ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เปิดบันทึก “ตำรวจเชลย” ตำรวจสันติบาลกับการปราบกบฏบวรเดช

11
ตุลาคม
2567

Focus

  • บทความนี้มีหัวใจหลักคือ ศึกษาบันทึกตำรวจเชลย เป็นบันทึกความทรงจำที่เขียนขึ้นโดยนายร้อยตำรวจโท เจียม สิงห์บุระอุดม ซึ่งเคยเป็นนายตำรวจสันติบาลกอง 1 และต่อมาได้ย้ายไปสังกัดกองตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี บันทึกนี้เขียนเสร็จในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการปราบกบฏบวรเดชโดยเนื้อหาของบันทึกเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของตำรวจสันติบาลที่ได้รับภารกิจให้ไปจับกุมพระองค์เจ้าบวรเดชกับพวกที่ก่อการกบฏ แต่ถูกกองทหารของฝ่ายกบฏใช้อาวุธปืนกลยิงตายและบาดเจ็บสาหัสที่สถานีปากช่อง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476

 

 

“กบฏบวรเดช” ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เป็นผลพวกของความขัดแย้งในระยะแรกหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายปฏิปักษ์การปฏิวัติ กล่าวคือ ฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดยนายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมสมัยระบอบเก่า พร้อมด้วยนายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ได้นำกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และลพบุรี เข้าสู่พระนครแล้วยื่นคำขาดให้รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนายอมจำนน

ฝ่ายรัฐบาลจึงตัดสินใจปราบปรามฝ่ายกบฏบวรเดช โดยรัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกและมอบหมายให้นายพลโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับกองผสมปราบกบฏ อันนำไปสู่การเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังสองฝ่ายในลักษณะสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคมจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลจะมีชัยชนะเหนือฝ่ายกบฏบวรเดช ทว่าฝ่ายรัฐบาลต้องสูญเสียทหารและตำรวจจำนวน 17 นาย เพื่อพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลพระยาพหลฯ จึงเชิดชู 17 ทหารและตำรวจให้เป็นวีรชนของชาติ มีการประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุท้องสนามหลวงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (พ.ศ. 2477 ตามปฏิทินใหม่) ตลอดจนสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ สำหรับบรรจุอัฐิทหารและตำรวจ 17 นายและเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์การปราบกบฏบวรเดช[1]

 


ตำรวจสันติบาลที่เดินทางไปปราบกบฏบวรเดชที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๗๖

 

แม้ว่ากรณีกบฏบวรเดชจะมีการศึกษาค้นคว้าในแง่ของเหตุการณ์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 2510 จากการค้นคว้าหลักฐานจากสิ่งพิมพ์ร่วมสมัย เอกสารราชการจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ บันทึกความทรงจำ และสารคดีการเมือง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏบวรเดชและบทบาทของกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลในการปราบกบฏ แต่กลับมีงานน้อยชิ้นที่กล่าวถึงความพยายามของตำรวจสันติบาลในการสืบราชการและระงับเหตุการณ์การก่อกบฏที่จังหวัดนครราชสีมาในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 และเป็นกองกำลังฝ่ายรัฐบาลชุดแรกที่ถูกโจมตีจากฝ่ายกบฏที่สถานีรถไฟปากช่องจนทำให้ตำรวจสันติบาลเสียชีวิต 2 นาย คือ นายร้อยตำรวจโท ขุนประดิษฐสกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ) และนายดาบตำรวจ ทอง แก่นอบเชย

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปีแห่งการปราบกบฏบวรเดชใน พ.ศ. 2566 ผู้เขียนจึงขอนำเสนอวีรกรรมของตำรวจสันติบาลในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ผ่านการพิจารณาบันทึกความทรงจำเรื่อง “ตำรวจชะเลย” ของนายร้อยตำรวจโทเจียม สิงห์บุระอุดม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของข้าราชการตำรวจที่รับภารกิจในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญจากการก่อกบฏของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ จนต้องสูญเสียเพื่อนตำรวจ 2 นาย และได้ถูกควบคุมตัวในฐานะ “เชลย” ของฝ่ายกบฏบวรเดช

 

กำเนิดตำรวจสันติบาลหลังการปฏิวัติสยาม 2475

 


นายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลคนแรก

 

ตำรวจสันติบาลเป็นหน่วยงานตำรวจที่จัดตั้งขึ้นใหม่หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพื่อทำหน้าที่สืบสวนและหาข่าวสารทางการเมือง โดยระยะแรกหลังการปฏิวัติ คณะราษฎรได้ตั้งกองนักสืบพลเรือนสำหรับสอดส่องเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้การดำเนินงานของคณะราษฎรเป็นไปอย่างราบรื่น[2] มีหลวงนฤเบศรมานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ควบคุม[3] ขณะที่หน่วยการข่าวของฝ่ายทหารที่ทำงานร่วมกับตำรวจในการสอดส่องพฤติการณ์ผู้ที่จะโค่นล้มระบอบใหม่นั้นมี นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ควบคุม[4] จนล่วงเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ทางสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาวางโครงการกรมตำรวจในระบอบใหม่ นำไปสู่การตั้ง “กองตำรวจสันติบาล” ซึ่งเป็นหน่วยตำรวจที่มีอำนาจสืบสวน สอบสวน และปราบปรามได้ทั่วราชอาณาจักรทั้งคดีการเมืองและคดีอาญา เมื่อรัฐบาลระบอบใหม่มีกองตำรวจสันติบาลเพื่อเฝ้าระวังทางการเมือง งานการข่าวจากกองนักสืบพลเรือนจึงลดน้อยลงและทำให้หน่วยงานนี้ถูกยุบเลิกไปในเวลาต่อมา[5]

กองตำรวจสันติบาลระยะแรกตั้งอยู่บริเวณวังกรมหมื่นพิไชยมหินทรโรดมหรือวังท่าเตียน มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น กอง 1 สืบสวนปราบปราม มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎมายทั่วราชอาณาจักรและช่วยเหลือตำรวจนครบาลและตำรวจภูธรหากมีกำลังปราบปรามไม่เพียงพอ กอง 2 สืบราชการลับ ทำหน้าที่สืบราชการลับและความเคลื่อนไหวทางการเมือง และกอง 3 วิทยาการตำรวจ รับผิดชอบตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือ บันทึกประวัติผู้กระทำผิด การตรวจของกลาง และออกประกาศจับผู้ร้าย โดยพ.ต.ท.สมพงษ์ แจ้งเร็ว ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของตำรวจสันติบาลกอง 2 ว่าเป็นหัวใจของงานตำรวจสันติบาลทั้งหมด เนื่องจากเป็นกองที่สอดส่องพฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของบุคคลที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลคณะราษฎร นับตั้งแต่กลุ่มข้าราชการที่สืบเนื่องจากระบอบเก่าและกลุ่มข้าราชการที่ถูกปลดออกหลังการปฏิวัติสยาม รวมถึงสมาชิก “คณะชาติ” ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองคู่แข่งกับคณะราษฎร[6]

