Focus
- นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายคำสอนกฎหมายปกครองเรื่องรัฐบาลไว้ว่ามีทั้งในความหมายที่กว้างและแคบ ตามความหมายที่กว้าง สามารถจัดแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด คือ (1) รัฐบาลซึ่งราษฎรได้ใช้อำนาจสูงสุดเองโดยตรง (2) รัฐบาลซึ่งราษฎรได้ใช้อำนาจสูงสุดนั้นโดยมีผู้แทนที่เพิกถอนไม่ได้จนกว่าพ้นระยะเวลากำหนด (3) รัฐบาลซึ่งราษฎรได้ใช้อำนาจสูงสุดนั้น โดยผู้แทนถูกเพิกถอนได้ และ (4) รัฐบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอำนาจเต็มที่ในการที่จะใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ส่วนรัฐบาลตามความหมายที่แคบ สามารถจัดแบ่งเป็น (1) รัฐบาลราชาธิปไตยที่ประมุขเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และ (2) รัฐบาลประชาธิปไตยที่บุคคลอื่นซึ่งมิใช่พระเจ้าแผ่นดินเป็นประมุข
- รัฐบาลราชาธิปไตยอาจแยกออกได้เป็น 5 ชนิด ตามความจำกัดในอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนรัฐบาลประชาธิปไตย อาจแบ่งเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าในทางบริหาร เช่น ประเทศฝรั่งเศส และ รัฐบาลที่อำนาจบริหารได้ตกอยู่แก่คณะบุคคล เช่น สหภาพโซเวียต โดยในทางเศรษฐกิจ อาจจัดแบ่งรัฐบาลเป็น 3 จำพวกตามลัทธิทางเศรษฐกิจ คือ (1) ลิเบราลลิสม์ที่ถือว่าเอกชนควรมีเสรีภาพในการประกอบเศรษฐกิจ รัฐไม่ควรเข้าแทรกแซง (2) โซเซียลิสม์ (อาทิ คอมมิวนิสต์ คอลเลกติวิสม์ อาสโซซิอองนิสต์ โซเซียลิสม์ กสิกรรม ฯลฯ) ที่ตำหนิ (จำกัด) ทรัพย์สินเอกชน เน้นทรัพย์สินส่วนรวม และการแทรกแซงของรัฐในระบบเศรษฐกิจ และ (3) รัฐบาลที่ถือลัทธิผสมระหว่างลัทธิจำพวกที่ 1 และที่ 2
รัฐบาลประชาธิปไตย
รัฐบาลชนิดนี้ ผู้เป็นหัวหน้าแห่งอำนาจบริหารไม่ใช่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน คือเป็นบุคคลสามัญหรือคณะบุคคลซึ่งราษฎรได้เลือกแต่งตั้งไว้มีกำหนดเวลา การอยู่ในตำแหน่งไม่เป็นมรดกตกทอดไปได้แก่ผู้อยู่ในสกุลเดียวกัน
รัฐบาลประชาธิปไตยมี 2 ชนิด
- รัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดินได้ระบุให้ประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าในทางบริหาร เช่น ประเทศฝรั่งเศส
- รัฐบาลประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจบริหารได้ตกอยู่แก่คณะบุคคล เช่น สหรีพับลิก โซเซียลิสต์ โซเวียต ซึ่งอำนาจบริหารได้ตกอยู่คณะบริหารกลาง เป็นต้น แต่มีประธานคณะบริหารกลางไม่ใช่ประธานาธิบดีแห่งรีพับลิก
ส่วนที่ 3
รัฐบาลตามความประพฤติในทางเศรษฐกิจ
ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจดำเนินวิธีและลัทธิต่าง ๆ กัน จะแยกลัทธิของรัฐบาลต่างๆ ออกให้ละเอียดนักไม่ได้ ผู้ใดประสงค์ศึกษาก็ควรศึกษาในทางพงศาวดารแห่งลัทธิเศรษฐวิทยา แต่ในเบื้องต้นนี้เราอาจจัดรัฐบาลที่มีความประพฤติในทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กันออกได้เป็น 3 จำพวก
จำพวกที่ 1 รัฐบาลซึ่งถือลัทธิเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ลิเบราลลิสม์ (Libéralisme) คือ ถือว่าเอกชนควรมีเสรีภาพในการประกอบเศรษฐกิจ รัฐไม่ควรเข้าแทรกแซง ลัทธินี้แยกออกเป็นกิ่งก้านมากหลาย เช่น ลัทธิพิซิโอกราต, ลัทธิของอดัม สมิธ, มาลธัส, ริคาร์โด, สจ๊วต มิลล์, มาร์แชล, จ.บ. เซบาสสิอาต์
สรุปรวมความตามลัทธิต่าง ๆ มีข้อที่ลงรอยกันได้ดังนี้
