ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ปาฐกถาธรรมถึงนายปาล พนมยงค์

12
ธันวาคม
2567

 

Focus

  • ในวาระ 93 ปี ชาตกาลของนายปาล พนมยงค์ กองบรรณาธิการ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ขอเสนอปาฐกถาธรรมของพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) แสดงในพิธีไว้อาลัย นายปาล พนมยงค์ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2524 เพื่อกล่าวถึงความคิดและชีวิตของนายปาล พนมยงค์ และครอบครัวของนายปรีดี กับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยเป็นปาฐถาครั้งสำคัญที่ไม่เพียงเสนอชีวิตของนายปาลแต่เสนอคุณค่าของการทำงาน และความเป็นคนดี การทำเพื่อสังคมผ่านชีวิตที่มีคุณค่าของนายปาล พนมยงค์

 

 

 

(ภาพแถวหน้าฝั่งขวามือ) ท่านปัญญานันทภิกขุในพิธีไว้อาลัย ปาล พนมยงค์ 19 กันยายน 2524 ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ปาฐกถาธรรมของพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) แสดงในพิธีไว้อาลัย นายปาล พนมยงค์ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2524

ขอเจริญพรแด่ท่านผู้มีใจงามทั้งหลาย

บัดนี้เราทั้งหลายได้มาประชุมกันเป็นพิเศษ ณ สถานที่อันโอ่โถงแห่งนี้มีชื่อว่า สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์การประชุมกันในวันนี้ก็ เนื่องจากว่าบุคคลผู้หนึ่ง คือคุณปาล พนมยงค์ ได้ถึงแก่กรรมไปตามธรรมดาของสังขารร่างกาย

คุณปาล พนมยงค์ถึงแก่กรรมแล้ว พวกเราทั้งหลายที่รู้จักมักคุ้นกับ บิดามารดาของคุณปาลบ้าง กับคุณปาลเองบ้าง ระลึกถึงคุณงามความดี จึงได้นัดกัน มาประชุมในสถานที่นี้เพื่อทําพิธีไว้อาลัยในการจากไป ของผู้ที่มีใจดีใจงาม อาตมาเรียกท่านทั้งหลายว่าผู้มีใจงาม ก็เพราะเหตุว่า ท่านที่มาประชุม กันในวันนี้ล้วนเป็นผู้มีน้ำใจอันงามจริง ๆ ที่เรียกว่าใจงามก็เพราะว่าไม่ทอดทิ้ง มิตรผู้อยู่ในที่ไกล ยังคิดถึง ยังแสดงความรู้สึกทางจิตใจออกมาให้ปรากฏด้วยการ มาร่วมทําพิธีไว้อาลัยแก่ลูกชายของท่านซึ่งได้ถึงแก่กรรมไป และได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส และได้พบกับบิดามารดาได้อยู่ร่วมกันด้วย ความสุขตามฐานะในครอบครัว เมื่อศึกษาไปได้อะไรพอสมควรแล้วก็กลับมาเมืองไทย ทํางานทําการตามหน้าที่

คุณปาลเป็นผู้มีน้ำใจกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาผู้บังเกิดเกล้าได้ ทําหน้าที่รับใช้มารดาบิดาด้วยดีตลอดมา แม้มารดาบิดาจะอยู่ไกลถึงประเทศฝรั่งเศส คุณปาลอยู่ที่นี่ก็ได้ทําหน้าที่ช่วยปัดกวาดสิ่งไม่ดีไม่งามที่ใคร ๆ เขาเอามาทับถมให้ แก่มารดาบิดาตลอดเวลา ทําให้มารดาบิดามีความภูมิใจในลูกชายคนนี้และหวังว่าจะได้เป็นผู้สืบสกุลต่อไป แต่ว่านั่นแหละ สิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยง ตามคําสอนในทางพุทธศาสนาสอนว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โรคภัยไข้เจ็บชนิดร้ายแรงจึงเกิดขึ้นแก่คุณปาล

แม้ขณะที่คุณพ่อป่วยที่ประเทศฝรั่งเศส คุณปาลก็ได้ปฏิบัติคุณพ่อด้วยความตั้งใจ ตัวเองรู้สึกว่าไม่สบาย แต่ไม่แพร่งพรายให้ใครรู้เพราะเกรงว่าจะเป็นเรื่องหนักใจแก่ผู้อื่น อันนี้คือนิสัยอันหนึ่งของคุณปาล พนมยงค์ คือนิสัยเกรงใจคน ไม่อยากรบกวนใคร ไม่อยากทําให้ใครเดือดร้อนวุ่นวายเพราะเรื่องของตัวเมื่อบิดาหายป่วยออกจากโรงพยาบาลแล้ว อาการโรคของคุณปาลหนักขึ้นจึงเดินทางกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศไทย หมอตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง อันเป็นโรคที่ใคร ๆ เขากลัวกัน เพราะเป็นโรคชนิดที่มัจจุราชยื่นคําขาด แก่คนที่มีชีวิตอยู่ แต่ว่าคุณปาลก็ใจดี นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนั้นไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนให้ใครเห็น พอรู้ว่าหมอจะเข้ามาก็ทําหน้าตาสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส เห็นญาติเข้ามาก็ทําหน้าตาสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่อยากให้ใครเป็นทุกข์กับตัว อันนี้เป็นเรื่องน้ำใจที่น่าสรรเสริญ

อาตมาเคยไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะว่าคุณปาลแกอยากฟังเทศน์ อยากจะสนทนากับพระก็เลยไปเยี่ยม เมื่อไปเยี่ยมนั้น ไม่มีอาการเจ็บปวดรุนแรง ก็พูดคุยกันได้ และเมื่อเห็นว่าพูดคุยมากก็จะเป็นการเหน็ดเหนื่อยจึงส่งเทปธรรมะมาให้เปิดฟังบ่อย ๆ เมื่อวันที่ใกล้จะสิ้นใจก็ได้มาเยี่ยมอีก คุณปาลปรารภว่า ร่างกายของผมนี่ยกให้โรงพยาบาลแล้ว ดวงตาก็มอบให้แก่โรงพยาบาลแล้ว ไม่ต้องทําอะไรให้เอิกเกริกในเรื่องเกี่ยวกับงานศพ ให้ทําแบบคุณเยื้อน พานิชวิทย์ เพราะคุณเยื้อน พานิชวิทย์นี่เป็นที่รักของคุณปาลมาก คุณเยื้อนก็รักคุณปาลมากเช่นเดียวกัน

