Focus
- บทความนี้วิเคราะห์ “ไดอารี่” ปี พ.ศ. 2485 ของพุทธทาสภิกขุไล่เรียงตามแต่ละเดือน ซึ่งไม่เพียงบันทึกชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ในชนบท หากยังสะท้อนภาพสังคมไทยในยุคสงครามและภายใต้ระบอบใหม่ของคณะราษฎร โดยเน้นบทบาทของพุทธทาสในการเชื่อมโยงพุทธธรรมกับภารกิจของรัฐและความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสงบ มีสติ และไม่แยกตัวจากสังคมฆราวาส

พระมหาเงื่อมเปรียญธรรมชั้น 3
“ฉันจะได้ย้ายไปอยู่ที่นั่น ก็ตกเดือนพฤษภาคม ซึ่งฉันจำได้แต่เพียงว่า ดูเหมือนจะเป็นวันที่ 12 ต่อมาในเดือนมิถุนายน ประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะฉะนั้นปฏิทินของสวนโมกข์ จึงเป็นสิ่งที่จะจดจำได้ง่ายที่สุด โดยแฝงไว้ในประโยคสั้น ๆ ว่า ‘ปีเดียวกับการเปลี่ยนแปลง การปกครอง’ ข้อนี้พวกเราถือว่ามันเป็นนิมิตแห่งการเปลี่ยนยุคใหม่ เพื่อการแก้ไขสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เท่าที่เราพึงจะทำได้”
พุทธทาสภิกขุ
กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจะเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือน พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ (พระธรรมโกศาจารย์ “พุทธทาส”, 2449–2536) พระมหาหนุ่มเปรียญธรรม 3 ประโยคจากพุมเรียง ได้เริ่มต้นชีวิตนักปฏิบัติอย่างแท้จริง ด้วยการก่อตั้งสำนักธรรมเล็ก ๆ ใต้ร่มไม้ ณ สวนโมกขพลาราม พรรษานั้นนับเป็นพรรษาที่ 7 ของท่าน ขณะมีอายุเพียง 26 ปี
เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในเดือนถัดมา ท่านได้รับรู้ข่าวสารจากสหายในพระนครด้วยใจที่สงบนิ่ง และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมจากหน้าหนังสือพิมพ์ในภายหลัง ท่าทีของท่านต่อระบอบใหม่มิได้แสดงความตื่นเต้น หากแต่เปิดรับอย่างมีวิจารณญาณ ท่านเปรียบประชาธิปไตยว่าใกล้เคียงกับหลักสังฆะที่ยึดมติหมู่และสิทธิเสมอภาค และได้นำประเด็นนี้มาแสดงธรรมต่อชาวบ้าน แม้จะรู้ดีว่า ‘ประชาธิปไตยเป็นของแปลก’ สำหรับคนส่วนใหญ่ในเวลานั้น

จอมพลป.พิบูลสงคราม 2485
เมื่อระบอบใหม่ภายใต้การนำของคณะราษฎรดำเนินมาถึงปี พ.ศ. 2481 ก็ถึงเวลาผลัดเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของผู้นำรุ่นหนุ่ม คือ หลวงพิบูลสงคราม (ขึ้นเป็น “จอมพล” กลางปี พ.ศ. 2484) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น พุทธทาสภิกขุได้เทศนาและเขียนบทความที่สะท้อนจุดยืนสนับสนุนอุดมการณ์ของรัฐอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่อง “รัฐธรรมนูญของเรา”[1] และร้อยกรองที่แต่งขึ้นเพื่อส่งเสริมแนวนโยบาย “รัฐนิยม”[2] โดยนำหลักพุทธธรรมมาเชื่อมโยงกับการเมืองในลักษณะที่มุ่งปลูกฝังนิสัยรักรัฐธรรมนูญและสำนึกในชาติราษฎรให้แก่สาธารณชน[3]

ปรีดี พนมยงค์
เมื่อถึง พ.ศ. 2485 พุทธทาสภิกขุได้จดบันทึกกิจกรรมชีวิตทุกวันตลอดทั้งปี เงาของผู้นำคณะราษฎรสองคนปรากฏเด่นชัดอยู่ตลอดเรื่องราว จอมพล ป. ปรากฏในฐานะผู้ที่พุทธทาสคล้อยตามในเชิงนโยบาย ไม่ว่าจะด้านการปกครองภายในหรือนโยบายต่างประเทศ ส่วนอีกบุคคลหนึ่งคือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้เชิญท่านพุทธทาสขึ้นมาพระนคร ณ ทำเนียบท่าช้าง ในเดือนมิถุนายนปีนั้น เพื่อหารือแนวทางการขยายกิจกรรมธรรมทานสู่เมืองหลวงและระดับประเทศ ไดอารี่นี้นอกเหนือจากในเชิงปัจเจกชนคือบันทึกชีวิตของพระสงฆ์หัวก้าวหน้ารูปหนึ่งแห่งสมัย 2475 ยังนับเป็นหนึ่งในรายงานมุมมองของราษฎรสามัญที่มีต่อสถานการณ์ทุกปัจจุบันขณะยามนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้พบปะบุคคลสำคัญในวงการเมือง การศาสนา หรือการเผชิญต่อสภาวการณ์สงครามใหญ่ในช่วงต้นแห่งการเข้าร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่น
อนุทินชีวิต พ.ศ. 2485 ของ พุทธทาสภิกขุ ท่ามกลางสงครามมหาเอเชียบูรพา

ปกไดอารี่ พุทธทาส พ.ศ. 2485 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน
“มีอายุ ย่างเข้าปีที่ 37 เราผ่านมา 3 รอบปีเต็ม ๆ บริบูรณ์แล้ว เวลาสำหรับเปนเด็ก สำหรับศึกษาเบื้องต้น สำหรับทดลองนั้น เราอยากจะให้สิ้นสุดกันเสียที”[4] พระมหาเงื่อม อินฺทปญฺโญ (พุทธทาสภิกขุ)
