ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

การฟ้องข้ามประเทศครั้งแรกของปรีดี-พูนศุข พนมยงค์

26
ธันวาคม
2567

Focus

  • บทความนี้เสนอเรื่องการฟ้องร้องคดีความครั้งแรกของนายปรีดี พนมยงค์ ช่วงที่ลี้ภัยทางการเมืองในจีนคือ คดีความเกี่ยวกับงานเขียนสารคดีเรื่องเก้าปีในปักกิ่งของ น. ประภาสถิตในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยผู้เขียนบันทึกประสบการณ์จากการพำนักในจีนกับครอบครัวของนายปรีดีประมาณ 2-3 ปี

 

“ให้งดจำหน่ายหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๗ ฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๐๗ ฉบับลงวันที่ ๘ พฤจิกายน ๒๕๐๗ และฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ และ และให้งดจำหน่ายหนังสือ ‘เก้าปีในปักกิ่ง โดย น. ประภาสถิต’ เสีย

คำพิพากษาศาลแพ่ง วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑
คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๘ ๒๔๓๒/๒๕๑๐
คดีหมายเลขแดงที่ ๒๕๓๕-๒๔๓๖/๒๕๑๑

 

“ตั้งแต่ออกหนังสือพิมพ์ทั้ง ๓ ฉบับมา หนังสือพิมพ์ชาวกรุงไม่เคยถูกโจทก์หรือสามีโจทก์ฟ้องเลย ส่วนหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันเพิ่งถูกสามีโจทก์ฟ้องเป็นครั้งแรก และหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เพิ่งถูกโจทก์ฟ้องเป็นครั้งแรกในคดีทั้งสองนี้”[1]

หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช
วันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

 


สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม พ.ศ. ๒๕๑๓

 

จากทั้งสองย่อหน้าข้างต้นคือเนื้อหาจากข้อพิพาทในศาลขณะที่อาจารย์ปรีดียังลี้ภัยการเมืองอยู่ในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ ด้านท่านผู้หญิงเพิ่งย้ายข้ามมาประเทศฝรั่งเศสเพื่อดำเนินการแต่งตั้งตัวแทนฟ้องร้องไปยังศาลไทย ภายใต้บริบทโลกยามสงครามเย็นกำลังคุกรุ่นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และประเทศจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๙) ซึ่งเป็นทศวรรษสุดท้ายแห่งบั้นปลายชีวิตของประธานเหมา ก่อนท่านรัฐบุรุษอาวุโสจะย้ายข้ามมายังประเทศฝรั่งเศสในช่วงวันเกิดครบรอบ ๗๐ ปีเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๓

การฟ้องครั้งนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ท่านผู้หญิงพูนศุข (โดยสามีทำหนังสือยินยอมอนุญาตให้ฟ้อง[2]) กระทำต่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และสำนักพิมพ์สยามรัฐ ก่อนที่เมื่อครอบครัวพนมยงค์จะดำเนินการฟ้องร้องจากประเทศเสรีนิยมนับจากนั้นอีกหลายคดี เช่น ทันทีที่ย้ายมา ๒ คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ ๗๒๓๖/๒๕๑๓ ฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และพวก ต่อบทความ “แง่คิดจากข่าว โดย ส.ธ.น.” และ “ป๋วย - ปรีดี ??? โดย ส.ธ.น.” และ หมายเลขดำที่ ๑๑๙/๒๕๑๔ ฟ้องหนังสือพิมพ์หลักเมืองสมัยไทยเดลี่ ฉบับลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๑๓ หน้า ๘ ลงข้อความซึ่งเขียนโดยจำเลยที่ ๒ ใช้นามปากกาว่า ขวานทอง ซึ่งทั้งสองสำนักพิมพ์ต้องยอมตีพิมพ์ข้อความ “ขออภัย” ท่านรัฐบุรุษอาวุโสในท้ายที่สุด

ต่อจากนั้นยังดำเนินการฟ้องร้องผู้เขียนและสำนักพิมพ์อีก ๓ เล่ม คือ คดีหมายเลขดำที่ ๔๒๒๖/๒๕๒๑[3] จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ ของ รอง ศยามานนท์ จัดพิมพ์โดยบริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, คดีหมายเลขดำที่ ๘๖๑๒/๒๕๒๑ และ คดีแดงหมายเลขแดงที่ ๕๘๑๐/๒๕๒๒[4] จากหนังสือ “ในหลวงอานันท์กับคดีลอบปลงพระชนม์” พิมพ์ครั้งแรกและครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๕๑๗ และกระทำผิดซ้ำอีกโยพิมพ์ครั้งที่ ๓ ใน พ.ศ. ๒๕๒๐ ของ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ จัดพิมพ์โดย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศึกษาสัมพันธ์ (จำเลยที่ ๓) และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประพันธ์สาส์น (จำเลยที่ ๔), จนถึง คดีหมายเลขดําที่ ๘๕๘๖/๒๕๒๓3[5] จากหนังสือ “ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า” พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ ของ ประยูร ภมรมนตรี โดยยื่นฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ (จำเลยที่ 1) ห้างหุ้นส่วนจำกัดบรรณกิจเทรดดิ้ง (จำเลยที่ ๒)