เมื่อคุณเยื้อนป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน คุณปาลไปเยี่ยมบ่อย แล้วก็พูดว่าอย่าให้ผมเป็นโรคเหมือนกับคุณอาเลยเพราะทรมานมาก โดยไม่รู้ว่าตัวมีโรคนั้นอยู่แล้ว เมื่อรู้เข้าก็เลยบอกว่า เมื่อผมตายแล้วนี่ให้ทําแบบ คุณเยื้อนก็แล้วกัน แบบคุณเยื้อนนั้นทําที่วัดชลประทานฯ สามคืน แล้วก็ยกศพให้ โรงพยาบาล แต่คุณปาลไม่ต้องการให้ทําอย่างนั้นเพราะอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว เมื่อหมดลมหายใจก็ยกศพให้เขาไปเลยเพราะอยู่ใกล้วิทยาลัยแพทย์ที่นั่น เขาก็มารับศพเอาไป ไม่ต้องทําอะไรให้เป็นการลำบาก อันนี้เป็นความรู้สึกเห็นใจผู้อยู่ข้างหลังโดยเฉพาะคุณแม่และญาติทุกคนที่ได้เยียวยารักษามาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ต้องทรมานไปนั่งในงานศพอีกต่อไป นับว่าเป็นความคิดที่ดี ความคิดนี้เกิดจากความเป็นผู้มีน้ำใจเห็นอกเห็นใจคนอื่นนั่นเอง ศพนั้นจึงมอบให้ไป

พวกเราทั้งหลายที่ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของคุณปาลก็อาลัยคิดถึงเพราะว่าเรายังรักดี เรายังเสียดายดีกัน เรายังบูชาคนงามความดี บูชาคนดีกันอยู่ จะให้คนดีตายไปเฉย ๆ โดยไม่ได้ทําอะไรเลยนั้นก็ดูเหมือนว่าเราไม่อาลัยในคุณงาม ความดีหรือในคนดีเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงได้จัดให้มีการประชุมขึ้นในวันนี้ ณ สถานที่นี้ เรียกว่าทําพิธีไว้อาลัยในคุณงามความดีของผู้ที่จากไป เพื่อแสดงน้ำใจว่า เราทั้งหลายที่มาประชุมกันนี้เป็นคนรักดี บูชาความดี เสียดายความดี เสียดายคนดี ไม่อยากให้จากพวกเราไป แต่ว่าเรายึดมั่นในพระพุทธศาสนา เราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาเป็นเครื่องประโลมใจให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องมันเป็นเช่นนั้น สิ่งทั้งหลายมันเป็นเช่นนั้น

ตามหลักพุทธศาสนาที่เรียกว่า ตคตา หรือชื่อของพระพุทธเจ้าที่ เรียกว่า พระตถาคต ตคตาหมายความว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง อะไร ๆ มันก็ต้องเป็นเช่นนั้น ที่เป็นอย่างนั้น มันเกิด มันแก่ มันเจ็บตายไปตามเรื่องของธรรมชาติ ตามเรื่องของสิ่งที่เป็นอย่างนั้น

เมื่อเรานึกว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นเช่นนั้นก็ค่อยคลายจากความทุกข์ความอาลัย แต่ก็อยากให้ใคร ๆ ได้รู้ว่าผู้ที่ถึงแก่กรรมนั้นมีความงามความดี บิดามารดา ของผู้ที่ถึงแก่กรรมนั้นมีคุณงามความดี ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายทั่ว ๆ ไปว่าความดีนั้นเป็นสิ่งไม่ตาย แม้คนบางคนจะไม่เข้าใจความดี ไม่เห็นความดีของคนที่มีความดีอยู่ในใจ แต่คนจํานวนหนึ่งที่มีใจเป็นธรรมเห็นความงามความดีนั้น รักบูชาคนที่มีความดีความงามนั้น ก็อยากจะแสดงให้โลกได้ประจักษ์ว่าคนมีความดีนั้นไม่ตาย แม้ร่างกายจะตายไป ความดีนั้นเป็นสิ่งไม่ตาย เราก็อยากจะทําพิธีประกาศคุณงามความดี ไม่หาย ไม่สูญไปไหนเรื่องร่างกายนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เป็นของผสมเกิดขึ้นจากเครื่องปรุงแต่งมีประการต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกว่าวัตถุธาตุ มีดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น ความจริงมีมากกว่านั้น แต่พูดสั้น ๆ เอาเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว

สิ่งใดที่เกิดขึ้นจากการผสมปรุงแต่งมันก็ย่อมจะอยู่ได้เมื่อสิ่งปรุงแต่งยังพร้อมเพรียง เมื่อใดสิ่งปรุงแต่งขาดตกบกพร่องสิ่งนั้นก็ต้องสลายไปชาติเช่นนั้น มนุษย์เราจึงต้องตายเพราะมันเป็นเรื่องธรรม ความตายของคนบางคนตายแล้วก็หมดเรื่องกัน เพราะว่าคนนั้นไม่มี คุณงามความดีอะไร เกิดมาอยู่ในโลกเพื่อทําโลกให้มันเต็มเท่านั้น แต่ว่าคนใดเกิดมาแล้วได้ทําโลกให้งดงาม ทําพ่อแม่ให้ชื่นใจ ทํามิตรสหายให้สบายใจ ใช้เวลาของชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่ตนแก่ท่าน บุคคลเช่นนั้นเราเสียดาย เราไม่อยากให้ตายไป จากโลกนี้ อยากให้อยู่นาน ๆ เพื่อจะได้เป็นบุคคลตัวอย่างแก่คนอื่นต่อไป

แต่ว่าเราขอร้องไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ จะซื้อหาด้วยเงินทองก็ไม่ได้ ทําอะไร ๆ ก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะมันต้องเป็นเช่นนั้นเอง คือจะต้องแตกดับเป็นเรื่องธรรมดา ความแตกดับนั้นเราถือว่าเป็นแต่เพียงเรื่องของร่างกาย ส่วนเรื่องจิตใจ คุณงามความดีนั้นไม่ตาย พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า รูป ชีรติ มจฺจาน นามโคตต์ น ธีรติ. รูป ร่างกายเท่านั้นแตกสลายไป แต่คุณงามความดีนั้นหาได้สูญหายไปไหนไม่ คุณงาม ความดีนั้นเป็นธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นสิ่งมีอยู่ตลอดอนันตกาล ใครจะเกิดมาพูดหรือไม่พูดเกี่ยวกับธรรมะ ธรรมะนั้นก็มีอยู่

พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมะอันเป็นความจริง คือสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลาย เป็นอนัตตา มีอยู่แล้ว มีอยู่ทั่วไป แต่ไม่มีใครค้นพบ ไม่มีใครเอามาประกาศ ไม่มีใครทําให้ปรากฏแก่จิตใจของชาวเมือง สิ่งนั้นจึงไม่ปรากฏ ตถาคตเป็นผู้ค้นพบสิ่งนั้น เปิดเผยจําแนกแจกแจงให้คนทั้งหลายเกิดความรู้ความเข้าใจ อันนี้เป็นคําตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นเครื่องชี้ให้เราทั้งหลาย เห็นว่าพระธรรมหรือธรรมะนั้นเป็นสิ่งไม่ตาย เป็นสิ่งยังมีอยู่ในโลกตลอดไป

พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายแม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว ธรรมะก็ยังอยู่ในคําตรัสแห่งหนึ่งในมหาปรินิพพานสูตร คือใกล้สิ้นพระชนม์ของพระพุทธเจ้า พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก นั่งเฝ้าดูอาการพระผู้มีพระภาคฯ ตลอดเวลา เข้าขั้นโคม่า แต่ว่ายังตรัสได้ทุกสิ่งทุกอย่าง พระอานนท์เห็นว่าเวลาเหลือน้อยเต็มที่แล้ว พระพุทธเจ้าจะนิพพาน มีอะไรควรถามก็ควรถามเสียดีกว่า พระอานนท์ท่านทูลถามว่า เมื่อพระองค์ยังดํารงพระชนม์อยู่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ได้เข้าเฝ้า ได้ฟังธรรม ได้ถือเอาพระองค์เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นหลักใจ เป็นที่พึ่งในยามยาก ครั้นเมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว พระองค์จะทรงตั้งบุคคลผู้ใดให้เป็นตัวแทนของพระองค์ต่อไปอันนี้เป็นคําถามที่ดีมาก พระองค์ไม่ทรงตั้งบุคคลผู้ใดแม้แต่เป็นพระอริยะสงฆ์สาวกของพระองค์ให้เป็นตัวแทนท่าน ทําไมไม่ทรงตั้งบุคคลให้เป็นตัวแทน ก็เพราะว่าคนนี้ยุ่งได้ ทําเรื่องยุ่งได้ คนในสมัยพระพุทธเจ้าไม่ยุ่งเท่าใด คือยุ่งเหมือนกันแต่ไม่รุนแรง แต่เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว 500 ปี 1,000 ปี 2,000 ปีคนจะยุ่ง เหมือนกับที่ยุ่ง ๆ อยู่ในหลายประเทศเวลานี้ซึ่งท่านทั้งหลายทราบกันอยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงตั้งบุคคลให้เป็นตัวแทนพระองค์ พระองค์ตั้งอะไรให้เป็นสิ่งแทนองค์พระพุทธเจ้า?

พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา อานนท์เอ๋ย ธรรมวินัยอันใดที่เราได้สอนแล้วบอกเล่า แล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นแหละจะเป็นครูเป็นอาจารย์แทนเราต่อไปอันนี้สําคัญมาก สําคัญที่สุดสําหรับสังคมในยุคปัจจุบันที่สนใจกัน แต่ในเรื่องวัตถุ แสวงหาแต่วัตถุเป็นที่พึ่ง ไม่แสวงหาธรรมะเป็นที่พึ่ง ไม่เอาธรรมะ มาเป็นหลักใจ ไม่เอาธรรมะเป็นอาหารใจ ไม่เอาธรรมะเป็นเพื่อนสอนของใจ แต่ไปเอาสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งจึงพึ่งไม่ได้ เวลาใดเกิดความทุกข์ความเดือดร้อน เราก็ต้องเอาธรรมะนั่นแหละมา เป็นสิ่งประเล้าประโลมจิตใจเพื่อทําจิตใจให้คลายจากความทุกข์ความเดือดร้อนจึงจะเป็นการถูกต้อง

การที่เอาธรรมะมาเป็นหลักคุ้มครองจิตใจนั้นเราจะต้องศึกษา ให้เข้าใจธรรมะ เข้าใจแล้วก็ต้องปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะนี่ไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะวันพระ วันโกน หรือเฉพาะเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ต้องปฏิบัติอยู่ทุกเวลานาที ทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าเราได้ปฏิบัติธรรมะอยู่ทุกเวลาแล้วเราจะเป็นทุกข์กับใครไม่เป็นเราจะมีแต่ความสงบใจ จะมีแต่เรื่องสร้างสรรค์ จะไม่มีเรื่องทําลาย จะไม่มีการเบียดเบียนกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เห็นทุกคนเป็นญาติพี่น้องกัน คอยช่วยเหลือ เจือจุนกันฉันท์ญาติพี่น้อง คิดอยู่ในใจว่าเราเป็นสุขก็ให้คนอื่นเป็นสุขด้วย เราพ้น ทุกข์ก็ขอให้คนอื่นได้พ้นทุกข์ด้วย อย่างนี้เรียกว่าเป็นอยู่อย่างผู้มีธรรมะ

ผู้มีธรรมะนั้นเป็นบุคคลไม่ตาย ไม่หายไม่สูญไปไหน ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เพราะธรรมะเป็นเกราะคุ้มครองป้องกันบุคคลนั้น ๆ อยู่ตลอดเวลาในชีวิตของคนเรานั้นอาจจะมีบางครั้งบางคราวได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเพราะเหตุการณ์รอบข้างทําให้สิ่งทั้งหลายวุ่นวาย สับสน ตกอยู่ในกระแสแห่งความวุ่นวายนั้น ก็ย่อมถูกกระแสแห่งความวุ่นวายนั้นกระทบเอาบ้าง แต่ว่าจะกระทบแต่เพียงผิวกายเท่านั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงจิตใจ เพราะจิตใจยังยึดมั่นอยู่ในหลักธรรมะ ยังรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่นใครเขาว่าคนนั้นไม่บริสุทธิ์ แต่ถ้าตัวเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร จิตใจยังสบาย ยังสงบอยู่ จึงเป็นคนที่ไม่มีโรค อายุมั่นขวัญยืน คนที่มีความชั่วร้ายในใจ มีโรค จักโกรธ จักหลง จักริษยา จักพยาบาทอาฆาตจองเวร กีดกันคนอื่น ทําร้ายคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ตัวดีคนเดียว อายุไม่ยืนเท่าใดเพราะจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา

เมื่อจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวเร่าร้อน ต่อมต่าง ๆ ในร่างกายก็ทํางานไม่เป็นปกติ จึงเกิดโรคเกิดภัย ทําให้ชีวิตตกต่ํา จิตใจตกต่ำคนเราแม้จะลําบากทางด้านร่างกายแต่ด้านจิตใจไม่ลําบากก็เหมือนกับไม่ลําบาก แต่ถ้าจิตใจลําบากแม้ร่างกายอยู่ในที่สบายก็เหมือนกับไม่สบาย เช่นเรา อยู่ในบ้านหรูหราราคาแพง นั่งรถยนต์คันใหญ่ ไปไหนมีคนยกมือไหว้ แต่ว่าจิตใจเราอาจจะไม่สบายก็ได้ถ้าเรามีกิเลสกลุ้มรุมจิตใจ ไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองจิตใจ ก็เรียกว่าอยู่เป็นทุกข์ ทุกข์ร้อนจิตใจ ประกอบด้วยสิ่งชั่วร้าย แต่จิตใจที่เข้าถึงธรรมะไม่มีอะไร จิตใจสงบ เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็มองเห็นชัดด้วยปัญญาว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว เกิดจากอะไร มันปรากฏเป็นรูปอย่างไร แล้วก็ปลงสลายไป เพราะอะไร ๆ นั้นมันหนีความจริงไปไม่พ้น หนีกฎธรรมชาติไม่ได้

กฎธรรมชาติมีอยู่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีสามขณะ สามมิติเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่าอะไร เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สิ่งใดเกิดขึ้น มันก็ตั้งอยู่ ประเดี๋ยวมันก็ดับไปแล้ว แต่ว่าที่มันไม่ดับไปจากใจนั้นเพราะเราคอยป้อนเชื้อให้ แก่ความคิดนั้น เช่น เรามีความทุกข์เพราะเราป้อนเชื้อแห่งความคิดถึงสิ่งนั้นเพิ่ม ขึ้น ใจเราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่ป้อนเชื้อแห่งความทุกข์ ความทุกข์นั้นเกิดขึ้นนิดหน่อย แล้วมันก็จะจางหายไปเหมือนฟ้าแลบ ฟ้าแลบนี้มันพรึ่บเดียวเท่านั้นแล้วก็หายไป

ฟ้าร้องก้องสนั่นฟ้าผ่าลงมา ณ ที่ใดที่หนึ่งมันก็เป็นเรื่องปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องอาถรรพณ์ ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกอกตกใจ เพราะมันผ่าอยู่บ่อย ๆ ทุ่งกุลาร้องไห้ภาคอีสานผ่าทุกวัน วัวเดินในทุ่งก็ถูกผ่า สุนัขเดินในทุ่งก็ถูกผ่า คนเดินไปใน ทุ่งก็ถูกผ่า เราจะถือว่าทุ่งนั้นอาถรรพณ์ไม่ได้ แต่เพราะไม่มีอะไร อะไรไปสูงเหนือพื้นดินขึ้นหน่อยก็เป็นจุดล่อสายฟ้ามันก็ผ่าเปรี้ยงลงมาเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่องประหลาด ไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเอามาทําให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนในใจ ให้เราคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ มันต้องเป็นอย่างนั้น ตามหลักคําสอนในทางพุทธศาสนาแล้วเราก็ไม่เป็นทุกข์ ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะอะไรก็ตามถ้าเอาธรรมะเข้ามาจับแล้วความทุกข์นั้นก็จะจางไปหายไป ไม่เกาะกลุ่มอยู่ในใจของเรา เพราะเรานึกได้ว่ามันเป็นเช่นนั้น

คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องเป็นเช่นนั้น ต้องเจ็บต้องป่วยต้องตายไป ความตายนี้ต้องเกิดแก่ทุกคน แต่ว่าเวลาไม่เท่ากัน บางคนอายุสั้น บางคนอายุยืน บางคนโรคมาก บางคนไม่ค่อยมีโรค มันเป็นไปในรูปต่าง ๆ เราจะไปจํากัดจําเขี่ยเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้แก่ตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ได้ ทํา ดปัดเป่าก็ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องเช่นนั้นที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น เราเพียงแต่ให้เข้าใจความจริงของสิ่งนั้นตามสภาพที่เป็นจริง แล้วก็ปล่อย ๆ วาง ๆ ไปยึดถือไว้ ให้นึกว่าเขามาเพียงเท่านั้นแล้วเขาก็จากไปไม่ ถ้าพูดตามแบบพ่อแม่นี่น่าจะไปก่อนลูก เพราะมาก่อน แต่ก็ไม่แน่นัก บางที่ลูกไปก่อนพ่อแม่ พ่อแม่ยังไม่ไป ลูกคนน้องไปก่อนพี่ก็ได้ คนพี่อาจจะไปก่อนน้องก็ได้ ไม่มีลําดับ ไม่มีการเรียงคิว

ในเรื่องของความแตกดับเป็นเรื่องเฉพาะคน เฉพาะผู้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปเรียงแถวกับใคร ๆ เขาจึงเป็นไปในรูปดังที่เราเห็นปรากฏอยู่ แต่ว่าตัวเขาไป ใจเขายังอยู่ ความดียังอยู่ เช่น คุณปาล พนมยงค์ถึงแก่กรรมไป

ความดีของคุณปาลยังอยู่ อยู่ที่คุณแม่ อยู่ที่คุณพ่อ อยู่ที่น้อง ๆ อยู่ที่มิตรสหายทั้งหลายที่รู้จักคุณปาลว่าเป็นคนสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน มีน้ำใจรักเพื่อน มีความเสียสละเพื่อเพื่อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยเอารัดเอาเปรียบใคร นิสัยอย่างนี้มาจากไหน คนไทยเราพูดว่าลูกไม้มันไม่หล่นไกลต้น ลูก มังคุดหล่นใต้ต้นมังคุด ลางสาดหล่นใต้ต้นลางสาด ทุเรียนมะม่วงก็หล่นอยู่ใต้ต้นทุเรียน มะม่วงไม่ได้หล่นไปไกลที่ไหน ลูกคนก็ไม่ไกลจากคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ เป็นผู้มีคุณธรรม มีความงามความดี เป็นแบบอย่างแก่ลูก ลูกได้เห็นได้ศึกษาจาก พ่อแม่ถ่ายทอดอุปนิสัยใจคอมาไว้ในจิตใจของตัว เรียกว่าเอาวิญญาณของพ่อแม่มาไว้ในใจของตัวทั้งหมด จึงปรากฏเป็นคนสุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ทําอะไร ก็ทําจริง มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว แม้ตัวตายแล้ว ก็ยังเสียสละร่างกายให้แก่นักเรียนแพทย์เอาไปศึกษา เสียสละลูกตาให้แก่คนที่ต้องการ ตามาซ่อมตาของตัวให้ดีขึ้น เป็นการเสียสละครั้งสุดท้ายของชีวิต อันนี้คือคุณธรรมที่มีอยู่ในใจของคุณปาล พนมยงค์

