Focus
- บทความนี้นำเสนอสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ที่ประกาศใช้บังคับครั้งแรกในปี 2567
- การเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งมีการต่อสู้ขับเคี่ยวมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ตั้งแต่แนวคิดของร่างกฎหมายกว่าจะเป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจะเป็นการสมรสเท่าเทียมจนมาถึงเนื้อหาของกฎหมายเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะรับรองสถานะของการสมรสเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศอนาคต
เมื่อปลายเดือนที่แล้วกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ได้ประกาศใช้บังคับแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี แล้วเรียกได้ว่าสังคมได้ก้าวสู่เส้นทางของความเสมอภาคทางเพศไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว
ท่ามกลางสถานการณ์และการต่อสู้ขับเคี่ยวมาอย่างยาวนานเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นับตั้งแต่การต่อสู้ในแนวคิดของร่างกฎหมายว่าจะเป็นการจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจะเป็นการสมรสเท่าเทียม จนมาถึงเนื้อหาของกฎหมาย แต่ในที่สุดสังคมไทยก็บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกันที่จะรับรองสถานะของการสมรสเท่าเทียม เพื่อให้รักของเราทุกคนเท่ากัน
ในวาระที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ประกาศใช้แล้วนี้ ผู้เขียนจึงขอพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก่อนจะไปพิจารณาก้าวต่อไปของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และก้าวต่อ ๆ ไปของความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นก้าวใหญ่ต่อไปที่สำคัญของสังคมไทย
สาระสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ความสำคัญของกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็คือ การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในกฎหมายครอบครัวเดิมที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่รับรองเฉพาะการสมรสของหญิง-ชายเท่านั้น ซึ่งเป็นการไม่รองรับการก่อตั้งสถาบันครอบครัวที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ไม่ได้แตกต่างจากคู่สมรสหญิง-ชาย กฎหมายฉบับนี้จึงต้องการให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถที่จะหมั้นและสมรสกันได้อย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับหญิง-ชาย รวมถึงมีสิทธิและหน้าที่เช่นต่อกันภายใต้สถาบันครอบครัวอย่างเสมอภาค[1]
ในด้านของสิทธิและหน้าที่กฎหมายรับรองไว้ในการสมรสเท่าเทียมยังครอบคลุมถึงสิทธิในหลายลักษณะ ได้แก่
- สิทธิในการหมั้น การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ได้รับรองสิทธิในการหมั้นของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเป็นการแก้ไขบทบัญญัติในมาตรา 1435[2]
- การสมรส โดยกฎหมายรับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามมาตรา 1448[3] โดยเปลี่ยนจากคำว่าชายและหญิงให้กลายเป็นบุคคล เพื่อรับรองว่าไม่ว่าจะเป็นบุคคลในเพศใดก็มีสิทธิในการสมรสเสมอเหมือนกัน นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ยังได้ขยับอายุของผู้มีสิทธิสมรสจาก 17 ปี มาเป็น 18 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบังคับเด็กสมรส ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก[4]
- การหย่า เมื่อกฎหมายรับรองสิทธิในการสมรสแล้ว กฎหมายก็ได้รับรองสิทธิในการหย่าของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (มาตรา 1516 (1) และ (10)) โดยแก้ไขถ้อยคำเพื่อรองรับเรื่องเหตุนอกกายนอกใจคู่สมรส (adultery) และเรื่องที่คู่สมรสมิอาจมีเพศสัมพันธ์ได้[5]
- การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน การอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ และการรับบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขรับรองการดำรงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวเช่นเดียวกันกับหญิง-ชาย[6]
นอกเหนือจากรับรองความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว การรับรองสิทธิและหน้าที่ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกันกับหญิง-ชายนั้น ยังนำมาสู่การรับรองสิทธิประการอื่น ๆ อาทิ การได้รับมรดกในฐานะคู่สมรส และสิทธิที่ได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส ซึ่งเป็นการได้มาตามผลของกฎหมาย
อย่างไรก็ดี พึงสังเกตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ ไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีที่กฎหมายกำหนดเรื่องครอบครัวและมรดกไว้เป็นการเฉพาะ สิ่งนี้ดูผิวเผินแล้วน่าจะหมายถึง การสมรสและการจัดการมรดกตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามใน เขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นกฎหมายสมรสเฉพาะและมรดกเฉพาะ แต่นอกจากกฎหมายฉบับนี้แล้ว ความสัมพันธ์ทางครอบครัวยังถูกกำหนดไว้ในกฎหมายอื่นอีก อาทิ กฎหมายอุ้มบุญ หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดเรื่องสถานภาพระหว่างบุพการี (parent) กับบุตร กรณีหลังนี้จึงอาจจะเป็นปัญหาที่ต้องมีการถกเถียงต่อไป
อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ ในการแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งนี้ ยังมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในกฎหมายให้มีความเป็นกลางทางเพศ (gender neutrality) อาทิ การเปลี่ยนถ้อยคำจากชายและหญิง ไปเป็นบุคคล หรือเปลี่ยนเป็นผู้หมั้นหรือผู้รับหมั้น ซึ่งลักษณะของถ้อยคำนั้นไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นเพศใด ในแง่หนึ่งการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำให้มีความเป็นกลางทางเพศนี้ ไม่ได้ส่งผลเฉพาะผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหญิง-ชายด้วย การแก้ไขในลักษณะนี้เป็นการทำให้สิทธิและหน้าที่ไม่ได้จำกัดกับเพศของบุคคลอีกต่อไป
ในอดีตการหมั้นกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชายที่ต้องส่งมอบของหมั้นให้กับหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรส แต่การเปลี่ยนถ้อยคำให้เป็นกลางโดยใช้คำว่า ผู้หมั้นและผู้รับหมั้นนี้ทำให้สิทธิและหน้าที่ของกฎหมายไม่ได้ยึดติดกับเพศอีกต่อไป หากหญิงใดพึงพอใจจะหมั้นหมายชายก็ทำได้ หรือชายใดพึงพอใจจะหมั้นหมายหญิงก็ทำได้เช่นกัน ไม่จำเป็นที่การหมั้นจะต้องเกิดขึ้นจากชายหมั้นหมายหญิงอีกต่อไป
ก้าวต่อไปของกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ขณะนี้กฎหมายได้มีผลใช้บังคับแล้ว เรื่องที่ต้องทำยังมีอีกเป็นจำนวนมากที่รัฐบาล หน่วยงานของรัฐ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการยังมีอยู่อีกมาก เพื่อให้สิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่าเทียมและเกิดขึ้นได้จริง
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและมีผู้เริ่มกล่าวถึงไว้พอสมควรก็คือ การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ผู้เขียนได้อ่านบทความขนาดสั้นของ ผศ. ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ เรื่อง “อนาคตของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย: ความท้าทายและแนวทางสู่ความเท่าเทียม”
ผศ. ดร.เอมผกา ได้อธิบายว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ทำให้เกิดหลักการใหม่ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในกฎหมายครอบครัวของประเทศไทยมาก่อน อาทิ เรื่องการหมั้นหรือเหตุหย่า ซึ่งประเด็นนี้อาจจะต้องมีการทำความเข้าใจให้มากขึ้น[7] โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นนายทะเบียนหรือผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องกับการสมรส เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีส่วนสำคัญทั้งต่อการใช้และการตีความกฎหมาย รวมถึงการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจกฎหมาย จึงอาจต้องมีการทำความเข้าใจกันให้มาก เพื่อไม่ให้การใช้หรือการตีความกฎหมายสวนทางและทำให้การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้กลายเป็นเรื่องศูนย์เปล่าไป
