ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การประพันธ์คือ Ideology บทปาฐกถาการประพันธ์กับสังคม

29
พฤศจิกายน
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอในโอกาสครบรอบ 10 ปี มรณกรรม วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 ของศักดิชัย บำรุงพงศ์ เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์ อันเป็นการแสดงปาฐกถาเรื่องการประพันธ์กับสังคมที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ในวันที่ 31 มีนาคม 2495 โดยกล่าวถึงความหมาย และความรู้สึกนึกคิด (Ideology) เป็นหลัก

 


ศักดิชัย บำรุงพงศ์ หรือหนึ่งในนามปากกาสำคัญคือ เสนีย์ เสาวพงศ์
ที่มา : ศักดิชัย บำรุงพงศ์ นักเขียนผลงานอมตะ

 

ท่านผู้สนใจในการประพันธ์ทั้งหลาย

ข้าพเจ้าได้รับเชิญมาพูดวันนี้ ในฐานะนักประพันธ์ และพูดเรื่องเกี่ยวกับการประพันธ์ การพูดครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ากระทําผิดวิสัยของข้าพเจ้า เพราะงานของนักประพันธ์นั้นเป็นงาน “เขียน” ไม่ใช่งานพูด อันที่จริงทั้งการพูดและการเขียนเป็นการแสดงออกซึ่งความรู้สึกและความฝึกคิดเหมือนกัน ผิดกันแต่วิธีการเท่านั้น และจะว่าไปแล้ว คนเราทุกคนรู้จักการพูดก่อนที่จะรู้จักการเขียนด้วยซ้ำ

เรารู้จักพูดมาตั้งแต่อายุขวบกว่า ๆ แต่กว่าจะรู้จักการเขียนก็เมื่อเข้าโรงเรียน อายุล่วงเข้าไปตั้ง ๖-๗ ขวบ ซึ่งในอายุเท่านั้น พูดได้เรื่องได้ราว หรือที่เรียกกันว่า พูดเป็นภาษาแล้ว ด้วยเหตุตามความเป็นจริง การพูดจึงมาก่อนการเขียน แม้ในทางวรรณคดีก็เช่นเดียวกัน สมัยก่อนที่มนุษย์เราจะมีตัวหนังสือนั้น เรามีวรรณคดี คือหมายความว่ามีการประพันธ์เกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นการประพันธ์ด้วยปาก หรือวรรณคดีบอกเล่า วรรณคดีเหล่านี้ได้แก่นิยามพื้นบ้าน (folk lore) ซึ่งเป็นนิยาย นิทาน หรือบทกวี บทเพลง ประจําท้องถิ่น ที่บอกเล่ากันด้วยปากต่อ ๆ กันมา เป็นลายลักษณ์อักษรมาเกิดขึ้นภายหลัง เมื่อมนุษย์เรารู้จักประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้น และกล่าวกันว่า วรรณคดีที่เป็นลายลักษณ์อักษรเล่มแรกที่โลกรู้จักคือ Iliad ของ โฮเมอร์ กวีชาวกรีก แต่อย่างไรก็ดี นิยายพื้นบ้านที่บอกเล่ากันด้วยปาก ก็ยังคงมีอยู่ในชนบท แม้กระทั่งทุกวันนี้

ข้าพเจ้าได้เกิดในสมัยที่เครื่องมือในการเขียนและเทคนิคของการพิมพ์เจริญมากแล้ว อันทําให้การประพันธ์กลายเป็นงานเขียน โดยเฉพาะซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยทําให้วรรณคดีก้าวหน้า และแพร่หลายได้มากกว่าการบอกเล่าด้วยปาก งานประพันธ์ได้กลายเป็นงานเขียน และงานพิมพ์โดยแท้ไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงว่า การมาพูดวันนี้ผิดสภาพของข้าพเจ้าอยู่ เมื่อพิจารณาตามลักษณะของงานที่ข้าพเจ้าทํา