มีคำกล่าวว่า “The diary is the most democratic form of writing.” (ไดอารี่คือรูปแบบการเขียนที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด) ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนในไดอารี่เล่มนี้ของพุทธทาส ภายในหน้ากระดาษเกือบหกร้อยหน้า ปรากฏร่องรอยของชีวิตประจำวันที่ผสานเหตุการณ์ทางศาสนา ความเคลื่อนไหวทางสังคม และอารมณ์ร่วมของผู้คนเข้าไว้ด้วยกันอย่างละเอียดอ่อน ถ้อยคำของท่านที่ว่า “คืนนี้ มีประกาศใช้รัฐนิยมฉะบับที่ 12” (29 ม.ค.), “การสวดมนต์ในระยะนี้ ต้องมีแต่กลางวัน เนื่องจากการพรางแสงไฟ ทำกลางคืนไม่เปนการสะดวก.” (30 ม.ค.), “วิทยุคืนนี้ คนไม่สู้มาก เนื่องจากนายมั่นนายคงมีรสจืดลง 2–3 วันมาแล้ว, คนจึงซา.” (30 ม.ค.), หรือ “ทางราชการขอร้องให้สะแดงความยินดี ด้วยการชักธงไทย–ญี่ปุ่น คู่กัน ในวันพรุ่งนี้ 1 วัน...พรุ่งนี้อยากจะชักธงกะเขาบ้างในนามของหอสมุด แต่ไม่มีธง จะทำเอาเดี๋ยวนี้ ลองดู,...” (15 ก.พ.) ล้วนแสดงออกถึงการสังเกตอย่างตั้งใจในภาวะที่สังคมทั้งประเทศกำลังถูกจัดระเบียบด้วยอุดมการณ์ใหม่ ผ่านสายตาของพระภิกษุผู้มีสติรู้ตัวและไม่หันหลังให้โลก

หน้าแรก ไดอารี่
ไดอารี่เล่มนี้เขียนขึ้นในปีที่สองภายหลังรัฐบาลประกาศเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมตามแบบสากล จากเดิมที่เคยนับเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นประเดิม พุทธทาสภิกขุเขียนไว้ในช่วงต้นเล่มว่า “ต่อนี้ไปเราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน.” ประโยคนั้นสะท้อนความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของผู้ที่เห็นว่าการเขียนคือวิถีหนึ่งของการฝึกจิต และสมุดบันทึกเล่มนี้คือพื้นที่ที่ท่านใช้รับฟังโลกอย่างเงียบงัน โดยไม่ละสายตาไปจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้า

ประกาสสำนักนายรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย
นอกเหนือจากเนื้อหา ครึ่งหลังของบันทึกยังปรากฏร่องรอยของ “การปรับปรุงตัวอักษรไทย”[5] ซึ่งนักวิชาการบางท่านเรียกว่า “หนังสือจอมพล”[6] อาทิ การสะกดคำว่า “กรกดา”, “พรึสจิก”, “ธัม”, “ทง” ฯลฯ สะท้อนการรับอิทธิพลจากนโยบายวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม หากในยุคเดียวกันนั้น แอนน์ แฟร้งค์ เด็กสาวชาวยิวก็เริ่มบันทึกไดอารี่ของเธอที่กลายเป็นอนุทินชีวิตอันเป็นอมตะ พุทธทาสภิกขุก็ได้จรดปากกาในอีกซีกโลกหนึ่ง เพื่อบอกเล่าชีวิตประจำวันของพระธรรมทูตท่ามกลางกระแสชาตินิยมของประเทศที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น
สังเขปปฏิทินชีวิตพุทธทาสภิกขุตลอดปี พ.ศ. 2485

ญี่ปุ่น-ไทย
มกราคม พุทธทาสภิกขุเปิดบันทึกประจำปีด้วยคำมั่นว่า “ต่อนี้ไปเราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุก ๆ อย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน” ขณะที่บ้านเมืองเข้าสู่ปีที่สองของการนับวันขึ้นปีใหม่แบบสากลตามนโยบายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางบรรยากาศสงครามโลกที่ปกคลุมประเทศอย่างเข้มข้น พุทธทาสได้จดบันทึกเหตุการณ์สำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งข่าวญี่ปุ่นรุกเข้าสิงคโปร์ การพ่ายแพ้ของอังกฤษที่ทวาย การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยว่า “วิทยุภาคบ่าย มีการประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษและอเมริกา, เป็นเหตุการณ์สำคัญ” และพุทธทาสยังจัดติดตั้งวิทยุประชาสัมพันธ์ของราชการโดย “นายมั่นนายคง” ให้ชาวบ้านรับฟัง พร้อมแสดงความเห็นในบางวันเช่น “วิทยุได้เงียบไปเสียเฉย และเงียบเลยไปจนหมดเวลาส่ง เหมือนเมื่อ 3-4 คืนมาแล้ว เข้าใจว่า หมู่นี้คงมีเครื่องบินมากวนกรุงเทพมากที่สุด” (วันที่ 26) หรือว่า “คืนนี้ มีคนมาฟังวิทยุถึง 100 อิก” (วันที่ 28) และในทางกลับกัน “วิทยุคืนนี้ คนไม่สู้มาก เนื่องจากนายมั่นนายคงมีรสจืดลง 2-3 วันมาแล้ว คนจึงซา” (วันที่ 30) พร้อมทั้งกล่าวถึงคำปราศรัยของผู้นำที่เน้น “ความเคร่งครัดในยามสงคราม” การประกาศใช้รัฐนิยมฉบับที่ 12 และการที่พระเณรในเมืองหลวงร่วมกันทำสวนครัวช่วยชาติซึ่งท่านเรียกว่า “ย่อมจัดได้ว่า เปนประวัติการณ์ ว่าในเมืองไทย พ.ศ. 2485 คับขัน จนบรรพชิตช่วยร่วมมือในการทำสวนครัว.” (วันที่ 29) อีกทั้งแสดงความเห็นต่อกองทัพญี่ปุ่นไว้ว่า “เมื่อพูดถึงญี่ปุ่นแล้ว อดจะบันทึกไว้ไม่ได้ว่า เราพอใจอย่างยิ่งในข้อที่ทหารญี่ปุ่นที่เข้ามา ล้วนแต่มีหลักว่าไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งนั้น ขอแต่ให้งานของชาติสำเร็จไปตามความต้องการ ก็แล้วกัน.” (วันที่ 28) รวมเอ่ยถึงปาฐกถาทางวิทยุว่า “วิทยุเช้านี้ มีปาฐกถาท่าน ว.วิจิตรวาทการ เรื่องวิธีพูด....ให้หลักวิธีพูดไว้ ๔ ข้อใหญ่” (วันที่ 31) แม้ชีวิตของท่านในเดือนนี้จะเต็มไปด้วยกิจวัตรทางธรรม เช่น การเปิดโรงเรียนพิเศษ พิมพ์หนังสือธรรมทาน หรืออภิปรายธรรมแก่ญาติโยม แต่เนื้อหาของไดอารี่กลับเผยให้เห็นว่า พระหนุ่มจากพุมเรียงผู้นี้จับตามองความเปลี่ยนแปลงของรัฐและโลกอย่างใกล้ชิด
