ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า สังคมนิยมประชาธิปไตย และ การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่

6
กรกฎาคม
2564

 

 

“89 ปีของการอภิวัฒน์สยาม” นับว่าเป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งผมอยากย้ำ ห่างจากที่นี่ไปเพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตรเลาะชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไปจากท่าพระจันทร์ไปจนถึงเกียกกาย สิ่งที่เราจะเห็นภาพก็คือขณะนี้มีขบวนการคนรุ่นใหม่กำลังต่อสู้ กำลังตั้งคำถามและกำลังทวงคืนจิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 89 ปีที่แล้ว

สิ่งที่ผมอยากย้ำให้เห็น ให้เราย้อนกลับไปเมื่อ 89 ปีที่แล้ว ‘ปรีดี พนมยงค์’ อายุประมาณ 33 ปี เท่านั้น อาจจะอายุมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกระบวนการการเคลื่อนไหวในวันนี้ แต่สิ่งที่เห็นก็คือ “จิตวิญญาณของการตั้งคำถามกับความไม่ถูกต้อง กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา” 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ จะเห็นได้ว่ามีการพูดถึงสังคมที่ไม่เป็นธรรม ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ข้อเรียกร้องเรื่องรัฐสวัสดิการ การ ถูกพูดโดยนักเรียนมัธยมที่มหาสารคาม ถูกพูดโดยขบวนการภาคประชาชนที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกพูดโดยผู้ใช้แรงงานในสมุทรปราการ ถูกพูดโดยผู้ใช้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนของประเทศนี้ เหนือสุดถึงใต้สุด ตะวันออกถึงตะวันตก พูดถึงเรื่องนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ขับเคลื่อนให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมาก ไม่ใช่เพราะนักวิชาการคนไหน ไม่ใช่เพราะนักการเมืองคนไหน แต่เกิดขึ้นเพราะจากกระแสการต่อสู้ของประชาชน และนอกจากกระบวนการคนรุ่นใหม่ที่เราเห็นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

ในเดือนมิถุนายนเพียงแค่เดือนเดียว มีขบวนการที่มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นและมากที่สุดในทศวรรษ การนัดหยุดงานของกลุ่มที่เรียกว่า Rider หรือว่า “พนักงานแพลตฟอร์ม” 

เดือนมิถุนายนเพียงแค่เดือนเดียวมีการนัดหยุดงาน 20 ครั้ง ขณะที่เมื่อปี 2018 หรือ 3 ปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเพียงแค่ 20 ครั้งตลอดทั้งปี สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นก็คือ เหตุใดผมจึงใช้คำว่า “สังคมนิยมประชาธิปไตยกำลังกลายเป็นภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่” 

เรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า "ภาษาที่สอง" นั่นก็คือ ภาษาที่เราจะเอาไปใช้เพื่อทำมาหากิน เอาไปใช้เพื่อทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น บางทีเมื่อ 20-30 ปีก่อน เขาก็บอกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เมื่อสัก 4-5 ปีก่อน เราก็บอกว่าภาษาคอมพิวเตอร์เป็นภาษาที่สอง เพราะมันทำให้เราสามารถมีชีวิตรอดต่อไปได้นอกจากภาษาแม่

แต่วันนี้ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” คือ ภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่ ภาษาของการพูดถึงความเท่าเทียมกัน ปัญหา ณ ตอนนี้ คือ ผู้มีอำนาจคนรุ่นก่อน ไม่เข้าใจภาษาที่สองของคนรุ่นใหม่ 

