Focus
- เนื่องในวาระ 120 ปีแห่งชาตกาลของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา นักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ บทความนี้ได้นำเสนองานเขียนด้านพุทธศาสนาของศรีบูรพาคือ อุดมธรรม มีการจัดพิมพ์ในช่วงที่ผู้ประพันธ์ยังมีชีวิตอยู่เพียงเล่มเดียว โดยประกอบด้วยความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งใช้ทั้งชื่อจริง “กุหลาบ สายประดิษฐ์” และนามปากกา “อุบาสก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พ.ศ. 2492 ภายในเล่มระบุชื่อผู้จัดการคือ ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยา
- ในหนังสือ อุดมธรรม นามปากกา “อุบาสก” นั้น มีอยู่บทหนึ่งที่กุหลาบนำมาเขียนถึงอย่างลุ่มลึกเป็นพิเศษคือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับ “พระถังซำจั๋ง (เสวียนจั้ง)” ภิกษุผู้จาริกแสวงบุญในสมัยราชวงศ์ถังเพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของบุรุษผู้แสวงหาธรรมจากชมพูทวีป ท้ายที่สุดการเขียนถึงหนังสืออุดมธรรมก็เพื่อเติมเต็มสายธารความรู้ และร่วมรำลึกถึงกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นสำคัญ

ศรีบูรพาในเรือนจำบางขวาง วาดโดย นายฮะ แซ่ลิ้ม บรรณาธิการหนังสือพิมพ์จีนฉวนหมินเป้า
“การได้สดับวีรกรรมและบริการอันประเสริฐต่อพุทธศาสนา และเพื่อนร่วมชาติของท่านมหาสมณบัณฑิต เช่นท่านยวนจางและท่านฟาเหียน ดังที่ได้นำมาเล่าไว้โดยย่อนี้ ผู้เขียนหวังว่าจะเป็นเครื่องส่งเสริมศรัทธาและความรักของสหายชาวพุทธต่อพุทธศาสนา และต่อธรรมะของพุทธศาสนาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
อุบาสก (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ธันวาคม พ.ศ. 2499
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันแพร่หลายในนามปากกา “ศรีบูรพา” คือปัญญาชนผู้มากด้วยคุณวุฒิและคุณธรรม ผู้ฝากรอยประทับไว้ทั้งในสนามวรรณกรรมและสมรภูมิความคิด ท่านเป็นเจ้าของนวนิยายอันเลื่องชื่ออย่าง ข้างหลังภาพ หนึ่งในวรรณกรรมไทยที่ได้รับการพิมพ์ซ้ำมากที่สุด และยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ ในฐานะนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักปรัชญาผู้กลั่นความคิดด้วยหัวใจแห่งมนุษยธรรม งานเขียนของท่านเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนสำนึกสาธารณะ ที่ทั้งกระตุกเตือนและยกระดับจิตใจของผู้คนในสังคม ด้วยเหตุนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติยูเนสโกจึงประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกเมื่อ พ.ศ. 2548 ทว่าท่ามกลางเสียงสรรเสริญ ศรีบูรพาก็ต้องเผชิญกับสายตาของบางฝ่ายที่ตีตราเขาในฐานะ “นักสังคมนิยม” หรือไปไกลถึง “มาร์กซิสต์” โดยเฉพาะเมื่อเขาใช้ชีวิตบั้นปลายถึง 17 ปีในสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นดินแดนที่เขาเลือกอาศัยหลังการรัฐประหารซ้ำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501

ภาพศรีบูรพาขณะออกจากคุก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2500
บนปกหนังสือ “รำลึกถึงศรีบูรพา” โดย เพื่อนร่วมคุก จัดพิมพ์ พ.ศ.2528
ชื่อของศรีบูรพาอาจเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในฐานะนักประพันธ์และนักเคลื่อนไหวทางสังคม แต่ผลงานด้านพระพุทธศาสนาของเขาก็โดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยเฉพาะในช่วงต้องโทษจำคุกห้าปีจากข้อหา “กบฏสันติภาพ” ระหว่าง พ.ศ. 2495-2500 ระยะสองปีสุดท้ายก่อนจะได้รับอิสรภาพ เขาได้อุทิศใจเขียนงานธรรมะในนามปากกา “อุบาสก” ถ่ายทอดแง่มุมลุ่มลึกของพุทธธรรมลงในบทความซึ่งต่อมารวบรวมตีพิมพ์ในปีแห่งการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ท่ามกลางความผันผวนของบ้านเมือง

พระถังซำจั๋ง (เสวียนจั้ง พ.ศ. 1145-1207)

ภาพปกหนังสือจดหมายเหตุการณ์เดินทาง ฯ ของพระถังซำจั๋ง
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2567
เขาอาจมิได้ปักหลักอยู่ในแดนธรรมะ หากแต่เคยก้าวผ่านเข้ามาด้วยความศรัทธา พร้อมทิ้งร่องรอยทางความคิดในเชิงพุทธไว้อย่างลึกซึ้งไม่แพ้งานเขียนแขนงอื่น ท่ามกลางข้อเขียนว่าด้วยพระพุทธศาสนาในนามปากกา “อุบาสก” นั้น มีอยู่บทหนึ่งที่ผู้เขียนใคร่ขอหยิบยกมาพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะมีมิติอันลุ่มลึกน่าค้นหา นั่นคือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับ “พระถังซำจั๋ง (เสวียนจั้ง)” ภิกษุผู้จาริกแสวงบุญในสมัยราชวงศ์ถัง[1] ซึ่งศรีบูรพาได้บรรจงเรียบเรียงขึ้นเพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของบุรุษผู้แสวงหาธรรมจากชมพูทวีป แม้เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เขียนบทความพิเศษประกอบหนังสือแปล จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 2567)[2] โดยอาจารย์ชิวซูหลิน หากก็ยังมิได้กล่าวถึงบทความชิ้นนี้ของศรีบูรพาอย่างสมควร ด้วยวาระ 120 ปีแห่งชาตกาลของนักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จึงขออุทิศบทความในครั้งนี้เพื่อเติมเต็มสายธารความรู้ และร่วมรำลึกถึงบุญคุณแห่งภิกษุผู้ยิ่งใหญ่กับนักประพันธ์ผู้เปี่ยมด้วยปณิธานไปในคราวเดียวกัน
อุดมคติแห่งพุทธธรรมในงานเขียนของ “ศรีบูรพา”

ปกหนังสือ อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500
