Focus
- ในบรรดามิตรสนิทของนายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในนั้นย่อมมี “หลวงทัศไนยนิยมศึก” หรือ ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารม้าจากฝรั่งเศสผู้ร่วมก่อการปฏิวัติ 2475 เคยเดินทางไปส่งปรีดีที่สิงคโปร์เมื่อถูกขับในกรณีปิดประชุมสภา แต่ “หลวงทัศไนยนิยมศึก” มีอายุสั้นเพียง 32 ปี โดยเสียชีวิตหลังจากนายปรีดีถูกขับไม่นาน ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่มีกระทันหันและมีเงื่อนงำ ดังที่ได้ยกทฤษฎีของผู้อยู่ร่วมสมัยมาในบทความนี้

“ ยังปรากฏว่ามีมิตรสนิทของ ดร. ปรีดีผู้หนึ่งได้แสดงปฏิกิริยาจะล้มรัฐบาลอย่างเปิดเผย มิตรสนิทของ ดร. ปรีดีผู้นั้นคือ พันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก...ยอดทหารม้าจากโซมูร์..! ” นิร นิรันดร

ฉายพร้อมด้วยนายทหารผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
การริเริ่มก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย 7 นักเรียนนอกเมื่อต้นปี พ.ศ.2470 ณ กรุงปารีส 5 ท่านในจำนวนนี้เป็นพลเรือน อีก 2 ท่านเป็นที่รู้จักดีคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นักเรียนทุนทหารปืนใหญ่ กับอีกหนึ่งนายทหารคนสำคัญที่มักถูกหลงลืมไปก่อนใคร เนื่องจากได้เสียชีวิตไปอย่างรวดเร็วหลังการอภิวัฒน์ไม่ถึงหนึ่งปี ท่านคือ “ยอดทหารม้าจากโซมูร์” บรรดาศักดิ์ หลวงทัศไนยนิยมศึก (สะกดตามเอกสารต้นฉบับ ซึ่งภายหลังมักพบว่านิยมเขียนถึงด้วยนามว่า “หลวงทัศนัย” ตามชื่อ “ทัศนัย มิตรภักดี” ในบทความนี้ จะคงใช้ “หลวงทัศไนยฯ” ตามเอกสารร่วมสมัยนั้นเพื่อความเข้าใจร่วมกัน) มิตรรักผู้ร่วมเดินทางไปส่งปรีดีถึงประเทศสิงคโปร์เมื่อครั้งถูกรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ส่งตัวออกนอกประเทศจากกรณีสมุดปกเหลือง แต่ต่อมาหลวงทัศไนยฯ กลับต้องมาลาโลกอย่างกระทันด่วนหลังกลับจากทริปนั้นอย่างมีเงื่อนงำ
ปรีดี พนมยงค์ เอ่ยถึงชื่อมิตรรักท่านนี้ไว้ในอัตชีวประวัติเรื่อง บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ไว้ว่า
“การประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎรมีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1927 (จุดนี้จะเห็นได้ว่าแตกต่างจากประยูรถึง 3 ปี ซึ่งเป็นดังข้อสันนิษฐานที่ได้เสนอไปแล้ว) ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ “RUE DU SOMMERARD” ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั้น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน” ภายในรายชื่อลำดับที่ 3 อาจารย์ปรีดีบรรยายไว้ว่า “(3) ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุนเคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมการทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส”[1]
ผู้นำ 4 ทหารม้าคณะราษฎร

ฉายเมื่อก่อนจะเข้าโรงเรียนผะสมสัตว์ เมืองแปงด์ ประเทศฝรั่งเศส
ในอีกด้านหนึ่ง ประยูร ภมรมนตรี ผู้ร่วมจับมือกับปรีดีในการริเริ่มก่อการได้เขียนที่มาที่ไปของการชักชวนมิตรรักทหารม้าท่านนี้ไว้อัตชีวประวัติเรื่อง ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ของเขาไว้เช่นกันว่า
“ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใครสนิทสนมกันมากได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี (พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยงสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกำแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณและชักชวนให้มาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง”
ต่อจากนั้นจึงทยอยเขียนถึงการท่านอื่น ๆ ไว้ว่า “ส่วนจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้เข้ามาร่วมอีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร.ตั้ว ลพานุกรมจากสวิทเซอร์แลนด์ กับ นายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในกรุงปารีสเข้าอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวบรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 5 กพ.2467 (ที่ถูกต้อง คือ พ.ศ.2470 สันนิษฐานว่าประยูรจะจำสับสนจาก ค.ศ.1967 เนื่องจากอัตชีวประวัติฉบับนี้เขียนขึ้นในปัจฉิมวัย - ผู้เขียน) ที่บ้านพักของข้าพเจ้าที่ 5 Rue de Sommerad. ซึ่งเป็นการประชุมกันครั้งแรก ข้าพเจ้าได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า”[2]
ภายหลังเมื่อทั้งคณะกลับคืนสู่ประเทศแล้ว การประชุมภายในประเทศครั้งแรกที่บ้านของประยูร ปลายถนนสวรรคโลก ข้างสถานีรถไฟสามเสน (สถานีเก่า) ถึงแม้หลวงทัศนัยฯ จะไม่ได้มีชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ประยูรเกริ่นถึงไว้ตอนหนึ่งของการวางแผนว่า “สำหรับด้านทหารม้าและรถรบ พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม รับรองว่ามีหวังอย่างมั่นคงโดยมี พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก (พ.ท.) รับรองไว้แน่นอน”[3]