ภาษาที่ 2 ที่ว่าด้วยความเท่าเทียม เกิดอะไรขึ้น ทำไมคนรุ่นใหม่จึงสนใจแนวคิดสังคมนิยม ไม่ใช่ว่าเขาไปอ่านทฤษฎีมาร์กซิสต์ หรือ ทฤษฎีสังคมนิยมที่มีความซับซ้อน แต่มันเกิดขึ้นผ่านเงื่อนไขง่ายๆ ที่บอกว่า “ระบบทุนนิยม” นี้ มันอัปลักษณ์จนเกินไป มันสร้างคนจำนวนมากให้เปราะบางและไม่สามารถตั้งคำถามกับชีวิตได้ สร้างคนจำนวนมากให้ยากจนและไร้ศักดิ์ศรี ต้องคุกเข่า ค้อมหัว เพื่อสามารถที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่โลกนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับทุกคน ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกายของเรา ความแก่ชรา ความเยาว์วัยของเรากำลังถูกปล้นชิงโดยระบบทุนนิยม บางอย่างที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับชีวิต น้ำประปา ไฟฟ้า อาหารกลางวัน ก็ถูกปล้นชิงและสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น 

 

 

 

เราอยู่กับสภาพแบบนี้มาอย่างยาวนาน เมื่อเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็ยิ่งทำให้เราไม่สามารถตั้งคำถามกับมันได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นอยู่กับตัวเราทุกวันนี้ ไม่ได้จบที่รุ่นเรานี้ แต่กลับได้รับความเหลื่อมล้ำจากพ่อแม่ แล้วเราก็ส่งต่อไปให้ลูก

จากสถิติของธนาคารโลก ความรวย ความจนของคนคนหนึ่งในประเทศไทยมีโอกาสส่งต่อให้ลูกหลานถึง 40 % ความจน และ หนี้สิน ถูกส่งต่อ 40 % ถ้าคุณตายด้วยหนี้ 1 ล้าน คุณจะมีหนี้ 4 แสนบาทโดยเฉลี่ยที่ถูกส่งให้ลูกของคุณโดยอัตโนมัติ  

รูปธรรม คือ มีเด็กจำนวนมากที่จะไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ หรือ ไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศด้วยภาระทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อทุกคนมีชีวิตที่เปราะบาง การเปลี่ยนแปลงของประเทศนี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่ผูกขาดโดยคนไม่กี่กลุ่มในสังคม เราลองไปดูข้างในสภาผู้แทนราษฎร จะมีการเลือกตั้ง มีสัดส่วนของคนที่ไม่ได้จบปริญญาตรีและได้มานั่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 6 คนเท่านั้นเอง ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้จบชั้นม. 3 ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะดี คุณก็สามารถส่งต่อจินตนาการได้ เหมือนบทกลอนของ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ที่เคยกล่าวไว้ว่า 

“ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย ผูกขาด ความฝันของคุณก็เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าคุณเกิดมาในครอบครัวชาวนา ครอบครัวผู้ใช้แรงงาน ความยากจนก็ถูกส่งต่อให้คุณและจินตนาการในชีวิต จินตนาการในการเปลี่ยนแปลงก็จะหายไป สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยขาดหายซึ่งจินตนาการของสังคมใหม่เพราะชนชั้นนำผูกขาดความเป็นไปได้ทุกอย่าง” 

พวกเขาผูกขาดสถิติตัวเลข และพร่ำบอกถึงความเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้สิ่งที่เราเห็นในวิกฤตโควิด 19 มีเงินจำนวนมากมายมหาศาลที่ไม่ได้ถูกส่งต่อมา

ผมสงสัยอยู่เสมอว่าทำไมผู้คนจะได้รับเงินเยียวยาต้องกรอกยา ฆ่าตัวตาย เพื่อให้เห็นว่าตัวเองน่าสงสารขนาดไหน กรอกแบบฟอร์มเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองยากจนขนาดไหน แต่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ รัฐบาลแทบจะประเคนเรียกให้ขึ้นมาเพื่อที่จะรับเงินช่วยเหลือเยียวยา ในรายที่ไม่อยากกู้ รัฐบาลยังพยายามที่จะประเคนให้สามารถกู้ได้เลย 