แม้งานเขียนด้านพุทธศาสนาของศรีบูรพาจะมีการจัดพิมพ์ในช่วงที่ผู้ประพันธ์ยังมีชีวิตอยู่เพียงเล่มเดียว คือ อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยใช้ทั้งชื่อจริง “กุหลาบ สายประดิษฐ์” และนามปากกา “อุบาสก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุภาพบุรุษ พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นของเขาเอง ภายในเล่มระบุชื่อผู้จัดการคือ ชนิด สายประดิษฐ์ ภริยาของศรีบูรพา รสธรรมะที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ถือว่าโดดเด่น แตกต่างจากนักเขียนร่วมสมัยอย่างชัดเจน
เนื้อหาแบ่งออกเป็นสามส่วน ได้แก่ หนึ่ง การบูชาอันสูงสุด ใช้นามจริง กุหลาบ สายประดิษฐ์ (หน้าที่ 1–17) สอง อุดมธรรม (แบ่งเป็น 3 ตอน) ใช้นามจริงเช่นกัน (หน้าที่ 18–139) และสาม สนทนาพุทธศาสนา (รวม 12 เรื่อง) ใช้นามแฝงว่า “อุบาสก” (หน้าที่ 140–410) โดยมีรายละเอียดระยะเวลาการประพันธ์ดังนี้
การบูชาอันสูงสุด เป็นบทความที่ศรีบูรพาเขียนขึ้นเนื่องในวาระเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งจัดโดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงสัปดาห์วิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2500 ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร กะดึงทอง

ปกหนังสือ อุดมธรรม ฉบับ พ.ศ. 2519 มีคำปรารภของ กุหลาบ
สายประดิษฐ์
สำหรับเรื่อง อุดมธรรม จากคำชี้แจงท้ายเล่มพิมพ์แรก ระบุว่าเขียนขึ้นใน พ.ศ. 2498 และเริ่มเผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร วิปัสสนาสาร ของสำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดมหาธาตุ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 ภายในคำปรารภซึ่งไม่ปรากฏในพิมพ์ครั้งแรกแต่ในการพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2519 ระบุ ชื่อ-วัน-สถานที่ ไว้ว่า “กุหลาบ สายประดิษฐ์ 10 พฤศจิกายน 2498 เรือนจำกลาง บางขวาง” ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 ช่วย พูลเพิ่ม ได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติมนำเสนอลงรายละเอียดว่า นิตยสารดังกล่าวเป็นรายสองเดือน โดยเริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในปีที่ 2 เล่ม 4 (กรกฎาคม 2499) ต่อเนื่องในเล่ม 5 และ 6 จนถึงตอนจบในปีที่ 3 เล่ม 4 (กรกฎาคม 2500) เขายังสังเกตว่าในฉบับนิตยสาร ใช้นามปากกาว่า “ข.ช.กุหลาบ สายประดิษฐ์” ซึ่งดูแปลกตา แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลงานของ “ข.ช. สมัคร บุราวาส” ในฉบับเดียวกันที่มีคำอธิบายว่า “ผู้ต้องขังการเมือง แดน 6 บางขวาง” ก็สามารถอนุมานได้ว่า “ข.ช.” ย่อมาจาก “ผู้ต้องขังชาย” นั่นหมายความว่า อุดมธรรม คือผลงานที่ศรีบูรพารังสรรค์ขึ้นระหว่างถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมือง และแม้จะถูกจองจำ เขาก็ยังเขียนต่อเนื่องจนจบ ทว่าคำนำหน้า “ข.ช.” นี้กลับไม่ปรากฏในเล่มรวมพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 แต่อย่างใด
ส่วน สนทนาเรื่องพุทธศาสนา ตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน กะดึงทอง ของสำนักพิมพ์ไทยพณิชยการ ภายใต้การบรรณาธิการของนายสาทิศ อินทรกำแหง ศรีบูรพาใช้นามปากกาว่า “อุบาสก” ซึ่งเขาเคยเขียนถึงความประทับใจต่อศัพท์คำนี้ไว้ในคำปรารภชุดบทความอุดมธรรมว่า “ในวันเทศน์ลำดับญาณ ท่านอาจารย์ได้ปฏิสันถารกับพวกเรา โดยเรียกเราว่า อุบาสก คำนี้เป็นที่จับใจผู้เขียน เพราะอุบาสก แปลว่าผู้ที่เข้าไปนั่งอยู่ใกล้ ๆ พระพุทธเจ้า เป็นเวลานับปีที่เรามิได้เห็นดวงเดือนและดวงดาว และมิได้ชื่นชมแสงจันทร์ แต่การที่ดวงใจของเราได้อาบแสงธรรมในระหว่างเดือนของการปฏิบัติวิปัสสนานั้น นับว่าเป็นการชดเชยที่ไม่มีการชดเชยใดจะเทียบเท่า”[3] ต่อมา ช่วย พูลเพิ่ม ระบุว่าชุดบทความนี้เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ฉบับที่ 32 (พฤษภาคม พ.ศ. 2499) ต่อเนื่องถึงฉบับที่ 50 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2500) รวม 12 ตอน แม้จะเป็นบทความต่อเนื่อง แต่การตีพิมพ์กลับไม่สม่ำเสมอ บางตอนเว้นช่วงไปถึง 2–3 ฉบับ และในฉบับที่ 44 (พฤษภาคม พ.ศ. 2500) ยังมีการสลับลงบทความ การบูชาอันสูงสุด เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ที่ประเทศไทยจัดขึ้นในขณะนั้น เมื่ออ่านถึงตอนที่ 12 ของ สนทนาเรื่องพุทธศาสนา จะเห็นว่าเนื้อหาถูกปล่อยค้าง ทั้งที่กำลังดำเนินเข้าสู่สาระสำคัญอย่างยิ่ง นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากพิจารณาตามบริบทการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ว่าเขาอาจติดภาระในการเตรียมตัวลี้ภัยทางการเมือง จนต้องเดินทางออกนอกประเทศ และไม่มีโอกาสกลับคืนสู่มาตุภูมิอีกเลย[4]
ภายใต้บริบท “พระไทย” ไปเยือน “สาธารณรัฐประชาชนจีน” เมื่อ พ.ศ. 2499

ศรีบูรพา แสดงปาฐกถาในงานประชุมนักเขียนที่ปักกิ่ง พ.ศ. 2509
การหยิบเรื่อง “พระถังซำจั๋ง” มาเล่าในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร กะดึงทอง สะท้อนบริบททางการเมืองในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ราว พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มหันมาให้ความสนใจในการรื้อฟื้นและส่งเสริมความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่าที่เคยเป็นมา