การพูดตามวิธีแบบฉบับนั้น คือหมายความว่า แบบการพูดที่ดี ซึ่งท่านผู้หลักผู้ใหญ่ได้ทํากันมาถือว่า จะต้องสอดแทรกความตลกขบขัน เพื่อมิให้ผู้ฟังง่วงหรือเบื่อหน่าย อันที่จริงวิธีการเช่นนี้ก็นับว่าไม่เลว

ประการแรกแสดงถึงความมั่งคั่งของภาษาไทยเรา

ประการที่สอง คนเราย่อมชอบความขบขันด้วยกันทุกคน ถ้าช่วยทําให้เกิดอารมณ์ขันได้ก็เป็นของมีประโยชน์อยู่ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรตลกจนเสียเนื้อหาของเรื่องที่พูด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็นจําอวดที่เข้ามาแทรกในละครเรื่องชีวิต อันทําให้เรื่องกลายเป็นไม่เป็นรสไป

สําหรับข้าพเจ้า เห็นจะไม่มีความตลกขบขันที่จะช่วยให้ท่านเกิดความสนใจ ข้าพเจ้าพูดถึงเรื่องการประพันธ์อันเป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสะท้อนชีวิต และเรื่องชีวิต, ในตัวของมันเอง, เป็นสิ่งที่น่าพิสมัยยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดแล้ว แต่ถ้าหากข้าพเจ้าทําให้ท่านสนใจไม่ได้ นั่นไม่ใช่เพราะชีวิตเป็นของไม่น่าพิสมัย แต่เป็นเพราะถ้าข้าพเจ้าไม่มีความสามารถที่จะแสดงความน่าพิสมัย ให้เกิดแก่ท่านด้วยถ้อยคําของข้าพเจ้าต่างหาก

การประพันธ์นั้นเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสองฝ่าย ผู้เขียน ฝ่ายหนึ่ง กับ ผู้อ่าน อีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายข้างผู้อ่านนั้นข้าพเจ้า รวมถึงนักวิพากษ์วิจารณ์การประพันธ์อยู่ด้วย

ฉะนั้นการประพันธ์ เป็นปัญหาน่าสนใจสําหรับบุคคลทั้งหลายที่อ่านหนังสือออกและเขียนหนังสือเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนักศึกษา ซึ่งต้องเป็นนักอ่านที่กว้างขวางอยู่แล้ว และมีหลายท่านที่สนใจต่อการประพันธ์

ส่วนศิลปกับวรรณคดี…เราอาจกล่าวได้ว่า วรรณคดีนั้นเป็นสมบัติของมนุษย์ สร้างขึ้นด้วยมนุษย์และเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เมื่อวรรณคดีนั้นฉายภาพชีวิตของสัตว์ ธรรมชาติ และสิ่งของ ก็ย่อมไม่สูญเสียคุณค่า และผลประโยชน์ของมนุษย์ เพราะมีความเกี่ยวพันอยู่กับชีวิตของมนุษย์อย่างแนบแน่น และเป็นการแสดงความรู้ของมนุษย์ที่มีต่อสภาพภายนอกอันมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา เพราะเราไม่สามารถจะแยกธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งของ ออกเป็นสิ่งพิเศษโดดเดี่ยวห่างจากชีวิตของคนเราได้ การละเลยที่จะสนใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมทําให้ชีวิตของคนเราขาดความสมบูรณ์ไปเป็นอย่างมาก

 

