ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

บทบาทของผู้หญิงและสันติภาพของเมียนมา ผ่านมุมมองมิติสิทธิมนุษยชน

27
สิงหาคม
2566

Focus

  • การพิจารณาปัญหาแบบปฏิภาคภาวะ (Intersectionality) ช่วยให้เห็นถึงปัญหาที่ซับซ้อนได้เด่นชัด และอาจจะทำให้เห็นปัญหาบางอย่างที่อยู่ในมุมมืดหรือซอกหลืบได้มากขึ้น และสามารถใช้ได้กับกรณีบทบาทผู้หญิงกับปัญหาสันติภาพในเมียนมา โดยผู้หญิงมีบทบาททั้งข้างหน้าและการสนับสนุนอยู่ข้างหลัง เช่น การเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีจำนวนหลายร้อยคนถูกข่มขืน ถูกคุกคาม และล่วงละเมิดทางเพศ
  • ความพยายามของชาวต่างชาติผู้หญิงที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่สำคัญจำนวนหนึ่งต่อการแก้ปัญหาสันติภาพในพม่ายังไม่ได้รับการสนองตอบที่ดีจากผู้นำทหารเมียนมา บุคคลเหล่านี้ เช่น คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกอเนอร์ อดีตทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว โนลีน เฮย์เซอร์ นักการทูตชาวสิงคโปร์) ยางฮี ลี เป็นอดีตผู้แทนพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า และ เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีการต่างประเทศของอินโดนีเซีย
  • หัวใจสำคัญของการสร้างสันติภาพคือ การที่ผู้คนที่อยู่ในแผ่นดินจะได้รับการเคารพในคุณค่า มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่สันติภาพที่สงบอย่างราบคาบ โดยประชาชนไม่สามารถที่จะพูดหรือเข้าถึงความยุติธรรมหรือได้รับการคุ้มครองได้

 

 

อังคณา นีละไพจิตร :

ดิฉันค่อนข้างประหม่าเวลาอยู่ในเวทีใหญ่ๆ ต้องเรียนให้ทราบว่า จริงๆ พอดูหัวข้อแล้ว เห็นว่ามันมีความสำคัญที่จะต้องพูดถึงเรื่องของ “บทบาทของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพในเมียนมา” ซึ่งดิฉันเห็นว่าที่ผ่านมา ผู้หญิงยังมีบทบาทอย่างมาก แต่ว่าเรื่องราวของผู้หญิงไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึง คิดว่าการมองปัญหาแบบปฏิภาคภาวะหรือ Intersectionality ทำให้เราสามารถมองถึงปัญหาที่ซับซ้อน มองได้เด่นชัด แล้วอาจจะทำให้เห็นปัญหาบางอย่างที่อยู่ในมุมมืดหรือซอกหลืบได้มากขึ้น

 

 

พอพูดถึงบทบาทของผู้หญิง ภายหลังรัฐประหาร เราคงเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย ในจำนวนของคนกลุ่มแรกๆ ที่ถูกยิงเสียชีวิตก็เป็นผู้หญิง แล้วมีอายุน้อยด้วย เราจะเห็นผู้หญิงที่ออกมายืนข้างหน้าอย่างกล้าหาญ ในขณะเดียวกัน มีผู้หญิงอีกจำนวนมากที่คอยสนับสนุนอยู่ข้างหลังอย่างถ่อมตน แล้วก็ไม่เคยที่จะหยุดยั้งแนวทางในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ดิฉันอยากจะขอพูดในมุมมองเรื่องของสหประชาชาติกับอาเซียน วันนี้สหประชาชาติมีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะมี engagement (การมีส่วนร่วม) กับอาเซียน เวลาพูดถึงอาเซียนหรือปัญหาเมียนมา จะไม่ค่อยมองในเรื่องของอาเซียน 10 ประเทศบวก 1 แต่ดิฉันจะมองในเรื่องของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ดิฉันเห็นว่าในประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ค่อนข้างที่จะมีความคล้ายคลึง เห็นอกเห็นใจ และช่วยกันมาก จนทำให้การสร้างสันติภาพในเมียนมาก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศใกล้เคียงเมียนมาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของภาคพลเมืองหรือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้คนในอาเซียน

 

 

ดิฉันอยากจะขอนำเรื่องราวที่ผ่านมา เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ ซึ่งคนแรกที่ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือ คุณคริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกอเนอร์ อดีตทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว เขาเป็นนักการทูตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาก หลังจากที่เขาพ้นวาระในการเป็นทูต 3 ประเทศนี้ เขาก็ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการสหประชาชาติ ให้เป็น Special Envoy หรือทูตพิเศษด้านประเทศเมียนมา