เริ่มจากในบทที่ 6 ของ “สนทนาเรื่องพุทธศาสนา”[5] ศรีบูรพาเริ่มปูพื้นถึงเหตุการณ์สำคัญ เมื่อพระภิกษุไทยสี่รูปเดินทางเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนใน พ.ศ. 2499 เพื่อร่วมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ตามคำเชิญของพุทธสมาคมแห่งประเทศนั้น เหตุการณ์นี้กลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนไทยอย่างกว้างขวาง คำปราศรัยจากแผ่นดินใหญ่ของภิกษุทูตทั้งสี่นำมาซึ่งความปีติยินดี เมื่อพวกท่านได้เปิดเผยว่า พระพุทธศาสนาในจีนยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคง วัดวาอารามไม่ถูกทำลาย ปูชนียวัตถุยังได้รับการทำนุบำรุง และการปฏิบัติธรรมของบรรพชิตและฆราวาสก็ยังคงดำเนินไปโดยปกติ ไม่มีร่องรอยของการดูหมิ่นศาสนา ดังที่เคยถูกโฆษณาอย่างกึกก้องโดยฝ่ายโลกเสรี
หนึ่งในพระภิกษุผู้ร่วมเดินทางในครานั้นคือ พระมหามนัส พวงลำเจียก (จิตตฺทโม) ป.ธ.6 แห่งวัดมหาธาตุ ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยบาลีนาลันทา ประเทศอินเดีย ได้กล่าวปราศรัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียงจากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ว่า ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในแดนใหญ่ ท่านได้พบเห็นวัดวาอารามมากมาย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ต่างปฏิบัติธรรมตามวิถีแห่งพุทธะอย่างต่อเนื่อง ชาวพุทธในจีนนั้นยังคงรักษาศรัทธาอย่างแจ่มใส และมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างแท้จริง ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า ย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับข่าวลือที่แพร่สะพัดอยู่ก่อนหน้านั้น

พระภิกษุกุหลาบ สายประดิษฐ์ อุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตร
ฉายเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2477 (ปรับปรุงคุณภาพรูปถ่ายโดย ChatGPT)
พระภิกษุไทยอีกสามรูป ได้แก่ พระมหาโอภาส เวียงเล็ก (โอภาโส) ป.ธ.4 วัดเบญจมบพิตร พระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์[6](เตชธโร) ป.ธ.9 วัดพระเชตุพน และพระมหานคร พยุงญาติ[7] (เขมปาลี) ป.ธ.6 วัดมหาธาตุ ต่างก็ได้ให้คำปราศรัยสนับสนุนข้อมูลเดียวกันกับพระมหามนัส สะท้อนข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากกระแสโฆษณาชวนเชื่อในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
ในอีกด้านหนึ่ง ขณะนั้นการศึกษาพระอภิธรรมในเมืองไทยกำลังเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะในยุคของพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ พ.ศ. 2446-2532 สมณศักดิ์สุดท้ายคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์) แห่งวัดมหาธาตุ ซึ่งได้ประสานการสอนวิปัสสนากรรมฐานแบบ “ยุบหนอ–พองหนอ” เข้ากับการเรียนการสอนพระไตรปิฎก ทั้งในมิติของทฤษฎีและการปฏิบัติ ท่านได้อาราธนาเจ้าคุณภาวนาภิรามเถระ วัดระฆังฯ มาเป็นอาจารย์ใหญ่วิปัสสนาธุระ พร้อมส่งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ (ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี) ไปฝึกปฏิบัติวิปัสสนาที่ประเทศพม่าใน พ.ศ. 2495 ส่วนในสายปริยัติ ท่านก็ได้จัดส่งพระสงฆ์ไปศึกษายังประเทศต่าง ๆ อาทิ พระมหาบำเพ็ญ สามเณรไสว สามเณรทอง และสามเณรเทพ ไปพม่า พระมหาชูศักดิ์ ไปลังกา พระมหามนัส พระมหานคร และพระมหาสังเวียน ไปศึกษาต่อที่อินเดีย รวมถึงส่งพระกวีวรญาณไปศึกษาปริญญาโทด้านปรัชญาที่สหรัฐอเมริกา[8]
พระพิมลธรรมผู้นี้เอง ยังเป็นผู้เข้าไปเผยแผ่ธรรมะในเรือนจำบางขวางอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2498 โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ต้องขังคดี “กบฏสันติภาพ” อันรวมถึงศรีบูรพา ท่านได้เมตตาแสดงธรรมแก่หมู่ผู้ต้องขัง ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก เป็นผลให้ศรีบูรพาเกิดความเข้าใจในแก่นแท้ของพุทธธรรมอย่างถึงราก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนงานชุด อุดมธรรม อันเป็นหนึ่งในผลงานทางธรรมะที่สำคัญยิ่งของศรีบูรพา
กระทั่งในปี พ.ศ. 2503 วงการคณะสงฆ์ไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เมื่อมีการแจกจ่าย “ใบปลิวเถื่อน” ในนาม “แถลงการณ์คณะมหานิกาย” ที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารกิจการสงฆ์อย่างรุนแรง รัฐบาลในขณะนั้นจึงจัดประชุมลับขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เพื่อดำเนินการสอบสวน และต่อมาได้มีการกล่าวหาว่าพระสงฆ์กลุ่มที่เคยเดินทางไปจีนอยู่เบื้องหลังการกระจายแถลงการณ์ดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากพระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ) และพระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี)

ศรีบูรพาสัมผัสมือเหมาเจ๋อตง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2503
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณร ได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ภายใต้หัวข้อ “พระไทยไปจีน ได้พบประธานเหมา กลับเข้าเมืองไทย ได้ไปอยู่สันติบาล”[9] โดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา ตำรวจสันติบาลได้เข้ามาปรากฏตัวที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทำการตรวจสอบเครื่องพิมพ์ดีด และติดตามสังเกตพฤติกรรมบุคคลอย่างใกล้ชิด จนนำไปสู่การจับกุมพระสามรูป ได้แก่ พระมหามนัส (จิตฺตทโม), พระมหานคร (เขมปาลี) และพระมหาสังเวียร (เตชธฺโร) โดยตั้งข้อหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ต้องจำพรรษาในสันติปาลาราม (คุก) ระหว่างปี พ.ศ. 2503-2507 ขณะที่พระมหาโอภาส (โอภาโส) สามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ทัน