ชีวิตมาก่อนปฏิมา

ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า ศิลป คือ “การคิดในปฏิมา” และปฏิมา คือ ภาพของชีวิต ทั้งนี้หมายความว่า ชีวิตมาก่อนปฏิมา ถึงแม้ว่า ความคิดเห็นและกําลังในทางสร้างสรรค์จากปัญญา และจินตนาการของศิลปินจะมีความสําราญในการสร้างปฏิมาของศิลปขึ้นเพียงไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ทุกปฏิมาของศิลปที่แท้จริงนั้น เป็นภาพสะท้อนของชีวิตที่เป็นที่มาของปฏิมานั้น ปฏิมาของศิลปะไม่ได้ก่อให้เกิดชีวิต แต่ชีวิตต่างหากที่ก่อให้เกิดศิลปะและปฏิมาของศิลปะทุกประเภท ปฏิมาทางศิลปะเป็นปรากฏการณ์ เพราะเกิดขึ้นจากความเป็นจริงของธรรมชาติและชีวิตของสังคม โลกทางวัตถุซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หนึ่ง อย่างไรก็ดี อาจเป็นได้ที่บุคคลจะมีความคิดบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เนื่องจากความสับสน และความแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของความเป็นจริงทางสังคม (Social reality) การที่จิตของมนุษย์เรารับรู้ (Cognition) สิ่งหนึ่งสิ่งภายนอก และการสะท้อนออกมาจากความสํานึกนั้น มิได้มีลักษณะตรงและนิ่งเหมือนภาพสะท้อนจากกระจกเงา แต่มีลักษณะผสม และมีวิถีดําเนินคดเคี้ยว อันทําให้เกิดความเพ้อฝันและความคลาดเคลื่อนส่วนบุคคล และการปลีกหนีออกไปจากความเป็นจริงได้

ในงานศิลปทั้งหมด ก็ย่อมมีชนิดของปฏิมาที่ไม่ลึกซึ้ง ถูกต้อง และสมบูรณ์ ในการสะท้อนชีวิตอันเป็นกําเนิดของปฏิมานั้น ในงานศิลปะต่ํา ๆ ปฏิมาจะถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และงานส่วนของศิลปินผู้แหนงหน่ายและเป็นอริต่อความปรารถนาของสังคม และประชาชน ปฏิมาก็กลายเป็นความต่ําช้า หยาบ ไม่ถูกต้องตรงต่อชีวิตจริง

แต่อย่างไรก็ดี การที่ปฏิมาถูกบิดเบือนไม่ตรงต่อชีวิตจริง มิได้ขัดกับข้อคิดที่ว่า ปฏิมาเป็นภาพสะท้อนของชีวิตแต่ประการ

แต่การที่จะเข้าใจหลักที่ว่า ปฏิมาเป็นภาพสะท้อนของชีวิตนี้ เกี่ยวข้องอยู่กับปัญหาทางความรู้สึกนึกคิด

 

การประพันธ์ คือความรู้สึกนึกคิด

เพราะเหตุที่การประพันธ์หรือวรรณคดีนั้น ทําให้เราเข้าใจในชีวิต การประพันธ์จึงเป็นความรู้สึกนึกคิด (ideology) การที่กล่าวว่า การประพันธ์ คือ การสะท้อนชีวิตหรือศิลปะ เป็นกระจกของสังคมนั้น มิได้หมายความว่า ศิลปะนั้นสะท้อนชีวิตเหมือนกระจกเงาสะท้อนภาพ คือ เป็นการฉายซ้ําซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า แต่มนุษย์ในการสําแดงความจริงในงานสร้างสรรค์ของตนนั้น ย่อมต้องประกอบด้วยทรรศนะอันเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

ในงานการประพันธ์ ก็เช่นเดียวกับความรู้สึกนึกคิดอื่น ๆ สะท้อนภาพของชีวิต ย่อมแสดงให้เห็นว่า นักประพันธ์เข้าใจในชีวิตอย่างไร และมีความสัมพันธ์กับชีวิตในลักษณะเช่นไร

การสะท้อนภาพชีวิตในวรรณคดี ย่อมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ (historical condition) นั่นคือ หมายความว่าจะสําแดงได้ถูกต้องมากน้อยเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และความเข้าใจในชีวิตของนักเขียนในยุคสมัยนั้น

