Focus
- เสรีไทยมีเป้าหมายของขบวนการคือช่วยปลดปล่อยประเทศไทยจากญี่ปุ่น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทย และไม่ใช้สถานะเสรีไทยเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวต้องการทำงานในฐานะทหาร ไม่เป็นสายลับ (หรือถ้าต้องเป็นก็ขอเป็นในฐานะทหาร)
- เสรีไทยที่เป็นทหารถูกฝึกหนัก ทั้งงานโยธาและงานทหารพื้นฐาน เช่น ขุดดิน แบกของล้างส้วม ตลอดจนฝึกใช้อาวุธ ถูกส่งทางเรือจากอังกฤษ ผ่านแอฟริกาใต้ ไปถึงอินเดีย เพื่อเข้าร่วมภารกิจต่าง ๆ เช่น วิทยุกระจายเสียง สืบราชการลับ และทำแผนที่ เผชิญความยากลำบากจากการเดินทาง และความเสี่ยงจากสงคราม เช่น การถูกโจมตีทางอากาศและทางทะเล มีความพยายามโดดร่มเข้ามาในไทยหลายครั้ง กว่าจะประสบผลสำเร็จ

ทศ พันธุเสน
ที่มา: หนังสือจากมหาสงคราม สู่สันติภาพ
หลังจากญี่ปุ่นยาตราทัพเข้าไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ไม่นานนัก คนไทยในอังกฤษก็ได้ข่าววิทยุ บี.บี.ซี. ว่า เอกอัครราชทูตไทยในวอชิงตันแถลงว่า จะไม่รับฟังคำสั่งของรัฐบาลไทยต่อไปอีก เพราะเห็นว่าเป็นรัฐบาลที่อยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่น ทูตไทยและคนไทยทั้งปวงในอเมริกา จะดำเนินงานเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ขอให้คนไทยในประเทศช่วยกันหาทางกำจัดศัตรูออกไปให้พ้นดินแดน ไม่ช้าก็มีข่าวคืบหน้ามาว่า คนไทยในสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเสรีไทยทำนองเดียวกับกลุ่มฝรั่งเศสเสรี

ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485
ต่อมาคนไทยทั้งปวงก็ได้ข่าวที่น่าตกใจว่า รัฐบาลไทยได้ประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกา และอังกฤษได้ประกาศสงครามตอบ ทำให้คนไทยกลายเป็นชนชาติศัตรู เคราะห์ยังดีที่ไม่โดนกักกันตัว เพียงแต่ถูกห้ามมิให้ออกนอกที่พักหลังเที่ยงคืน
ความเดือดร้อนประการสำคัญคือเรื่องปากท้อง เนื่องจากรัฐบาลอังกฤษกักกันเงินและสินเชื่อของรัฐบาลไทยทั้งหมด สถานทูตจึงไม่มีเงินจ่ายให้นักเรียนไทย เขาเหล่านั้นจึงเริ่มขายหรือจำนำข้าวของที่มีติดตัวพอได้เงินมายาไส้ในระยะสั้น
ขณะนั้นนักเรียนไทยกระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ นักเรียนกลุ่มใหญ่อยู่ในเมืองเคมบริดจ์ มีทั้งนักเรียนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และนักเรียนมหาวิทยาลัยลอนดอนซึ่งถูกส่งไปอาศัยเรียนที่นั่น พวกนี้เห็นด้วยกับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ทูตไทยในอเมริกา ในการที่ไม่ยอมทำตามคำสั่งรัฐบาลไทยซึ่งเชื่อได้ว่าถูกญี่ปุ่นบังคับ จึงได้ประชุมหารือกันที่ห้องของนายเสนาะ นิลกําแหง บ้าง ที่ห้องของนายเสนาะ ตันบุญยืน บ้าง ถึงเรื่องที่ว่า คนไทยในอังกฤษควรดำเนินการอย่างใดเพื่อรับใช้ชาติ

เสนาะ นิลกําแหง