คุณธรรมนี้ถ่ายทอดมาจากคุณพ่อบ้าง ถ่ายทอดมาจากคุณแม่บ้าง คุณพ่อคุณแม่นั้นมีนิสัยดีงาม ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาจากบรรพบุรุษ เพราะเป็น สกุลเก่าแก่ของเมืองไทยตระกูลหนึ่งเหมือนกัน ก็สืบสายคุณงามความดีมาถ่ายทอด คุณงามความดีนั้นลงไปในลูกโดยไม่รู้สึกตัว คือการพูดการคิดการกระทําของพ่อแม่ ลูกเห็นอยู่ตลอดเวลาจึงถ่ายภาพนั้นไว้ในใจ เอามาฉายออกในรูปการพูด การคิด การกระทําให้คนอื่นได้เห็นต่อไป

ถ้าพ่อแม่เป็นคนเหลวไหลไม่อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติไม่ดีไม่งาม ลูกจะเป็นคนดีได้อย่างไร ดูลูกของบางครอบครัว มีลูกเละเทะเหลวไหลทําตนไม่ เรียบร้อย ทั้งพ่อทั้งแม่เป็นคนมีเกียรติมีชื่อเสียง แต่ว่าเกียรติชื่อเสียงนั้นอาจจะไม่ บริสุทธิ์ก็ได้ ลูกเกิดมาจึงถ่ายทอดนิสัยที่ไม่ค่อยจะเรียบร้อยนั้นมาไว้ในใจ แล้วประพฤติ ในทางเสีย นี่ก็เพราะว่ารากฐานในครอบครัวไม่มั่นคงด้วยศีลธรรมคําสอนของ พระพุทธศาสนา เด็กเกิดมาจึงมีสภาพโน้มเอียงไปในทางต่ํา แต่ครอบครัวใดมีฐาน จิตใจที่มั่นคงอยู่ในศีลในธรรม ลูกก็ย่อมจะรับแต่สิ่งดีงามจากบิดามารดา เพราะฉะนั้น ภาพความดีของลูกเป็นการแสดงถึงภาพความดีของพ่อแม่ว่าเป็นคนดีอย่างไร มีน้ำใจ เสียสละอย่างไร

พ่อของคุณปาลนั้นแม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยเวลานี้ แต่ก็ปรากฏว่า เป็นคนที่เรียบร้อย ประพฤติดี ประพฤติชอบ เสียสละเพื่อส่วนรวม ทําประโยชน์ แก่สิ่งที่เป็นส่วนรวมตลอดเวลา ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ ไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว ท่านทั้งหลายลองไปอ่านหนังสือที่บริษัทปูนซีเมนต์ไทยพิมพ์แจกเมื่อบริษัทมีอายุครบรอบ 60 ปี เขาสรรเสริญท่านปรีดีไว้ว่ามาเป็นกรรมการ เป็นที่ปรึกษา แนะนําอะไรต่าง ๆ ให้แก่บริษัทอย่างดีตลอดเวลา แต่ไม่ยอมรับเงินที่เขาให้ ไม่รับ ๆ เบี้ยเลี้ยง ไม่รับเบี้ยประชุมเลยแม้แต่น้อย อันนี้บริษัทปูนซีเมนต์ไทยเขาสรรเสริญไว้ ได้ทราบจากลูกศิษย์ลูกหาว่า สมัยที่ท่านเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในสมัยโน้น เงินเดือนที่ในตําแหน่งนั้นท่านไม่ได้เอา แต่ว่ามอบให้มหาวิทยาลัยเพื่อเอาไปใช้ปรับปรุงกิจกรรมในมหาวิทยาลัยให้เจริญก้าวหน้า นับว่าเป็นผู้มีความเสียสละ ไม่เห็นแก่ได้ ไม่กอบโกยผลประโยชน์ในเมื่อมีช่องทาง ที่จะกอบโกยได้ จึงเป็นบุคคลที่อยู่อย่างมักน้อยสันโดษ

แม้จะไปอยู่เมืองนอกก็ไม่ได้ไปอยู่อย่างคนมั่งคั่งอะไร อยู่บ้านหลังเล็ก ๆ ชานกรุงปารีส ถ้าไปเห็นบ้านแล้วก็นึกสงสารเจ้าของบ้านว่าเคยเป็นคนใหญ่ ในประเทศไทย เป็นรัฐบุรุษอาวุโส เป็นผู้สําเร็จราชการแผ่นดินในสมัยหนึ่ง แต่ว่าไปอยู่บ้านน้อย ๆ แต่ดูชีวิตก็เป็นสุขดี มีอารมณ์สดชื่น คุยกันด้วยความผ่องใสใน จิตใจ หน้าตาผ่องใส ไม่มีอารมณ์ทุกข์ร้อน อันนี้ได้ไปเห็นมาด้วยตนเองแล้ว สังเกตดูว่าเป็นคนมีความสุขคนหนึ่งในแผ่นดินนั้น

ผู้ที่ทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินก็ลาโลกกันไปตาม ๆ กัน ในคนรุ่นนั้นไปกันเกือบหมดแล้ว ที่มานั่งอยู่ก็มีคุณหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ซึ่งท่าน อุตส่าห์มา โขยกเขยกเต็มที ที่เหลืออยู่นั้นร่างกายก็แก่ชราไปตาม ๆ กัน แต่ว่าท่าน บิดาของคุณปาล พนมยงค์นั้นแม้จะแก่ถึง 80 แล้วยังแข็งแรง สมองยังดี ความจํายังดี เขียนหนังสือได้เรียบร้อย แล้วในชีวิตประจําวันก็ไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ทําการ ค้นคว้าเขียนนั่นเขียนนี่อยู่ตลอดเวลา ใช้เวลาให้หมดไปเพื่อการทําสิ่งที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้คนข้างหลังได้เอาไปใช้ต่อไป คนอย่างนี้มีธรรม มีความดี

