Focus
- Dialogue with the Father การแสดงสดเชิงสารคดี (Documentary Theatre) ชีวิตของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมสำคัญหลายชิ้นและยังมีบทบาทเป็นนักต่อสู้ทางการเมืองตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ในช่วงชีวิตบั้นปลายของวัฒน์ เขาอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง เป็นสารคดีที่ถ่ายทอดผ่านความทรงจำของบุตรสาวและบุตรชายทั้ง 3 คนของวัฒน์ คือ วนะ วสุ และ วจนา วรรลยางกูร เป็นบทสนทนาทางความคิดอันทรงพลัง อำนวยการสร้างโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กับคณะละคร For What Theatre และ Miss Theatre โดยใช้เทคนิคการแสดงแบบ Performance Making ไม่มีตัวละครและผู้แสดง ทุกคนเล่นเป็นตนเอง จัดแสดงพร้อมนิทรรศการผ่านต้นฉบับงานเขียน ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพวาด บทเพลง บทกวี วัตถุพยาน เป็นหลักฐานผ่านความทรงจำของลูกที่มีต่อพ่อนักต่อสู้ผู้มีชีวิตเชื่อมโยงกับบริบททางสังคมและการเมืองไทยมากว่า 50 ปี
“จากลานโพธิ์ถึงภูพาน”[1]
คำร้อง : วัฒน์ วรรลยางกูร
ทำนอง : สุรสีห์ ผาธรรม & วัฒน์ วรรลยางกูร
ดินสอโดมธรรมศาสตร์ เด่นสู้ศึก
ได้จารึก หนี้เลือด อันเดือดดับ
6 ตุลา เพื่อนเรา ล่วงลับ
มันแค้นคับ เดือดระอุ อกคุไฟ
เรามีเพียงมือเปล่ามันล้อมปราบ
ระเบิดบาป กระสุนบ้า มาสาดใส่
เสียงเหมือนแตรงานศพ ซบสิ้นใจ
สนามหญ้าคลุ้งกลิ่นไอ คาวเลือดคน
มันตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน
อ้างหลักฐาน จับเข้าคุก ทุกแห่งหน
เราอดทน ถึงที่สุด ก็สุดทน
จึงเปลี่ยนหนทางสู้ขึ้นถูพาน
อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่
สู่มหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ
จะโค่นล้มไล่เฉดผเด็จการ
อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง
สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ
พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง
จรยุทธ์นำประชาสู่ฟ้าทอง
กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร
ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย
ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่
วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย
จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์
วัฒน์ วรรลยางกูร
แม่ทัพแห่งกระบวนทัศน์วัฒนธรรมและการเมือง
ประสบการณ์ชีวิตของใครบางคน อาจมีอิทธิพลหรือดลแรงบันดาลใจต่อใครอีกหลายคน จนส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนเคลื่อนไหว หรืออาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไปในทางที่ดีได้อย่างคาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาของ “โครงการ Dialogue with the Master” โดย Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวที่นำเสนอมิติทางความคิดและประสบการณ์ของศิลปินในหลากหลายสาขา นำมาตีความใหม่ โดยสร้างสรรค์เนื้อหาและวิธีคิดควบคู่ส่งสู่ผู้ชม เพื่อเชื่อมโยงศิลปินในกระบวนการสร้างผลงานต่างรูปแบบได้ร่วมกันสร้างบทสนทนาซึ่งกันและกันเพื่อ สะท้อน นำเสนอ ผสานวิธีคิด และสร้างเป็นผลงานชิ้นใหม่ขึ้นในแต่ละครั้งของโครงการฯ กิจกรรมริเริ่มและดำเนินงานโดย ฝ่ายกิจกรรมศิลปะ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Dialogue with the Master ครั้งที่ 1 เป็นสุนทรียสนทนากับ โตมร ศุขปรีชา นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการ เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องสตูดิโอ (ชั้น 4) หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บอกเล่าถึงงานวรรณกรรมที่มีผลต่อชีวิตและงานเขียน ร่วมถ่ายทอดผ่านการตีความทางดนตรีโดย ผศ. ดร.อโณทัย นิติพน นำเสนอผ่านการเล่าเรื่องผสานกับการแสดงดนตรีสด งานออกแบบเสียง และการใช้สื่อผสม
ล่าสุด ผลงานลำดับที่ 2 ของ “โครงการ Dialogue with the Master” นำเสนอ “ Dialogue with the Father” เป็นงานการต่อยอดความสำเร็จจาก Documentary Theatre เรื่อง “แค่จาก” (Just away)[2] ผลงานการแสดงเดี่ยวของ วสุ วรรลยางกูร บุตรชายคนกลางของ วัฒน์ วรรลยางกูร (นักคิด คีตกวี นักเขียน นักเคลื่อนไหวเปี่ยมอุดมการณ์ เจ้าของ ‘รางวัลศรีบูรพา’ คนที่ 19 ปี 2550 ผู้ถูกยกให้เป็นครู หรือ Master ในโครงการ "Dialogue with the Master") หลังการจากไปของผู้เป็นพ่อ บรรจงจิตบอกเล่าเรื่องราวความคิด อุดมการณ์ของศิลปินที่เกี่ยวร้อยรับกับการเมือง เป็นการแสดงสำรวจชีวิตของคนที่ยังอยู่สถานะจากความเป็นลูกสู่ความเป็นพ่อของ ‘ตั๊กแตน’ กำกับการแสดง วิชย อาทมาท และ ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ เมื่อวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2566 ใน “เทศกาลละครกรุงเทพ” Bangkok Theatre Festival (BTF 2023 ) ณ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“สำหรับเรา ‘เรื่องพ่อ’ ถึงผ่านไปหลายปีก็ยังรู้สึกเหมือนเพิ่งผ่านไปไม่นาน มันมีหลายสิ่งมากที่ยังคงวนเวียนอยู่ในความรู้สึก คิดอยู่หลายตลบจนสุดท้ายคิดว่ายังอยากเล่าเรื่องเขาต่อไป ผมคุยกับพี่น้องอยู่เสมอว่า สิ่งจำเป็นต้องทำมากที่สุดคือ ต้องเล่าเรื่องพ่อต่อ พอกลับมาพูดเรื่องพ่อมันทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเราหยุดพูดเรื่องนี้ก็จะสูญสลายไปหมด ทุกคนใช้ชีวิตตามใจที่ตัวเองอยากเป็น แต่ว่าที่พ่อเลือกช้อยส์นี้ ผมเชื่อว่าเขาคิด… เพราะมีพันธกิจบางอย่างอยู่ ไม่ใช่เพียงแค่ ‘ความอยาก’ ของเขาอย่างเดียว แต่มันคือพันธกิจและสิ่งที่เขาต้องการส่งต่อด้วยครับ ถ้าจะเล่าจะทำแล้วก็ต้องไปให้ถึงที่สุด เพราะสิ่งที่เขาทำ(พ่อกับการต่อสู้)แล้วเรา(สังคม)ไม่พูดถึงมันต่อ ผมรู้สึกว่านั่นคือสิ่งที่เขาอยากจะบอกเล่าถ่ายทอดมันออกมาครับ” วสุ ยืนยันพันธกิจร่วมกัน
