Focus
- 9 กุมภาพันธ์ 2568 ครบรอบ 106 ปีชาตกาลของนายทศ พันธุมเสน ซึ่งสนใจประวัติศาสตร์การเมือง ทราบกันดีว่าทศเป็นบุตรชายของพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อดีตทหารเสือเจ้าของแผนยุทธการคณะราษฎร และยังเป็นเสรีไทยสายอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยบทความนี้ได้นำเสนอบทบาท และหน้าที่รวมถึงปฏิบัติการของทศในช่วงเวลานั้นไว้อย่างละเอียด
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-01.jpg)
ร้อยเอก ทศ พันธุมเสน นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษ Force 136
ภาพจากกบฏกู้ชาติ โดยทศ พันธุมเสน
๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๘ (ค.ศ. 2025) นี้ เป็นวันครบรอบ ๑๐๖ ปีชาตกาลของนายทศ พันธุมเสน ทว่าแทบไม่มีใครรู้จัก “ทศ พันธุมเสน” ชื่อเสียงของเขาถูกกลืนหายในสังคมไทย แต่หากเป็นที่สนใจประวัติศาสตร์การเมือง ก็อาจจะพอรับรู้เลือนรางว่า นายทศผู้นี้เป็นบุตรชายของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อดีตทหารเสือเจ้าของแผนยุทธการคณะราษฎร แต่ก็ไม่รู้อะไรไปมากกว่านั้น และนานครั้งในวาระสำคัญอาจจะนึกถึงว่า นายทศผู้นี้คือเสรีไทยสายอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่แล้วหลายคนก็ยังนึกไม่ออกว่า นายทศผู้นี้ทำอะไรระหว่างสงคราม บทความนี้จะนำเสนอเรื่องราวของนายทศ พันธุมเสน ในบทบาทและปฏิบัติการเสรีไทยในช่วงเวลานั้น
๑. ลูกทหารเสือ คนใฝ่เรียน
นายทศ พันธุมเสน เกิดเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๑ (หากนับศักราชเริ่มปีแบบปัจจุบันคือ พ.ศ. ๒๔๖๒ หรือ ค.ศ. 1919) ที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายของเทพ พันธุมเสน ครั้งมียศเป็นนายร้อยเอกหลวงรณรงค์สงคราม นายทหารช่างหนุ่มอดีตนักเรียนเยอรมัน ส่วนมารดาชื่อ จำปี พันธุมเสน ในระยะนี้บิดาของเด็กชายทศเพิ่งสำเร็จงานใหญ่ในการเจาะสร้างอุโมงค์ถ้ำขุนตาน จังหวัดลำปาง และกำลังเริ่มงานใหญ่ครั้งใหม่ สร้างทางรถไฟแยกเข้าค่ายทหารที่บุ่งตาหลัว (ค่ายสุรนารีในปัจจุบัน)
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ (ค.ศ. 1928) ตรงกับปีบิดา คือ เทพ พันธุมเสน (ได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็นนายพันเอก พระยาทรงสุรเดชแล้ว) ย้ายมาเป็นอาจารย์ทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก ในพระนคร ทศ พันธุมเสน จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ในระยะนี้เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ (ค.ศ. 1932) พ.อ. พระยาทรงสุรเดช บิดาของทศได้ก้าวมาเป็นผู้นำสำคัญในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งได้มีบทบาทในการปรับปรุงกองทัพขนานใหญ่
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-02.jpg)
พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) อดีตทหารเสือคณะราษฎร
ภาพจากพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), วิกิพีเดีย
ทศเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่งถึงขนาดสอบมัธยมปลายไล่ได้ที่ ๑ ของประเทศ แล้วได้ศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. 1937) ได้สอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง ไปศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยก่อนออกเดินทาง พ.อ. พระยาทรงสุรเดช บิดาได้ให้นายทศไปกราบลาหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้น
ทว่าหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี พระยาทรงสุรเดชต้องลี้ภัยการเมือง จากข้อกล่าวหากบฏไปอาศัยอยู่ในเวียดนามและกัมพูชา จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ทศ พันธุมเสน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่เสรีไทยจึงไม่ได้พบกับบิดาของตนอีกเลย
ที่อังกฤษทศได้รู้จักเกาะกลุ่มเพื่อน ๆ นักเรียนไทยที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เช่น นายเปรม บุรี นายรจิต บุรี นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายสำราญ วรรณพฤกษ์ ม.ร.ว.กิตตินัดดา กิติยากร เป็นต้น โดยเฉพาะนายจุ๊นเคง (พัฒพงศ์) รินทกุล ซึ่งเรียนในมหาวิทยาลัยลอนดอนด้วยกัน
๒. มหาสงคราม
กลิ่นอายสงครามรอบตัวปรากฏ
เมื่อทศออกเดินทางจากประเทศไทยปี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ. 1937) เป็นช่วงที่เกิดสงครามยืดเยื้อระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกระแสแพร่กระจายทั่วดินแดนไทยและเอเชีย เมื่อเดินทางถึงอังกฤษ ยุโรปอยู่ในบรรยากาศของการต่อสู้ระหว่างฟาสซิสต์กับประชาธิปไตย ทั้งสงครามกลางเมืองสเปน การรุกเอธิโอเปียของอิตาลี การผนวกดินแดนออสเตรียและเชโกสโลวาเกียของนาซีเยอรมนี ซึ่งกำลังจะก่อตัวเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒
หลังจากที่อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๒ (ค.ศ. 1939) ตามมาด้วยยุทธเวหาแห่งบริเตน (Battle of Britain) ซึ่งกองทัพอากาศนาซีเยอรมนีได้ระดมทิ้งระเบิดอังกฤษเป็นการใหญ่ จึงเริ่มมีผลกระทบต่อชีวิตของนักเรียนไทยหลายคน ผู้ที่ศึกษาในลอนดอนต้องถูกย้ายไปศึกษาเล่าเรียนต่างเมือง ทศ พันธุมเสน ต้องย้ายจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ จนเริ่มมีความชาชินกับภัยสงคราม ที่ต้องหลบหนีลูกระเบิด และต้องบริโภคอุปโภคอย่างจำกัดจำเขี่ยผ่านระบบบัตรปันส่วน อย่างไรก็ตามทศได้มีโอกาสฝึกงานที่เหมืองถ่านหิน
ในห้วงภัยสงครามนายทศได้เริ่มเกิดความรักครั้งแรก ๆ ในชีวิต คนแรกคือนางสาวมาร์เซีย ที่ได้คบกันเป็นเพื่อนต่างเพศคนสนิท แต่ไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ อีกคนหนึ่งคือนางสาวเบริล ซึ่งทำงานในเหมืองแร่ที่บาร์นส์เลย์ด้วยกัน ความสัมพันธ์ได้พัฒนาถึงกับเป็นคู่รัก แต่ด้วยเหตุที่ทศต้องไปสมัครเป็นทหารเสรีไทยสายอังกฤษในเวลาต่อมา ทำให้ความรักครั้งนี้ต้องเหินห่างร้างราไป
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-03.jpg)
นายทศ พันธุมเสน (ซ้ายสุด) กับเพื่อน ๆ ชาวอังกฤษ
ที่ห้องทำงานผู้จัดการเหมืองถ่านหินบาร์นสเล่ย์
