ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เรื่องราวการวิวัฒนาการของกรมราชทัณฑ์ที่ผ่านมานับตั้งแต่ก่อนการอภิวัฒน์ปี 2475
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ถ้าพูดถึงกรมราชทัณฑ์ คือหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องการจัดการดูแลนักโทษ ส่วนนี้ถ้าไปดูก่อนการตั้งกรมราชทัณฑ์ก็จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องการราชทัณฑ์ที่ดูแลกับเรื่องการควบคุมนักโทษและการใช้แรงงานนักโทษ คือจะเริ่มมีการปฏิรูปครั้งสำคัญคือ ต้นสมัยรัชกาลที่ 5
แต่เดิมการดูแลการควบคุมนักโทษ ผูกพันอยู่กับกรมกองต่างๆ และบรรดาพวกมูลนาย กระจัดกระจายไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน แต่เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์มีการปฏิรูปราชทัณฑ์ให้เป็นสมัยใหม่ ด้วยการนำเอารูปแบบการควบคุมนักโทษแบบอาณานิคมเข้ามาใช้ พร้อมๆ กันนั้นก็มีการดึงอำนาจการควบคุมนักโทษจากเดิมที่กระจัดกระจายเข้ามาสู่อำนาจที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดการลงโทษแต่เพียงผู้เดียว
การจัดการรูปแบบของการลงโทษ เริ่มจากการที่รัชกาลที่ 5 ตั้งคุกใหม่และตั้งตารางใหม่ขึ้นมาคือ คุกมหันตโทษกับคุกกองลหุโทษที่พระนคร และมีการเปิดใช้ในปี 2434 จะพบว่าคุกใหม่มีความเกี่ยวข้องกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เพราะว่าในด้านหนึ่ง แม่กองในการสร้างคุกใหม่คือ “นาค ณ ป้อมเพชร์” ซึ่งต่อมาคือ “พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา” คุณปู่ของท่านผู้หญิงพูนศุข มีบทบาทในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการคุกกองมหันตโทษคนแรกในสมัยรัชกาลที่ 5
จะพบว่าในกรณีของพระนครหรือกรณีของกรุงเทพฯ มีคุกที่ดูแลนักโทษ 2 กองใหญ่ๆ คือ กองมหันตโทษก็คือนักโทษหนักและกองลหุโทษก็คือนักโทษเบา ในขณะที่คุกหัวเมืองที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองทั่วประเทศสยามดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย โดยให้ข้าหลวงหรือว่าบรรดาพวกเจ้าเมืองเป็นผู้บัญชาการคุก
อย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญคือ การบริหารจัดการของบรรดาคุกและตาราง มีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างส่วนกลางกับส่วนหัวเมืองคือ ส่วนกลางจะเป็นคุกขนาดใหญ่มาก และได้รับงบประมาณจำนวนมาก มีระเบียบแบบแผนต่างๆ โดยอิงอยู่กับมาตรฐานแบบอาณานิคม ในขณะที่ตารางตามต่างจังหวัดก็คือบริเวณใกล้ๆ กับระดับศาลากลางจะบริหารจัดการในลักษณะเป็นคุกขนาดเล็กคือ มีการขังนักโทษที่มีกำหนดโทษน้อยหรือนักโทษที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี
การออกแบบกฎระเบียบต่างๆ ไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน แม้ว่าพยายามที่จะเอาแนวคิดแบบสมัยใหม่มา แต่การบริหารจัดการมีอยู่อย่างจำกัด เพราะว่างบประมาณมีจำนวนน้อยมากๆ ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 5 จะมีความพยายามที่จะรวมอำนาจในการควบคุมนักโทษให้มีเอกภาพ แต่สุดท้ายแล้วเนื่องจากว่าการบริหารจัดการแบ่งออกเป็นมหาดไทยที่ดูแลหัวเมืองกับนครบาลที่ดูแลคุกเฉพาะในกรุงเทพฯ ผ่านกองลหุโทษกับกองมหันตโทษ ทำให้เกิดแบบ 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน
แล้วมันจะยิ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อประมาณตั้งแต่ทศวรรษ 2440 เป็นต้นมา เมื่อกระทรวงยุติธรรมเข้ามาดูแลเรื่องงานคุก กระทรวงยุติธรรมในสมัยที่กรมหลวงราชบุรีมาเป็นเสนาบดีคือพยายามที่จะเข้ามาดูแลคุกในกรุงเทพฯ ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เกิด 3 หน่วยงานที่ดูแลกับเรื่องคุกทั่วประเทศคือ กระทรวงยุติธรรมดูแลคุกกองมหันตโทษและลหุโทษ ในขณะที่ปริมณฑลซึ่งเป็นหัวเมืองที่อยู่ในมณฑลกรุงเทพฯ อย่างเช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี และพระประแดงทำนองนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของนครบาล ในขณะที่บริเวณหัวเมืองที่อยู่รอบนอกอยู่กับมหาดไทย ซึ่งในส่วนนี้นำไปสู่การเกิดหลายมาตรฐานมากๆ
อย่างไรก็ตามในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เมื่อเข้าสู่ประมาณปี 2454 ทางรัฐบาลสยามในช่วงเวลาใดๆ คือสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มที่จะมีการรวบหน่วยงานที่ควบคุมนักโทษในบริเวณมณฑลกรุงเทพฯ กลับไปสู่นครบาลอีกครั้งหนึ่งด้วยการให้เหตุผลว่ากระทรวงยุติธรรมไม่มีกองกำลังอย่างเช่นพวกทหาร ตำรวจ เป็นผู้คุมในการดูแลนักโทษให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นก็โอนไปอยู่ที่นครบาลเหมือนเดิม
และหลังจากนั้นปี 2458 ทางรัฐบาลสยามสมัยรัชกาลที่ 6 มีความพยายามที่จะจัดระเบียบนักโทษทั่วราชอาณาจักรให้มีแบบแผนเดียวกัน ด้วยการตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้นมาในวันที่ 13 ตุลาคมปี 2458 ก็คือ ตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้นมาเพื่อที่จะควบคุมดูแลนักโทษทั่วทั้งราชอาณาจักร ทั้งกรุงเทพฯ ทั้งหัวเมืองต่างๆ
ถ้าเราไปดูการบริหารโครงสร้างต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ในช่วงระยะเวลาแรกก็จะแบ่งโครงสร้างแทบไม่ต่างจากเดิมคือ ในด้านหนึ่งกรมราชทัณฑ์มีกองบัญชาการดูแลเรื่องงานเอกสาร และมีกองมหันตโทษ กองลหุโทษ ที่เป็นหน้าที่ดูแลนักโทษในกรุงเทพฯ และกองเรือนจำ ซึ่งกองเรือนจำก็ดูแลนักโทษทั่วประเทศ
ในส่วนนี้ยังมีความลักลั่นอยู่เกี่ยวกับการออกระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ และในด้านหนึ่งบรรดานักโทษตามหัวเมือง ตามต่างจังหวัด ยังไม่มีการปรับปรุงคุณภาพชีวิตได้ดีเทียบเท่ากับกรุงเทพฯ เพราะว่างบประมาณส่วนใหญ่เกิดจากกองที่อยู่กรุงเทพฯ คือคุกกองมหันตโทษและคุกกองลหุโทษ
ขณะเดียวกันถ้าเรามาดูผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ในช่วงระยะเวลาแรกช่วงรัชกาลที่ 6 คือมีการตั้งพระยาเพชร์ชฎาซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ มาเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์คนแรก ซึ่งต่อมาท่านก็ได้รับราชทินนามคือ พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) ซึ่งก็คือเป็นบิดาของท่านผู้หญิงพูนศุข
