ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การแต่งตั้งผู้นำ “กบฏบวรเดช” ความเห็นต่างภายในขบวนการ

17
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้นำเสนอเรื่องความคิดของฝ่ายกบฏบวรเดชก่อนการประกาศศึกใหญ่กับรัฐบาลคณะราษฎรครั้งนั้น ซึ่งในหมู่ผู้ก่อการบังเกิดความไม่ลงรอยต่อการเลือกผู้นำของขบวนการ โดยฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นชูนำ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งโทษว่าเป็นความผิดพลาดของขุนพลคนสำคัญผู้ต่อมาสละชีพกลางสนามรบ ทั้งสองฝ่ายนี้ได้บันทึกความเห็นต่อประเด็นในหนังสือเกี่ยวเนื่องด้วยกบฏบวรเดช 2 เล่มสำคัญ คือ หนึ่ง ตัวตายแต่ชื่อยัง (พ.ศ. 2508) และ สอง พ.27 สายลับพระปกเกล้า (พ.ศ. 2519)

 

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามจากระบอบราชาธิปไตยเข้าสู่ประชาธิปไตยเพียงปีเศษ ความขัดเคืองของขุนนางระบอบเก่าบางส่วนได้ก่อตัวขึ้นภายใต้การนำของกลุ่มบุคคลที่เรียกขานตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” จนปะทุเป็นสงครามกลางเมืองเมื่อปลายฝนกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476  ที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์ว่า “กบฏบวรเดช”

 


พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช
ที่มา: ราชธิราชพิมพ์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497

 

ก่อนการประกาศศึกใหญ่กับรัฐบาลคณะราษฎรครั้งนั้น ในหมู่ผู้ก่อการบังเกิดความไม่ลงรอยต่อการเลือกเฟ้น “ขุน” เพื่อขึ้นเป็นผู้นำกองทัพในหมากเกมนี้ ฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นชูนำ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งโทษว่าเป็นความผิดพลาดของขุนพลคนสำคัญผู้ต่อมาสละชีพกลางสนามรบ ทั้งสองฝ่ายนี้ได้บันทึกความเห็นต่อประเด็นในเวลาต่อมา ผ่านหนังสือเกี่ยวเนื่องด้วยกบฏบวรเดช 2 เล่มสำคัญ คือ หนึ่ง ตัวตายแต่ชื่อยัง (พ.ศ. 2508) และ สอง พ.27 สายลับพระปกเกล้า (พ.ศ. 2519)

 

กำศรวลของพระยาศรีฯ “ตัวตายแต่ชื่อยัง”

“...ทหารในกรุงเทพฯ...เมื่อทราบว่าแม่ทัพกบฏเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชผู้เคยเข้มงวดกวดขัน ก็ส่ายหน้าไปตาม ๆ กัน จากนั้นก็หาเหตุจะบิดพลิ้วไม่ร่วมมือด้วย...เพราะเป็นเจ้า...ก็จะเข้ามาเป็นกษัตริย์เหนือกฎหมาย”[1] เสาวรักษ์ (ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์)

 


ตัวตายแต่ชื่อยัง (พ.ศ. 2508)

 

หนังสือ ตัวตายแต่ชื่อยัง  ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 ด้วยนามแฝง “เสาวรักษ์” หรือ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ (พ.ศ. 2444-2511) หนึ่งในทหารคนสนิทของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ พ.ศ. 2434-2476) ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ เล่าว่าเขาเป็นหนึ่งในคณะผู้ริเริ่มก่อการร่วมสายกับพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) โดยเขียนไว้ว่า “ด้วยประการฉะนี้ การก่อหวดกบฏปี 2476 จึงอุบัติขึ้น โดยนายประยูร ภมรมนตรี พระยาศรีสิทธิสงคราม หลวงพลหาญสงคราม และข้าพเจ้า ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์”[2] อีกทั้งยังอ้างว่าได้รับมอบหมายจากกลุ่มผู้ก่อการให้ไปทูลชวนพระองค์เจ้าบวรเดชเข้าร่วมโดยเผยบทสนทนาไว้ในหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

 


ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ที่มาของภาพ พิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์    ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 มกราคม 2513

 

“นายร้อยโทคู่สนทนาผู้มียศกระจ้อยร่อย ยังคงทูลต่อไปอีกหลายท่าหลายทาง จนกระทั่งอ้างถึงหิโตประเทศบทที่ว่า ”

‘กาลใดเมื่อไม่รบ ต้องพินาสแน่ แต่เมื่อรบยังมีทางรอด’