หลวงทัศไนยนิยมศึก นับเป็นผู้นำกองกำลังระดับหัวหมู่ทะลวงฟันในปฏิบัติการย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 อันประยูรให้ฉายาว่า “แผนสายฟ้าแลบ” ซึ่งคือแผนการรวบรวมกำลังกรม กองทหารต่าง ๆ เข้าที่ชุมพลที่ลานพระบรมรูป ฯ ทำการจู่โจมโดยกะทันหันมิให้มีเวลายับยั้งชั่งคิด โดยอาศัยกองพันรถรบกับทหารม้าเป็นทัพหน้า เคลื่อนกำลังนำขบวนโดยมี พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก (พ.ท.) เป็นหัวแรงสำคัญที่สุด และมี ร.ท.น้อม เกตุนุติ (พ.ต.) ร.ท.ทวน วิชัยชัตคะ (พ.อ.) กับ ร.ต.ชัย ประทีปเสน (พ.ต.) ซึ่งประจำหน่วยรถรบ ได้เตรียมซ้อมเครื่องยนต์ติดปืนกล และเติมน้ำมันไว้พร้อม[4]
ประยูร ยังฉายภาพของ 4 ทหารม้าคณะราษฎรไว้อย่างองอาจสง่างามในคำไว้อาลัยหมวด “เพื่อนร่วมตาย” ของหนึ่งในสี่ทหารม้าคณะนี้ไว้ว่า
“สี่อัศวิน...ได้เห็นขี่ม้าจับกลุ่มขโยกกันที่คันประปาพร้อมกับ พ.ท. หลวงทัศนัยนิยมศึก พ.ต.ไชย ปทีปเสน กับ พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะ ข้าพเจ้าเพียรมองดูแววตา พ.ท.หลวงทัศนัยฯ ก็เข้าใจทันทีว่า ท่านเหล่านี้ คือ ทหารเสือที่จะบุกนำขบวนการยึดอำนาจ หากไม่ได้หน่วยรถถังของพี่น้อมเปิดฉากนำขบวนแล้ว แผนการฟ้าแลบของ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช จะสำเร็จไปไม่ได้…
พูดถึงความสามัคคีของทหารม้าแล้ว นับว่าล้ำเลิศ สปิริตของทหารม้า คือ
มิตร! ม้า! สุรา! บุก (ตลุย)!”[5]
ประยูร ภมรมนตรี สรุปปฏิบัติทั้งหมดในหนึ่งย่อหน้ากระชับ ๆ ไว้ว่า
“การเปลี่ยนแปลงการปกครองก็สำเร็จลงในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง โดยไม่มีการประหัตประหารเสียชีวิตประการใด นับเป็นประวัติการณ์ของโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ที่นับว่าเป็นความสำเร็จที่เป็นเกียรติประวัติอันดีของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง”[6]
ในแง่หลักฐานชั้นรองลงมาของบุคคลนอกวงคณะราษฎร แต่เคยทำงานใกล้ชิดกับหลวงทัศไนยฯ ขณะนั้น เช่น พลเอก ประพันธ์ กุลพิจิตร ใน พ.ศ.2520 ก็ได้ย้อนรำลึกถึง “4 ทหารม้าคณะราษฎร” ผ่านคำไว้อาลัยในอนุสรณ์งานศพของ พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ไว้
“ในปี 2475 นายทหารนักเรียนทหารม้ารุ่นนั้นเป็นนายทหารรุ่นเดียวกัน 3 คน คือ ร้อยโททวน วิชัยขัทคะ ร้อยโทไชย ประทีปเสนและข้าพเจ้า ระยะเวลาที่เข้ารับการศึกษาอยู่นั้นเอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทยจากระบอบราชาธิปไตย มาเป็นประชาธิปไตย พันตรีหลวงทัศนัยนิยมศึก อาจารย์สอนวิชาขี่ม้าของพวกเราในโรงเรียนทหารม้าเป็นบุคคลชั้นนำสายหนึ่งของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับคำสั่งให้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองพันในกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ พวกเรารุ่นเดียวกันทั้ง 3 คนจึงถูกย้ายมาอยู่ในกองพันนั้นด้วย โดยร้อยโททวน วิชัยขัทคะเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 ร้อยโทไชย ประทีปเสนเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3 (รถรบ) และข้าพเจ้าเป็นนายทหารคนสนิทผู้บังคับกองพัน (พร้อมกันนั้น ร้อยโทน้อม เกตุนุติ จากโรงเรียนเหล่าทหารม้ารุ่นเดียวกัน รับตำแหน่งผู้ บังคับกองร้อยที่ 1)”[7]
หลวงทัศไนยนิยมศึก ในบันทึกของ 2 พระยา “ทหารเสือคณะราษฎร”
จากบันทึกของ 2 ทหารเสือคณะราษฎรฉบับที่ปรีดีแนะนำให้อ่าน[8] คือ เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 (พ.ศ.2490) โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ บันทึกพระยาทรงสุรเดช (พ.ศ.2490) พิมพ์ครั้งแรกโดย ส.ส.ปั่น แก้วมาตย์ นั้นก็ล้วนปรากฏนามของ หลวงทัศไนยนิยมศึก ไว้ดังต่อไปนี้
หนึ่ง พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจนพหลโยธิน) สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 ว่า
“ ณ ริมทางรถไฟตรงทางสามแพร่ง สมทบกับมิตรร่วมตายเพื่อจะทำการยึดอำนาจการปกครองจากพระราชผู้ซึ่งมีกำลังกองทัพและกำลังตำรวจอันมหึมา สรรพด้วยกำลังอาวุธเกรียงไกรรองรับพระราชบัลลังก์อยู่
ก่อนจะถึงเวลา 5.00 น. คณะผุ้ก่อการเปลี่ยนการปกครองฝ่ายนายทหารบกประมาณ 10 ท่าน ก็ได้ไปชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นัดหมาย มี พระยาพหล พระยาทรง พระประศาสน์ หลวงพิบูล หลวงทัศนัย หลวงชำนาญ หลวงสวัสดิ หลวงสฤษดิ หลวงรณสิทธิ เป็นอาทิ”[9]
สอง พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) บันทึกไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2482 ที่ห้องแถวเลขที่ 36 ถนนรีโซ ตำบลดาเกา ไซ่ง่อน[10]โดยระบุการนัดแนะเมื่อเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ว่า
“วันที่ 24 มิถุนายน สำหรับวันนี้ผู้อำนายการฝ่ายทหาร ได้นัดเวลาพบ 05.00 น. โดยกะว่าจะสั่งมอบหน้าที่ให้เสร็จภายในเวลาเพียงประมาณ 15 นาที แล้วจะได้รีบไปยังกรมทหารม้าซึ่งกะไว้เปนที่หมายอันแรก ให้ถึงก่อนเวลาเป่าแตรปลุกทหารเพียงเล็กน้อย (เวลาปลุกทหาร 05.30 น.)