คริสตินได้รับการแต่งตั้งเมื่อประมาณปี 2018 เขาพยายามมาก มาเมืองไทยหลายครั้งเนื่องจากว่าเคยอยู่ที่ประเทศไทย ไปพบกับผู้นำของอินโดนีเซีย มาเลเซีย แทบทุกประเทศ เพื่อที่จะขอเข้าไปในเมียนมา ขอเข้าไปพูดคุยกับทัตมาดอว์หรือกองทัพพม่า แต่ว่าไม่เคยได้รับอนุญาต ในที่สุดแล้วคริสตินก็ลาออก เขาแถลงการณ์แจ้งเรื่องที่ลาออกว่า เนื่องจากเขาไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายได้

คนที่ 2 หลังจากที่คุณคริสตินลาออก เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน คุณอันโตนิโอ กุเตอเรส ก็ได้แต่งตั้ง โนลีน เฮย์เซอร์ นักการทูตที่เชี่ยวชาญมาก มีประสบการณ์ในการสร้างสันติภาพทั่วโลก โนลีนเป็นคนสิงคโปร์ และถือว่าเป็นผู้หญิงอาเซียน คุณเฮย์เซอร์ได้พยายามในการที่จะหารือกับทุกประเทศในอาเซียน เรื่องของ 5-Point Consensus (ฉันทามติ 5 ข้อ) ที่มีข้อตกลงร่วมกัน ทั้งในเรื่องของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัย ฯลฯ

เขาเคยมาเมืองไทยหลายครั้ง ไปอินโดนีเซีย เขาเคยไปพบกับรัฐมนตรีการต่างประเทศของมาเลเซีย คือ ไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ หลังจากนั้นก็ได้มีแถลงการณ์ร่วมกัน โดยที่ไซฟุดดินได้โพสต์ Facebook ส่วนตัว ให้ความเห็นโดยมีการประณามการที่เมียนมาประหารชีวิตนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 4 คน ไซฟุดดิน ยังบอกว่า มันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลกำลังเยาะเย้ยฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งทำให้เกิดผลทางปฏิบัติคือ ความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ความยุติธรรม สันติภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงความเจริญก้าวหน้า

เฮย์เซอร์ ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปที่เนปิดอว์ ประมาณ 22 สิงหาคม ในปี 2022 เขามีโอกาสได้พบกับ มิน อ่อง หล่าย ตอนที่ไปพบกับ มิน อ่อง หล่าย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมียนมาได้ลงรูปเกี่ยวกับการนั่งหารือกัน โดยที่หนังสือพิมพ์แซวว่า ขณะที่มิน อ่อง หล่าย นั่งเก้าอี้โซฟาตัวเบ้อเร่อ แต่ว่าเฮย์เซอร์กลับถูกจัดให้นั่งในเก้าอี้เล็กๆ ข้างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม โดยมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศด้วย ทำให้เห็นว่าเมียนมาไม่ได้ให้ความสำคัญของผู้แทนของเลขาสหประชาชาติ

 

 

ซึ่งภายหลังจากที่ได้เข้าพบ เฮย์เซอร์ ได้ออกแถลงการณ์ในการเยือนเมียนมาครั้งแรก โดยที่เขายืนยันว่า ประชาชนเมียนมามีสิทธิ์ที่จะมีประชาธิปไตย มีสิทธิ์เรียกร้องให้รัฐยุติความรุนแรง ปล่อยตัวนักโทษการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออง ซาน ซูจี ตอนที่ไป เขาได้ร้องขอที่จะเข้าเยี่ยม ออง ซาน ซูจี และผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยหลายคน รวมถึงเยี่ยมเรือนจำด้วย แต่ว่ารัฐบาลไม่อนุญาต

ในการพบกับมิน อ่อง หล่าย ครั้งนั้น เขาได้ย้ำกับมิน อ่อง หล่าย ว่า อำนาจอธิปไตยที่ทัตมาดอว์หวงแหนนักหนา จะต้องประกอบไปด้วยประชาชนที่มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ปราศจากความกลัว มีเสรีภาพ มีกินมีใช้ และเขาก็ยังสำทับกับมิน อ่อง หล่าย อีกว่า ในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ เมียนมาต้องเคารพกฎบัตรสหประชาชาติ เหมือนกับที่ทุกประเทศยึดถือและเคารพ

นอกจากนั้นยังมีแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนด้วย โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหประชาชาติที่จะพยายามทุกวิถีทางในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความเป็นธรรม ความอิสระ ไม่ลำเอียง และเธอก็ได้เน้นย้ำว่า เธอจะพยายามทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม ใช้ความสามารถทุกทางเพื่อปกป้องความเจ็บปวดของผู้ที่เปราะบางที่สุดในช่วงของความขัดแย้ง อย่างไรก็ดี เฮย์เซอร์ได้ลาออกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยที่เธอได้ทำงานเพียง 19 เดือน ในแถลงการณ์ที่เธอขอลาออก เธอได้แจ้งว่า เนื่องจากไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายได้

 

 