นั่นแหละ นายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช จึงคล้อยตาม โดยที่รับสั่งออกมาว่า

‘ฉันแพ้เธอ...แพ้เพราะต้องกู้ชาติบ้านเมืองเอาไว้’[3]

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงคราวเลือกชื่อผู้นำคณะ ร.ท.จงกล เอ่ยอ้างว่าพระยาศรีสิทธิสงครามกล่าวทักท้วงชี้แจงประเด็นการเสนอชื่อพระองค์เจ้าบวรเดชในที่ประชุมขึ้นว่า

“ถ้าหัวหน้ากบฏเป็นเจ้าทางในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวการในการกบฏจะแหนงใจว่า พวกเราจะเชิดชูกษัตริย์ให้เหนือกฎหมายขึ้นอีก พวกในกรุงเทพฯ นัดหมายไว้ให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นหัวหน้ากบฏยกทัพเข้าไปประชิดติดพระนคร”[4]

กระนั้นความเห็นดังกล่าวย่อมไม่ได้รับการรับรองเนื่องด้วย

“ที่ประชุมของคนที่เอิบอิ่มในลัทธิเจ้าขุนมูลนาย ฟังเหตุผลของคนพูดที่มิได้เป็นเจ้า ให้ซาบซึ้งถึงใจไม่ได้ จึงยืนกรานเชิญให้พระองค์บวรเดชเป็นหัวหน้ากบฏต่อไปตามเดิม”[5]

ซึ่งในท้ายสุดพระยาศรีสิทธิสงครามจึงจำต้องลุกขึ้นประกาศว่า

“บัดนี้ถึงการพินาสแล้ว! ...ข้าพเจ้าเล็งเห็นเช่นนั้น...แต่จะหลีกหนีเอาตัวรอดก็จะมิใช่ชายชาติทหาร ทั้งจะทำให้ท่านทั้งหลายหลงเข้าใจผิดว่าข้าพเจ้าเห็นแก่ตัวอยากตั้งตัวเป็นใหญ่ เมื่อเป็นใหญ่ได้ไม่สมหมาย ก็ดื้อดึงเอาแต่ใจตัวเองเป็นประมาณ ทำอีบัดอีโรยแตกคอกไป ฉะนั้น ทั้งที่รู้ ๆ อยู่ว่ากำลังนำตัวเข้าไปสู่ความพินาส ข้าพเจ้าก็ยอมร่วมกับพวกท่าน...”[6]

 

“สายลับพระปกเกล้าฯ” กล่าวโทษพระยาศรีฯ

 


สายลับพระปกเกล้า (1 ใน 4 เล่มชุด พิมพ์ครั้งแรก 2519)

 

ในอีกด้านหนึ่ง อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต พ.ศ. 2446-2535) ได้แสดงทัศนะตรงข้ามกันอย่างสุดขั้วผ่านหนังสือ พ.27 สายลับพระปกเกล้า (พ.ศ. 2519) ที่ประพันธ์ขึ้นหลังหนังสือตัวตายแต่ชื่อยังราวหนึ่งทศวรรษ โดยถ่ายทอดเรื่องเล่าจากพี่ชาย ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต พ.ศ. 2444-2508) ว่าการเข้ามาแทรกแซงแผนการอย่างกะทันหันของพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ต่างหาก นำพามาซึ่งความล้มเหลวของปฏิบัติการครั้งนั้น[7]โดยบันทึกไว้ว่า[8] 

 


ครอบครัวโรจนวิภาต

 

“นายพันเอกผู้นี้เป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก และเป็นเสนาธิการกองทัพที่ 1 เมื่อก่อนการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ตอนนั้นพระยาพหลฯ เคยชวนให้ร่วมทำการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครอง แต่พระยาศรีสิทธิ์ฯ ไม่เล่นด้วย แต่ก็สัญญาว่าจะเก็บเป็นความลับ...เพื่อให้คณะพระยาพหลฯ ลงมือกันเอง...คราวนี้ เสนาธิการเก่า’ ผู้นี้กลับมาเป็นผู้นำทัพมาขับไล่พระยาพหลฯ ดูก็ชอบกลอยู่![9] ...ความเชี่ยวชาญทางยุทธศาสตร์ของพระยาศรีสิทธิ์ นั้น ไม่มีใครคัดค้านในด้านทฤษฎี แต่ยังเป็นที่สงสัยในด้านปฏิบัติ เสี่ยงที่ว่า “อาจจะเก่งแต่ไม่กล้า” ก็มี...[10] พระยาเทพสงคราม (สิน อัคนิทัต)  เสนาธิการกองทัพระองค์บวรฯ ตัดพ้อด้วยความรู้สึกว่าตนกำลังจะถูกแย่งตำแหน่งสำคัญไปเสียแล้วด้วยประโยคที่ว่า “เราตั้งสำรับเรียบร้อยแล้ว พระยาศรีสิทธิ์ฯ มาชุบมือเปิบ”[11]