 


นายปรีดี พนมยงค์ และครอบครัวช่วงลี้ภัยในสาธารณรัฐประชาชนจีน
จากซ้ายไปขวาประกอบด้วย (แถวหน้า) ปาล พูนศุข ปรีดี (แถวหลัง) วาณี สุดา ดุษฎี ศุขปรีดา

 

ในท้ายที่สุดทั้ง ๓ คดีสิ้นสุดลงด้วยการประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลย แล้วต้องประกาศขอขมานายปรีดี พนมยงค์  รวมถึงสั่งเรียกเก็บหนังสือทั้ง ๓ เล่มออกจากแผงทั้งหมด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกรณีหนังสือทั้ง ๓ เล่ม ๒ เล่มแรกได้มีฟ้องร้องเจาะจงจำเลยที่ ๑ ไปยังผู้แต่งโดยตรง คือทั้ง รอง ศยามานนท์ และ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ แต่กับเล่มที่ ๓ อาจารย์ปรีดีกลับเลี่ยงรวมผู้แต่งในฐานะจำเลย โดยเจาะจงไปที่กระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้ให้รางวัลเป็นจำเลยที่ ๑ แทน สันนิษฐานได้ว่าเนื่องจาก ประยูร ภมรมนตรี เป็นสหายผู้ร่วมริเริ่มก่อการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ ร่วมกันมา ดังปรีดีเคยตอบสัมภาษณ์กับ อรุณ เวชสุวรรณ ก่อนถึงอสัญกรรม ๒ ปี เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า

“คุณคงอ่านจบแล้วซิ...หนังสือเล่มนี้ของคุณประยูร กระทรวงศึกษาถึงกับให้รางวัลเป็นหนังสือดีในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของชาติถึงกับให้รางวัลหนังสือที่ไม่มีมูลความจริงเช่นนี้...ผมกำลังฟ้องอยู่ คุณไม่ทราบหรือ...ผ่านมา ๒ ศาลแล้ว ผมน่ะไม่อยากจะทำหรอก เรามันแก่กันแล้ว แต่ถ้าปล่อยไปคนรุ่นหลังไม่รู้ความจริงอ่านเข้า ก็รู้ผิด ๆ ไป จึงต้องการทำให้ถูกต้อง”[6]

 

“เก้าปีในปักกิ่ง” โดย น.ประภาสถิต เรื่องเล่าปฐมบทแห่งการฟ้อง 

 


“เก้าปีในปักกิ่ง” โดย น.ประภาสถิต

 

คดีทั้งหมดข้างต้นล้วนดำเนินการภายหลังอาจารย์ปรีดีย้ายมาประเทศฝรั่งเศสแล้ว ทั้งนี้ ๓ ปีก่อนหน้านั้นขณะยังลี้ภัยการเมืองอยู่ในประเทศสาธารณรัฐราษฎรจีน

 


คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๐

 

คดีแรกสุดที่ครอบครัวพนมยงค์ได้ยื่นฟ้องร้องจากต่างประเทศต่อศาลแพ่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ (คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๐) คือคดีล่วงละเมิดหมิ่นประมาทนำโดยท่านผู้หญิงพูนศุข ในฐานะโจทก์ ยื่นฟ้องในข้อหาทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง เกียรติคุณ ต่อ นางนงเยาว์ ประภาสถิต หรือ นางนงเยาว์ วัฒนโกเมน) ในฐานะจำเลยที่ ๑ บริษัทสยามรัฐ จำกัด เป็นจำเลยที่ ๒ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นจำเลยที่ ๓ นายประหยัด ศ.นาคนาท เป็นจำเลยที่ ๔ และ นายสำรวย สิงหเดช เป็นจำเลยที่ ๕

 


คดีหมายเลขดำที่ ๒๔๓๒/๒๕๑๐

 

ตามติดด้วยการฟ้องคดีความในท้ายเดือนเดียวกันเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ (คดีหมายเลขดำที่ ๒๔๓๒/๒๕๑๐) ต่อ นางนงเยาว์ ประภาสถิต หรือ นางนงเยาว์ วัฒนโกเมน ในฐานะจำเลยที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่พิทยา จำเลยที่ ๒ และ นายจิตต์ แพร่พานิช ผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแพร่พิทยา จำเลยที่ ๓

จำเลยที่ ๑ ในคดีทั้ง ๒ นี้คือคนแต่งเรื่อง “เก้าปีในปักกิ่ง” ด้วยการนำเรื่องนี้ทยอยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายสัปดาห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๙ จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องคดีแรก และต่อมาได้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มในชื่อเดียวกันนี้ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ จนโดนฟ้องร้องเป็นคดีที่สองของทั้งผู้แต่งและสำนักพิมพ์

 


นงเยาว์ วัฒนโกเมร หรือนามปากกา น. ประภาสถิต ผู้เขียนสารคดีการเมืองเรื่องเก้าปีในปักกิ่ง

 