เป็นแรงบันดาลให้ศิลปินสร้างงาน
“ตายน่ะเรื่องธรรมดา แต่ก่อนตายนี่สิ ไม่ใช่เรื่องธรรมดา มันสำคัญที่ว่า ลมหายใจเรามีไว้ทำไม”
ข้อความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งจากบทประพันธ์ “น้ำผึ้งไพร” (2523) โดย วัฒน์ วรรลยางกูร คือจุดเริ่มต้นในการสร้างบทสนทนาที่สองผู้กำกับ ปฏิพล (มิสโอ๊ต) และ วิชย อาทมาท ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและกำกับการแสดง “Dialogue with the Father” เพื่อเชิญชวนผู้ชมใคร่ครวญครุ่นคิดไปกับผลงานการแสดงสดเชิงสารคดีจากชีวิตและผลงานของ วัฒน์ วรรลยางกูร ศิลปิน นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ทางการเมือง เจ้าของผลงานสำคัญแห่งยุคสมัยเรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2524) ครั้งนี้ศิลปินทั้งสองสนใจที่จะสำรวจเส้นทางชีวิต และผลงานที่เกี่ยวรัดเชื่อมโยงไปกับบริบทและประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ศิลปิน นักต่อสู้และผู้เป็นพ่อ ผ่านมุมมองของ วนะ วสุ และวจนา วรรลยางกูร ทายาททั้งสาม ผู้สืบทอดมรดกทางปัญญา และถือครองเรื่องราวของผู้เป็นพ่อตามประสบการณ์และความทรงจำของตน ปัจจุบัน วนะ วสุ และวจนา ยังคงสร้างสรรค์งานในเส้นทางของ ‘นักเล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อและศิลปะตามรูปแบบแนวทางของตัวเอง
ความคิดเห็นจากศิลปินผู้สร้างงาน "วิชย อาทมาท และ ปฏิพล (มิสโอ๊ต)" สองผู้กำกับการแสดง “Dialogue with the Father”
‘Dialogue with the Father’ พาไปสำรวจเส้นทางชีวิตและผลงานที่เกี่ยวรัดเชื่อมโยงไปกับบริบทและประวัติศาสตร์การเมืองไทยของวัฒน์ โดยเล่าผ่านผู้สืบทอดมรดกทางปัญญา และถือครองเรื่องราวของผู้เป็นพ่อตามประสบการณ์และความทรงจำของตน
“เรื่องนี้พยายามสํารวจหลาย ๆ มิติของความสัมพันธ์ ในฐานะลูกกับพ่อ ฐานะศิลปินกับศิลปินหรือฐานะผู้ร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน และมันจะพาไปสำรวจไกลกว่าแค่เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว”
“มรดกของคุณวัฒน์คือการส่งต่อและทําให้การต่อสู้ไม่ได้ถูกจํากัดอยู่แค่ในช่วงชีวิตของเขา”
“การเล่าเรื่องแบบนี้ทำให้เห็นโมเมนต์เล็ก ๆ ที่ไม่สามารถเห็นได้ในการพูดถึงแบบอื่น”
“เราไม่ได้อยากให้งานคุณวัฒนต้องจบเพียงแค่ว่าเขาเสีย หรือไม่ได้จบเพียงแค่ว่า ลูกทั้งสามคนกำลังโศกเศร้า แต่เราสนใจว่าความเป็นคุณวัฒน์ยังถูกเล่าขานเรื่อย ๆ เป็นเรื่องผลงานมากกว่าตัวบุคคล แม้ทุกอย่างจะตายไปแต่ศิลปะยังคงอยู่
“Dialogue with the Father” อำนวยการสร้างโดยความร่วมมือระหว่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กับคณะละคร For What Theatre และ Miss Theatre เป็นการสื่อสารสดเชิงสารคดี (Documentary Theatre) โดยใช้เทคนิคการแสดงแบบ Performance Making (ไม่มีตัวละคร ผู้แสดงทุกคนเล่นเป็นตัวของตัวเอง) ครั้งนี้ศิลปินสามพี่น้องทายาทผู้รับมอบมรดกทางปัญญาเปี่ยมคุณค่าของบิดามากันครบพบกับ วนะ(ตุ๊ย 2529) วสุ(ตั๊กแตน 2532) และ วจนา(เตย 2534) วรรลยางกูร การแสดงจัดพร้อมนิทรรศการน้อยในสตูดิโอ 4 เรียงรายถ่ายทอดสารสำคัญผ่านข้อความจากต้นฉบับงานเขียนของวัฒน์ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพวาด บทเพลง บทกวี วัตถุพยาน และหลักฐานของความทรงจำต่าง ๆ ที่เป็นเหมือนบทบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งส่วนตัว ครอบครัว และสังคมไทย
“Dialogue with the Father” เปิดแสดงจริงเพียงรอบเดียวเท่านั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 เวลา 15.00 น. ณ สตูดิโอ ชั้น 4 ณ BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดให้เข้าชมรอบซ้อมใหญ่ในวันที่ 13 ธันวาคม 2567 และรอบสื่อมวลชนในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ผู้คนล้นทุกรอบแม้ได้รับแจ้งล่วงหน้าว่าเวลาในการแสดง 3 ชั่วโมงเต็ม โดยไม่มีพักครึ่ง ตามสไตล์ของผู้กำกับ ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ (มิสโอ๊ต เธอเล่นมาแล้วจากการแสดงเดี่ยวในวาระอายุ 30 เมื่อปี 2023 ด้วย “𝟯𝟬𝘁𝗵 : '𝗜𝗳 𝗜 𝗖𝗮𝗻’𝘁 𝗦𝗶𝗻𝗴, 𝗜 𝗗𝗼𝗻’𝘁 𝗪𝗮𝗻𝘁 𝗧𝗼 𝗕𝗲 𝗣𝗮𝗿𝘁 𝗢𝗳 𝗬𝗼𝘂𝗿 𝗥𝗲𝘃𝗼𝗹𝘂𝘁𝗶𝗼𝗻.” (ชื่อเรื่องเล่นกับตัวเลขชวนให้คิดถึงหนัง Chungking Express ของเฮีย Wong Kar wai) ที่ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ชวนให้นึกถึง Endurance Art (‘ศิลปะแห่งความอดทน’ ที่เป็นกระแสนิยมในอเมริกาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำปี 1920-1930) แต่เรื่องนี้เกิดในห้องคาราโอเกะ ทุกฝ่ายไม่ต้องอดทนแต่กลับ entertain ไปกับการแสดงที่เข้าข่าย Durational Performance ของสาย Performance Art ที่ทำงานกับช่วงระยะเวลาเพื่อให้เวลาที่ผ่านเป็นงานเล่าเรื่อง แม้กระนั้น “Dialogue with the Father” ก็ตรึงผู้ชม (ทั้งแฟนพ่อแฟนลูก) ไว้ ไม่ลุกหนีหาย เหมือนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว วรรลยางกูร ร่วมกัน ในช่วงเวลาสั้น ๆ ของประวัติศาสตร์ชาติไทย
