(2) กิจการกสิกรรม

การกสิกรรมเป็นการดําเนินกิจการในระยะที่สองหลังจากได้บุกเบิกและปรับสภาพพื้นที่จากป่าเขารกทึบให้กลายเป็นที่ดินสําหรับเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ สําหรับเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้แก่นักโทษในนิคม รวมถึงเป็นการฝึกฝนให้นักโทษมีทักษะด้านการกสิกรรมสําหรับประกอบอาชีพในอนาคตโดยงานกสิกรรมในทัณฑนิคมธารโตเริ่มต้นจนเป็นรูปเป็นร่างใน พ.ศ. 2479 บริเวณที่ตั้งของเรือนจําภาคตําบลไอเยอร์กะดง ใช้พื้นที่ประมาณ 50 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือแผนกพืชและสัตว์ แผนกพืชนั้นได้ปลูกพืชพื้นเมือง และผักจีนต่าง ๆ เช่น ผักกาดกินใบ และผักกินหัว ถั่วต่าง ๆ ไร่ฟักทอง ฟักเขียว และปลูกพืชไว้เป็นอาหารสัตว์ จําพวกข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วลิสง มันเทศ โดยอาศัยแรงงานผู้ต้องขังและไม่ต้องอาศัยเงินลงทุนจากกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด ส่วนแผนกสัตว์ได้จัดการเลี้ยงสุกร เป็ด ไก่ และกระต่าย[33] สําหรับทัณฑนิคมคลองไผ่นั้นได้ดําเนินงานด้านกสิกรรมที่แตกต่างจากทัณฑนิคมธารโตพอสมควร เนื่องจากมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 3 แสนไร่ จึงสามารถทําการเพาะปลูกพืชได้หลากหลาย การเพาะปลูกของนิคมแห่งนี้เริ่มต้นจากการทําไร่ถั่วลิสง แต่ล้มเลิกไปเนื่องจากต้องปันแรงงานบางส่วนไปก่อสร้างสถานราชการต่าง ๆ และหันไปทําไร่พริกขี้หนูเพราะเป็นสินค้าสําคัญของภาคอีสาน รวมถึงต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงนักโทษ เมื่อทําการปลูกเองได้จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 900 บาทต่อปี นอกจากนั้นยังมีการปลูกฝ้าย ปลูกละหุ่ง ปลูกถั่วเหลือง ทํานา และสวนผัก ซึ่งหากปลอดจากภัยธรรมชาติแล้วก็สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น[34]

(3) กิจการอื่น ๆ ตามทรัพยากรธรรมชาติของทัณฑนิคม

กิจการอุตสาหกรรมสําคัญในทัณฑนิคมธารโตที่ประสบความสําเร็จแตกต่างจากทัณฑนิคมอื่น ๆ คือการย่อยหิน เนื่องจากทรัพยากรในพื้นที่เอื้ออํานวยเป็นอย่างยิ่ง หมู่งานย่อยหินนี้ตั้งขึ้นที่เขาบันนังแบและช่วงปลาย พ.ศ. 2478 เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือการสร้างถนนสายยะลา-เบตงให้สามารถดําเนินการได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นซึ่งกิจการย่อยหินนี้ได้มีการทําสัญญารับเหมากับกรมโยธาเทศบาลเพื่อนําผลผลิตส่งต่อไปยังกองทางตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2479 เป็นต้นมา โดยมีการจัดสรรโครงการงบประมาณและแผนกปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจน[35] หมู่งานย่อยหินนี้ทํากําไรให้เรือนจําได้มากกว่า 5,000 บาท ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้การสร้างถนนสายยะลา-เบตงดําเนินไปได้อย่างลุล่วง[36]

เมื่อการย่อยหินที่ทัณฑนิคมธารโตสําเร็จลุล่วง การราชทัณฑ์จึงพยายามผลักดันกิจการนี้ไปดําเนินการในทัณฑนิคมอื่น ๆ ด้วย ทว่าด้วยสภาพภูมิประเทศ และทรัพยากรในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน กิจการย่อยหินในทัณฑนิคมคลองไผ่จึงไม่ใคร่ประสบความสําเร็จมากนัก แต่ก็สามารถสร้างรายได้จากการรับจ้างกองทางหลวงในการย่อยหินขุดดิน[37] สําหรับกิจการที่สร้างรายได้ให้แก่ทัณฑนิคมแห่งนี้คือ การเผาถ่าน ที่ทํารายได้สูงถึงปีละ 6,000 บาท โดยแทบจะเป็นกําไรล้วน ๆ เนื่องจากนิคมแห่งนี้มีเครื่องมือเครื่องใช้ แรงงาน และทรัพยากรใน นอกจากจะส่งขายให้แก่ชาวบ้านและร้านค้า การใช้เผาถ่านอย่างมากมาย[38]ในท้องถิ่นแล้ว ถ่านของทัณฑนิคมคลองไผ่ยังได้ขนส่งถ่านผ่านตู้รถไฟมาขายในกรุงเทพฯ ที่ร้านค้าราชทัณฑ์วันละ 150 กระสอบ[39]

 

