ปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นประจำทุกปี ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์ด้านความรุนแรงทางเพศไม่ได้ลดลง และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลและเมื่อย้อนกลับไปดูภาพของความรุนแรงที่ผ่านมาในช่วงปี 2559-2566 พบว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีความรุนแรงเกิดขึ้นเฉลี่ย 1,660 รายต่อปี[1] และในปี 2567 จากการเก็บข้อมูลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในช่วง 6 เดือน (ตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567) พบว่ามีจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ 1,296 ราย โดยผู้ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพศหญิง และเกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบครอบครัว จากคู่ชีวิต บุตร และบิดา[2]
ความสำคัญของปัญหาความรุนแรงทางเพศในสังคมไทยนั้นมีลักษณะที่มีความซับซ้อน กล่าวคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นประกอบไปด้วยความรุนแรงทางกายภาพ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาทิ การทำร้ายร่างกาย และการข่มขืนกระทำชำเรา และความรุนแรงเชิงโครงสร้างสังคมที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างสังคมที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างทางสังคมที่กดทับทางเพศ ซึ่งทำให้ผู้หญิงได้รับผลกระทบจากความรุนแรงดังกล่าว ความรุนแรงนี้อาจเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือกฎหมาย
ความรุนแรงในกฎหมายเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในบรรดาความรุนแรงที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ความรุนแรงในลักษณะนี้มีความสำคัญที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากกฎหมายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในนามของรัฐ โดยอาศัยอำนาจของรัฐ ซึ่งหากปราศจากอำนาจของรัฐแล้วความรุนแรงในลักษณะนี้แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
นอกจากความรุนแรงนี้จะเกิดขึ้นในนามของรัฐแล้ว ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของความรุนแรงในลักษณะนี้คือ การลดทอนคุณค่าในความเสมอภาคทางเพศ และลดทอนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของคนๆ หนึ่ง ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในลักษณะนี้ ได้สร้างความเป็นอื่นให้เกิดขึ้นกับผู้ถูกกระทำ แม้ว่ามาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญจะรับรองความเสมอภาคของบุคคลทุกคนเอาไว้ และเน้นย้ำถึงความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงแต่ความเสมอภาคดังกล่าวกลายเป็นเพียงกระดาษ เพราะคนในวงการกฎหมายกลายเป็นผู้ทำลายความเสมอภาคดังกล่าวไปเสียเอง
ความรุนแรงในกฎหมายเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ แต่หากพยายามจัดกลุ่มลักษณะของความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้และการตีความกฎหมาย
ในกรณีของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายในลักษณะนี้มักแสดงออกมาผ่านบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเขียนขึ้นโดยมีอคติทางเพศ (gender bias) หรือกฎหมายเขียนขึ้นโดยไม่มีความเป็นกลางทางเพศ (gender neutral) และกรณีของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการใช้และการตีความกฎหมายนี้เกิดขึ้นจากอคติทางเพศและมุมมองของความไม่เป็นกลางทางเพศที่เกิดขึ้นในความคิดของผู้ใช้และตีความกฎหมาย
กรณีศึกษาความรุนแรงในการข่มขืนแบบเลือกเพศ
ตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายก็คือ การแก้ไขนิยามของคำว่า การกระทำชำเราในประมวลกฎหมายอาญาใหม่
ในอดีตก่อนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ครั้งที่ 27 ได้มีการกำหนดนิยามของการกระทำชำเราไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 19 โดยกฎหมายได้กำหนดนิยามของการกระทำชำเรา หมายถึง “การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น[3]”
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 กฎหมายฉบับนี้ได้แก้ไขนิยามของการกระทำชำเราใหม่ โดยการกำหนดให้การกระทำชำเรา หมายถึง “การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น[4]”