วิชย อาทมาท เป็นหนึ่งในสมาชิกของ For What Theatre เขาศึกษาสาขาวิชาภาพยนตร์ในระดับปริญญาตรีและหลงใหลในการแสดง และเริ่มทำงานในสายงานละครเวทีจากการเป็นผู้ประสานงานโครงการสำหรับเทศกาลละครกรุงเทพ ปี 2008 ต่อมาในปี 2009 เขาเข้าร่วม New Theatre Society จนเติบโตกลายเป็นผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักคนหนึ่งในด้านละครรูปแบบทดลองที่หลากหลาย และด้านแนวทางการละครที่ไม่เป็นไปตามประเพณี วิชยสนใจเป็นพิเศษในด้านการสำรวจว่าสังคมจดจำและไม่จดจำประวัติศาสตร์ผ่านวันบางวันในปฏิทินได้อย่างไร นอกจากนี้ เขายังร่วมก่อตั้ง For What Theatre ในปี 2015 และเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Sudvisai Club และ Collective Thai Scripts ในปี 2023 เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง F Y I และ โครงการพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Spectation and suspicion อีกด้วย
ปัจจุบัน การแสดงของวิชยได้ถูกรับเลือกให้ไปจัดแสดงในเทศกาลละครที่ต่างประเทศมากมาย เช่น เบลเยี่ยม ออสเตรีย ฝรั่งเศส นอร์เวย์ สโลวีเนีย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย และวิชยยังเดินทางแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะสำคัญ ๆ อย่างกว้างขวางทั้งในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะผลงาน 'เพลงนี้พ่อเคยร้อง' ที่ปฐมทัศน์ในต่างประเทศครั้งแรกที่ เทศกาล Kunstenfestivaldesarts (KFDA) เมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในปี 2019 และเดินทางแสดงอยู่จนถึงปัจจุบันมาแล้ว 10 ประเทศ และยังคงสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ (มิสโอ๊ต) เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มละคร Miss Theatre จบการศึกษาปริญญาตรี นิเทศศาสตร์บัณฑิต เธอสนใจการแสดงตั้งแต่ยังศึกษาคณะนิเทศศาสตร์จากการร่วมโปรเจค “อ่านเรื่องเพศ” โดย พระจันทร์เสี้ยวการละคร ในปี 2016 หลังจากเรียนจบ มิสโอ๊ตเริ่มตั้งกลุ่มละคร Miss Theatre เพื่อสร้างสรรค์ผลงานในประเด็นที่สนใจ ได้แก่ เควียร์ การเมือง และความเป็นมนุษย์ มุ่งเน้นการตั้งคำถามในความปัจเจก ความเป็นตัวตน ผ่านเรื่องราวส่วนตัว เพื่อให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิพากษ์สังคม ปฏิพลได้รับรางวัลบทละครยอดเยี่ยม ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2020
งานของมิสโอ๊ตมุ่งเน้นการสร้างงานสำรวจพื้นที่ ซึ่งเรื่องส่วนตัวของศิลปินผู้สร้างงานสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องส่วนตัวของผู้ชม และนำไปสู่การตั้งคำถามและการวิพากษ์ประเด็นสังคม ผ่านการทดลองทางการแสดงในหลายรูปแบบ ในปี 2020 มิสได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิก International Forum ของ Theatertreffen ส่วนหนึ่งของเทศกาล Berliner Festspiele ซึ่งได้เลื่อนการจัดไปเป็นปี 2021 มิสโอ๊ต ได้ก่อตั้ง “H0M0HAUS” ขึ้นในปี 2024 ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะการแสดงเพื่อความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับศิลปินสายศิลปะการแสดงที่นิยามตัวเองอยู่ ‘นอกกรอบเพศวิถี’ เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและต่อสู้กับระบอบปิตาธิปไตยในสังคมไทยผ่านศิลปะการแสดง
วนะ วรรลยางกูร (ตุ๋ย) จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโทด้านศิลปะจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผลงานของเขามักเน้นไปที่ประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยเฉพาะเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และความซับซ้อนของสังคมไทย ด้วยแรงบันดาลใจจากการเติบโตในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักเขียน และผู้ลี้ภัยทางการเมือง เพราะปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหารในปี 2557 วนะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์และสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ผ่านการตีความประวัติศาสตร์ และการสร้างมุมมองที่หลากหลาย นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขาคือ “Boundaries of Time”[3] ณ Many Cut art Space Ari ที่จัดแสดงไปในปี 2565
ผมคิดถึงหนังสือเล่มนี้ เพราะแทบไม่มีใครรู้จักมันในฐานะงานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร เลย “THE PICK-UP ขับชีวิตสุดขอบฟ้า” คืออารมณ์ขันอันเป็นปกติของพ่อ เนื้อแท้ตัวตนพ่อเป็นคนอารมณ์ดี มีความสุขกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ง่าย ซึ่งต่างจากวรรณกรรมที่สร้างชื่อเสียงให้พ่อ
วสุ วรรลยางกูร (ตั๊กแตน) เป็นศิลปินด้านศิลปะการแสดงมากกว่า 15 ปี โดยเฉพาะงานละครเวที และการแสดงละครใบ้ วสุเป็นสมาชิกของกลุ่ม B-Floor Theatre ซึ่งเป็นกลุ่ม Physical Theatre ที่มีจุดยืนในการสร้างผลงานสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมและการเมือง พร้อมกับส่งเสริมการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมผ่านศิลปะการแสดงอย่างต่อเนื่อง ตลอดเส้นทางอาชีพ วสุได้ฝึกฝนละครใบ้และทำงานงานกับกลุ่ม "ละครใบ้คนหน้าขาว" และกลุ่ม Underduck ซึ่งเน้นการแสดงที่เน้นการใช้ภาษากายในการเล่าเรื่อง นอกจากนี้ วสุยังมีบทบาทสำคัญในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นผู้จัดเทศกาล “คนรักละครใบ้นานาชาติ” ที่มุ่งสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนทางศิลปะและสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรมผ่านการแสดงแบบไร้คำพูด
