ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
ศิลปะ-วัฒนธรรม

เมื่อ “ดวงดาว” เป็นอุปมานิทัศน์ถึง “คณะราษฎร”

18
กรกฎาคม
2565

จากต้นปี 2565 จนถึงกลางปี แวดวงวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรม ต้องสูญเสียคนทำงานสร้างสรรค์ที่มีจุดยืนประชาธิปไตยคนสำคัญติดๆ กัน อย่างน้อยถึงสี่ราย

 

 

วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนสามัญชนผู้มีผลงานที่ได้รับการยอมรับสูงมากว่า 40 ปี ซึ่งพลัดที่นา คาที่อยู่ลี้ภัยไปยังต่างแดน เพียงเพราะเขาปฏิเสธคำสั่งการรายงานตัวคณะรัฐประหาร 2557 ก่อนจะเสียชีวิตในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ณ ประเทศฝรั่งเศส

 

‘วาด รวี’ หรือ รวี สิริอิสสระนันท์ ผลงานถ่ายภาพของ Thiti Meetam
‘วาด รวี’ หรือ รวี สิริอิสสระนันท์
ผลงานถ่ายภาพของ Thiti Meetam

 

น้ำตายังไม่ทันแห้ง ให้หลังการจากไปของวัฒน์เกือบสองเดือน ‘วาด รวี’ หรือ รวี สิริอิสสระนันท์ นักเขียนและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ใต้ดิน ผู้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างแข็งขัน ต้องมาด่วนจากไปอย่างน่าเศร้า 

 

ถนอม ชาภักดี ที่มา : ประชาไท
ถนอม ชาภักดี
ที่มา : ประชาไท

 

ขณะที่ สองรายหลังเกิดขึ้นยังผืนดินของอีสาน คนแรกเป็นนักปฏิบัติการทางศิลปะ ชื่อ ‘ถนอม ชาภักดี’ อดีตนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เขาสร้างงานอันเต็มไปด้วยสีสันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความสูญเสียนี้ยังรวมไปถึงนักข่าวรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง อติเทพ จันทร์เทศ ผู้สื่อข่าวประจำนักข่าวเดอะอีสาน เรคคอร์ด ซึ่งฝากงานชิ้นสุดท้าย ว่าด้วยการตามรอยกบฏผีบุญในอีสาน จากพื้นที่เกิดเหตุ

 

อติเทพ จันทร์เทศ ที่มา : The isaan record
อติเทพ จันทร์เทศ
ที่มา : The isaan record

 

สายธารวรรณกรรมจากยุคศรีบูรพา

มากไปกว่าที่ว่า จุดร่วมของคนทำงานแวดวงวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรมที่กล่าวมา  จะเป็นการทำงานด้วยจุดยืนชัดเจนในการเรียกร้องประชาธิปไตย ผลงานผู้วายชมน์เหล่านี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั่นคือ การเชื่อมต่อสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของสามัญชนไทยในยุคเวลาปัจจุบัน

การดำรงอยู่ของจุดยืนเช่นนี้สำคัญอย่างไรในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราอาจจะเริ่มตอบคำถามจาก ประเด็นวิพากษ์ที่เป็นจุดหักเลี้ยวสำคัญเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวไว้ในการ “ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” เรื่อง “ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน”[1] วิพากษ์จุดยืนและท่วงทำนองของแวดวงวรรณกรรมไทยไว้อย่างเผ็ดร้อน

ปาฐกถานี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ ‘เมษา-พฤษภา 53’ ที่มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก แต่เรื่องที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่า คือ เหล่านักเขียน ศิลปิน กระแสหลักในสังคมไทยกลับมีท่าทีเย็นชาบาดลึก ซึ่งหากคิดตามคำที่ของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่าน ระบุไว้ว่าเป็น “อดีตที่มันไม่ร่วมสมัยกับปัจจุบัน” ของพวกเขาเหล่านั้น ก็ยิ่งช่วยให้เห็นเนื้อหนังของคนรุ่นนั้นถนัดตายิ่งขึ้น