สังเขปชีวประวัติพระถังซำจั๋ง เล่าโดย “อุบาสก” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ภายหลังเกริ่นนำถึงภิกษุไทยทั้งสี่รูปที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนาในบริบทโลกสมัยใหม่ ศรีบูรพา ภายใต้นามปากกา “อุบาสก” ยังได้สานต่อเรื่องราวในบทความเดียวกัน ด้วยการพาย้อนกลับไปสู่อดีต เพื่อน้อมรำลึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในจีน นั่นคือ พระภิกษุฟาเหียน ผู้จาริกแสวงบุญสู่ชมพูทวีปราวสองศตวรรษก่อนพระถังซำจั๋ง ถือเป็นการวางรากฐานความเข้าใจทางประวัติศาสตร์อย่างประณีต ก่อนนำเข้าสู่บทที่ 7 ซึ่งอุทิศให้กับ “ยวนจาง” หรือที่ออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางว่า “เสวียนจั้ง” (Xuanzang) ภิกษุผู้มีบทบาทสำคัญสูงสุดในฐานะพุทธศาสนทูตแห่งราชวงศ์ถัง
บทความชีวประวัติพระถังซำจั๋งชิ้นนี้ ลงท้ายไว้ว่าเขียนเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2499 ซึ่งหากนับตามลำดับเวลาก็อยู่ก่อนที่ศรีบูรพาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเพียงราวสองเดือน คือในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[10] งานเขียนนี้จึงมิใช่เพียงผลผลิตแห่งสติปัญญา หากยังเป็นประจักษ์พยานแห่งหัวใจที่ยังคงมุ่งแสวงหาและแบ่งปันธรรมะ แม้ร่างกายจะอยู่ภายใต้พันธนาการ แต่จิตวิญญาณยังคงเสรีผ่านสายน้ำแห่งอักษร
ในแวดวงวรรณกรรมไทย พระถังซำจั๋งปรากฏตัวอยู่ก่อนหน้าแล้วผ่านนวนิยายคลาสสิก ไซอิ๋ว ซึ่งแปลโดย “นายติ่น” และตีพิมพ์ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี ร.ศ. 125-128 โดยโรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร หากแต่ ไซอิ๋ว เป็นการถ่ายทอดด้วยมิติแห่งจินตนิยาย มากกว่าประวัติศาสตร์ในความหมายเชิงข้อเท็จจริง ต่อมาใน พ.ศ. 2484 จึงได้มีผู้ถ่ายทอดชีวประวัติของ “พระถังซำจั๋ง” ผู้เป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ออกเป็นภาษาไทยเป็นครั้งแรกในชื่อ ประวัติท่านติปิฎกธโร แปลโดยเคงเหลียน สีบุญเรือง จากต้นฉบับภาษาจีน 大唐大慈恩寺三藏法師傳 ซึ่งประพันธ์โดยท่านฮุ่ยลี่ และเยี่ยนฉง หนังสือเล่มนี้ได้รับคำยกย่องจากเสถียร โพธินันทะ จนถึงกับนำมาอ่านออกเสียงให้พระสุชีโวภิกขุ (ต่อมาลาสิกขา ใช้ชื่อฆราวาสว่า สุชีพ ปุญญานุภาพ พ.ศ. 2460-2543[11]) ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ
ต่อมาใน พ.ศ. 2505 จึงมีผลงานถ่ายทอดชีวประวัติพระถังซำจั๋งออกมาอีกสองสำนวน คือ ฉบับแปลของ ส.ศิวรักษ์ ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ Arthur Waley และฉบับเรียบเรียงโดยรัตนบุรี ซึ่งแม้จะใช้ต้นฉบับเดียวกับเคงเหลียน แต่กลับตีความในสำนวนที่แตกต่างออกไป
อย่างไรก็ดี ศรีบูรพามิได้รับอิทธิพลจากต้นฉบับเหล่านี้แต่อย่างใด แม้เขาจะมิได้บ่งบอกที่มาโดยตรง แต่จากบทก่อนหน้าเกี่ยวกับพระฟาเหียนนั้น เขาได้อ้างอิงถึงต้นฉบับหนังสือภภาษาอังกฤษชื่อว่า 2500 Years of Buddhism โดย P.V.Bapat และเมื่อพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับเสวียนจั้งในบทที่ 7 ก็สามารถยืนยันได้ว่าศรีบูรพาได้หยิบข้อมูลจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้นั่นเอง[12] โดยใช้วิธีเรียบเรียงใหม่ในแบบฉบับของตน ด้วยนามปากกา “อุบาสก” ผู้เขียนได้นำพาผู้อ่านโลดแล่นเข้าสู่เส้นทางแห่งการจาริกของพระเถระเสวียนจั้ง ออกจากนครฉางอัน ลัดเลาะผ่านทะเลทรายและขุนเขาอันทุรกันดาร สู่ชมพูทวีป ดินแดนอันรุ่มรวยด้วยธรรมะ ก่อนจะหวนคืนพร้อมพระสูตรจำนวนมหาศาล ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นรากฐานอันมั่นคงของพระพุทธศาสนาในแผ่นดินจีน ดังปรากฏเนื้อหาอย่างสังเขปดังต่อไปนี้
ท่านยวนจาง[13] (Yuan Chwang[14]) หรือที่รู้จักในชื่อพระถังซำจั๋ง เกิดใน ค.ศ. 602 ชาวเมืองโลยัง (Lo-yang) ในเขตมณฑลโฮนานหรือเหอหนาน เมื่อยังเยาว์วัย เพียงแปดขวบเท่านั้น เด็กชายยวนจางก็ได้แสดงสิ่งอัศจรรย์ให้บิดาได้ประจักษ์ ด้วยการประกอบพิธีกรรมตามลัทธิขงจื๊ออย่างน่าทึ่ง พฤติกรรมของเขาในครั้งนั้นทำให้ผู้คนต่างเชื่อมั่นว่า เด็กน้อยผู้นี้คงเติบโตเป็นผู้มีชื่อเสียงในทางอักษรศาสตร์ ตามจารีตของมหาบัณฑิตแดนมังกร ดุจเดียวกับบรรพชนหลายคนในตระกูลของเขา ทว่าแบบอย่างของพี่ชาย ผู้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้ส่งอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อจิตใจของเขา และไม่นานนัก เด็กชายยวนจางก็ปลงใจอุทิศตนแด่พระพุทธศาสนา เขาบรรพชาเป็นสามเณรในวัดแห่งหนึ่งที่เมืองลั่วหยาง เมื่อมีอายุเพียงสิบสามปี
