15 ตุลาคม พ.ศ. 2479[1] เป็นวันที่ทางราชการในสมัยรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้สร้างอนุสาวรีย์ 17 ทหาร-ตำรวจขึ้น ณ ตำบลหลักสี่ อำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร เพื่ออุทิศแด่ผู้ที่เสียชีวิตจากการเข้าร่วมปราบปรามกบฏบวรเดช[2] ระหว่างวันที่ 11-24 ตุลาคม พ.ศ. 2476[3] ซึ่งผลสะท้อนหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชนี้ทำให้รัฐบาลของคณะราษฎรคุมอำนาจได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มทหารและ/ฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นชนชั้นนำกับข้าราชการระดับบนลดบทบาทลงพร้อมกับถูกกดปราบ[4] ต้องลี้ภัยการเมืองออกไปยังอินโดจีน และถูกจับกุมคุมขังขึ้นศาลพิเศษ พ.ศ. 2476
ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แง่มุมหนึ่งช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดชปรากฏอย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ คำพิพากษาของศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 หนังสือยุทธโกศ พ.ศ. 2479 รวมทั้งในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี และเอกสารของทางราชการบางส่วนนั้นได้แสดงถึงชัยชนะของระบอบใหม่และความร่วมใจของราษฎรที่ช่วยปราบกบฏพร้อมกับสร้างพื้นที่ความทรงจำ (Site of Memory) ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญของสามัญชนหรือทหารที่ต่อสู้เพื่อรักษาระบอบใหม่ผ่านเมรุ ณ ท้องสนามหลวงและอนุสาวรีย์ปราบกบฏในสมัยคณะราษฎร
ชัยชนะของระบอบใหม่และความร่วมใจของราษฎร
เมื่อกองทัพของคณะกู้บ้านกู้เมืองเข้ามาล้อมพระนครตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นเสมือนแม่ทัพ พระยาเทพสงคราม เป็นรองแม่ทัพ และพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นเสนาธิการกองทัพของการศึกครั้งนี้พร้อมด้วยกองทหารจากหัวเมืองต่างๆ เช่น ในจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ฯลฯ เข้าร่วม โดยได้ตั้งฐานทัพศูนย์กลางที่กรมอากาศยานดอนเมือง ส่วนทางรัฐบาลฯ ได้ตั้งหลวงพิบูลสงคราม เป็นแม่ทัพของฝ่ายคณะราษฎรที่จะนำทหารเข้าปราบปรามกลุ่มกบฏ[5] ซึ่งฝ่ายรัฐบาลฯ จัดทัพแบ่งออกเป็นกองบังคับ กองผสม มีหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้นำ กองรบ กองหนุน กองทหารจังหวัด กองทหารดอนเมือง และกองลำเลียง
จากปูมหลังของเหตุการณ์ข้างต้นยังไม่เพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นชัยชนะของระบอบใหม่และความร่วมใจของราษฎรต่อการปราบกบฏบวรเดช จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากหลักฐานชั้นต้นสำคัญ ดังนี้
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ
จากที่รัฐบาลฯ ทยอยออกคำแถลงการณ์ทุกชั่วโมงตั้งแต่ตอนกลางวันของวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476[6] ต่อมาหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ซึ่งมี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) เป็นบรรณาธิการได้รายงานข่าวเรื่องกบฏบวรเดชครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยพาดหัวข่าวว่า “ยิงพวกก่อจลาจลที่เข้ามาถึงบางเขน น.ร.กฎหมาย กรรมกรขอปราบจลาจล ในหลวงว่าห้ามท่านบวรแล้วแต่ไม่ฟัง” และมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทันควันทั้งในกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยาทันทีพร้อมกับขอให้ร้านค้าปิดตั้งแต่ช่วงบ่าย ส่วนพระยาพหลพลพยุหเสนาก็รีบส่งโทรเลขกราบทูลถึงในหลวงรัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงประทับอยู่ที่หัวหิน