ที่มา: อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสนาม นิลกำแหง
ที่ประชุมเห็นว่า ผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นหัวหน้าเสรีไทยคือ พระมนูเวทย์วิมลนาท เอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ จึงให้นายเสนาะ นิลกําแหง ซึ่งเป็นศิษย์เรียนวิชากฎหมายอาญาจากท่าน เป็นผู้ไปเชิญท่าน พระมนูเวทย์ฯ เตือนนายเสนาะว่า การขัดคำสั่งรัฐบาลผิดกฎหมายอาญามาตรา ๑๐๔ ฐานเป็นกบฏนอกประเทศ
น่าสังเกตทัศนะของนักกฎหมายสองคน คือพระมนูเวทย์วิมลนาทและ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช คนหนึ่งถือว่าการไม่ปฏิบัติตามรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการกระทำผิดทางอาญามาตรา ๑๐๔ ฐานเป็นกบฏ อีกคนหนึ่งถือว่าควรปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่รัฐบาลเดียวกันนั้นประกาศใช้ก่อนประเทศไทยถูกรุกราน กำหนดให้คนไทยต่อต้านผู้รุกรานทุกวิถีทาง ไม่ควรปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลหลังจากญี่ปุ่นเข้าไทยแล้ว เพราะเป็นรัฐบาลที่ถูกญี่ปุ่นบีบคั้น
เมื่อไม่ได้ทูตไทยมาเป็นหัวหน้า นายสว่าง สามโกเศศ ก็ขอเฝ้าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เพื่อกราบทูลเชิญให้เป็นหัวหน้าเสรีไทย ได้รับคำตอบว่า “ฉันไม่เล่นการเมือง ฉันปฏิบัติงานในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว”

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7

พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ และพระเชษฐา ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ทรงสนพระทัยที่จะร่วมงานเสรีไทยด้วย (ม.จ. ศุภสวัสดิ์ได้ทรงอาสาปฏิบัติราชการในกองทัพบกอังกฤษแล้ว) แต่คนไทยเกรงว่า หากกราบทูลเชิญเป็นหัวหน้าเสรีไทยวงการเมืองในประเทศอาจเข้าใจผิดว่า คณะของตนต้องการกอบกู้ราชบัลลังก์ให้คืนสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่ประชุมจึงขอให้นายเสนาะ นิลกำแหง มีหนังสือถึงเอกอัครราชทูตไทยในวอชิงตันขอให้ช่วยก่อตั้งขบวนการเสรีไทยในอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องจากนายเสนาะคุ้นเคยกับท่าน สอบกฎหมายเป็นเนติบัณฑิตได้ปีเดียวกัน
ม.ร.ว. เสนีย์ โทรเลขตอบว่ายินดีจะช่วย และได้ส่งนายมณี สาณะเสน เป็นผู้แทนมาเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ นายมณีรู้จักคุ้นเคยกับข้าราชการชั้นสูงของอังกฤษหลายคนทั้งทหารและพลเรือน คนไทยจึงพร้อมใจกันให้นายมณีเป็นหัวหน้าเสรีไทยในอังกฤษ
การเจรจากับรัฐบาลอังกฤษยืดเยื้อ รัฐบาลอังกฤษขัดข้อง ด้วยถือว่าอังกฤษกับไทยเป็นคู่สงคราม คนไทยเป็นชนชาติศัตรู ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษยอมรับรองคณะเสรีไทย แต่ระบุชัดแจ้งว่าไม่ถือว่าคณะเสรีไทยเป็นรัฐบาลนอกประเทศ