วสุ วรรลยางกูร ไม่เพียงแค่มีความสามารถด้านการแสดงเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นใช้ศิลปะการละครเป็นเครื่องมือในการเปิดมุมมองและกระตุ้นให้สังคมตั้งคำถามต่อประเด็นร่วมสมัย และมอบแรงบันดาลให้แก่ผู้ชมผ่านการแสดง
“ฉากและชีวิต” แม้ไม่ใช่หนังสือพ่อเล่มแรกที่ได้อ่าน แต่ก็เป็นเล่มที่อ่านแล้วลืมไม่ลง ด้วยบรรยากาศท้องทุ่งบ้านริมน้ำ ชีวิตผู้คนโดยเฉพาะชีวิตของ ‘น้าพร’ ตัวละครเอก ภาพชายอารมณ์ดีที่นิสัยยียวน แต่ใจซื่อ เขารักมั่นในหญิงสาวที่เป็นญาติตัวเอง ความรักต้องห้าม และกรอบขนบจารีตประเพณีกีดกัน น้าพรอกหัก และแบกอกหัก ๆ นั้นไปขั่วชีวิต ไม่สน ไม่แคร์ ใครจะว่ายังไง จมจ่อมเมามาย และปล่อยให้ชีวิตเป็นดั่งสายน้ำในคลองที่ไหลไปตามสายธารของหัวใจ แม้เจ็บปวดทรมานแต่ไม่เคยโกหกหัวใจตัวเอง ตัวละครของพ่อในหลาย ๆ เรื่องมักมีลักษณะบางอย่างร่วมกันทั้งความใจซื่อ ความยึดมั่น ความขบถ ความหัวรั้น ความตลกกวนตีน และจุดจบของชะตากรรมอันไม่ยิ่งใหญ่แต่โคตรจะเป็นมนุษย์ บ่อยครั้งเราก็คิดว่าพ่อเป็นดั่งตัวละครที่เขาเขียนเสมอ ซื่อตรงกับหัวใจ ฝันให้ไกลถึงแม้จะไปถึงบ้างไม่ถึงบ้าง แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้กับโชคชะตา หัวเราะร่าน้ำตาริน กลั่นจากสายเลือดจนหยดสุดท้ายในทุก ๆ ช่วงเวลา มนุษย์สันหลังตรงผู้ยังคงนุ่งผ้าขาวม้าเต้นหน้ากระจก
วจนา วรรลยางกูร (เตย)
บรรณาธิการของสำนักข่าว The101.world สื่อมวลชนผู้เชื่อว่าการทำหน้าที่สื่อช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม ตั้งแต่ระดับบุคคล จนถึงระดับนโยบาย ใช้งานเขียนเป็นทางเลือกให้สังคมมีมุมมองและข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจต่อประเด็นต่าง ๆ โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำงานเขียนเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงออก กระบวนการยุติธรรม เคยได้รับรางวัลในสายงานสื่อมวลชนมากมายไม่ว่าจะเป็น รางวัลดีเด่น ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ , รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 โดย Amnesty International Thailand จาก ผลงาน “ประเทศไร้ใบหน้า ผู้คนไร้แผ่นดิน” ตามหาความเป็นมนุษย์ในคำว่า ‘ชาติ’ หรือ รางวัลดีเด่น ประเภทข่าวออนไลน์จากประเด็นในสื่อสังคมออนไลน์ยอดเยี่ยม รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2564 โดยสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จาก ผลงาน “เส้นด้าย” กับคำเตือนก่อนสาธารณสุขจะล่มสลาย
“ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” เป็นหนังสือที่สะท้อนปมทางการเมืองในชีวิตพ่อได้ชัดเจนที่สุดเล่มหนึ่ง พ่อเขียนเล่มนี้ในป่าภูพานด้วยโลกทัศน์ของคนหนุ่มที่เพิ่งผ่าน 6 ตุลา 2519 มา แม้เนื้อเรื่องส่วนมากวนเวียนอยู่กับชีวิตรักนักกิจกรรม แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจบรรยากาศชีวิต-ความคิดนักศึกษา จนถึงความเลวร้ายในการกำจัด ‘ศัตรูของชาติ’ ในยุคนั้น “โครงสร้างเผด็จการสังคมไทยยังไม่เปลี่ยน เพียงแต่มีเผด็จการตัวย่อมและเผด็จการตัวใหญ่” นี่คือข้อความโปรยบนหน้าปกฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุดระหว่างที่พ่อลี้ภัย น่าเศร้าที่ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงร่วมสมัยในสังคมไทยปัจจุบัน ครั้งนั้น ‘พิน บางพูด’ ต้องหนีเข้าป่า ครั้งนี้ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ต้องหนีออกจากประเทศและไม่เคยได้กลับมา ความขัดแย้งเดิมยังคงอยู่ ไม่เลือนหาย และไม่สามารถขจัดไปได้ด้วยการ ลืม ลบ กลบ เลือน
มรดกแผ่นดิน
ผลงานเขียนของ วัฒน์ วรรลยางกูร มากกว่า 50 เล่ม ที่ส่งต่อมรดกไม่เฉพาะกับทายาทที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่เกิด จนลูกไม้เติบโตเป็นดอกผลเป็นคนที่มีคุณภาพในแนวทางต่างกันไปและอยู่ใน ‘สายศิลปะ’ ทั้งสามคน วนะ ลูกชายคนโตเป็นจิตรกร , วสุ ลูกชายคนรองเป็นนักละคร (ทั้งแสดงและบริหารจัดการ) และโดยเฉพาะลูกสาวคนสุดท้องฉายแววตามรอยเท้าพ่อมาตั้งแต่เยาว์วัย ในบทบาทของบรรณาธิการข่าวที่เปี่ยมศักยภาพ สิ่งที่ลูกซึมซับรับมีตามวิถีธรรมชาติไม่ต่างกันคือ ‘อุดมการณ์’ ผ่านสำนึกรับผิดชอบสังคม มีความหวังความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ จึงส่งต่อพันธกิจที่รับมาจากพ่อผ่านผลงานและการแสดงเฉพาะกิจ ด้วยตระหนักในชีวิตและงานเขียนของวัฒน์ที่ชัดเจนในแนวทางซึ่งทั้งสามเห็นพ้องกัน และให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มีทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ เช่นเดียวกันกับนักอ่านที่มอบรางวัล ‘People Like’ ให้ วัฒน์ วรรลยางกรู ด้วยความ ชื่นชม นิยม ศรัทธา
1. ทุกเรื่องให้ความสำคัญกับ ‘คนตัวเล็กของสังคม’ แม้มีความเป็นปัญญาชนก็จะเป็นคนบ้านนอกที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียง โดยมีเขาเหล่านี้เป็น พระเอก และตัวเอกของเรื่องเสมอ ทั้งคนไร้โอกาส คนชายขอบให้ความสำคัญกับประเด็นหลักที่มักเกี่ยวพันคนชาติพันธุ์วรรณนา หรือแม้กระทั่งคนนอกกรอบ ล้วนกลุ่มเปราะบางที่วัฒน์นำเสนอแนวทางเยียวยาอยู่ในเนื้อหาอย่างแนบเนียน วสุตั้งข้อสังเกตว่า “ตัวละครของพ่อในหลาย ๆ เรื่องมักมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ทั้งความใจซื่อ ความยึดมั่น ความขบถ ความหัวรั้น ความตลกกวนตีน”