พวกเราที่มากันในวันนี้ก็เพราะนึกถึงความดีของท่านบิดาของคุณปาล พนมยงค์ เราจึงมากัน และนึกถึงความดีของคุณปาลด้วย จึงได้มากัน โดยเฉพาะ คนรุ่นหนุ่มนึกถึงความดีของคุณปาล คนผู้ใหญ่ที่อุตส่าห์ถือไม้เท้ามานั้นนึกถึงความดี ของบิดาคุณปาลว่าเป็นคนมีอุปการะคุณแก่ตนในฐานะเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ในฐานะเป็นบรมครูในเรื่องนี้ สมาคมธรรมศาสตร์สร้างเสร็จจึงเอารูปท่านมาประดิษฐานไว้อย่างถาวร เป็นการแสดงความไม่ลบหลู่บุญคุณท่าน แสดงน้ำใจว่าเรายังรักอาจารย์ ยังกตัญญูกตเวทีอยู่ คนที่มีความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นคนใช้ได้ เพราะมีนิมิต มีเครื่องหมายของความเป็นคนดี

เราจะดูว่าคนดีหรือไม่ดี อย่าไปดูเสื้อผ้า อย่าไปดูเพชรนิลจินดา อย่าไปดูรถยนต์ที่เขานั่ง อย่าไปดูบ้านที่สร้างขึ้นใหญ่โตโดยไม่รู้ว่าเอาเงินจากไหนมาสร้าง แต่เราดูว่าคนนั้น ๆ มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ครูบาอาจารย์ ขนาดไหน ถ้าเราได้พบใครที่มีน้ําใจกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีบุญคุณแล้ว คบได้เป็นเพื่อนร่วมหุ้นค้าขายได้ เอามาเป็นมิตรได้ เอามาเป็นเขย มาเป็นสะใภ้ได้ ไม่เสียหาย ไม่ทําลายใคร ๆ เพราะมีน้ำใจเป็นพื้นฐานดีอยู่แล้ว

ความกตัญญูกตเวทีเป็นรากฐานชีวิต เป็นรากฐานศีลธรรม เป็นรากฐานความมั่นคงในชาติในประเทศ ถ้าคนเรามีความกตัญญูกตเวทีแล้วดีหมดทุกอย่าง ไม่มีเสีย คนขาดน้ำใจในเรื่องนี้แหละที่เสียคน ลูกที่ไม่รักพ่อแม่ ไม่มีความกตัญญู ต่อพ่อแม่ เอาแต่ใจตัว ประพฤติเหลวไหล ทําอะไรนอกลู่นอกทางโดยไม่นึกว่าพ่อแม่ จะเดือดร้อน ศิษย์ที่ไม่เคารพครูก็มักจะทําอะไรนอกคอกนอกทาง ทําให้ครูไม่ สบายใจ แต่คนใดมีน้ําใจประกอบด้วยธรรมะ คือความกตัญญูกตเวทีแล้วเขาจะไม่ ทําอะไรให้ใครเดือดร้อนเสียหาย เขารู้จักบุญคุณแผ่นดินที่ตนได้อาศัยอยู่ รู้จัก บุญคุณของฟ้าที่ตนได้อาศัย ไม่ประพฤติตนให้เป็นคนหนักแผ่นดิน แต่อยู่เพื่อทําให้แผ่นดินเจริญก้าวหน้าตามฐานะที่ตนจะกระทําได้ อันนี้คือธรรมะที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ที่มีอยู่ในน้ําใจของท่านทั้งหลาย

เราทั้งหลายเวลานี้อยู่ในแผ่นดินแห่งประเทศไทย ประเทศไทยเวลานี้อยู่ในสถานะวิกฤตนิดหน่อย ไม่ค่อยมั่นคงในทุกแง่ทุกมุม เราอย่าตกใจ อย่าหวั่นไหว แต่เราจะต้องคิดว่าเรามีหน้าที่อะไรที่จะช่วยชาติช่วยบ้านเมืองให้แผ่นดินนี้อยู่รอดให้ดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระราชโอรสธิดาของพระองค์ ซึ่งได้พร้อมใจกันกระทํากิจอันเป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่เพื่อน มนุษย์ร่วมชาติอยู่ตลอดเวลา เรามีอะไรที่จะทําได้ตามรอยพระยุคลบาทของพระองค์ แล้วก็ต้องช่วยกันจัดช่วยกันทํา คนแก่ไม่มีโอกาสที่จะทําอะไรมากแล้ว แต่มีโอกาสที่จะแนะนําพร่ํา เตือนลูกศิษย์ลูกหาทุกคนที่เข้าใกล้เราให้เขาสํานึกในความเป็นไท สํานึกในความเป็นมนุษย์สํานึกในความเป็นพุทธบริษัท และให้รู้ว่าชีวิตนี่มันน้อยมันสั้น ควรจะรีบใช้ชีวิตนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมให้มากที่สุดที่จะมากได้ แม้เราจะตายจากโลกนี้ ไปก็ให้ตายอย่างชนิดที่เรียกว่ามีคนเสียดาย มีคนคิดถึงการจากไปของบุคคลผู้นั้น เราช่วยกันกระตุ้นเตือน ช่วยเสกช่วยเป่าให้เยาวชนของชาติทั้งหลายตื่นตัวก้าวหน้า เสียสละชีวิต ความรู้ ความสามารถเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชาติประเทศต่อไป คนแก่ทําได้เท่านั้น

ส่วนคนที่อยู่ในวัยซึ่งเหมาะสมแก่การรับใช้ประเทศชาติก็ให้ตั้งจิตอธิษฐานว่าเราจะอยู่เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม เราจะไม่ทําอะไรใน ด้านที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ แต่เราจะพร้อมใจกันเสียสละเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ประเทศชาติ คิดอะไร พูดอะไร ทําอะไรก็ต้องคิดในทางที่จะให้เป็นประโยชน์ พูดในทางที่เกิดประโยชน์ ทําในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติของเรา ให้รัก ผู้อื่นให้มากกว่าตัว ให้เสียสละเพื่อผู้อื่นในทุกแง่ทุกมุมแล้วเราจะสบายใจ คนเรานั้นมีความสุขเมื่อให้ แต่มีความทุกข์เมื่อคิดจะเอา พอคิดจะเอาแล้วกลุ้มใจ จะเอาอย่างไร โดยวิธีใด สักเท่าใด กลุ่ม แต่พอคิดให้ แล้วสบายใจ คนใดอยู่ด้วยใจเมตตา คิดจะให้อะไร ๆ แก่เพื่อนมนุษย์ คนนั้นมีอายุมั่นขวัญยืน ผิวพรรณ ผ่องใส หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ จิตสงบ มั่นคง ดับจิตตายจากโลกนี้ไปเกิดในพรหมโลก เพราะมีตนเป็นพรหมอยู่แล้ว อันนี้ คือธรรมะที่ชาติต้องการ ประเทศต้องการ