จากความสำคัญของกองตำรวจสันติบาลที่มีส่วนในการสนับสนุนและสร้างความมั่นคงทางการเมืองให้แก่รัฐบาลระบอบใหม่ ดังนั้นคณะราษฎรจึงคัดสรรบุคคลที่ไว้วางใจมาควบคุมดูแลงานตำรวจสันติบาล โดยคณะกรรมการราษฎรได้ย้ายนายพันตำรวจเอก พระนรากรบริรักษ์ (เจิม ปิณฑะรุจิ) ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ มาเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลคนแรก[7] รวมถึงโอนย้ายนายทหารหลายคนมาเป็นตำรวจสันติบาล อาทิ นายร้อยเอก ขุนนามนฤนาท (นาม ประดิษฐานนท์) นายทหารช่างที่ใกล้ชิดกับพระยาทรงสุรเดช นายร้อยโท ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร) นายทหารปืนใหญ่และสมาชิกคณะราษฎร นายเรือเอกบรรจง ชีพเป็นสุข (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข) นายเรือตรี เชาว์ คล้ายสัมฤทธิ์ และนายเรือตรี ชอุ่ม สินธวาชีวะ[8]

 

บันทึกความทรงจำเรื่อง “ตำรวจเชลย”

“ตำรวจเชลย”[9] เป็นบันทึกความทรงจำที่เขียนขึ้นโดยนายร้อยตำรวจโท เจียม สิงห์บุระอุดม ซึ่งเคยเป็นนายตำรวจสันติบาลกอง 1 และต่อมาได้ย้ายไปสังกัดกองตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี บันทึกนี้เขียนเสร็จในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2477 อันเป็นโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการปราบกบฏบวรเดช โดยเนื้อหาของบันทึกเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของตำรวจสันติบาลที่ได้รับภารกิจให้ไปจับกุมพระองค์เจ้าบวรเดชกับพวกที่ก่อการกบฏ แต่ถูกกองทหารของฝ่ายกบฏใช้อาวุธปืนกลยิงตายและบาดเจ็บสาหัสที่สถานีปากช่อง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 จากนั้นตำรวจสันติบาลกลุ่มนี้ได้กลายมาเป็นเชลยของฝ่ายกบฏบวรเดช บันทึกนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นจำนวน 6 ตอนใน หนังสือพิมพ์ตำรวจซึ่งเป็นวารสารของกรมตำรวจตีพิมพ์ทุก2เดือน ตั้งแต่ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 จนถึงฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478[10] รวมถึงมีบทความแก้ไขความที่ผู้อ่านทักท้วงจำนวน 1 ตอน[11]

เมื่อกล่าวถึงบันทึกความทรงจำที่บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์กบฏบวรเดช งานส่วนใหญ่มักเผยแพร่หลังจากผ่านเหตุการณ์ในระยะเวลาที่ยาวนานมากๆ ดังสะท้อนได้จากบันทึกความทรงจำหลายชิ้นของฝ่ายกบฏบวรเดชหรือบุคคลที่เป็นปรปักษ์ต่อคณะราษฎร[12] แต่กลับมีงานจำนวนน้อยชิ้นที่มีลักษณะเป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงคราม (War Memoir) ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสู้รบจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน ทั้งในแง่ของยุทธวิธีทางทหาร การอธิบายการรบ การตัดสินใจทางทหาร รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนที่อยู่ในสมรภูมิการสู้รบ โดยบันทึกความทรงจำของฝ่ายกบฏบวรเดชที่มีลักษณะเช่นนี้ปรากฏชัดเจนในงานเขียนเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ” ของหลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) นายทหารฝ่ายกบฏบวรเดชที่มีบทบาทในการต่อสู้กับทหารฝ่ายรัฐบาลที่บางเขนและหลักสี่ ขณะที่บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงครามของฝ่ายคณะราษฎรแทบจะได้รับการตีพิมพ์หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชยุติลงไม่นานและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ดังสะท้อนได้จากงานเขียนเรื่องปราบกบฏบนที่ราบสูง[13] ของนายร้อยโท สุตรจิตร จารุเศรนี นายทหารฝ่ายรัฐบาล ประจำกองรบในบังคับบัญชาของพระเริงรุกปัจจามิตร(ทอง รักสงบ) โดยงานชิ้นนี้ได้อธิบายการรบของฝ่ายรัฐบาลอย่างละเอียด การบรรยายอารมณ์ความรู้สึกเสียสละและกล้าหาญของทหารฝ่ายรัฐบาลตลอดจนรายงานความสำเร็จในการต่อสู้กับฝ่ายกบฏบวรเดชนับตั้งแต่สมรภูมิที่บางเขนจนถึงนครราชสีมา

 


หนังสือพิมพ์ตำรวจ

 

งานเขียนเรื่อง “ตำรวจเชลย” ถือเป็นงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงคราม โดยงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นคือ เป็นบันทึกความทรงจำเพียงชิ้นเดียวที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของตำรวจสันติบาลฝ่ายรัฐบาล ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการปราบกบฏบวรเดชและตำรวจสันติบาลกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส รวมถึงต้องถูกฝ่ายกบฏควบคุมตัวและได้รับการปฏิบัติในฐานะ “เชลยศึก” ของฝ่ายกบฏบวรเดชนับตั้งแต่วันที่ 11-19 ตุลาคม พ.ศ. 2476 แม้บันทึกความทรงจำชิ้นนี้จะไม่ได้มุ่งเน้นบรรยายการสู้รบอย่างเด่นชัดแต่งานชิ้นนี้กลับบอกเล่าเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกของเชลยศึกในสงครามกลางเมืองไว้อย่างละเอียด อันเป็นผลมาจากการเรียบเรียงข้อมูลจากอนุทิน (diary) ที่ผู้เขียนได้บันทึกในแต่ละวันระหว่างถูกคุมขัง ยิ่งไปกว่านั้นบันทึกความทรงจำชิ้นนี้ยังสะท้อนบรรยากาศของยุคสมัยภายหลังจากที่ฝ่ายคณะราษฎรมีชัยชนะเหนือฝ่ายกบฏบวรเดช

ทั้งนี้ร.ต.ท.เจียม สิงห์บุระอุดม ผู้เขียนบันทึกได้กล่าวถึงจุดประสงค์ในการเผยแพร่งานเขียนไว้อย่างชัดเจน 6 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อเป็นประวัติการณ์ของกรมตำรวจที่ได้เข้าร่วมในการปราบกบฏถึงกับต้องเสียชีวิต เลือดเนื้อของข้าราชการตำรวจอย่างงดงาม ซึ่งยังไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในกรมตำรวจเลย
  2. เพื่อเชิดชูเกียรติยศของตำรวจว่า ได้ร่วมปฏิบัติงานของประเทศชาติได้ร่วมการเสียสละชีวิต เลือดและเนื้อเช่นเดียวกับทหารหาญของกองทัพสยาม ทั้งได้ร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพกับทหารหาญที่ได้พลีชีพเพื่อป้องกันรัฐธรรมนูญ
  3. เพื่อเป็นการไว้อาลัยแทนคณะตำรวจอุทิศแด่นายตำรวจที่ได้พลีชีพและผู้ที่ต้องบาดเจ็บสาหัสเพื่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญ แต่วันที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ถึงวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2477 ครบรอบ 1 ปีบริบูรณ์
  4. เพื่อแสดงปฏิสันถารมิตรแด่บรรดานายตำรวจและนายสิบตำรวจผู้ที่ได้เคยร่วมในการปราบกบฏ เพราะต่างได้โยกย้ายลาจากกันตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ 59/1025 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2476 ไว้ในนามของกองตำรวจสันติบาล
  5. เพื่อเป็นสมบัติของหนังสือพิมพ์ตำรวจจักได้บันทึกข้อความอันเกี่ยวแก่ตำรวจเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของตำรวจให้พึงระลึกถึงความตายในหน้าที่และชีวิตเลือดเนื้อของตำรวจในกาลต่อไป
  6. เพื่อบรรยายเหตุการณ์สู่ท่านผู้อ่านทั้งหลายที่มิได้ประสบด้วยตนเอง[14]