2. ทุกเรื่องเปี่ยมอุดมการณ์ เป็นงานจารึกบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองทุกระดับ ที่มองผ่านคนตัวเล็กซึ่งได้รับผลกระทบจากอำนาจเผด็จการของ ขุนศึก ศักดินา ‘รัฐบุรุษ’ ในงานของวัฒน์คือ ‘คนตัวเล็กไร้ อำนาจ’ ที่พยายามสู้กับระบอบที่ ‘ไร้หัวใจ’ ไม่ให้การเหลียวแลระบบ ส่งผลกระทบให้เกิดพิษแผลลึกจากความเหลื่อมล้ำซ้ำเติมชะตากรรมสม่ำเสมอตลอดมา (แม้ในปัจจุบัน)
วนะตั้งข้อสังเกตว่าพ่อมี ‘จุดเป็น-จุดตาย’ ในเรื่องนี้ “ถ้าเป็นเรื่องการเมืองพ่อจะสติหลุด ปลั๊กหลุดง่ายมาก โดยเฉพาะสังคมไทยถ้ามีใครโมโหจนทนไม่ไหว หรือแค่เสียงดังขึ้นมาก็จะชี้หน้าว่า ก้าวร้าว ถ้าเราโกรธกับสิ่งที่เราโดน เป็นคนบ้าเท่านั้นแต่อีกคนมันไม่ผิด”
วสุขยายต้นสายปลายเหตุ “เคยบอก(เตือน)พ่อเขาก็โกรธ เพราะตอนเป็นนักศึกษาพยายามแทบตาย ตระเวนออกไปต่างจังหวัดเพื่อพูดให้ชาวบ้านเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ คนต่างจังหวัด คนรากหญ้า ได้ข่าวสารเริ่มตื่นขึ้นมามีส่วนร่วม แต่คนในเมืองลุกขึ้นมากระทืบเขา ลึก ๆ เขาก็รู้สึกว่านี่มันอะไรวะ แต่ก็เข้าใจได้ว่ามันมีตัวแปรเยอะ”
3. วัฒน์ให้ความสำคัญกับรายละเอียดของหลักการในงานวรรณศิลป์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับ ‘ฉาก’ ที่เป็นองค์ประกอบรองของเนื้อหา มักสะท้อนสภาพสังคมไทยในชนบท มีบรรยากาศในถิ่นกันดาร นำเสนอด้านที่เหลื่อมล้ำด้วยมุมมองละเมียดเสมอกับการ ‘ใช้วิว’ เป็นอีกหนึ่งตัวละครคู่กับคนในทุกแห่งหลที่อยู่ ที่ไป โดยสะท้อนผ่าน ‘การเดินทางข้างใน’ ที่ไม่ใช่เพียงเส้นทาง สถานที่ ซึ่งเป็นเพียงรูปธรรม เช่นใน “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” ฯลฯ
4. มีอารมณ์ขันตามธรรมชาติในตัวตนของคนเขียน ที่สวมเนียนลงไปในบทบาทของตัวละคร แม้ในมุมมองที่ต้องผ่านเรื่องร้ายก็กลายเป็น ‘ตลกลึก’ ที่คนอ่านหัวเราะได้ทั้งน้ำตา แต่ วนะ จะรู้สึกว่า ‘ตลกฝืด’ แต่ไม่ ‘ชืด’ ในสาระที่เป็นอัตลักษณ์ เช่นเรื่อง “THE PICKUP ขับชีวิตสุดขอบฟ้า” เป็นเรื่องที่ทำงานกับเขาหนักเพราะเป็นชีวิตจริงและความฝันของพ่อ “แต่พอมันกลายเป็นภาพเราก็ยังอมยิ้ม ขำตามไปได้เรื่อย ๆ เหมือนกัน”
5. งานเขียนส่วนใหญ่ตอนจบมักหักมุมเป็นแนว ‘โศกนาฏกรรม’ ร่วมซ้ำเติมชะตากรรมของตัวละคร แม้เรื่องที่มีโทน entertain เพื่อเป็นกระบอกเสียงส่งสารให้เห็นผลร้ายของการละเลยสิ่งที่ควรใส่ใจ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐ วสุสรุปว่าตัวละครของพ่อมัก “มีจุดจบของชะตากรรมอันไม่ยิ่งใหญ่แต่โคตรจะเป็นมนุษย์”
รูปแบบและเนื้อหาของ “Dialogue with the Father” ชวนให้คิดถึงการแสดง Documentary Theatre แนวนอกขนบของวิชยอีกเรื่องเมื่อปี 2566 คือ 'Juggle & Hide (Seven Whatchamacallits in Search of a Director') " Dialogue with the Father " คล้ายเป็น Sub Plot ของ Juggle & Hide ที่มีจุดหมายเดียวกันในความสัมพันธ์เชิงเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องราวซึ่งซ่อนอยู่เบื้องหลังการต่อสู้ของประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นรายละเอียดของเรื่องราวในภาพรวมใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ประชาชนพลเมืองต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการเป็นงานประจำชีวิต มีแนวโครงสร้าง เส้นเรื่อง เนื้อหา ที่ตั้งใจออกแบบให้ไม่ต่างกับ “แค่จาก” เป็นภาคต่อของ Just away แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ช่วงชีวิตของคนที่มีสำนึกรับผิดชอบประเทศชาติ ตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการของรัฐ และผลกระทบทางการเมืองที่เป็นระบอบเก่า ให้ลูกเล่าผ่านการสนทนาที่ดูเหมือนธรรมดา แต่มาเชื่อมโยงกับเนื้อหาบางตอนในงานวรรณกรรมมีภาพความทรงจำรำลึกถึงพ่อ
Prouction Design ของ “Dialogue with the Father” ถูกออกแบบให้ลูกสามคนนั่งนินทาพ่อด้วยความเอ็นดูอยู่ในบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยไม่ต้องมีเทคนิคสลับซับซัอนแต่สะท้อนทั้ง ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว นำ ‘สมบัติบ้า’ (ในสายตาคนที่ไม่เห็นค่า) แต่คือสมบัติล้ำค่าของใจในมุมปัจเจก และหลักฐานชิ้นเอกทางประวัติศาสตร์สาย วรรรณกรรม การเมือง ฯลฯ ล้วนหนังสือเก่า เครื่องอัดเสียง และที่ขาดไม่ได้คือขวดไวน์ หลักฐานเครื่องดื่มเพิ่มพลังงาน มาเรียงรายอย่างมีความหมายคล้ายกำลังสร้างสรรค์งานศิลปะจัดวาง (Installation) แนวทางที่จัดชัดในลายเซ็นของผู้กำกับ วิชย อาทมาท (เบส) ซึ่งมีกระบวนการสร้างงานที่เขาเรียกมันว่า ‘วิธีการสร้างงานแบบ Dot-to-dot’ (การทำงานกับบทและการรื้อวัตถุดิบทางวรรณกรรมให้กลายเป็นบทละคร)
ร้าน ‘บ้านสวย'
องก์ที่ 1 เรื่องสื่อสารด้วยบทสนทนาระหว่างลูกสามคนในเนื้อหาที่ว่าด้วย ประวัติชีวิตประวัติการทำงานของพ่อ นักต่อสู้ที่เคลื่อนไหวโดยใช้ ‘ศิลปะ’ ต่อกรกับเผด็จการ แต่ทานอำนาจกดขี่ไม่ไหวจนต้องหลบเข้าป่าไปหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ในป่าแห่งอุดมการณ์ ‘สหายร้อย’ ได้พบรักกับ ‘สหายรุ่งโรจน์’ (อัศนา วรรลยางกูร) แม่ที่เป็นกำลังสำคัญและเสมือนลมใต้ปีกของครอบครัว แต่ครั้งนี้ไม่ถูกกล่าวถึงบทบาทให้ชัด แต่ชูวัฒน์ให้โดดเด่นเพียงลำพัง ทำให้ผู้ชมรับรู้และเข้าใจได้ว่า ฐานจิตที่กล้าแกร่งส่งแรงหนุนมาจาก ‘มนุษย์พ่อ’ เพียงใด ฉายชัดในตัวตนของคนเป็นลูกผ่านวิธีถ่ายทอดเรื่องราวจากการต่อสู้ที่รันทดหดหู่ให้รื่นรมย์แม้เรื่องขมขื่นปางตาย ได้อย่างเป็นธรรมชาติเหมือนปราศจากกลไกการกำกับ ทุกประเด็นเรียงร้อยถ้อยรังสรรค์เป็นเนื้อเดียวกันอย่างกลมกลืนลื่นไหล ทำให้ผู้ชมทั้งสองฝั่งเหมือนได้เข้าไปนั่งร่วมโต๊ะในบ้านรำลึกย้อนเหตุการณ์ไปพร้อมกัน