การพิชิตมาลาเรียในทัณฑนิคม

แม้ว่ารัฐบาลจะจัดวางโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในการดําเนินกิจการทัณฑนิคม เนื่องด้วยมุ่งเน้นการสร้างผลประโยชน์แก่ราชทัณฑ์เป็นสําคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคํานึงถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของนักโทษ ซึ่งนโยบาย ด้านสุขอนามัยผู้ต้องขังในสถาบันราชทัณฑ์สมัยใหม่วางอยู่บนพื้นฐานแนวคิด ที่ว่าสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ไม่สะอาดเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม[40] ดังนั้นรัฐมีความจําเป็นต้องจัดหาอาหารการกินให้แก่ผู้ต้องขังตามความเหมาะสมกับการบํารุงรักษาสุขภาพ ในกรณีของการราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ได้กําหนดให้เรือนจําทุกแห่งต้องจัดการอนามัยและการสุขาภิบาลเพื่อให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพ ร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมีกําลังในการทํางานตามกิจการต่าง ๆ ของเรือนจํา[41] ซึ่งภายในทัณฑนิคมนั้นได้มีการจัดการเรื่องอนามัยและสุขาภิบาล เช่นเดียวกับสถาบันราชทัณฑ์แห่งอื่น ๆ ทว่าด้วยธรรมชาติของทัณฑนิคมที่ตั้งอยู่กลางป่าทึบห่างไกลจากสังคมเต็มไปด้วยภยันตราย ทั้งจากสภาพภูมิประเทศ สัตว์ร้าย และโรคภัยไข้เจ็บจากป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งไข้มาลาเรีย จากยุงที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งกับนักโทษและเจ้าพนักงานจํานวนมาก อันส่งผลต่อภาวะขาดแคลนแรงงานในการดําเนินงานของทัณฑนิคม สะท้อน ได้จากสถิติผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทัณฑนิคมธารโตมีจํานวนถึง 1,809 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยไข้มาลาเรีย[42] ดังนั้นทัณฑนิคมทุกแห่งจึงให้ความสําคัญกับการปราบไข้มาเลเรียอย่างเป็นกิจลักษณะ

ทัณฑนิคมธารโตใช้วิธีแก้ปัญหามาลาเรียจากต้นเหตุด้วยการรักษาความสะอาดของลําธารโดยเก็บขยะ สิ่งปฏิกูล ต้นพืชหรือสวะต่าง ๆ ที่ลอยมา กับน้ำออกเพื่อดูแลให้น้ําสะอาดอยู่เสมอ กําจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงโดยให้นักโทษถางพงตามตลิ่งริมน้ำพร้อมกับขุดร่องน้ำเพื่อให้กระแสน้ำไหลได้สะดวก จนยุงไม่สามารถวางไข่ได้ ถมดินในบริเวณที่มีน้ำขัง ใช้น้ำมันโซลาพ่นตามลําธารและแหล่งน้ําต่าง ๆ ตลอดจนนําขี้เลื่อยมาชุบน้ำมันโซลาใส่กระสอบป่านแล้วใช้หินถ่วงอัดไว้ตามลําธารรอบพื้นที่ใกล้เคียงกับเรือนจํา[43]

นอกจากนี้เจ้าพนักงานภายในทัณฑนิคมยังร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรม สาธารณสุขสํารวจพื้นที่เขตทัณฑนิคมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหาและทําลาย แหล่งเพาะพันธุ์ยุง มีการประชุมชี้แจงวิธีการป้องกันโรคนี้แก่เจ้าพนักงานและ นักโทษ ตลอดจนออกตรวจเยี่ยมประชาชนในตําบลต่าง ๆ ข้างเคียงเพื่อค้นหา และรักษาผู้ป่วย รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้รู้จักดูแลรักษาตัวให้หายดีเพื่อมิให้เป็นพาหะนําโรคต่อไป ส่วนการป้องกันโรคนั้นทางเจ้าหน้าที่เสนอให้ผู้บัญชาการเรือนจําภาคคลองไผ่ระวังรักษาแหล่งน้ํามิให้เป็นแหล่ง เพาะพันธุ์ยุง ตลอดจนแนะนําให้จัดหามุ้งลวดมาติดที่เรือนขังนักโทษ หรือ แจกจ่ายมุ่งให้นักโทษในเวลานอนเพื่อป้องกันมิให้นักโทษถูกยุงกัดอีกด้วย[44]

 

ปัญหาการดําเนินงานในทัณฑนิคม

การต่อสู้กับไข้มาลาเรียของทัณฑนิคมต่าง ๆ มิใช่ปัญหาเดียวที่ทัณฑนิคมต้องจัดการแก้ไข ทว่าการดําเนินงานภายในทัณฑนิคมทั้ง 2 แห่งยังประสบปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายนอกเหนือไปจากภัยอันตรายจากป่า ยุง และสัตว์ร้ายนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมและดูแลความสงบเรียบร้อยภายในทัณฑนิคม นักโทษทะเลาะเบาะแว้งกัน เจ้าพนักงานมีวินัยหย่อนยาน รวมถึงปัญหาการ ทํางานที่ไร้ประสิทธิภาพของนักโทษ อย่างไรก็ตามปัญหาที่กล่าวมานี้ยังไม่หนักหนาเท่ากับปัญหาการหลบหนีของนักโทษ ปัญหาการดําเนินกิจการที่ ล้มเหลวจากการบริหารและปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของเจ้าพนักงาน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้ง ที่ 2 อันนํามาสู่การล่มสลายของทัณฑนิคมในที่สุด