ต้นเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อบุตรชายของอาจารย์ปรีดี และท่านผู้หญิง คือคุณปาล พนมยงค์ ขณะยังอยู่ประเทศฝรั่งเศสราวเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ญาติมิตรส่งหนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และหนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง บันทึกประสบการณ์ ที่ผิดหวังและขมขื่น น. ประภาสถิต” เนื้อหามีข้อความพาดพิงถึงบิดามารดา  เมื่ออ่านจบแล้วคุณปาลจึงได้ส่งต่อไปให้บุพการีทั้งคู่ที่ประเทศจีน พร้อมแนบจดหมายไปด้วย ๑ ฉบับ

เมื่อทั้งคู่ได้อ่านข้อความในหนังสือทั้งหมดนี้แล้วเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเสียหาย ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงส่งเรื่องฟ้องในฐานะโจทก์ จากเดิมประสงค์ให้นายทองดี นันทเสน สำนักความทนายความพิมลธรรมซึ่งเป็นเพื่อนของบุตรชายดำเนินคดี[7] แต่ต่อมาท่านผู้หญิงได้ทำหนังสือมอบอำนาจเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๐ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ส่งให้นายวิชา กันตามระ ยื่นฟ้องและดำเนินคดีแทน[8] (วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านผู้หญิงยังอยู่นครกวางโจว ลงชื่อเป็นพยานในหนังสือยินยอมให้ฟ้องโดยสามี หลังจากนั้นไม่นานได้ย้ายข้ามมาฝรั่งเศสก่อน ดังความในอัตชีวประวัติว่า “ดินฉันอยู่ที่กวางโจวจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงออกเดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสพร้อมกับลูกสุดา[9])

ข้อความสำคัญในคำฟ้องระบุไว้ดังต่อไปนี้

ในคดีแรก “จำเลยทั้งห้า ในคดีนี้ได้ร่วมกันกล่าวและไขข่าวแพร่หลายทางหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ในบทความชื่อ ‘เก้าปีในปักกิ่ง’ ตั้งแต่ฉบับวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๗ ถึงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๐๙ และต่อไปอีกไม่มีกำหนดจบ เป็นการกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันหลายกรรมหลายวาระซึ่งเป็นทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียงเกียรติคุณทางทำมาหาได้และทางเจริญของโจทก์”

และคดีที่ ๒ “แต่โดยที่จำเลยไขข่าวแพร่หลายใส่ความโจทก์ไม่รู้จักจบ อีกทั้งจำเลยที่ ๑ ได้สมคบกับสำนักพิมพ์แพร่พิทยารวบรวมบทความนั้นตอนหนึ่งพิมพ์เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่ง เพื่อละเมิดและหมิ่นประมาทโจทก์อีก และยังจะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มตอนต่อ ๆ ไป

ฉะนั้นโจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเพื่อขอความกรุณาศาลพิจารณาคดีแพ่งก่อนคดีอาญาเฉพาะข้อความที่จะเลยละเมิด และหมิ่นประมาทโจทก์ตามกรรมและวาระที่โจทก์จะกล่าวในข้อ ๔ และ ข้อ ๕ โจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลว่า ข้อความที่จำเลยละเมิดและหมิ่นประมาทโจทก์โดยเฉพาะนั้นมีมากมายหลายตอน ถ้าโจทก์จะนำมาเสนอต่อศาลทุก ๆ ตอนก็จะทำให้เรื่องรกโรงศาลและเสียเวลาของศาลที่จะพิจารณา ฉะนั้นในคดีนี้โจทก์จึงขอฟ้องเฉพาะข้อความที่เห็นว่าไม่ยุ่งยากและเสียเวลาของศาลในการพิจารณา”[10]

 

น.ประภาสถิต คือใคร?

 


นงเยาว์ วัฒนโกเมร หรือนามปากกา น. ประภาสถิต

 

จำเลยที่ ๑ ผู้แต่งหนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง” นับเป็นนักประพันธ์สตรีผู้มีชื่อเสียงยิ่งของสังคมไทย ภายในหนังสืออนุสรณ์งานศพของเธอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ชื่อเล่มว่า “นงเยาว์รำลึก” ได้บันทึกสังเขปประวัติไว้ว่า

 


หนังสืออนุสรณ์งานศพ นงเยาว์ วัฒนโกเมร หรือนามปากกา น. ประภาสถิต

 

“นงเยาว์ วัฒนโกเมร เกิดในสกุล ประภาสถิต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๒ ที่บ้านถนนเยาวราช พระนคร อันเป็นเคหะสถานของคุณตา ขุนรัตนสมบัติ และ คุณยายนาก รัตนสมบัติ เป็นบุตรคนที่สาม ของพระภักดีภูวดล (ใหญ่ ประภาสถิต) และนางภักดีภูวดล (พลบ ประภาสถิต)

นงเยาว์ได้รับการศึกษา และอบรมตามจารีตประเพณีของสตรีไทยในสมัยนั้น เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนศรีจิตสง่า

เธอมีความสนใจในการเขียนหนังสือ ได้แปลหนังสือโนเวลของเซ่อร์อาเธอร์โคแนนดอยล์ ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า “ความลึกลับของหอคลุมเบอร์” ลงเป็นครั้งแรกในชีวิตการเขียนของเธอ ในหนังสือเสนาศึกษา และเผยแพร่วิทยาศาสตร์ ประมาณในพุทธศักราช ๒๔๖๘ ต่อมาได้เข้าทำงานที่สำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาชาติเป็นแห่งแรก

