ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

ระลึกถึง ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ

19
ตุลาคม
2567

Focus

  • ในวาระ 122 ปี ชาตกาล ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอเสนอจดหมายที่นายปรีดี พนมยงค์ เขียนระลึกถึง ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นคุณูปการของ ร.ท.อู๊ด ต่อการอภิวัฒน์ การพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ และกรณีการปราบปรามกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 

 


ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ (19 ตุลาคม 2445-6 พฤษภาคม 2516)

 

ด้วยเจ้าภาพปรารถนาจะพิมพ์หนังสือบางเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้น และที่มีบางท่านได้เขียนเกี่ยวกับข้าพเจ้านั้นเพื่อตอบแทนบรรดาญาติมิตรที่มาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ ข้าพเจ้าเห็นว่า ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ เป็นศิษย์ที่รักคนหนึ่งของข้าพเจ้าซึ่งเคยช่วยเหลือในการพิทักษ์ระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อีกทั้งได้เคยร่วมงานในรัฐสภาและงานเสรีไทย จึงสมควรนําคําปราศรัยของข้าพเจ้าต่อธรรมศาสตร์บัณฑิต และเนติบัณฑิตที่ได้มาเยี่ยมข้าพเจ้า ณ บ้านพักชานกรุงปารีส เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ กับสุนทรพจน์บางเรื่องของข้าพเจ้าเกี่ยวกับระบบรัฐธรรมนูญ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทย ซึ่งเคยมีผู้พิมพ์ไปก่อนแล้วเป็นจํานวนน้อย จึงมีผู้ต้องการที่จะได้อ่านอีกหลายรายนั้น รวมขึ้นเป็นเล่มต่างหาก เพื่องานพระราชทานเพลิงศพนี้ โดยให้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า “คําปราศรัย สุนทรพจน์บางเรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ และบางเรื่องเกี่ยวกับขบวนการ เสรีไทย” หวังว่าหนังสือเล่มนี้คงจะอํานวยประโยชน์ตามสมควรแก่ท่านผู้อ่านที่ต้องการศึกษา หาสัจจะเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาในการที่เจ้าภาพของ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ บําเพ็ญกุศลเพื่อกตัญญูกตเวที ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพนี้ด้วย