ถึงแม้ว่าทัณฑนิคมจะเป็นสถาบันราชทัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกลางป่าเขาหรือเป็นเกาะกลางทะเล ซึ่งมีธรรมชาติเป็นปราการป้องกันการหลบหนีของนักโทษในทัณฑนิคม ทว่าทัณฑนิคมทุกแห่งกลับประสบปัญหานักโทษหลบหนีออกจากนิคมเป็นจํานวนมาก อันสะท้อนถึงปัญหาการควบคุมนักโทษภายในทัณฑนิคม ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาและข้อจํากัดของการดําเนินงานตามนโยบายราชทัณฑ์สมัยคณะราษฎร ทั้งนี้จากนโยบายราชทัณฑ์ที่มีความมุ่งหมายจะนํานักโทษมาเป็นแรงงานในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับรัฐ กรมราชทัณฑ์จึงได้เร่งรัดการผลิตผ่านการจัดตั้งทัณฑนิคมและเรือนจําชั่วคราวเพื่อนํานักโทษไปดําเนินกิจการต่าง ๆ ของเรือนจําประกอบกับในคราวที่ขุนศรีศรากรเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังมีคําสั่งปลดโซ่ตรวนผู้ต้องขังในเรือนจําทั่วทั้งประเทศ[45] เพื่อยกระดับการควบคุมผู้ต้องขังให้มีมนุษยธรรมมากขึ้น รวมถึงให้ผู้ต้องขังสามารถทํางานต่าง ๆ ได้ สะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้จะมีการจ่ายนักโทษจํานวนมากออกไปทํางานจะสร้างรายได้ผลประโยชน์ให้กับเรือนจํา แต่กรมราชทัณฑ์กลับต้องประสบปัญหาการหลบหนีของนักโทษที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเรือนจําจัดสรรผู้คุมจํานวนน้อยส่งผลให้นักโทษหลบหนีจากการควบคุมได้สะดวก[46] ซึ่งจากสถิติผู้ต้องขังหลบหนีใน พ.ศ. 2480 ปรากฏว่ทัณฑนิคมธารโตและทัณฑนิคมคลองไผ่มีผู้ต้องขังหลบหนีสูงถึง 47 คนจากจํานวนนักโทษที่หลบหนีทั่วประเทศ 784 คน[47] และปัญหานี้ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงสงครามโลกจนทําให้พันตํารวจเอก มงคล กล้ากลางสมร อธิบดีกรมราชทัณฑ์มีคําสั่งให้เรือนจําทุกแห่งนําเครื่องพันธนาการกลับมาใช้กับผู้ต้องขังเพื่อป้องกันการหลบหนีอีกครั้งใน พ.ศ. 2486

ความล้มเหลวในการดําเนินกิจการต่าง ๆ ของทัณฑนิคมแทบทุกแห่งเป็นปัญหาสะสมเรื้อรังและเป็นเงื่อนไขสําคัญประการหนึ่งที่นําไปสู่การล่มสลายของทัณฑนิคมในช่วงทศวรรษ 2490 การดําเนินงานของเรือนจําภาคธารโต จังหวัดยะลานับตั้งแต่ พ.ศ. 2478-2482 เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายในทัณฑนิคมได้อย่างเด่นชัดที่สุด นับตั้งแต่ปัญหาการทําบัญชีการควบคุมเงิน รวมถึงปัญหาการดําเนินกิจการต่าง ๆ ของนิคม

เมื่อพิจารณารายงานการตรวจบัญชีการเงินเรือนจําภาคธารโตพบว่า เรือนจําแห่งนี้ขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในการทําบัญชี โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีจากภายนอกต้องประสบกับความยุ่งยากและเสียเวลาเป็นอย่างยิ่งเพราะการจัดทําบัญชีมีการแบ่งแยกตามหมวดงานของนิคม แต่ละหมวดต่างก็ทําบัญชีของตัวเองส่งผลให้เอกสารและหลักฐานทางการเงินกระจัดกระจาย และสูญหายไปจํานวนมาก ยากต่อการตรวจสอบบัญชี[48] ทัณฑนิคมธารโตยังมีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการควบคุมการเงินหลายประการ โดยเฉพาะการให้นักโทษทํางานในลักษณะเสมียนพนักงาน เช่น การซื้อขายของ การรับเงิน การทําบัญชี และทํางานเอกสารต่าง ๆ ขัดกับระเบียบปฏิบัติทางราชการ นอกจากนี้ ร้านสหกรณ์ของทัณฑนิคมยังประสบปัญหาขาดทุนเนื่องจากการทุจริตของเจ้าพนักงานและมีการทําบัญชีไม่ครบถ้วนเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2484 จนถึง พ.ศ. 2488