เธอได้จดทะเบียนสมรสกับ นายมนูญ วัฒนโกเมร เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๕ มีบุตรด้วยกันสามคน[11]

ในอนุสรณ์เล่มเดียวกันนี้ มนูญ วัฒนโกเมร ซึ่งต่อมาได้แต่งงานใหม่ก็ได้เขียนถึงประวัติของอดีตภริยาไว้ว่า

“คุณนงเยาว์ ประภาสถิต เป็นทั้งนักประพันธ์ และ นักหนังสือพิมพ์ เธอได้เริ่มงานประพันธ์อยู่กับบ้านก่อนจนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ จึงได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ ในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รายวัน “ประชาชาติ” ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่สี่แยกหลานหลวง มีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบรรณาธิการ ขณะที่ทำ งานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติ” นี้ เธอได้เขียนเรื่องยาวลงเป็นรายวัน เขียนเรื่องสั้นเป็นบางครั้งบางคราวใน “ประชาชาติรายสัปดาห์” ซึ่งมีคุณมาลัย ชูพินิจ เป็นบรรณาธิการ และเรื่องให้คำแนะนำอบรมแก่กุลสตรีในนามของ “บัวหลวง” ด้วย

ใน พ.ศ. ๒๔๘๑ เธอได้ย้ายไปประจำกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ประชามิตร” ซึ่งเปิดใหม่ที่สี่แยกบางขุนพรหม จากนั้นได้ย้ายไปทำที่หนังสือพิมพ์ “ประชามิตร-สุภาพบุรุษ” และได้ทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระหว่างต้นสงครามโลกครั้งที่สอง ระยะนี้เธอได้เขียนเรื่องในนามปากกาใหม่อีกนามหนึ่ง คือ “รสสุคนธ์”

หลังสงคราม เธอได้ลงมือทำหนังสืออย่างจริงจัง โดยร่วมกับมิตรสหาย ออกหนังสือพิมพ์ “มติราษฎร์” เมื่อราวปี ๒๔๘๗ และเมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นล้มแล้ว เธอก็ได้มาออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “พิมพ์วัณณ์” ที่สี่แยกแม้นศรี

 


สารคดีเรื่องเก้าปีในปักกิ่ง ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

 

ครั้นมาในราวปลาย พ.ศ. ๒๔๙๒ เธอได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่นครหลวง “ปักกิ่ง” เป็นเวลา ๙ ปี และเมื่อกลับมาก็ได้เขียนสารคดีเรื่อง “เก้าปีในปักกิ่ง” ลงใน “สยามรัฐ” สัปดาห์วิจารณ์

งานในบั้นปลายของเธอก็คือ เป็นผู้รับภาระในการจัดทำหนังสือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และได้เขียนเรื่องราวลงเป็นประจำในหนังสือฉบับนี้ด้วย

ในขณะเดียวกัน เธอได้มีส่วนช่วยทางราชการโดยปริยาย โดยเป็นผู้บรรยายวิชาสังคมในประเทศจีนในโรงเรียน สจ. กรม ยุทธการทหารเรือ, โรงเรียนเสนาธิการทหาร, วิทยาลัยการทัพ บก และโรงเรียน รปภ. สำนัก ผบก. ทหารสูงสุด

เธอได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวตลอดมา จนกระทั่งได้ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง อันเป็นสาเหตุให้ถึงแก่มรณะกรรมเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒”[12]

สุดท้ายในเนื้อหาของหนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง” ที่เป็นปัญหาฟ้องร้องกันนี้ น.ประภาสถิตยังได้กล่าวถึงอัตชีวประวัติไว้อย่างย่นย่อรวมถึงทัศนะเดิมต่ออาจารย์ปรีดีไว้ด้วยเช่นกันว่า

“เล่าประวัติย่อให้ฟังว่าเป็นลูกกำพร้า มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุยังไม่ชนขวบ คุณยายตามใจมาก บิดาก็เอ็นดูและสงสารมาก ว่ากำพร้าแม่มาแต่เล็ก พี่ ๆ โดยเฉพาะพี่ชายก็อย่างเดียวกับบิดา ข้าพเจ้าอยู่ในความอุปถัมภ์ดูแลของคุณยายตั้งแต่มารดาสิ้นชีวิตจนกระทั่งอายุสิบกว่าขวบ ได้เป็นแม่บ้านให้บิดาตั้งแต่อายุสิบสาม จึงเคยตัวต่อการถูกตามใจและมีอำนาจตามประสาลูกผู้หญิงในบ้าน เรียกว่าเป็นพวกกดขี่ไม่ใช่พวกถูกกดขี่ แต่เดิมความคิดทางการเมืองก็ไม่มีอะไร ได้แต่อ่านหนังสือที่เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ มาก ก็มีความรู้สึกในทางชาตินิยม แต่ก็ไม่ควรจะถูกถือว่าเป็นความผิด เพราะใคร ๆ ทุกคนย่อมรักชาติบ้านเมืองของตนเป็นธรรมดา