วัตถุประสงค์ที่ผู้เขียนแถลงไว้ใน “ตำรวจเชลย” ย่อมเป็นการย้ำเตือนและผลิตซ้ำความทรงจำเกี่ยวกับบทบาทของตำรวจสันติบาลในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 รวมไปถึงการสดุดีวีรกรรมความกล้าหาญ และความเสียสละของตำรวจสันติบาลในการธำรงรักษาระบอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตำรวจและประชาชนคนรุ่นหลังได้รับรู้

 

จากตำรวจสันติบาลของฝ่ายรัฐบาลสู่ตำรวจเชลยของฝ่ายกบฏบวรเดช

บันทึกตำรวจเชลยเริ่มเรื่องด้วยการเล่าเหตุการณ์วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อผู้เขียนพร้อมด้วยนายตำรวจและนายสิบตำรวจ สังกัดตำรวจสันติบาลกองที่ 1 และกองที่ 2 รวมทั้งสิ้น 32 นาย ได้รับคำสั่งจาก พระนรากรบริรักษ์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ให้เดินทางจากพระนครในเวลา 17.40 น. ไปยังจังหวัดนครราชสีมาด้วยขบวนรถไฟ เพื่อจับกุมพระองค์เจ้าบวรเดชกับพวกที่ก่อจลาจลเป็นกบฏต่อรัฐบาล โดยมีนายพันตำรวจโท พระกล้ากลางสมรเป็นหัวหน้าในภารกิจครั้งนี้ ขบวนรถไฟของตำรวจสันติบาลได้มาถึงบริเวณใกล้กับสถานีปากช่องในเวลาประมาณ 22.15 น. ทางฝ่ายกบฏบวรเดชได้ระดมยิงรถไฟด้วยปืนกลและปืนเล็กโดยฝ่ายตำรวจไม่สามารถตอบโต้ได้ จากเหตุการณ์นี้ทำให้ตำรวจสันติบาลเสียชีวิต 2 นาย คือ นายร้อยโทตำรวจขุนประดิษฐสกลการ และนายดาบตำรวจ ทอง แก่นอบเชย และมีตำรวจสันติบาลบาดเจ็บสาหัส 2 นาย คือ จ่านายสิบตำรวจชื่น นิมิตตะ และนายสิบตำรวจโท นุช อังโสภา โดยผู้เขียนได้บรรยายความรู้สึกเศร้าสลดที่เพื่อนร่วมชาติร่วมราชการต้องพลีชีพส่วนตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น เพื่อนตำรวจต้องช่วยกันรักษาพยาบาลตามยถากรรมเท่าที่ทำได้

 


นายพันตำรวจโท พระกล้ากลางสมร (มงคล หงส์ไกร)     

 


จ่านายสิบตำรวจ ชื่ม นิมิตตะ

 

เมื่อทหารฝ่ายกบฏบวรเดชได้หยุดยิงขบวนรถไฟแล้ว นายร้อยโท จรูญ ปัทมินทร์ นายทหารกองหน้าของฝ่ายกบฏบวรเดช ได้ปลดอาวุธและเข้าควบคุมตัวตำรวจสันติบาลที่เหลือในฐานะเชลยศึกจากนั้นได้นำตัวตำรวจทั้งหมดขึ้นรถไฟมาคุมขังที่โรงทหารจังหวัดสระบุรี โดยศพตำรวจที่เสียชีวิตได้ฝังไว้ที่วัดบ้านอ้อย จังหวัดสระบุรี ส่วนผู้รับบาดเจ็บได้ส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงทหารม้าสระบุรี

ทั้งนี้ผู้เขียนได้อธิบายยุทธวิธีของฝ่ายกบฏในการโจมตีขบวนรถไฟตำรวจที่สถานีปากช่องว่าพวกกบฏได้ส่งโทรเลขจากสถานีบ้านภาชีที่ตำรวจสันติบาลผ่านมาแจ้งฝ่ายกบฏล่วงหน้า จากนั้นได้วางกำลังและเตรียมปืนใหญ่ ปืนกล และปืนเล็กดักซุ่มโจมตีขบวนรถไฟ ฝ่ายกบฏได้แบ่งแนวยิงออกเป็น 2 แนว คือ แนวที่ 1 ยิงตรงขอบหน้าต่างขบวนรถไฟเสมอระดับหน้าอก กับแนวที่ 2 ยิงตรงกลางตัวรถไฟเสมอระดับสะโพก โดยมุ่งหวังปลิดชีพกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในขบวนรถไฟอย่างเด็ดขาดโดยผู้เขียนได้ประเมินการใช้กระสุนของฝ่ายกบฏในครั้งนี้ประมาณ 1,120 นัด แบ่งเป็นปืนกลหนักรวม 1,000 นัด และปืนกลเบารวม 120 นัด[15]

นอกจากนี้ผู้เขียนยังบรรยายถึงการดูถูกเหยียดหยามตำรวจสันติบาลในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวโดยฝ่ายกบฏบวรเดช ตัวอย่างเช่น “พวกแก(ตำรวจ-ผู้เขียน)ไม่ควรมาหาที่ตายเปล่าๆ ตายไป 2 คนนับว่าบุญนักหนาแล้ว” หรือ “เรา(ฝ่ายกบฏ-ผู้เขียน)ได้ทูลพระองค์เจ้าบวรเดชแล้วไม่เชื่อปล่อยให้เลยไปก่อนแล้วตั้งกองยิงที่คอคอด (สูงเนิน) ก็จะแหลกละเอียดยิ่งกว่านี้ นี่ตายเพียงแค่ 2 คน นับว่าเป็นบุญหนักหนา” แต่พวกตำรวจสันติบาลฝ่ายรัฐบาลต้องอดทนอดกลั้นต่อถ้อยคำดังกล่าว เพราะพวกเขาตกอยู่ในสถานะเป็นเชลยศึกในสงครามกลางเมืองที่กำลังจะปะทุขึ้น[16]

 

ตำรวจเชลยสืบข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ

 


นายสิบตำรวจโทนุช อังโสภา

 

เมื่อฝ่ายกบฏได้นำตัวเชลยตำรวจมาถึงสถานีรถไฟปากเพรียว อำเภอเมืองฯ จังหวัดสระบุรี ในเช้าวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2476 ผู้เขียนได้พบกับนายร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ) นายทหารฝ่ายกบฏ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจค้นอาวุธ และเขาได้ประกาศกร้าวว่า“พวกตำรวจเหล่านี้ตกอยู่ในฐานะชะเลยศึกของทหารจังหวัดสระบุรี ถ้าหากทำการระเมิดใด ๆ ขึ้น ย่อมไม่มีศาลตัดสิน[17] จากนั้นฝ่ายกบฏได้แยกบรรดานายสิบตำรวจไปกักขังไว้ที่เรือนจำทหาร ส่วนบรรดานายตำรวจไปกักขังไว้ ณ ที่พักของนายทหาร มีเวรยามเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด

ในวันเดียวกันนั้นเวลา 10.00 น. มีเครื่องบิน 2 เครื่องมาโปรยใบปลิวเหนือบริเวณกองทหารและตลาดสระบุรี นายร้อยเอกหลวงพหลหาญศึก นายทหารฝ่ายกบฏที่บังคับบัญชากองพันทหารม้าสระบุรี ได้เก็บใบปลิวมามอบให้ตำรวจเชลย 1 แผ่น ปรากฏว่าเป็นใบปลิวที่กล่าวถึงหลัก 6 ประการของพระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้ากบฏ เมื่อบรรดาตำรวจเชลยได้อ่านและร่วมกันวิเคราะห์เนื้อความในใบปลิวเทียบเคียงกับหลัก6 ประการของคณะราษฎรแล้วพบว่า หัวหน้ากบฏพยายามหลอกลวงประชาชนเพื่อก่อให้เกิดจลาจลหวังประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกให้เป็นใหญ่ใฝ่สูงทำลายล้างรัฐธรรมนูญของประเทศ[18]

ในช่วงสายของวันที่ 13 ตุลาคม หลวงพหลฯ ยังได้เข้ามาพูดคุยกับตำรวจเชลยอีกครั้ง เริ่มจากการกล่าวทำลายขวัญกำลังใจคุยโวโอ้อวดว่าฝ่ายกบฏมีกองกำลังและพรรคพวกมากมาย แม้แต่ทหารที่ประจำการอยู่ในพระนครก็เอาใจออกห่างจากรัฐบาลและหันมาร่วมมือกับฝ่ายกบฏแล้ว จากนั้นหลวงพหลฯ ได้ชักชวนให้ตำรวจเชลยเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ โดยให้การรับรองว่าจะปล่อยทุกคนให้เป็นอิสระ และจะส่งให้ตำรวจเชลยบางคนไปเป็นไส้ศึกอยู่ในพระนคร แต่ตำรวจเชลยทุกคนต่างปฏิเสธและยืนกรานว่า “พวกเราเป็นตำรวจของรัฐบาล ยินดีที่จะเสียสละทุกอย่างเพื่อรัฐบาล[19] อันสะท้อนให้เห็นว่าแม้จะถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารในฐานะเชลย ทั้งยังถูกกดดันและบีบคั้นจากสถานการณ์รอบด้าน แต่พวกเขายังคงยืนยันหนักแน่นที่จะเชื่อมั่นและภักดีต่อฝ่ายรัฐบาลไม่เสื่อมคลาย โดยมิได้เอนเอียงเข้าหาฝ่ายกบฏเพื่อเอาชีวิตรอด

ระหว่างที่ตำรวจเชลยถูกควบคุมตัวอยู่นั้น ร.ต.ท.เจียม สิงห์บุระอุดม ผู้เขียนบันทึกตำรวจเชลย ยังได้รับมอบหมายจากคณะตำรวจสันติบาลให้เป็นผู้จดบันทึกเหตุการณ์อย่างละเอียด โดยแอบเขียนลงบนกระดาษที่ฉีกออกจากสมุดพกแล้วซุกซ่อนไว้ภายในปลายรองเท้า และจัดให้ตำรวจเชลยเฝ้าเวรยาม เพื่อลอบสังเกตการณ์ตลอดจนเฝ้าระวังภัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ[20]

จากบันทึกความทรงจำเรื่อง“ตำรวจชะเลย”ของร.ต.ท.เจียม สิงห์บุระอุดม ได้รายงานความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่างๆ ในจังหวัดสระบุรีในลักษณะอนุทินประจำวัน โดยระบุเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้เป็นทักษะของตำรวจสันติบาลในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างที่พวกเขาถูกควบคุมตัวผ่านการสังเกตพฤติการณ์ต่างๆ ภายในกองทหาร การฟังคำบอกเล่าของทหารฝ่ายกบฏ ตลอดจนแยกแยะ คัดกรอง และประมวลข้อมูลที่ได้รับจนสามารถรับรู้สถานการณ์การสู้รบในแนวหน้าและข่าวความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏบวรเดชที่พระนคร ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังมีกำลังใจฮึกเหิมมากขึ้นเมื่อเห็นเครื่องบินฝ่ายรัฐบาลบินและโปรยใบปลิวเหนือจังหวัดสระบุรีซึ่งตำรวจเชลยได้ขอร้องให้ทหารเวรรักษาการณ์เก็บใบปลิวมาให้ ปรากฏว่าเป็นใบปลิวแถลงการณ์ฉบับที่ 4 ของรัฐบาล ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2476 ความว่ารัฐบาลจะเริ่มทำการยิงขับไล่พวกกบฏ ทำให้ตำรวจเชลย “ต่างรู้สึกภาคภูมิใจในความมั่นคง ความสามารถของรัฐบาลในการที่จะทำการปราบปรามพวกกบฏให้พินาศย่อยยับบรรลุผลโดยพลัน[21]

 

ข่าวกบฏพ่ายแพ้และตำรวจเชลยได้รับอิสรภาพ

หลังจากตำรวจเชลยถูกควบคุมตัวเข้าสู่วันที่ 6 รุ่งเช้าของวันที่ 16 ตุลาคม เค้าลางของชัยชนะของฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มปรากฏขึ้นผ่านสายตาของพวกเขา เนื่องจากตำรวจเชลยที่คอยผลัดเปลี่ยนเวรยามเฝ้าสังเกตความเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏ พบว่า มีรถไฟ 2 ขบวนที่บรรทุกทหารปืนใหญ่มาจากบ้านภาชีผ่านสถานีปากเพรียวไปจังหวัดนครราชสีมา โดยขบวนที่ 2 นั้น หยุดอยู่ที่สถานีปากเพรียวครู่หนึ่ง ทำให้พวกเขาเห็นว่า หลวงโหมรอนราญได้เข้าไปยังที่พัก ซึ่งอยู่ห่างจากที่คุมขังของตำรวจเชลยราว ๆ 36 เมตร โดยหลวงโหมฯ ได้นำข้าวของบรรจุลงในหีบใบใหญ่แล้วนำขึ้นรถไฟอย่างเร่งรีบ ซึ่งต่อมาภายหลังตำรวจเชลยจึงทราบว่า หลวงโหมฯ ได้บังคับขู่เข็ญเบิกเงินจากคลังจังหวัดสระบุรีไปให้กองกำลังฝ่ายกบฏ[22] นอกจากนี้ในช่วงเย็นวันเดียวกัน เหล่าตำรวจเชลยยังได้รับใบปลิวจากเครื่องบินฝ่ายรัฐบาลอีกครั้ง เป็นคำแถลงการณ์ฉบับที่ 23 ลงวันที่ 16 ตุลาคม ความว่า ให้ราษฎรช่วยจับกุมหัวหน้ากบฏอย่าให้หนีไปได้ รวมถึงในช่วงค่ำได้ทราบข่าวจากทหารพวกกบฏว่า หัวหน้ากบฏได้ถอยจากดอนเมืองไปรวมกำลังตั้งรับทหารของรัฐบาลที่ปากช่อง โดยได้ส่งทหารปืนใหญ่ ปืนกลมาตั้งรับทหารของรัฐบาลที่เขาคูบา เหนือสถานีปากเพรียว