นับแต่นั้นมา ยวนจางเริ่มศึกษาปรัชญาอินเดียอย่างเอาจริงเอาจัง และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคแห่งวิชาอันลุ่มลึกได้ในเวลาไม่นาน ราวคริสต์ศักราช 617 ประเทศจีนประสบภาวะปั่นป่วนจากการเปลี่ยนราชวงศ์ ยวนจางจึงลี้ภัยไปยังแดนเขาห่างไกล แม้ชีวิตจะต้องพบกับความแร้นแค้น แต่เขายังคงมุ่งมั่นศึกษาธรรมะอย่างไม่ลดละ จนแตกฉานในพระพุทธธรรม และได้จัดการประชุมสนทนาธรรมหลายครั้ง ชื่อเสียงของยวนจางจึงขจรขจายไปอย่างรวดเร็วในถิ่นที่มีการศึกษาภาษาสันสกฤต ทั้งจากเกณฑ์ในญี่ปุ่น ตรูฟาน จนถึงสุมาตรา ต่างยกย่องเขาในฐานะนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างและสับสนในหลักธรรมของนิกายต่าง ๆ ภายในพุทธศาสนาในขณะนั้น ได้สร้างความร้อนรุ่มในใจของยวนจาง เขาตระหนักว่าหากต้องการรู้แจ้งในสัจธรรมอย่างแท้จริง จำต้องเดินทางไปยังถิ่นกำเนิดแห่งพระธรรม เพื่อศึกษาจากบัณฑิตผู้รอบรู้ในแผ่นดินนั้นโดยตรง ยวนจางจึงปฏิญาณตนจะจาริกไปยังนานาประเทศทางตะวันตก แม้รู้ว่าการเดินทางเช่นนั้นถือเป็นการฝ่าฝืนราชโองการ และเสี่ยงต่อภัยหลวงก็ตาม
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ภิกษุหนุ่มวัย 26 ปีจึงเริ่มต้นการเดินทางสู่ชมพูทวีป ถัดจากท่านฟาเหียนซึ่งเคยเดินทางในศตวรรษที่ 5 ถึงแม้จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังจะมิได้ทรงอนุญาตให้เขาออกนอกแผ่นดิน และแม้จะถูกผู้คนรอบข้างทัดทานหลายครั้ง แต่เมื่อเห็นความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวแม้ต่ออุปสรรคใด ๆ ทุกฝ่ายจึงกลับมาให้การสนับสนุนเต็มกำลัง การจาริกของท่านยวนจางจึงเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 629 โดยเป็นการเดินทางอย่างลับ ต้องหลบซ่อนในยามกลางวัน และออกเดินเพียงในยามราตรี ผ่านทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) และดินแดนต่าง ๆ อันทุรกันดารโดยลำพัง สถานที่แรกที่ปรากฏหลักฐานชัดคือเมืองตูรฟาน (Turfan) ซึ่งกษัตริย์จูเวน-ไต (Ch’u-Wen-tai) พยายามกักตัวท่านไว้แต่ไม่สำเร็จ ท่านได้เดินทางต่อไปยังคารา-ชาหร์ (Kara-shahr), คูชา (Kucha), อิสซิค-คูล (Issiq-Kul) และได้รับการอภิบาลจากมหาข่านแห่งเติร์กตะวันตก (Western Turk Khan) จนสามารถข้ามช่องเขาปามีร์ (Pamir) และเข้าสู่สมรขัณฑ์ (Samarkand), บัคเตรีย (Bactria), และบลัค (Balkh) ได้อย่างปลอดภัย
จากนั้น ท่านยวนจางข้ามเขาฮินดูกูษ (Hindu Kush) ไปยังบามิยัน (Bamiyan), กปิสา (Kapisa), ลัมปาก (Lampaka) และเข้าสู่ชมพูทวีปอย่างแท้จริงเมื่อถึงชลาลาบาด (Jalalabad) ท่านได้เดินทางผ่านคันธาระ (Gandhara), อุทยาน (Uddiyana), อุทภัณฑ์ (Udabhanda), ตักสิลา (Taxila), กัษมีระ (Kashmir), สาคล (Sakala) และจีนภุกี (Cinabhukti) ก่อนจะมุ่งสู่มัทธุระ (Mathura) และแม่น้ำยมุนา (Yamuna River) ไปถึงกานยกุพช (Kanyakubja) และประยาค (Prayaga) ซึ่งเป็นนครหลวงของพระเจ้าหรรษะ (King Harsha) แต่ยังมิได้พบกษัตริย์ในขณะนั้น ระหว่างทางท่านประสบเหตุถูกโจรจับหมายจะบูชายัญแก่เทพีทุรคา (Durga) แต่รอดพ้นมาได้ด้วยเหตุอัศจรรย์
หลังจากนั้น ท่านได้จาริกผ่านสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สาวัตถี (Sravasti), กบิลพัสดุ์ (Kapilavastu), ลุมพินี (Lumbini), กุสินารา (Kusinagara), พาราณสี (Varanasi), ไพสาลี (Vaishali) และเข้าสู่แคว้นมคธ (Magadha) ที่ซึ่งมหาวิทยาลัยนาลันทา (Nalanda University) ตั้งอยู่ ณ ที่นั่น ท่านยวนจางได้ศึกษากับท่านศีลภัทร์ (Silabhadra) ผู้เป็นสานุศิษย์สายอสงค์ (Asanga) และวสุพันธุ์ (Vasubandhu) อย่างลึกซึ้งถึง 15 เดือน ก่อนจะออกเดินทางลงใต้ผ่านตามรลิปติ (Tamralipti), โอริสสา (Orissa), มหาโกศล (Mahakosala), อัมราวตี (Amaravati), และกาญจี (Kanchipuram) แต่ยกเลิกแผนจะข้ามไปลังกา (Sri Lanka) เนื่องด้วยเหตุวุ่นวายในเกาะ ท่านหันกลับไปทางตะวันตกของอินเดีย ผ่านภารุกัจจ (Bharukaccha), วลภี (Valabhi), สินธุ (Sindh), มุลตาน (Multan) และกลับไปนาลันทาอีกครั้ง
กิตติศัพท์ของท่านลือไปถึงพระเจ้าหรรษะ (King Harsha) ผู้ทรงอาราธนาให้ท่านเข้าร่วมประชุมนักบวชที่กาเนาซ์ (Kannauj) และประยาค (Prayaga) การประชุมที่ประยาคถือเป็นกิจกรรมสุดท้ายในชมพูทวีป ก่อนที่ท่านจะออกเดินทางกลับ ท่านได้เดินทางย้อนเส้นทางเดิม ผ่านตักสิลา (Taxila), กัษมีระ (Kashmir), กปิสา (Kapisa), ฮินดูกูษ (Hindu Kush), ปามีร์ (Pamir) จนถึงโกตาน (Khotan) และรอหนังสือราชานุญาต ณ ตันฮวง (Tunhuang)
ในปี ค.ศ. 645 ท่านยวนจางกลับถึงนครฉางอัน (Chang’an) ได้รับการต้อนรับจากจักรพรรดิถังไท่จง (Emperor T’ai-tsung of Tang) และใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดแปลคัมภีร์ภาษาสันสกฤตจำนวนกว่า 600 เรื่อง ณ วัดที่สร้างถวายโดยเฉพาะ ท่านถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 664 ด้วยความสงบ ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของท่านกลายเป็นแบบอย่างแห่งพุทธศาสนทูตและนักปราชญ์ผู้เสาะแสวงหาธรรมในประวัติศาสตร์[15]
ความสนใจพุทธศาสนานอกกระแสหลักของศรีบูรพา

จดหมายของศรีบูรพาถึงพุทธทาส ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2495
แจ้งวันนัดหมายลงไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์
ก่อนหน้าการเขียนบทความธรรมะลงในนิตยสารทั้ง “วิปัสสนาสาร” และ “กระดึงทอง” ศรีบูรพาได้แสดงความสนใจต่อหนังสือพุทธศาสนาต่างประเทศภายในจดหมายที่เขาเขียนถึงท่านพุทธทาส ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 โดยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพุทธประวัติฉบับที่แตกต่างจากกระแสหลักในสังคมไทยไว้ว่า