ภาวะสงครามได้กระทบต่อการดําเนินกิจการทัณฑนิคมทุกแห่ง นับตั้งแต่ปัญหาการขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์อย่างรุนแรง งบประมาณในการลงทุนกิจการต่าง ๆ ส่วนมากไม่ได้รับการอนุมัติจากทางนิคมจึงต้องแก้ปัญหาขัดสนเงินลงทุนหมุนเวียนส่วนกลางในการเบิกจ่าย ด้วยการใช้จ่ายอย่างประหยัดหรือระงับกิจการบางอย่างที่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงพยายามหากิจการใหม่ ๆ เพื่อให้ทัณฑนิคมสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างเพียงพอ ทว่ากลับไม่ประสบความสําเร็จมากนัก นอกจากนี้เจ้าพนักงานทัณฑนิคมยังต้องถูกโอนย้ายไปรับราชการทหารอันส่งผลต่อการควบคุมและปกครองนักโทษในทัณฑนิคม

 

ความพยายามในการฟื้นฟูทัณฑนิคมของรัฐบาลหลังสงครามโลก

แม้ว่าทัณฑนิคมแทบทุกแห่งจะประสบปัญหาและดําเนินกิจการล้มเหลวอย่างเด่นชัดในช่วงสงครามโลก แต่เมื่อกลุ่มคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนที่นําโดยปรีดี พนมยงค์ ได้ขึ้นสู่อํานาจทางการเมืองหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวา สวัสดิ์ได้พยายามฟื้นฟูกิจการทัณฑนิคมที่ทรุดโทรมในช่วงสงครามให้กลับมามี ชีวิตชีวาอีกครั้ง กล่าวคือรัฐบาลทั้งสองชุดหวังว่า ทัณฑนิคมจะกลายเป็น สถานที่อบรมและฝึกหัดผู้ต้องขังให้มีความชํานาญด้านกสิกรรมในรูปแบบนิคม เกษตรกรรมครบวงจร ทั้งการปลูกพืชสวน พืชไร่ และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้นิคม เหล่านี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และนําผลผลิตที่ได้ขายให้กับประชาชนในราคาถูกอันจะช่วยกอบกู้วิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงหลังสงคราม

ดังนั้นทัณฑนิคมธารโตจึงเริ่มกิจการสวนมะพร้าว และสวนยางพารารวมไปถึงจัดตั้งเรือนจําชั่วคราวที่บ้านควนยุติ จังหวัดพัทลุง เพื่อปลูกพืชผักสวนครัว ทํานาข้าวและโรงสีข้าวแล้วส่งอาหารไปเลี้ยงผู้ต้องขังตามเรือนจําและหน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ อันบรรเทาปัญหาขาดแคลนข้าวในพื้นที่ภาคใต้ได้ในระดับหนึ่ง[49]

นอกจากนี้ทัณฑนิคมธารโตยังมีการขยายกิจการเพิ่มเติมโดยตั้งเรือนจําชั่วคราวที่เขาไชยสน จังหวัดพัทลุง สําหรับนํา ขี้ค้างคาวมาทําเป็นปุ๋ยนาข้าวส่งให้แก่เรือนจําชั่วคราวบ้านควนกุติ และตั้งเรือนจําชั่วคราวที่บ้านต้นโดน จังหวัดพัทลุง เพื่อดําเนินกิจการลําเลียงขนส่ง อาหารดิบและสิ่งของต่าง ๆ ระหว่างสถานีรถไฟบ้านต้นโดนกับเรือนจําชั่วคราว บ้านควนกุติอีกด้วย[50]

ขณะที่ทัณฑนิคมคลองไผ่ยังคงดําเนินกิจการผลิตฟืนส่งให้กรมรถไฟและทําการเผาถ่านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตถ่านของนิคมแห่งนี้ได้ส่งมาขายถึงกรุงเทพฯ ด้วยราคาย่อมเยาอันเป็นการช่วยเหลือ การดํารงชีพของคนเมืองในยามที่บ้านเมืองขาดแคลนเชื้อเพลิงหลังสงคราม นอกจากนี้จากสภาพภูมิประเทศของเรือนจําแห่งนี้ที่อยู่บนที่ราบสูงและมีแหล่งน้ําธรรมชาติ ดังนั้นจึงเปิดช่องให้ทัณฑนิคมแห่งนี้ดําเนินกิจการกสิกรรม อย่างกว้างขวาง ได้แก่ การทําไร่ทําสวน เช่น พริก มะเขือ ฟักทอง ฟักเขียว ข้าวโพด กล้วย มะนาว มะพร้าว ขนุน รวมถึงประกอบกิจการเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ สุกร โค กระบือ

นอกจากนี้รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ยังตั้งทัณฑนิคมแห่งใหม่ขึ้นคือ “เรือนจําเกษตรกรรมบางเขน” ที่อําเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ตามความคิดริเริ่มของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส โดยเรือนจําเกษตรแห่งนี้แบ่งออก เป็น 2 สาขาคือบริเวณลาดยาวและบางบัว มีจุดมุ่งหมายนําแรงงานนักโทษ มาทําไร่ ทํานา ทําสวน และเลี้ยงสัตว์ส่งให้องค์การสรรพาหาร ซึ่งที่ตั้งของ ทัณฑนิคมแห่งนี้อยู่บริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ แตกต่างจากทัณฑนิคมแห่งอื่น ๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเขาห่างไกลจากชุมชนเมือง เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ประสงค์จะใช้นิคมเกษตรกรรมแห่งนี้ดําเนินการผลิตพืชผลเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน อาหารในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงหลังสงครามโลกเป็นสําคัญ โดยผลผลิตที่ได้กรมราชทัณฑ์จะส่งให้องค์การสรรพาหารจําหน่ายให้แก่ประชาชนในราคาถูกต่อไป[51]