หากดูผิวเผิน การนิยามคำว่า กระทำชำเราในลักษณะดังกล่าวอาจจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะเห็นได้ว่านิยามของการกระทำชำเรานั้นมีความคล้ายจะเหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันมาก
เจตนารมณ์ของกฎหมายของการเพิ่มนิยามคำว่า กระทำชำเราในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาครั้งที่ 19 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย โดยไม่ประสงค์ให้มีการเลือกปฏิบัติและได้รับการคุ้มครองจากถูกล่วงละเมิดทางเพศและกระทำชำเรา[5] ซึ่งเป็นปัญหามาในอดีต
จากแนวทางการใช้และการตีความกฎหมายของศาลที่ผ่านมา กำหนดให้การกระทำชำเราจะต้องอาการของการสอดใส่ (penetration) ซึ่งตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาไทยถือว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราจะเป็นความผิดสำเร็จก็ต่อเมื่อของลับของชายล่วงล้ำเข้าไปในของลับของหญิง 1 องคุลี[6] (ประมาณครึ่งข้อแรกของนิ้วกลาง)
การตีความของศาลตามนัยดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาว่า หากเป็นกรณีที่ผู้หญิงถูกกระทำ โดยวัตถุอื่นโดยไม่ได้เป็นการใช้อวัยวะเพศชาย อาทิ การใช้อุปกรณ์ทางเพศ (sex toy) หรือสิ่งอื่นแทนอวัยวะเพศ จะถือว่าเป็นการกระทำชำเราหรือไม่ รวมถึงหากผู้หญิงถูกกระทำชำเราโดยผู้หญิง หรือผู้ชายถูกกระทำโดยผู้หญิงแนวทางการตีความของกฎหมายอาจจะไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและคุ้มครองสิทธิของประชาชน ทำให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติครั้งที่ 19 เพื่อให้ข่มขืนกระทำชำเราสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ และทำให้ความสำคัญของการข่มขืนกระทำชำเรากับมาอยู่ที่การละเมิดความยินยอม (consent) มากกว่าเป็นวิธีการกระทำชำเรา
แต่ภายหลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครั้งที่ 27 นิยามของการกระทำชำเราถูกทำให้แคบลง โดยได้มีการตัดนิยามของการใช้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น โดยไปแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นความผิดฐานอนาจารแทน[7] ส่งผลให้การใช้การตีความของศาลต้องกลับไปยึดถือหลักการเดิม คือ จะต้องแสดงให้เห็นอาการของการสอดใส่ ซึ่งในการพิสูจน์การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจจะทำไม่ได้ในกรณีที่การข่มขืนเกิดขึ้นในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่ผู้กระทำเป็นชาย สิ่งนี้กลายเป็นกฎหมายละเลยต่อความยินยอมของบุคคล และไปให้ความสำคัญกับวิธีการกระทำชำเรา
ตัวอย่างของการใช้กฎหมายในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2562 ศาลอธิบายว่า การใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นไม่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวเท่ากับศาลไม่ได้สนใจต่อประเด็นการล่วงละเมิดความยินยอมแต่อย่างใด
ความรุนแรงเกิดขึ้นจากชายชราในฝ่ายนิติบัญญัติ
สาเหตุของความรุนแรงนี้เกิดจากอะไร คำตอบก็คือในหลาย ๆ ครั้ง ผู้เขียนกฎหมายอาจมีอคติทางเพศหรือมุมมองที่ขาดความเป็นกลางทางเพศในการตรากฎหมาย
สิ่งนี้ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาให้ในสังคมไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนปัญหานี้ได้อย่างชัดเจนคือ การออกกฎหมายในยุคของ คสช. โดยภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐสภาในสถานการณ์ปกติ
องค์ประกอบของ สนช. นี้ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่คัดสรรมาจากอดีตข้าราชการ ทหาร และตำรวจ โดยจากเก็บข้อมูลของ iLaw ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 พบว่า สมาชิก สนช. มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน เป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%) ตำรวจ 12 คน (5%) ข้าราชการ 66 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่น ๆ 8 คน (3%) หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด[8]
ในด้าน iLaw ระบุว่าอายุของสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 64 ปี ขณะที่คนวัยเกษียณ หรืออายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 185 คน หรือคิดเป็น 75% ของทั้งสภา โดยสมาชิกที่อายุมากที่สุด 92 ปี และน้อยที่สุด 51 ปี[9] นอกจากนี้ จากจำนวนสมาชิก สนช. ที่เป็นทหารทั้งหมด 145 คน สามารถแบ่งเป็นทหารประจำการ 90 คน และทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว 55 คน[10] ส่วนในด้านเพศพบว่า เพศของสมาชิก สนช. 95% เป็นเพศชาย[11]
ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของสมาชิก สนช. ทั้งประวัติการทำงาน อายุ และเพศแล้ว อาจกล่าวได้ว่า สนช. นั้นมีลักษณะเป็นสภาฯ ที่นำโดยผู้ชาย ข้าราชการสูงวัยและเกษียณอายุ ซึ่งอาจจะไม่ได้สะท้อนต่อมุมมองทางเพศที่หลากหลาย องค์กรประกอบของสมาชิก สนช. โดยส่วนใหญ่เติบโตมาในวัฒนธรรมที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเพศ และไม่ได้มองปัญหาเรื่องเพศอย่างเป็นสาระสำคัญ
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าการเพิ่มองค์ประกอบของผู้หญิงหรือเพศหลากหลายในสภาฯ แล้วจะทำให้เกิดมุมมองที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความคิดในเรื่องค่านิยมทางเพศที่ดี ความเป็นกลาง หรือการตระหนักต่อสิทธิทางเพศ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำ (ความคิดที่มีพื้นฐานที่เอื้อประโยชน์ให้กับความเป็นชายตามแบบกระแสหลัก) ซึ่งกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในชั้นของการใช้การตีความกฎหมายได้เช่นกัน
กรณีศึกษาความรุนแรงที่เกิดจากมุมมองของชายเป็นใหญ่
ไม่เพียงแต่ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น แต่ความรุนแรงทางเพศอาจจะมาจากการใช้การตีความกฎหมายที่คับแคบและแฝงไปด้วยอคติทางเพศ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการใช้กฎหมายที่มีต่อผู้หญิง และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชายมากกว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คุณค่าของผู้หญิงที่กฎหมายรับรองไว้อาจไม่ได้รับการเคารพอย่างแท้จริง
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหานี้ก็คือ การพิสูจน์พฤติการณ์ของการข่มขืนใจ (แสดงให้เห็นว่าโจทย์กับกับจำเลยได้มีความยินยอมที่จะร่วมเพศกันโดยสมัครใจ) ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขที่จะเป็นการข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมาย ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่ศาลให้น้ำหนักกับการข่มขืนใจอย่างไร
ในกรณีที่ผ่านมา หากจำเลยกระทำโดยใช้อาวุธเข้าร่วมกระทำความผิดหรือมีการใช้กำลังบังคับซึ่งดูผิวเผินในกรณีเช่นนี้ก็อาจจะดูเป็นการข่มขืนใจแล้ว แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่เป็นเช่นนี้เสมอไป ในการใช้อัตวินิจฉัยของผู้พิพากษา พบว่าแนวคำพิพากษาของศาลให้ความสำคัญกับการแสดงอาการของการถูกข่มขืนใจ กล่าวคือ ผู้หญิงต้องแสดงให้เห็นว่าตนไม่ได้ยินยอม และพึงพอใจกับการถูกข่มขืน รวมถึงต้องแสดงออกให้เห็นว่าตนไม่ยินยอมกับกิจกรรมทางเพศดังกล่าว
คำถามคือ ที่ผ่านมาศาลใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการนำมาวินิจฉัยว่า ผู้หญิงคนนั้นไม่ยินอยม
ในการวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ผ่านมา ศาลพิจารณาความไม่ยินยอม และพึงพอใจผ่านการแสดงออกโดยชัดแจ้งและเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2528 ความว่า
“...รูปคดีน่าเชื่อถือตามที่จำเลยว่าผู้เสียหายและจำเลยต่าง สมัครใจที่จะร่วมประเวณี หากผู้เสียหายถูกจำเลยให้ดื่มน้ำเป๊ปซี่มอมเมาผู้เสียหายจนหมดสติไม่รู้สึกตัว แต่เหตุใดเมื่อมารู้สึกตัวว่าจำเลยกระทำชำเรา ผู้เสียหายจึงไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากคนงานที่นอนอยู่ใกล้ๆ มุ้งของจำเลย นอกจากนี้เมื่อผู้เสียหายมีกำลังลุกขึ้นได้แทนที่จะแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้คนงานคนใดคนหนึ่งที่นอนอยู่ในห้องจำเลยได้ทราบ ผู้เสียหายกลับเข้าห้องน้ำล้างหน้า ต่อมาก็กลับไปทำงานโดยไม่ได้เล่าให้ผู้ใดฟัง เหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ จนกระทั่งมารดาผู้เสียหายมาถาม จึงบอกเรื่องไปนอนกับจำเลยในคืนเกิดเหตุให้ฟัง”
คำพิพากษานี้กำลังบอกอะไรกับพวกเราทุกคน สิ่งที่คำพิพากษานี้กำลังบอกกับเราคือ ความสมัครใจในสายตาของศาลคือ การที่ผู้เสียหายต้องแสดงอาการของการขัดขืน และต้องประกาศป่าวร้องว่าตนเองโดนข่มขืน หากเราทุกคนสวมบทบาทเป็นผู้พิพากษา เราไม่อาจจะรู้ได้เลยว่าในความเป็นจริง จำเลยและผู้เสียหายยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์กันจริงหรือไม่ เพราะพวกเราทุกคนไม่ได้อยู่ในห้องร่วมกับจำเลยและผู้เสียหาย แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาข้างต้น เราก็ไม่สามารถสรุปได้เช่นกันว่า จำเลยและผู้เสียหายสมัครใจเข้าร่วมประเวณีกันจริงหรือไม่