นายร้อยเอกหลวงทัศนัย กับนายทหารม้าชั้นนายร้อยโทและนายร้อยตรีอีก 3 นาย มาถึงบ้าน พระยาทรงสุรเดชเป็นพวกแรกเวลา 04.00 น. เศษ เนื่องจากมีเวลามากจึงได้ทำความเข้าใจกันละเอียดลออ นายทหารม้าทั้ง 4 คนนี้ได้รับมอบให้นำรถยนต์เกราะกับรถเล็ก 3 เดนลอยด์ ออกจากโรงให้หมดและควบคุมตลอดทางไปหน้าพระลาน”[11]
สังเขปชีวประวัติพันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี พ.ศ.2443-2476)
พันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2443 (ปีเดียวกับอาจารย์ปรีดี แต่อ่อนเดือนกว่า) ณ จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรของพระยานรินทรราชเสนี (พร้อม มิตรภักดี) และคุณหญิงเจิม มิตรภักดี
สายสกุลของท่านสืบเนื่องจากตระกูลขุนนางชั้นสูง ทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา บิดาสืบสายจากเจ้าพระยายมราช (ตะเฆ่ทับ) มารดาสืบสายจากสมเด็จพระสังฆราช (สา) และหลวงพรหมสัสดี (แมลงภู่) ซึ่งล้วนเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ราชสำนักและราชการในอดีต ชื่อ “ทัศนัย” ได้รับการประทานจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้นต่อมาเมื่อได้มีพระราชบัญญัติขนานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 พระองค์ก็ยังได้ทรงประทานนามสกุลให้อีกด้วยว่า “มิตรภักดี”
หลวงทัศไนยนิยมศึกมีพี่และน้องร่วมมารดาเดียวกันรวม 5 คน ต่างมารดาอีก 2 คน คือร่วมมารดาเดียวกัน
คนที่ 1 เป็นพี่ชาย ยังไม่มีนามถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 11 เดือน
คนที่ 2 เป็นพี่ ชาย พระสุนทรพินิจ (บริบูรณ์ มิตรภักดี)
คนที่ 3 เป็นพี่ หญิง นามภูนสวัสดิ ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 8 เดือน
คนที่ 4 ก็คือ หลวงทัศไนยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี)
คนที่ 5 เป็นน้อง หญิง นามประไพพิศ เป็นภรรยา นายเค เถา
ต่างมารดา
คนที่ 1 เป็นพี่ ชาย นายร้อยโท ขุนสวัสดิรณภักดิ (สวัสดิ มิตรภักดี).
คนที่ 2 เป็นน้อง หญิง นามอำพร เป็นภรรยาหม่อมราชวงศ์ประภาพันธุ มาลากุล ณ อยุธยา
เด็กชายทัศนัยเริ่มต้นชีวิตศึกษาในโรงเรียนวัดสุทัศน์เทพวราราม และต่อมาย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นสถาบันที่มุ่งเน้นการศึกษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น บิดาได้นำถวายตัวเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงโปรดเกล้าให้นายทัศนัยเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก
อัธยาศัยนับแต่วัยเยาว์นอกจากชื่นชอบการทหาร ยังนิยม “ม้า” เป็นพิเศษ ในอนุสรณ์งานศพเขียนโดยครอบครัวเล่าไว้ว่า
“เวลาจะป้อนอาหารต้องให้ขึ้นนั่งบนหลังม้าแกลบจึงรับประทาน เวลานอนต้องอุ้มเอาม้าแกลบขึ้นมาบนตึกเดิรกุกกักอยู่ข้างเปลจึงนอน เมื่อจะออกไปศึกษาวิชชาในประเทศฝรั่งเศสก็บอกว่า ถ้าไม่ได้เรียนวิชชาซึ่งเกี่ยวไปในทางม้าแล้วจะไม่ยอมไป เป็นผู้ที่ชอบขี่ม้าโลดโผน ถ้าได้เล่นอยู่กับม้าหรือ คอกม้ากล่าวว่ารู้สึกสบายใจ อาหารการรับประทานบางคราวลืมต้องไปเตือน ทำการในกองพันทหารม้าที่ 1, ร.อ. เมื่อว่างงานการที่กระทำแล้ว ก็ลงไปนั่งอยู่ที่คอกม้าดูลูกม้าเย้าหยอกกันตั้ง 1 หรือ 2 ชั่วโมง จนนายทหารที่ร่วมราชการด้วยกันเห็นเป็นของประหลาดและอัศจรรย์ไปตามกัน”

ชัยชนะเป็นที่ ๑ ในการขี่ม้าโลดโผน ของโรงเรียนโซมูร์ ประเทศฝรั่งเศส
นายทหารม้าฝรั่งเศส
เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับนายร้อย ท่านเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกในกรมทหารพราน และย้ายไปอยู่ในกรมทหารม้านครราชสีมา ด้วยบุคลิกสุขุม เรียบร้อย เปี่ยมวินัย โดยเฉพาะความสามารถด้านการบังคับม้า จึงได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาอย่างรวดเร็ว กระทั่งได้ประดับยศร้อยตรีในปี พ.ศ.2465 จนเมื่อโอกาสอำนวยยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวเดินทางไปศึกษาวิชาการทหารม้า ณ ประเทศฝรั่งเศส
ร้อยตรีทัศนัยร่วมเดินทางไปพร้อมกับนักเรียนทุนทหารปืนใหญ่อีกท่าน คือ ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. ในเวลาต่อมา) ถึงประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2467 ได้เข้าโรงเรียนทหารม้าของรัฐบาลฝรั่งเศส เมืองโซมูร์ (Saumur) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2468 สำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2469 ได้รับประกาศนียบัตรของโรงเรียนทหารม้านั้นโดยตรงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของฝรั่งเศส ทั้งได้รับคำชมเชยจากนายพลผู้บัญชาการโรงเรียนและครูอาจารย์ผู้อบรมสั่งสอนว่าการเล่าเรียนและการขี่ม้าไม่แพ้ฝรั่งเศสเลย เป็นธรรมเนียมของโรงเรียนจะต้องมีการขี่ม้าโลดโผนดังเช่นเล่นการกีฬา ครั้งนั้นร้อยตรีก็ได้ชัยชนะเป็นที่ 1