คุณปาล พนมยงค์ เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกได้ทําหน้าที่เป็นบุตรที่ดีของ พ่อแม่ เป็นสหายที่ดีของเพื่อน เป็นศิษย์ที่ดีของครู เป็นพุทธบริษัทที่ดีของพระ พุทธศาสนา และใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือนตามความสามารถที่ตนจะทําได้ เวลานี้คุณปาลจากเราทั้งหลายไปแล้ว เหลืออยู่แต่คุณงามความดีเท่านั้น เรารักคุณ ปาล เราพอใจในคุณปาล ก็ช่วยกันถ่ายทอดอุปนิสัย ความเสียสละ ความอ่อนน้อม ถ่อมตน ความกตัญญูกตเวที

การทําจริงในสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความสุขแก่ผู้อื่น มาไว้ในจิตใจของเรา คุณปาลก็ไม่ได้ตายจากเราไป ตายไปเพียงแต่ร่างกายอันเป็น เปลือก แต่เนื้อนั้นได้มาอยู่ในใจของมิตรทั้งหลาย ขอให้ทุกคนที่เป็นมิตรเป็นสหาย ถ้าคิดถึงคุณปาลก็ช่วยกันทําสิ่งที่ เป็นประโยชน์ เป็นความสุขแก่ส่วนรวมอยู่ด้วยคุณงามความดี อย่าเป็นทาสของ อะไร ๆ ซึ่งทําให้เราเสียหายตกต่ําเป็นอันขาด ชีวิตเราจะมีค่าอย่างนี้ ในที่สุดนี้ก็เชื่อว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจแล้วว่าเท่าที่อาตมากล่าวมาก็เพื่อ เป็นเครื่องอนุโมทนาน้ําใจอันงามของท่านทั้งหลายที่มีความรักความเคารพในบิดา มารดาคุณปาล และคิดถึงคุณปาล ได้มาร่วมประชุมกันในวันนี้อย่างคับคั่งมากมาย คงจะทําให้คุณแม่ซึ่งนั่งอยู่ที่นี้สบายใจ

ถ้าภาพนี้ปรากฏไปถึงบ้านหลังน้อยที่ปารีส คุณพ่อก็สบายใจ ขณะนี้ท่านคงจะส่งจิตมาที่นี้ด้วยเหมือนกัน แม้ตัวจะไม่มา แต่ใจคงมา คิดถึงเหตุการณ์ในขณะนี้ ขอให้เราทั้งหลายที่ได้มาประชุมกันเพื่อไว้อาลัยแก่คุณปาล พนมยงค์ ที่ได้ถึงแก่กรรมไปในวันนี้ได้ยืนขึ้น ขอเชิญทุกท่านยืนขึ้น ทําจิตให้สงบ แผ่ส่วนบุญ ที่เราได้พร้อมใจกันกระทํานี้ให้แก่คุณปาลเป็นเวลา 1 นาที เชิญนั่งได้ อาตมาได้กล่าวธรรมกถามาก็สมควรแก่เวลา ขออํานาจกุศลบุญราศีที่ มารดาบิดาญาติมิตรทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาประชุมกระทําในครั้งนี้จงสําเร็จแก่คุณปาล พนมยงค์ ทุกประการ และขออวยพรให้ท่านทั้งหลายเจริญงอกงามในธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทั่วกันทุกท่านทุกคน เทอญ

 

 

ภาคผนวก

 

ชีวประวัติย่อของนายปาล พนมยงค์

 


ปาล พนมยงค์ (12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 - 9 กันยายน พ.ศ. 2524)

 

นายปาล พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2474 ก่อนการอภิวัฒน์สยามเพียงไม่นาน ณ บ้านป้อมเพชร์ของมหาอำมาตย์ตรี พระยาชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา (ขำ ณ ป้อมเพชร์) กับคุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดา ซึ่งเป็นคุณตากับคุณยาย เดิมชื่อจริงนั้นสะกดว่า ปาน เพราะแรกเกิดมีปานแดงที่หน้าผาก แต่ต่อมาปานได้หายไปจึงเปลี่ยนการสะกดชื่อเป็น “ปาล” ที่มีความหมายว่าการปกครอง พูนศุขผู้เป็นมารดาได้เล่าถึงปาลในวัยเยาว์ที่เกิดในช่วงการอภิวัฒน์ไว้ว่า

 

พออายุได้ 6 เดือน พ่อก็จากบ้านไปทําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จึงเป็นการจากกับลูกครั้งแรกเนื่องจากพ่อได้จากบ้านไปตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิถุนายน

ในวันที่พ่อจากไป ลูกซึ่งเป็นเด็กไม่เคยกวนเลย แต่ในตอนดึกคืนนั้นได้ส่งเสียงร้องไห้เป็นเวลานานโดยไม่มีสาเหตุ จนคุณตาคุณยายซึ่งอยู่บนตึกใหญ่ได้ยินและได้มาถามว่าเป็นอะไร แม่เองใจไม่ดี เป็นห่วงพ่อ เพราะพ่อไม่ได้บอกความจริง เพียงแต่บอกว่าจะไปหาคุณปู่ที่นา อําเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อพ่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้วไม่ได้กลับบ้าน ทํางานอยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม…”[1]

 


ปาล พนมยงค์ กับ ลลิตา พนมยงค์ พี่สาว ราว พ.ศ. 2475

 


ปาล พนมยงค์ กับพี่น้อง และบิดา-มารดา ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ พ.ศ. 2523

 

ปาลมีพี่น้องทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ลลิตา พนมยงค์, ปาล พนมยงค์, สุดา พนมยงค์, ศุขปรีดา พนมยงค์,[2] ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล[3] และวาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์[4] โดยเริ่มเรียนระดับชั้นประถมที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องไปพำนักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนเมื่อสงครามสงบลงก็ได้ย้ายกลับมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมปริญญาแห่งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 8 หรือเรียกกันว่ารุ่น 500 ซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมฯ แห่งนี้[5]

ในระยะนี้เองได้เกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยการเมืองไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและเกิดความอยุติธรรมต่อครอบครัวของปรีดี-พูนศุข ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของปาลหลายด้านในเวลาต่อมา

ระหว่างนี้ปาลได้เข้าศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมกันนั้นยังได้สอบแข่งขันเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศด้วย และได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนจัตวา อันดับ 7 หากมีผู้ทรงอำนาจสมัยนั้นประท้วงมายังกระทรวงการต่างประเทศว่า “ทำไมรับลูกชายหลวงประดิษฐ์ฯ เข้าทำงาน” ซึ่งทางกระทรวงฯ ต้นสังกัดได้ตอบกลับไปว่าปาลเข้ามาทำงานด้วยการสอบแข่งขันได้[6]