สิ่งเหล่านี้ คือ “การผูกขาดความเป็นไปได้ของชนชั้นนำ” ซ้ำร้ายมากกว่าการผูกขาดของข้อมูลเป็นการที่บอกว่า “คนจน ถ้าเขาได้รับเงินโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่สามารถที่จะคิดได้ หรือ ไม่สามารถวางแผนกับชีวิตได้” คำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นคำกล่าวใหม่ กลุ่มอนุรักษนิยมเคยวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “รัฐสวัสดิการ หรือ ความเสมอภาคในสังคมไทยนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะคนไทยยังไม่พร้อม” 

ซ้ำร้ายกว่านั้น ประสบการณ์ในอดีตทำให้พวกเขาพยายามบอกเราว่า เราจำเป็นต้องอยู่ในสังคมแบบนี้ชั่วนาตาปี ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่พอใจประเทศนี้ก็ออกจากประเทศนี้ไป ถ้าไม่พอใจก็แบบนี้ก็ไปอยู่ที่ระบบอื่น ไม่พอใจที่ทำงานนี้ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น นี่คือชีวิตที่เราประสบพบเจอกัน

 

 

พวกเขารักษาโครงสร้างเหล่านี้ไว้ได้อย่างไร? 

ประการแรก คือ การจัดลำดับชั้นของสวัสดิการ ทำให้สวัสดิการเป็นเรื่องของคนจนเท่านั้น เป็นของคนจนที่น่าสงสาร ต้องผ่านการพิสูจน์สิทธิ ถ้าใครมีเงินก็ผลักที่จะให้ไปต่อสู้ ผลักให้ไปซื้อ สังคมจึงเหลื่อมล้ำมากขึ้น

เมื่อคุณมีเงิน คุณก็ทำได้ด้วยการก่อกำแพงที่สูงมากขึ้น วันดีคืนดีคุณก็โยนเศษเนื้อข้างกำแพงมา ราวกับว่าประเทศนี้ได้รับการแก้ไขความเหลื่อมล้ำแล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นคือลำดับชั้นของสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้นมากอย่างน่าเศร้า 

ประเด็นถัดมา คือ คำอธิบายที่บอกว่า “เราไม่พร้อม” ที่บอกว่าเราไม่มีเงินพอในการสร้างรัฐสวัสดิการ ผมเคยคำนวณตรงนี้ เราสามารถใช้งบประมาณ 45-50% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีในการสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ไม่ต้องควานหา ไม่ต้องพิสูจน์ความจน เราสามารถทำได้ทันที แต่ปัญหาก็คือ ทุกท่านเห็นใช่ไหมครับ จะเพิ่มค่าอาหารเด็ก 1 คน จาก 20 บาทเป็น 21 บาท กระทรวงศึกษาแทบจะเคาะ Excel ให้เราเห็นเลยว่ามีความซับซ้อนอย่างไรกับการเพิ่มเงินแค่ 1 บาท

เวลาที่เราบอกว่าสวัสดิการทั้งหลายทำแล้วมีตัวชี้วัดอะไรยังไง เรื่องเหล่านี้เขาเก่งแต่กับประชาชน เก่งแต่กับสวัสดิการของประชาชน ผมอยากชวนถามว่าถนนหนทางต่างๆ ที่ปรากฏในท้องถิ่น หรือ โครงการต่างๆ มากมาย มีการหาตัวชี้วัดแบบนั้นไหม 

ผมลองเทียบดู ในเวลาที่เราพูดว่างบของกระทรวงศึกษามันสูง แต่งบของกระทรวงศึกษานี้ คืองบที่ทุกคนควรได้ใช้ ลูกหลานของเราควรได้ใช้ แต่งบกระทรวงกลาโหมมีใครได้ใช้บ้าง นี่คือปัญหาวิธีการจัดสรรงบประมาณที่เป็นปัญหาใหญ่ เรามีเงินแต่ก็ไม่เคยคิดว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญ ไม่คิดว่าลูกหลานของเราคงจะได้เรียนหนังสือฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย หรือ ควรจะได้เงินเลี้ยงดูเด็ก หรือ ควรจะได้เงินบำนาญให้แก่พ่อแม่