 


หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา)

 

ช่วงสายของวันที่ 17 ตุลาคม หลวงพหลหาญศึกได้เข้ามาเล่าถึงเหตุการณ์การสู้รบและการถอยร่นของฝ่ายกบฏในพระนครให้แก่ตำรวจเชลย โดยบันทึกได้เล่าว่า หลวงพหลฯ ให้ข้อมูลกับตำรวจเชลยว่า “หัวหน้ากบฏได้รับพระราชโทรเลขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ถอยไปตั้งอยู่ที่ปากช่อง จึงจะรับเจรจากับรัฐบาลตามหลัก 6 ประการของหัวหน้ากบฏที่มีหนังสือกราบบังคมทูล” ซ้ำยังสำทับต่ออีกว่า ถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามจะแบ่งอาณาเขตตั้งแต่เขาปากช่องรวมมณฑลภาคตะวันออกเป็นประเทศอิสระไม่ขึ้นต่อรัฐบาลสยาม[23]

อย่างไรก็ตามฝ่ายตำรวจเชลยที่เฝ้าติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวอย่างระแวดระวังมาหลายวัน กลับมิได้หลงเชื่อในถ้อยคำของหลวงพหลฯ เนื่องจากพวกเขาตระหนักได้ว่า “หัวหน้ากบฏถูกกำลังอาวุธ กำลังน้ำใจ กำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลขับไล่จนถึงกับต้องขึ้นรถไฟหนีเตลิดเปิดเปิงแต่ดอนเมืองไปปากช่องตั้งแต่ใกล้สว่างของวันที่ 16 ต.ค. 76 ดังที่ได้ประจักษ์แก่คลองจักษุของพวกเรามาแล้ว.”[24] ความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏยังสะท้อนได้จากพฤติกรรมของหลวงพหลฯ ในเย็นวันเดียวกัน เมื่อหลวงพหลฯ เสพสุราจนเมามายและใช้ปืนพกยิงคนขายอาหารในสโมสรทหาร จนนายสิบพลทหารต้องช่วยกันพาผู้บังคับบัญชาของตนกลับที่พัก นอกจากนี้ยังมีเรือบรรทุกเบียร์ถึง 6 หีบจากอยุธยามาส่งที่สโมสรทหาร โดยผู้เขียนบันทึกตำรวจเชลยได้วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ว่า “นี่อีกชิ้นหนึ่งซึ่งส่อให้เห็นว่าพวกกบฏเสียขวัญที่ทำการไม่สมหวัง จึงหันเข้าหาการดื่ม[25]

เมื่อฝ่ายรัฐบาลได้ดำเนินการปราบกบฏจนรุกคืบมาถึงบ้านภาชีแล้ว หลวงพหลฯ จึงได้มาหารือกับตำรวจเชลยในเย็นวันที่ 18 ตุลาคม ว่าควรยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลดีหรือไม่ ดังนั้นบรรดาตำรวจเชลยจึงได้ร่วมกันเกลี้ยกล่อม อธิบายเหตุผลต่างๆ ให้ยอมสวามิภักดิ์พร้อมแนะนำให้รีบกระทำโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความผิดที่ได้กระทำมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นหลวงพหลฯ จึงยืนยันว่าจะไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น

ท่ามกลางแสงสว่างภายในที่คุมขังของบรรดาตำรวจเชลยที่เต็มไปด้วยความหวัง บันทึกตำรวจเชลยได้บรรยายค่ำคืนก่อนทหารสระบุรีฝ่ายกบฏจะสวามิภักดิ์ว่า “บ้านเรือนที่พักของนายทหารปราศจากแสงไฟ ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด ผิดแผกไปจากวันที่พวกเราได้ย่างเข้ามาถูกคุมขังภายในกรมทหารนี้” นอกจากนี้ยังมีทหารยามมาพูดคุยกับตำรวจเชลยว่า “ในวันรุ่งขึ้นบรรดาทหารจะพากันหลบหนีจากกองทหาร เพราะได้สำนึกตัวว่าถูกหลอกลวงมาใช้” ตลอดจนสอบถามเป็นการหยั่งเชิงว่า “ถ้าพวกทหารหลบหนีจะมีความผิดหรือไม่” เหล่าตำรวจเชลยจึงเกลี้ยกล่อมให้ทหารนายนั้นหนีไป โดยแนะนำไม่ให้เอาเครื่องแบบและอาวุธของหลวงติดตัวไปด้วย ทหารยามคนนั้นก็รับว่าจะทำตามนั้น และตั้งใจว่าจะนำอาวุธปืนกลเบา ปืนเล็ก พร้อมด้วยกระสุนมามอบให้กับพวกเขาด้วย แต่ทางตำรวจเชลยได้ตอบปฏิเสธไป[26]

 


นายพันโท พระเริง รุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ)

 

บันทึกตำรวจเชลยได้กล่าวถึงวันที่ 19 ตุลาคมว่า ในช่วงก่อนย่ำรุ่ง หลวงพหลหาญศึกและนายสิบทหาร 4 นาย ได้ขี่ม้าไปสวามิภักดิ์ต่อกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลที่บ้านภาชี ขณะที่สถานการณ์ภายในค่ายทหารสระบุรีช่วงเช้านั้นพวกทหารฝ่ายกบฏได้ละทิ้งหน้าที่และหลบหนีกันหมด จนล่วงมาถึงช่วงบ่าย หลวงพหลฯ ได้กลับมาถึงกองทหารสระบุรีหลังจากยอมสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล พร้อมกับได้รับคำสั่งจากนายพันโท พระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) นายทหารม้าฝ่ายรัฐบาล ให้ปล่อยตัวตำรวจเชลยให้เป็นอิสระ หลังจากนั้นตำรวจสันติบาลทุกคนต่างรีบสวมเครื่องแบบออกจากที่คุมขัง เพื่อไปพบกับนายสิบตำรวจที่บาดเจ็บสาหัสและรักษาตัวที่กองเสนารักษ์สระบุรี[27]

ในเย็นวันเดียวกันคณะตำรวจสันติบาลได้เดินทางไปยังวัดบ้านอ้อย ตำบลปากเพรียว เพื่อเยี่ยมศพเพื่อนตำรวจ 2 นายที่เสียชีวิตในการปะทะกับฝ่ายกบฏที่ปากช่อง โดยศพตำรวจทั้ง 2 นายนี้ พวกกบฏได้ขุดหลุมฝังตื้น ๆ บริเวณป่าช้าหลังวัด มีการปักป้ายนามผู้วายชนม์ว่า “ร.ท.ขุนประดิษฐสกลการ” กับ “ด.ต.ทอง แก่นอบเชย” หลังจากที่ยืนไว้อาลัยแสดงความรำลึกแด่เพื่อนพ้อง เหล่าตำรวจสันติบาลได้นิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เพื่อบังสุกุลและรวบรวมเงินทำบุญให้แก่ผู้วายชนม์ โดยบันทึกได้กล่าวคำอำลาแก่ศพนายตำรวจทั้ง 2 นายว่า “ขอให้เพื่อนยากของพวกเราที่สละชีพเพื่อประเทศชาติจงไปบังเกิดในสถานที่พร้อมด้วยความสุข ต่อจากนี้เพื่อนยากจะได้รับเกียรติยศเกียรติคุณดีเลิศยิ่งไปกว่าพวกเราที่ยังมีชีวิตอยู่[28]