ในช่วงแรกเปิดเรื่องท่ามกลาง sound ที่ไม่ได้ design โดย ปลาวาฬ ลูกชายตัวน้อยขวบครึ่งของวสุ มาร่วมให้เสียงประกอบการแสดงอย่างได้จังหวะ ส่งเสียงอ้อแอ้จะงอแงไม่ยอมนิ่ง จนแม่ต้องยอมปล่อยให้วิ่งลงไปในเวทีถึงเงียบได้ น้องแค่อ้อนขอหยิบจับอยากช่วยจัดหนังสือที่วางอยู่ใกล้ ๆ พร้อมส่งเสียงใส “อ่านสือ อ่านสือ” พึมพำเบา ๆ แต่เล่นเอาทุกคนใจละลายไปกับ ‘ความหมาย’ ที่ ‘ไม่ได้คาดหมาย’ กันมาก่อน เมื่อเสียงซ้อนประกอบกับภาพบนจอ ขณะรูปวัฒน์ถูกจัดฉายขึ้นน้องร้องดัง “ปู่ ๆ” ขณะป้วนเปี้ยนเวียนหาอยู่ข้าง ‘ปาป๊า’ของเขา เล่นเอาน้ำตารื้นตื้นตันเหมือนดึงวันเวลากลับมาได้…
ทุกปีมีงาน “รำลึก 6 ตุลา 2519” ที่เมืองกาญจน์ริมแม่น้ำ วจนาเล่าว่ากำลังเรียน ม.1 อายุ 12 ไปร่วมประกวดกวีการเมืองได้รางวัลด้วย ช่วงเย็นใกล้เลิกงานภายนอกหอประชุมมีรถกระบะติดเครื่องเสียงประกาศด่าคนจัดงาน ด่านักศึกษา 6 ตุลา “ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ไอ้พวกล้มล้างสถาบัน มันจัดงานปลุกระดม” เด็กน้อยเป็นงงว่าเขาหมายถึงใคร กระทิงแดงหรือใคร “เพราะเรารู้สึกว่า 6 ตุลา เป็นเรื่องในอดีตที่จบลงไปแล้ว แต่การปรากฏตัวของรถติดเครื่องเสียงในวันนั้น เหมือนจุดเชื่อมต่อจาก 6 ตุลา มาถึงปัจจุบัน ทำให้รู้สึกว่ามันยังไม่จบ พ่อได้ยินด่าวิ่งตามรถไปแล้วตะโกนด่า “มึงฆ่าเพื่อนกู มึงฆ่าเพื่อนกู” แม่วิ่งตามไปห้ามพ่อ พ่อน็อตหลุดสะบัดแม่จนล้มไปกระแทกกับรถที่จอดอยู่หัวแตก แม่ค้าแถวนั้นบอก “คนเมาตีเมีย” ขณะนั้นความเป็นเด็กเตยไม่เข้าใจ เราได้รางวัลทำไมพ่อโกรธ แม่เลือดออก แต่โตขึ้นแล้วมองกลับไปให้สงสารพ่อ เข้าใจความรู้สึกว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีผลทำร้ายจิตใจแค่ไหน”
พ่อมีลูกสาวคอยเป็นบรรณาธิการน้อย ต้องคอยหยุดเรียนมาช่วยปั่นต้นฉบับส่งโรงพิมพ์ ด้วยคอมพิวเตอร์รุ่นบุกเบิกประเทศไทยอุปกรณ์ใหม่ของนักเขียนที่พ่อคงไม่คล่องนัก ทำให้ลูกสาววัยแรกรุ่นครุ่นคิดตั้งคำถาม “มันสำคัญมากไหมที่ต้องหยุดเรียนมาพิมพ์งานให้พ่อ” พร้อมกับให้ความเห็นประเด็นเศรษฐกิจว่า การเขียนบทความจะทำเงินได้เร็วกว่างานวรรณกรรมที่ต้องการเวลา และได้เงินช้ากว่ากันมาก สิ่งที่บท ‘ละไว้ฐานเข้าใจ’ แม้เป็นปัจจัยสำคัญคือ การเป็นนักเขียนที่ไม่มีอาชีพอื่นรองรับ ลำพังจะเลี้ยงชีพตัวเองก็ยังยากอยู่ การเขียนแนววรรณกรรมยิ่ง ‘อยู่ยาก’ มากกว่าหลายเท่า ถ้าไม่มีครอบครัวเป็นฐานที่มั่น งานทรงคุณค่าแค่ไหนก็ไม่สามารถเลี้ยงห้าชีวิตได้อย่างครอบคลุมค่าใช้จ่าย แม้หนังสือเล่มที่ขายดีมีชื่อเสียง ตรงข้ามกับงานค้าขาย (ตามแผนประคองครอบครัวก่อนย้ายกลับเมืองกาญจน์บ้านแม่) ซึ่งช่วยได้มากตามคาดหมาย โดยเฉพาะระยะสุดท้ายที่แม่ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง วนะเล่าว่า แม่เป็นลูกผู้หญิงในครอบครัวคนจีนโบราณที่ได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัย เมื่อถูกจับจากเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วที่บ้านต้องไปประกันตัว จนแม่ต้องหนีเข้าป่าออกมาได้ผัวอีก “อาม่าบอกว่าแกอยากจะล่ามขาแม่ไว้เลย หรือไม่ก็ตีจนขาหักไม่ให้ออกจากบ้านไปได้อีก ถ้ายังอยู่ทันแกอาจจะทำจริงก็ได้” … ชวนให้ผู้ชมอยากฟังเรื่องเล่าลำดับต่อไป “ Dialogue with the Mother” ชีวิตแม่ของลูก หญิงสาวผู้อยู่เบื้องหลังพลังความคิดทางการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นลมใต้ปีกของนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของประเทศไทย
บทแทรกรายละเอียดในเรื่องเล็ก ๆ ให้เห็นว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะมันบอกสายสัมพันธุ์ในครอบครัวที่ทำให้สามชีวิตได้เติบไต่เป็น ‘ลูกไม้ใต้ต้น’ กว่าจะเป็นคนมีคุณภาพ โปรดทราบ โตมากับสมัชชาหลายกลุ่ม พ่อแม่อุ้มทารกออกงาน mob ครั้งแรกปี 2535 เตยตอด “เกิดปี 2534 ขณะอายุ 8 เดือน” กลายเป็นยันต์คุ้มภัยให้รอดชีวิตจากการกวาดล้างของรัฐ (ห่วงลูกเล็กเลยรีบพากลับบ้าน) ผู้ชมมีฮา ชวนให้คิดถึงสำนวนขันหน้าตายหลายเรื่องในงานเขียนของวัฒน์ ลูก ๆ ก็รับ mood นี้มาไม่น้อย ปล่อยมุกได้ทุกประเด็น เช่น ตอนพี่พาเพื่อน ๆ มาเล่นบ้านมันประจานว่า “บ้านมึงชื่อร้าน ‘บ้านสวย' แต่รกชิบหาย 555” สามพี่น้องเห็นด้วยได้ช่วยกันฮางอหาย เพราะบ้านขายวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว คือสิ่งที่บทไม่ได้ชี้ชัดจัดเล่า เพราะต้องการเกลา Mood & Tone ให้เท่ไม่เทไปทางฟูมฟายสายแบบ drama แต่มี emotion ที่ปั้นอารมณ์ขันคลาสสิคแบบหยิกแกมหยอก
วนะ : แต่ก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันไม่น่าอยู่เลยนะ ก็‘บ้าน’น่ะ จะดีจะร้ายก็ต้องอยู่กับมัน
วสุ : ก็ไม่ร้ายเลยนะ ยังจำได้ว่าเราเคยเล่นกันตรงนั้นตรงนี้
วจนา : แต่พอโตขึ้นไม่ค่อยได้เจอกันที่บ้านเลยนะ ส่วนใหญ่ไปเจอกันที่ MOB
วสุ : พ่อคงคิดว่าเราไม่สนใจการเมือง เล่นแต่ละครอยู่กับพี่อั๋น “คนหน้าขาว”
เฮ้ยมาเปิดหมวก MOB สิ ก็เลยไปราชประสงค์ ตอนนั้นมีเรื่อง “อากง”[4] เลยเอาเรื่องนี้มาเล่นใต้สะพานลอยห้างบิ๊กซี คนอื่นก็แต่งตัวมาแบบจัดเต็ม
วนะ : แล้วคนเขาเข้าใจหรือเปล่า
วสุ : ไม่รู้เข้าใจรึเปล่า ปกติที่เล่นคนก็ไม่ค่อยเข้าใจอยู่แล้ว