แต่อย่างไรก็ตามองค์การสรรพาหารดําเนินงานได้เพียง 5 เดือนกลับต้องประสบภาวะล้มละลายเนื่องจากปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่องค์กร รัฐบาล จึงมีคําสั่งให้ยุบเลิกองค์การสรรพาหารในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2490[52] ดังนั้นกิจการของเรือนจําเกษตรกรรมบางเขนจึงได้รับผลกระทบไม่มีตลาดรับ ซื้อผลผลิต ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหาร วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 กลุ่มชนชั้นนําใหม่ต่างพยายามกวาดล้างอิทธิพลของกลุ่มปรีดีในวงราชการ รวมถึงยกเลิกโครงการต่าง ๆ ที่ถูกผลักดันโดยกลุ่มอํานาจเดิมส่งผลให้โครงการเรือนจําเกษตรกรรมบางเขนไม่ได้รับการสานต่อและถูกยุบเลิกไปโดยปริยาย

 

อวสานทัณฑนิคมของคณะราษฎรหลังการรัฐประหาร 2490

จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ได้ส่งผลให้ยุคสมัยของคณะราษฎรสิ้นสุดลง การดําเนินงานทัณฑนิคมในประเทศไทย ในช่วทศวรรษ 2490 จึงไม่ได้รับความเอาใจใส่จากรัฐบาลในการปรับปรุงโครงการทัณฑนิคมตามที่รัฐบาลพลเรือนหลังสงครามโลกได้วางเอาไว้ ดังนั้นกิจการของทัณฑนิคมจึงประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การดําเนินงานทัณฑนิคมเสื่อมโทรมลงอย่างชัดเจน ดังสะท้อนจากทัณฑนิคมธารโตมิได้ดําเนินงานตามโครงการฟื้นฟูที่ได้วางไว้ มีการจัดสรรนักโทษจํานวนน้อย สําหรับเฝ้ารักษาโรงเรือนต่าง ๆ สวนไม้ยืนต้น และเหมืองแร่ของนิคมแต่นักโทษส่วนมากถูกย้ายไปทํานาที่เรือนจําชั่วคราวควนกุติ จังหวัดพัทลุง

ดังนั้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 กระทรวงมหาดไทยจึงเสนอโครงการยุบเลิกทัณฑนิคมธารโต เนื่องจากเห็นว่าการดําเนินงานที่ผ่านมาของทัณฑนิคมไม่ประสบผลตามความมุ่งหมาย โดยเสนอให้ย้ายนักโทษและเจ้าพนักงานจากทัณฑนิคมธารโตไปรวมกับเรือนจําประจําจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนที่ตั้งทัณฑนิคมเดิมให้เรียกว่า “เรือนจําธารโต” พร้อมกันนั้นในปีเดียวกันกรมราชทัณฑ์ยังได้ยกเลิกเรือนจําชั่วคราวควนกุติที่เคยเป็นเรือนจําสาขาของทัณฑนิคมธารโต แล้วให้กรมประชาสงเคราะห์เข้ามาดําเนินกิจการแทน[53] 

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ทัณฑนิคมธารโตที่เคยดําเนินกิจการอย่างกว้างขวางและมีสถานะเป็นเรือนจําขนาดใหญ่ระดับเรือนจําภาคจึงถูกลดสถานะเป็นเพียงเรือนจําขนาดเล็กอยู่ในสังกัดเรือนจําจังหวัดยะลา และมิได้มีการประกอบกิจการใด ๆ จากนั้นใน พ.ศ. 2499 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังเห็นว่า “ควรให้กรมราชทัณฑ์เลิกเรือนจําที่ธารโต และโอนให้กรมประชาสงเคราะห์จัดเป็นนิคมสร้างตัวเองจะได้ประโยชน์กว่า” และเมื่อนําเรื่องนี้ส่งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า “ผมเห็นด้วย เรือนจําก็ต้องเป็นเรือนจํา จะเอานักโทษไปตั้งขึ้นเพื่อทํางานอย่างอื่น แล้วอาศัยว่าเป็นเรือนจํา ผมไม่เห็นด้วย นอกจากกรณีพิเศษ ฉะนั้นให้เลิกเรือนจํานี้ และมอบกรมประชาสัมพันธ์ให้จัดการทํา เป็นนิคมสร้างตนเองต่อไป”[54] ดังนั้นทัณฑนิคมธารโตที่ดําเนินการเป็นระยะ เวลา 21 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2478 จึงสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้ยุบเลิกเรือนจําภาคธารโตอย่างเป็นทางการ แล้วส่งมอบที่ดินและทรัพย์สินของเรือนจําแห่งนี้ให้แก่กรมประชาสงเคราะห์เพื่อดําเนินการตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองต่อไป

จากทัศนะของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ต่อการยุบเลิกทัณฑนิคมธารโตข้างต้น เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขังในกิจการราชทัณฑ์ไทย ที่กลับไปให้ความสําคัญกับการควบคุมผู้ต้องขังในสถาบันราชทัณฑ์ที่มั่นคงแข็งแรง มิใช่การนําผู้ต้องขังไปเป็นแรงงานในการสร้างประโยชน์ให้แก่รัฐแบบทัณฑนิคม ที่มุ่งหมายให้นักโทษบุกเบิกที่ดินห่างไกลและดําเนินกิจการทางเศรษฐกิจให้กับกรมราชทัณฑ์ ประกอบกับในช่วงปลายทศวรรษ 2490 รัฐบาลไทยได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนากิจการด้านสังคมสงเคราะห์อย่างแข็งขัน รัฐได้แสดงบทบาทในการดูแลสวัสดิภาพและจัดบริการสงเคราะห์แก่คนไร้ที่พึ่ง อันส่งผลให้กรมประชาสงเคราะห์ได้ขยายกิจการกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ด้วยการนําผู้ยากไร้มาบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่าเพื่อตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพในนิคมพร้อมกับอบรมฝึกฝนชาวนิคมเพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ การดําเนินงานดังกล่าวมีลักษณะทับซ้อนกับงานทัณฑนิคมของกรม ราชทัณฑ์ อันเป็นเหตุให้รัฐบาลยกเลิกการควบคุมนักโทษในรูปแบบทัณฑนิคมทั้งหมดในช่วงปลายทศวรรษ 2490 โดยทัณฑนิคมยุคคณะราษฎรแห่งสุดท้าย ในประเทศไทยคือ ทัณฑนิคมคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากทัณฑนิคมมาเป็นเรือนจําแบบปิด โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดําเนินการสร้างเรือนจําขนาดใหญ่ที่มีกําแพงล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรงในบริเวณพื้นที่ส่วนหนึ่งของทัณฑนิคมเดิมและตั้งเป็น “เรือนจํากลางคลองไผ่” ซึ่งดําเนินการสร้างแล้วเสร็จและเปิดใน พ.ศ. 2501[55]

 

สรุป

ทัณฑนิคมจัดตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดที่รัฐต้องการปรับปรุงกิจการราชทัณฑ์ สําหรับอบรมและฟื้นฟูนักโทษให้กลับเป็นพลเมืองดีผ่านการฝึกฝนทักษะวิชาชีพแก่นักโทษให้เป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่กรมราชทัณฑ์ โดยนายสงวน ตุลารักษ์ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ได้มีบทบาทผลักดันให้เกิดทัณฑนิคมแห่งแรกในระบอบใหม่ ณ อําเภอธารโต จังหวัดยะลา จนกลายเป็นต้นแบบของการดําเนินงานทัณฑนิคมที่ใช้แรงงานนักโทษในการบุกเบิกและปรับปรุงพื้นที่ป่าเขาห่างไกลแห่งอื่น ๆ เพื่อดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ตลอดจนจัดการดูแลสุขภาพอนามัยและให้การศึกษาวิชาชีพแก่นักโทษ

โครงการทัณฑนิคมยังมีความโดดเด่นในด้านของการออกแบบจัดสรรพื้นที่ โดยใช้ปราการธรรมชาติในการป้องกันนักโทษหลบหนี สถานที่คุมขังและเรือนพักต่าง ๆ เน้นความเรียบง่าย ให้ความสําคัญกับประโยชน์ใช้สอย และจัดวางพื้นที่การทํางานของนักโทษให้สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตามการดําเนินงานภายในทัณฑนิคมนั้นกลับประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการหลบหนีของนักโทษจํานวนมาก การทุจริตของเจ้าพนักงาน การดําเนินงานที่ขาดทุนต่อเนื่อง ปัญหาการแพร่ ระบาดอย่างรุนแรงของไข้มาลาเรีย ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทัณฑนิคมจากภาวะสงครามโลก นอกจากนี้หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 รัฐบาล ชุดใหม่ได้มีแนวคิดและวิธีการปฏิบัติต่อนักโทษที่แตกต่างจากรัฐบาลคณะราษฎร อันนําไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายราชทัณฑ์และการยุบเลิกกิจการทัณฑนิคมที่ธารโตและคลองไผ่

 

 

 

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และกองบรรณาธิการวารสารหน้าจั่วให้นำมาเผยแพร่แล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “ทัณฑนิคม: ปฏิบัติการราชทัณฑ์สมัยใหม่สมัยคณะราษฎร” ใน หน้าจั่ว. เล่ม 17 ฉบับ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2563),124-153.

 


[1] “พระราชบัญญัติดัดสันดานคนจรจัดและคนต้องโทษ หลายครั้ง ร.ศ. 127,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 25, ตอนที่ 24 (13 กันยายน ร.ศ. 127): 666-668.

[2] “หมายแจ้งโทษ ศาลพระราชอาญาส่งผู้ต้องหาไป ต่างหัวเมือง” 28 กันยายน-7 มีนาคม ร.ศ. 127, เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงนครบาล, ร.5 น.6.2/969, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

[3] “ส่งหมายแจ้งโทษรวม 53 ฉบับ เพื่อส่งตัวไปหัวเมือง,” 26 ตุลาคม ร.ศ. 127-16 มิถุนายน ร.ศ. 129, เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงนครบาล, ร.5 น.6.2/970, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

[4] “นักโทษจรจัดแลเรื่องที่คุมขัง,” 1 ธันวาคม 2453- 30 ตุลาคม 2459, เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงนครบาล, ร.6 น.5.7/3, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

[5] เรื่องเดียวกัน.