ในโรงเรียนทหารม้าโซมูร์นี้ ประเทศต่าง ๆ มากประเทศนิยมกันนักว่าเป็นโรงเรียนที่ดีกว่าโรงเรียนทหารม้าใดๆ ต่างได้ส่งนายทหารประเทศละ 1 นายบ้าง 2-3 นายบ้างไปศึกษา ส่วนประเทศสยามก็คือหลวงทัศไนยนิยมศึกผู้นี้ แต่หาใช่รัฐบาลสยามจัดส่งออกไปไม่ เป็นแต่เพียงรับรองอยู่ว่าเป็นนายทหารของรัฐบาลสยามเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายนุ่งห่มกินนอน ตลอดจนค่าพาหนะเดินทางทุกสิ่งทุกประการ เป็นส่วนตัวทั้งสิ้น เพราะความมุ่งหมายของผู้ลงแรงลงทุนไปก็คิดอยู่เสมอว่า เมื่อสำเร็จวิชชากลับมารับราชการก็น่าที่จะได้รับความตอบแทนจากรัฐบาล ได้เงินเพิ่มเป็นพิเศษค่าวิชชาที่ได้ลงทุนไปเรียนมา ก็เป็นการเปล่าทั้งสิ้น แต่ก็ยังมิได้ละความพยายามในเรื่องนี้

ฉายเมื่อออกจากโรงเรียนผะสมสัตว์ เมืองแปด์ จะกลับบ้านเกิดมารดร
เมื่อได้ออกจากโรงเรียนวิชาทหารม้าแล้ว บิดายังมีความเห็นต่อไปอีกว่า ถ้าหากว่ากลับมารับราชการเกิดตกม้าแขนขาหัก หรือในราชการทหารม้าไม่ต้องการใช้ เช่นนี้จะได้อะไรเป็นอาชีพสำหรับตัวและครอบครัวต่อไป จึงตกลงให้เรียนวิชาอาชีพเพิ่มเติมอีกแขนงหนึ่งที่โรงเรียนผสมสัตว์ du Pin ของ รัฐบาลฝรั่งเศส ด้วยความอุปการะของท่าน Monsieur Fernand Pila ซึ่งท่านผู้นี้ได้เคยเข้ามาเป็นอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศสยาม กับนายเบลังเยซึ่งเคยเข้ามาทำการค้าขายในสยาม ทั้งคู่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนทำให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนนี้ได้สมความมุ่งหมาย กระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2470
ระหว่างเรียนอยู่เมืองนอกนี้ ร้อยตรีทัศนัยมักหาเวลาเดินทางไปท่องเที่ยวสำรวจตามหัวเมืองของประเทศฝรั่งเศส และได้ไปเยี่ยมเยือนต่าง ๆ เช่น ประเทศอิตาลี ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศอังกฤษ เป็นต้น
กลับสู่สยาม
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ร้อยตรีทัศนัยได้เดินทางออกจากประเทศฝรั่งเศสและถึงสยามในเดือนถัดมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมในสภาพผิวพรรณขาว ผอมเกร็ง ต่อมาในเดือนสิงหาคมกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งครูโรงเรียนการขี่ม้า และในปีถัดมาได้รับการเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท ชั้น 1 กระทั่งวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2473 ได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ชั้น 3 โดยคงตำแหน่งครูเช่นเดิม
โรงเรียนการขี่ม้าเป็นสถาบันสำคัญในการฝึกนายทหารม้าเพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยและกองพัน โดยต้องผ่านการอบรมและสอบไล่ให้ได้ตามหลักสูตร ร้อยเอกทัศนัยได้อุทิศตนในการสอนอย่างเต็มความสามารถ ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้รับจากต่างประเทศอย่างเปิดเผย ไม่ปิดบัง จนเป็นที่เคารพนับถือของนายทหารม้าทั่วประเทศ

หม่อมหลวงเวก ทัศนัยนิยมศึก เมื่ออายุ ๑๗ ปี
ด้านชีวิตสมรส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2473 พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท และพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีสมรสระหว่างร้อยเอกทัศนัยกับหม่อมหลวงเวก สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ณ วังถนนวิทยุ ต่อมาทั้งสองมีบุตรหญิงหนึ่งคนซึ่งเสียชีวิตทันทีหลังคลอด เป็นที่โศกเศร้าแก่ญาติทั้งสองฝ่ายยิ่งนัก
หลังแต่งงานแล้วหนึ่งปี วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ “หลวงทัศไนยนิยมศึก” ถือศักดินา 800 ไร่ โดยยังคงดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนการขี่ม้าต่อไป
ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ในปี พ.ศ. 2475 หลวงทัศไนยนิยมศึกได้เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน ในฐานะผู้บัญชาการรถรบ รถเกราะ และทหารม้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการยึดสถานที่ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ภายใต้คำสั่งของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) บทบาทของท่านในการเคลื่อนกำลังอย่างมีระเบียบ เรียบร้อย และไม่สร้างความวุ่นวายแก่ประชาชนทั่วไป ได้รับคำชมจากผู้บังคับบัญชาและผู้นำคณะราษฎรในภายหลัง
หลังการเปลี่ยนแปลง ท่านยังคงทำหน้าที่ทางทหารด้วยความสัตย์ซื่อ และไม่แสดงความลำพองต่ออำนาจใด ๆ ความเรียบง่าย มักน้อย และยึดมั่นในระเบียบวินัยเป็นหัวใจของชีวิตท่าน แม้จะมีโอกาสเติบโตทางการเมือง ท่านกลับเลือกที่จะอยู่ในหน้าที่ราชการอย่างสงบ สมถะ และเป็นตัวอย่างของ “นายทหารผู้เป็นครู”
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. เดียวกันนี้ ด้วยความเห็นชอบ ของสภาราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ รับเงินเดือนอัตรานายร้อยเอกชั้น 3 คงเดิม
ล่วงถึง วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นวันที่เกิดประเด็นการปิดสภาผู้แทนราษฎร โดยรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) หลวงทัศไนยฯ ยังรั้งตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 ร.อ. และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายพันตรี รับเงินเดือนอัตรานายทหารม้าชั้นสัญญาบัตร
