เรายกย่องผองผู้สู้ไม่ถอย
กับเถื่อนถ่อยอยุติธรรมความบ้าคลั่ง
หากแต่เรารังเกียจ โกรธ ชิงชัง
กับการตั้งตัวเป็นเช่นซ่องโจรเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กลางใจเมือง”
ผู้จัดการรายวัน 28 พ.ค. 2553
เราไม่อาจจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดนักเขียน ศิลปิน หรือคนทำงานด้านวัฒนธรรมส่วนใหญ่ จึงมีท่าทีดูแคลนการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรากหญ้าในเหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 53’ โดยไม่พิจารณาการเคลื่อนย้ายฐานะของชนชั้นกลางตลอด 40 ปีที่ผ่านมา
การดูแคลนดังกล่าวตกทอดมาจนถึงยุคที่คนหนุ่มสาวออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างปี 2563-2565
ในงานเรื่อง “From Reds to Red Shirts: Political Evolution and Devolution in Thailand”[1] ของ จิม กลาสแมน (Jim Glassman) เสนอว่าภาษาของนักกิจกรรมในทศวรรษ 1970 ซึ่งกลืนตัวเองเข้าสู่ชนชั้นกลางหลังยุคสงครามเย็นได้เข้ามาครอบงำมรดกทางภูมิปัญญาไว้
สอดคล้องกับข้อเสนอของ โยชิฟูมิ ทามาดะ ซึ่งมองเห็นอาการของการที่ชนชั้นกลางเริ่มขยับถอยห่างจากระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 พวกเขาหาใช่แนวหน้าของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบ ‘ยุคเดือนตุลา’ โดยทามาดะเห็นว่าชนชั้นกลางมีท่าทีกลางๆ กระทั่งอนุรักษนิยมต่อประชาธิปไตยเสียมากกว่า[2]
ถึงจุดนี้เมื่ออาการวิปลาส แบบที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยนิยามภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคมไว้จึงเกิดขึ้นว่า “แท้จริงแล้ว วิกฤตสังคมเป็นผลมาจากการที่สิ่งเก่ากำลังตายไป และสิ่งใหม่ถูกขัดขวางมิให้ก่อเกิด ในระหว่างยุคสมัยเยี่ยงนี้ อาการวิปลาสนานาชนิดจะสำแดงตัวออกมา” เมื่อการออกมาล้มการเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งได้รับการเชิดชู และการเรียกร้องประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย!
อย่างไรก็ตาม นักเขียน ศิลปิน และคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมจำนวนหนึ่ง เลือกเดินห่างจากกลุ่มชนชั้นกลางสถาปนาเหล่านั้น แล้วประกาศเป็นแนวร่วมกับชนชั้นใต้ถุนโครงสร้างอำนาจแทน
วัฒน์ วรรลยางกูร คือ นักเขียนคนแรกๆ ที่ออกมาปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางด้านภูมิปัญญาที่ทอนค่าเสียงของประชาชนคนรากหญ้าว่าเป็นเพียง “สมุนนักการเมืองขายชาติ”
อดีตนักศึกษาผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หรือ “สหายร้อย” ในขบวนการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เลือกเดินออกนอกแถวรับรางวัลจากขุนนางจารีตในแวดวงวรรณกรรม
1 เมษายน 2552 กลุ่มเพื่อนนักเขียน กวี เพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายคนเดือนตุลา ออกแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศ โดยมีมิตรสหายคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ร่วมลงชื่อหลายคน อาทิ ลาว คำหอม, วัฒน์ วรรลยางกูร, ไพบูลย์ วงเทศน์, อุดร ทองน้อย, ยงค์ ยโสธร, ไม้หนึ่ง ก.กุนที ฯลฯ