 


ภาพจากซ้าย ปาล พนมยงค์, อารีย์ อิ่มสมบัติ, สิงหชัย บังคดานรา และสัมผัส พึ่งประดิษฐ์

 

แม้ว่าชีวิตของปาลช่วงแรกรุ่นจะเริ่มต้นด้วยความยากลำบากและความอยุติธรรมที่ได้รับจากสังคมแต่ “ใครๆ ก็รักปาล” เช่นที่โอฬาริก พยัคฆาภรณ์ ประธานนักเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นที่ 8 เพื่อนสนิทร่วมรุ่นได้เล่าถึงอุปนิสัยของปาลที่ทำให้เพื่อนรักว่า

ปาลเข้ามาเป็นนักเรียนห้องคิงด้วยการสอบแข่งขัน มิใช่ด้วยการฝาก ขณะนั้นท่านบิดาของปาล คือท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ นอกจากจะเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองแล้ว ท่านยังเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยด้วย

นักเรียนรุ่นเดียวกันซึ่งมาจากทุกสารทิศของประเทศต่างเฝ้ามองดูปาล ปรากฏว่าปาลมิได้ทำตัวเหมือนลูกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ตรงกันข้าม ปาลประพฤติตนเยี่ยงนักเรียนทั่วๆ ไปคนหนึ่งเท่านั้น แม้ในด้านอาหารการกิน…ปาลก็มาซื้อรับประทานเหมือนนักเรียนทุกคน การกระทำของปาลสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนนักเรียนเตรียมรุ่นเดียวกัน ตลอดครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง…”

 


ปาล พนมยงค์ ขณะขึ้นศาลในข้อหาเป็นขบถภายในและภายนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2495

 

กระทั่งปาลต้องเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับการเมืองโดยตรงจากการถูกจับกุมในข้อหาเป็นขบถภายในและนอกราชอาณาจักรในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ภายหลังการรณรงค์เรียกร้องสันติภาพ หรือ ต่อมารู้จักกันในนามคดี “กบฏสันติภาพ” ซึ่งมีขบวนการสังคมนิยมไทยเป็นแกนหลักและประกอบด้วยขบวนการกู้ชาติทั้งยังมีแนวร่วมนักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา และประชาชนจนทำให้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม หวาดวิตกการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างยิ่ง[7] จึงจับกุมทั้งนักศึกษา นักคิดนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ อาทิ สมัคร บุราวาศ, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สัมผัส พึ่งประดิษฐ์, ประจวบ อัมพะเศวต และบุคคลที่ใกล้ชิดศรัทธาปรีดี อาทิ สุภัทร สุคนธาภิรมย์ และสุพจน์ ด่านตระกูล[8] รวมถึงได้จับกุมพูนศุข พนมยงค์ ด้วย[9]

พูนศุขเล่าถึงการจับกุมปาลในวันดังกล่าวว่า

ในวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลาเช้าตรู่ ระหว่างที่ลูกลาป่วยพักอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ตํารวจได้มาล้อมบ้านสาธร เข้าค้นบ้านและจับลูกซึ่งกําลังหลับอยู่ นําไปขังไว้ที่สถานีตํารวจสามยอดในข้อหากบฏ ลูกไม่ได้แสดงอาการหวาดกลัวแต่ประการใด[10]

 


บัตรผู้ต้องหาของปาล พนมยงค์ ในข้อหาขบถภายในและนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2495

 

ช่วงเวลา 5 ปีที่ปาลถูกคุมขังอยู่ในคุกบางขวางพร้อมกับเพื่อนสนิทนั้นต้องทำทุกอย่างเช่นนักโทษทั่วไปแม้แต่การเทอุจจาระ โอฬาริกเล่าถึงการสนทนากับปาลในคุกว่า “ปาลกล่าวว่า ปาลถูกจับเข้าคุกเพราะปาลเป็นลูกของพ่อ[11] ส่วนพูนศุขนั้นถูกคุมขังอยู่สามเดือนแล้วได้รับการปล่อยตัวเพราะอัยการไม่สั่งฟ้องและแทบจะไม่มีการสอบสวน นอกจากถามว่าปรีดีอยู่ที่ใดเป็นคำถามสำคัญ[12]

 


ภาพจากซ้าย ปาล พนมยงค์ สวมกอดพูนศุข พนมยงค์ มารดาซึ่งเดินทางกลับจากประเทศจีน
ณ สนามบินดอนเมือง เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2500

 


ปริญญาบัตรนิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของปาล พนมยงค์

 

จนในที่สุดภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนักโทษการเมืองเนื่องในวาระ 25 พุทธศตวรรษ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500[13] จำเลยทุกคนในคดีกบฏสันติภาพจึงถูกปล่อยตัว และปาลได้กลับมาเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2506

9 กันยายน พ.ศ. 2524 เป็นวันที่ ‘ปาล พนมยงค์’ บุตรชายคนโตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์[14] ได้จากไปอย่างสงบ

ชีวิตของปาลมีแง่มุมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้หวนคะนึงถึงรวมทั้งมีแง่มุมความดี ความงาม ความอยุติธรรมที่ได้รับนับตั้งแต่แรกเกิดและโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2490

 

หนังสืออนุสรณ์งานศพ :

  • คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525.

 


[1] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 65-66.

[2] สมรสกับจีรวรรณ พนมยงค์ วรดิลก ซึ่งเป็นน้องสาวของสุวัฒน์ และทวีป วรดิลก

[3] สมรสกับชาญ บุญทัศนกุล

[4] สมรสกับสุรพันธ์ สายประดิษฐ์ บุตรชายของกุหลาบ สายประดิษฐ์

[5] พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411 

[6] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 67.

[7] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500) พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2553), หน้า 289-295.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 300.

[9] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, (2532). กบฏสันติภาพ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 165-166.

[10] พูนศุข พนมยงค์. (9 กันยายน 2563). ชีวิตของปาล พนมยงค์. สืบค้นจาก https://pridi.or.th/th/content/2020/09/411 

[11] ปรีดี พนมยงค์, คำไว้อาลัย กับประวัติ และสังคมปรัชญาเบื้องต้น ใน อนุสรณ์ นายปาล พนมยงค์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, 2525. หน้า 53.

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 58.

[13] วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, (2532). กบฏสันติภาพ. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า 264.

[14] สกุลเดิมคือ ณ ป้อมเพชร์