ช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต
ช่วงสงกรานต์ปี พ.ศ. 2476 กรณีการขับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) พ้นออกนอกประเทศภายหลังการปิดสภาของรัฐบาล เหตุการณ์นี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตของหลวงทัศไนยฯ อย่างลึกซึ้ง เมื่ออ่านความจากบันทึกของครอบครัวที่ระบุว่า

ฉายพร้อมด้วยหลวงประดิษฐมนูธรรม และกงสุลสยาม ในเมืองสิงคโปร์

ฉายพร้อมด้วยหลวงประดิษฐมนูธรรม และพ่อค้านายห้าง ในเมืองสิงคโปร์
“วันที่ 12 เดือนเดียวกันนี้ ทางราชการกระทรวงกลาโหม ได้ให้หลวงทัศไนยนิยมศึกพร้อมด้วยนายร้อยเอก ทวน วิชัยขัทคะ ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กรมทหารม้าที่ ร.อ. กับนาย จรูญ สืบแสง ไปส่งหลวงประดิษฐมนูธรรมและภรรยา ซึ่งจะเดิรทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ณ เมืองสิงคโปร์ เมื่อได้ส่งหลวงประดิษฐมนูธรรมและภรรยาลงเรือเมล์ใหญ่แล้ว จึงได้กลับโดยทางรถไฟถึงกรุงเทพฯ วันที่ 25 เดือนเดียวกัน แต่เมื่อรถไฟได้ผ่านจังหวัดสงขลาได้แวะลงเยี่ยม นายพลตรี หม่อมเจ้าทองฑีฆายุผู้ซึ่งมีพระคุณมาแต่หนหลัง อันได้เสด็จมาประทับอยู่ในจังหวัดสงขลานั้น
ครั้นวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. เดียวกัน หลวงทัศไนยนิยมศึกได้รับเชิญเลี้ยงอาหารเป็นเกียรติยศที่ได้รับยศเป็นนายพันตรีทหารบก พร้อมด้วยนายทหารที่ได้รับยศคราวเดียวกัน และข้าราชการพลเรือน ณ โฮเตลราชธานี ของกรมรถไฟหลวง พอวันที่ 6 และที่ 7 ก็มีการไม่สบายมีปวดท้องตัวร้อนนอนไม่หลับและไม่อุจาระ เจ้าตัวเองก็คิดว่าอาการจะไม่มากมายอะไรนัก จึงได้ทำการสูบอุจจาระถึง 2 ครั้งก็ไม่ออก จึงได้ให้ตามแพทย์ที่เคยประจำมาตรวจอาการและฉีดยา อาการก็คงที่อยู่ ไม่บรรเทาขึ้น ครั้นถึงวันที่ 8 อาการทรุดหนักลง และประจวบกับเวลาการเกิดพายุลมฝนลูกเห็บตก เป็นเหตุให้โรงทหารม้ากองร้อยที่ 2 และสโมสรทหารม้าบางซื่อพังทะลายลง หลวงทัศไนยนิยมศึกแม้จะป่วยอยู่เช่นนั้นก็ดี เมื่อได้ทราบเหตุแปลกประหลาดบังเกิดขึ้น ก็ได้กรำลมฝนรีบไปรายงานด่วนต่อผู้บังคับบัญชาทันที แล้วจึงได้มาบงการให้นายสิบพลทหาร รื้อสิ่งที่หักพังทะลาย ค้นหาคนเจ็บถึงแก่ความตายอันถูกโรงพังทับออกจนสิ้นเชิงแล้วจึงได้กลับบ้านพักของตน รุ่งขึ้นวันที่ 9 มารดาหลวงทัศไนยนิยมศึกทราบอาการป่วยของบุตร จึงได้ไปเอาตัวมารักษาพยาบาล ณ ที่บ้านถนนเพ็ชรบุรี รักษาพยาบาลกันอยู่ประมาณ 20 ชั่วนาฬิกาอาการไม่ดีขึ้นมีแต่ทรงกับทรุด รุ่งขึ้นวันที่ 10 เวลา 10.30 นาฬิกา หลวงทัศไนยนิยมศึกก็ถึงแก่กรรมโดยอาการยิ้มและสงบ แต่ก่อนที่จะถึงแก่กรรมมีเพ้อเรียกนายทหารคนสนิทและสั่งการอันเกี่ยวเนื่องไปในทางรถรบ รถเกราะและกะสุนหน้าที่ของตนแล้วก็หมดลมไปเอง”[12]
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 เวลา 10.30 ถึงแก่กรรม ณ บ้านถนนเพชรบุรี หลวงทัศไนยนิยม ศึกคงมีชีวิตอยู่ในโลกได้ 32 ปี 7 เดือน กับ 18 วัน
พิธีบำเพ็ญกุศล
ข่าวการจากไปของท่านสร้างความสะเทือนใจแก่ครอบครัวโดยเฉพาะพระยานรินทรราชเสนี ผู้เป็นบิดา ซึ่งอยู่ต่างจังหวัดในขณะนั้น และไม่ทันได้เห็นหน้าบุตรชายเป็นครั้งสุดท้าย ความเศร้าเสียใจมิอาจพรรณนาได้ ด้วยท่านทั้งสองผูกพันกันฉันพ่อลูกอย่างลึกซึ้ง และต่างมีความหวังสูงสุดในเกียรติภูมิของชาติ
พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ณ บ้านถนนเพชรบุรี ข้าราชการระดับสูงทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน ตลอดจนพ่อค้าคหบดีในและนอกประเทศ ต่างหลั่งไหลมาร่วมไว้อาลัยอย่างล้นหลาม เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารบก และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งความเคารพรักและชื่นชมต่อผู้วายชนม์อย่างสุดซึ้ง
ร่างไร้วิญญาณของหลวงทัศไนยนิยมศึกได้รับการประดับด้วยหีบศพลายก้านแย่ง ธงราชการคลุมศพ และจัดตั้งเหนือฐานชั้นเรียบร้อยสมเกียรติ จากนั้นมีการสวดพระอภิธรรมและบำเพ็ญกุศลต่อเนื่องถึง 100 วัน โดยแบ่งการจัดงานเป็นวาระทุก 7 วันภายในบ้าน ท่ามกลางคณะเจ้าภาพผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจากกลุ่มนายทหาร ทหารเรือ เพื่อนร่วมรุ่นญาติมิตร และผู้ร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติ
ธิดาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม “ป้าจีร์” จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม ถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างหลวงทัศไนยฯ และบิดา รวมทั้งเรื่องราวในงานศพครั้งนั้นไว้ว่า

หลวงทัศไนยนิยมศึก (ซ้าย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม (ขวา)
“ยังมีหลวงทัศนัยนิยมศึกอีกคนที่มักพบตัวได้ที่บ้านบางซื่อ (บ้านพักข้าราชการในกรมทหารปืนใหญ่ที่บางซื่อ-ผู้เขียน) นายทหารยศพันตรีผู้นี้เป็นเพื่อนสนิทของจอมพล ป. ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ฝรั่งเศส แต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน หลวงทัศนัยฯ กลับเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2476 โดยป้าจีร์ได้ตามจอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียดไปงานศพด้วย