ในด้านหนึ่งท่านเป็นอธิบดีคนแรกและคนเดียวของกรมราชทัณฑ์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลังจากนั้นก็คือเมื่อประเทศสยามเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปลายสมัยรัชกาลที่ 6 และเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 มีการตัดทอนลดทอนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็มีการตัดทอนค่าใช้จ่ายกรมราชทัณฑ์ ด้วยการยุบกรมราชทัณฑ์ทิ้งในปี 2468 อย่างไรก็ตามกรมราชทัณฑ์ยังเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในกองบัญชาการของกระทรวงยุติธรรม
ถัดมาในปี 2469 มีการโอนย้ายหน่วยงานที่ดูแลกำกับเรื่องคุกนักโทษไปอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ด้วยเหตุผลว่าเพราะว่ากระทรวงมหาดไทยมีงบประมาณมากกว่ากระทรวงยุติธรรม ทางรัชกาลที่ 7 มีการโอนย้ายหน่วยงานที่ดูแลกำกับเรื่องนักโทษไปอยู่ในกรมพลำภัง เป็นแผนกเรือนจำในกรมพลำภังแทน และเป็นสภาพแบบนี้อยู่ตลอดในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้งบประมาณในการดูแลนักโทษต่างๆ ค่อนข้างจะเป็นไปตามอัตภาพ ไม่ค่อยได้รับการดูแลเท่าไร เพราะการจัดลำดับความสำคัญในช่วงสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐบาลในระบอบเก่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของนักโทษมากเท่าไร ตั้งใจที่จะตัดงบประมาณในส่วนนี้ออกไป
จุดเปลี่ยนของกรมราชทัณฑ์คือ หลังการเปลี่ยนแปลงปกครองปี 2475 เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรเริ่มเห็นความสำคัญของการดูแลความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏหลักเรื่องความปลอดภัย ในหลัก 6 ประการ เพราะฉะนั้น รัฐบาลคณะราษฎรจึงให้ความสำคัญกับการดูแลนักโทษต่างๆ เกี่ยวกับการควบคุมนักโทษ การดูแลเรื่องการจัดการผู้ร้าย ซึ่งนำไปสู่การตั้งกรมราชทัณฑ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งในปี 2476 ถือเป็นผลงานสำคัญของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ด้วย
ในด้านหนึ่งอาจารย์ปรีดี ในฐานะที่เป็นลูกเขยอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็มีผลงานเกี่ยวกับเรื่องอาชญาวิทยาาด้วยคือ ประมาณช่วงปี 2470 อาจารย์ปรีดีมีผลงานสำคัญคือ ปาฐกถาเกี่ยวกับเรื่องการลงอาญากับนักโทษ ซึ่งงานชิ้นนี้มีความสำคัญและมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากคือ ก่อนหน้านี้ถ้าไปดูเกี่ยวกับเรื่องงานราชทัณฑ์สยาม งานราชทัณฑ์สยามเน้นเกี่ยวกับเรื่องการลงโทษ แต่ถามว่ามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการลงโทษแบบสมัยใหม่ไหม จากเท่าที่ไปสำรวจงานมาแทบจะไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาชญาวิทยา (Criminology) หรือว่าทัณฑวิทยา (Penology) ตามความรู้แบบตะวันตกในการจัดการนักโทษเกี่ยวกับการปรับปรุงฟื้นฟูนักโทษ การหาสาเหตุการกระทำผิด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหมือนกับการไต่สวนนักโทษมากกว่า อย่างเช่น งานของกรมดำรง
อย่างไรก็ตามในช่วงศตวรรษ 2470 เมื่อประเทศสยามเกิดปัญหาเรื่องโจรผู้ร้ายชุกชุม อาจารย์ปรีดี ถือว่าเป็นบุคคลแรกๆ ที่มีการนำเสนอปาฐกถาที่แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาชญาวิทยาแบบตะวันตกว่า มันมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
