คุณศุขปรีดา พนมยงค์ เป็นหัวหน้าพาคณะมิตรสหายไปเยี่ยมเยือนและคารวะผู้อาวุโส ยังประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามหลายครั้ง ผมมีโอกาสติดตามไป 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 ตามลำดับ
จากนั้น คุณศุขปรีดาลงมือเขียนประวัติท่านโฮจิมินห์ ส่งไปลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 และรวมพิมพ์เล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์มิ่งมิตร — บริษัทชนนิยม จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 ในชื่อเล่มที่คุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานเครือบริษัทมติชน จำกัด เป็นผู้ตั้งให้ “โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ”
โดยผู้เขียนเผยความตั้งใจว่า “...เรียบเรียงขึ้นจากแรงบันดาลใจที่มีต่อภารกิจในการกู้อิสรภาพเวียดนามของประธานฯ โฮจิมินห์ ประกอบกับความประทับใจที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสพบกับตัวท่านเมื่อ 95 ปีที่แล้ว…”
คุณศักดิชัย บำรุงพงศ์ (เสนีย์ เสาวพงศ์) นักเขียนนามอุโฆษ, ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และอดีตนักการทูต กล่าวในคำนำตอนหนึ่งว่า “...คุณศุขปรีดา พนมยงค์ ผู้เขียนประวัติท่านโฮจิมินห์เล่มนี้ น่าจะเป็นบุคคลที่เหมาะสม เพราะเป็นผู้ที่อผู้ใกลัชิด จดจำเหตุการณ์และข้อมูลลึกๆ ไว้มาก กล่าวสั้นๆ คือ รู้กว้างและลึก...หนังสือเล่มนี้ เป็นเสมือนแสงสว่างที่ฉายไปสลายความมืดและความสลัว ที่บดบังเหตุการณ์ของการต่อสู้ในการอภิวัฒน์อันยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญที่สุดที่ได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้กระจ่างชัดขึ้น”
หนังสือ “โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” วางแผงหนังสือก็ขาดตลาด และเนื่องในวาระความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ครบรอบ 30 ปี สำนักพิมพ์จึงพิมพ์เพิ่มอีกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549
ต่อมาได้ปรับปรุงและแก้ไขคำผิดทั้งหมดและจัดพิมพ์ครั้งที่ 3 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552
แล้วในวาระครบรอบ 120 ปีชาตกาลท่านโฮจิมินห์ และ 100 ปีชาตกาลท่านปรีดี พนมยงค์ ในปี พ.ศ. 2553 จึงจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 4 ครั้งนี้ คุณหงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ ศิลปินผู้วาดภาพปกตั้งแต่เล่มพิมพ์ครั้งที่ 1 ทุ่มเทฝีมือวาดภาพท่านโฮจิมินห์ขึ้นใหม่ด้วย
ครั้นหนังสือ “โฮจิมินห์ เทพเจ้าที่ยังมีลมหายใจ” ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านในประเทศไทย โดยพิมพ์ซ้ำภายในเวลาเพียง 2 เดือนนั้น ทำให้คุณศุขปรีดามีกำลังใจและกระตือรือร้นที่จะเขียนเรื่องที่คาอยู่ในใจ แล้วก็เริ่มลงมือเขียน “หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์” สำหรับเรื่องนี้คุณศุขปรีดาให้เกียรติผมเป็นผู้ร่วมเขียนด้วย
เรื่อง “หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์” พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 เพื่อร่วมรำลึกครบรอบ 55 ปีแห่งชัยชนะศึกเดียนเบียนฟู โดยภาพปกรูปหวอเหงียนย้าปยังคงเป็นฝีมือจิตรกรหงษ์จร
รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนคำนำให้ อาจารย์กล่าวความตอนหนึ่งว่า “...น่ายินดีว่า พี่ศุขปรีดาได้นำเอาประวัติท่านนายพลหวอเหงียนย้าปมาให้พวกเราได้อ่าน ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งกับนักการทหารที่ต้องการแสวงหาความรู้จากการสงครามในอดีต และทั้งจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาผู้ที่สนใจเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการทำความรู้จักกับผู้นำของประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเวียดนาม”
นอกจากนั้น อาจารย์สุรชาติได้มอบบทความเรื่อง “นายพลหวอเหงียนย้าป : แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ให้เป็นภาคผนวกในเล่มด้วย
ในภาคผนวกที่เติมเต็มเนื้อหาให้สมบูรณ์นั้น ยังมีบทความของคุณทวีป วรดิลก นักหนังสือพิมพ์, นักแปล และกวี-ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เล่าเรื่องเมื่อร่วมคณะไปคารวะท่านหวอเหงียนย้าปที่กรุงฮานอย “...ศุขปรีดาทักทายและสนทนาภาษาเวียดนามกับท่านด้วยสนิทสนม (เวลาพูดคุยท่านย้าปใช้คำสรรพนามเรียกคุณศุขปรีดา ‘หลาน’ — ผู้เขียน) ท่านแม่ทัพขอให้แนะนำสมาชิกของเรา… หลังจากนั้น ท่านก็ได้เท้าความหลังเมื่อยี่สิบปีก่อน ซึ่งท่านจำได้ดีที่ท่านปรีดีได้มาเยี่ยมท่านโฮจิมินห์ ระหว่างผู้นำทั้งสองสนทนากัน แม่ทัพหวอเหงียนย้าปก็อยู่ด้วย และก็ยังจำศุขปรีดาได้ดี ท่านสวมกอดศุขปรีดาด้วยความสนิทสนม”
กระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 หนังสือ “หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์” ได้จัดพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่ม นอกจากหนังสือขาดตลาดแล้วก็เพื่อรำลึก 110 ปีชาตกาลท่านปรีดี พนมยงค์ และรำลึก 100 ปีชาตกาลท่านหวอเหงียนย้าป (ซึ่งขณะนี้ท่านย้าปฯ ยังมีชีวิตอยู่ และก่อนคุณศุขปรีดาเสียชีวิตก็ปรารถนาจะไปคารวะท่านอีกสักครั้ง)
ผลงานพิมพ์เผยแพร่วีระประวัติท่านผู้นำการต่อสู้กู้เอกราชเวียดนามผ่านหนังสือ “โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” และ “หวอเหงียนย้าป จอมทัพคู่บารมีโฮจิมินห์” หากดูจากการต้อนรับของผู้อ่านชาวไทย ย่อมแสดงให้เห็นว่า คำอุทิศในการเขียนของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ ที่มุ่งหวังเพื่อ “เป็นบรรณาการแด่สันติภาพ มิตรภาพ ของประชาชนชาวไทย-เวียดนาม” นั้น ได้กระชับมั่นและพัฒนาขึ้นอีกอย่างลึกซึ้ง
งานโดยอาชีพคุณศุขปรีดาเป็นที่ปรึกษาบริษัทฯ ร่วมทุนผลิตกระแสไฟฟ้าใน สปป. ลาว “...ผมมีความสุขที่ได้เข้าไปพัวพันกับลาวอย่างน้อยเดือนละครั้ง ผมได้พบผู้ใหญ่ลาวซึ่งครอบครัวผมได้ทำงานประกอบส่วนกับลาวมาเป็นรุ่นที่สามแล้ว คุณพ่อผม ผม ตอนนี้ลูกชายผมกำลังสำรวจทำวิจัยงานด้านโลจิสติกส์”
ในวัยหนุ่มแน่น ศุขปรีดาติดตามคุณพ่อไปประเทศเวียดนามหลากครั้ง ครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. 2506 ได้มีโอกาสพบและอยู่ในวงสนทนาระหว่างอาจารย์ปรีดี กับเจ้าสุพานุวง ที่ฮานอย นอกจากได้ฟังได้เห็นได้สัมผัสรับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังฉากการรบในสงครามเย็นแล้ว คุณศุขปรีดายังศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศแถบอินโดจีนด้วยความกระหายใคร่รู้