คําว่า ความรู้สึกนึกคิดนี้ หมายความถึง ความสํานึกสังคม (Social consciousness) อันประกอบด้วยการรวมผสมทรรศนะ ความคิด และข้อคิดต่าง ๆ ทางการเมือง ปรัชญา วิทยาการ ธรรมจรรยา ศิลปและศาสนา ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ก้าวหน้า หรือปฏิกิริยา ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นหรือเป็นการสะท้อนของความเป็นจริงทางสังคม (social reality) ที่เป็นอยู่ในระบบสังคมที่มีชนชั้น ความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่โดยทั่วไปเรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกนึกคิดทางชนชั้น เพราะเหตุว่าความรู้สึกนึกคิด ย่อมสําแดง ป้องกัน มีต่อหรือขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นที่ขัดแย้งกัน

กล่าวโดยทั่วไป ความรู้สึกนึกคิด มีบทบาทสําคัญยิ่งในชีวิตทางสังคมและประวัติศาสตร์ของสังคม โดยเหตุที่ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยเป็นผลสะท้อนมาจากเงื่อนไขทางชีวิตวัตถุของสังคม และผลประโยชน์ของชนชั้นที่แตกต่างกัน

ความรู้สึกนึกคิดในตัวของมันเอง จึงมีอิทธิพลสําคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของสังคม

ในระบบสังคมที่มีชนชั้น ความรู้สึกนึกคิดของชนชั้น ปกครองย่อมครอบคลุมและเป็นใหญ่ เพราะได้รับการสนับสนุนทางกําลังวัตถุ การบริหารปกครอง และระบบกฎหมายเป็นเครื่องมือ

ทั้งยังมีระบบการศึกษาอบรมที่ช่วยส่งเสริมให้ความรู้สึกนึกคิด ดําเนินสืบต่อไป และถ้าหากว่า มีความรู้สึกนึกคิดอย่างอื่นเกิดขึ้น ควบคู่กันไปกับความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายที่ เป็นใหญ่ด้วยก็เป็นเครื่องหมายแสดงว่า มีชนอีกชั้นหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว และกําลังจะเริ่มเติบโตขึ้น เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ของสังคม

ในสมัยศักดินา ความรู้สึกนึกคิดแบบศักดินาย่อมเป็นใหญ่ ชนชั้นศักดินาเป็นชนชั้นปกครอง กําลังทางวัตถุของสังคม เช่นที่ดิน อยู่ในมือชนชั้นศักดินา กฎหมาย และการศึกษาก็เป็นไปตามแบบศักดินา แต่แล้ว ชนชั้นใหม่ ก็เกิดขึ้น คือชนชั้นกลาง หรือที่เรียกว่า bourgeois มีความรู้สึกนึกคิดทางชนชั้นของตนเอง ซึ่งขัดแย้งกับความรู้สึก นึกคิดของฝ่ายที่กําลังเป็นใหญ่อยู่ และเริ่มต่อสู้เพื่อชิงอํานาจทางการเมือง

เราจะเห็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้จากวรรณคดี เพราะวรรณคดี ช่วยให้เราเห็นสภาพอันแท้จริงของสังคม ชีวิตความเป็นอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในยุคนั้น ๆ ถ้าเราดูวรรณคดีอังกฤษ ในศตวรรษที่ ๑๗ ในยุคนั้น เป็นระยะเวลาที่รัฐสภาต่อสู้กับอำนาจของกษัตริย์ และกําลังของประชาชนสนับสนุนอยู่ข้างรัฐสภา ผลที่สุดรัฐสภาโค่นอํานาจของกษัตริย์ได้สําเร็จ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์สจ๊วตถูกประหารชีวิต โอลิเวอร์ ครอมเวลส์ เป็นหัวหน้ารัฐบาลฝ่ายสาธารณรัฐ