 

ตำรวจสันติบาลกลับช่วยงานปราบกบฏ

หลังจากตำรวจสันติบาลได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่เพื่อนตำรวจ 2 คนที่วายชนม์เรียบร้อยแล้ว กลุ่มตำรวจสันติบาลได้เบิกอาวุธปืนพก ปืนเล็ก และปืนกลจากกองพันทหารสระบุรีโดยหลวงพหลฯ ได้ขอร้องให้ตำรวจสันติบาลเป็นกองกำลังรักษาการเมืองสระบุรี เนื่องจากกำลังทหารสระบุรีได้หลบหนีไปจำนวนมากหลังจากทราบข่าวความพ่ายแพ้ของฝ่ายกบฏ บรรดาตำรวจสันติบาลต่างรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง “ที่ได้รับเกียรติยศให้ปฏิบัติหน้าที่ของทหาร เพื่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญให้คุ้มกับที่พวกกบฏได้จับกุมพวกเรามาคุมขังไว้เป็นเวลานานวันมิได้ทำประโยชน์ชิ้นใดให้แก่รัฐบาล[29]

ทั้งนี้คณะตำรวจสันติบาลได้เข้ายึดสถานีรถไฟปากเพรียวในช่วงเย็นวันที่ 19 ตุลาคม และได้พบกับกำลังทหารฝ่ายกบฏนำโดยนายร้อยโท เชื่อม อินทรสถิตย์ โดยฝ่ายตำรวจสันติบาลได้เข้าเกลี้ยกล่อมจนทหารฝ่ายกบฏยอมปลดอาวุธและสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล กลุ่มตำรวจสันติบาลยังได้ไปพบพระยาสุรพลพิพิธ ข้าหลวงประจำจังหวัดสระบุรี เพื่อขอกำลังข้าราชการและประชาชนไปรื้อทำลายรางรถไฟขัดขวางการเดินทางของฝ่ายกบฏแต่ข้าหลวงประจำจังหวัดกลับไม่ให้ความร่วมมือโดยอ้างว่าไม่มีมีอำนาจสั่งการใดๆดังนั้นคณะตำรวจสันติบาลจึงประกาศขอความช่วยเหลือจากประชาชนรื้อรางรถไฟโดยพลการ[30] จากเหตุการณ์นี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในจังหวัดสระบุรีในการรื้อรางรถไฟที่สะพานดำใกล้สถานีรถไฟปากเพรียว อันสะท้อนว่าประชาชนสระบุรียังคงภักดีต่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญ ต่างสมัครใจนำแรงกายช่วยงานรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช

ย่ำรุ่งของวันที่ 20 ตุลาคม สถานีปากเพรียวได้เนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่มาต้อนรับกองทหารของฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายพันโท หลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการกองผสมปราบกบฏ โดยคณะนายทหารต่างเข้าสอบถามเหตุการณ์และความเป็นอยู่ของตำรวจสันติบาลที่ตกเป็นเชลยศึกของฝ่ายกบฏ ด้วยความเห็นอกเห็นใจและชื่นชมความกล้าหาญของตำรวจกลุ่มนี้[31] หลังจากนั้นหลวงพิบูลสงครามได้มอบหมายให้ตำรวจสันติบาลไต่สวนและบันทึกคำให้การนายร้อยโท ขุนรัตนยุทธพิชิต (บิน บงกชรัตน์) นายทหารช่างอยุธยา ที่นำกองทหารฝ่ายกบฏจำนวน 1 กองร้อย มาสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลที่สระบุรี[32]และให้บรรดาตำรวจสันติบาลปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวังเหตุการณ์ภายในจังหวัดสระบุรีให้อยู่ในความสงบ

 


นายร้อยตำรวจโท ขุน ประดิษฐสกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ)

 


นายดาบตำรวจ ทอง แก่นอบเชย

 

จนกระทั่งในช่วงสายของวันที่ 22 ตุลาคม สถานการณ์ในจังหวัดสระบุรีเข้าสู่ภาวะปกติ กล่าวคือ ฝ่ายกบฏบวรเดชได้ถอยร่นไปตั้งรับที่สถานีปากช่อง ขณะที่รัฐบาลได้แต่งตั้งนายพลตรี หลวงพิชิตชาญศึก มาเป็นผู้บังคับกองพันทหารที่จังหวัดสระบุรี และบรรจุกำลังพลฝ่ายรัฐบาลเข้ากองทหารจังหวัดสระบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหลวงพิบูลสงครามจึงมีคำสั่งให้บรรดาตำรวจสันติบาลเดินทางกลับพระนคร ทั้งนี้บันทึกตำรวจเชลยได้บรรยายความรู้สึกเสียดายของเหล่าตำรวจสันติบาลที่ต่างมุ่งมั่นจะร่วมมือกับทหารในการปราบกบฏให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกกบฏที่ยึดสถานีปากช่อง อันเป็นบริเวณที่ตำรวจสันติบาลถูกฝ่ายกบฏสังหารอย่างโหดร้าย โดยหลวงพิบูลสงครามได้ให้คำมั่นสัญญากับเหล่าตำรวจสันติบาลว่า “การปราบกบฏนี้ทางทหารจะใช้ความพยายามปราบให้ย่อยยับพินาศโดยด่วน ขอให้พวกเรารีบเดินทางกลับไปช่วยราชการในจังหวัดพระนครปฏิบัติตามหน้าที่เถิด และได้กล่าวขอบใจในเจตนาดีของพวกเรา[33]

คณะตำรวจสันติบาลได้เดินทางโดยรถไฟจากสถานีปากเพรียวมาที่สถานีกรุงเทพฯ ในช่วงสายของวันที่ 22 ตุลาคม โดยบันทึกตำรวจเชลยได้บรรยายถึงความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการสู้รบกันระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏตลอดระยะทางของเส้นทางรถไฟ โดยเฉพาะสนามบินดอนเมือง ศูนย์บัญชาการของฝ่ายกบฏ ซึ่งตกอยู่ในสภาพรกร้างเต็มไปด้วยขยะและเศษอาหาร ร่องรอยการสู้รบบริเวณสถานีรถไฟหลักสี่ สถานีวิทยุหลักสี่ และวัดเทวสุนทร ตลอดจนเศษซากหัวรถจักรที่ฝ่ายกบฏปล่อยพุ่งชนจนทำให้ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 8 นาย และบาดเจ็บ 37 นาย[34]

เมื่อคณะตำรวจสันติบาลมาถึงพระนครในช่วงบ่าย ได้นำเพื่อนตำรวจสันติบาลที่บาดเจ็บสาหัส 2 นายเข้ารักษาตัว ณ กองเสนารักษ์ที่พญาไท จากนั้นได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับผู้บังคับบัญชา ณ กองตำรวจสันติบาลท่าเตียน หลังจากบรรดาตำรวจสันติบาลได้พักผ่อนกับครอบครัวและญาติมิตรเป็นเวลา1วันจึงกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจของตำรวจสันติบาลในภาวะฉุกเฉินนับตั้งแต่การเข้าตรวจการณ์และรักษาสถานที่สำคัญร่วมกับคณะลูกเสือในพระนคร อาทิ สถานทูต กงสุล ธนาคาร สถานีตำรวจ และเรือนจำบางขวาง การควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดช ตลอดจนการรับตัวกบฏที่ส่งมาจากต่างจังหวัดไปยังกระทรวงกลาโหม[35]