นอกจากนี้ ในมุมมองของผู้เขียน ปัญหาเรื่องการตีความกับนักกฎหมายนี้เป็นเสมือนสิ่งที่เกิดมาคู่กันจริง ๆ เพราะโดยสภาพการเขียนกฎหมายให้รัดกุมจนลดการตีความแทบจะเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะภาษาไทยที่ถ้อยคำนั้นแทบจะดิ้นได้ทั้งหมด (เราเห็นกันมาเยอะแล้วในอภินิหารการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ) ข้อกังวลอีกประการหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับคนที่ได้ยกขึ้นก่อนหน้านี้ก็คือ ในเรื่องเหตุหย่า ได้มีการแก้ไขถ้อยคำในเรื่องเหตุหย่าจากเดิม กฎหมายใช้คำว่า เป็นชู้หรือมีชู้และร่วมประเวณี แต่กฎหมายใหม่ใช้คำว่า กระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่
เหตุที่กฎหมายต้องแก้ไขถ้อยคำก็เพราะว่า แนวคำพิพากษาของศาลประกอบการตีความตามพจนานุกรม ยังจำกัดเฉพาะเพศตรงข้ามหรือก็คือ หญิง-ชาย เท่านั้น หรือพูดให้ง่ายๆ ก็คือ ความคิดที่อยู่เบื้องหลังถ้อยคำนั้นไม่สามารถปรับใช้ให้ตรงกับบริบทปัจจุบันได้ ข้อกังวลนี้ คุณไชยพัฒน์ ธรรมชุตินันท์ ก็ได้อธิบายไว้เหมือนกันว่า อาจจะต้องดูแนวทางการตีความของศาลในอนาคตต่อไป[8]
ประเด็นหลังนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนค่อนข้างสนใจว่า เหตุผลที่คำว่าร่วมประเวณีนำไปใช้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้ แล้วผู้ร่างกฎหมายกลับไปเลือกใช้คำที่ไม่รัดกุม ไม่แน่ใจว่าเพราะไม่สามารถตีความถ้อยคำให้ไปถึงได้จริง ๆ หรือเป็นเพราะความรับรู้ที่ครอบงำเหนือถ้อยคำนั้นทำให้ความคิดของคนคับแคบจำกัดอยู่เพียงแค่ว่า ประเวณีเป็นเรื่องของหญิง-ชายเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะนักกฎหมายไทยก็เก่งเรื่องตีความแบบร้อยลิ้นกะลาวน สามารถตีความให้ผีโม่แป้งก็ได้ จะตีความคำว่ารายรับเป็นรายได้ โดยถือว่าเป็นเงินที่รับมาเหมือนกันก็ได้
อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้สิ่งที่ยังต้องคิดกันต่อไปก็คือ จะออกแบบมาตรการอย่างไรมารองรับในการใช้กฎหมายฉบับนี้ให้ตรงกับเจตนารมณ์ในการยกร่าง และตอบสนองต่อสิทธิของประชาชนให้มากที่สุด ในมุมมองของผู้เขียน คิดว่าสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มทำคือ การจัดเตรียมและเผยแพร่คำอธิบายให้ประชาชนรับรู้ คำอธิบายดังกล่าวอาจจะอยู่ในรูปแบบคู่มือหรือวิดีโอก็ได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องได้รับความรู้ในเรื่องนี้ ทั้งในรูปของคู่มือการปฏิบัติตามกฎหมายหรือวิดีโอถ่ายทอดความรู้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการปฏิบัติงาน การบังคับใช้กฎหมายก็ล้มเหลว
ก้าวต่อ ๆ ไปของความเสมอภาคทางเพศ
ดังกล่าวมาแล้วว่า การสมรสเท่าเทียมเป็นเพียงก้าวแรกของความเสมอภาคทางเพศ สิ่งต่อไปที่ต้องคำนึงถึงก็คือ จะขจัดกฎหมายที่ยังไม่มีความเป็นกลางทางเพศอย่างไร เพื่อให้สิทธิและความเสมอภาคทางเพศจริง ๆ
โจทย์เบื้องต้นที่อาจจะต้องดำเนินการและเป็นการต่อยอดจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็คือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิในครอบครัวให้ครบถ้วน นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว อย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ยังมีกฎหมายอุ้มบุญอีกฉบับหนึ่งที่กำหนดเรื่องสถานภาพครอบครัวระหว่างบุพการีกับบุตร