แต่ภายหลังอํานาจของฝ่ายกษัตริย์กลับ ขึ้นมาอีก การปฏิวัติคราวนั้นเป็นระยะเริ่มของการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกลาง กล่าวคือ ชนชั้นกลางเป็นกําลังนําในการปฏิ โดยมีชาวนาทั่วไปสนับสนุน เพราะการปฏิวัติจะทําไม่สําเร็จได้ ปวงชนไม่ร่วมมือ แต่ชนชั้นกลางไม่อาจทําการปฏิวัติไปจนถึงที่สุด เมื่อวิถีดําเนินของการปฏิวัติสดุดหยุดลง ความสนับสนุนของประช ชนก็จะคลาย ทําให้อํานาจของกษัตริย์กลับมาอีก พระเจ้าชาลส์ที่ กลับมาครองราชย์เป็นกษัตริย์อังกฤษใน ค.ศ. ๑๖๖๐ ในสมัยนั้นมี จอห์น มิลตัน (John Milton ค.ศ. ๑๖๐๘-๑๖๗๔) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐเป็นนักปฏิวัติ ความรู้สึกนึกคิดของเขาแสดงออกในบทกวี เป็นความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางที่ก้าวหน้าในนั้น บทประพันธ์อันนี้คือ Paradise Lost (ค.ศ. ๑๖๖๗) เมื่อมิลตันเห็นความล้มเหลวของการปฏิวัติเกิดขึ้น เรื่องในบทกวีมิลตันนำมาจากคัมภีร์ไบเบิล

อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า ในสมัยนั้นความคิดทางทฤษฎีการปฏิวัติตามหลักวิทยาศาสาตร์ยังคงอยู่ห่างไกลมาก เราจะศึกษาเรื่องนี้จากมิลตันย่อมไม่ได้ เราได้แต่มองเห็นกําลังใหม่เกิดขึ้น มีความขัดแย้งและต่อสู้กับกําลังเก่าในยุคนั้น ตัวเอกในเรื่องของมิลตันนี้ คือ ซาตาน (Satan) แต่ซาตานของมิลตันไม่ใช่ ซาตานอย่างในคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งอยู่ในร่างของงูที่มาลวงมนุษย์คู่แรกในโลก อาดัม กับ อีฟ ให้กินผลไม้ต้องห้ามเท่านั้น แต่เป็นซาตานที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอํานาจของพระเจ้าอย่างกล้าหาญ ซาตานของมิลตันเป็นนักปฏิวัติ เมื่อเริ่มเรื่องก็ปรากฏว่าซาตานได้ต่อสู้และปราชัยพระเจ้าไปครั้งหนึ่งแล้ว เพราะพระเจ้าเป็นฝ่ายแข็งแรงกว่า อย่างที่ฝ่ายกษัตริย์ในอังกฤษมีกําลังแข็งแรงกว่าฝ่ายรัฐสภา แต่ซาตานไม่ยอมรับว่าตนแพ้ ยังคิดที่จะต่อสู้ใหม่ และนี่เป็นเจตจํานงที่แท้จริงของการต่อสู้คือ ล้มเพื่อจะลุกขึ้นมาต่อสู้อีก ด้วยความเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากคําพูดของซาตานตอนหนึ่งว่า

What though the field he lost ?

All will not lost; the unconquerable will

And study of revenge, immortal hate

And courage never to submit or yield

And what is also not to be overcome ?