ประเด็นที่สำคัญ คือ เรามักจะบอกว่าคนไทยไม่พร้อมที่จะเสียภาษีในปริมาณที่เยอะเพื่อนำมาสร้างรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่าส่วนนี้คือมายาคติชิ้นสำคัญที่เราอาจจะพบในอินโฟกราฟฟิค ตั้งแต่ช่วงปี 2557 ว่าประเทศไทยเก็บภาษีได้น้อยจะสร้างรัฐสวัสดิการได้อย่างไร 

ประเด็นที่ผมอยากย้ำ คือ วันนี้ทุกคนเสีย Vat และยิ่งคุณมีรายได้น้อยคุณก็ยิ่งเสีย Vat มาก เมื่อเทียบกับแม่ค้าที่มีรายได้ 10,000 เสีย Vat 7% ใช้เงินหมดเลยก็คือ 700 บาท แต่ถ้าคุณมีเงินรายได้ต่อเดือน 1 แสนบาท คุณใช้ 50,000 บาท อีก 50,000 คุณเก็บไว้ลงทุน การลงทุนของคุณ 50,000 เท่ากับเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเทียบกับรายได้น้อยกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ

คนจน คนรายได้น้อยแบกรับภาษีส่วนนี้สูง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าเข้าไปบอกทุกคนว่าให้ยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 400-500 บาทแต่ไม่เอาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

แม่ ผม และ ภรรยาของผมอยู่ด้วยสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผมบอกได้เลย ไม่มีบ้านไหนที่ใช้อยู่กับระบบนี้และบอกว่า “ฉันขอรับเงินเพิ่มจากการไม่เสียภาษี Vat และยกเลิกประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มันคืนชีวิต รักษาชีวิตของผู้คนได้” นี่คือหัวใจครับ มันเป็นแค่ข้ออ้างของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ไม่อยากจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า 

เราจะสร้างปรากฏการณ์ได้อย่างไร ‘อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร’ ได้พูดถึงกระบวนการการจัดเก็บภาษีไปแล้ว แต่มีส่วนหนึ่งที่ผมอย่างย้ำและเป็นสิ่งสำคัญที่มีการพูดถึงมากในช่วงวิกฤตโควิด 19 ผมตั้งชื่อมันง่ายๆ ว่าเป็น “ภาษีชนชั้นปรสิต” หรือ Net Wealth Tax ภาษีทรัพย์สินกลุ่มคนมั่งคั่งที่เป็นตะแกรงตัวสุดท้ายในการที่จะช้อนเก็บภาษีที่สเปนเสนอโดยพรรค Podemos ที่อาร์เจนตินามีการผลักดันเสนอในการเก็บภาษีคนที่มีทรัพย์สินเกิน 80 ล้านบาท

ในส่วนของประเทศไทย ถ้าคุณมีทรัพย์สินเกิน 400 ล้านบาท เสียภาษี 3% คนที่รวยที่สุดในประเทศมีทรัพย์สิน 1 ล้านล้านก็คือเสียภาษีปีละ 30 ล้านจาก Net Wealth Tax ไม่สนใจว่าคุณเคยเสียภาษีอะไรไป แต่ว่าการที่คุณมีล้านล้าน หมื่นล้านภายในประเทศนี้ได้ มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน เพราะคุณไม่ได้ขยันประหยัด หรือ อดทนมากกว่าคนอื่น นี่คือหัวใจของภาษีตัวหนึ่งที่เราจะต้องพูดถึง

สุดท้าย ผมอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ มีคนรุ่นใหม่คนหนึ่งอายุ 18 ปี เพิ่งสอบติดมหาวิทยาลัย เขา inbox มาบอกผมว่าเขามาจากต่างจังหวัด เขารู้สึกว่าชีวิตของเขายากลำบากมาก กระแสการย้ายประเทศเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้น แต่ว่าเขาบอกว่าเขาไม่มีปัญญาที่จะย้ายประเทศ มันเป็นเรื่องยาก 