โดยอาจารย์ปรีดีพิจารณาว่าบุคคลที่กระทำผิดเช่นผู้ร้ายทั้งหลายนี้มีสาเหตุการกระทำผิดจาก 2 สาเหตุ
สาเหตุแรกคือ ความผิดปกติทางด้านร่างกาย อย่างเช่น ร่างกายที่เกิดมาผิดปกติ กะโหลกผิดปกติ ผิดรูปอะไรต่างๆ ส่วนนี้คืออาชญากรโดยกำเนิด
อีกกลุ่มหนึ่งคือ อาชญากรที่เกิดขึ้นมาจากสภาพแวดล้อม ซึ่งสภาพแวดล้อมเป็นเหมือนกับสิ่งที่บ่มเพาะอาชญากรขึ้นมา สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี อยู่ในสังคมที่ไม่ดี และที่สำคัญเลยคือ อาจารย์ปรีดี ยกเรื่องราวปัญหาเศรษฐกิจที่มันเชื่อมโยงและนำไปสู่การเกิดปัญหาอาชญากรรมด้วย
ถ้าไปดูเอกสารหลายๆ ชิ้นมันจะมีความเชื่อมโยงกับเค้าโครงทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2475 ซึ่งอันนี้สะท้อนเกี่ยวกับเรื่องความคิดเกี่ยวกับเรื่อง อาชญาวิทยาที่มันมีความเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ซึ่งอาจารย์ปรีดีเห็นว่าเวลาถ้าเกิดรัฐบาลแก้ไขปัญหาพวกนี้ ไม่ใช่แก้ด้วยการปราบปรามอย่างเดียว แต่รัฐบาลหรือระบอบเก่าควรที่จะมีการปรับปรุงสภาพทางด้านเศรษฐกิจให้คนสามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้ มีเศรษฐกิจที่ดี เพื่อแก้ไขปัญหากับเรื่องผู้ร้าย
ถือว่าเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่พูดถึงหลักอาชญาวิทยา และมาเชื่อมโยงกับสังคมของสยามด้วย ซึ่งจะพบว่าอาจารย์ปรีดี เข้ามามีบทบาทในฐานะที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรและพยายามที่จะผลักดันโปรเจคต์เกี่ยวกับเรื่องหลักความปลอดภัย และนำเอาความรู้เกี่ยวกับอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับงานราชทัณฑ์ด้วย
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
อยากให้อาจารย์ขยายคำว่าอาชญาวิทยาว่า เป็นศาสตร์แบบใด และการใช้กฎหมายนี้ในประเทศไทยจะค่อยๆ เข้าใจการก่ออาชญากรรมมากขึ้นไหม
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ถ้ามาดูเกี่ยวกับเรื่องอาชญาวิทยาคือ เป็นแนวคิดหรือความรู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับอาชญากร ว่าอาชญากรกระทำผิดด้วยสาเหตุใด และจะจัดการ ดูแล แก้ไข และฟื้นฟูบรรดาอาชญากรให้กลับมาเป็นพลเมืองดีอย่างไรได้บ้าง ซึ่งอันนี้มันเป็นองค์ความรู้ที่อาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษา
ซึ่งจะสัมพันธ์กับการออกแบบเรื่องกิจการราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ด้วย คือแต่เดิมราชทัณฑ์ในระบอบเก่าจะเน้นเกี่ยวกับเรื่องการลงทัณฑ์ การลงโทษ แต่ไม่เน้นการปฏิรูป (Reform) การฟื้นฟู แต่ราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ก็คือมุ่งเน้นเกี่ยวกับการปรับปรุงฟื้นฟูพฤติกรรมของนักโทษให้กลายมาเป็นพลเมืองดี ซึ่งไอเดียนี้เห็นได้ชัดเกี่ยวกับอาชญาวิทยา ทัณฑวิทยาแบบใหม่ที่เข้ามา
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
สามารถยกตัวอย่างกิจการของราชทัณฑ์ที่เน้นเพื่อการฟื้นฟูพฤติกรรมนักโทษว่า มีกิจการใดบ้าง