- กฎธรรมดาในทางเศรษฐกิจ กฎและความเป็นไปตามธรรมดาในทางเศรษฐกิจย่อมมีย่อมเป็นขึ้น รัฐจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหรือความเป็นไปนั้นไม่ได้ เหตุฉะนั้นการเข้าแทรกแซงของรัฐในทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้ผลดี
- อำนาจแห่งประโยชน์ส่วนตนของเอกชน มนุษย์ย่อมนึกถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของคณะทั่วไป ประโยชน์ส่วนตนของเอกชน จึงมีอำนาจยิ่งที่จะจูงใจให้บุคคลกระทำกิจการในทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพูนความสุขของตน แต่รัฐอาจได้ประโยชน์เพราะการนี้โดยทางอ้อม เหตุฉะนั้น ควรปล่อยให้เอกชนประกอบกิจการตามเสรีภาพ
- การเข้าแทรกแซงของรัฐ รัฐไม่ควรเข้าแทรกแซงในทางเศรษฐกิจ เพราะเหตุที่เอกชนอาจทำได้ดีกว่าดังกล่าวแล้ว (แต่บางสาขาของลัทธินี้ได้ยอมให้รัฐเข้าแทรกแซงบ้างในบางกรณี)
- กรรมสิทธิ์ของเอกชน เนื่องจากเหตุทั้ง 3 ประการข้างต้นจึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องยอมให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นได้ตามที่เป็นมาแล้ว เพราะจะเป็นเครื่องจูงใจให้เอกชนมุ่งหาประโยชน์ส่วนตน และประเทศย่อมได้ประโยชน์จากการนั้นโดยทางอ้อม การยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชนเสีย โดยเอาทรัพย์สินมาอยู่ในกรรมสิทธิ์รวมของรัฐนั้น จะทำให้บุคคลท้อถอยในการประกอบเศรษฐกิจ
จำพวกที่ 2 รัฐบาลซึ่งถือลัทธิจำพวกโซเซียลิสม์ ลัทธินี้มีมากหลายและมีมาครั้งโบราณกาล และซึ่งแยกออกเป็นคอมมิวนิสต์ คอลเลกติวิสม์ อาสโซซิอองนิสต์ โซเซียลิสม์ กสิกรรม ฯลฯ
ข้อสำคัญที่ลงรอยกันโดยมาก คือ
- ลัทธิเหล่านี้ ตำหนิฐานะปัจจุบันในเรื่องกรรมสิทธิ์ของเอกชน, การแข่งขันทำมาหากิน, การไม่เสมอภาคในทางเศรษฐกิจ
- หลักในเรื่องวางระเบียบปกครองนั้นคือ ยกเลิกไม่ให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ทรัพย์สินให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์รวม (Co-propriété) ระหว่างมนุษย์ แต่สาขาต่าง ๆ ของลัทธิโซเซียลิสม์ได้แตกต่างกันบ้างในเรื่องกรรมสิทธิ์รวมนี้คือ จะให้มีกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์สินทั้งหมดทุก ๆ ประเภท หรือเป็นแต่เพียงทรัพย์สินที่เป็นทุนทำให้เกิดทรัพย์สินอื่น เช่น ที่ดิน เงินทุน ส่วนทรัพย์สินที่จะต้องจับจ่ายใช้สอยให้คงมีกรรมสิทธิ์เอกชนได้ เช่นในการอุปโภคบริโภค
- โดยเหตุดังกล่าวแล้ว รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซง ในการเศรษฐกิจเพราะเป็นกิจการของมนุษย์ที่ร่วมกัน
จำพวกที่ 3 คือรัฐบาลที่ถือลัทธิผสมระหว่างลัทธิจำพวกที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีแตกออกหลายกิ่งก้านสาขา เช่น ลัทธิแทรกแซง “Interventioniste” ซึ่งยอมรับให้มีกรรมสิทธิ์ของเอกชนแต่ต้องการให้รัฐเข้าแทรกแซงในทางเศรษฐกิจ
ลัทธิโซลิดาริสม์ ผู้คิดลัทธินี้ที่มีชื่อเสียง คือ ศาสตราจารย์ชาลส์จิด แห่งมหาวิทยาลัยกรุงปารีส ตามลัทธินี้มนุษย์ย่อมอาศัยซึ่งกันและกัน จึงควรจัดให้มีสหกรณ์ต่าง ๆ เช่นในการประดิษฐ์ การใช้ การจำหน่าย เป็นต้น (ในเบื้องแรก เมื่อการศึกษายังเจริญไม่ถึงขีด การนี้ก็จะต้องมีการวิธีบังคับก่อน)
เอกสารอ้างอิง :
- “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” นิติสาส์น ปีที่ 4 (เล่ม 3) พ.ศ.2474