กุมภาพันธ์ พุทธทาสภิกขุยังคงบันทึกเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานการณ์สงครามที่ส่งผลต่อการรับรู้ของสาธารณชนในชนบท ราวกลางเดือนมีข่าวสำคัญว่าอังกฤษยอมแพ้แก่ญี่ปุ่นในสมรภูมิสิงคโปร์ ซึ่งท่านพุทธทาสจดไว้ว่า “เปนเรื่องสนุกเหมือนนิยาย” (วันที่ 10) พร้อมเล่าวิธีรบของญี่ปุ่นที่ใช้ทหารร่มและว่ายน้ำขึ้นฝั่งจนอังกฤษต้องจุดไฟในทะเลเพื่อป้องกัน และเมื่อรัฐบาลประกาศให้ชักธงไทย-ญี่ปุ่นแสดงความยินดี ท่านพุทธทาสก็ตั้งใจจะทำธงขึ้นเองในนามของหอสมุด (วันที่ 15) ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงนายมั่นนายคงซึ่งโต้ตอบ บี.บี.ซี. ผ่านรายการวิทยุอย่างดุเด็ด (วันที่ 11) ท่ามกลางไฟสงคราม ท่านยังแทรกผ่านกิจกรรมของชาวบ้าน เช่น บรรยากาศของตรุษจีน “มีคนมาทำบุญมาก มีขนมเข่ง และขนมเทียนใส่ไส้หมูเต็มบาตร” (วันที่ 14) รวมถึงแสดงความประสงค์จะเปิดสโมสรคนหนุ่ม เพื่อขัดเกลาจิตใจวัยรุ่น โดยยกตัวอย่างชื่อ “เจ๊กมาแต่เมืองจีน” (วันที่ 15) ในท้องถิ่นใกล้ตัวที่สามารถยกฐานะขึ้นมาได้ด้วยความมัธยัสถ์ ไดอารี่เดือนนี้จึงเผยให้เห็นการรับรู้ของพระนักปฏิบัติในต่างจังหวัดที่มีสายตาทันสมัย แต่ยังพยายามรักษาสมดุลระหว่างโลกธรรมกับธรรมโลกอย่างหนักแน่น
มีนาคม ขณะที่กระแสสงครามมหาเอเชียบูรพาทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และภาครัฐจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรม เช่น บันทึกเมื่อปลายเดือนวันที่ 27 ว่า “วันนี้ เปนวันเปิดอนุสาวรีย์พระมงกุฎที่สวนลุมพินี วิทยุกระจายแหล่เทศน์สดุดีพระคุณเข้าที และเหมาะกับผู้ฟังทั่วไปยิ่งกว่าวิธีอื่น คนฟังมากกว่า” พุทธทาสภิกขุยังคงตั้งมั่นอยู่กับการก่อสร้างธรรมสโมสรที่ไชยา ซึ่งต้องอาศัยทั้งแรงงานช้าง คน และความอดทนอย่างยิ่ง แม้ชีวิตประจำวันจะเต็มไปด้วยกิจอันหนักหน่วง เช่น การตัดไม้ ลากไม้ ทำขานวน ซ่อมหลังคาท่ามกลางฝน และอยู่ป่าในสภาพแร้นแค้น ท่านกลับมองเห็นธรรมในทุกสถานการณ์ “งานก่อสร้างนี้มีอำนาจดึงดูดให้ผู้มีนิสสัยรักศิลปะถึงกับหลงไหลมัวเมาไปได้จริง ๆ” (วันที่ 1) และแม้จะไม่สงบเยี่ยงปีกลาย แต่วันมาฆบูชาปีนี้กลับช่วยให้เข้าใจธรรมลึกซึ้งขึ้น จากประสบการณ์ตรงในภาวะวุ่นวาย ท่านยังกล่าวถึงอานิสงส์ของการพักป่า ว่าทำให้จิตใจกลับคืนสู่ความเรียบง่าย สมถะ และตั้งมั่นอยู่กับอุดมคติ “Plain Living, High Thinking” (วันที่ 28) ขณะเดียวกันก็ยังไม่ละเลยภารกิจเผยแผ่ธรรม ทั้งแสดงธรรม สนทนาธรรม เขียนต้นฉบับ และชี้ทางออกในปัญหาทางวินัยภายใต้บริบทอันวุ่นวายของโลกภายนอก แสดงถึงจุดยืนมั่นคงทางธรรมในช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังถูกปั้นแต่งภายใต้แรงกดดันจากอุดมการณ์ภายนอก
เมษายน ท่านเจ้าสำนักสวนโมกข์ยังคงดำเนินชีวิตระหว่างป่าและวัดอย่างเหน็ดเหนื่อยแต่เปี่ยมสติ ขณะเดียวกันก็ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างไม่ละสายตา โดยบันทึกถึงการคัดเลือกทหารกองเกินที่ปีนี้มีผู้สมัครเกินจำนวนเป็นครั้งแรก ต่างจากปีที่ผ่าน ๆ มา (วันที่ 20) ซึ่งอาจสะท้อนบรรยากาศชาตินิยมและการปลุกใจยุคสงครามได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงหนังสือจาก “สถานวัฒนธรรมญี่ปุ่น” ที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ (วันที่ 13) แสดงให้เห็นอิทธิพลทางวัฒนธรรมของพันธมิตรสงครามที่ค่อย ๆ แทรกเข้ามาในแวดวงสงฆ์แม้ในชนบท สิ่งที่น่าสนใจในเดือนนี้คือเมื่อวันที่ 21 ท่านได้ยื่นเรื่องเปลี่ยนชื่อจาก “เงื่อม” เป็น พุทธทาส แต่ไม่ผ่านการพิจารณาด้วยเหตุผลของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นชื่ออย่างพระพุทธเจ้าอนุญาตให้ไม่ได้[7] การทำงานสร้าง “ธรรมสโมสร” ก็ยังดำเนินต่อด้วยแรงร่วมมือจากชาวบ้าน