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ความรู้สึกนึกคิดทางการเมืองเริ่มตื่นตัว เข้าข้างฝ่ายพันธมิตร ไม่ชอบฝ่ายอักษะ ยิ่งตอนสงครามเอเซียบูรพา เมืองไทยถูกแสนยากรญี่ปุ่นยึดครองเป็นฐานทัพ ก็ยิ่งเกลียดพวกอักษะมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มสงครามในยุโรปแล้ว ที่ในตอนนั้นมีความรู้สึกเหมือนคนไทยส่วนหนึ่ง คือมองไปที่หลวงประดิษฐ์ฯ ด้วยความนิยม และฝากความหวังในกาลข้างหน้าของเมืองไทยไว้กับหลวงประดิษฐ์ฯ ไม่ชอบจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้ว่าจะไม่ชอบฝรั่งเศสในอดีต แต่ตอนสงครามอินโดจีนในครั้งนั้นก็คิดว่าตอนนั้นถ้าเราเดินแต้มการเมืองดี ๆ และการทูตดี ๆ แล้วฝรั่งเศสก็คงจะคืนมณฑลบูรพาให้...

ข้าพเจ้าจบลงด้วยการขอบพระคุณนายปรีดีว่า ที่ได้ดำเนินงานเสรีไทย อันยังผลให้ประเทศไทยได้รอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงครามไปได้นั้น เขาควรจะได้รับความขอบคุณและนึกถึงบุญคุณอยู่มากเหมือนกัน[13]

 

“เก้าปีในปักกิ่ง” หนังสือในบริบทสงครามเย็น

“นายแอนดรูเพส เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกันมาติดต่อให้ข้าฯ เขียนเรื่อง ๙ ปีในปักกิ่ง ข้าฯ เขียนการเดินทางจากเมืองไทย ถึงเทียนสิน เพียงบทเดียว ได้เงิน ๑๗,๐๐๐ บาท แต่เขียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐนั้น ข้าฯ ได้ค่าเขียนตอนละ ๓๐๐ บาท เมื่อก่อนนี้หนังสือพิมพ์สยามรัฐ มีนโยบายทางการเมือง ไม่ตรงกับสามีโจทก์เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ตรงกันอยู่อีก”[14]

ข้อความข้างต้นคือคำให้การสำคัญที่ น.ประภาสถิต แถลงไว้ในศาล  

ภายหลังความพยายามกลับเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาธิปไตยสมบูรณ์ พ.ศ. 2489 หรือในอีกมุมหนึ่งคือมาช่วงชิงอำนาจคืนของปรีดี เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๒ แต่พ่ายแพ้จนถูกฝ่ายรัฐเรียกว่ากบฏ ซึ่งปลายปีเดียวกันนั้นกองทัพแดงของเหมา เจ๋อตงประกาศชัยชนะที่เทียนอันเหมินเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๒ และปรีดีได้ไปปรากฏตัวในเหตุการณ์ เดือนถัดมา น.ประภาสถิต ได้เดินทางไปยังประเทศจีนทางเรือโดยแวะฮ่องกงและถึงประเทศจีนที่เทียนสินช่วงกลางเดือนธันวาคม และมีเวลาพำนักอยู่กับอาจารย์ปรีดีและคณะช่วงสั้น ๆ ก่อนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีนเป็นระยะเวลาอีกเกือบ ๙ ปี

๓ ปีให้หลัง รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.๒๔๙๕ ด้านสหรัฐอเมริกาในปีถัดมาก็เข้าสู่ยุคสมัยของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ( ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๖-๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๔)  ความหวาดหวั่นต่อทฤษฎีโดมิโน (the Domino theory)  ยังผลให้สหรัฐอเมริกาผลักดันนโยบายเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านการก่อตั้ง USIA (the United States Information Agency) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ดำเนินงานเกี่ยวกับการทูตสาธารณะที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในโลก ดำเนินการด้านการศึกษาและวัฒนธรรม (สงครามจิตวิทยาโฆษณาชวนเชื่อ) ในโลกที่สามผ่านสำนักงานท้องถิ่นในประเทศเหล่านี้เกือบ ๓๐๐ แห่งทั่วโลก ภายใต้องค์กร “สำนักข่าวสารอเมริกัน” USIS (the United States Information Service)[15]

ระยะเดียวกันนั้น รัฐบาลจอมพล ป. ได้จับนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้าจำนวนมากเข้าคุกในกรณีที่เรียกว่ากบฏสันติภาพ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๕ ซึ่งรวมทั้งนายปาล พนมยงค์ บุตรชายของอาจารย์ปรีดี การยัดข้อหาคอมมิวนิสต์เข้าขั้นเลวร้ายขึ้นเมื่อจอมพลสฤษดิ์ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการโค่นล้มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงเมื่อเย็นวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ซ้ำยังรัฐประหารตัวเองด้วยการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์และควบคุมตัวปัญญาชนจำนวนมากสู่คุกลาดยาว โดยเฉพาะคนไทยหลายคนที่ได้เคยเดินทางไปประเทศจีน ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เลือกลี้ภัยการเมืองในประเทศจีนกระทั่งเสียชีวิตในดินแดนหลังไม้ไผ่นี้ในอีก ๑๗ ปีต่อมา