ฉายเมื่อวันทำบุญสัปตมวารศพ
‘บ้านหลวงทัศนัยฯ อยู่ตรงถนนเพชรบุรีค่ะ ป้าได้ยินมาว่าปัจจุบันที่ตรงนั้นขายไม่ออกด้วย เขาพุดกันว่าผีดุ ก็หลวงทัศนัยฯ ท่านตายที่บ้านไงคะ ท่านเป็นคนหน้าตาดี แต่งกับ หม่อมหลวงเวก (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) พิธีสวดศพก็จัดที่บ้านนั่นแหละค่ะ คุณพ่อคุณแม่เข้าไปร่วมงาน ส่วนป้ากับพี่ชายต้องนั่งคอยอยู่ในรถ บนถนนเพชรบุรีนี่ทั้งเปลี่ยวทั้งมืด บรรยากาศวังเวงไปหมด พวกป้ากลัวผีกันแทบตาย’
หลังจากนั้น จึงกลายเป็นหม่อมหลวงเวกที่สนิทกับครอบครัวพิบูลสงครามแทน คือชอบแวะมาเยี่ยมท่านผู้หญิงละเอียดกับลูก ๆ ‘อาเวกเอาเสื้อผ้าพวกผ้านุ่งของเด็กมาให้เยอะเชียว เอามาให้พวกเราเป็นกองเลย คงเพราะอาเวกไม่มีลูกก็เลยเอ็นดูพวกเราเหมือนเป็นลูกตัวเองมั้ง’”[13]
“ถูกวางยาพิษ” ข้อสันนิษฐานต่อการเสียชีวิตของหลวงทัศไนนิยมศึก
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร[14] ในวัย 21 เมื่อปี พ.ศ.2492 ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ได้เคยเขียนหนังสือสารคดีการเมืองไว้เล่มหนึ่งชื่อว่า “ประชาธิปไตยเสทือน” เนื้อหาสาธยายถึงสถานการณ์การเนรเทศปรีดียามนั้นไว้[15] พร้อมอุทิศความบางตอนเอ่ยถึงมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างหลวงทัศไนยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) และ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ไว้หลายหน้า โดยเฉพาะได้อ้างถึงข้อล่ำลือเรื่องการเสียชีวิตของนายทหารม้ามิตรรักปรีดีไว้ดังต่อไปนี้
“ ความคิดในการล้มล้าง คณะราษฎร ฯ ของพระยามโนฯ ได้ลุล่วงสำเร็จไปคั่นหนึ่งแล้ว มันเป็นก้าวแรก ซึ่งเต็มไปด้วยชัยชนะอันน่าภูมิใจยิ่งนัก
แต่งานของพระยามโน ฯ ยังไม่สำเร็จ เพราะตราบใดที่ ดร. ปรีดียังลอยนวลอยู่ในกรุงสยาม ตราบ นั้น ดร.ปรีดีจะต้องขัดขวางพระยามโนทุกทาง เพราะเพียงเท่าที่ทำไปแล้ว ยังปรากฏว่ามีมิตรสนิทของ ดร. ปรีดีผู้หนึ่งได้แสดงปฏิกิริยาจะล้มรัฐบาลอย่างเปิดเผย
มิตรสนิทของ ดร. ปรีดีผู้นั้นคือ พันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก...ยอดทหารม้าจากโซมูร์..!
เขาเป็นหัวเกี่ยวหัวแรง คนหนึ่งในการทำการล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เขาเป็นมิตรซึ่งเข้าใจ ดร.ปรีดีที่สุด ดังนั้นเขาต้องเป็นบุคคลหมายเลข 2 ซึ่งพระยามโนฯ ต้องกำจัดเสีย เพื่อความราบรื่นแห่งแผนการณ์ตน”[16]
ความข้างต้นปรากฏในบทที่ 7 ชื่อว่า “การเนรเทศ...?” และขยายความเพิ่มเติมในบทถัดมาที่ 8 ชื่อว่า “ล้มพระยามโน!” อันมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับหลวงทัศไนยฯ ว่า
“การจากวงการเมืองไทยไปต่างประเทศของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476 มีผลให้ฐานะของคณะราษฎรเริ่มคลอนแคลน ขุนนางเก่าฝ่ายพระยามโนฯ พยายามรวบอำนาจของคณะราษฎรทุกวิถีทาง
ในหมู่คณะราษฎรเองนั้น ก็มีการแตกแยกกันอยู่เช่นกัน พระยาทรงสุรเดชชิงชัง ดร.ปรีดี และหลวงพิบูลฯ อยู่มาก จึงได้โอนเอียงไปอยู่ข้างพระยามโนฯ ใช่แต่เท่านั้น, ประยูร ภมรมนตรี ซึ่งเป็นผู้ก่อการคนสำคัญตั้งแต่อยู่ในฝรั่งเศส ก็ดูเหมือนไปสนิทสนมอยู่กับพระยามโน ฯ เช่นกัน
เฉพาะบุคคลในคณะราษฎร พระยามโนฯ หวาด เกรงอยู่สองคนด้วยกัน ซึ่งพระยามโน ฯ ต้องพยายามกำจัดเสียก่อน คนหนึ่งก็คือ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ถูกเนรเทศไปแล้ว สำหรับอีกผู้หนึ่งนั้นคือ พ.ต.ทัศไนยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) ผู้เชียวชาญวิชาทหารม้าและรถรบจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ก่อการมิตรรักของ ดร. ปรีดี และพิบูลสงคราม
ที่พระยามโนฯ เกรงหลวงทัศไนยนั้น ก็เนื่องด้วยหลวงทัศไนยเป็นคนจริงและเด็ดขาดและมีกำลังรถรบอยู่ในกำมือ มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อหลวงทัศไนยทราบว่า พระยามโนฯ ยุบสภาและจะเนรเทศ ดร.ปรีดี ‘ยอดทหารม้า จากโซมูร์ ’ ก็ปราดไปวังปารุสกวัน ขออนุญาตเจ้าคุณพหลจะบุกรัฐบาลพระยามโนฯ แต่ ความคิดนั้นต้องถูกระงับโดย หลวงพิบูลสงครามมิตรผู้สุขุมกว่า
พระยามโนฯ รู้ดีว่า หากปล่อยให้หลวงทัศไนยมีอำนาจอยู่ต่อไปแล้ว มิวันใดก็วันหนึ่ง รัฐบาลของเราก็คงอวสาน ดังนั้นพระยามโนจึงวางแผนกำจัดหลวงทัศไนยฯอยู่เงียบ ๆ เริ่มตั้งแต่หลวงทัศในยฯ ตามไปส่ง ดร.ปรีดีที่ สิงค์โปร์ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่า แผนการกำจัดหลวงทัศไนยของพระยามโนฯ จะได้ดำเนินไปเพียงใด แต่ปรากฏว่า ภายหลังเมื่อหลวงทัศไนยฯ กลับถึงกรุงเทพฯไม่ถึงเดือนเต็ม ชีวิตอันมีค่ายิ่งสำหรับประชาธิปไตยของเราก็ต้องศูนย์เสียไป เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2476 ท่ามกลางความรันทดของคณะราษฎร ครั้งนั้นได้ปีเสียงเล่าลือกันว่า ‘ยอดทหารม้าจากโชมูร์ ‘ ถูกวางยาพิษ....?