กล่าวคือ เหล่านักเขียนผู้ยึดกุมหัวหาดของศิลปวัฒนธรรมไทยต่างละทิ้งจุดยืนอย่างการสนับสนุนประชาธิปไตยและหันไปประณามประชาชนชนชั้นรากหญ้าที่ออกมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีของราษฎรอย่างน่าละอาย

ทว่า ประเด็นของชูศักดิ์ จำเป็นต้องเว้นที่ว่างให้กับคนทำงานศิลปวัฒนธรรมจำนวนหนึ่ง กรณีนี้รวมถึง วัฒน์ วรรลยางกูร, วาด รวี, ถนอม ชาภักดี อติเทพ จันทร์เทศ และอีกหลายคน เหตุผลเพราะในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้ยุคสมัยของเผด็จการ คสช. พวกเขาต่างพยายามลงแรงรื้อฟื้นและเป็นปากเสียงให้คนที่ถูกกดขี่

เฉกเช่นที่ว่าการทำงานในแวดวงวรรณกรรมและศิลปินวัฒนธรรม เคยเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่ได้รับอิทธิพลมาจากคนรุ่นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาทิ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือในนามปากกา “ศรีบูรพา” ผู้มีบทบาทในการต่อสู้ผลักดันให้นักเขียนและสื่อมวลชนได้รับการยอมรับจากสังคม

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปพินิจข้อเสนอของชูศักดิ์ ยังพบสิ่งที่น่าวิตกอีกประการ คือ ความพยายามจากยุคสมัยกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในการสร้างนิยามของการเขียน นิยามของวรรณคดีในฐานะอาชีพอิสระที่ปลอดจากรัฐและทุน รวมถึงทำให้ผู้ที่ทำงานด้านนี้เป็นผู้ยึดมั่นในอาชีวปฏิญาณ หรือจรรยาบรรณวิชาชีพในภาษาปัจจุบัน ได้ถูกตั้งคำถามยิ่งขึ้นจากคนหนุ่มสาว

นิยามของศรีบูรพา คือ ความเป็นนักเขียนและสื่อมวลชนเป็น ผู้ซื่อสัตย์ต่อความจริง มุ่งผดุงความยุติธรรม และเป็นปากเสียงให้ผู้ต่ำต้อยและผู้ถูกกระทำ ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้รับการตอบรับในวงการวรรณกรรม และมีนักเขียนรุ่นต่อมาอาทิ นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, ลาว คำหอม พยายามสืบทอดและนำนิยามดังกล่าวมาขยายความ

ในแง่นี้ การต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยในยุคสมัยปัจจุบัน จากคนในแวดวงวรรณกรรมและศิลปวัฒนธรรม ที่อาจจะดูเหมือนสืบเนื่องและเต็มไปด้วยสีสันนั้น อันที่จริงอาจจะมีที่ทางน้อยอย่างเหลือเชื่อยิ่งในพื้นที่ของบรรดาสถาบันสถาปนาในสังคมไทย

 

อุปมานิทัศน์ที่เสียไม่ได้

แม้กระทั่งในเวทีประชาธิปไตยในระดับทางการซึ่งมีไม่มากอยู่แล้ว ก็ยังปรากฏเรื่องนี้น้อยเกินไปอย่างน่าใจหาย ข้อมูลที่น่าสลดกว่านั้นคือ ความหมายของประชาธิปไตยถูกยึดกุมโดยพวกขุนนางจารีตในแวดวงวรรณกรรม ที่นำพาทิศทางของเส้นทางประชาธิปไตยถอยห่างออกจากประชาชน

จากวิทยานิพนธ์ของ ตองนวล แก้วเกลี้ยง ซึ่งเป็นการศึกษาแนวคิดประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า[2] อันนับเป็นช่วงรอยต่อคาบเกี่ยวกันของวิกฤติการเมืองไทย ระหว่าง พ.ศ.2546-2555 เธอพบว่า แนวคิดทั้งสองที่ปรากฏใน บทกวีจำนวน 113 บท ที่นำมาศึกษา ต่างให้ความหมายที่แตกต่างกันไป ทว่าอยู่ภายใต้โครงเรื่องเดียวกัน

มีอยู่บ้างที่ถูกเขียนขึ้นในแบบฉบับของประวัติศาสตร์ชาติไทยแบบทางการ หรือไม่ก็เขียนอย่างเสียไม่ได้ในฐานะมรดกความเป็นไทย พร้อมๆ กับโจมตีการเลือกตั้งที่มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ไม่นักการเมืองเลวก็ประชาชนโง่ ไปจนถึงภาพแทนของคุณธรรม-ศีลธรรม ในฐานะยาวิเศษแก้ปัญหาประชาธิปไตยได้ !