ผู้หญิงคนที่ 3 ที่ดิฉันอยากจะพูดถึงก็คือ ยางฮี ลี เป็นอดีตผู้แทนพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า บทบาทของยางฮี ลี มีความสำคัญมาก เพราะว่าในช่วงของการดำรงตำแหน่งของเธอ 6 ปีที่ ยางฮี ลี ทำหน้าที่ เธอพยายามขอเข้าไปยังเมียนมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาต ในขณะเดียวกัน ยางฮี ลี ได้ถูกรัฐบาลเมียนมาใช้คำพูดที่รุนแรง และเป็นการเหยียดหยามทางเพศด้วย เธอเสนอรายงานต่อสหประชาชาติทุกปี ในช่วงของการดำรงตำแหน่ง เมื่อปลายปีที่แล้ว เธอพ้นจากตำแหน่ง ยางฮี ลี ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ แสดงความกังวลกรณีที่เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ละเมิดน่านฟ้าไทยเมื่อตุลาคมปีที่แล้ว รวมถึงมีการโจมตีทางอากาศในรัฐคะฉิ่น ทำให้เด็กอย่างน้อย 11 คนเสียชีวิต และคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 80 คนในที่พักอาศัยแถบนั้น เธอยังแสดงความผิดหวังต่อบทบาทของสหประชาชาติ เนื่องจากเธอเห็นว่ามาตรการเด็ดขาดที่สหประชาชาติดำเนินต่อเมียนมา แตกต่างอย่างชัดเจนกับท่าทีที่สหประชาชาติมีต่อสถานการณ์ในรัสเชียและยูเครน

คนที่ 4 ก็คือ อีบู เร็ตโน มาร์ซูดีรัฐมนตรีการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเราจะสังเกตเห็นในช่วงก่อนที่อินโดนีเซียจะเป็นประธานอาเซียน จะเห็นเร็ตโนมาเมืองไทยหลายครั้ง เพื่อที่จะพยายามขอเข้าไปในเมียนมา ตอนนั้นเหมือนกับว่าบทบาทของเธอดูลดลง ไม่ว่าเธอจะพยายามขอเข้าไปเมียนมาเท่าไรก็ไม่ได้รับอนุญาต

 

 

ผู้หญิงกลุ่มสุดท้ายที่ดิฉันอยากจะขอนำมาพูดถึงก็คือ ผู้หญิงที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ที่ยังคงเรียกร้องประชาธิปไตย ดิฉันเห็นว่าผู้หญิงมีความสำคัญมาก ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายสังเกตจะเห็นว่าเวลาที่ผู้หญิงเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้หญิงจะเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศไปด้วย เราจะเห็นว่าในการประท้วงของผู้หญิง จะมีผ้าโสร่งเอามาแขวนไว้ เนื่องจากว่าผ้าโสร่งของผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองถูกลดทอนความเสมอภาคและความเท่าเทียม

ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้หญิงหลายคนที่เข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธ เพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา เนื่องจากว่าการมีชีวิตอยู่ในเมียนมา ดูจะเป็นความสิ้นหวังอย่างมาก นอกจากนั้น ถ้าหากว่าท่านไหนที่เข้าไปในเมียนมาจะเห็นว่า หน้าเรือนจำจะมีพวกแม่ๆ ไปยืน เพื่อที่จะเรียกร้องขอให้ได้เยี่ยมคนที่ถูกควบคุมตัว ผู้หญิงที่ลูกๆ ถูกประหารชีวิตพยายามที่จะขอดูศพ เนื่องจากพวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้ดูศพหรือว่ามีการคืนศพเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนา

นอกจากนั้น สิ่งสุดท้ายที่ดิฉันอยากจะฝากไว้และเน้นย้ำก็คือ ในช่วงของความขัดแย้ง สิ่งหนึ่งที่น่ากังวลอย่างมากคือ การใช้เพศเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในรายงานของผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติด้านเมียนมา ได้เขียนในเรื่องของการข่มขืน การคุกคาม การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งยังมีอยู่ที่ผ่านมา อย่างในช่วงของความขัดแย้งกับคนกลุ่มน้อย

ถ้าหากว่าท่านที่สนใจหรือติดตามทางเมียนมาคงจำกันได้ เมื่อประมาณปี 2002 มีรายงานที่ผู้หญิงรัฐฉานได้รวบรวมข้อมูลผู้หญิงจำนวน 625 คนถูกข่มขืน โดยที่หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ หรือ ‘License to Rape’ ผู้หญิงหลายคนที่ถูกทหารข่มขืนแล้วตั้งครรภ์มีลูก ผู้หญิงจะบอกว่า เธอไม่สามารถที่จะมองหน้าลูกได้ เพราะเวลาที่มองหน้าลูก เธอจะเห็นแววตาของคนที่ข่มขืน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นว่า ในเรื่องของการสร้างสันติภาพ หัวใจสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในแผ่นดินจะได้รับการเคารพในคุณค่า มีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่สันติภาพที่สงบอย่างราบคาบ โดยที่ประชาชนไม่สามารถที่จะพูดอะไรหรือเข้าถึงความยุติธรรมหรือได้รับการคุ้มครองได้

 

 

รับชมคลิปเต็มได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=ED7Hq9kTokY

 

ที่มา : PRIDI Talks #22: 78 ปี วันสันติภาพไทย “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 - 12.30 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์