ช้าง หมอช้าง และควายลากไม้ โดยมีการจัดกิจกรรมแข่งลากไม้ การจัดทำธง และรางวัลเพื่อปลุกขวัญกำลังใจ ทั้งหมดนี้แฝงด้วยลมหายใจแห่งชาตินิยมในแบบของพุทธทาสเอง แม้กิจกรรมทางธรรมดูเหมือนลดลง แต่ท่านกลับรู้สึกว่าแม้จะไม่ได้เขียนบันทึกธรรมเช่นเคย จิตใจก็เปลี่ยนลักษณะไปในทางลึกซึ้งเด็ดขาด (วันที่ 28) เดือนนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ธรรมะไม่เพียงอยู่ในบทเทศน์หรือการสอนหนังสือ แต่ซึมลึกในเหงื่อไหลแรงกายของการทำงาน สร้าง ก่อ รื้อ และคิดใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงทั้งตนเองและโลกโดยรอบอย่างเงียบสงบ

พฤษภาคม ปรากฏหมุดหมายสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างพุทธทาสภิกขุกับรัฐไทยภายใต้ระบอบของคณะราษฎร คล้อยหลังวันวิสาขบุชาเพียงหนึ่งวันเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม สาสน์จากท่านผู้สำเร็จราชการ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ถูกยื่นผ่าน นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ ส.ส.จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายปรีดีแสดงเจตจำนงจะพบพุทธทาสด้วยตนเอง ข้อเสนอนี้แสดงถึงความพยายามของผู้นำรัฐในการบูรณาการพุทธธรรมเข้ากับภารกิจชาติ โดยอาศัยพุทธทาสภิกขุเป็นตัวเชื่อมในเชิงทั้งแนวคิดและโครงสร้าง ท่ามกลางความเคลื่อนไหวนี้ เสียงจากชาวบ้านกลับสะท้อนความกังวล เช่น “ลุงกลิ่น” ที่เกรงว่าท่านจะละบ้านนอกไปอยู่เมืองหลวง ท่านจึงย้ำอย่างหนักแน่นว่า “ยังรักบ้านนอก” และ “ยังอยากเปนเพื่อนของคนจนเช่นเดิม” (วันที่ 30) เดือนนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ธรรมะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่มิติของรัฐสมัยใหม่ ในขณะที่ตัวพุทธทาสเองก็ตระหนักถึง “บทเรียนแห่งการสมาคม” อันยากยิ่ง ที่จะต้องเรียนรู้เมื่ออุดมคติเริ่มเดินเคียงไปกับโครงสร้างอำนาจ

เทศนา 28 มิถุนายน 2485
มิถุนายน พุทธทาสภิกขุออกเดินทางจากไชยาเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามคำเชิญของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน โดยก่อนออกเดินทาง มีผู้คนในไชยาแสดงความกังวลเรื่องการ “รื้อคณะธรรมทานไปอยู่กรุงเทพฯ” (วันที่ 5) เมื่อถึงพระนคร ท่านพำนักที่วัดปทุมคงคา ทั้งคู่ได้พบกันตามตารางนัดหมายรวมเวลาทั้งสิ้น 3 วัน คือ 18-19 มิ.ย. และ 22 มิ.ย. 2485[8] บทสนทนาปรากฏหลากหลายประเด็นเป็นต้นว่า หลักการภาวนาพุทธศาสนาเรื่องสมาธิ อานาปานสติ การเทียบเคียงพุทธศาสนากับคอมมูนิสต์ ข้อเสนอจัดตั้งคณะธรรมทานในกรุงเทพฯ อาจารย์ปรีดียังนิมนต์ให้ท่านพุทธทาสแต่งบทสวดทางศาสนา (Hymn) ให้มีใจความเป็นแก่นธรรมสมสมัย พร้อมกำชับก่อนแยกย้ายว่า “…ท่านเตือนย้ำ เรื่องแต่ง Hymn เมื่อกลับออกไปถึงไชยาแล้ว…” (วันที่ 22) นอกเหนือจากการนัดแนะอย่างเป็นทางการ 3 วันดังว่า ทั้งสองกลับมาพบหน้ากันครั้งอีกครั้งโดยมิได้นัดหมายเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ศกเดียวกันนั้น ขณะท่านพุทธทาสแสดงปาฐกถาที่มหามกุฎฯ เรื่อง “ความสงบ”[9] โดยเขียนไว้ว่า “หันไปพบท่านผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ พนมมือไหว้ ยิ้มแฉ่ง, รับไหว้ แต่ไม่ได้ทักทาย.” เมื่อกลับถึงสวนโมกข์คราวนั้น ท่านพุทธทาสได้บันทึกถึงผลงานอีกสองชิ้นที่ได้เขียนให้อาจารย์ปรีดี คือ หนึ่ง “พุทธสาสนาสำหรับนักสึกสาหนุ่ม” (วันที่ 19 กรกฎาคม 2485)[10] และ สอง “เขียนต้นฉบับ เรื่องหลักพุทธสาสนาที่จะไห้ผู้สำเหร็ดราชการ ปรีดี พนมยงค์” (วันที่ 10 กันยายน 2485)
การขึ้นมาพระนครครั้งนี้ พุทธทาสภิกขุยังได้พบปะสนทนากับบุคคลสำคัญหลากหลายท่าน อาทิ เจ้าคุณลัดพลีธรรมประคัลภ์ เจ้าคุณภะรตราชสุพิชฯ เจ้าคุณกฤตราชฯ พระดุลยพากย์ฯ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกำจัด พลางกูร และนายฉ่ำ จำรัสเนตร ที่สำคัญเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พุทธทาสไปเยี่ยมสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) ที่วัดเทพศิรินทร์ ได้สนทนาเรื่องธรรมะ โดยเฉพาะเรื่อง “สุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี” และเรื่องกรรมชื่อ “สริสกกัมม์” วันถัดมา วันที่ 28 มิถุนายน ได้แสดงปาฐกถาที่มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ทั้งทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ ก่อนเริ่มปาฐกถา ท่านได้พบกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ อีกครั้งที่มารอรับฟังปาฐกถาตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