 

ลักษณะเหล่านี้ อาจจะเห็นได้ในวรรณคดีของประเทศ ซึ่งวิวัฒนาการของสังคมมีสภาพอย่างเดียวกัน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกนึกคิดอันมีสภาพเป็นสํานึกทางชนชั้นนี้ เป็นการสร้างพื้นฐานและการพยายามเสริมสร้างระบอบสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นขึ้น แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า สมาชิกทุกคนในชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งจะมีความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดนี้ทุกคน จากวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์ เห็นได้ว่าความรู้สึกนึกคิดนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งแห่งความเพียรพยายามของมนุษย์ที่เสาะแสวงหาความจริง (สัจธรรม) ความรู้สึกนึกคิดเก่าจะถูกโจมตีจากความรู้สึกนึกคิดใหม่เป็นของธรรมดา และหลงผิดก็อาจจะเกิดมีขึ้นได้ในกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคม

การที่มีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นนั้นหมายความว่าต้องมีบุคคลที่สามารถสําแดงความความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อยู่ด้วย บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ นักปรัชญา นักการเมือง และศิลปินเป็นอาทิ ที่จะคลี่คลายความสํานึกในชั้นชน หรือทําให้หลงผิดขึ้นได้เหมือนกัน เพราะบุคคลที่ทํางานทางสมองปัญญา มักจะยืนอยู่ห่างจากด้านที่เป็นจริงของชีวิตไม่มากก็น้อย ดังนั้นนักประพันธ์จึงอาจเป็นผู้นําทางความรู้สึกนึกคิดในทางก้าวหน้า หรือปฏิกิริยาได้ทั้งสองสถาน เดี๋ยวนี้มีการพูดถึงคําว่า “ก้าวหน้า” กันมาก ถ้าข้าพเจ้าจะขออธิบายความหมายของคํา ๆ นี้สักเล็กน้อย คําว่า “ก้าวหน้า” (Progress) หมายถึงวิวัฒนาการทางสังคมจากระดับที่ต่ำกว่าไปสู่ระดับที่สูงกว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงจากสภาพเดิมที่เป็นอยู่ ไปสู่ระดับที่สูงกว่าของกําลังผลิตของสังคม และวัฒนธรรมความคิดในเรื่องความก้าวหน้าของสังคมนี้ เกิดมีขึ้นในศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการและการขยายตัวของชนชั้นกลาง เมื่อเริ่มการคลี่คลายทางอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ที่แหวกทางขึ้นมาแทนที่สังคมศักดินา

ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งแรก คําว่า “ก้าวหน้า” ก็มีการแปลความหมายไปหลายนัย บางฝ่ายเข้ารกเข้าพงไปถึงกับปฏิเสธว่า มนุษยชาติไม่มีความสามารถแล้วที่จะก้าวหน้าไปสู่ระยะของชีวิตสังคมที่สูงกว่า (เช่น Spengler เป็นต้น)

ฝ่ายหนึ่งอธิบายว่า ความก้าวหน้าไปในลักษณะที่ว่า เป็นการแทรกแซงของเจตนารมณ์แห่งสวรรค์ (divine will) หรือเป็นผลจากการกระทําของเหตุผลหรือจิตบางอย่างที่ควบคุมใจ หรือ เฮเกล อธิบายว่า เป็นวิถีดําเนินทางประวัติศาสตร์สากล (universal historical process) ที่กระทําหน้าที่ของมันเอง

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่ต่ํากว่าไปสู่สภาพที่สูงนี้ย่อมมีได้ เพราะหลักเกณฑ์ของความก้าวหน้าของสังคมอยู่ที่วิวัฒนาการในกําลังผลิตและการผลิต (Production) นั้นย่อมวิวัฒน์เรื่อยไป ดังนั้น ความก้าวหน้าของสังคมก็ย่อมจะมีได้ กําลังผลิตในระบบสังคมทาส คือ ทาสที่มีสภาพเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าของทาสที่จะซื้อขายหรือฆ่าทําลายเสียก็ได้เสียก็ได้ แต่เมื่อกําลังผลิตนั้นวิวัฒน์มาเป็นทาสที่ทํางานให้เจ้าของที่ดิน โดยเจ้าของที่ดินไม่สิทธิ์จะฆ่าหรือซื้อขายแต่ลําพังได้ ระบอบสังคมก็ก้าวหน้าเข้าสู่ระบอบศักดินา