เมื่อรัฐบาลไทยสั่งให้คนไทยเดินทางกลับประเทศโดยเรือแลกเปลี่ยนเชลย และแจ้งว่าผู้ที่ไม่กลับจะถูกถอนสัญชาติและจะไม่มีสิทธิเข้าประเทศไทยในภายหน้า คนไทยรวม ๓๓ คนส่วนมากคือผู้ที่จบการศึกษาแล้ว กับทูตและข้าราชการสถานทูตสองคนเดินทางกลับ คนไทย ๕๔ คน ได้แก่ข้าราชการสถานทูต ๗ คน เจ้านาย ๗ พระองค์ ศิลปิน ๑ คน และนักเรียน ๓๙ คน สมัครเป็นเสรีไทย

ผู้ที่เป็นเสรีไทยไม่ถูกบังคับให้สมัครเป็นทหาร แต่ทุกคนต้องทํางานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศอังกฤษในยามสงคราม
พวกที่สมัครเป็นทหาร แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายมี ๔ คน คือ นายเสนาะ ตันบุญยืน หลวงจํานง ดิฐการ นายสมบูรณ์ ปาละเสถียร นายยิ้ม พึ่งพระคุณ
เสรีไทยในอังกฤษมีดังต่อไปนี้
(ก) เสรีไทยที่มิได้เป็นทหาร
๑) สมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี
๒) ม.จ. หญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน (จักรพันธุ์)
๓) นายมณี สาณะเสน
๔) นายเสนาะ ตันบุญยืน
๕) หลวงจำนง ดิฐการ
๖) นายยิ้ม พึ่งพระคุณ
๗) นายสมบูรณ์ ปาละเสถียร
๘) นายพร้อม วัชรคุปต์
๙) นายเกษม ผลาชีวะ
๑๐) นายเต็กลิ้ม คุณวิศาล
๑๑) นายจํานง สุ่มสวัสดิ์
๑๒) นายสมาน มันตาภรณ์
๑๓) นายเกษม ล่ำซำ
๑๔) นายวรี วีรางกูร
๑๕) น.ส.สุภาพ รักตประจิต
๑๖) น.ส.บุบผา แต้สุจิ (บุรี)
๑๗) น.ส.อนงค์ แต่สุจิ
(ข) เสรีไทยที่เป็นทหาร (ชื่อในวงเล็บเป็นนามแฝงของพวกที่เข้ากลุ่มกองโจรและหน่วยสืบราชการลับ)
๑) หลวงอาจ พิศาลกิจ
๒) หลวงภัทรวาที
๓) นายกลิ่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา
๔) นายประเสริฐ ปทุมมานนท์ (เป๋า)
๕) ม.จ. การวิก จักรพันธุ์ (รัศมี)
๖) ม.จ. กอกษัตริย์ สวัสดิวัตน
๗) ม.จ. ภีศเดช รัชนี (มั่น)
๘) ม.จ. จิรดนัย กิติยากร (รี)
๙) ม.ร.ว. กิตินัดดา กิติยากร
๑๐) ม.ล. จิรายุ นพวงศ์
๑๑) นายสวัสดิ์ ศรีสุข (เรเวน)
๑๒) นายจุ๊นเคง รินทกุล (พงษ์)
๑๓) นายประทาน เปรมกมล (แดง)
๑๔) นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม)
๑๕) นายเปรม บุรี (ดี)
๑๖) นายรจิต บุรี (ขำ)
๑๗) นายสำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง)
๑๘) นายธนา โปษยานนท์ (กร)
๑๙) นายกฤษณ์ โปษยานนท์ (คง)
๒๐) นายเสนาะ นิลกำแหง (จิ๋ว)
๒๑) นายประโพธ เปาโรหิต (นุ่น)
๒๒) นายเทพ เสมถิติ (หนู)
๒๓) นายกำแหง พลางกูร (หล่อ)
๒๔) นายอรุณ สรเทศน์ (ไก่ฟ้า)
๒๕) นายยิ้มยส แต้สุจิ
๒๖) นายบุญพบ ภมรสิงห์
๒๗) นายบุญเลิศ เกษมสุวรรณ
๒๘) นายโต บุนนาค
๒๙) นายปัทม์ ปัทมสถาน (นา)
๓๐) นายบุญส่ง พึ่งสุนทร (ชัย)
๓๑) นายทศ พันธุมเสน (บุญ)
๓๒) นายวัฒนา ชิตวารี (ท้วม)
๓๓) นายประพฤทธิ์ ณ นคร (เล็ก)
๓๔) นายประจิตร กังศานนท์
๓๕) นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร
๓๖) นายสว่าง สามโกเศศ