หนังสือพิมพ์ประชาชาติ แสดงตนว่าเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายรัฐบาลอย่างเด่นชัดด้วยการลงโทรเลข แถลงการณ์ และคำประกาศของรัฐบาลคณะราษฎรอย่างต่อเนื่องเริ่มต้นตั้งแต่ฉบับวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยลงทั้งโทรเลขของรัฐบาลฯ กับรัชกาลที่ 7 และคำแถลงการณ์ของรัฐบาลฯ 6 ฉบับ ซึ่งรัฐบาลประกาศว่ามีความจำเป็นต้องปราบปรามจลาจลนับตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลยังเริ่มจับกุมทหารฝ่ายจลาจล ประชุมหนังสือพิมพ์ ตรวจยวดยานยนต์ และมีการประชุมลับของสภาผู้แทนราษฎร
ในระยะแรกรัฐบาลฯ ยังไม่ได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเห็นได้จากที่มีเครื่องบินของฝ่ายกบฏบินมายังกองป้องกันฯ แล้วโปรยกระดาษที่มีข้อความว่า “ขณะนี้ดอนเมืองตกอยู่ในความควบคุมของฝ่ายก่อการจลาจลแล้วตั้งแต่เวลา 4.30 น.” เมื่อโปรยข้อความเสร็จทางรัฐบาลฯ ก็ปล่อยให้เครื่องบินผ่านไปโดยไม่ได้ยิง แต่กระสุนนัดแรกได้ลั่นไกในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ขณะที่รัฐบาลฯ พยายามยุติการปะทะด้วยการชี้แจงให้เห็นว่าหลักความมุ่งหมาย 6 ประการที่ฝ่ายกบฏใช้อ้างโดยเฉพาะเรื่องคอมมิวนิสต์นั้นทางรัฐบาลยืนยันว่าจะไม่ยอมให้ผู้ใดดำเนินวิธีการแบบคอมมิวนิสต์เป็นอันขาด ส่วนหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ ก็มั่นคงต่อถ้อยคำ[7]
และยังปรากฏโทรเลขแสดงความเสียพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการก่อความไม่สงบของพระองค์เจ้าบวรเดชและทรงขอบใจหลวงพิบูลสงครามที่แสดงความจงรักภักดีและทรงแจ้งว่าไม่ต้องส่งกำลังมาเพิ่มเติมในการรักษาพระองค์[8] ในมุมของราษฎรปรากฏว่ามีคณะทหารอาสา คณะนักเรียนกฎหมาย และกรรมกรหลากหลายประเภทส่งจดหมายมาถึงรัฐบาลฯ ว่าเต็มใจที่จะทำการเสียสละพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อประเทศ และเพื่อรัฐธรรมนูญ[9]
กระทั่งในวันถัดมา 14 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ทหารบางส่วนก็เผยความจริงและย้ายข้างโดยแจ้งว่าถูกหลอกว่าให้มาซ้อมรบ[10] ทั้งมีนักบินยศนายสิบที่เริ่มปลีกตัวออกจากฝ่ายกบฏ[11] และมีการให้กักตัวชนชั้นนำบางท่านไว้ในเขตวังโดยยังไม่จับกุม อาทิ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, พระองค์เจ้าอลงกฎ และพระยาเทพหัสดิน และเริ่มสืบเสาะหาตัวพระยาเสนาสงคราม กับพระยาศราภัยพิพัฒ ส่วนทางการทูตนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ[12] ที่ปรึกษาฝ่ายไทยของกระทรวงการต่างประเทศได้ทรงเจรจาซ้อมความเข้าใจกับบรรดาทูตตั้งแต่ช่วงแรกของเหตุการณ์[13]
เหตุการณ์ปะทะดำเนินไปได้เพียง 5 วัน ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลฯ ก็สามารถยึดแนวรบบางเขนคืนได้ ขณะที่ความรุนแรงในช่วง 5 วันที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทหารของฝ่ายรัฐบาลยิงฝ่ายกบฏกว่า 40 นัด และมีการยิงต่อสู้กันขนานใหญ่ในระยะนี้ เมื่อการต่อสู้เข้มข้นการไล่ล่าฝ่ายกบฏโดยตั้งรางวัลนำจับจึงเริ่มต้นขึ้น[14]
กระทั่งในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดช เริ่มถอยกลับไปยังโคราชแต่ยังไม่ยอมจำนน[15] และในวันถัดมาเริ่มมีข่าวว่าฝ่ายกบฏคล้ายแตกทัพไม่ว่าจะเป็นกรณีพระกล้ากลางสมร ลอบหนีจากพวกกบฏมาจากดอนเมือง มีข่าวว่า หลวงพลหาญสงคราม ซึ่งเป็นระดับหัวหน้าของฝ่ายกบฏยิงตัวตาย และหลุย คีรีวัต นักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลฯ ถูกจับกุม[16]
1 สัปดาห์ หลังเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชทางฝ่ายทหารจากโคราชก็หันกลับมาเข้าข้างรัฐบาลฯ และฝ่ายกบฏเริ่มแตกพ่ายโดยทิ้งอาวุธยุทธภัณฑ์ตลอดจนเครื่องบินไว้จำนวนมาก
ส่วนการสู้รบในบริเวณหลักสี่ยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และวัดเทวสุนทรที่อยู่ละแวกนั้นต้องกลายเป็นฐานที่มั่นในการสู้รบของฝ่ายกบฏต้องรับทั้งกระสุนปืนใหญ่ กระสุนปืนเล็ก และกระสุนปืนกล ซึ่งจากปากคำของพระสงฆ์สามรูปกล่าวว่า