ในทางกลับกัน สำหรับ น.ประภาสถิต การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มสฤษดิ์กลับเป็นโอกาสให้เธอได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิด้วยหลากหลายเลื่อนไข หนึ่งในนั้นเธอเคยให้การว่า “ข้าฯ เป็นญาติกับ พลเอกประภาส (จารุเสถียร-ผู้เขียน)”[16]และให้ข้อมูลในการเดินทางกลับครั้งจอมพลถนอมยังเป็นนายรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ไว้ว่า

“ใน พ.ศ. ๒๕๑๐ (คงพิมพ์ผิดจาก ๒๕๐๑) ข้าฯ ติดต่อทางจดหมายมายังพลเอกหลวงสวัสดิ์รณรงค์ลูกพี่ลูกน้อง ขอกลับเมืองไทย พลเอกหลวงสวัสดิ์ฯ สั่งนายเจริญ กนกรัตน์ นักหนังสือพิมพ์ไปว่า ให้ข้าฯ เขียนบอกไปว่า สามีโจทก์ (คือ ปรีดี - ผู้เขียน) ทำอะไรบ้าง แล้วจะให้กลับเมืองไทยเร็ว ๆ ข้าฯ จึงมีหนังสือถึงนายสังข์ พัธโนทัย ขอให้หาหนังสือเดินทางให้ด้วย...”[17]

กระทั่งเมื่อได้ตีพิมพ์หนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ใบหุ้มปกของหนังสือเล่มนี้บรรยายเหตุการณ์ช่วงที่เธอเดินทางไปจีนจนถึงได้กลับมาเมืองไทยไว้ว่า

“น. ประภาสถิต ไปประเทศจีนเพื่อเข้าประชุมสตรีเอเชีย (Asian Women’s Conference) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ และเนื่องจากที่ไม่สามารถจะเดินทางกลับได้ จึงได้ศึกษาวิชาปรัชญา, การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่นั่น ตลอดเวลา ๘ ปีเศษ เธอได้หนังสือเดินทางจากรัฐบาลไทยเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๐ และได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๐๑ โดยได้รับความเมตตาเป็นพิเศษ จากรัฐบาลในสมัย จอมพลถนอม กิติขจร เป็นนายกฯ ครั้งแรก

เมื่อกลับจากประเทศจีน คุณมนูญได้ไปรับจำเลยที่ ๑ ที่สนามบิน และ น.ประภาสถิตก็ได้ไปให้การกับตำรวจสันติบาล อย่างไรก็ตามคุณมนูญแจ้งว่าได้มีภริยาใหม่แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๕ จึงแยกกับ น.ประภาสถิตโดยไม่ได้จดทะเบียนหย่า[18]

คุณลุงคำสิงห์ ศรีนอก เคยเอ่ยถึง น.ประภาสถิต ตอนที่เพิ่งกลับมาจากประเทศจีนใหม่ ๆ ว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่บ้านเมืองเริ่มมีปัญหาจิตร ภูมิศักดิ์ โดนโยนบกช่วงเดียวกับที่ฟ้าบ่กั้นตีพิมพ์ ตอนนั้นนงเยาว์ ประภาสถิตที่เป็นนักเขียนและกวีหญิงที่มีชื่อเสียงเพิ่งกลับจากจีน และอาสาเขียนคำนำให้ ก็เกิดกลัวขึ้นมา เพราะสฤษดิ์ตอนนั้นมีอำนาจล้นฟ้าด้วย ม.17 เลยไปคุยกับคุณมาลัย ชูพินิจ คุณมาลัยเลยไปคุยกับตำรวจใหญ่ให้ เขาอ่าน ‘ไพร่ฟ้า’ แล้วเขาก็ขีดเส้นใต้ตรง อินถาสงสัยว่าคนจะเป็นเจ้าได้อย่างไร** สันติบาลเลยขอให้เก็บจากร้านอย่าวางประเจิดประเจ้อ”[19]

ด้านหน้าที่การงานหลังกลับสู่ประเทศไทย น.ประภาสถิตให้การในศาลว่า “รับงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนสังคมจีนคอมมิวนิสต์ ที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร โรงเรียนสงครามจิตวิทยาของกรมยุทธการ ทหารเรือ กับที่วิทยาลัยกองทัพบก”[20]ซึ่งในคำแนะนำตัวผู้เขียนบนใบหุ้มปกหนังสือเก้าปีในปักกิ่งได้ให้รายละเอียดเพิ่มกว่านั้นว่า

“เธอจึงได้เข้าทำงานในองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พ.ศ. ๒๕๐๒) โดยเป็นบรรณาธิการวารสารขององค์การนั้น และได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องเกี่ยวแก่คอมมิวนิสต์จากกรมตำรวจ ในการอบรมครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๖๐๐ คน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ปี ๒๕๐๗

ปัจจุบันนี้ นอกจากงานประจำในหน้าที่บรรณาธิการ “ข่าวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” แล้ว เธอได้เป็นผู้บรรยายวิชา “สังคมจีนคอมมิวนิสต์” ในโรงเรียน สจ. กรมยุทธการทหารเรือ, โรงเรียนเสนาธิการทหาร, วิทยาลัยการทัพบก และโรงเรียน รปภ. กองบัญชาการทหารสูงสุด