 

เกียรติยศของวีรชนตำรวจสันติบาล

จากความสำเร็จของกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในการปราบปรามฝ่ายกบฏบวรเดช ณ สถานีหินลับในวันที่ 23 ตุลาคม จนทำให้พระยาศรีสิทธิสงคราม แกนนำของฝ่ายกบฏเสียชีวิต เหตุการณ์นี้สร้างความสูญเสียอย่างมากให้แก่ฝ่ายกบฏจนประสบความพ่ายแพ้ในเวลาถัดมา ซึ่งหลังจากฝ่ายรัฐบาลสามารถยึดสถานีปากช่องได้ในวันที่ 25 ตุลาคม กองกำลังของฝ่ายกบฏต่างเสียขวัญและแตกหนีกระจัดกระจายไป โดยพระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้ากบฏ ได้หลบหนีไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศสโดยเครื่องบิน เหตุการณ์ความวุ่นวายจากกรณีกบฏบวรเดชเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 เมื่อฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จในการยึดเมืองนครราชสีมาคืนจากฝ่ายกบฏ ควบคู่กับการปราบปรามฝ่ายกบฏที่แตกพ่ายในภาคอีสาน

เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติรัฐบาลจึงยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในวันที่22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และในช่วงเช้าของวันเดียวกัน คณะตำรวจสันติบาลที่นำโดยหลวงอาษาภูธร ผู้กำกับการตำรวจสันติบาลกอง 2 ได้เดินทางไปยังวัดบ้านอ้อย จังหวัดสระบุรี เพื่อนำศพ ร.ท.ขุนประดิษฐสกลการ และ ด.ต.ทอง แก่นอบเชย ตำรวจสันติบาลที่พลีชีพเพื่อรักษารัฐธรรมนูญ กลับมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่พระนคร ในการเคลื่อนย้ายศพวีรชนตำรวจสันติบาลทั้งสอง เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ได้มีข้าราชการและประชาชนในจังหวัดสระบุรีเข้าร่วมพิธีจำนวนมากนับตั้งแต่วัดบ้านอ้อยไปจนถึงสถานีรถไฟปากเพรียว ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิบัติวันที่ทหารฝ่ายกบฏปฏิบัติต่อศพนายตำรวจทั้งสอง[36]

 


พระยาพหลพลพยุหเสนา ติดเหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญแก่ศพขุนประดิษฐสกลการ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

 

เมื่อศพวีรชนตำรวจสันติบาลได้มาถึงพระนคร ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่กองตำรวจสันติบาล กอง 2 ปทุมวัน นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน จนถึง 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จากนั้นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมได้อัญเชิญศพทหารและตำรวจทั้งหมด 17 นาย ที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช มาประกอบพิธีพระราชทานยศและเหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดย ร.ต.ท. ขุนประดิษฐสกลการ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตำรวจเอก และ ด.ต. ทอง แก่นอบเชย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตำรวจตรี ผู้เขียนบันทึกตำรวจเชลยยังได้กล่าวถึงบรรยากาศของพิธีนี้ว่า “พวกเราที่นั่งถือเครื่องยศและประคองศพนายตำรวจที่พลีชีพอยู่บนรถ ป.ต.อ. นี้ได้สังเกตเห็นประชาชนต่างแสดงกิริยาเศร้าโศกขณะที่ศพผ่านต่างกระทำการเคารพโดยทั่วหน้า[37]

 


ตำรวจในขบวนแห่ศพวีรชน ๑๗ ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

 

หลังเสร็จพิธีประกาศเกียรติยศแล้ว ศพวีรชนทั้ง 17 นายได้ถูกอัญเชิญมาบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาส นับตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จนถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (พ.ศ. 2477 ตามปฏิทินใหม่) จากนั้นรัฐบาลได้ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ 17 วีรชนทหารและตำรวจที่สละชีพในการปราบกบฏบวรเดช ณ เมรุกลางท้องสนามหลวงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (พ.ศ. 2477 ตามปฏิทินใหม่) โดยกรมตำรวจได้ร่วมจัดพิมพ์หนังสือ “กัลยาณธรรมะกถา” ของพระอโนมคุณมุนี วัดราชาธิวาส ที่แสดงธรรมในพิธีบำเพ็ญกุศลแก่ 17 ทหารและตำรวจ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ให้เป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ[38]

 


รถอัญเชิญอัฐิ ๑๗ ทหารและตำรวจไปประดิษฐานภายในอนุสาวรีย์ปราบกบฏ วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๗๙

 

ตอนท้ายของบันทึกความทรงจำเรื่องตำรวจเชลย ผู้เขียนได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจของเขาในฐานะตำรวจสันติบาลที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ให้สมกับที่ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งนอกจาก 17 วีรชนทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏแล้ว ผู้เขียนยังได้แสดงความไว้อาลัยแก่นายสิบตำรวจโท โอ ลิ้มเฮียง ตำรวจสันติบาลที่เคยร่วมปราบกบฏเพื่อประเทศชาติและรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้มป่วยนับตั้งแต่ถูกฝ่ายกบฏจับเป็นเชลยและต่อมาได้ถึงแก่กรรมในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2478[39]

 

ส่งท้าย

บันทึกความทรงจำเรื่อง “ตำรวจเชลย” ของนายร้อยตำรวจโทเจียม สิงห์บุระอุดม เป็นหลักฐานที่บอกเล่าเรื่องราวการปฏิบัติภารกิจของตำรวจสันติบาลในการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญจากการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในเหตุการณ์กบฏบวรเดชช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 โดยบันทึกนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงคราม โดยผู้เขียนได้เล่าประสบการณ์การสูญเสียเพื่อนตำรวจ การตกอยู่ในฐานะเชลยศึกของฝ่ายกบฏ ตลอดจนบรรยายเหตุการณ์และอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนอย่างละเอียดอันทำให้บันทึกความทรงจำชิ้นนี้มีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ในฐานะงานเขียนที่สะท้อนบรรยากาศยุคสมัยคณะราษฎรจากมุมมองของตำรวจที่สนับสนุนระบอบรัฐธรรมนูญ

ถึงแม้ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจนครบาลบางเขนและเป็นสถานที่บรรจุอัฐิ 17 ทหารและตำรวจในพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ได้อันตรธานหายไปนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561[40] ทว่าในโอกาสครบรอบ 90 ปีแห่งการปราบกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 นี้ การอ่านทบทวนบันทึกความทรงจำเรื่อง “ตำรวจเชลย” ย่อมเป็นการย้อนรำลึกถึงวีรกรรมและความกล้าหาญของบรรดาตำรวจสันติบาล ผู้ยอมสละชีพเพื่อปกป้องชาติและรัฐธรรมนูญ จนรัฐประชาชาติไทยได้ยกย่องบุคคลเหล่านี้ให้เป็นวีรชนของชาติตลอดยุคสมัยของคณะราษฎร

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร การสะกด และรูปแบบการอ้างอิงตามต้นฉบับ
  • บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 528 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
  • บทความนี้ได้รับอนุญาตจากผู้เขียน ผศ. ดร.ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และบรรณาธิการนิตยสารศิลปวัฒนธรรมให้นำมาเผยแพร่แล้ว

เอกสารอ้างอิง

  • ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “เปิดบันทึกตำรวจเชลยปิดบันทึกตำรวจเชลย” ในศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 44. ฉบับที่ 12 (ตุลาคม 2566), 84-103.