ต่อมาเมื่อกําลังผลิตวิวัฒน์ไปเป็นคนงานอิสระที่ขายแรงงานของตนได้ตามใจชอบ ระบอบสังคมก็ก้าวหน้าเข้าสู่ระบอบสังคมทุนนิยม ; ระบอบทุนนิยมย่อมก้าวหน้ากว่าระบอบศักดินา และระบอบศักดินาย่อมก้าวหน้ากว่าระบอบทาส ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการของกําลังผลิต เป็นหลักเกณฑ์ (criterion) แห่งความก้าวหน้าของสังคม

 

 

หมายเหตุ :

  • บางส่วนจากบทปาฐกถาจาก เสนีย์ เสาวพงศ์, การประพันธ์กับสังคม ใน มหาชนทรรศนะ (กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2517), 37-65.

 

สังเขปชีวประวัติ​ของศักดิ​ชัย บำรุง​พงศ์ 

ศักดิชัย บำรุงพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ในครอบครัวชาวนาจากบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ แต่ย้ายเข้ามาเรียนระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจักวรรดิ และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรภิมุข กรุงเทพฯ และได้สอบเข้าศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากต่อมาบิดาก็ถึงแก่กรรมลงจนครอบครัวเกิดปัญหาทางการเงิน ศักดิชัยจึงได้ลาออกมาทำงานเป็นผู้แปลข่าวต่างประเทศและเป็นคอลัมนิสต์ที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงและสยามราษฎร์ตามลำดับและเข้าศึกษาเรียนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองจนสำเร็จการศึกษา และยังเคยได้ทุนไปเรียนต่อประเทศเยอรมนีแต่ตัดสินใจเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2521

ในแวดวงวรรณกรรม ศักดิชัยมีนามปากกาหลายอันได้แก่ โบ้ บางบ่อ, สุจริต พรหมจรรยา, กรัสนัย, โปรชาติ, คมนศานติ, วัลยา ศิลปวัลลภ, ๑๒๒๒, สีปอย อ่องคำ, แทน นราธร, หนานสีมา และนามปากกาที่มีผลงานยอดนิยมคือ เสนีย์ เสาวพงศ์ โดยผลงานที่เริ่มติดหูมนนามปากกานี้คือ “ชัยชนะของคนแพ้” นวนิยายเรื่องแรกซึ่งเขียนเมื่อเข้ารับราชการในกระทรวงต่างประเทศและยังคงเขียนอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่รับราชการ

นวนิยายที่ศักดิชัยเขียนในช่วงนี้ส่วนใหญ่จึงมีที่มาจากประสบการณ์ในการทำงานยังต่างประเทศในฐานะนักการทูต งานของเขามีประเด็นทางสังคมที่แหลมคม และมีหลากแนว ทั้งอาทิ นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล กวีนิพนธ์ คอลัมน์ หรือแม้แต่แบบเรียน ซึ่งผลงานเล่มสำคัญที่สะท้อนอุดมคติทางการเมืองและสังคมของสามัญชน​คือ นวนิยายเรื่อง “ปีศาจ” และ “ความรักของวัลยา” 

วลีแหลมในนวนิยายเรื่องปีศาจที่ได้รับการกล่าวถึงจากอดีตจนถึงคนรุ่นใหม่คือ

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว” 

29 พฤศจิกายน​ 2557 ศักดิชัย บำรุง​พงศ์​ ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ หากผลงานการประพันธ์ที่ยังสานต่อถักทอมาถึงคนรุ่นใหม่ คือผลงานที่สะท้อนอุดมคติ​เคียงข้างฝั่งสามัญชน

     

    ภาคผนวก

    งานประพันธ์สำคัญของศักดิชัย บำรุงพงศ์ ในนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์

     

    ที่มา : หนังสือส่วนบุคคลของบรรณาธิการ