ต่อมาเมื่อพ.ศ. ๒๕๐๗ จึงได้เขียนเรื่อง “เก้าปีในปักกิ่ง” ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางมากจากท่านผู้อ่านทั่วประเทศไทย จนกระทั่งในต่างประเทศ ปัจจุบันงานของ น. ประภาสถิต ได้แปลเป็นภาษาเยอรมันแล้ว และจะตีพิมพ์ในเวลาต่อไป หากจะกล่าวว่า “เก้าปีในปักกิ่ง” เป็นงานชิ้นที่สำคัญของเธอก็คงจะไม่ผิด”

อนึ่ง ภายในเนื้อหาอนุสรณ์งานศพของนายมนูญ วัฒนโกเมร อดีตสามีของ น.ประภาสถิต เมื่อเสียชีวิตลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖ ภายหลังคดีนี้สิ้นสุดลงแล้ว ๑๕ ปีระบุไว้น่าสนใจว่า “หลังจากการล้มเหลวของ… ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ (นายปรีดี ระบุว่าคือ ขบวนการประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันต่อมาในชื่อ “กบฏวังหลวง” - ผู้เขียน ) น.ประภาสถิต ได้ถูกเพ่งเล็งจากบรรดาอัศวินของ พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ (ยศขณะนั้น) ว่ามีส่วนรู้เห็นและสนับสนุนด้วย เป็นเหตุให้ น.ประภาสถิตต้องลอบเดินทางออกนอกประเทศไทยนครปักกิ่ง นครหลวงของจีนใหม่ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๒ หลังจากแต่งงานกัน ๗ ปี โดยถือโอกาสเข้าร่วม Asian Women’s Conference ซึ่ง Women’s International Democratic Federation เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ ๖-๑๐ ธันวาคม ๒๔๙๒”[21]        

ภายใต้บริบทของสงครามเย็นในยุคของเผด็จการ “สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส” อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง” เป็นหนังสือที่อ้างถึง “ปรีดี” เพียงไม่กี่เล่มที่อนุญาตให้จัดพิมพ์ได้เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งแน่นอนว่า “ไม่เป็นคุณ” ด้วยเป็นการฉายภาพลักษณ์ให้เห็นชีวิตบุคคลอันไม่พึงประสงค์ของการเมืองไทยขณะยังคงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเช่นจีนแดง

ยิ่งเมื่อเจาะจงถึงระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึง ๒๕๐๙ ครั้ง น.ประภาสถิต ทยอยเขียนลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์จนสามารถรวมเล่มได้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ขนาดความหนาถึง ๕๗๖ หน้า (หากไม่เกิดกรณีฟ้องร้องกันขึ้น สันนิษฐานว่าน่าจะมีการเขียนขยายเพิ่มอีก เพราะเนื้อหาในเล่มนี้ยังเพียงกล่าวถึงช่วงต้นแห่งการลี้ภัยในจีนแดง) สถานการณ์ภัยแดงในประเทศไทยกำลังดำเนินถึงจุดตึงเครียดสุดจนปะทุเป็น “วันเสียงปืนแตก” เมื่อ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘[22] และรัฐบาลถนอม-ประภาส ได้ประกาศจัดตั้ง “กองบัญชาการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์” (บก.ปค.)[23]

 

คำพิพากษาคดี

 


คดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๐

 

การพิจารณาคดีความทั้ง ๒ สำนวนดำเนินมาได้ราวหนึ่งปี จนถึงที่สุดศาลจึงรวมความพิพากษาทั้ง ๒ คดีเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ ไว้ว่า

“จึงพร้อมกันพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๔ และจำเลยที่ ๕ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๐ ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทน ๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย ๕๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๑ ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๔๓๒/ ๒๕๑๐ ชำระค่าสินไหมทดแทน ๕,๐๐๐ บาท พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย ๕๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒ และ ๓ ในคดีหมายเลขดำ ที่ ๒๐๓๘/๒๕๑๐ ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวให้เป็นพับกันไป ให้งดจำหน่ายหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๐๗ ฉบับลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๐๗ ฉบับลงวันที่ ๘ พฤจิกายน ๒๕๐๗ และฉบับลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ และ และให้งดจำหน่ายหนังสือ “เก้าปีในปักกิ่ง โดย น. ประภาสถิต” เสีย คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย[24]

สรุปความโดยย่อทั้ง ๒ คดี คดีแรกคือการทยอยพิมพ์เป็นบทความ จำเลยที่ ๑ คือ น.ประภาสถิต ต้องร่วมรับผิดชอบกับ นายประหยัด ศ.นาคะนาท จำเลยที่ ๔ และ นายสำรวย สิงหเดช จำเลยที่ ๕ ในการจ่ายสินไหมทดแทนในคดีแรก โดยได้ยกฟ้องบริษัทสยามรัฐ จำกัด จำเลยที่ ๒ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จำเลยที่ ๓ และ คดีที่สองเมื่อจัดพิมพ์รวมเป็นรูปแล้ว ขณะพิจารณาคดีที่ ๒ โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒ และ ๓ ด้านตัวเล่มศาลให้งดจำหน่ายหนังสือเหล่านี้ทั้งหมด