การที่ศาลไปพิจารณาปัจจัยอื่น นอกเหนือจากความยินยอมของผู้เสียหายแล้ว อาทิ การขัดขืน หรือการป่าวร้องต่อคนอื่น ๆ สะท้อนความไม่เข้าใจต่อสถานการณ์ของการข่มขืนและอคติทางเพศของผู้พิพากษา ในความเป็นจริงเมื่อเกิดการข่มขืน ผู้เสียหายมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดสถานการณ์แพนิก (panic attack) ที่เกิดจากการตกใจ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจจะไม่ได้แสดงอาการขัดขืน เรื่องนี้ไม่ต้องพูดถึงว่า ผู้หญิงอาจจะถูกทำร้ายร่างกายได้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขืน ซึ่งนำมาสู่อันตรายต่อชีวิตและร่างกายมากขึ้น
นอกจากที่ศาลให้น้ำหนักกับการขัดขืนกับผู้เสียหายแล้ว เท่ากับในสายตาของศาลก็มองว่า ผู้หญิงมีหน้าที่โดยปริยายในการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศกับตัวเอง ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่อันเคร่งครัด หากผู้เสียหายไม่ได้แสดงอาการต่อต้านในสายตาของศาลอาจจะไม่ถือว่าจำเลยถูกข่มขืนใจ
ไม่เพียงแต่ผู้เสียหายต้องแสดงการขัดขืนแล้ว อีกสิ่งที่ศาลนำมาใช้ในการแสดงออกก็คือ การป่าวร้องต่อคนอื่น ๆ ในคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าการที่ผู้เสียหายไม่ได้ป่าวร้อง ทั้งในห้องที่เกิดเหตุหรือต่อมารดาของผู้เสียหายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความสมัครใจเข้าร่วมประเวณี โดยที่ผ่านมาแนวทางของศาลได้ให้น้ำหนักกับการแสดงใด ๆ ก็ตามที่สื่อออกไปในเชิงป่าวร้องกับคนอื่นเป็นน้ำหนักที่ศาลนำมาใช้เชื่อว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ผู้เสียหายเป็นหญิงได้บอกสามีว่าถูกข่มขืนกระทำชำเรา[12] หรือทันทีที่พ้นจากการข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายเป็นหญิงได้ไปบอกกับคนอื่นๆ ว่าตนถูกข่มขืน[13] เป็นต้น
สภาพดังกล่าวกลายเป็นความรุนแรงกับผู้หญิง เพราะกลายเป็นสถานการณ์ดังกล่าวบีบบังคับให้ผู้หญิงต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนถูกข่มขืน ซึ่งกลายมาเป็นสถานการณ์ของการข่มขืนซ้ำ ๆ ไม่ได้เพียงแต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ผู้เสียหายต้องบอกเล่าในชั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ และศาล แต่กลับต้องแสดงให้สาธารณชนรับรู้ถึงการถูกข่มขืนกระทำชำเรา กลายเป็นผู้เสียหายไม่ได้ถูกข่มขืนเพียงครั้งเดียว ผู้เสียหายกลับถูกข่มขืนซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่ต้องนึกถึงสถานการณ์ดังกล่าว และบอกเล่าสถานการณ์ดังกล่าวให้คนรับรู้
คำถามคือ ผู้พิพากษาจะรู้เรื่องนี้บ้างหรือไม่ สิ่งนี้ผู้เขียนไม่มีคำตอบให้กับคำถามของตัวเองข้อนี้เหมือนกัน แล้วสังคมควรจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะหากพิจารณาแล้วจริง ๆ แล้ว ความรุนแรงที่สะท้อนผ่านผู้ใช้และตีความกฎหมายนี้ก็อาจจะไม่ต่างจากนักร่างกฎหมายที่ถูกครอบงำโดยความคิดแบบชายเป็นใหญ่
เราจะเปลี่ยนจากจุดนี้ได้อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงปัญหาความรุนแรงทางเพศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะส่วนหนึ่งความรุนแรงทางเพศสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ปัญหาความรุนแรงทางเพศที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้ในกฎหมาย อาจจะเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันกับการลดความรุนแรงทางกายภาพ
ในกรณีของประเด็นที่ผู้เขียนยกขึ้นมานั้น ประเด็นแรกการแก้ไขอาจจะไม่ซับซ้อนมาก สิ่งที่ควรจะต้องทำคือ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้กับไปในลักษณะเดียวกันกับการแก้ไขครั้งที่ 19 ซึ่งเปิดกว้างในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายกับการข่มขืนกระทำชำเราได้ครอบคลุมกว่า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเด็นเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ส่วนกรณีของการใช้ดุลพินิจตีความของศาล ในมุมนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า สิ่งที่ต้องทำคือ การพยายามฝึกอบรมและทำให้ผู้พิพากษาตระหนักต่ออคติทางเพศในเรื่องนี้ และสะสางแนวคิดที่ครอบงำวงการผู้พิพากษาในเรื่องนี้ แม้ว่าแก้ไขในเรื่องนี้จะไม่สามารถทำได้โดยง่าย แต่ก็ควรเร่งที่จะดำเนินการทำ