ร.ท.ขุนโรจนวิชัย  ขยายความไว้อีกว่าพระยาศรีสิทธิสงครามได้เข้ามาปรับแผน คือเปลี่ยนจากเดิมจู่โจมเข้าถึงสถานีจิตรลดาโดยมิให้ฝ่ายรัฐบาลรู้ตัวนั้น กลับกลายเป็น “ยกทัพโยธาโกลาหล” มีการแจกพระเครื่อง, ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่บรรดาทหารทั้งกองทัพ มีพิธีเบิกฤกษ์ลั่นฆ้องชัย “ตัดไม้ข่มนาม” พระสวดชยันโต ประชาชนชโยโห่ฮิ้ว ซ้ำยังมีการระดมพลใหญ่ ให้ทหารกองหนุนเข้าประจำการด้วย ความอึกทึกครึกโครมเหล่านี้ มีผลเพียงส่งเสริมกำลังใจของเหล่านักรบเท่านั้น! ข้อผิดพลาดสำคัญที่สุด คือการที่ต้องเลื่อนกำหนดการยกทัพออกไป 1 วันเพื่อแจ้งให้ทหารฝ่ายพระยาศรีฯ ในกรุงเทพฯ และทหารหัวเมืองฝ่ายพระองค์บวรฯ ได้ทราบเรื่องการเปลี่ยนกำหนดถึงพระนคร เป็นเวลา 5.30 น. ของวันที่ 12 ตุลาคม 2476[12] ซึ่งพโยมกล่าวสรุปไว้สองย่อหน้าดังนี้

“ท่านผู้อ่านพึงสังเกตเรื่องตอนนี้ว่า เพียงแต่การรับเอาพระยาศรีสิทธิสงครามไว้เป็นรองแม่ทัพ เหตุไฉนจึงมีความจำเป็นถึงกับต้องเลื่อนกำหนดยกทัพออกไปอีก 1 วัน ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอสำหรับให้ฝ่ายรัฐบาลรู้ล่วงหน้า และเตรียมการต่อต้านได้อย่างแข็งขัน?

ร.ท.ขุนโรจนวิชัย นายทหารคนสนิทของแม่ทัพบวรเดช ชี้แจงว่าเวลาต้องเสียไปด้วยการสอบสวนและปรึกษาหารือ ในการสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพ เมื่อมีพระยาศรีสิทธิ์ฯ แทรกเข้ามารับตำแหน่งรองแม่ทัพ...ถ้าไม่มีพระยาศรีสิทธิ์ฯ ไปขัดจังหวะฝ่ายพระองค์บวรฯ ก็ต้องชนะ!?! “ชนะแน่คือหนี” !”[13]

แน่นอนว่าพระยาศรีสิทธิสงครามย่อมไม่สามารถลุกมาชี้แจงแถลงไขข้อกล่าวหานี้ เพราะได้พลีชีพกลางสนามรบ ณ หินลับ โคราช ไปแล้วอย่างองอาจ กระนั้นลูกศิษย์คนสำคัญคือ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ก็ได้พูดแทนเจ้านายของตนว่าพระยาศรีฯ นับแต่ต้นไม่ต้องการให้พระองค์เจ้าบวรเดชขึ้นเป็นหัวหน้า เพราะจะถูกมองว่าการก่อการครั้งนี้เป็นไปเพื่อฟื้นฟูระบอบเก่าเนื่องด้วยมีผู้นำเป็นเจ้า[14]

เฉพาะส่วนเรื่องเล่า “เครื่องราง” ของขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต) พอจะพบเค้าลางผ่านคำบอกเล่าชีวประวัติของจอมขมังเวทย์แห่งยุคนั้นคือ “เฮง ไพรยวัล (แผ่นป้ายรูปปั้นสะกด “ไพรยวัลย์”[15])” ชาวกรุงเก่าโดยกำเนิด โดยว่า