ภาพจาก กบฏกู้ชาติ โดยทศ พันธุมเสน
อาสาสมัครเสรีไทย
คราวสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลไทยภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำกติกาสัญญาพันธไมตรีกับญี่ปุ่น ภายหลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ (ค.ศ. 1941) ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา จึงได้สั่งให้บุคคลสัญชาติไทยในประเทศอเมริกาและอังกฤษเดินทางกลับประเทศไทยด่วน หากปฏิเสธจะต้องตัดสัญชาติไทยนั้น ปรากฏว่ามีพระราชวงศ์ ข้าราชการไทย และนักเรียนไทยในอังกฤษกว่า ๖๐ ท่าน ที่ไม่เดินทางกลับประเทศไทย เพื่อเตรียมการต่อสู้ญี่ปุ่น รวมทั้งนายทศ พันธุมเสน ซึ่งระยะนี้ได้ย้ายไปช่วยงานเหมืองแร่ที่ตำบลบาร์นสเลย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสงคราม
จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1942) เมื่อผู้นำนักเรียนไทยในอังกฤษ นำโดนนายเสนาะ ตันบุญยืน นายเสนาะ นิลกำแหง และนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้ประสาน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ส่งนายมณี สาณะเสน เป็นตัวแทนมาจัดตั้งเสรีไทยสายอังกฤษ โดยได้รับทหารสมัคร (อังกฤษ) อาสางานวิทยุกระจายเสียง อาสางานแพทย์และพยาบาล และอาสาสมัครทั่วไป นายทศ พันธุมเสน ได้สมัครผ่านการคัดเลือกให้เป็นทหาร แม้นายทศจะกังวลว่าตนจะมีรูปร่างผอมแห้งไม่บึกบึนแข็งแรง
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-04.jpg)
พลทหารเสรีไทยฝึกเบื้องต้น ที่ค่ายทหารธอร์นตัน
ภาพจาก กบฏกู้ชาติ โดยทศ พันธุมเสน
นายทศได้เล่าความในใจที่สมัครมาเป็นทหารอังกฤษเสรีไทยว่า “...ผมสารภาพว่าแรงผลักดันที่ทำให้ผมผละจากงานเหมืองเพื่อสมัครเป็นทหารนั้นเป็นเหตุผลส่วนตัว เนื่องจากมีความเกรงกลัวว่าพ่อผม ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จะเสียใจว่าผมทำตนไม่สมกับเป็นลูกของท่าน เมื่อท่านทราบว่าผมหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร...”
พลทหารค่ายโยธา
เสรีไทยสายอังกฤษได้รับการคัดเลือกเป็นทหารอาสาทั้งหมด ๓๖ นาย ในชั้นต้นมียศพลทหาร โดยรับการฝึกทหารเบื้องต้นที่ค่ายทหารบร็อคส์ฮอลล์ เมืองนอร์ธแฮมตัน แล้วย้ายไปสังกัดหน่วยทหารโยธา (Pioneer Corps) ค่ายเมืองเดนบี้ แคว้นเวลส์เหนือ มีภารกิจหลักบริการขุดดิน ขุดดายหญ้า ทำความสะอาดค่ายและโรงเรือน ล้างส้วม ขุดและปอกมันฝรั่งและผัก เฝ้าเวรยาม พลทหาร ทศ พันธุมเสน ถึงกับออกปากเรียกหน่วยนี้ว่า “กองกุลี” หรือหน่วยสวะ จนเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ (ค.ศ. 1942) ทหารเสรีไทยทั้งหมดนี้จึงได้ย้ายไปฝึกที่ค่ายธอร์นตันและค่ายอ๊อตซัล ที่เมืองแบรดฟอร์ด จังหวัดยอร์คเชียร์ รับการฝึกทหารเพิ่มเติมเพื่อเตรียมฝึกทำสงครามกองโจรต่อไป
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-05.jpg)
เสรีไทยกระโดดร่ม
ภาพลายเส้นโดย ม.จ.การวิก จักรพันธุ์
ที่มา : กบฏกู้ชาติ โดยทศ พันธุมเสน
โรงเรียนจรยุทธ์ Force 136
มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) ได้ออกเดินทางโดยสารเรือเดินสมุทรไปอินเดีย แวะพักและเปลี่ยนเรือ จนถึงที่หมายอินเดีย เดือนเมษายนปีเดียวกัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖ (ค.ศ. 1943) พลฯ ทศ พันธุมเสน ได้เข้ารับการฝึกที่ค่ายฝึกโรงเรียนสงครามภาคพื้นตะวันออก (Eastern Warfare School) ริมทะเลสาบคารัควัสลา เมืองปูนา (พูเน่) ร่วมกับเพื่อนพลทหารเสรีไทยอีก ๒๑ นาย ทั้งชุดนี้มีสถานะเป็นนักเรียนนายร้อย หลักสูตรของค่ายนี้คือการฝึกสงครามพิเศษ ได้แก่การรบกองโจร การกระโดดร่ม จารกรรม (การข่าว) การก่อวินาศกรรม ฯลฯ ทหารเสรีไทยทุกนายจึงต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก ค่ายฝึกนี้สังกัดกองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ด้านเอเชียอาคเนย์ ภายใต้สำนักปฏิบัติการพิเศษ (Special Operation Executive-SOE)
กลุ่มทหารเสรีไทยสายอังกฤษได้ถูกตั้งรหัสชื่อกลุ่มว่า “ช้างเผือก” หรือ “พวกขาว” รายบุคคลทุกนายต่างได้กำหนดชื่อรหัส เพื่ออำพรางชื่อปฏิบัติการ ทศ พันธุมเสนได้ใช้ชื่อรหัสของตนว่า “บุญ”
ทศ พันธุมเสน บันทึกภายหลังการฝึกว่า “...หลังจากที่ผมได้รับการฝึกอบรมที่ค่ายคารัควัสลาเป็นเวลาประมาณห้าเดือน...จนหายกลัวป่า ผมตระหนักว่าแม้สังขารที่บอบบางของผมก็ทนการฝึกมหาโหดได้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่ากำลังใจนั้นมีอำนาจเหนือกำลังกาย...”
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-06.jpg)
โรงเรียนสงครามภาคพื้นตะวันออก (Eastern Warfare School) เมืองปูนา
เสรีไทยสายอังกฤษที่แทรกซึมเข้าดินแดนไทย ได้ฝึกหัดที่โรงเรียนฝึกรบพิเศษแห่งนี้
ภาพลายเส้นโดย ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ พิมพ์ในกบฏกู้ชาติ โดยทศ พันธุมเสน
หลังจากเสร็จการฝึกจากโรงเรียนการสงครามภาคพื้นตะวันออก ปูนา ทหารเสรีไทยสายอังกฤษได้รับยศเป็นร้อยตรี ย้ายมาสังกัดแผนกประเทศสยาม กองกำลัง ๑๓๖ (Siam Country Section, Force 136) นั้นตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1943-1945) เป็นช่วงที่เสรีไทยสายอังกฤษชุดแรก ๆ ได้บุกเบิกปฏิบัติการแทรกซึมในดินแดนไทย ทศไม่ได้รับเลือกในชุดปฏิบัติการบุกเบิกนี้ หากได้รับการฝึกเพิ่มเติม ได้แก่การฝึกกระโดดร่ม การจารกรรม การใช้ยานยนต์ การใช้อาวุธทหารราบ
แทรกซึมเข้าดินแดนไทย ภูกระดึงสู่ ลำปาง-เชียงใหม่
เมื่อถึงเดือนมกราคม แผนกประเทศสยาม กองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ได้คัดเลือกนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษสังกัด จัดเป็นชุดปฏิบัติการสะวันนา (Savanna) เข้าไปปฏิบัติงานแทรกซึมในดินแดนไทย ได้แก่
ร้อยตรี ทศ พันธุมเสน (ชื่อรหัส บุญ) บุตรชายพันเอก พระยาทรงสุรเดช ผู้นำฝ่ายทหารวันปฏิวัติ ๒๔๗๕
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-07.jpg)
ร.ต. บุญส่ง พึ่งสุนทร เพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ ร่วมชุดปฏิบัติการสะวันนา
แทรกซึมเข้าดินแดนไทยด้านลำปาง - เชียงใหม่
ภาพจากที่ระลึกงานฌาปนกิจศพนานบุญส่ง พึ่งสุนทร มปท.