๓๗) ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ซึ่งกองทัพอังกฤษรับเข้าประจำการเป็นนายทหาร
เสรีไทยได้ระบุความมุ่งหมายของคณะไว้ดังต่อไปนี้
๑. พวกเราเข้าเป็นทหารอังกฤษ มิใช่เพื่อรับใช้ชาติอังกฤษแต่ต้องการรับใช้ชาติไทย โดยอาศัยอังกฤษร่วมมือ
๒. คณะของเราไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศไทยและไม่ยอมเป็นเครื่องมือในการเมืองของพรรคใด ผู้ใดที่เป็นเสรีไทยภายในประเทศเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น คณะของเราจะร่วมมือด้วยทั้งนั้น และเมื่อเลิกสงครามแล้วคณะเสรีไทยอังกฤษก็จะสลายตัวไป
๓. คณะเสรีไทยจะไม่ถือโอกาสแอบอ้างผลความดีใด ๆ มาเรียกร้องแสวงประโยชน์ส่วนตัวในด้านลาภ ยศ หรือด้านอื่นใด
๔. คณะเสรีไทยอังกฤษได้แสดงให้ทางการอังกฤษเห็นแจ้งชัดแต่เริ่มแรกว่า คณะของเราต้องการกระทำการใด ๆ ในระหว่างสงครามในลักษณะทหาร กล่าวคืออยู่ในเครื่องแบบและยศทหาร แม้ว่าจะเป็นพลทหารก็ยินยอม ทั้งนี้หมายความว่าไม่ยอมเป็นเครื่องมือในลักษณะจารชนถ้าจะต้องปฏิบัติราชการลับก็ทำในฐานะเป็นทหาร

พันโท ม.ล. ขาบ กุญชร
ที่มา: หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร
ทหารเสรีไทยในอังกฤษมีฐานะต่างกับทหารเสรีไทยในสหรัฐฯ รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมปลดปล่อยเงินของรัฐบาลไทยที่ถูกกักกันเพื่อให้เอาไว้ใช้ในกิจการของหน่วยทหารไทยซึ่งมีนายทหารไทย คือ พันโท ม.ล. ขาบ กุญชร เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนเสรีไทยในอังกฤษมีฐานะเป็นชนชาติศัตรูจึงต้องเข้าประจำการในกองการโยธา (Pioneer Corps) หรือกองกุลีของกองทัพอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยทหารหน่วยเดียวที่ไม่มีคำว่า Royal นำหน้าชื่อหน่วยจวบจนสงครามใกล้จะยุติ หน่วยสวะนี้จึงได้เลื่อนฐานะขึ้นเป็น Royal Pioneer Corps
ทหารในกองกุลีประกอบด้วย ชนชั้นกรรมกรบ้าง พวกที่สุขภาพไม่ดีถึงขนาด A.1 บ้างพวกขี้คุกขี้ตะรางบ้าง พวกที่คัดค้านการทำสงครามบ้าง ชนชาติศัตรูบ้าง ทหารเสรีไทยหลายคนที่ไม่ใช่ชายฉกรรจ์มาตรฐาน A.1 จึงเข้ากองการโยธาได้
เสรีไทยในอังกฤษรับการฝึกวิชาทหารพื้นฐานและการกุลีอยู่ในค่ายทหารในอังกฤษตั้งแต่เดือน สิงหาคม ๒๔๘๕ รวมเป็นเวลาเกือบหกเดือน เดินแถวจนต้องเปลี่ยนแผ่นเหล็กที่ตอกพื้นรองเท้าหลายหน แบกปืน เช็ดปืน ยิงปืนหมดกระสุนไปนับร้อยนัด แบกกระสอบถ่านหิน ขุด ขน และปอกมันฝรั่ง ปอกหัวหอมและหัวแครอท ขุดดิน ทำความสะอาดค่ายทหารและโรงอาหาร ล้างส้วม อยู่ยาม ฯลฯ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รวบรวมและเรียบเรียงนิราศพรรณนาสารทุกข์สุกดิบของสหายร่วมทุกข์ไว้อย่างละเอียด ขอตัดตอนมาลงเพียงนี้
สิบโทมิลล์ชำนาญการโยธา
ถือคทาไม้กวาดใหญ่หาไพร่พล
ขัดพื้นเรือนเพื่อนให้ถูดูสะอาด
ส้วมก็กวาดพังทลายไปหลายหน
โต๊ะม้านั่งยังได้ขัดหัดเล่ห์กล