ทว่า กฎหมายดังกล่าวยังคงยึดโยงอยู่กับสถานะทางเพศ (gender status) ของหญิง-ชาย ในสถาบันครอบครัวแบบทวิเพศ ดังปรากฏในมาตรา 19 กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อ “หญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย” และมาตรา 21 กำหนดเงื่อนไขสำคัญของการตั้งครรภ์แทนว่า ต้องกระทำโดย “สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย” ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไขไปพร้อม ๆ กันกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งตราบใดที่กฎหมายยังไม่แก้ไข คู่สมรสที่เป็นคนหลากหลายทางเพศก็อาจจะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรโดยใช้วิธีการอุ้มบุญได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ การรับรองเรื่องสัญชาติของคู่สมรสที่เป็นคนไทยกับคนต่างด้าว ในปัจจุบันตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 กำหนดไว้ในมาตรา 9 ว่า “หญิง” ต่างด้าวที่ได้สมรสกับผู้ถือสัญชาติไทย ประสงค์จะเปลี่ยนสัญชาติไทย ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ นัยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ (การสะกดทางการสำหรับการกระทำต่ออีกคนหนึ่งในทางที่ไม่ดี) ทางเพศ ซึ่งไม่เฉพาะต่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่รวมถึงหญิง-ชายทั่วไปด้วย ในกรณีเช่นนี้กฎหมายสัญชาติก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมีการแก้ไข
นอกเหนือจากกฎหมายทั้งสองเรื่องแล้วที่เกี่ยวข้องกับการสมรสโดยตรง ยังพบว่ากฎหมายไทยมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความหลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงเรื่องคำนำหน้านาม สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่กฎหมายอาจจะต้องรับรอง ให้เกิดการเปลี่ยนคำนำนามได้หรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องของสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตัวเอง (Self Determination) ว่าบุคคลพึงใจจะเป็นใคร และตัวตนหรือเพศแบบใด ก้าวนี้อาจจะเป็นตัวอย่างสำคัญของการรับรองความเสมอภาคทางเพศ
ท้ายที่สุด เรื่องที่สำคัญและอาจจะหลงลืมไม่ได้ก็คือ การรับความเสมอภาคทางเพศในรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ (เฉพาะถ้อยคำที่ใช้ต่อ ๆ กันมายาวนาน) ระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน” ในมาตรา 27 การที่กฎหมายยังใช้คำว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน อาจจะเป็นการลักลั่นกันของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพราะในวรรคก่อนรัฐธรรมนูญยังระบุอยู่เลยว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย คำถามคือ เราจะเสมอภาคกันได้อย่างไร หากกฎหมายยังรับรองแค่หญิง-ชาย ถ้าหากรัฐธรรมนูญคำนึงถึงความหลากหลายทางเพศแล้ว ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญควรจะระบุหรือไม่ว่าบุคคลไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน
[1] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567, หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ
[2] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567, มาตรา 4 ถึงมาตรา 12.
[3] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567, มาตรา 13.
[4] สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ครั้งที่ 5 (31 มกราคม 2567), 9-10; ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการได้มีการเสนอให้ตัดบทบัญญัติในมาตรา 1448 ส่วนท้าย ซึ่งเปิดโอกาสให้มีสามารถสมรสก่อนอายุ 18 ปีได้ โดยให้ศาลเป็นผู้อนุญาตให้มีการสมรส เนื่องจากข้อยกเว้นดังกล่าวยังคงเปิดโอกาสให้มีการบังคับเด็กสมรส.
[5] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567, มาตรา 44 ถึงมาตรา 51.
[6] ดู พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567.
[7] เอมผกา เตชะอภัยคุณ, “อนาคตของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในประเทศไทย: ความท้าทายและแนวทางสู่ความเท่าเทียม,” TULAW E-Newsletter, 23 กันยายน 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2567, สืบค้นจาก https://anyflip.com/mcpoh/tbru/.
[8] ไชยพัฒน์ ธรรมชุตินันท์, “สมรสเท่าเทียม ก้าวสำคัญกฎหมายครอบครัวไทย: สาระสำคัญและเรื่องที่ยังไปไม่ถึง,” the101.world, 19 มิถุนายน 2567 [Online], สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2567, สืบค้นจาก https://www.the101.world/marriage-equality-bill/.