วันที่ 29 มิถุนายน ระว่างเดินทางกลับได้แวะหัวหินชมวังไกลกังวล ระหว่างที่นั้นมีหญิงคนหนึ่งผู้มีอาการทางจิตพุ่งเข้ามาจับข้อมือ ซึ่งได้บันทึกไว้ในรายละเอียด วันที่ 30 มิถุนายน เดินทางกลับสู่ภาคใต้ โดยแวะซื้อของฝากเล็กน้อยระหว่างทาง ถึงชุมพรในช่วงค่ำก่อนกลับสู่ไชยา
พึงทำความเข้าใจเพิ่มด้วยว่า นับจากเดือนนี้เป็นต้นไป การบันทึกในไดอารี่นี้เริ่มใช้ภาษาใหม่ของทางรัฐบาลที่เพิ่งประกาศใช้เป็นครั้งแรกในช่วงวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 นี้ นั้นคือการตัดพยัญชนะภาษาไทยเหลือเพียง 31 ตัวจาก 44 และงดการใช้สระอีก 5 ตัว ทั้งนี้ท่านพุทธทาสได้บันทึกถึงเหตุการณ์ “วันชาติ” สั้น ๆ เมื่อค่ำคืนวันที่ 23 มิถุนายน ไว้ว่า “24 น. วิทยุมีสวดชยมงคล เนื่องจากเปนวันชาติ วัดย่ำระฆัง” คืนนั้นท่านเข้าจำวัดตอนตีหนึ่ง
กรกฎาคม พุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่อง “นักศึกษา” หรือ “นักสึกสาหนุ่ม” (ตามการสะกดแบบใหม่) ที่ควรเรียนรู้พุทธศาสนาอย่างมีสัมมาทิฏฐิทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ โดยเน้นย้ำว่าพุทธศาสนาให้ทางออกแก่ชีวิต และสามารถเป็นหลักในการสร้างชาติได้อย่างแท้จริง โดยบันทึกไว้ในวันที่ 19 ด้วยการสะกดแบบใหม่ว่า “คนที่มีจิตต์ใจเหมือนโคลนตม หาอาจส้างชาติให้รุ่งโรจน์ได้ไม่ เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่มีความมีใจเปนนักกิลาเสียเลย เย็น และ เบิกบาน ตามแนวพุทธสาสนาเท่านั้น จึงจะส้างชาติ และส้างทุก ๆ อย่างได้สำเร็ด อาดช่วยตน ช่วยผู้อื่น และช่วยโลกทั้งสิ้น” มีการตรวจร่างคำโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์หนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา รายตรีมาส” ซึ่งจัดพิมพ์มาเป็นปีที่สิบ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางสื่อสารกับนักศึกษารุ่นใหม่ใน “เมืองทองของไทย” (คำเปรียบเปรยของท่าน อันแฝงนัยแนวคิดชาตินิยม) พร้อมกับอธิบายโครงสร้างของคณะธรรมทานและหน่วยงานต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น สวนโมกข์ หอสมุดธรรมทาน และสำนักงานหนังสือพิมพ์ ระหว่างเดือนนี้ ท่านได้ทำงานภาคสนาม เช่น เยี่ยมสถานที่ที่เคยมีร่องรอยการสู้รบระหว่างทหารญี่ปุ่นกับไทย และสังเกตการณ์การประชุมราษฎรในวัดเกี่ยวกับการจัดระเบียบบ้านเรือนใหม่โดยฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังเตรียมเข้าสู่การจำพรรษาที่สวนโมกข์ และได้กล่าวถึงความจำเป็นต้องอยู่กับชาวบ้านในพุมเรียงเพื่อประคับประคองความสัมพันธ์ระหว่างสำนักธรรมกับชุมชน
สิงหาคม พุทธทาสภิกขุใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติกิจภายในสวนโมกข์ โดยมีการดูแลการก่อสร้างชานรอบหอสมุดและออกแบบให้มีลักษณะเป็นศิลปะพร้อมประโยชน์ใช้สอย ควบคู่กับการสังเกตการประพฤติของสามเณรบางรูปที่ไม่งดงามและเตรียมตักเตือนอย่างเป็นกลาง ท่านยังกล่าวถึงพฤติกรรมของชาวบ้านบางรายที่โกงการตัดไม้เข็มและสะท้อนถึงความบกพร่องในจิตสำนึกเรื่องเกียรติยศและความซื่อตรงที่ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม นอกจากนี้ได้ร่วมในกิจกรรม “ฉลองพรรษา” และเลี้ยงน้ำกะทิ ณ โรงฉันวัด มีเวลาตอบจดหมาย เขียนโคลง และเดินเล่นเพื่อผ่อนคลายจากภาระทางหอสมุด ทั้งเดือนเน้นการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายและใช้การเฝ้าสังเกตคนรอบข้างเป็นบทเรียนทางธรรมในชีวิตประจำวัน
กันยายน พุทธทาสภิกขุยังคงดำเนินกิจกรรมภายในสวนโมกข์ ทั้งงานก่อสร้าง การศึกษา และการทดลองแนวทางชีวิตทางธรรม โดยเริ่มการหล่อเสาต้นแรกและทดลองตอกเสาเข็มด้วยปั้นจั่น พร้อมเขียนต้นฉบับ “หลักพุทธศาสนา” เพื่อเสนอแก่ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ และตรวจต้นฉบับ “อริยสัจ” ที่ธรรมทาสนำมาให้ มีการพูดคุยกับมหาสำเริงเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อเด็กอนาถาที่จะบวชเรียนภายใต้การอุปถัมภ์ของสวนโมกข์ ท่านยังแสดงท่าทีวิจารณ์วารสาร “ศิลปิน” ที่เห็นว่าไม่เหมาะสมแก่ภิกษุ สามเณร พร้อมเสนอให้อ่านนิตยสาร “เอกชน” เท่านั้น (พึงรำลึกไว้ว่าวารสารทั้งสองหัวนี้ มาจากคณะทำงานเดียวกัน นำโดย สด กูรมะโรหิต ที่ได้รับการสนับสนุนการพิมพ์จากนายวรกิจบรรหาร หรือ พงษ์รังควร เจ้าของอักษรนิติ[11]) ในอีกด้านหนึ่ง ท่านหาความผ่อนคลายจากธรรมชาติในสวนโมกข์ เช่น การดูปลา กล้วยไม้ และร่วมกิจกรรมปรุงอาหารอย่าง “แกงเขียวสามบอน” ซึ่งใช้วัตถุดิบพื้นบ้านจากสวนโมกข์ล้วน ๆ โดยไม่ใส่เนื้อสัตว์หรือกะปิ นอกจากนี้ยังมีการร่วมทำบุญ “สารทปิณฑะ” เพื่ออุทิศแด่บรรพบุรุษอีกด้วย