“ทหารพระองค์เจ้าบวรเดช เขาคงคิดจะเอาพระเป็นค่าย ฉันรู้จากเขากระจายเสียงทางวิทยุก่อนเกิดเหตุแล้วว่าให้หนี ก็เตรียมหนี แต่นายทหารชั้นร้อยเอก…บอกไม่ให้หนี ทั้งห้ามไม่ให้เปิดรับวิทยุฟังเสียด้วย…จนกระทั่งลูกปืนใหญ่ทางฝ่ายโน้น (รัฐบาล) มาตกแตกที่วัดหนาขึ้น และพวกทหารปืนกลรุกมาเหนือสถานีบางเขน พวกทหารพระองค์เจ้าบวรเดช ก็ลากปืนกลกรูกันเข้าไปในกุฏิและหอพระชั้นบน เอาปืนกลที่มีอยู่ราวสี่กระบอกตั้งรายตามหน้าต่าง พวกข้างล่างก็ยึดเอากำแพงวิหารเป็นที่กำบังยิงต่อสู้…”[17]
ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนเริ่มปรากฏชัดเจนในการสู้รบสัปดาห์ที่ 2 เมื่อคณะพลเรือนที่ร่วมมือในการอภิวัฒน์ 2475 ได้แก่ ซิม วีระไวทยะ, บุญล้อม พึ่งสุนทร[18] และสงวน ตุลารักษ์ เป็นผู้นำพร้อมด้วยคณะและอาสาสมัครจำนวนมากโดยแต่งกายแบบทหารอย่างรัดกุม กล่าวคือ นุ่งกางเกงขายาว สวมเชิ๊ตสีแคชเมียร์ และสวมหมวกแบบทหาร รวมทั้งทางหัวเมืองทางราษฎรชาวโคราชก็รวมกำลังกันมาต้านทานกบฏ โดยรัฐบาลฯ ชี้แจงให้ทหารที่เข้าร่วมกลับใจมาจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเถิดต่อมาทหารในโคราชได้หันมาเข้ากับรัฐบาลในที่สุด[19]
กระทั่งในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2476 มีข่าวว่าหัวหน้าฝ่ายกบฏหลายคนจนมุมที่อำเภอปากช่อง คือ พระยาศรีสิทธิสงคราม และพระยาเทพสงครามกำลังจนมุมและยังคงคุมกำลังตั้งมั่นอยู่ที่หินลับรอยต่อจังหวัดสระบุรี ทั้งพระยาศรีสิทธิสงครามยังได้ส่งโทรเลขไปถึงพระองค์เจ้าบวรเดชว่า “ทหารที่นี่ (หินลับ) เจ็บป่วยและอิดโรยเต็มที ไม่มีกำลังจะสู้รบ ขอให้ส่งทหารมาผลัดใหม่โดยเร็ว”[20]
ช่วงท้ายของเหตุการณ์กบฏบวรเดชก็ดำเนินมาถึงคือวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เวลา 9.55 น. ทางฝ่ายรัฐบาลได้ยกทัพเข้าประชิดฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏที่หินลับและทับกวาง บนเชิงเขาดงพระยาเย็น จังหวัดสระบุรี แล้วสามารถยึดทับกวางได้ในวันที่ 23 ตุลาคม และถึงหินลับในวันที่ 24 ตุลาคม เป็นอันจบสิ้นการปราบกบฏ
ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่เรื่องการตายของหัวหน้าก่อการกบฏคนสำคัญที่เสียชีวิต ณ สมรภูมิหินลับคือ พระยาศรีสิทธิสงคราม หรือดิ่น ท่าราบ ถือเป็นข่าวครึกโครมเพราะเป็นหนึ่งในแม่ทัพโดยปรากฏตามข่าวว่าถึงแก่ความตายในการตลุมบอนระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายกบฏ ซึ่งมีรายงานเพิ่มเติมว่าพระยาศรีสิทธิสงคราม ได้ถูกทหารเรือของรัฐบาลยิงถูกที่สะบักตอนหลัง 1 นัด และท้องข้างซ้ายอีก 1 นัด จนล้มลง แต่ได้ชักปืนจะยิงทหารเรือผู้นั้นก่อนจะเหนี่ยวไกกลับมีทหารอีกนายหนึ่งกระโดดเข้าไปแล้วใช้พานท้ายปืนฟาดตรงหน้าผากพระยาศรีสิทธิสงครามจนถึงแก่ความตายในทันที[21]
ส่วนราษฎรทั้งในพระนครและต่างจังหวัดที่แม้ไม่ได้ร่วมรบแต่ก็เอื้อเฟื้อน้ำใจทางอื่น เช่น จำนงค์ ศรีสวัสดิ์ และข้าราชการสังกัดกองสมุหพระนครบาลได้ส่งส้มเขียวหวาน 350 ผลกับกล้วยไข่ 2 ตระกร้า มอบให้แก่ทหารฝ่ายรัฐบาลที่ยังรักษาการอยู่ตามบริเวณต่างๆ และชาวบ้านจังหวัดราชบุรี เช่น ขุนพรรคพานิช, ขุนช่วงบุระการ, กิมเส็ง สินธุเสก และนางง้อ บวรนายก ได้บอกบุญเรี่ยไรเงิน มอบบุหรี่ และแสดงน้ำใจเป็นฝ่ายรัฐบาลด้วยการทำอาหารเลี้ยงแก่ทหาร ตำรวจ และลูกเสือโดยมิได้เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย[22] จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในหน้าหนังสือพิมพ์ประชาชาติแสดงถึงชัยชนะของระบอบใหม่ คือ ระบอบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎรและยังเห็นความร่วมมือร่วมใจของราษฎร ข้าราชการ ชนชั้นนำทั้งในพระนครและต่างจังหวัดสนับสนุนการปราบปรามกบฏบวรเดชในครั้งนี้อย่างท่วมท้น
ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476
รัฐบาลของคณะราษฎรยังคงประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากชัยชนะในการปราบกบฏบวรเดชแล้วยังคุมเกมและมีชัยชนะในทางกฎหมาย คือ การก่อตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 เพื่อพิจารณาคดีแก่ผู้ก่อการกบฏ หากกำเนิดของศาลพิเศษนี้มีความพิเศษสมชื่อ เพราะเริ่มต้นขึ้นก่อนการสิ้นสุดของเหตุการณ์กบฏ โดยเริ่มก่อตั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ที่ประชุมฯ สรุปว่าควรออกพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นเพื่อชำระคดีกบฏบวรเดช ต่อมาภายหลังการปราบกบฏเสร็จสิ้นได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ครั้งนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ปรีดี พนมยงค์ เสนอต่อที่ประชุมฯ ว่า
“เจ้ากรมพระธรรมนูญกับพระยานิติศาสตร์ไพศาล เห็นพ้องกันว่าควรตั้งศาลพิเศษสำหรับพิจารณาคดีในการกบฏคราวนี้ เพราะศาลพิเศษจะพิจารณาและพิพากษาคดีที่กระทำผิดได้ทั้งในและนอกเขต ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก”
พระยานิติศาสตร์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษมาเสนอ[23] ต่อมาจึงมีการประกาศพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 ในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2476[24] การเดินเกมจัดตั้งศาลพิเศษของฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรนี้มีเป้าหมายเพื่อให้จัดการกลุ่มกบฏได้อย่างเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และฉับไว ส่วนในมุมของผู้ต้องคดีกบฏมองว่ามีอำนาจรัฐอยู่เหนือขั้นตอนของการพิจารณาโดยเฉพาะการตัดสินพิพากษาคดีมีปัจจัยสำคัญที่ต้องขึ้นตรงต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การที่จำเลยหลายรายเขียนจดหมายถึงพระยาพหลฯ โดยตรง[25]
จำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 มีทั้งหมด 318 คน มีสำนวนฟ้อง 45 สำนวน ส่วนปูมหลังของจำเลยในคดีกบฏบวรเดชนั้นนอกจากเป็นคณะผู้ก่อการที่ส่วนใหญ่รับราชการทหารและในกรมต่างๆ แล้วยังมีการวิเคราะห์ว่าเชื่อมโยงทางการเมืองเพราะจับกุมทั้งกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งคณะชาติและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลด้วย ส่วนผู้ต้องหาสำคัญที่ลี้ภัยไปยังอินโดจีนมีจำนวน 13 คน อาทิ พระองค์เจ้าบวรเดช, พระยาเทพสงคราม, พระยาเสนาสงคราม, พระปัจจนึกพินาศ และหลวงโหมรอนราญ เป็นต้น[26] ท้ายที่สุดศาลพิเศษได้พิจารณาพิพากษาคดีจำเลย รวม 296 คน ถูกตัดสินประหารชีวิตจำนวน 6 คน ถูกพิพากษาจำคุก 6 เดือนถึงตลอดชีวิต จำนวน 244 คน และศาลพิพากษาให้ปล่อยตัวจำนวน 46 คน[27]
เมรุปราบกบฏ ณ ท้องสนามหลวง
ชัยชนะที่สามของรัฐบาลคณะราษฎร คือ ชัยชนะทางวัฒนธรรมจากการขอพระราชทานท้องที่สนามหลวงด้านอนุสาวรีย์ทหารเป็นที่ปลงศพทหารที่เสียชีวิตในการปราบกบฏจำนวน 17 นาย โดยรัฐบาลฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกระแสว่า ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์จะทำการนี้ที่ท้องสนามหลวงก็ทรงไม่ขัดข้อง[28]
ต่อเรื่องนี้ ชาตรี ประกิตนนทการ เสนอว่า ความคิดเรื่องการใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ปลงศพทหารและตำรวจถือเป็นเรื่องใหญ่และเสมือนเป็นการเมืองเรื่องพื้นที่ เพราะเดิมสนามหลวงเป็นดังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีความหมายพิเศษ เดิมเรียกกันว่า ทุ่งพระเมรุ เพราะเป็นพื้นที่ที่ใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น[29] ดังนั้น การใช้ท้องสนามหลวงเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลและพระราชทานเพลิงศพผู้วายชนม์ในการปราบกบฏ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476[30] จึงเป็น เมรุสามัญชนกลางท้องสนามหลวงครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