“สิ่งที่ผมพอจะทำได้ และใคร่จะทำในชั้นต้นนี้ก็คือ การแปลพุทธประวัติจากฉบับภาษาอังกฤษ เช่นจากต้นฉบับของ Adams Beck ซึ่งเขาได้เขียนไว้อย่างน่าอ่าน การแนะนำธรรมะแก่ประชาชนโดยวิธีการบรรยายพุทธประวัตินั้น ผมเข้าใจว่าเป็นวิธีที่เหมาะวิธีหนึ่ง เพราะว่าคนทั่ว ๆ ไปที่ยังไม่สู้คุ้นกับธรรมะจะอ่านเรื่องในทำนองประวัติได้ง่ายกว่า เรื่องที่บรรยายข้อธรรมะอย่างจริงจัง ผมได้ทดลองดูโดยให้หนังสือ ประทีปแห่งเอเชีย[16]แก่ผู้ที่ไม่สู้จะสนใจในทางธรรมะมาแต่ก่อน และเขาก็ได้อ่านได้ตลอดเล่มและกล่าวว่ามีความพอใจ หนังสือของ Adams Beck นั้นผมคิดว่า ถ้าแปลออกเป็นไทยแล้ว ก็คงจะมีผู้พอใจอ่านแน่นอน คุณวิลาศ ก็อยากจะได้นำลงในหนังสือ ชาวกรุง (รายเดือน) ซึ่งคุณวิลาศเป็นบรรณาธิการอยู่ ผมได้สั่งหนังสือของ Paine ไปแล้วเพื่อนำมาพิจารณาประกอบ แต่ยังไม่ได้มา การเขียนเรื่องเกี่ยวกับธรรมะหรือการแปลพุทธประวัติก็ดี ผมอยากไปนั่งเขียนที่สวนโมกข์มากกว่าที่จะนั่งเขียนอยู่ในกรุงเทพฯ เพราะว่าจะทำได้ด้วยใจอันสงบผ่องแผ้ว และเมื่อมีข้อสงสัยติดขัด ก็จะได้ถามจากท่านได้โดยสะดวก”
นอกเหนือการอ้างหนังสือประทีปแห่งเอเชียในจดหมายที่มีถึงเจ้าสำนักสวนโมกข์แล้ว ศรีบูรพายังได้แนะนำไว้หนังสือเล่มเดียวกันนี้ไว้ในนิตยสารกระดึงทองอีกด้วยดังนี้
“ท่านพุทธศาสนิกชาวไทยผู้ห่างเหินธรรมในศาสนาอันประเสริฐของท่านเอง จะไม่ลองขวนขวายหาหนังสือเช่นธรรมบทหรือ ประทีปแห่งเอเชีย มาอ่านดูสักเล่มหนึ่งหรือ? (ฉบับภาษาไทยมีจำหน่ายที่มหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศวิหาร) หนังสือเพียงเล่มเดียวนี้อาจจะพาท่านไปพบความเปลี่ยนแปลงอันงดงามล้ำเลิศในชีวิต ยิ่งกว่าหนังสือจำพวกวิทยาการสักร้อยเล่มที่ท่านได้อ่านมาแล้วจะพาท่านไปพบได้”[17]
เนื้อหาในจดหมายฉบับเดียวกันยังสะท้อนถึงความสนใจในพุทธศาสนาเซน โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงหนังสือ The Diamond Sutra ที่แปลจากภาษาจีนโดย A.F. Price ซึ่งศรีบูรพาเข้าใจว่าเป็นฉบับเดียวกับวัชรสูตร อันเป็นสูตรที่ทำให้เว่ยหล่าง[18] ถึงกับอุทานว่า “พอได้ยินข้อความแห่งสูตรนั้นเท่านั้น ใจของอาตมาก็สว่างไสวในพุทธธรรม” ศรีบูรพากล่าวว่า สูตรที่มีข้อความลึกซึ้งเช่นนี้มิใช่สูตรที่ควรอ่านผ่าน ๆ หากแต่ต้องบริกรรม ทบทวน และซึมซับไว้ให้ฝังใจ
เขายังเล่าถึงประสบการณ์หลังกลับจากสวนโมกข์ว่า “ผมเสียดายที่ผมยังไม่คุ้นกับการใช้เวลากลางคืนในสถานที่อันสงัดผู้คน ถ้าผมเกิดความคุ้นกับความเงียบสงัดของเวลากลางคืนในป่าเมื่อใด สถานที่เช่นสวนโมกข์ก็จะเป็นสถานที่อันเป็นที่รักอย่างยิ่งของผม ไม่มีที่ใดจะเปรียบได้ อาการไม่สบายทางประสาทของผมค่อยบรรเทาลงตั้งแต่ผมกลับลงมาจากสวนโมกข์ ผมรู้สึกว่า ความเพ่งศึกษาธรรมะได้ช่วยบำบัดความไม่สบายส่วนนี้ได้ไม่น้อย ผมหวังว่า ในปีหน้าผมจะมีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่ที่สวนโมกข์นานกว่าในคราวแรก”
แต่ความตั้งใจนั้นไม่มีวันเป็นจริง เพราะในปลายปีเดียวกันเอง ศรีบูรพาถูกจับกุมภายใต้ข้อหา กบฏสันติภาพ!
“ศรีบูรพา” กัลยาณมิตรของ “พุทธทาส”

ศรีบูรพา และ พุทธทาส ฉายภาพร่วมกันที่สวนโมกข์ มาฆบูชา
พ.ศ.2495
เรื่องราวของกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพุทธทาสภิกขุ สองนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ทั้งในทางโลกและทางธรรม สะท้อนภาพของผู้ที่ต่างก็เป็นผลพวงแห่งการอภิวัฒน์ 2475 แม้ศรีบูรพาจะมีอายุมากกว่าพุทธทาสหนึ่งปี แต่ทั้งสองต่างมีสายสัมพันธ์ทางความคิดอันลึกซึ้ง พุทธทาสเคยกล่าวชื่นชมพระองค์วรรณฯ, น.ม.ส., ครูเทพ และหลวงวิจิตรวาทการ ทว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บุคคลที่โดดเด่นที่สุดในสายวรรณกรรมกลับเป็นชื่อของกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้า หนึ่งในสมาชิก “คณะสุภาพบุรุษ” ซึ่งก่อตัวขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2472
พุทธทาสเคยส่งบทความเรื่อง ชีวิตกับนิพพาน มายังศรีบูรพาในฐานะบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2481 นั่นคือหลักฐานชิ้นเดียวในยุคต้นที่ค้นพบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสอง จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2494 จึงปรากฏเอกสารชั้นต้นเพิ่มเติม ได้แก่ จดหมายโต้ตอบระหว่างฆราวาสกับบรรพชิตผู้มีจริตทางธรรมใกล้เคียงกัน ศรีบูรพาแสดงความสนใจในธรรมเทศนาเรื่อง วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม ของพุทธทาสอย่างจริงจัง และนั่นนำไปสู่การเดินทางของเขาสู่สวนโมกข์ช่วงวันมาฆบูชา ระหว่างวันที่ 5-10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495
กุหลาบ สายประดิษฐ์ สรุปความรู้สึกต่อสวนโมกข์ไว้สั้น ๆ ว่า
“มีบางคนถามผมว่า ไปเที่ยวสวนโมกข์สนุกไหม ผมได้ตอบเขาไปว่า ที่นั่นเป็น ‘ป่าไม้น่ารื่นรมย์ อันเป็นกำลังใจให้ถึงธรรมเครื่องหลุดพ้นจากทุกข์’”[19]
แม้ในยามที่ศรีบูรพาต้องถูกจองจำ เขายังคงกล่าวถึงพุทธทาสอยู่เสมอในงานธรรมะ โดยยกย่องว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา พุทธทาสคือผู้นำทางจิตวิญญาณผู้ไม่หยุดนิ่งในการชี้แนะแนวทางปฏิบัติธรรม ทั้งในหมู่บรรพชิตและฆราวาส และเทศนาเรื่องวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ ล้วนชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง[20]