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ถ้ามาดูเกี่ยวกับเรื่องของการฟื้นฟู อย่างเช่น การจัดตั้งโครงสร้างใหม่ของกรมราชทัณฑ์ในระบอบใหม่ จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2476 เกิดหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นมา อย่างเช่น กองทะเบียนสถิติสำหรับจัดระเบียบเกี่ยวกับเรื่องสถิตินักโทษ เวลานักโทษเข้าไปอยู่ในระบบเรือนจำก็จะมีการสัมภาษณ์และสืบประวัติดูว่ามีพื้นเพมาจากไหน กระทำความผิดจากอะไร เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการออกแบบโปรแกรมการลงโทษและการฟื้นฟู
อีกกิจการหนึ่งคือ มีการจัดตั้งกองผลประโยชน์และกองทัณฑวิทยา อย่างเช่นกองผลประโยชน์ คือหน่วยงานที่นำเอาแรงงานนักโทษมาสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐ แต่เดิมเป็นการลงโทษ ลงทัณฑ์ ด้วยการใช้แรงงานหนักๆ โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับรัฐ ในขณะที่กองทัณฑวิทยา เป็นหน่วยงานที่พยายามจะประยุกต์เกี่ยวกับไอเดียทัณฑวิทยาศาสตร์แบบใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับงานราชทัณฑ์ และมีการเผยแพร่ตีพิมพ์บทความทัณฑวิทยาในส่วนของงานราชทัณฑ์พวกนี้ด้วย
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
สิ่งที่อาจารย์ปรีดีนำเข้ามานับเป็นสิ่งใหม่หรือไม่
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ถือว่าใหม่มากๆ และถือว่าล้ำหน้า ก้าวหน้ามากๆ ในช่วงยุคเวลานั้น เพราะว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเลย และที่สำคัญคือ ก่อนปี 2475 กับหลังปี 2475
โดยก่อน 2475 เกี่ยวกับกิจการราชทัณฑ์ เกี่ยวกับกิจการลงทัณฑ์ คือมุ่งเน้นการลงโทษส่งคนเข้าคุกเพื่อการลงโทษและใช้แรงงานหนัก และการลงโทษต่างๆ มันสัมพันธ์กับช่วงชั้น ลำดับชั้นทางสังคมของผู้ต้องโทษด้วย พูดง่ายๆ มันมีการเกิดระบบหลายมาตรฐานอยู่ในระบบราชทัณฑ์ อย่างเช่น ถ้าเกิดเป็นคนในบังคับไทยจะถูกลงโทษแบบหนึ่ง ถ้าเป็นคนในบังคับต่างชาติจะมีคุกอีกแบบนึง แต่ก็ได้รับสิทธิประโยชน์อะไรแตกต่างกันด้วย และถ้าเกิดเป็นกลุ่มเจ้านายก็จะถูกลงโทษด้วยระบบราชทัณฑ์อีกแบบหนึ่ง
แต่ภายหลังปี 2475 ใช้มาตรฐานเดียวกันหมด
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
เท่ากับว่าก่อนปี 2475 จากสรุปของที่อาจารย์เล่ามาคือ เหมือนจะมีการพยายามปรับเปลี่ยนหลายครั้ง แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ยังมีหลายมาตรฐานที่ใช้ในการจัดการดูแล
ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
คือมันจะสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคม เกี่ยวกับการลงโทษสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับช่วงชั้นลำดับชั้นทางสังคม และใครที่กระทำผิดถ้าเกิดมีพื้นเพ มีภูมิหลังเป็นอย่างไร ก็จะสัมพันธ์กับรูปแบบราชทัณฑ์แต่ละแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งแตกต่างจากการลงโทษแบบยุคสมัยหลัง 2475 ที่มีมาตรฐานเดียว
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