น้ำลูบไล้ให้พ้นไปวัน ๆ
งานเฝ้ายามตามไฟได้ฝึกฝน
ตวาดคนหวั่นกลัวจนตัวสั่น
เวรกลางคืนปืนกับหอกออกประจัญ
เวรกลางวันถือสง่าคทาพลอง
บางเวลาพากันขุดมันเทศ
พลางร่ายเวทด่าฝรั่งกันดังก้อง
ขุดขนไปด่าไปในทำนอง
พวกนายกองชอบใจเพราะไม่รู้…
พลทหารเสรีไทย ได้ชิมชีวิตลำเค็ญในค่ายทหารทางภาคเหนือของอังกฤษจนถึงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็ถูกส่งลงเรือบรรทุกทหารแบบยัดทะนาน อ้อมฝั่งตะวันตกของฝรั่งเศสและทวีปแอฟริกาไปสู่ชมพูทวีปขบวนเรือโดนโจมตีทางอากาศโดยกองทัพอากาศเยอรมันที่มีฐานทัพอยู่ในฝรั่งเศส และเผชิญกับกองเรือใต้น้ำเยอรมัน แต่กองเรือรบของอังกฤษก็สามารถคุ้มกันให้ได้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง การลำเลียงทหารจำนวนแสนไปยังจุดหมายปลายทางได้ นับเป็นความสำเร็จอย่างสูงของราชนาวีอังกฤษ พลทหารเสรีไทยบางคนทำท่าจะลาโลกด้วยโรคเมาคลื่นในมหาสมุทรแอตแลนติค ขบวนเรือโดนคลื่นลมรุนแรงมาก ทหารอังกฤษคนหนึ่งบนเรือลำที่บรรทุกทหารไทย ถูกคลื่นซัดลงทะเลไปในยามดึกขณะที่นอนชมอยู่บนดาดฟ้า
ทหารไทยต้องรอขบวนเรือใหม่จากแอฟริกาใต้ไปอินเดีย ขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวมเวลารอนแรมและพักแรมนานถึง ๓ เดือน ๑๓ วัน
จากนั้นมาพลทหารเสรีไทย ๓๖ คน ก็ถูกคัดเลือกไปปฏิบัติงานต่าง ๆ กัน ไปเดลฮีเพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงและรับข่าววิทยุจากประเทศไทยบ้าง เข้าหน่วยสืบราชการลับบ้าง เข้าหน่วยทำแผนที่บ้าง กลุ่มใหญ่จำนวน ๒๒ คน ถูกส่งไปฝึกการรบแบบกองโจร การล้วงความลับ การอยู่กินในป่า การรับส่งวิทยุ กลุ่มนี้สังกัดแผนกไทยของกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) แห่งหน่วยบริหารงานพิเศษ (Special Operations Executive = S.O.E.) ซึ่งพอจะเทียบได้กับหน่วย โอ.เอส.เอส. ของสหรัฐฯ
ทหารเสรีไทย ๒๑ คนจาก ๒๒ คน ผ่านการฝึกมหาโหดภายในเวลา ๕ เดือน ได้รับยศร้อยตรีในหน่วย General List แห่งกองทัพบกอังกฤษเสรีไทยคนเดียวที่ไม่ผ่านการฝึกการรบแบบกองโจรเป็นโรคต่อมไทรอยด์ไม่ปกติ จึงถูกส่งไปร่วมงานกับกลุ่มส่งวิทยุกระจายเสียง
การที่ทหารเสรีไทย ๒๑ คน จาก ๒๒ คน ผ่านการฝึกครั้งนั้น เป็นเกียรติประวัติอันน่าภูมิใจ เพราะมันเป็นการฝึกที่เต็มกลืนและเต็มกินจริง ๆ หน่วยทหาร King's Liverpool ของอังกฤษจำนวน ๓,๓๐๐ คน ซึ่งโดนฝึกแบบเดียวกับหน่วยเสรีไทย ถูกคัดออกถึง ๒๕๐ คน