 


[1] ดูเพิ่มเติมใน ณัฐพล ใจจริง, กบฏบวรเดช: เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2559); นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “คำนิยม,” ใน ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (บรรณาธิการ), สมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2: ปราบกบฏ พ.ศ. 2476 (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2558); ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร (กรุงเทพฯ: มติชน, 2562).

[2] ศรัญญู เทพสงเคราะห์, “สงวน ตุลารักษ์ คนรุ่นใหม่ในการปฏิวัติสยาม 2475,” ศิลปวัฒนธรรม 44, 9 (กรกฎาคม 2566): 131.

[3] ดูตัวอย่างรายงานการสืบราชการลับของกองนักสืบพลเรือนได้ในบทที่ 3 ใน ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์, ใต้เงาปฏิวัติ การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง 2475 (กรุงเทพฯ: มติชน, 2566).

[4] พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว, “บทบาทของตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500,”         (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2545), น. 37.

[5] เรื่องเดียวกัน, น. 37-40.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 45-46.

[7] “ประกาศปลดตั้งและย้ายนายตำรวจ,” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 (17 พฤศจิกายน 2475), น. 495.

[8] พ.ต.ท. สมพงษ์ แจ้งเร็ว, “บทบาทของตำรวจสันติบาลในประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2475-2500,” น. 51-52.

[9] ต้นฉบับเอกสารเขียนว่า “ตำรวจชะเลย” แต่ผู้เขียนขอใช้การเขียนแบบปัจจุบันว่า “ตำรวจเชลย” ตลอดทั้งบทความ เพื่อความสะดวกและความเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านในปัจจุบัน ส่วนการอ้างอิงยังคงเขียนตามต้นฉบับ

[10] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 3 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2477): 55-82; หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 4 (เมษายน-พฤษภาคม 2478): 44-67; หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 5 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2478): 105-114; หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 5 ตอนที่ 1 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2478): 90-103; หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 5 ตอนที่ 2 (ธันวาคม-มกราคม 2478); 42-50; หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 5 ตอนที่ 3 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2478): 53-70.

ทั้งนี้เนื้อหาบางส่วนของ “ตำรวจชะเลย” ได้รับเผยแพร่ซ้ำในหนังสือของ พ.ต.อ.อนุ เนินหาด, กรมตำรวจยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 (เชียงใหม่: วนิดาการพิมพ์, 2563), น. 26-43.

[11] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “แก้ความในเรื่องตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 6 (สิงหาคม-กันยายน 2478): 28-31.

[12] เลื่อน ศราภัยวานิช, ฝันร้ายของข้าพเจ้า (พระนคร: โรงพิมพ์ไทยโฆษณา, 2491); หลวงโหมรอนราญ, เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ (พระนคร: โรงพิมพ์นครชัย, 2492); หลุย คีรีวัต, ประชาธิปไตย 17 ปี (พระนคร: โอเดียนสโตร์, 2493); เสาวรักษ์ (นามแฝง-จงกล ไกรฤกษ์), ตัวตายแต่ชื่อยัง (พระนคร: เกื้อกูลการพิมพ์, 2508); ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน, เมืองนิมิตและชีวิตแห่งการกบฏสองครั้ง (พระนคร: อักษรสัมพันธ์, 2513);

[13] ร.ท. สุตรจิตร จารุเศรนี, ปราบกบฏบนที่ราบสูง (พระนคร: โรงพิมพ์กรมยุทธศึกษาทหารบก, 2476).

[14] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 3 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2477): 55-56.

[15] เรื่องเดียวกัน, : 68-69.

[16] เรื่องเดียวกัน, : 69-70.

[17] เรื่องเดียวกัน, : 71.

[18] เรื่องเดียวกัน, : 73.

[19] เรื่องเดียวกัน, : 75-76.

[20] เรื่องเดียวกัน, : 74.

[21] เรื่องเดียวกัน, : 77.

[22] เรื่องเดียวกัน, : 78.

[23] เรื่องเดียวกัน, : 80.

[24] เรื่องเดียวกัน, : 80.

[25] เรื่องเดียวกัน, : 81.

[26] เรื่องเดียวกัน, : 82.

[27] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 4 (เมษายน-พฤษภาคม 2478): 44-46.

[28] เรื่องเดียวกัน, : 48.

[29] เรื่องเดียวกัน, : 48.

[30] เรื่องเดียวกัน, : 50.

[31] เรื่องเดียวกัน, : 53.

[32] เรื่องเดียวกัน, : 53-54.

[33] เรื่องเดียวกัน, : 58.

[34] เรื่องเดียวกัน, : 60-64.

[35] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 4 ตอนที่ 5 (มิถุนายน-กรกฎาคม 2478): 108-109.

[36] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 5 ตอนที่ 1 (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2478): 97.

[37] เรื่องเดียวกัน, : 102.

[38] สำหรับหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ 17 ทหารและตำรวจที่เสียชีวิตในการปราบกบฏบวรเดช มีจำนวนทั้งสิ้น 6 เล่ม ได้แก่ (1) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงพระกรุณาพิมพ์หนังสือ “พระธรรมเทศนาของพระพิมลธรรม วัดมหาธาตุ” (2) โรงพิมพ์ศรีกรุง ได้พิมพ์คำแถลงการณ์และประกาศต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศในคราวปราบกบฏ (3) พระราชธรรมนิเทศ หลวงสิริราชไมตรี หลวงวรพากย์พินิจ และนายมานิต วสุวัต ได้พิมพ์หนังสือ “มหาจาริกของพระภิกษุไทย, พม่า, จิตตกง, สิงหฬ และอินเดีย เพื่อประกาศพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2475-2477” (4) คณะข้าราชการและประชาชนได้บริจาคทรัพย์ให้แก่กองทัพสยาม จัดพิมพ์หนังสือ “เสียงวิทยุ ของหลวงรณสิทธิพิชัย” (5) ทหารปืนใหญ่ในกองทัพสยาม ได้พิมพ์หนังสือ “ตำราปืนใหญ่โบราณ” (6) กรมตำรวจได้พิมพ์หนังสือ “กัลยาณธรรมมะกถา สืบคดีลึกลับ และปาฐกถาเรื่องพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งพระราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 รวม 3 เรื่อง”

[39] ร.ต.ท. เจียม สิงห์บุระอุดม “ตำรวจชะเลย,” หนังสือพิมพ์ตำรวจ เล่ม 5 ตอนที่ 3 (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2478): 69-70.

[40] ดูบทความ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ : จากจุดเริ่มต้นสู่การอันตรธาน พ.ศ. 2476-2561,” ใน ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ราษฎรธิปไตย: การเมือง อำนาจ และทรงจำของ(คณะ)ราษฎร, น. 223-295.