ตุลาคม พุทธทาสภิกขุใช้เวลาที่สวนโมกข์ทำกิจกรรมด้านการศึกษาและเผยแผ่ธรรมะต่อเนื่อง ทั้งการสอนนักเรียนสามเณรในระดับนักธรรมชั้นโท การเขียนต้นฉบับลงหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา และการแสดงธรรมตามบ้าน เช่น เรื่อง “ชีวิตคือสะพาน” ที่เจ้าคุณลัดพลีส่งหัวข้อมาให้ โดยท่านยังสะท้อนความเห็นต่อการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาในเรื่องการกล่าวคำ “สวัสดี” (ซึ่งคณะนั้นรัฐบาลกำลังรณรงค์) ของครูกับนักเรียน ผ่านปากของน้องชายว่า “ธัมทาสมาปรารภเรื่องระเบียบกล่าวคำสวัสดีในโรงเรียน ไม่เห็นด้วยที่กระทรวงไห้นักเรียนกล่าวแก่ครูก่อนแล้วครูกล่าวตอบ.” (วันที่ 3) ในด้านอื่นได้ทดลองทำกล้องถ่ายภาพด้วยกระจกขยายธรรมดา วางแผนจัดหาห้องวิทยาศาสตร์และอุปกรณ์แบบทำเอง รวมถึงส่งเสริมการศึกษาผ่านการเล่นเช่นผสมพันธุ์ปลา มีการขนกระเบื้องด้วยแรงเด็กนักเรียน และมีคำปฏิเสธการรับกฐิน โดยให้ทอดผ้าป่าแทน ในช่วงวันออกพรรษา ท่านได้ปวารณาและสนทนาอย่างเป็นกันเองกับสามเณร พร้อมร่วมกิจกรรมพื้นบ้านอย่างการฉัน “ต้มย่าง” รวมถึงบันทึกความเห็นต่อการแห่พระของชาวบ้าน ซึ่งเห็นว่ายังเหมาะสมกับภูมิธรรมของประชาชน (วันที่ 25) และให้ความเห็นเชิงอุปมาเกี่ยวกับ “ชาติปลา” ผ่านการสังเกตพฤติกรรมปลาในสวนโมกข์
พฤศจิกายน พุทธทาสภิกขุอุทิศเวลาให้กับการค้นคว้า วิจารณ์วรรณกรรม และทดลองอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการศึกษาหลักการเลนส์และกล้องฉายภาพ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นความสนใจของเด็ก ๆ ต่อพุทธศาสนาและความรู้ทั่วไป ท่านยังได้ทดลองทำกล้องส่องทางไกลด้วยวิธีง่าย ๆ และสนทนากับนายอำเภอเกี่ยวกับกล้วยไม้หายาก รวมถึงแนวทางการใช้สมุนไพรไทยแทนยาแผนตะวันตกที่กำลังขาดแคลน พร้อมทั้งศึกษาตำราแพทย์ของพระยาแพทย์พงศา สำหรับด้านวรรณกรรม ท่านวิจารณ์อย่างเฉียบคมต่อวารสาร วรรณคดีสาร (วันที่ 6)ว่ามีแนวโน้มใช้ภาษาตลาด เจือสำนวนโศกเศร้าจนเสี่ยงทำให้วรรณศิลป์เสื่อมคุณค่า (วารสารนี้รัฐบาลจอมพล ป. จัดตั้งขึ้นมากเพื่อการ “ปฏิวัติภาษา” โดยเฉพาะ) ขณะเดียวกันกลับแสดงความชื่นชมบทความเรื่อง “พุทธศาสนาในจีน” ของ สด กูรมโรหิต ที่ตีพิมพ์ในวารสาร เอกชน (วันที่ 27) และมีแผนจะนำลงในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีภารกิจเขียนต้นฉบับปาฐกถาให้เจ้าคุณภะรต เพื่อนำไปพิมพ์แจกในงานศพเจ้าคุณพิพากษาสัตยาธิปไตย และแต่งกลอน “เพลงยาวหลวงตาโป๋” (วันที่ 24) ในช่วงค่ำวันหนึ่งอย่างอารมณ์ดี
ธันวาคม พุทธทาสภิกขุใช้ชีวิตสงบในสวนโมกข์ ท่ามกลางบรรยากาศช่วงปลายปีที่เต็มไปด้วยภารกิจหลากหลาย ทั้งการอ่านหนังสือ ค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์เบื้องต้น ปรึกษากฎหมายเรื่องพินัยกรรม และรับบทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของชาวบ้านในท้องถิ่น พร้อมกับมีกิจกรรมประจำวัดและแสดงธรรมในหลายวาระ แต่สิ่งที่สะท้อนสถานการณ์บ้านเมืองอย่างชัดเจน คือการที่ท่านออกบิณฑบาตแล้วพบธงชาติไทยและญี่ปุ่นชักคู่กันทั่วไปในวันที่ 8 ธันวาคม (ครบหนึ่งปีที่กองทัพญี่ปุ่นยกทัพขึ้นบกประเทศไทย) โดยบันทึกไว้ว่า “ออกบินทบาต เห็นทงไทย ทงยี่ปุ่น ชักคู่กันไสวไปหมด เนื่องจาก เปนวันที่ระลึกสงครามเอเชีย.” นับเป็นหลักฐานที่สะท้อนบรรยากาศความเคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่น ซึ่งแม้พุทธทาสภิกขุจะมิได้ปรากฏบทบาทในฐานะบุคคลทางการเมือง หากเมื่อพิจารณาจากบันทึกต่าง ๆ ในรอบปี พุทธศักราช 2485 ย่อมเห็นได้ว่าท่านหาได้แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายของรัฐไทยที่เข้าสู่ความเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นไม่ ตรงกันข้าม บรรยากาศของการจัดกิจกรรม ปาฐกถา ตลอดจนงานส่งเสริมศีลธรรมในท้องถิ่น ได้ดำเนินไปภายใต้ความเข้าใจและยอมรับต่อบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะท่าทีของท่านที่ยังคงเคลื่อนไหวทางปัญญาในแนวทางอันสงบ สม่ำเสมอ และมิได้แยกตัวจากความเคลื่อนไหวของสังคมไทยในห้วงต้นสงคราม