พ.ศ. 2476 เกิดกบฏบวรเดชจึงมีทหารและข้าราชการมาให้ท่านสักเป็นจำนวนมาก การสักยันต์ครั้งนี้อาจารย์เฮงตั้งพิธีการที่วัดหันตรา ได้นิมนต์หลวงปู่สี พินทสุวณฺโณ เป็นผู้นำพิธีสงฆ์ อาจารย์เฮงตั้งราชวัตรฉัตรธง ตั้งแท่นบูชาพระอรหันต์ 108 รูป ส่วนอาจารย์เฮงทำหน้าที่สักพลางท่องคาถากำกับไปด้วย[16]

 

เรื่องเล่าของขลังครั้ง “กบฏบวรเดช 2476”

ณ วันตั้งต้นปฏิบัติการที่โคราช ทั้ง ร.ท.จงกล และ  พโยมบันทึกบรรยากาศไว้ตรงกันว่า

ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ว่า

“กองทหารประจำการเข้าที่ชุมพลแน่นขนัดพร้อมเพรียงเป็นอันดีแล้ว พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดชสั่งให้ทำพิธียาตราทัพอย่างเต็มยศ มีการลั่นฆ้องไชยเอาฤกษ์ เสียงโห่สนั่นลั่นเมือง พระสังฆ์สวดชยันโตประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ท่ามกลางการอวยไชยชื่นชมยินดีของประชาชนแออัดเอิกเกริก ขุนนางพลเรือนติดตามมาอวยชัยคับคั่ง”[17]

พโยม โรจนวิภาต ว่า

“ประชากรชาวนครราชสีมารู้รั่วทั่วกันด้วยความยินดีปรีดาที่ได้มีเจ้านายแห่งพระราชวงศ์จักรียกทัพไปปราบกบฏคอมมิวนิสต์ ซึ่งกำลังยึดอำนาจครอบครองพระนครหลวงและคนไทยทั้งชาติอยู่ในขณะนั้น ปรากฏตามรายงานข่าวว่า สองฟากถนนและที่สถานีรถไฟมีพระสงฆ์นั่งอาสนะสวดชยันโตและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้แก่บรรดานักรบ และธงประจำกองของทหารทุกเหล่าเพื่อความสวัสดีมีชัย”[18]

ข้อแตกต่างของบันทึกโหมโรงคู่นี้ คือเกร็ดเรื่องเครื่องรางยึดเหนี่ยวจิตใจ โพยมทิ้งท้ายลงรายละเอียดไว้ประโยคหนึ่งว่า

“ที่สถานีจิระนั้น ยังมีการแจกพระเครื่องของขลังแก่ทหารทุกคนด้วย[19]

ควันหลงด้านเครื่องรางของขลังหลังเหตุการณ์สงบ มีผู้ใช้นามว่า “ชาวโคราชผู้รักรัฐธรรมนูญ” ทิ้งบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) กล่าวหาว่าพระธรรมฐิติญาณ วัดสุทธจินดาวรวิหาร พระราชาคณะจังหวัดนครราชสีมา ได้ว่าจ้างให้ช่างหล่อพระกริ่งจำนวน 5-6 ร้อยองค์ เพื่อนำไปแจกฝ่ายกบฏ ซึ่งต่อมารัฐบาลสั่งให้ไต่สวนเรื่องดังกล่าว แต่ปรากฏว่าไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีผู้ทำหนังสือรายงานนายกรัฐมนตรีว่า เจ้าอาวาสวัดบางปะกอก จ.ธนบุรี ได้ทำเสื้อลงอักขระเลขยันต์ แจกจ่ายให้กับประชาชน และข้าราชการ หลังเสร็จสิ้นการปรากบฏ ซึ่งหากข่าวลือที่ว่านั้นเป็นจริง หวั่นเกรงว่าบรรดาผู้ที่ได้รับแจกที่อาจแสดงความแข็งขืนขึ้นมาอีก กระนั้นรัฐบาลมิได้เต้นตามไปกับข้อร้องเรียนเหล่านี้แต่อย่างใด[20]

อนึ่ง ภายหลังประสบความปราชัยอย่างสิ้นเชิง ร.ท.จงกล ถูกจับดำเนินคดีต้องโทษขุมขังจนถึงกับถูกปล่อยเกาะอีกสิบปีเศษ ด้านสองพี่น้องโรจนวิภาตสามารถหลบหนีการจับกุม แต่ขุนโรจนวิชัย (พายัพ โรจนวิภาต) พี่ชายหวนกลับเข้าประเทศไทยช่วงต้นสงครามมหาเอเชียบูรพาจนพลาดถูกจับตัวได้ ส่วนพโยมก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ในต่างประเทศกระทั่งนักโทษการเมืองทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ปิดท้าย

บันทึกของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ ยังส่งผลต่อวรรณกรรมของนักประพันธ์ฝ่ายซ้ายอีกด้วยเช่นกัน เมื่อสุวัฒน์ วรดิลก ในนามปากกา ศิวะ รณชิต ได้สร้างพระเอกชื่อว่า “ร.ท.พิชิต นนทศักดิ์” ด้วยสถานะทหารเอกของพระยาศรีสิทธิสงครามฯ ที่เข้าร่วมโรมรันในแนวรบหินลับเมื่อเย็นวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แต่รอดชีวิตมาได้ พิชิตสามารถหลบหนีการจับกุมและประสบความรักสองครั้ง ดูเหมือนผู้เขียนจะได้เค้าเรื่องจากชีวิตจริงของสองนักโทษกบฏบวรเดช ครั้งแรกคือความรักของเจ้าคุณศราภัยกับคุณหญิงฉลองที่จำพรากกันเมื่อสามีติดคุกและภริยาตายด้วยวัณโรค และครั้งสองจากชีวิตของสอ เสถบุตรที่พบรักในสำนักพิมพ์กับธิดาของพโยม โรจนวิภาต จนสมหวังด้วยการสมรสต่างวัยที่อายุห่างกันถึง 23 ปี

 


ฝากไว้ในแผ่นดิน โดยสุวัฒน์ วรดิลก พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525

 

สุวัฒน์ทยอยเขียนเรื่อง ฝากไว้ในแผ่นดิน ลงนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ตลอดปี พ.ศ. 2524 และปีถัดมารวมเล่มขายเมื่องานฉลองกรุง 200 ปี พื้นเพสุวัฒน์มีบิดาผู้เคยเป็นผู้ว่าจังหวัดชลบุรี แต่เนื่องด้วย “แสดงความอยู่ข้างสนับสนุน ‘บวรเดชฯ’ พ่อยัง ‘ฝังหัว’ ระบบการปกครองเก่าด้วยเหตุผลเพียง ‘ความเคารพรักส่วนตัว’ ต่อบุคคลสำคัญของระบบเก่าเท่านั้น พ่อกล้ายืนยันว่า ‘บวรเดชฯ’ จะต้องชนะ เพราะมีพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นรองแม่ทัพ ซึ่งพ่อกล้าพูดแก่ข้าราชการที่มาประชุมที่จวนว่า ‘พระยาพหลฯ หรือจะสู้พระยาศรีฯ ได้ มือคนละชั้น’”[21] ด้วยแนวความคิดนี้ส่งผลให้พระทวีปธุรประศาสน์ (วร วรดิลก) บิดาของเขาต้องถูกขอให้ออกจากราชการจนไปตั้งสำนักทนายความหากินเลี้ยงลูก อย่างไรก็ดีสุวัฒน์นับเป็นศิลปินที่เคารพรักอาจารย์ปรีดีอย่างมาก ในระหว่างเป็นผู้นำคณะศิลปินเดินทางแสดงทั่วประเทศจีนกลางปี พ.ศ. 2500 เขาได้พบปะพูดคุยกับปรีดี พนมยงค์ ผู้พำนักลี้ภัยการเมืองอยู่มหานครกวางเจา หลายครั้งคราหลายวาระ

ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้เขียนผูกเรื่องการโต้แย้งกรณีการตั้งผู้นำคณะไว้ในช่วงต้นด้วยบทเจรจาระหว่างพระยาศรีฯ และพระองค์เจ้าบวรเดชไว้ดังต่อไปนี้

“ร.อ.พิชิต ปวดร้าวขึ้นในหัวอก จนความปวดร้าวบาดแผลกระสุนล่าถอยห่างออกไป

เขาอยากร้องไห้ เมื่อนึกถึง ‘ท่านเจ้าคุณฯ’ ของเขา ซึ่งอุตส่าห์คุกเข่าลงกราบแทบพระบาท ‘พระองค์เจ้าฯ’ วิงวอนด้วยความรอบคอบว่า

‘ถ้าประกาศพระนามฝ่าพระบาทเป็นแม่ทัพ เราจะแพ้...คนเขาจะเข้าใจว่า เราเข้าไปยึดอำนาจเพื่อรื้อฟื้นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้กลับมาอีก...จะไม่มีใครร่วมมือกับเรา คนไทยเวลานี้กำลังเห่อประชาธิปไตย...ได้โปรดเถิดกระหม่อม...’