ความคุ้นเคยระหว่างข้าพเจ้ากับ ร.ท.อู๊ดฯ สืบมาจากเหตุการณ์สําคัญวันหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าจําอยู่เสมอ คือเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ร.ท.อู๊ดฯ ได้รีบมาพบเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนา กับข้าพเจ้าที่วังปารุสกวัน แจ้งข่าวสําคัญ ว่าทหารที่นครราชสีมาขณะนั้นเรียกว่า “โคราช” ภายใต้การนําของนายทหารกองหนุนได้มั่วสุมกันที่สถานีรถไฟ เตรียมพร้อมที่จะเคลื่อนที่โดยขบวนรถไฟพิเศษ ส่วนขบวนรถไฟสําหรับ คนโดยสารธรรมดาที่ ร.ท.อู๊ดฯ โดยสารจากโคราชนั้น เป็นขบวนสุดท้าย จึงเสนอให้รัฐบาลรีบดําเนินการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อเจ้าคุณพหลฯ ได้ทราบจาก ร.ท.อู๊ดฯ เช่นนี้ จึงเชื่อแน่ว่าข่าวที่ทางราชการได้รับมาว่ามีนายทหารกองหนุนได้ตระเตรียมจะโค่นล้มรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นความจริงแล้ว ดังนั้น ท่านจึงสั่งให้หลวงพิบูลสงคราม ขณะนั้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกรีบจัดกําลังฝ่ายรัฐบาลเพื่อป้องกันสถานการณ์ และได้สั่งให้หลวงอดุลเดชจรัสขณะนั้นเป็นรองอธิบดีกรมตํารวจจัดส่งตํารวจ ๑ หมวด ภายใต้บังคับบัญชาของพระกล้ากลางสมรขึ้นรถไฟขบวนพิเศษจากกรุงเทพไปยังโคราชเพื่อระงับเหตุ โดยที่ฝ่ายกบฏมีพรรคพวกอยู่ในกรมรถไฟซึ่งแจ้งการเคลื่อนกําลังตํารวจของฝ่ายรัฐบาลให้ฝ่ายตนทราบ ฉะนั้น เมื่อขบวนทหารของฝ่ายกบฏภายใต้การนําของพระองค์เจ้าบวรเดช ได้เคลื่อนจากโคราชมาถึงสถานีปากช่อง จึงได้หยุดขบวน ต่อมาเมื่อขบวนการรถไฟที่บรรทุก หมวดตํารวจรัฐบาลถึงทางโค้งก่อนที่จะถึงสถานีปากช่อง ฝ่ายกบฏได้ใช้อาวุธปืนระดมยิงมา ยังขบวนรถไฟตํารวจนั้น ตํารวจเสียชีวิตหลายคน ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมทั้งพระกล้ากลางสมรถูกฝ่ายกบฏจับตัวไป อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการนั้นเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายรัฐบาลที่ฝ่ายกบฏ มิอาจเคลื่อนขบวนรถไฟมาถึงกรุงเทพได้ ภายในกําหนดตามแผนการ และช่วยให้ฝ่ายรัฐบาลมีเวลาพอที่จะวางแนวกําลังต่อต้านฝ่ายกบฏที่จะยกมาจากโคราช นับว่า ร.ท.อู๊ดฯ เป็นผู้หนึ่งที่ทําความชอบในการพิทักษ์ระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ข้าพเจ้าก็ได้มีความสนิทสนมกับ ร.ท.อู๊ดฯ ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อได้ตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นแล้ว ร.ท.อู๊ดฯ และนักเรียนกฎหมายที่โอนไปขึ้นคณะนิติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ยังเรียนไม่จบตามหลักสูตร ก็ได้โอนมาเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ครั้นแล้ว ร.ท.อู๊ดฯ ก็สอบไล่ได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต

ในระหว่างที่พวกนิยมลัทธิเผด็จการแบบฮิตเล่อร์กับมุสโสลินีคุกคามระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ของราษฎรนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ซึ่งมีถิ่นอยู่ในกรุงเทพกับธนบุรีมีจํานวนหลายพันคน สมควรที่จะมีการทดลองระดมพลชนิดที่เรียกว่า “ระดมพลเรือน” (Mobilisation civile) ในกรณีฉุกเฉินที่อาจจะต้องใช้เป็นกําลังต่อต้านลัทธิเผด็จการ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษากับเนติบัณฑิตและธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนที่เคยเป็นนายดาบและนายร้อยมาแล้วแต่มีอุดมคติประชาธิปไตย ซึ่ง ร.ท. อู๊ดฯ เป็นผู้หนึ่งนั้นวางวิธีการระดมนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่อยู่ในกรุงเทพและธนบุรีเลือกเอาวันประสาทปริญญาให้เป็นหน้าที่ของนักศึกษาทุกคนที่จะต้องมาชุมนุมพร้อมกัน เนื่องจากนักศึกษามีความรู้ต่างกันในวิชาทหารและในการจัดระเบียบแถว ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตรเช่นนั้น ฉะนั้น จึงได้เริ่มทดลองโดยวิธีจัดเป็นกองบังคับการ โดยตั้งเนติบัณฑิตและธรรมศาสตร์บัณฑิตบางคนซึ่ง ร.ท. อู๊ดฯ เป็นผู้หนึ่ง ทําหน้าที่เสมือนเป็นเสนาธิการของกองกําลังพลเรือน ผู้ที่ได้ปริญญาแล้วก็สวมเสื้อครุยปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิตที่เคยเป็นนายร้อย นายดาบ นายสิบ ทําหน้าที่ เป็นผู้บังคับหมวด ส่วนหน้าที่ผู้บังคับหมู่นั้นได้จัดโดยวิธีฉุกเฉินดังนี้ คือเมื่อนักศึกษาได้เข้าประตูมหาวิทยาลัยมาครบจํานวน ๙ คนแล้วก็จัดเป็น ๑ หมู่ โดยเจ้าหน้าที่กองบังคับการคอยควบคุมดูแลและถามว่าในหมู่ ๙ คนนั้นใครเคยเป็นทหารมาบ้าง ผู้ใดเคยเป็นทหารก็ถือตามลําดับอาวุโสมอบให้เป็นผู้บังคับหมู่ ถ้าในหมู่นั้นไม่มีใครเคยเป็นทหารเลยก็ให้ถามว่าใครเคยเป็นลูกเสือมาบ้าง ก็แต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับหมู่ตามลําดับยศลูกเสือ จํานวนนักศึกษาประมาณ ๕ พันคนที่ต้องมาชุมนุมในวันประสาทปริญญาอันเป็นการชุมนุมใหญ่ของมหาวิทยาลัยด้วยนั้น ก็ปรากฏว่ามีผู้เคยเป็นนายทหารและพลทหารนายหมู่ และลูกเสือกันเป็นจํานวนมากพอแก่การจัดตั้งนักศึกษาเป็นกองกําลังพลเรือนได้หลายหมู่หลายหมวดหลายกองร้อยหลายกองพันหลายกรม ส่วนอาวุธที่จะใช้นั้นฝ่ายนักศึกษาไม่มีอาวุธทันสมัย คือมีแต่มือเปล่า แต่โดยอาศัยกําลังใจยึดมั่นอยู่ในอุดมคติประชาธิปไตย และทําเพื่อประโยชน์ของมวลราษฎรทุกชนชั้นวรรณะ ก็หวังว่าจะได้รับความร่วมมือสนับสนุนของมวลราษฎรทั่วไป