โดยเฉพาะคนท้ายสุด เราต้องจดจำไว้ว่าเขาคือคนที่ต้องเสียชีวิตจาการลอบสังหารในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งนับกันว่าเป็นสัญญาณแรกของการรัฐประหารยึดอำนาจที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นเพียง 1 เดือน
ขณะที่ วัฒน์ วรรลยางกูร เลือกปฏิเสธคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ซึ่งในเวลานั้นมีคำสั่งของคณะรัฐประหาร คสช. ที่เป็นทางการจำนวน 472 รายชื่อ โดยผู้ไม่เข้ารายงานตัวถูกกำหนดให้มีความผิดทางอาญา ขณะที่ยังมีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ” โดยไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการในจังหวัดต่างๆ รวมกันอย่างน้อย 929 คน และยังมีพลเรือนต้องถูกดําเนินคดีในศาลทหาร อย่างน้อย 2,408 คน[3]
ท่ามกลางทุรยุคหลังรัฐประหาร คสช. กว่า 8 ปี ไม่มียุคสมัยใดจะแสดงให้เห็นจุดแตกหักของปณิธานแบบที่วรรณกรรมยุคศรีบูรพาเคยสร้างไว้ ได้ชัดเจนเยี่ยงนี้ นั่นคือในขณะที่นักเขียนที่เคยถือว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าในอดีต ได้กลายเป็นวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ทั้งยังช่วยสืบทอดอำนาจด้วยการยกมือให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ วัฒน์ วรรลยางกูร กลับต้องลี้ภัยและเสียชีวิตยังต่างประเทศ ในหนังสือเล่มสุดท้ายของวัฒน์ที่เขาเขียนไว้ก่อนจากโลกไป เรื่อง “ต้องเนรเทศ”[4] ในบทที่ 1 ได้บอกเล่าชีวิตที่เขาเติบโตมากับงานเขียนของคนรุ่นศรีบูรพา และเปรียบเปรยการต้องหลบลี้หนีภัยว่าเผชิญอุปสรรคประดามี
ในด้านหนึ่ง บทบาทของวัฒน์ เสมือนการรักษาถ้อยคำทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนและศิลปินไทย เฉกเช่นคนทำงานศิลปวัฒนธรรมในยุคศรีบูรพา ได้เคยสาธิตให้สังคมไทยเห็นมาแล้วว่า เราไม่จำเป็นต้องค้อมหัวให้อำนาจเผด็จการ แม้ในวันที่ยากลำบากที่สุด
[1] Jim Glassman, “From Reds to Red Shirts: Political Evolution and Devolution
in Thailand,” Environment and Planning A, 42, 4 (April 2010) : 765-770.
[2] โยชิฟูมิ ทามาดะ, “ประชาธิปไตย การทําให้เป็นประชาธิปไตย และการออกจาก
ประชาธิปไตยของไทย (Democracy, Democratization and De-Democratization in Thailand)”, ฟ้าเดียวกัน, 6 ฉ.4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) : 98-139.
[3] ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, 5 ปี คสช. พอได้หรือยัง? : ข้อเสนอว่าด้วยการจัดการผลพวงรัฐประหาร, https://tlhr2014.com/archives/12492, เข้าถึง 22 เมษายน 2565
[4] วัฒน์ วรรลยางกูร, ต้องเนรเทศ. อ่าน : นนทบุรี. 2565, บทที่ 1
- วัฒน์ วรรลยางกูร
- สายธารวรรณกรรมศรีบูรพา
- ภีรดา
- ศรีบูรพา
- เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
- การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
- จิม กลาสแมน
- Jim Glassman
- สงครามเย็น
- โยชิฟูมิ ทามาดะ
- ยุคเดือนตุลา
- อันโตนิโอ กรัมชี่
- Antonio Gramsci
- สมุนนักการเมืองขายชาติ
- สหายร้อย
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
- พคท.
- ลาว คำหอม
- ไพบูลย์ วงเทศน์
- อุดร ทองน้อย
- ยงค์ ยโสธร
- ไม้หนึ่ง ก.กุนที
- คสช.
- คณะรักษาความสงบแห่งชาติ