วนะ: แต่พี่ว่าใน MOB คนเข้าใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้วรึเปล่า
วสุ : มีคนมาชี้นี่นกพูดว่า เสรีภาพ คนติดคุก เขาเห็นแล้วก็พอเดาได้หมายถึงอะไร
วนะ : พ่อให้พี่ไปวาดรูปใน MOB ผู้คนคงเห็นเราวาดได้เร็วก็ใส่ไอเดียเลย วาดเหี้ยสิ ๆ วาดส้นตีนสิ ๆ หันไปเห็นปากจ่ออยู่ที่ท้ายทอยนี่ คือรู้ว่าอินนะ แต่เห็นใจผมหน่อย (ขำ) มีช่วงหนึ่งเขาปิดพื้นที่ราชประสงค์เราเข้าพื้นที่ไม่ได้ พี่กับพ่อกำลังจะกลับ พ่อขับรถผ่านเส้นราชดำเนิน พอผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยพ่อตะโกนใส่อนุสาวรีย์ว่า “ท่านปรีดี อุดมการณ์ 2475 สำเร็จแล้ว” ขับวนอยู่สองรอบคุยกับ ปรีดี พนมยงค์ ตลกร้ายเหมือนกันท่านปรีดีคงตอบ “เยี่ยมวัฒน์เยี่ยม” พ่อพูดตลอดว่า อุดมการณ์ 2475 นักศึกษาไม่เข้าใจ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมพอชาวบ้านรับรู้เข้าใจแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้นตอคืออะไร มันทำให้พ่อดีใจมาก ก็เลยเลิกขำเขาไปแล้วว่าวันนั้นขับรถรอบอนุสาวรีย์คุยกับแท่งอิฐแท่งปูน
ท่านผู้ชมเอ็นดูกองเชียร์ได้คิกคักชวนขันนึกถึงบรรยากาศ ‘Mob Festival’ ที่มีงานกิจกรรมทางบันเทิง วัฒนธรรม เข้ามาเล่นขำเป็น ‘ตัวส่งสาร’ ในงานก่อกระบวนทัศน์ก่อนจัดทัพใหม่ในสนามรบที่เหมือนจะไม่มีวันจบสิ้น แต่ตอนปิดประเด็นได้ฮากับการสนทนาข้ามภพของพ่อ
เมื่อปี 2557 วัฒน์บอกกับลูกว่าพ่อต้องหนีไปแล้วนะ ทุกคนเห็นดีด้วยเพราะไม่คิดว่าจะเป็นการจากไปไม่มีวันกลับ นับเวลาได้ 10 ปีแล้ว
วจนา : “เตยนึกว่าน่าจะไปแค่เดือนสองเดือนไม่เกินปี แต่นี่ 10 ปีแล้ว มันยังไม่จบอีก …”
วนะ : แต่หลายคนเขาก็รักกันแล้วนะ เรื่องนี้แม่ง…บางทีพี่รู้สึกเหมือนมันไม่เคยเกิดขึ้นเลย
ถึงตรงนี้ผู้ชมทั้งห้องเงียบกริบ มีบางคนส่งเสียงขันขื่นในลำคออย่างมีความหมาย ในขณะที่อีกหลายคนคงกำลังถามตัวเองว่า เราลืม ‘เรื่องนี้’ ไปแล้วหรือยัง…
บ้านเมือง ที่ถูกรัฐห้ามพัฒนา
องก์ที่ 2 บทบาทการต่อสู้ของวัฒน์กับอำนาจรัฐ ที่จ้องกำจัดประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเห็นเป็นศัตรู ผู้กำกับทั้งสองจ้องสำรวจเส้นทางชีวิตของวัฒน์ ผ่านบทซึ่งบอกเล่าเบื้องหลังการสร้างงานเขียน และเนื้อหาที่ยึดโยงไปกับบริบทสังคมและประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ของ วัฒน์ วรรลยางกูร ศิลปินนักต่อสู้ผู้เป็นพ่อ ลูกสาวผู้เติบโตเป็นบรรณาธิการข่าวกล่าวถึงพัฒนาการในงานเขียนของพ่อว่า ก่อนเข้าป่าจะพูดถึงประเด็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่หลังออกจากป่ามีน้ำเสียงที่ประนีประนอมเพิ่มขึ้น และให้ประชาชนคนรากหญ้ามีบทบาทมากขึ้น เพราะต้องการเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความเป็นธรรม ให้คนด้อยโอกาสได้รับความยุติธรรม และได้มีชีวิตดีขึ้นตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียม
จุดสะเทือนใจสูงสุด เมื่อวนะอ่านงานเขียนบางตอนที่เป็น ‘เรื่องจริง’ ใน ‘เรื่องแต่ง’ จากเรื่อง “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” กรีดใจให้สลายจากบันทึกเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 2519’ บอกเล่าความโหดร้ายของคนไทยที่กระทำต่อกัน และการตามล่าของรัฐ ซึ่งชัดว่าน่าจะเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้วัฒน์ตัดสินใจหลบหนีออกไปนอกประเทศ
"ผมคิดถึงความรู้สึกของเขา-คนที่ถูกเชือกรูดรัดคอดึงรั้งกระดูกย่อมแตกหัก ขณะหลอดคอตีบตันหายใจเข้าไม่ได้ ร่างที่มีลมหายใจและที่สิ้นใจแล้วถูกโยนวางทับซ้อนกันทับด้วยยางรถยนต์ เมื่อเปลวไฟลุกไหม้ ร่างที่ยังมีลมหายใจก็กระเสือกกระสนดิ้น แต่ถูกฟาดซ้ำจนนิ่งไป ร่างที่ไม่มีลมหายใจเริ่มงองุ้ม กลิ่นเลือดเนื้อสด ๆ ตลบอบอวลรุนแรง ยางสีดำไหม้ไฟเหลวหยดใส่เนื้อสดดังฉ่าๆ ร่างที่ถูกเผาโค้งงอขึ้นมาเหมือนจะลุกนั่ง เปลวไฟดำมืดลอยเป็นกลุ่มบนฟ้าครึ้มฝน อีกแผ่นอกที่ถูกไม้แหลมจ่ออก แล้วไม้อีกอันหนึ่งก็ฟาดลงไปที่ด้ามไม้แหลม
…
ที่กลางสนาม ร่างของนักศึกษาชายใส่เสื้อชาวเลสีดำถูกผูกคอลากหลังเสื้อขาด เลือดแดงเป็นทางที่ร่างนั้นถูกลาก เศษอิฐหินแหลมเหมือนคมกระจกทิ่มแทงคงไม่ทำให้เจ้าของร่างรู้สึกอีกแล้ว สิ่งที่เขาใช้ลากนั้นไม่ใช่เชือกธรรมดา เป็นผ้าสีประหลาด ผมรู้ทีหลังว่าเป็นผ้าพันคอลูกเสือชาวบ้าน และบางภาพบนจอโทรทัศน์วันนั้น บุรุษร่างใหญ่หัวโล้นนุ่งห่มผ้าเหลืองไปยืนอยู่ในกลุ่มคนถืออาวุธสงครามด้วย"
HOME IN THE SKY จักรวาลกวี
องก์ที่ 3 สามพี่น้องกับการสำรวจจิตใจ และความเป็นไปในฐานะลูกที่ได้รับอิทธิพลทางความคิด และมีชีวิตอยู่ ‘ใต้เงา’ ของผู้เป็นพ่อนักปฎิวัติวัฒนธรรม ในฐานะ ‘แนวร่วมทางวัฒนธรรม’ ที่ซึมซับรับขับเคลื่อนอุดมการณ์ของพ่อ ต่างทำต่อไปตามแนวทางของตน เป็นช่วงที่บรรยากาศขรึมขลังมีพลังรายรอบ โดยมีวจนาเป็นผู้รับฟังพี่ชายทั้งสองพูดถึงความรู้สึกของตัวเองที่ผูกพันกับพ่อ เหมือนเป็นตัวแทนของแม่ รับรู้ทุกข์สุข บางคราคล้ายบาทหลวงในโบถ์ที่กำลังรับฟังการสารภาพบาป ปิดประเด็นเป็นคนสุดท้ายได้ด้วยวจนานั่งคุยกับภาพของพ่อบนจอ ทั้งปิติและตื้นตันใจที่สุดเมื่อภาพพ่อลูกครบสี่คนปรากฏขึ้นบนจอ พ่อนอนบนเปลมีลูกสาวตัวน้อยนั่งตัก ลูกชายสองคนยืนร่วมเฟรมอยู่ข้าง ๆ ทุกคนยิ้มแย้มแก้มยุ้ย หากว่าวัฒน์ยังมีชีวิตอยู่ 12 มกราคม 2568 ที่กำลังจะถึงนี้ เขาจะมีอายุครบ 70 ปี เป็นปูชนียบุคคลของสังคมอุดมการณ์ มีงานเขียนเป็นเทียนส่องทางให้คนไทยหลุดพ้นจาก ‘มนต์ดำ’ ใน ‘ถ้ำแห่งอำนาจ’ ของปีศาจครองเมือง…