แม้ว่าคุณจะอยู่ไปทำงาน ไปเป็นผู้ใช้แรงงานอยู่ต่างประเทศก็ยังเป็นสิ่งที่ยากลำบาก เขาบอกเขาไม่มีหรอกปัญญาที่จะย้ายประเทศ เขาบอกว่าเขาเชื่อว่าเขามีปัญญาสร้างรัฐสวัสดิการได้ เด็กผู้หญิงอายุ 18 ปี จากต่างจังหวัดแต่เชื่อว่าตัวเองมีปัญญาในการสร้างรัฐสวัสดิการได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ผมอยากฝากไปถึงเพื่อนพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ฝากถึงเพื่อนที่กำลังออกไปสู้ ผลักดันและมีอำนาจพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้ 

สิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็คือเราต้องกดดันพรรคการเมืองให้พูดเรื่องนี้ กดดันให้พวกเขาทำตามพันธสัญญา ทุกท่านเชื่อไหมครับทุกพรรคสัญญาเรื่องนี้ แต่เวลาผ่านไป 2 ปี มีพรรคการเมืองที่คุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่ปล่อยให้งบบัตรทองถูกตัด มีพรรคการเมืองที่คุมกระทรวงพัฒนาสังคมแต่ปฏิเสธเงินบำนาญถ้วนหน้า พรบ. บำนาญถูกปัดตกไป 5 ฉบับ 

สิ่งเหล่านี้ คือ การเยาะเย้ยต่อจิตสำนึกของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้น นี่คือการสิ่งจำเป็นต้องกดดันพรรคการเมืองให้ผลักดันเรื่องนี้

2 ประเด็นสุดท้าย เราต้องเลิกกินข้าวทีละคำ เราสามารถบอกได้ว่าเราจะเอาทั้งหมด นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ถ้าคนรุ่นใหม่ไม่คุยกัน จะมีอภิสิทธิ์ชนมาคิดแทนและบอกว่าเราต้องการแค่นี้ 

ประเด็นสุดท้ายจริงๆ ครับ การประนีประนอมและการกราบไม่ทำให้สังคมนี้เสมอภาคกันมากขึ้น เขาจะฟังเราได้อย่างไร ในเมื่อเขามีคุก ศาล ทหาร ตำรวจอยู่ในมือ สิ่งที่จะทำให้สังคมนี้เสมอภาคได้คือการยืนยันข้อเสนอของเรา ถ้าเราประนีประนอมตั้งแต่ข้อเสนอของเรายังไม่ได้มีการต่อสู้ ยังไม่ได้มีการทำอะไรเลย สิ่งเหล่านี้ เมื่อเวลาผ่านไปมันจะเหลือเท่าไหร่

‘ปรีดี พนมยงค์’ ผมไม่ทราบเบื้องหลัง เบื้องลึก คนในครอบครัวอาจจะพูดได้ดีกว่าผม แต่เหนืออื่นใดในประวัติศาสตร์ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ‘ปรีดี พนมยงค์’ คือ หลักฐานที่ทำให้เราเห็นถึงการต่อสู้และการยืนยัน แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน และ ยังสามารถคิดฝันได้เหมือนกับเด็กอายุ 18 ที่ผมพึ่งได้คุยมา นี่คือสิ่งที่ผมอยากย้ำ ย้ำเหมือนกับทุกครั้ง อาจมีหลาย 10 ปีที่การต่อสู้ไม่ได้นำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่มันอาจจะมีไม่กี่สัปดาห์ที่จะนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่มีมา ช้าเร็วยังไงเราก็ต้องชนะครับ แด่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 89 ปีการอภิวัฒน์สยาม

 

ที่มา: ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. PRIDI Talks #11 “89 ปีแห่งการอภิวัฒน์สยาม: สวัสดิการและบทบาทของรัฐในการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ห้องประชุมพูนศุข

หมายเหตุ: เรียบเรียงและปรับปรุงโดยบรรณาธิการ