ถึงเรื่องของพระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) เนื่องเพราะเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกับท่านผู้หญิงพูนศุข อยากให้อาจารย์เล่าให้ฟังว่า มีเหตุการณ์ใดในช่วงประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าท่านผู้หญิงพูนศุขมี DNA ของความกล้าหาญและมีความเกี่ยวข้องกับด้านราชทัณฑ์อย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ความเกี่ยวข้องคือ มีภาพถ่ายภาพหนึ่งที่เป็นภาพท่านผู้หญิงพูนศูข กำลังเดินเข้าไปที่สถานที่คุมขัง จริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นการขึ้นศาลและจะนำไปฝากขังจากกรณีเหตุการณ์กบฏสันติภาพในปี 2495 ประมาณเดือนพฤศจิกายน
ในหนังสือท่านผู้หญิงพูนศุขจะมีการพูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า มีตำรวจขู่ว่าไม่กลัวหรือว่าจะต้องเข้าคุกประมาณนี้ แต่ท่านผู้หญิงก็เดินด้วยความกล้าหาญ ท่ามกลางนักข่าวโดยไม่เกรงกลัว และมีการพูดถึงว่าปู่ของท่านก็คือ เจ้ากรมสร้างคุก ในขณะที่บิดาของท่านก็คือ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในระบอบเก่า ก็ไม่มีความกลัวที่จะต้องเข้าคุก และสุดท้ายท่านก็ไม่มีมลทิน ไม่มีความผิดจากกรณีกบฏสันติภาพ
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
ขอให้อาจารย์สรุปเรื่องความแตกต่างที่เกิดขึ้นหลังช่วงยุคปี 2475 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเราจะเห็นว่า การราชทัณฑ์หลังปี 2475 เป็นการราชทัณฑ์ที่สัมพันธ์กับเรื่องของนโยบายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยความปลอดภัยในสังคมด้วย ดังนั้นกิจการราชทัณฑ์จึงขยายใหญ่โตมาก และสัมพันธ์กับหลักฐานทัณฑวิทยา อาชญวิทยาแบบใหม่ ในการที่จะฟื้นฟูนักโทษจากผู้ร้ายให้กลับกลายเป็นพลเมืองดี
ดังนั้นถ้ามาดูภารกิจกรมราชทัณฑ์แต่เดิมระบอบเก่าจะเน้นไปกับเรื่องการดูแลการควบคุมนักโทษอย่างเดียว แต่ระบอบใหม่นี้มีการขยายกิจการราชทัณฑ์ครอบคลุมทั้งนักโทษ ซึ่งนักโทษมีตั้งแต่เรือนจำและมีการจัดตั้งทัณฑนิคม คือนำนักโทษไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมาใช้แรงงานในลักษณะที่สร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐ ซึ่งทัณฑนิคมที่ใหญ่ๆ ในสมัยคณะราษฎรคือ ทัณฑนิคมที่ธารโตจังหวัดยะลา ที่คลองไผ่ที่จังหวัดนครราชสีมา และที่ตะรุเตา
อีกกลุ่มนึงที่มีบทบาทสำคัญของคณะราษฎร คือ ให้หน่วยงานราชทัณฑ์เข้าไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับเด็กที่กระทำความผิด ด้วยการเข้าไปโอนย้ายโรงเรียนดัดสันดานเด็กที่ดูแลโดยกรมตำรวจโยกย้ายมาอยู่ที่กรมราชทัณฑ์ มีการปรับปรุงหน่วยงาน มีการปรับปรุงด้วยการเน้นเกี่ยวกับการให้ความรู้ การฝึกอาชีพ และเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียนฝึกอาชีพ ซึ่งโรงเรียนมีสถานที่ตั้งอยู่ที่บริเวณเกาะใหญ่ ปัจจุบันนี้คือ พื้นที่บริเวณศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งคณะราษฎรเข้าไปดูแลเกี่ยวกับนักโทษที่กระทำผิดซ้ำที่เรียกว่าผู้มีสันดานเป็นผู้ร้ายคือ เข้าออกคุกเป็นว่าเล่นพวกนี้ ด้วยความผิดลักเล็กขโมยน้อยแล้วก็เข้าๆ ออกๆ ซึ่งก็ถือว่าเป็นนักโทษที่มีสันดานเป็นผู้ร้าย เพราะฉะนั้นทางคณะราษฎรจัดให้คนกลุ่มนี้ข้าไปฝึกอาชีพและไปปรับปรุงพฤติกรรมที่ตะรุเตา ที่เรียกว่านิคมฝึกอาชีพตะรุเตาในรูปแบบทัณฑนิคม