หนังสือยุทธโกศ พ.ศ. 2479 : (เปิด) พื้นที่ความทรงจำและพิธีเปิดอนุสาวรีย์ 17 ทหาร-ตำรวจ
การตอกย้ำว่าคณะราษฎรมีอำนาจทางการเมืองสูงในช่วง 5 ปีแรกของการอภิวัฒน์ 2475 และภายหลังการปราบกบฏบวรเดช คือ การสร้างอนุสาวรีย์ 17 ทหาร-ตำรวจขึ้นโดยริเริ่มจากการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พุทธศักราช 2476 และได้พื้นที่ในการจัดสร้างอนุสาวรีย์ที่บริเวณตำบลหลักสี่ เนื่องจากนายทหารส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตลงที่นี่และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในพิธีเปิดอนุสาวรีย์ว่า “อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ”[31]
กระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้มีการตัดถนนและสร้างอนุสาวรีย์ทหารปราบกบฏ โดยมอบให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างถนนโดยแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2477 และมอบหมายให้หลวงนฤมิตรเรขการเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิทหารและตำรวจที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏบวรเดชโดยมีสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับระบอบรัฐธรรมนูญ
ส่วนฝั่งผนังด้านหน้าของอนุสาวรีย์ (ทางทิศตะวันตก) มีการจารึกชื่อทหารและตำรวจที่เสียชีวิตจำนวน 17 นาย ได้แก่
- นายพันโท หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล)
- นายร้อยเอก ขุนศุกรนาคเสนีย์ (เจือ สุกรนาค)
- นายร้อยโท น่วม ทองจรรยา
- นายดาบ ละมัย แก้วนิมิต
- นายดาบ สมบุญ บัวชม
- จ่านายสิบ หล่อ วงศ์พราหมณ์
- จ่านายสิบ แฉล้ม ศักดิ์ศิริ
- นายสิบเอก ชั้ว เผือกทุ่งใหญ่
- นายสิบเอก ทองอิน เผือกผาสุข
- นายสิบเอก เช้า สุขสวย
- นายสิบเอก พัน ยังสว่าง
- นายสิบเอก จัน ศุขเนตร
- นายสิบเอก บุญช่วย สุมาลย์มาศ
- นายสิบเอก ดา ทูคำมี
- นายสิบเอก หลิม เงินเจริญ
- นายร้อยตำรวจเอก ขุนประดิษฐสกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ) และ
- นายร้อยตำรวจตรี ทอง แก่นอบเชย
นอกจากหลวงนฤมิตรฯ จะเป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ฯ และควบคุมการก่อสร้างแล้วในวันเปิดอนุสาวรีย์ฯ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ที่มีพิธีบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ ทางหลวงนฤมิตรฯ ยังเป็นผู้รับอัฐิเข้าตั้งบนแท่นภายในอนุสาวรีย์ ตลอดจนเป็นผู้ปิดแผ่นประตูทองแดงของอนุสาวรีย์ฯ จนแล้วเสร็จการฉลองพิธีเปิดฯ อีกด้วย[32] ทั้งนี้ผู้เขียนขอชวนย้อนเวลากลับไปยังงานพิธีเปิดอนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ จากการรายงานในหนังสือยุทธโกศ ฉบับ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นหนังสือการทหารเล่มสำคัญที่ระบุข่าวการทหาร สถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม และวิชาการทางทหารที่เผยแพร่นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงสมัยคณะราษฎร
ภายหลังเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชแล้วได้มีการนำอัฐิของ 17 ทหารผู้เสียชีวิตบรรจุลงในโกศลูกปืนแล้วเก็บไว้ที่ห้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจนกระทั่งมีการสร้างอนุสาวรีย์ฯ แล้วเสร็จจึงมีการเชิญอัฐิ 17 ทหารและตำรวจมาบรรจุไว้ โดยพิธีการเริ่มต้นเชิญอัฐิออกมาตั้งที่ห้องโถงของกระทรวงกลางโหมในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2479 และในวันรุ่งขึ้นเวลา 11.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2479 มีการสวดบังสกุล ครั้นในเวลา 14.00 น. จึงได้เชิญอัฐิของ 17 ทหารและตำรวจขึ้นไปบนรถยนต์ในการสงครามเพื่อเคลื่อนจากกระทรวงกลาโหมไปยังอนุสาวรีย์ฯ บริเวณถนนหลักสี่