สำหรับปัญหาเรื่องความรุนแรงอื่น ๆ ในเชิงวัฒนธรรม ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้เป็นการบ้านที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
หมายเหตุ
- คงอักขร การสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม
- สถิติจะเก็บค่อมปี เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลภายใต้ช่วงปีงบประมาณ (ต.ค.-ก.ย. ของอีกปีหนึ่ง); ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ความรุนแรงต่อสตรีต้องยุติด้วยการแก้ไขวัฒนธรรม,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 25 พฤศจิกายน 2566 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://pridi.or.th/th/content/2023/11/1771.
- กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, “รายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 8 พฤษภาคม 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://opendata.nesdc.go.th/dataset/violence2567-6.
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 มาตรา 3.
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มาตรา 3.
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550, หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2509.
- พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มาตรา 8.
- iLaw, “ใครออกกฎหมาย? 1: “สภาทหาร-สภาผลประโยชน์” เมื่อคนใกล้ชิดผู้นำประเทศอยู่เต็มสนช.,” iLaw, 5 กุมภาพันธ์ 2560 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://ilaw.or.th/node/4407.
- iLaw, “ใครออกกฎหมาย? 2: ส่องสนช. ‘สภาอาวุโส’ วัยหลังเกษียณ 75% พบแก่สุด 92 ปี อ่อนสุด 51 ปี,” iLaw, 5 กุมภาพันธ์ 2560 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://www.ilaw.or.th/articles/2263.
- วศินี พบูประภาพ, “เปิดสถิติ ความหลากหลายทางเพศสภาไทย 2566,” Workpoint Today, 1 มิถุนายน 2566 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://workpointtoday.com/parliament-230500/.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2542.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2513.
[1] สถิติจะเก็บค่อมปี เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลภายใต้ช่วงปีงบประมาณ (ต.ค. – ก.ย. ของอีกปีหนึ่ง); ดู เขมภัทร ทฤษฎิคุณ, “ความรุนแรงต่อสตรีต้องยุติด้วยการแก้ไขวัฒนธรรม,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, 25 พฤศจิกายน 2566 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://pridi.or.th/th/content/2023/11/1771.
[2] กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, “รายงานการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 รอบ 6 เดือน,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 8 พฤษภาคม 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://opendata.nesdc.go.th/dataset/violence2567-6.
[3] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 มาตรา 3.
[4] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มาตรา 3.
[5] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2550 หมายเหตุ; ท้ายพระราชบัญญัติ.
[6] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2509.
[7] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 มาตรา 8.
[8] iLaw, “ใครออกกฎหมาย? 1: “สภาทหาร-สภาผลประโยชน์” เมื่อคนใกล้ชิดผู้นำประเทศอยู่เต็มสนช.,” iLaw, 5 กุมภาพันธ์ 2560 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://ilaw.or.th/node/4407.
[9] iLaw, “ใครออกกฎหมาย? 2: ส่องสนช. ‘สภาอาวุโส’ วัยหลังเกษียณ 75% พบแก่สุด 92 ปี อ่อนสุด 51 ปี,” iLaw, 5 กุมภาพันธ์ 2560 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://www.ilaw.or.th/articles/2263.
[10] iLaw, อ้างแล้ว เชิงอรรถ 3.
[11] วศินี พบูประภาพ, “เปิดสถิติ ความหลากหลายทางเพศสภาไทย 2566,” Workpoint Today, 1 มิถุนายน 2566 [Online], สืบค้นเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2567, https://workpointtoday.com/parliament-230500/.
[12] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2542.
[13] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2513.