ศรีบูรพาจึงเปรียบพุทธทาสไม่ต่างจากครูทางใจ และได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งจากทั้งพระสูตรภาคภาษาอังกฤษ รวมถึงคัมภีร์พุทธศาสนาเซนที่พุทธทาสเป็นผู้แปล เช่น สูตรของเว่ยหล่าง และ คำสอนของฮวงโป เขากล่าวถึงเว่ยหล่างว่า แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็สามารถบรรลุธรรมได้อย่างแท้จริงผ่านการปฏิบัติ
ในระหว่างถูกคุมขัง ศรีบูรพายังคงติดตามข่าวสารจากโลกภายนอก และอ้างถึงวารสาร The Middle Way ของพุทธสมาคมแห่งลอนดอน ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการเผยแพร่คัมภีร์และคำสอนเซ็นฉบับแปลสู่โลกตะวันตก เช่น Huang - Po Doctrine of Universal Mind แปลจากภาษาจีนโดย จอห์นโบลเฟลด์ และ Sutra of Wei Lang ซึ่งชาวจีนชื่อ ว่องมุ่ยเหล่า ได้แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาอังกฤษ (คำสอนนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้แปลและนำลงในหนังสือพิมพ์ พุทธสาสนา เมื่อปี พ.ศ. 2490 ให้ชื่อว่า “สูตรของเว่ยหล่าง” และต่อมาได้มีการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มหลายครั้ง)[21]
ในบทที่ 3 ของ สนทนาเรื่องพุทธศาสนา ศรีบูรพายกกรณีของเว่ยหล่างขึ้นเพื่อเน้นย้ำว่า การถือพุทธศาสนาเพียงในฐานะพิธีกรรม เช่น การสร้างวัด ไหว้พระ หรือทำบุญตามประเพณี ยังห่างไกลจากเจตนารมณ์แท้จริงของพระพุทธเจ้า หากปราศจากการลงมือปฏิบัติการแสวงหา “อุดมธรรม” ของพระศาสดาก็อาจกลายเป็นเพียงเรื่องลมแล้ง เพียงเมื่อเราตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง และลงมือปฏิบัติอย่างมั่นคง นั่นจึงอาจพอเรียกได้ว่า เราเริ่มเข้าใกล้ ศรัทธาในความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ไว้
บทส่งท้าย
แม้จะถูกแปะป้ายว่าเป็น “มาร์กซิสต์” และเลือกใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศจีนหลังรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2501 แต่กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา ก็คือหนึ่งในนักคิดไม่กี่คนที่สามารถอธิบายพุทธศาสนาได้อย่างงดงาม ลึกซึ้ง และมีชีวิตชีวา จนบางครั้งเราคงลืมไปว่า นักคิดหัวก้าวหน้าเช่นนี้ ก็เคยโน้มศีรษะลงต่อธรรมะด้วยใจอ่อนโยน
ณ ดินแดนที่ศรีบูรพาฝากลมหายใจสุดท้ายไว้ ผู้นำประเทศหลังไม้ไผ่ขณะนั้น เหมา เจ๋อตง (毛泽东 พ.ศ. 2436–2519) แม้จะคุ้นเคยกับเรื่องราวของพระถังซำจั๋งจากนวนิยายไซอิ๋วมาตั้งแต่วัยเยาว์เช่นเดียวกับเด็กจีนทั่วไป หากเมื่อเติบโตขึ้น เขาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพระถังเสวียนจั้งในฐานะบุคคลทางประวัติศาสตร์ และเคยหยิบยกการเดินทางอัญเชิญพระคัมภีร์จากชมพูทวีปของพระภิกษุรูปนี้มาเปรียบในการอภิปรายทางการเมืองในหลายวาระ
ดังครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2480 ขณะต้อนรับผู้นำพรรคที่กลับจากสหภาพโซเวียต ณ เหยียนอัน เหมากล่าวถึงการเดินทางของพระถังซำจั๋ง โดยเปรียบกับการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนศึกษาลัทธิมาร์กซ–เลนินจากโซเวียตว่า “พระถังซำจั๋งเดินทางไปทิศตะวันตก เรียกว่าประเทศเทียนจู๋ นั่นคือประเทศอินเดียในปัจจุบัน เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนา ส่วนพวกเราไปทิศตะวันตกคือสหภาพโซเวียต สิ่งที่นำกลับมาคือลัทธิมาร์กซ–เลนิน” และในปีถัดมา พ.ศ. 2481 เหมายังกล่าวยกย่อง "จิตใจแน่วแน่ไม่ย่อท้อของพระถังซำจั๋ง" ว่าคือแบบอย่างของการมีปณิธานอันมั่นคง
พระถังซำจั๋งยังถูกยกย่องในฐานะ “นักแปลผู้ยิ่งใหญ่” เหมาเคยเปรียบการทำงานแปลว่าเป็น กุศลกรรมอันใหญ่หลวง โดยใน พ.ศ. 2485 เขาเสนอให้สหายผู้หนึ่งทำงานแปลแทนงานภาคสนาม พร้อมกล่าวว่า “เรียนแบบพระถังซำจั๋งและหลู่ซวิ่นเถิด” และใน พ.ศ. 2488 เข่าได้ให้ข้อคิดอีกว่าจงอย่าได้ดูแคลนสหายที่ทำงานแปลลัทธิมาร์กซ–เลนิน ในประวัติศาสตร์ของจีนเอง พระถังซำจั๋งก็ได้จัดตั้งคณะแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา
ภายหลังปฏิวัติสำเร็จแล้ว ประธานเหมาก็เคยยกตัวอย่างพระถังซำจั๋งขึ้นมาเป็นเชิงอุปลักษณ์ในการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร โดยกล่าวไว้ระหว่างเยือนสหภาพโซเวียตเมื่อ พ.ศ. 2493 ว่า “ต้องส่งเสริมจิตวิญญาณของพระถังซำจั๋งในการไปอัญเชิญพระคัมภีร์ทางทิศตะวันตก 要提倡唐僧西天取经精神” และในปี พ.ศ. 2496 เขากล่าวต่อที่ประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติว่า “ประชาชาติของเราแต่ไหนแต่ไรย่อมเปิดรับวัฒนธรรมที่ดีจากต่างชาติ พระถังซำจั๋งเดินทางไกลนับหมื่นลี้ ฝ่าอุปสรรคหนักหนากว่าคนรุ่นหลังมาก เพื่อไปอินเดียอัญเชิญพระไตรปิฎก”
กระทั่งในปี พ.ศ. 2505 ท่ามกลางวิกฤตความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและอินเดีย ประธานเหมาได้กล่าวอย่างเคารพต่ออารยธรรมอินเดีย ทั้งยังยกตัวอย่างการเดินทางไปอัญเชิญคัมภีร์พุทธศาสนาของพระถังซำจั๋งขึ้นยกย่องไว้อีกครั้งว่า “เฉินเสวียนจั้ง (ชื่อจริงของพระถังซำจั๋ง แซ่เฉิน ฉายาเสวียนจั้ง - ผู้เขียน) ได้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศของเรา” และเล่าเรื่องที่ท่านโต้คำสอนพราหมณ์จนได้รับฉายาว่า “ผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหายาน” (大乘天) พร้อมกล่าวปิดท้ายอย่างชัดเจนว่า การกระทำของพระถังซำจั๋งคือความภาคภูมิใจของชาวจีน[22]
ทั้งนี้เรื่องราวของประธานเหมากับทัศนะทางพระพุทธศาสนาเฉพาะต่อประเทศไทย ยังสามารถหามาศึกษาจากการถ่ายทอดโดยตรงจากเรื่องเล่าของคณะคนไทยนำโดย อารี ภิรมย์ ที่ได้ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ พ.ศ. 2498 [23]