หนังสือยุทธโกศ เขียนถึงเหตุการณ์วันนั้นไว้อย่างมีชีวิตชีวาโดยผู้เขียนขอคงตัวสะกดและวรรคตอนตามต้นฉบับไว้ดังนี้
“ขะบวนถึงอนุสสาวรีย์ เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ๔๐ นาฑี มีประชาชนชุมนุมชมขะบวนแห่คับคั่งตลอดทาง ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยความนิยมชมชื่นในเกียรติยศของผู้เสียชีวิต…ครั้นขะบวนถึงที่สุดลงแล้ว กองทหารเกียรติยศซึ่งตั้งประจำอยู่ณะที่นั้น ทำความเคารพ ผู้เชิญๆ อัฏฐิเข้าบรรจุในอนุสสาวรีย์ พระสงฆ์เริ่มชักบังสกุล
ขะบวนเคลื่อนเลยไปปรับรูปใหม่เสร็จแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึ่งได้รายงานกราบทูลการเปิดอนุสสาวรีย์ และประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดำรัสตอบแล้วทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรไตรรงค์คลุมอนุสสาวรีย์…”
และที่หัวท้ายของธงไตรรงค์ยังมีลูกลอยผูกติดเพื่อพาให้ธงฯ ทั้งผืนลอยขึ้นสู่อากาศอย่างช้าๆ เสมือนเป็นการนำวิญญาณของ 17 ผู้กล้าสู่เบื้องบน โดยขั้นตอนสุดท้ายได้มีการวางพวงมาลาจากทั้งส่วนพระองค์ ส่วนรัฐบาล หน่วยงานทหาร ข้าราชการ และพ่อค้าคหบดี เมื่อวางพวงมาลาแล้วเสร็จก็มีมหรสพและจุดดอกไม้เพลิงรวมทั้งการแสดงฉลอง นอกจากนี้ยังมีเครื่องบินจำนวนมากวนมาบินเพื่อโปรยข้าวตอกดอกไม้ผ่านอนุสาวรีย์จนเสร็จงาน
ภายในงานยังมีการกราบทูลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ หลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมีนัยสำคัญถึงความสามัคคีว่าอนุสาวรีย์นี้เป็นเครื่องเตือนสติและเตือนใจชาวไทยว่าอย่าแตกความสามัคคีกัน และพระราชดำรัสตอบของประธานคณะฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ทรงดำรัสสอดรับกันว่า ให้เราทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความกลมเกลียวปรองดองร่วมความสามัคคี รวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อหวังให้ประเทศชาติบ้านเมืองของเราเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นสืบไป
อนุสาวรีย์ 17 ทหาร-ตำรวจ จึงเป็นเครื่องระลึกเตือนใจ 3 ประการ คือ
- เตือนความสลดใจอันสุดซึ้งของคนไทย ให้อยู่ในความสามัคคี มีความเห็นทำนองเดียวกันในกาลอนาคต
- เตือนความปลอดภัยของประเทศชาติ ซึ่งได้รับความสงบสุขต่อมาจนบัดนี้ ด้วยความเสียสละของผู้มีหน้าที่ป้องกันความหายนะเสื่อมโทรมของประเทศชาติ อันเกิดจากผู้ก่อการจลาจลวุ่นวาย
- เตือนความเชิดชูในเกียรติยศเกียรติศักดิ์ของ 17 ทหารและตำรวจผู้พลีชีพให้เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งทหาร-ตำรวจ และมหาชนผู้อยู่ข้างหลังจะไม่มีเวลาละลืมเสียได้เลย[33]
ณ ปัจจุบันเมื่ออนุสาวรีย์ 17 ทหาร-ตำรวจ หรืออนุสาวรีย์ที่ระลึกถึงการปราบกบฏบวรเดชได้หายไป หากพิจารณาการก่อเกิดที่มีนัยความหมายและสัญลักษณ์เพื่อเป็นบทเรียนให้เกิดความสามัคคีและตระหนักถึงการดำรงไว้ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว การล่องหนไปจากวงเวียนหลักสี่จึงน่าขบคิดว่าความสามัคคีและแนวทางประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญยังคงอยู่หรือได้ถูกรื้อถอนไปพร้อมกันเสียแล้ว
หมายเหตุ :
ที่มาของภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา หนังสือพิมพ์ประชาชาติ ยุทธโกศ และเพจประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2476. ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2476 เล่ม 50, น. 624-626.
- ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อขยายและตัดถนนเชื่อมคมนาคมกรุงเทพพระมหานครกับดอนเมือง และเพื่อสร้างอนุสสาวรีย์ทหารปราบกบฏ พุทธศักราช 2476. ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2476 เล่ม 50, น. 950-960.
- ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความ เรื่อง ตั้งกรรมาธิการพิจารณาบำเหน็จความชอบในการปราบกบฏใหม่. ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 เล่ม 51, น. 44-45.
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/5 กล่อง 5. การตรวจสอบโทรเลข โทรศัพท์ในระหว่างการมีกบฏ [12 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/7 กล่อง 5. หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ลงข่าวการกบฏและนักโทษการเมืองของสยาม [14 ต.ค. 2476-5 ม.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.1/1. คำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ [11-26 ต.ค. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1/8. เบ็ดเตล็ด (ให้หลวงไพรีนำทหารอุดร รุกพวกกบฏ ฯลฯ) [15 ต.ค.-10 ก.พ. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.1.3/19. ใบคู่มือปราบกบฏ [13 ธ.ค.-17 ก.พ. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.26/6. เรื่อง การศพทหารและตำรวจที่ต้องเสียชีวิตต์เนื่องในการปราบกบฏ [พ.ศ. 2476]
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.26/7 เรื่อง บริจาคเงินและของช่วยในการศพทหารและตำรวจที่ต้องเสียชีวิตเนื่องในการปราบกบฏ [พ.ศ. 2476-2477]
หนังสือพิมพ์และนิตยสาร :
- ประชาชาติ 18-26 ตุลาคม 2476
- “พิธีบรรจุอัฏฐิสิบเจ็ดทหาร-ตำรวจ,” ยุทธโกศ 2, 5 (พฤศจิกายน 2479): น. 129-140.
หนังสืออนุสรณ์งานศพ :
- อนุสรณ์งานศพพิมพ์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497. พระนคร : ไทยหัตถการพิมพ์, 2497.
- อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจโท หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2520. กรุงเทพฯ: บุญส่งการพิมพ์, 2520.
หนังสือภาษาไทย :
- คณะกรมอากาศยาน, กองบินช่วยทำการปราบกบฏระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476, (พระนคร : วัฒนะผล, 2476)
- คณะบรรณาธิการ, แม่ทัพบวรเดช. (กรุงเทพฯ: จิรวรรณนุสรณ์, 2527)
- จรูญ กุวานนท์, เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย, (พระนคร : สหกิจ, 2493)
- ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ พิมพ์ครั้งที่ 2, ฉบับปรับปรุง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2563)
- ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์. บรรณาธิการ, สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476, (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ, 2558)
- ณเพ็ชรภูมิ, กำศรวลพระยาศรีฯ, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2539)
- ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรม, 2559)
- ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562)
- สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2551)
บทความในหนังสือ :
- นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “กบฏบวรเดช : การเมืองของประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ของการเมือง,” วารสารธรรมศาสตร์ 13, 1 (มีนาคม 2527) : 92-118.
วิทยานิพนธ์ :
- นิคม จารุมณี. กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.
- ภูธร ภูมะธน. ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2481. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- กองบรรณาธิการ. (31 ธันวาคม 2561). สัญลักษณ์ประชาธิปไตยล่องหน จากหมุดคณะราษฎรสู่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ. https://www.bbc.com/thai/thailand-46719147
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (11 ตุลาคม 2564). กบฏบวรเดช ตุลาคม 2476.
- สุพจน์ ด่านตระกูล. (11 ตุลาคม 2564). ขบถศักดินา...ขบถบวรเดช.
- เสมียนนารี. (4 กรกฎาคม 2565). บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476.