ปิดเรื่องจบลงด้วยกล้องจับภาพเจาะเฉพาะพิมพ์ดีด เห็นขณะวจนากำลังเขียนบันทึก (เสมือนจริง link ขึ้นบนจอ) ใช้เวลาพิมพ์ยาวหลายหน้ากระดาษนานหลายนาที เหมือนมีความตั้งใจให้ผู้ชมได้อ่าน และรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกขณะพิมพ์งานเขียนให้พ่อในเยาว์วัย ร่วมส่งใจไปถึงพ่อ ร่วมกันส่งต่อพันธกิจจากคนที่มีพ่อเป็นแบบอย่างในแนวทางการใช้ชีวิต และครั้งนี้เป็นการพิมพ์บทสรุปของพ่อนักต่อสู้ ซึ่งต้องอยู่ในสถานะที่รัฐยัดเยียดให้ยอมรับ บังคับในฐานะเป็นพลเมืองที่คิดต่าง ไม่ยอมสยบให้กับอำนาจนอกระบบที่ไม่เคารพกติกามารยาททางการเมือง แม้หนังสือหรือบทกวีไม่สามารถมีอำนาจแบบ ‘พลิกโลกได้ด้วยฝ่ามือ’ “แต่เราต้องสู้ทำไปทีละนิดเพื่อให้ซึมเข้าไปในใจคน คือสิ่งที่เตยกับพ่อเชื่อเหมือนกัน เป็นความสัมพันธ์ของเตยกับพ่อ” วจนายืนยันมั่นใจ
ด้วยคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ จากการร่วมจัดกิจกรรมละครเวทีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” หากวัฒน์ยอมให้รัฐจับกุมจะต้องโทษจำคุกประมาณ 41 ปี ทั้งที่ไม่มีความผิด แค่คิดต่าง แม้รับสารภาพก็ยังคงถูกคุมขังอีก 20 ปี ที่ต้องทรมานในคุก วาระสุดท้ายต้องตะกายหนีตายจากอำนาจปีศาจขุนศึกศักดินา ไปตายเอาดาบหน้ามีสถานะ ‘ผู้ลี้ภัย’ ในฝรั่งเศสเป็นเกราะ “เพราะเป็นเรื่องผิดปกติมากที่คนคนหนึ่งอยู่ในประเทศของตัวเองไม่ได้” วนะกล่าว ก่อนเสียชีวิตด้วยเนื้องอกตรงตับ ในดินแดนที่ได้รับการโอบอุ้มคุ้มภัย วัฒน์ตัดสินใจไม่กลับเมืองไทย ประเทศที่พลเมืองถูกรัฐห้ามพัฒนา ทัศนะของเขาไม่เหมือนเดิม จากคนที่เคยรักความเป็นไทย ชาติไทย เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เสมือนผู้ชมได้ยินเสียงสุดท้ายของวัฒน์ลอยมากับลม … “ทุกหนแห่งเป็นบ้านของเราได้ ทุกหนแห่งเป็นโลกของกวี กวีเป็นคนของจักรวาล” … ลูก คือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่มารับไม้ต่อ ก่อความสะเทือนใจในชะตากรรมผ่านการแสดงดั่งจะย้ำคำมั่น เราจะไม่ปล่อยให้ใครต้องสู้อยู่เพียงลำพังเหมือนพ่ออีกต่อไป ประชาธิปไตยไทยต้องงอกงาม.
“จากแผ่นดินสู่ดวงดาว”
“จากแผ่นดินสู่ดวงดาว” เป็นบทกวีของพ่อที่ตราตรึงต่อ วนะ วรรลยางกูร และเขาคิดว่าเป็น Master Piece อีกชิ้น เช่นเดียวกับผลงานบทกวีมากมายที่กลายไปเป็นเพลง และคิดว่าบทนี้เป็นจุดจบที่ต่อขยายจากบทกวีทองของยุคสมัย “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ซึ่งถูกนำไปแต่งเป็นเพลง เนื้อหากระทบจิตใจคนจำนวนมากที่เคยร่วมประสบการณ์ในเหตุการณ์วันรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และยังเคลื่อนไหวในสังคมการเมืองปัจจุบัน ยุคนั้น พลังของบทกวีส่งสารสั่นสะเทือนกระแสสำนึกไปในวงกว้างแม้ว่า… “เป็น ‘ตอนจบ’ ซึ่งไม่มี ‘จุดจบ’ โดยเฉพาะจุดจบของคนเขียนที่ไม่ได้อยู่ดูมันอีกแล้ว วันหนึ่งที่เรากลายเป็นผู้ประสบภัยทางการเมืองถึงได้เข้าใจว่าชิ้นนี้มันทำงานกับคนที่ได้รับผลกระทบยังไง” ประโยคแรกของบทกวีชิ้นนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ขอเรา” วนะเน้นย้ำคำนี้ถึง 3 ครั้ง เป็นการเปิดหัวตั้งต้นค้นกวี มีนัยของการร้องขอจากสังคมอุดมการณ์ และเปล่งเสียงแทนงานวรรณ เน้นย้ำซ้ำบางประโยค จับโยกจากฉันทลักษณ์กลอน เสียงซ้อนซ้ำเจตนาย้ำเตือนเฉือนคมให้ผู้ชมรับ ‘สาร’ ที่ส่งออกไปอีกครั้ง และอีกครั้ง อย่างตั้งใจ จนรู้สึกเหมือนมีใบหน้าของวัฒน์ขณะปราศรัยอยู่บนเวทีเป็นภาพซ้อนขึ้นมาพร้อมเสียงอ่านบทกวีของลูกชาย …
“จากแผ่นดินสู่ดวงดาว”
ขอเราจงฝ่าภัย หัวใจอย่าหวั่นเกรง
เสียงเพลงแห่งคนจน ฝืนทนเจ็บนานมา
น้ำตากูตกใน น้ำใจจึงเจ็บจำ
น้ำตากูตกใน น้ำใจจึงเจ็บจำ
รับกรรมกดขี่คน เหมือนคนเป็นดั่งควาย
น้ำตากูตกใน น้ำใจจึงเจ็บจำ
รับกรรมกดขี่คน เหมือนคนเป็นดั่งควาย
หยัดกายขึ้นทายท้า เถิดมาไม่หลีกหนี
หยัดกายขึ้นทายท้า เถิดมาไม่หลีกหนี
ไม่มีสิ่งสูญเสีย นอกเสียงจากเคืองเข็ญ
ขอเป็นซากศพผัน ทบกันดั่งบันได
สูงไปสู่ห้วงหาว สอยดาวมาสู่ดิน
ขอเป็นซากศพผัน ทบกันดั่งบันได
สูงไปสู่ห้วงหาว สอยดาวมาสู่ดิน.
แด่ผู้ต้องขังการเมืองทุกท่าน
วัฒน์ วรรลยางกูร
ขอขอบคุณ
- ภาพและข้อมูลข่าว จาก BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
[1] Annop Nipitmetawee, ประวัติเพลง “จากลานโพธิ์ถึงภูพาน” ของ วัฒน์ วรรลยางกูร, สืบค้น 13 พฤศจิกายน 2567 https://annop.me/art4life/lanpor-pupan/
[2] กวินพร เจริญศรี , “แค่จาก แต่ยังไม่จบ” , สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้น 15 ธันวาคม 2567 https://pridi.or.th/th/content/2023/11/1773
[3] พิมพ์ชนก พุกสุข, วนะ วรรลยางกูร และการ ‘แทงสวน’ ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ, สืบค้น 13 ธันวาคม 2567 https://www.the101.world/wana-wanlayangkoon-interview/
[4] อำพล : อากงเอสเอ็มเอส , www.ilaw.or.th , สืบค้น 5 ธันวาคม 2567 https://www.ilaw.or.th/articles/case/23359
- วัฒน์ วรรลยางกูร
- Dialogue with the Master
- Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- Dialogue with the Father
- วสุ วรรลยางกูร
- วิชย อาทมาท
- ปฏิพล อัศวมหาพงษ์
- เทศกาลละครกรุงเทพ” Bangkok Theatre Festival 2023
- น้ำผึ้งไพร
- มนต์รักทรานซิสเตอร์
- วนะ วรรลยางกูร
- ฉากและชีวิต
- ด้วยรักแห่งอุดมการณ์
- วจนา วรรลยางกูร
- อัศนา วรรลยางกูร