[6] “เรื่องส่งคนต้องโทษหลายครั้งหรือคนจรจัดไป ดัดสันดานไว้ต่างจังหวัดของมณฑลนครศรีธรรมราช,” ใน รายงานการประชุมสมุหเทศาภิบาล ปีที่ 33 พระพุทธศักราช 2471 (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2471), 113.

[7] “นักโทษจรจัดแลเรื่องที่คุมขัง,” 1 ธันวาคม 2453- 30 ตุลาคม 2459, เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงนครบาล, ร.6 น.5.7/3, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

[8] เรื่องเดียวกัน.

[9] “เรื่องการเรือนจํา,” ใน รายงานการประชุมสมุหเทศา ภิบาล ปีที่ 32 พระพุทธศักราช 2470 (พระนคร โรงพิมพ์เจริญผล, 2470), 24-28.

[10] กรมราชทัณฑ์, ความก้าวหน้าของการราชทัณฑ์แห่งสยามในระบอบประชาธิปไตย (พระนคร : โรงพิมพ์กอง ลหุโทษ, 2479), 10-12; กรมราชทัณฑ์, การเศรษฐกิจของเรือนจําในระบอบประชาธิปไตย (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2481), 1.

[11] Minako Sakata, “Japan in the Eighteenth and Nineteenth Centuries,” in A global history of convicts and penal colonies, ed. Clare Anderson (London: Bloomsbury Academic, 2018), 329.

[12] สงวน ตุลารักษ์, “ปาฐกถา เรื่องการราชทัณฑ์” ทัณฑวิทยา เล่ม 1 ตอนที่ 5 (ธันวาคม-มกราคม 2478): 394-395.

[13] กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลาของผู้บัญชาการเรือนจํา (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2480), 1-2.

[14] กรมราชทัณฑ์, ความคิดเห็นของผู้ที่ไปเยี่ยมเรือนจํา ภาคจังหวัดยะลา (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2480. พิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2480), 5.

[15] กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลา ของผู้บัญชาการเรือนจํา, 3-4.

[16] เรื่องเดียวกัน, 5-6.

[17] เรื่องเดียวกัน, 6-7.

[18] เรื่องเดียวกัน, 8.

[19] ธนวัฒน์ จันทรปรรณิก และยงยุทธ ฝันเผ่าเลิศ, ตํานานคุกไทย (นนทบุรี : กรมราชทัณฑ์, 2554), 244, “คําสั่ง 449/2479 เรื่องตั้งเรือนจําและผู้บัญชาการเรือนจําภาคคลองไผ่จังหวัดนครราชสีมา,” ราชกิจจา นุเบกษา เล่ม 53 (14 มิถุนายน 2479): 562

[20] “บัญชีประมาณการก่อสร้างสถานที่ราชการเรือนจํา ภาคคลองไผ่ และบัญชีเปลี่ยนแปลงรายการ จังหวัดนครราชสีมา,” พ.ศ. 2477-2480, เอกสารกระทรวงมหาดไทย มท.4.6/35, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

[21] “ขออนุญาตตัดไม้สร้างเรือนจําคลองไผ่ และเรือนขังนักโทษที่เป็นวัณโรค จังหวัดนครราชสีมา,” พ.ศ. 2479, เอกสารกระทรวงมหาดไทย, มท.4.6/30, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

[22] กรมราชทัณฑ์, การเศรษฐกิจของเรือนจําในระบอบประชาธิปไตย, 107-114

[23] ประเด็นเรื่องการควบคุมและฝึกอบรมเด็กที่กระทําผิด ดูเพิ่มเติมใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “โรงเรียนฝึกอาชีพ พื้นที่ควบคุมเด็กในสถาบันราชทัณฑ์ไทย พ.ศ. 2479-2501,” ใน ราษฎรธิปไตย: การเมือง อํานาจ และความ ทรงจําของ (คณะ) ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), 185-215.

[24] “Italian's discipline for Siam prisoners,The Singapore free press and mercantile advertiser (9 July 1938): 5; “เรื่องจ้างชาวต่างประเทศ แผนกราชทัณฑ์” พ.ศ. 2478-2485, เอกสารสํานัก เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สร.0201.19/42, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

[25] ซินยอร์ ยูเลียว เบรารเดลลี, “ทัณฑนิคม,” ใน ความคิดเห็นของผู้ที่ไปเยี่ยมเรือนจําภาคจังหวัดยะลา (พระนคร : กรมราชทัณฑ์, 2480), 8-11.

[26] Mary Gibson and Ilaria Poerio, “Modern Europe, 1750-1950,” in A global history of convicts and penal colonies, ed. Clare Anderson (London: Bloomsbury Academic, 2018), 338.

[27] กรมราชทัณฑ์, ความคิดเห็นของผู้ที่ไปเยี่ยมเรือนจํา ภาคจังหวัดยะลา (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2480. พิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2480), 11-14.

[28] Patrica O'Brien, The promise of punishment: Prisons in Nineteenth-Century France (Princeton: Princeton University Press, 1982), 304.