“พระส้างชาติ” บทสรุปการอ่านไดอารี่พุทธทาสภิกขุในปีแห่งการประกาศสงคราม
พ.ศ. 2485 เป็นปีที่ประเทศไทยเดินเข้าสู่จุดหักเหสำคัญของประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้าสู่ปีแห่งประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม พร้อมกับการประกาศใช้รัฐนิยมฉบับที่ 12 ฉบับสุดท้ายในชุดนโยบายที่รัฐริเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 เพื่อกำหนดทิศทางการปฏิรูปวัฒนธรรม จิตสำนึก และอัตลักษณ์ของชาติให้สอดคล้องกับระบอบใหม่ พุทธทาสภิกขุซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดธารน้ำไหล อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้บันทึกเหตุการณ์การชักธงชาติไทยเคียงคู่กับธงชาติญี่ปุ่นไว้ในไดอารี่ โดยถ่ายทอดอย่างเรียบง่าย ไม่มีการตีตัวออกห่างจากบริบทของรัฐ และไม่ใช้ภาษาที่แสดงการปฏิเสธหรือยืนอยู่ตรงข้ามกับกระแสหลัก ท่าทีเช่นนี้ปรากฏชัดตลอดทั้งปีผ่านบันทึกชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอของท่าน
เมื่อถึงวันมาฆบูชา พุทธทาสภิกขุบันทึกว่าปีนี้ไม่สงบเหมือนปีก่อน ๆ เนื่องจากภาระกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างมากมาย แต่กลับรู้สึกว่าความเข้าใจธรรมะของตนลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม เพราะได้ซึมซับจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ท่านกล่าวว่า “แม้ในคราวที่ยุ่งด้วยธุระเช่นนี้ ก็ดูเหมือนจะยังซึมซาบในธรรมซึ้งกว่าปีแรกๆ ที่ยังเปน ‘นักเรียนใหม่’ เสียอีก” และในบันทึกอีกตอนหนึ่งยังเขียนว่า “งานที่ถึงแม้จะเปนทางโลก กล่าวคือยุ่งเหยิงเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าเรารู้จักมอง เราอาจพบธรรมที่ลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน...สิ่งเหล่านี้เปนบทเรียน ที่เราจะต้องสอบผ่านไปให้ได้ เพื่อให้จิตต์ใจอยู่สูงกว่า” ตลอดช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน ท่านบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ไว้อย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเคี่ยวน้ำตาลแตงเม การตอบข้อสงสัยเรื่องพระวินัย การแสดงธรรมเรื่อง “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4” การประชุมกับพระเณรเพื่อให้ยึดมั่นในหลัก “Plain Living, High Thinking” ไปจนถึงการอ่านอิลราชคำฉันท์ให้ญาติผู้ป่วยฟังยามค่ำคืน เหล่านี้ล้วนแสดงถึงการดำรงชีวิตอย่างมีสติระหว่างงานทางโลกกับเป้าหมายทางธรรม จนถึงเดือนมิถุนายน พุทธทาสภิกขุได้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ตามคำเชิญของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดสามวัน ช่วงเวลาดังกล่าวตรงกับการจัดงานวันชาติครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 10 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในช่วงเช้า (แต่ในไดอารี่นี้มิได้เอ่ยถึง) และวัดพระศรีมหาธาตุบางเขนในช่วงบ่าย ซึ่งนับเป็นการสื่อถึงบทบาทของศาสนาในการประกอบสร้างระเบียบใหม่ของรัฐ

พจนานุกรม ตัวสกดแบบไหม่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
นับจากกลางปีเป็นต้นไป บันทึกของพุทธทาสเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการสะกดคำตามแนวทางของพจนานุกรมฉบับใหม่ที่รัฐบาลประกาศใช้ เช่น ใช้ “ไ” แทน “ใ”, “ธัม” แทน “ธรรม”, และ “หยู่” แทน “อยู่” อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นหลักฐานเชิงรูปธรรมว่า ท่านไม่ได้เพียงรับรู้ แต่ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางภาษาของตนให้สอดคล้องกับนโยบายวัฒนธรรมของรัฐอย่างสมัครใจ กิจวัตรของท่านในช่วงครึ่งหลังของปียังคงดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ท่านยังคงออกบิณฑบาต สอนพระเณร ดูแลงานก่อสร้าง ซ่อมศาลา ถางป่า และใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างไม่หวั่นไหวกับความลำบาก พร้อมกับบันทึกความเป็นไปของตนอย่างมีวินัย เช่น ในวันหนึ่งได้ปฏิเสธการมีส่วนร่วมในข้อพิพาทครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับฆราวาส โดยให้เหตุผลว่าตนขอรับผิดชอบเฉพาะด้านพระวินัยเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงการรู้ขอบเขตของบทบาทอย่างชัดเจน อีกทั้งแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลของจอมพล ป. ต่อการเข้าร่วมวงไพบูลย์กับญี่ปุ่นอย่างชัดแจ้ง ผ่านไดอารี่ฉบับนี้เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 ว่า “มีข่าว อังกฤษได้ยอมแพ้แก่สิงคโปร์อย่างเด็ดขาด เมื่อเวลา ๑๕.