การเนรเทศ ดร. ปรีดี พนมยงค์ และการตายของหลวงทัศไนยนิยมศึก ได้ปลุกให้นักปฏิวัติหนุ่มแห่งคณะราษฎรบางคนซึ่งสงบอยู่ ลุกขึ้นยืนหยัด คณะราษฎรได้ศูนย์เสีย ‘มันสมอง ‘ และ ‘แขนขวา ‘ไปเสียแล้ว เวลาไม่คอยท่าเสียแล้ว....”[17]
เสียงลือเสียงเล่าอ้างนี้ยิ่งได้รับการตอกย้ำจากข้อเขียนของ อ.ก.รุ่งแสง หรือ พโยม โรจนวิภาต ผู้นับเป็นหนึ่งในปฏิปักษ์คณะราษฎรคนหนึ่ง โดยเขาได้เขียนถึงสมาชิกคณะราษฎรนิรนาม “นายร้อยเอกหนุ่มผู้นั้น...เป็นคนสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งของคณะปฏิวัติ 24 มิถุนายน” โดยระบุคุณสมบัติว่า “หัวนอก” ซึ่งคาดเดาได้ไม่ยากว่าคงหมายถึงนายทหารม้าจากฝรั่งเศสท่านนี้ ความว่า
“ขอบันทึกเพิ่มเติมไว้ ณ ที่นี้ว่า ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีต่อมานายทหาร ‘หัวนอก’ ผู้นี้ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคปัจจุบัน คือ อาหารเป็นพิษ หลังจากไปในงานกินเลี้ยงแห่งหนึ่ง....ตามข่าวกล่าวว่า เขาถูกวางยาพิษในอาหาร...ความข้อนี้ไม่ขอยืนยัน เพราะขณะนั้นผู้บันทึกได้ออกไปอยู่นอกเมืองไทยเสียแล้ว...”[18]
อย่างไรก็ดี เรื่องจังหวะเวลาที่อ้างไว้ออกจะคลาดเคลื่อนไปบ้าน เนื่องจากพโยมแต่งหนังสือเล่มนี้ไว้ช่วงบั้นปลายชีวิตแล้ว เพราะโดยข้อเท็จจริงหากจะนับกันที่ลำดับเวลาแล้ว หลวงทัศไนยฯ ถึงแก่กรรมก่อนเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชถึงครึ่งปี หรือก่อนที่พโยมจะออกไปนอกประเทศหลังการก่อการกบฏนี้ ความผิดพลาดเรื่องจังหวะเวลายังบังเกิดกับ “นายหนหวย” หรือ ศิลปชัย ชาญเฉลิม นักเขียนสารคดีการเมืองชื่อดัง เมื่อเขาได้ใส่ชื่อหลวงทัศไนยฯ ลงไปในตัวละครของการรัฐประหารซ้ำเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ทั้งที่หลวงทัศไนยฯ ได้เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้าเดือนเศษแต่นายหนหวยยังหลงเข้าใจว่าเขายังมีชีวิตอยู่ ด้วยบรรยายข้อมูลไว้อย่างผิดพลาดว่า
“นายทหารม้าเลือดร้อน พันตรีหลวงทัศนัยนิยมศึกจะลงมือเสียเองตั้งแต่ตอนเช้าของวันที่ 19 แล้ว หลวงทัศนัยฯ นำกำลังรถรบออกโรงวิ่งไปตามถนนสามเสนจะบุกวังปารุสฯ เพื่อจะจับพระยามโนฯ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ พอหลวงพิบูลฯ ซึ่งตั้งป้อมอยู่ไม่ห่างนักได้ทราบเรื่องก็รีบขึ้นรถไปห้ามทัพ”[19]
พิธีฌาปนกิจ และหนังสืออนุสรณ์งานศพ

นายพันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี)
พ.ศ. ๒๔๔๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๖
ภายหลังบำเพ็ญกุศลครบร้อยวันแล้ว ร่างไร้วิญญาณของยอดนายทหารม้าคณะราษฎรก็ได้ย้ายมาประกอบพิธีพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2476 ขบวนเคลื่อนศพดำเนินไปอย่างสงบ สง่างาม พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ บังสุกุล และสวดสราทพรต เสร็จแล้วทหารกองเกียรติยศได้ถวายคำนับศพตามธรรมเนียม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความโศกเศร้าและความสำนึกในคุณูปการของผู้จากไป
พิธีเก็บอัฐิจัดขึ้นในวันถัดมาอย่างเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความเคารพรัก บรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยความเงียบงันและน้ำตาแห่งความอาลัย ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท และผู้ร่วมงานต่างได้วางพวงมาลา ถวายอาหารพระ และแสดงความอาลัยอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน
หลวงทัศไนยนิยมศึกแม้จะดำรงชีวิตอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ แต่คุณความดีของท่านกลับดำรงอยู่ในความทรงจำของผู้คนตลอดมา ท่านเป็นแบบอย่างของ “ชีวิตที่งาม” ที่มิได้วัดด้วยระยะเวลา หากวัดจากความจริงใจในการรับใช้แผ่นดิน ความเสียสละ ความกล้าหาญ และความอุทิศตนให้หน้าที่ ท่านไม่เพียงเป็นข้าราชการที่ดี แต่ยังเป็นแบบอย่างแห่งจิตวิญญาณของผู้เสียสละ ที่พร้อมวางชีวิตไว้เบื้องหลังเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ภายในงานพระราชทานเพลิงศพนี้ ปรากฏการแจงของชำร่วยเป็นอนุสรณ์อุทิศแด่ผู้วายชนม์ไว้ถึง 3 เล่ม โดยเล่มแรกชื่อว่า ประวัติ นายพันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก ( ทัศนัย มิตรภักดี ) เขียนขึ้นโดยครอบครัวผู้วายชนม์ มี นายวรกิจบรรหาร เป็นผู้จัดพิมพ์ให้ผ่านโรงพิมพ์อักษรนิติ

บทเรียนรัฐธรรมนูญ โดยหลวงวิจิตรวาทการ