- อรุณ เวชสุวรรณ. (18 ตุลาคม 2564). ความเปลี่ยนแปลงของพระบรมวงศานุวงศ์ หลังเหตุการณ์ “ขบถบวรเดช”.
[1] การนับวัน เวลา และพุทธศักราชในบทความนี้เป็นการนับตามปฏิทินเดิมก่อนมีประกาศให้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483
[2] ฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎรเรียกว่า กบฏ ส่วนฝ่ายผู้ก่อการเรียกกลุ่มตนเองว่า คณะกู้บ้านกู้เมือง
[3] “พิธีบรรจุอัฏฐิสิบเจ็ดทหาร-ตำรวจ,” ยุทธโกศ 2, 5 (พฤศจิกายน 2479): น. 129-130.
[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2551), น. 37.
[5] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: พี.เพรส., 2551), น. 37.
[6] ประชาชาติ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 2.
[7] ประชาชาติ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 1-3.
[8] ประชาชาติ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 31.
[9] ประชาชาติ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 4.
[10] ประชาชาติ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 1.
[11] คณะกรมอากาศยาน, กองบินช่วยทำการปราบกบฏระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476, (พระนคร : วัฒนะผล, 2476)
[12] พระอิสริยยศ ณ เวลานั้น
[13] ประชาชาติ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 36.
[14] ประชาชาติ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 1-5.
[15] ประชาชาติ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 5.
[16] ประชาชาติ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 27.
[17] ประชาชาติ18 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 1-2.
[18] ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นปราโมทย์ พึ่งสุนทร เนื่องจากท่านเป็นลูกศิษย์ที่เคารพรักปรีดี พนมยงค์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นปราโมทย์ เพื่อให้สอดรับกับความหมายของชื่อปรีดี
[19] ประชาชาติ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 3, 28.
[20] ประชาชาติ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 27.
[21] ประชาชาติ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 27.
[22] ประชาชาติ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น. 25.
[23] ภูธร ภูมะธน. ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2481. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521. น. 101-102.
[24] ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พุทธศักราช 2476. ประกาศ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2476 เล่ม 50, น. 624-626.
[25] ภูธร ภูมะธน. ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2481. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521. น. 107-109
[26] เรื่องเดียวกัน, น. 114-119.
[27] เรื่องเดียวกัน, น. 150.
[28] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.26/6. เรื่อง การศพทหารและตำรวจที่ต้องเสียชีวิตต์เนื่องในการปราบกบฏ [พ.ศ. 2476]
[29] ชาตรี ประกิตนนทการ, ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ พิมพ์ครั้งที่ 2, ฉบับปรับปรุง, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2563), น. 97.
[30] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร 0201.26/6. เรื่อง การศพทหารและตำรวจที่ต้องเสียชีวิตต์เนื่องในการปราบกบฏ [พ.ศ. 2476]
[31] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562), น. 225.
[32] เรื่องเดียวกัน, น. 231-236.
[33] “พิธีบรรจุอัฏฐิสิบเจ็ดทหาร-ตำรวจ,” ยุทธโกศ 2, 5 (พฤศจิกายน 2479): น. 129-140.
- กบฏบวรเดช
- อนุสาวรีย์ 17 ทหารและตำรวจ
- อนุสาวรีย์ปราบกบฏ
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- คณะราษฎร
- ระบอบรัฐธรรมนูญ
- พระองค์เจ้าบวรเดช
- พระยาเทพสงคราม
- พระยาศรีสิทธิสงคราม
- ดิ่น ท่าราบ
- หลวงพิบูลสงคราม
- กุหลาบ สายประดิษฐ์
- ศรีบูรพา
- รัชกาลที่ 7
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- ปรีดี พนมยงค์
- พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์
- พระองค์เจ้าอลงกฎ
- พระยาเทพหัสดิน
- พระยาเสนาสงคราม
- พระยาศราภัยพิพัฒ
- วรรณไวทยากร วรวรรณ
- พระกล้ากลางสมร
- หลวงพลหาญสงคราม
- หลุย คีรีวัต
- วัดเทวสุนทร
- ซิม วีระไวทยะ
- บุญล้อม พึ่งสุนทร
- สงวน ตุลารักษ์
- สมรภูมิหินลับ
- จำนงค์ ศรีสวัสดิ์
- ขุนพรรคพานิช
- ขุนช่วงบุระการ
- กิมเส็ง สินธุเสก
- ง้อ บวรนายก
- ศาลพิเศษ
- พระยานิติศาสตร์ไพศาล
- พระปัจจนึกพินาศ
- หลวงโหมรอนราญ
- เมรุปราบกบฏ
- ท้องสนามหลวง
- ชาตรี ป