[29] *ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน กรมราชทัณฑ์, ความคิดเห็นของผู้ที่ไปเยี่ยมเรือนจําภาคจังหวัดยะลา (พระนคร โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2480. พิมพ์แจกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2480)

[30] ภมร สุรเกียรติ, “เปลี่ยน “ป่าดิบ” ให้เป็น “บ้าน” ชุมชนในฝัน ณ ทัณฑนิคมธารโต พ.ศ. 2478-2500,” ใน จินตทรรศน์จากปัตตานี: มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในกระแสการเปลี่ยนแปลง, ณภัค เสรีรักษ์ และรชฎสาตราวุธ, บรรณาธิการ (ปัตตานี: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2558), 250-275.

[31] กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลาของผู้บัญชาการเรือนจํา (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2480), 20-22.

[32] กรมราชทัณฑ์, การเศรษฐกิจของเรือนจําในระบอบ ประชาธิปไตย (พระนคร : โรงพิมพ์กองลหุโทษ, 2481), 92.

[33] กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลาของผู้บัญชาการเรือนจํา, 30-33.

[34] กรมราชทัณฑ์, การเศรษฐกิจของเรือนจําในระบอบ ประชาธิปไตย, 107-113.

[35] กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลา ของผู้บัญชาการเรือนจํา, 35.

[36] เรื่องเดียวกัน, 36.

[37] ขุนพิสิฐนนทเดช, บันทึกความจําชีวประวัติขุนพิสิฐ นนทเดช กับความรู้รอบตัวและธรรมะ (นครหลวง กรุงเทพธนบุรี : โรงพิมพ์มหาดไทย, 2515), 60.

[38] ขุนพิสิฐนนทเดช, บันทึกความจําชีวประวัติขุนพิสิฐ นนทเดช กับความรู้รอบตัวและธรรมะ (นครหลวง กรุงเทพธนบุรี : โรงพิมพ์มหาดไทย, 2515), 60.

[39] ขุนพิสิฐนนทเดช, บันทึกความจําชีวประวัติขุนพิสิฐ นนทเดช กับความรู้รอบตัวและธรรมะ, 64.

[40] Peter Zinoman, The colonial bastille: A history of imprisonment in Vietnam, 1862-1940 (Berkeley: University of California Press, 2001), 91.

[41] เสถียร วิชัยลักษณ์, ประมวลข้อบังคับและระเบียบการราชทัณฑ์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2492), 144-147.

[42]  กรมราชทัณฑ์, รายงานการเรือนจําภาคจังหวัดยะลา ของผู้บัญชาการเรือนจํา, 54-55.

[43] เรื่องเดียวกัน, 54-57.

[44] “ตรวจราชการและปราบปรามไข้จับสั่น เรือนจําภาคคลองไผ่ ของ ร.ต.ท. เสถียร ลายลักษณ์ จังหวัดนคร ราชสีมา,” พ.ศ. 2480, เอกสารกระทรวงมหาดไทย, มท.4.7/68, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

[45] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต. ชลอ ศรีศรากร) (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ราชทัณฑ์, 2530), 15-16.

[46]  “การจ่ายนักโทษออกทํางานในสถานที่ใกล้ป่า, ทัณฑวิทยา เล่ม 5 ตอน 3 (สิงหาคม-กันยายน 2482): 276-277.

[47] “สถิติแสดงจํานวนผู้ต้องขังหลบหนี” ทัณฑวิทยา เล่ม 5 ตอน 4 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2482): 402-403.

[48] “นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้บัญชาการเรือนจําภาคธารโต จ.ว.ยะลา บกพร่องต่อหน้าที่” 25 สิงหาคม 2482-12 มิถุนายน 2483, เอกสารสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, (3)สร.0201.2.7/36, สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.

[49] บรรยง มกราภิรมย์, ระเบียบวินัยและการศึกษา อบรมผู้ต้องขัง (พระนคร : โรงพิมพ์เรือนจําประจําเขตต์คลองเปรม, 2491), 75-77.

[50] ประหยัด โลหะรัตน์, “เรือนจํากลางภาคธารโต จังหวัด ยะลา,” ใน 80 ปีกรมราชทัณฑ์ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ กรมราชทัณฑ์, 2539), 162.

[51] บรรยง มกราภิรมย์, ระเบียบวินัยและการศึกษาอบรมผู้ต้องขัง, 121-133.

[52] บุญฑริกา บูรณะบุตร, “บทบาททางการเมืองของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (พ.ศ. 2475-2490),” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534), 115-117.

[53] “เรื่องทัณฑนิคมควนกุด จังหวัดพัทลุง,” 4 พฤษภาคม- 23 สิงหาคม 2494, เอกสารสํานักเลขาธิการคณะ รัฐมนตรี, (2)สร.0201.83/45, สํานักหอจดหมายเหตุ แห่งชาติ.

[54] ธนวัฒน์ จันทรปรรณิก และยงยุทธ ฝันเผ่าเลิศ, ตํานานคุกไทย (นนทบุรี: กรมราชทัณฑ์, 2554), 457.

[55] สลับ วิสุทธิมรรค, “คํากล่าวในการเปิดเรือนจํากลาง คลองไผ่,” วารสารราชทัณฑ์ 6, 3 (มิถุนายน 2501): ฌ-ฎ.