ครั้งหนึ่งมีการซ้อมรบร่วมระหว่างทหารเสรีไทยกับทหารคอมมานโด (หน่วยปฏิบัติการพิเศษ) ฝ่ายไทยเป็นกองโจรซึ่งจะต้องทำลายทางรถไฟและท่อน้ำในบริเวณห่างจากค่าย ๑๕๐ กิโลเมตร ทหารคอมมานโด ๑๒๐ คน เดินทางจากค่ายใกล้เคียงกันไปป้องกันวินาศกรรม พวกเสรีไทยหลงทางในวันแรก ในเย็นวันที่สองเขาวัดระยะทางจากแผนที่พบว่ายังอยู่ห่างจากเป้าหมายประมาณ ๗๐ ก.ม. หากออกเดินทางเวลาประมาณตีสี่ในวันสุดท้ายจะมีเวลาราว ๆ ๒๔ ชั่วโมงที่จะปฏิบัติการก่อนสว่าง ปัญหามีอยู่ว่าจะเดินในช่วงสุดท้าย ๗๐ ก.ม. ไหวหรือไม่ หลังจากเดินเต็มเหยียดมาสองวันแล้ว และหากไปถึงที่นั่นภายหลังทหารคอมมานโด ก็จะถูกจับแน่นอนอย่างไรก็ตาม เสรีไทยได้มุมานะเดินทางช่วงสุดท้ายโดยใช้เวลา ๒๒ ชั่วโมงประมาณสี่ทุ่ม ต่างก็อ่อนแรงอ่อนใจกันเต็มที่แล้ว จึงพร้อมใจกันว่า ต่อจากนั้นไปจะพยายามเดินจนถึงที่หมายโดยไม่หยุดเลย ด้วยเหตุว่าถ้าหยุดพักอีกครั้งเดียวก็คงจะนอนหลับกันหมด พวกเขาไปถึงเป้าหมายในเวลาประมาณตีสาม วางระเบิดเทียมเสร็จภายในครึ่งชั่วโมงแล้วเดินออกจากบริเวณนั้นไปหลบนอนพักอยู่หลายชั่วโมง
ได้ทราบภายหลังว่า หน่วยทหารคอมมานโดก็หลงทางและไปถึงบริเวณทางรถไฟและท่อน้ำตอนรุ่งอรุณ พบว่ากองโจรได้วางระเบิดเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว
การเดินผิดทางของทั้งสองฝ่ายนั้น ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องร้ายแรงนัก เพราะแผนที่บริเวณนั้นไม่ละเอียดพอ และเนื่องจากเป็นแผนที่ ซึ่งทำไว้นานแล้ว เส้นทางเดินในแผนที่จึงไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุว่ามีเส้นทางเดินใหม่ในภายหลัง บทเรียนของการซ้อมรบครั้งนั้นก็คือ การกําหนดเวลาปฏิบัติการกระชั้นชิดเกินควร ไม่ได้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้เลย อีกประการหนึ่งการเดินทางในป่าเขาเช่นนั้นควรจะมีผู้นำทางที่รู้จักพื้นที่อย่างดี
ไม่ใช่อาศัยแผนที่และเข็มทิศเท่านั้น

การฝึกกลยุทธกองโจร แม้จะทำให้เหนื่อยกายแสนสาหัส แต่เสรีไทยสายอังกฤษทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เหนื่อยกายยังดีกว่าเสียวแสยงจากการโดดร่ม ทุกคนสารภาพว่าในการฝึกหัดโดดร่ม ๕ ครั้งนั้น กลัวยิ่งขึ้นทุกครั้ง มิหนำซ้ำในบริเวณใกล้เคียงกับสนามบินยังมีป่าช้าแห่งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะคอยต้อนรับพวกเราอยู่ เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกโดดร่มหยอกล้อพวกเสรีไทยด้วยอารมณ์ขันแบบอังกฤษว่า ป่าช้านั่นแหละ คือจุดที่เราทุกคนจะกระโจนลงไป จึงไม่มีใครเห็นขันเลย
นอกจากการฝึกกลยุทธกองโจรและการโดดร่ม พวกเสรีไทยยังต้องเรียนวิชาจารกรรมและโจรกรรมอีกรวม ๖ สัปดาห์
หลังจากทางการทหารอังกฤษได้ส่งผู้แทนไปพบจำกัด พลางกูร ที่จุงกิงแล้ว ก็ได้วางแผนส่งเสรีไทยเข้าประเทศไทย

สวัสดิ์ ศรีศุข

พัฒพงศ์ รินทกุล
ที่มา: อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมจิตร ยศสุนทร
เสรีไทยสายอังกฤษสองคนแรกที่เข้าประเทศไทยคือ จุ๊นคง รินทกุล และสวัสดิ์ ศรีศุข แห่งแผนกประสานงานระหว่างหน่วย (Interservice Liaison Department) ในหน่วยสืบราชการลับสองคนนี้เดินทางโดยเรือใต้น้ำจากลังกา วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ขึ้นฝั่งในอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เมื่อคืนวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน
จุ๊นเคงและสวัสดิ์ มีหน้าที่แต่เพียงสืบสถานการณ์ทั่วไปในจังหวัดภาคใต้เป็นเวลาเดือนเศษแล้วกลับไปรายงาน โดยจะมีเรือใต้น้ำไปรอรับต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๗ หากพลาดนัดครั้งแรกเรือใต้น้ำจะไปรอรับอีกครั้งในต้นเดือนกุมภาพันธ์ การเข้าเมืองไทยของสองคนนี้ไม่ได้นัดแนะกับฝ่ายในประเทศ เพราะยังไม่มีทางติดต่อกัน
จุ๊นเคงกับสวัสดิ์พลาดนัดกับเรือใต้น้ำทั้งสองคราว จึงต้องอยู่ในเมืองไทยหลายเดือน ในที่สุดจุ๊นเคงหาคนที่ไว้วางใจได้พาเข้าพบ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส
ส่วนกองกำลัง ๑๓๖ ต้องการให้เสรีไทยนำหนังสือไปส่งให้หัวหน้าขบวนการต่อต้าน ผู้แทนของกองกำลัง ๑๓๖ ในจุงกิงได้ขอให้จำกัดส่งม้าใช้นำหนังสือไปส่งขบวนการต่อต้านเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ขอให้จัดคนไปรับเสรีไทยที่ชายหาดแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยให้แขวนผ้าไว้บนไม้ใกล้ชายหาดเป็นสัญญาณ นอกจากนั้นได้ขอให้องค์การต่อต้านส่งวิทยุกระจายเสียงมีข้อความเป็นนัยรับรู้เรื่องราวเสรีไทยที่สถานีวิทยุกระจายเสียงในเดลฮีรับฟังวิทยุกรมโฆษณาการไทยตลอดเวลาแต่จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็ไม่มีข้อความที่ส่อว่าฝ่ายในประเทศรับรู้เรื่องที่นัดแนะกัน
การรับฟังวิทยุกระจายเสียงของไทยทำไม่ได้เสมอไป เพราะบางครั้งก็มีเสียงรบกวนมากจนจับข้อความไม่ได้ กองกำลัง ๑๓๖ จึงเสี่ยงส่งป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เข้ม) ประทาน เปรมกมล (แดง) สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) โดยเรือใต้น้ำ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน แต่เมื่อไม่มีสัญญาณบน ฝั่งเสรีไทยสามคนก็ต้องกลับอินเดีย
ได้รู้เรื่องกันภายหลังว่า ม้าใช้จากจีนนำสาส์นสัมพันธมิตรไปส่งองค์การต่อต้านในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ใช้เวลาเกือบหนึ่งปี
กองกำลัง ๑๓๖ ไม่เชื่อในความจริงใจของฝ่ายจีน จึงเลิกล้มความพยายามที่จะติดต่อกับองค์การต่อต้านในไทยผ่านฝ่ายจีน และตกลงใจจะส่งเสรีไทยเข้าไปโดยการโดดร่ม เพื่อให้หาทางติดต่อกับขบวนการในประเทศแล้วส่งวิทยุลับถึงฐานทัพ
ป๋วย ประทานและ เปรม บุรี (ดี) โดดร่มลงเมื่อคืนวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ (ตีหนึ่งของวันที่ ๑๖) นักบินนำส่งผิดจุดไพล่ไปลงใกล้หมู่บ้านวังน้ำขาวจังหวัดอุทัยธานี ถูกจับส่งไปขังไว้ที่กองตำรวจสันติบาล
ผู้บัญชาการแผนกไทยแห่งกองกำลัง ๑๓๖ เสี่ยงส่งคณะที่สองเข้าไปอีกในเดือนเมษายน นักบินส่งผิดเป้าหมายอีก ลงใกล้หมู่บ้านในจังหวัดนครสวรรค์ เสรีไทยอีกสามคน คือ สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) ธนา โปษยานนท์ (กร) รจิต บุรี (ขำ) ถูกส่งไปขังที่กองตำรวจสันติบาลอีก