๓๐ เศษ และทางราชการ ขอร้องให้สะแดงความยินดี ด้วยการชักธงไทย-ญี่ปุ่น คู่กันในวันพรุ่งนี้ ๑ วัน...อยากจะชักธงกะเขาบ้างในนามของหอสมุด แต่ไม่มีธง จะทำเอาเดี๋ยวนี้ ลองดู” ซึ่งสามารถเข้าใจได้ในแง่มุมของบริบทกระแสสังคมที่นำพาไปยามนั้น ในขณะเดียวกัน แม้ไดอารี่จะมิได้บันทึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ การกลับมาของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมถึง การรณรงค์ให้ราษฎรไทยบริโภคก๋วยเตี๋ยวขนานใหญ่ช่วงปลายปีนั้น หรือประเด็นอื่น ๆ ที่ปรากฏในพื้นที่สื่อของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่พุทธทาสเลือกจะเขียน และสิ่งที่ท่านเว้นวรรคไว้ในความเงียบ ล้วนชี้ให้เห็นถึงเจตจำนงที่แน่วแน่ในการกำหนดขอบเขตของ “งานของตน” อย่างเป็นระบบและรอบคอบ ไดอารี่ปี 2485 จึงเป็นมากกว่าเพียงบันทึกส่วนตัวของพระบ้านนอกรูปหนึ่ง หากแต่ยังเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ฉายภาพประวัติศาสตร์ของชาติในปีที่อ่อนไหวที่สุดช่วงหนึ่ง โดยมีพุทธทาสภิกขุเป็นประจักษ์พยานในห้วงนั้นในฐานะของบรรพชิตผู้บันทึก ด้วยสถานะหนึ่งของ “ราสดรส้างชาติ (ราษฎรสร้างชาติ)”
สิ่งที่น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยก็คือ ไดอารี่ของพุทธทาสภิกขุในปี พ.ศ. 2485 เป็นเพียงปีเดียวในช่วงเวลาดังกล่าวที่ค้นพบ เพราะนับจากนั้นตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ไม่ปรากฏบันทึกในลักษณะเดียวกันอีก (หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ปรากฏต้นฉบับเช่นนั้นในหอจดหมายเหตุพุทธทาส) จนกระทั่งภายหลังสงครามยุติลงแล้ว ในปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา จึงพบว่าท่านกลับมาฟื้นการเขียนไดอารี่ต่อเนื่องนับจากนั้นอีกหลายปี
หมายเหตุ:
- คงอักขรและการสะกดตามหลักฐานชั้นต้น และต้นฉบับของนักเขียน
[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, บทความ • เกร็ดประวัติศาสตร์ “รัฐธรรมนูญของเรา (พ.ศ. 2481)” เทศนาเทอดระบอบใหม่ ของ พุทธทาสภิกขุ, ดู https://pridi.or.th/th/content/2022/05/1114
[2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, บัพพ์ที่ 5 ทาสพระพุทธเจ้า เทอดรัฐธรรมนูญ ใน 2475 ราสดรส้างชาติ, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2566), น. 340-392.
[3] ณภัทร ปัญกาญจน์ บรรณาธิการ, ปรีดี-พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ”, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2566).
[4] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550), คำนำ น.7.
[5] ราชกิจจานุเบกสา 1 มิถุนายน 2485 ตอนที่ 35 เล่ม 59 ประกาสสำนักนายรัถมนตรี เรื่องการปรับปรุงตัวอักสรไทย, น.1137-1141.
[6] 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม, (กรุงเทพฯ : บัณฑิตการพิมพ์, 2523), น. 472-473.
[7] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550), คำนำ น. 8.
[8] พุทธทาส อินทปัญโญ, ต่อไปนี้เราจะทำจริง แน่วแน่จริงทุกอย่าง แม้ที่สุดแต่การเขียนบันทึกประจำวัน,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2550), น. 481.
[9] เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA6.3/8 กล่อง 1 [27]-[79] เรื่อง “ความสงบ” ชุมนุมปาฐกถา ชุดพุทธธรรม [พ.ศ.2483-2493] - ความสงบ [28 มิ.ย.2485] หน้า [27]-[79].
[10] เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA5.1/5 กล่อง 1 [1]-[4] ชื่อเรื่อง: “พุทธสาสนา สำหรับนักศึกษาหนุ่ม”.
[11] สด กูรมะโรหิต, เกียรติ, อิสรภาพ, ความสงบ คือสิ่งที่ชีวิตต้องการ, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) ณ เมรุวัดธาตุทอง พระนคร, (กรุงเทพฯ : การพิมพ์พาณิชย์, 2514), น. 19.