ภายในสำนวนคำฟ้องนี้ยังปรากฏเอกสารประกอบที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นคู่ควรประกอบการค้นคว้า โดยเฉพาะการเบิกพยานของทั้งสองฝ่าย หนึ่งในบุคคลผู้ให้การเป็นพยานฝ่ายท่านผู้หญิงคนสำคัญคือ “พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี” ซึ่งเคยรับราชการปลัดกระทรวงเศรษฐการ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในรัฐบาลพระยาพหลฯ และเคยดำรงตำแหน่งประธานพฤฒิสภา โดยท่านได้แนบหลักฐานชิ้นสำคัญมากคือ “บันทึกลับ พล.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี ร.น.” ที่เคยบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๑ 

ท้ายสุด เงินสินไหมทดแทนทั้งหมดทางโจทก์ได้ส่งไปบำรุง มูลนิธิจำกัด พลางกูร เสรีไทยผู้พลีชีพเพื่อเอกราชของชาติไทย[25]

 

หมายเหตุ :

  • อักขร วิธีการสะกด การอ้างอิง และเลขไทยคงไว้ตามต้นฉบับ

 

ภาคผนวก

สำนวนและเอกสารเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีของนายปรีดี พนมยงค์ และตัวแทน

 

 

 


[1] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๔๑.

[2] ปรีดี พนมยงค์ (สามีผู้อนุญาต) สุดา และ ดุษฎี พนมยงค์ (พยาน), หนังสือยินยอมอนุญาตของสามี นครกวางโจว ประเทศจีน วันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ดู สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๒๐.

[3] ปรีดี พนมยงค์ ผู้บริสุทธิ์ (คำฟ้อง คดีความเลขดำที่ ๔๒๒๖/๒๕๑๐), (กรุงเทพฯ: กฤตญาดา, ๒๕๕๐).

[4] สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘,  (กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก, ๒๕๔๓).

[5] รวินทร์ คำโพธิ์ทอง, การฟ้องคดีฯ หนังสือชีวิต 5 แผ่นดินของประยูร ภมรมนตรี : ข้อมูลใหม่และปฏิกิริยาจากหนังสือพิมพ์ ดู https://pridi.or.th/th/content/2024/04/1936

[6] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ: เจริญรัฐการพิมพ์, 2526), หน้า ๓๐.

[7] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๘-๑๙ และ หน้า ๔๒.

[8] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๘-๑๙ และ หน้า ๔๓.

[9] นรุตม์, หลายบทชีวิตท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์, พิมพ์ครั้งแรก,(กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๓๕), หน้า ๑๔๒.

[10] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์ ,๒๕๑๓), หน้า ๓.

[11] ชู ประภาสถิต, ประวัติ นงเยาว์ วัฒนโกเมร, นงเยาว์รำลึก พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางนงเยาว์ วัฒนโกเมร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร วันอาทิตย์ที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยันฮี, ๒๕๑๒), หน้า ๗.

[12] มนูญ วัฒนโกเมร, งานของ นงเยาว์ วัฒนโกเมร, นงเยาว์รำลึกพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นางนงเยาว์ วัฒนโกเมร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร วันอาทิตย์ที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ยันฮี, ๒๕๑๒), หน้า ๙-๑๐.

[13] น. ประภาสถิต, เก้าปีในปักกิ่ง บันทึกประสบการณ์ที่ผิดหวังและขมขื่น,  (กรุงเทพฯ: ไทยสัมพันธ์, ๒๕๐๙), หน้า ๓๖๔-๓๖๖.

[14] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๒๙.

[15] ธงนรินทร์ นามวงศ์, โฆษณาชวนเชื่อในนิตยสารเสรีภาพ พ.ศ.๒๔๙๗-๒๕๑๘ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๖๒, หน้า ๕-๖.

[16] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๒๙

[17] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๒๙

[18] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ:ประจักษ์การพิมพ์,๒๕๑๓), หน้า ๑๒๖.

[19] เมื่อแท็กซี่หนีเที่ยว ไปแอบฟัง “ลาว คำหอม” คุยเรื่อง Silly Silly ดู https://prachatai.com/journal/2013/03/45764

[20] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ:ประจักษ์การพิมพ์,๒๕๑๓), หน้า ๑๒๗.

[21] ความเป็นมาของนักหนังสือพิมพ์และโฆษณากรธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ใน อนุสรณ์ นายมนูญ วัฒนโกเมร, (ม.ป.พ., ๒๕๒๖), หน้า ๑๓.

[22] ปิยนันท์ จำปีพันธ์, จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท ดู https://www.silpa-mag.com/history/article_87558

[23] พวงทอง ภวัครพันธุ์, ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึงสังคมของกองทัพไทย, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน,2567), หน้า ๓๔.

[24] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๑๗๒.

[25] สำนวนคดี รวบรวมและจัดพิมพ์โดย นายวินัย คุณอุดม, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, ๒๕๑๓), หน้า ๙.