การเงียบหายของสหาย ๖ คน ทำให้เสรีไทยกลุ่มกองโจรที่เหลืออีก ๑๕ คน อกสั่นขวัญกระเจิงไปตาม ๆ กัน เดือนกรกฎาคม จึงรู้ว่าเพื่อนยังไม่ตายแต่ติดตะราง

เสรีไทยสายอังกฤษในเรือขณะเดินทาง
ที่มา: อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมจิตร ยศสุนทร
เมื่อมีการติดต่อทางวิทยุกันได้แล้ว กองกำลัง ๑๓๖ จึงเริ่มส่งเสรีไทยอีก ๑๕ คนเข้าประเทศโดยแบ่งเป็นกลุ่มละสองหรือสามคน
กฤษณ์ โตษยานนท์ (คง) และประเสริฐ ปทุมมานนท์ (เป๋า) โดดร่มลงใกล้หัวหิน โดยมีสมาชิกของขบวนการในประเทศคอยรับ เมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๗
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ เสนาะ นิลกำแหง (จิ๋ว) ประโพธ เปาโรหิต (นุ่น) เทพ เสมถิติ (หนู) โดดร่มลงในป่าในอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ทศ พันธุมเสน (บุญ) ม.จ. จิรีดนัย กิติยากร (รี) บุญส่ง พึ่งสุนทร (ชัย) โดดร่มลงบนภูกระดึง
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ อรุณ สรเทศน์ (ไก่) และ ม.จ. การวิก จักรพันธุ์ (รัศมี) โดดร่มลงในเขตจังหวัดสุโขทัย
ประพฤทธิ์ ณ นคร ร่วมเดินทางไปเมืองไทยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์กับคณะผู้แทนไทยที่ออกไปเจรจากับกองบัญชาการสัมพันธมิตรที่แคนดี
วัฒนา ชิตวารี (ท้วม) และ ม.จ. ภีศเดช รัชนี เดินทางโดยเครื่องบินทะเลแคตาลีนาไปลงที่เกาะเต่า เมื่อเย็นวันที่ ๒๙ เมษายน
ปัทม์ ปัทมสถาน (นา) และพันตรีไบรศ์สมิธ โดดร่มลงในป่าในจังหวัดตากในเดือนพฤษภาคม
กําแหง พลางกูร น้องชายจำกัด พลางกูร เดินทางจากอินเดียสองครั้ง แต่เข้าเมืองไทยที่ไหนและเมื่อไร ไม่มีใครจำได้ กำแหงตายไปโดยไม่ได้ทำบันทึกการปฏิบัติงานในช่วงท้ายของสงคราม เขาเป็นผู้ประสานงานกับกองบัญชาการกองทัพบกภาคสนามในบังคับบัญชาของพลโทสินาด โยธารักษ์


การสวนสนามของพลพรรคเสรีไทย หลังสงครามโลก ครั้งที่ 2
เมื่อสงครามจวนยุติ มีเสรีไทยอีกสองคนที่เข้าประเทศไทย โดยเครื่องบินซึ่งมาลงที่สนามบินลับในอีสาน คือ ประจิตร ยศสุนทร และสว่าง สามโกเศศ
ทหารเสรีไทยส่วนมากได้รับยศร้อยเอก มีสามคนที่ได้เป็นนายสิบสองคนได้ยศพันตรี คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และเสนาะ นิลกำแหง ม.จ. ศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ได้ยศพันโทและท่านได้รับเหรียญ Order of the British Empire (O.B.E.)
เสรีไทยกลุ่มกองโจร ๙ คนได้เหรียญ Member of the Order of the British Empire (M.B.E.) และสองคนได้เหรียญ Military Cross (M.C.)
เอกสารอ้างอิง :
- ทศ พันธุเสน และจินตนา ยศสุนทร. “เสรีไทยสายอังกฤษ” ใน จากมหาสงครามสู่สันติภาพ (กรุงเทพฯ: ธนธัช, 2542), น. 53-65.