ทิศทางของบทกวีที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ ดูจะแยกห่างไปจากนิยามความหมายของประชาธิปไตยในกลุ่มคนชนชั้นรากหญ้าในนามขบวนการคนเสื้อแดง เมื่อปี 2552-2553 รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวในนามคณะราษฎรที่มุ่งเป้าปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ระหว่างปี 2563-2565

อย่างไรก็ตาม ตองนวลพบว่า มีบทกวีที่ได้รับรางวัลพานแว่นฟ้าอยู่จำนวนหนึ่งที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลง 2475 แต่ในจำนวนนั้น บ้างก็กล่าวถึงคณะราษฎรในฐานะ “ผู้ให้กำเนิดประชาธิปไตย” ขีดเส้นใต้เพียงแค่นั้น หรือมีอยู่บ้างที่กล่าวถึงรวมๆ ไปกับ การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ ในส่วนของการเชิดชูวีรกรรมของคณะราษฎรกลับไม่ปรากฏน้ำเสียงที่ชัดเจนนัก และไม่มีการเอ่ยคำว่า “คณะราษฎร” ออกมาตรงๆ แต่กล่าวถึงในแง่มุมที่ว่า 2475 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน เช่น

 

“จากกฎหมู่สู่ประเด็นเป็นกฎหมาย
เคยห่างหายล้าหลังยังหลับใหล”
จนสองสี่เจ็ดห้าผ้าอำไพ
เมื่อประชาธิปไตยได้เบ่งบาน”

บุญชัย ตันสกุล, วรรณกรรมพานการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 2

 

อีกตัวอย่าง ที่ผู้เขียนกวีคนนั้นเลือกใช้วิธีอุปมานิทัศน์ถึงคณะราษฎรในลักษณะของดวงดาว จากตัวบทชื่อ “ทางแสงดาว” ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยในปี 2547 เกริ่นถึงหลักการแต่เริ่มต้นของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ปรากฏคำว่า “คณะราษฎร” โดยตรง แต่ใช้ “ดวงดาว” สื่อถึงคณะราษฎรในฐานะผู้เริ่มก่อหลักการประชาธิปไตย เช่นบทกวีชื่อ “เส้นทางดาว”

 

เป็นรูปทรงสีทองแสงส่องทาบ
ละโลมอาบพร่างพรายฉายประสงค์
เพื่อสิทธิ์ไทจักเชิญขึ้นเชิญธง
ให้สูงส่งสู่สรวงห้วงแดนดาว
บวงห้วงหนหม่นหมอกลงหน่วงหนัก
ร่ายรูปลักษณ์เล่ห์ลวงให้หน่วงหนาว
มิพรายพร่างแสงส่องที่ส่องพราว
ล้วนทางทุกข์ทบท่าวขึ้นทดแทน

สิระพล อักษรพันธุ์, วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 3

 

ตัวบทเหล่านี้เป็นเพียงบางเสี้ยวในพื้นที่ศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ถูกกดปราบหนักยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งมีกระบวนการทำลายมรดกคณะราษฎรไปพร้อมๆ กัน

ในตอนหน้าเราจะมาพิจารณาว่า เหตุใดเหล่านักเขียนศิลปินที่เคยชุบชูตัวเองจากเลือดเนื้อของผู้รักประชาธิปไตยในทางประวัติศาสตร์ จึงมีท่วงทำนองที่น่ากังขาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายตาของหนุ่มสาวที่สนใจกลับไปรื้อฟื้นมรดกของการเปลี่ยนแปลง 2475 ในนาม “คณะราษฎร”

 


[1] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์: ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน, https://prachatai.com/journal/2011/05/34441, เข้าถึง 30 กรกฎาคม 2556

[2] ตองนวล แก้วเกลี้ยง, ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า: กรณีศึกษาบทกวีการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า พ.ศ.2546-2555. วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล, 2558