ขณะปิดเล่มเรื่อง “หวอเหงียนย้าปฯ” คุณศุขปรีดาเกริ่นกล่าวว่าเรื่องลำดับถัดไปจะเขียนเกี่ยวกับ “สามเจ้าลาว” คือ เจ้าเพ็ดชะลาด, เจ้าสุวันนะพูมา และเจ้าสุพานุวง โอรสทั้งสามของมหาอุปฮาดบุนคง เจ้าทั้งสามองค์มีบทบาททางประวัติศาสตร์ในการกอบกู้อิสรภาพของประเทศลาว
แต่เมื่อเตรียมข้อมูลสำหรับลงมือเขียน ทราบว่า สปป. ลาว กำลังจะจัดรัฐพิธีใหญ่ของห้วงปีนั้น 2-3 เรื่อง เรื่องเจ้าภาพกีฬาระดับภูมิภาค งาน 450 ปีนครเวียงจันทน์ และรำลึก 100 ปีชาตกาลเจ้าสุพานุวง
งานเขียนของศุขปรีดาจึงลงตัวที่เรื่อง “รำลึก 100 ปีเจ้าชายแดง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง”
เรื่อง “รำลึกเจ้าชายแดงฯ” ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ เมื่อทยอยเผยแพร่จนจบแล้ว ขณะแก้ไข เพิ่มเติมข้อมูลและเรียบเรียงใหม่เพื่อรวมพิมพ์เล่ม คุณศุขปรีดาได้นำคณะเพื่อนมิตรไปร่วมงานเปิดอนุสาวรีย์ท่านสุพานุวงที่เมืองท่าแขก แขวงสะหวันนะเขต สปป. ลาว แล้วเดินทางไปในกำแพงนครเวียงจันทน์ เพื่อพบท่านสะหมาน วิยะเกด สหายร่วมรบสมรภูมิท่าแขก กรรมการการเมือง ศูนย์กลางพรรคฯ, นางยอดแก้วมะนี สุพานุวง ประจำคณะทำงาน ศูนย์กลางพรรคฯ และพลจัตวา คำแวว สีโคดจุนละมาลี สมาชิกสภาแห่งชาติและคณะประจำหัวหน้ากรรมาธิการป้องกันชาติ-ป้องกันความสงบภายใน
นอกจากนั้นยังไปค้นคว้าหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์ท่านไกสอน พมวิหาน, พิพิธภัณฑ์ท่านสุพานุวง และพิพิธภัณฑ์ทหารด้วย
บรรยากาศที่คุณศุขปรีดาไปพบบุคคลสำคัญของ สปป.ลาว ดูเหมือนการไปพบปะเยี่ยมคารวะญาติสนิท มากกว่าการไปสัมภาษณ์บันทึกข้อมูลชั้นต้น ถ่ายภาพหรือค้นหารูปประกอบ
“...เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจในเรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสนิทสนมอย่างแนบแน่น ทั้งในด้านชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ที่ในช่วงระยะที่ผ่านในระยะหนึ่งได้ถูกปิดบัง ถูกให้ร้ายป้ายสีอย่างไม่เป็นธรรมจากฝ่ายตรงข้ามผู้ไม่หวังดีทั้งหลาย จนกระทั่งทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งมีความไขว้เขวเข้าใจผิด และร้ายที่สุดถึงกับสมคบกับต่างชาติทำการเข่นฆ่าพี่น้องประชาชนลาวมาแล้ว…” ศุขปรีดา เขียนคำจากใจผู้เขียนเมื่อพิมพ์รวมเล่ม “รำลึก 100 ปีเจ้าชายแดงฯ” ในปี พ.ศ. 2553
หนังสือทั้ง 3 เล่ม “โฮจิมินห์ เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ”, “หวอเหงียนย้าป พี่ชายคนโตแห่งกองทัพเวียดนามฯ” และ “รำลึก 100 ปี เจ้าชายแดง เรียนรู้ประวัติศาสตร์ลาวผ่านชีวิตเจ้าสุพานุวง” จากหัวใจและอุตสาหะวิริยะของคุณศุขปรีดา พนมยงค์ นับเป็นผลงานสำคัญส่วนหนึ่งของทั้งชีวิตที่ยังมีอีกหลายด้าน
ผมยังจำคำปรารภที่คุณศุขปรีดา พูดกับผมเสมอได้เป็นอย่างดี ท่านว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อบ้านที่แท้จริงต้องเริ่มที่ประชาชน”.