ต่อมาเมื่อ ร.ท.อู๊ดฯ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร ก็ได้สนับสนุนระบบรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง จึงทําให้ตํารวจบางคนที่สนับสนุนอํานาจเผด็จการพยายามที่หาหลักฐานเท็จใส่ร้าย ร.ท.อู๊ดฯ ว่าคิดจะโค่นล้มรัฐบาล ทั้งนี้ก็ประกอบกับการที่ ร.ท.อู๊ดฯ เป็นผู้หนึ่งในกองเสนาธิการของกําลังพลเรือน นายตํารวจบางคนได้ให้ญาติของเขาขู่เข็ญเอาเงิน จาก ร.ท.อู๊ดฯ ซึ่งทําให้ ร.ท.อู๊ดฯ ต้องเสียเงินให้แก่ผู้ขู่เข็ญนั้น

ร.ท.อู๊ดฯ ได้ร่วมในขบวนการเสรีไทย ซึ่งได้ช่วยทําประโยชน์หลายประการแก่ขบวนการนั้น

ข้าพเจ้ามีความเสียดายที่ ร.ท.อู๊ดฯ ได้จากไปโดยที่ข้าพเจ้ายังไม่มีโอกาสที่จะได้พบตามที่ข้าพเจ้าได้ตั้งใจไว้ เมื่อข้าพเจ้าได้ออกจากประเทศจีนมาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส จึงมีแต่ความระลึกถึงท่านผู้นี้ และในคุณความดีที่ท่านผู้นี้ได้อุทิศตนให้แก่ชาติ และระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ข้าพเจ้าขอตั้งสัตยาธิษฐานให้ผลานิสงส์แห่งคุณความดีที่ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ ได้บําเพ็ญดังกล่าวมาแล้วจงดลบันดาลให้เกียรติประวัติของ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ์ คงอยู่ตลอดกาลนานเทอญ.

 

ปรีดี พนมยงค์
๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

173 AV.A. Briand,
92160 ANTONY, FRANCE.

 

 

 

หมายเหตุ

  • เนื้อหาจดหมายคงการสะกดชื่อ ร.ท. อู๊ด นิตยสุทธิ์ ตามต้นฉบับของนายปรีดี พนมยงค์

 

เอกสารอ้างอิง

  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท. อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517, (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์ (แผนกการพิมพ์), 2517)