‘ท่านเจ้าคุณฯ’ น้ำตาคลอ เมื่อได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดจาก ‘องค์อดีตเสนาบดีกลาโหม’ ความแค้นพยาบาทส่วนพระองค์ มีพลังสูงกว่าเหตุผล รวมทั้งทรงมั่นพระทัยในเจตนาอันบริสุทธิ์ที่ได้แถลงให้ฝ่ายรัฐบาลทราบแล้ว ถึงเหตุผลในคำขาดที่ฝ่าย ‘กู้บ้านเมือง’ ได้ยื่นเสนอไปแล้ว เมื่อวันที่ 11 เดือนนี้”[22]

 


พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

 

บทอวสานของคู่ผู้นำการศึกครั้งนั้นคือ พระยาศรีสิทธิสงครามร่วมต่อสู้อย่างสุดชีวิตจนถึงแก่อนิจกรรม ณ หินลับ ปากช่อง เมื่อเย็นวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476[23] ซึ่งนับเป็นหมุดหมายแห่งความพ่ายแพ้ของคณะกู้บ้านกู้เมือง หนังสือพิมพ์ประชาชาติวันที่ 25 ตุลาคม พาดหัวข่าวภาพนายทหารระดับสูงของคณะพร้อมราคาค่าหัวเฉพาะพระยาศรีฯ ระบุใต้ภาพว่า “ตายแล้ว”

 


พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ขณะสัมภาษณ์ที่โรงแรมอรัญประเทศ

 

ในวันเดียวกันกับพาดหัวข่าวนั้น พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายาก็เสด็จหนีเหินฟ้าสู่กรุงไซง่อน อินโดจีน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เวลา 13.30 น. (แถลงการณ์ฝ่ายรัฐว่า 15.00 น.)[24] มีพันตรีหลวงเวหนเหินเห็จ (พล วงศ์สกุล) เป็นคนบังคับเครื่องบิน[25] และใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอกเป็นระยะเวลา 15 ปี 6 เดือนก่อนจะได้กลับประเทศไทยที่ตำบลอรัญประเทศ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

 


[1] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, พ.ศ. 2508, (เกื้อกูลการพิมพ์), น.313.

[2] พิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513, (ศูนย์การพิมพ์), น.78.

[3] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, น.310.

[4] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, น.310.

[5] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, น.311.

[6] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, น.311-312.

[7] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น), น.291-297.

[8] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์ วสี ครีเอชั่น), น.296-297.

[9] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.277.

[10] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.279.

[11] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.294.

[12] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.296.

[13] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.297.

[14] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ชีวิตนักการเมืองไทย ใน พิธีพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513, (ศูนย์การพิมพ์), น.89.

[15] สถานที่เก็บอัฐิอาจารย์เฮง ไพรยวัล ประดิษฐานอยู่ ณ วัดขนอน ตำบลหนองน้ำส้ม อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

[16] สุวิทย์ ขันธวิทย์ และ อิงอร สุพันธุ์วณิช, เฮง ไพรยวัล สุดยอดปรมาจารย์ไสยศาสตร์ ฆราวาสห้าแผ่นดินเมืองสยาม, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2555, (ธนาเพรส), น.111.

[17] เสาวรักษ์ (จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง, น.316.

[18] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.290-291.

[19] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2547, (สำนักพิมพ์วสี), น.291.

[20] วิศรุต บวงสรวง, ศาสนวัตถุกับอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไทย พุทธทศวรรษ 2410-2540, ดุษฎีนิพนธ์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2562, น.161-162.

[21] สุวัฒน์ วรดิลก, ชีวิตในความทรงจำ, พ.ศ. 2544, (สำนักพิมพ์พิราบ), น.43.

[22] ศิวะ รณชิต (สุวัฒน์ วรดิลก), ฝากไว้ในแผ่นดิน, พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ. 2525, (สำนักพิมพ์วรรณกรรมเพื่อชีวิต), น.5.

[23] เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, พ.ศ. 2535, (ครีเอทีฟ พับลิชชิ่ง), น.301-304.

[24] ประชาชาติ, พาดหัว “บวรเดชขึ้นเครื่องบินเปิดหนีไปแล้ว” วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2476, น.1.

[25]  ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (หลวงโหมรอนราญ), เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ เล่ม 1, พ.ศ. 2492, (โรงพิมพ์นครชัย), น. 210.