อาลัยลา ศุขปรีดา พนมยงค์ โดย ปรีดา ข้าวบ่อ
พลันโรคร้ายรุมรุกฉุดชีวิต อาการขั้นวิกฤติสุดรับไหว
ศุขปรีดา พนมยงค์ จึงจากไกล ในช่วงวัยเจ็ดสิบห้าวันฟ้าคำราม
“ศุข” คือ พูนศุข—วีรสตรี “ปรีดา” คือ ปรีดี—ศรีนวสยาม
“พนมยงค์” ตระกูลนี้ทุกผู้นาม เข้าแบกหามภาระราษฎร์ชูชาติไท
ทุกก้าวย่างเทิดพระคุณบุญพ่อแม่ จิตแน่วแน่ในทิศทางสว่างไสว
ความเปลี่ยนแปลงนิรันดรพร่ำสอนใจ มุ่งสมานสามัคคีชัยให้ผองชน
กระชับมิตรจีนเวียดลาวชาวน้องพี่ จากรุ่นพ่อก่อไมตรีทุกแห่งหน
ชีวประวัติวีระประชาค่าของคน เพียรดั้นด้นคิดเขียนเวียนอ่านกัน
เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างชิดใกล้ เตือนน้องน้องใกล้ไกลไม่หุนหัน
กำลังใจสำหรับเพื่อนเรื่องสำคัญ พวกปะติกานเท่านั้นต้องประณาม
เขียนงานใหม่จากคำพ่อเพิ่งเริ่มต้น สนุกกับการอ่านค้นทบทวนถาม
หวังต่อด้วยขบวนเสรีไทยเกรียงไกรนาม โอ้-เชื้อโรคร้ายลุกลามเกินต้านทาน
ลาแล้วพี่ ศุขปรีดา พนมยงค์ ลาละร่างไม่ดำรงคงสังขาร
แต่แววตาปรานีจิตวิญญาณ รักเคารพแนบนานอยู่กลางใจ.
ที่มา : ปรีดา ข้าวบ่อ, ศุขปรีดา พนมยงค์ กับงานเขียนถึงผู้นำประเทศเพื่อนบ้าน, ใน มิตรภาพและน้ำใจ แด่ ศุขปรีดา พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2553), หน้า 32-37.
งานเขียนของศุขปรีดา พนมยงค์ :
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ประเทศเพื่อนบ้าน
- ปรีดา ข้าวบ่อ
- สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
- โฮจิมินห์
- นิตยสารมติชน
- สำนักพิมพ์มิ่งมิตร
- ขรรค์ชัย บุนปาน
- ศักดิชัย บำรุงพงศ์
- เสนีย์ เสาวพงศ์
- อุโฆษ
- ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม
- ปรีดี พนมยงค์
- หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ
- หวอเหงียนย้าป
- สุรชาติ บำรุงสุข
- ศึกเดียนเบียนฟู
- จิตรกรหงษ์จร
- ทวีป วรดิลก
- เจ้าเพ็ดชะลาด
- เจ้าสุวันนะพูมา
- เจ้าสุพานุวง
- สามเจ้าลาว
- มหาอุปฮาดบุนคง
- รำลึกเจ้าชายแดงฯ
- สะหมาน วิยะเกด
- สมรภูมิท่าแข
- ยอดแก้วมะนี สุพานุวง
- คำแวว สีโคดจุนละมาลี