ส่วนอีก 2 เล่มที่เหลือ ปรากฏชื่อของ นายเรือตรี ทองดี ระงับภัย อีกหนึ่งสมาชิกผู้ก่อการคณะราษฎรที่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2476 แต่นำร่างมาทำพิธีในวันเดียวกัน เล่มแรก ชื่อว่า ประเทศสยามของเรา เรียบเรียงโดย นายหงวน ทองประเสริฐ (เนติบัณฑิตย์) คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ผ่านโรงพิมพ์กรุงเทพ กับอีกหนึ่งเล่มสำคัญ ชื่อว่า บทเรียนรัฐธรรมนูญ แต่งโดย หลวงวิจิตรวาทการ มี นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. ในเวลาต่อมา) มิตรรักพิมพ์ผ่านโรงพิมพ์ไทยใหม่ จำนวน 2,000 เล่ม นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้ก่อการคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนาให้เกียรติเขียนคำนำให้ดังความย่อหน้าหนึ่งว่า
“นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม ได้เอื้อเฟื้อสละทุนพิมพ์ขึ้นเป็นเริ่มแรก 2,000 ฉะบับ สำหรับอุททิศแก่นายพันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก กับนายเรือตรี ทองดี ระงับภัย ร.น. ผู้เป็นสมาชิกก่อสร้างรัฐธรรมนูญทั้งสองนายและวายชีพไปแล้วนั้น ในโอกาสที่ศพทั้งสองจะได้รับพระราชทานเพลิง ณ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. นี้”
ทั้งนี้ ในขณะที่จัดงานพระราชทานเพลิงนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่จะได้กลับสู่บ้านเกิดในเดือนถัดมา มิเช่นนั้น เราย่อมจะได้เห็นหนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกจาก “อาจารย์” จัดพิมพ์เป็นพิเศษแด่ "มิตรภักดี" ท่านนี้อย่างแน่นอน
หมายเหตุ:
- คงอักขรและการสะกดตามหลักฐานชั้นต้น และต้นฉบับของนักเขียน
บรรณานุกรม :
[1] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ดู https://pridi.or.th/th/content/2024/03/1893
[2] ประยุร ภมรมนตรี, ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท ประยูร ภมรมนตรี ม.ป.ช., ม.ว.ม. เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2525, (บพิธการพิมพ์), น.50.
[3] อ้างแล้ว, น.61.
[4] อ้างแล้ว, น. 69-70.
[5] ร่วมตาย ร่วมเหลา ร่วมรุ่น , ธรรมบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีน้อม เกตุนุติ ณ ฌาปนกิจสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน วันที่ 7 กรกฎาคม 2513, (ศูนย์การพิมพ์), น.24.
[6] วิชัย บำรุงฤทธิ์ รวบรวม, บันทึกนักปฏิวัติไทย ส่วนของ ประยูร ภมรมนตรี, พ.ศ.2517, (เจริญวิทย์การพิมพ์), น.76.
[7] ประพันธ์ กุลพิจิตร คำไว้อาลัย ใน อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก ทวน วิชัยลักขรา (วิชัยขัทคะ) ณ เมรุสุสานช้างคลาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ.2520, (ศูนย์การพิมพ์), น.(28).
[8] นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ดู https://www.the101.world/recommended-thai-revolution-1932-books-pridi/
[9] กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ, พ.ศ.2490, (จำลองสาร), น.231.
[10] ป. แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรงสุรเดช, พ.ศ.2490, (การพิมพ์กรุงเทพ), น.254.
[11] ป. แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรงสุรเดช, พ.ศ.2490, (การพิมพ์กรุงเทพ), น.280-281.
[12] ประวัติ นายพันตรี หลวงทัศไนยนิยมศึก ( ทัศนัย มิตรภักดี ) นายวรกิจบรรหาร พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงทัศไนยนิยมศึก ที่วัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2476, (โรงพิมพ์อักษรนิติ), น.10-11.
[13] ณัฐพล ใจจริง และ ศรัญญู เทพสงเคราะห์ กับคณะ, อยากลืมกลับจำ, พ.ศ.2561, (มติชน), น.60-61.
[14] รําลึกถึงเสรีไทย รําลึกถึง วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ดู https://www.youtube.com/watch?v=6aYtoSdKNUM
[15] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. 2476 ดู https://pridi.or.th/th/content/2021/04/666
[16] นิร นิรันดร (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร) , ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.2492, (จำลองศิลป), น.147-148.
[17]นิร นิรันดร (วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร) , ประชาธิปไตยเสทือน, พ.ศ.2492, (จำลองศิลป), น.155-157.
[18] อ.ก.รุ่งแสง (พโยม โรจนวิภาต), พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2547, (วสี ครีเอชั่น), น.202-203.
[19] นายหนหวย (ศิลปชัย ชาญเฉลิม), เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ, พ.ศ.2566, (แสงดาว), น.567.