ท้ายนี้ ไม่ว่าเส้นทางของศรีบูรพาจะเริ่มต้นจากโลกของนวนิยาย การเมือง หรือสื่อมวลชน แต่ในที่สุด เขาก็ได้ออกเดินทางภายใน มิใช่เพื่ออัญเชิญคัมภีร์มาสู่แผ่นดินในแบบฉบับของพระถังซำจั๋ง หากเพื่อค้นหาคำตอบให้กับตนเองและสังคมไทยที่เขารักยิ่ง เมื่อเราหันกลับไปมองงานเขียนชุด อุดมธรรม และ สนทนาเรื่องพุทธศาสนา เราอาจเห็นแสงเล็ก ๆ ที่เขาค่อย ๆ จุดขึ้นจากปลายปากกาที่จรดลงกระดาษภายในสถานกักกัน เป็นการเดินทางที่ไกลลึก ข้ามพรมแดนของความเชื่อและทัศนะ เพื่อค้นหาความหมายที่ยังตอบสนองชีวิตและความเป็นมนุษย์ ก่อนจะถ่ายทอดออกมาอย่างอ่อนโยนผ่านถ้อยคำที่เรียบง่ายและจริงใจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหนึ่งในหนังสือเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาที่ผู้เขียนชื่นชอบมากที่สุดเล่มหนึ่งในบรรณพิภพไทย
[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, การเมืองในชีวประวัติ ‘ถังซำจั๋ง’ ดู https://www.the101.world/tang-san-zang-politic/
[2] เสวียนจั้ง (ถังซำจั๋ง), ชิวซูหลุน (แปล), จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2567, (มติชน).
[3] กุหลาบ สายประดิษฐ์, คำปรารภ ใน อุดมธรรม “อุบาสก” จัดพิมพ์โดย ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ และประเพณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. 2519, (สมชายการพิมพ์).
[4] ช่วย มูลเพิ่ม, บรรณาธิการ, จากสำนักพิมพ์ ใน “ศรีบูรพา” อุดมธรรม กับผลงานชุด พุทธศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2536, (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า) หรือดูต้นฉบับจากเว็บไซต์สถาบันปรีดี จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1033
[5] กุหลาบ สายประดิษฐ์-อุบาสก, อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500, ( สุภาพบุรุษ), น. 264-266.
[6] ชีวิตและงาน ของ สังเวียร มีเผ่าพงษ์, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายสังเวียร มีเผ่าพงษ์ ท.ช. ณ เมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2528, (บัณฑิตการพิมพ์).
[7] พระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี), ชีวิตลิขิตของกรรม กับ จดหมายจากพ่อถึงลูกสาว, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระราชรัตนโมลี (นคร เขมปาลี ป.ธ.6, Ph.D.) วัดสระเกศ วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551, (โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย).
[8] ร.อ.หลวงสัตถยุทธชำนาญ บ.ก., คำพิพากษาอดีตพระพิมลธรรม, พ.ศ. 2509, (โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม), คำนำ น. 17.
[9] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) , มหาจุฬาฯ งามสง่าสดชื่น กลางทะเลแห่งคลื่นลม, ร่วมบำเพ็ญกุศลอุทิศถวาย ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 9 มีนาคม 2557, น.30.
[10] ไอ้เสือ’ ของ ‘ศรีบูรพา’ จาก ‘คุก’ สู่ ‘อิสรภาพ’ / บทความพิเศษ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ดู https://www.matichonweekly.com/column/article_409729
[11] สุชีพ ปุญญานุภาพ ดู https://th.wikipedia.org/wiki/สุชีพ_ปุญญานุภาพ
[12] P.V.Bapat, 2500 Years of Buddhism, The Publications Division Ministry of Information and Broadcasting Government of India, 1956, Photo-Litho Press, pp. 262-274.
[13] คำสะกดภาษาไทยชื่อเฉพาะทั้งหมด โดย “อุบาสก” (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
[14] คำสะกดภาษาอังกฤษชื่อเฉพาะทั้งหมดจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของ P.V.Bapat อย่างไรก็ตาม กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ทำหมายเหตุไว้ว่า *นามของท่านผู้นี้ ในภาษาอังกฤษเขียนต่าง ๆ กัน นอกจาก Yuan Chang หรือ Yuan Chwang แล้วยังมีที่เขียนว่า Hien Tsang หรือ Hiuen Tsian Tsang.
[15] กุหลาบ สายประดิษฐ์-อุบาสก, อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500, (สุภาพบุรุษ), น.285-311.
[16] ฉบับนี้แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2470 จาก Light of Asia โดยเจ้าศักดิ์ประเสริฐ นครจำปาศักดิ์.
[17] กุหลาบ สายประดิษฐ์-อุบาสก, อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500, (สุภาพบุรุษ), น. 59.
[18] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พระสูตรเว่ยหล่าง คัมภีร์เซนยอดนิยมของสังคมไทย ดู https://www.the101.world/sutra-of-hui-neng/
[19] ดูจดหมายโต้ตอบ พุทธทาส กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์, เอกสารจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ BIA7.1/1.
[20] กุหลาบ สายประดิษฐ์-อุบาสก, อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500, สุภาพบุรุษ), น. 174-175.
[21] กุหลาบ สายประดิษฐ์-อุบาสก, อุดมธรรม กับ ความเรียงเรื่องพุทธศาสนา 13 บท, พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม พ.ศ. 2500, (สุภาพบุรุษ), น. 201.
[22] 宋云彬,苏渊雷,孙毓修 著. “玄奘传三种” ,上海人民出版社 , 2008,184-186 页
[23] กรุณา กุศลาสัย,ประวัติศาสตร์การทูตจีน-ไทย ยุคใต้ดิน,พิมพ์คร้งที่ 3 พ.ศ.2548,(สุขภาพใจ), น.123-126.