ซึ่งรูปแบบ 3 รูปแบบนี้ เอาจริงคือ เป็นการออกแบบกิจการราชทัณฑ์ในสมัยคณะราษฎรที่ค่อนข้างจะกว้างขวางพอสมควรเพื่อที่จะให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย และมีระเบียบต่างๆ เพื่อปกป้องสังคมและพยายามที่จะปฏิรูปผู้กระทำผิด
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
อย่างในปัจจุบันคือ มีการฝึกความรู้หรือว่าทักษะให้นักโทษมาช่วยทำกิจการที่มันเป็นสาธารณะ
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
กรณีของสมัยคณะราษฎรจะเน้นเกี่ยวกับการทำงานที่อยู่ในเรือนจำคล้ายๆ กับเป็นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในเรือนจำ เห็นชัดเจนเลยคือ ในทัณฑนิคมมีโรงเลื่อย มีแปลงเกษตรขนาดใหญ่ และนำเอาผลผลิตที่ได้ไปขายและสร้างรายได้ให้กับกรมราชทัณฑ์ และนำมาเลี้ยงนักโทษ แต่แล้วเป็นความโชคร้ายของงานราชทัณฑ์สมัยคณะราษฎรเพราะว่า เผชิญกับช่วงสงครามโลกพอดี เพราะฉะนั้นกิจการต่างๆ ที่วางโปรเจคไว้ใหญ่มากกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขจากบริบทช่วงสงครามโลก
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
กรมราชทัณฑ์หลังช่วงโปรเจคที่วางไว้ ได้ถูกสานต่อหรือไม่อย่างไร
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
มีความพยายามจะสานต่อในช่วงหลังสงคราม โดยรัฐบาลอาจารย์ปรีดี รัฐบาล หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อหลังการรัฐประหารปี 2490 มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกรมราชทัณฑ์ ด้วยการที่จะลด โอนย้ายภารกิจอะไรต่างๆ ทำให้กรมราชทัณฑ์เหลือเพียงแค่การควบคุมดูแลนักโทษเท่านั้น ขณะที่เรื่องของเด็กที่กระทำผิดก็โอนย้ายไปให้กรมประชาสงเคราะห์แทน ส่วนนิคมที่ตะรุเตาถูกยกเลิกไปและเปลี่ยนมาควบคุมในระบบเรือนจำแทนในรูปแบบของสถานกักกัน
ชญานิษฐ์ แสงสอาด :
กรมราชทัณฑ์ในปัจจุบันนี้อยู่ใต้สังกัดใด
ผศ.ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ :
ปัจจุบันคือ อยู่ในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม และในส่วนการบริหารจัดการก็มองว่าราชทัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการยุติธรรมคือ เป็นปลายทางกระบวนการยุติธรรม
สัมภาษณ์โดย ชญานิษฐ์ แสงสอาด
วันที่ 14 กันยายน 2566
ณ คณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์
- PRIDI Interview
- กรมราชทัณฑ์
- ปรีดี พนมยงค์
- งานราชทัณฑ์
- รัชกาลที่ 5
- ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์
- นาค ณ ป้อมเพชร์
- พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรา
- กองมหันตโทษ
- กองลหุโทษ
- พระยาชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์)
- กระทรวงยุติธรรม
- ขบวนการยุติธรรม
- สถานกักกัน
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- รัฐประหาร 2490
- คณะราษฎร
- เรือนจำ
- ทัณฑนิคมตะรุเตา
- ทัณฑนิคมธารโต
- ทัณฑนิคมคลองไผ่
- อาชญาวิทยา
- อธิบดีกรมราชทัณฑ์
- กบฏสันติภาพ
- ทัณฑวิทยา