ร้อยตรี บุญส่ง พึ่งสุนทร (ชื่อรหัส ชัย) น้องชายนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เสรีไทย และคณะราษฎรผู้ใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์
ร้อยตรี หม่อมเจ้า จีริดนัย กิติยากร (ชื่อรหัส รี)
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-08.jpg)
ร.ต. ม.จ.จิริดนัย กิติยากร เพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ ร่วมชุดปฏิบัติการสะวันนา
แทรกซึมเข้าดินแดนไทยด้านลำปาง - เชียงใหม่
ที่มา: ใต้ร่มฉัตร โดยหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ / นรุตม์, ลำดับเรื่อง,
กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, ๒๕๓๙
ชุดปฏิบัติการสะวันนา ได้โดยสารเครื่องบิน Liberator VI - B24 แห่งฝูงบิน ๓๕๗ (อังกฤษ) เดินทางเข้ามาปฏิบัติการในไทย ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ทำการกระโดดร่มที่ภูกระดึง จังหวัดเลย แล้วรายงานตัวต่อผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ (รู้ธ) หัวหน้าขบวนการเสรีไทย และพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าขบวนการเสรีไทยและอธิบดีกรมตำรวจในพระนคร
(ทศบันทึกหลังสงครามว่า ปฏิบัติการนี้ดำเนินงานในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๘ แต่เอกสารชั้นต้นกองบินอังกฤษระบุว่าวันที่ ๒๙ มกราคม)
จากนั้นชุดปฏิบัติการสะวันนาก็ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานเสรีไทยด้านจังหวัดลำปางและเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) โดยแวะไปรับเพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ คือ ร.ต. ม.จ. การวิก จักรพันธุ์ และ ร.ต. อรุณ สรเทศน์ ซึ่งกระโดดร่มลงมาที่จังหวัดสุโขทัย เสร็จแล้วชุดสะวันนาจึงโดยสารรถไฟไปลงที่สถานีหนองวัวเฒ่า ลำปาง พล.ต. สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ รับตัวชุดปฏิบัติการเสรีไทยเหล่านี้ด้วยตนเอง หลังจากนั้นมอบให้ ร.ต. ทศ พันธุมเสนไปประจำที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา ในขณะที่ ร.ต. บุญส่ง พึ่งสุนทร และ ร.ต. ม.จ. จีริดนัย กิติยากรไปตั้งสถานีวิทยุที่กองบัญชาการกองพลที่ ๔
ทศสารภาพว่า การปฏิบัติงานในเขตลำปางและเชียงใหม่ “...ถูกใจผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นถิ่นสาวงาม แลเมื่อก่อนผมไปนอก ผมรู้จักเชียงใหม่ดีพอสมควร...” ลำปาง
ช่วงปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เกิดขบวนการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่นประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่
ฝ่ายปกครอง นำโดยหลวงศุภการบริรักษ์ (ชลอ จารุจินดา) ข้าหลวงประจำจังหวัด และนายอนันต์ หิรัญญชาติธาดา นายอำเภอเมืองลำปาง
ฝ่ายทหาร (กองพลที่ ๔ กองทัพพายัพ) นำโดย พลตรี สุทธิ์ สุทธิสารรณกร ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ และพันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๓ และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
ฝ่ายตำรวจ นำโดย พันตำรวจตรี เทียบ สุทธิมณฑล ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดลำปาง
ฝ่ายพ่อค้าและประชาชน นำโดย นายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ ผู้จัดการลำปางจังหวัดพาณิชย์ จำกัด นายบรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ลำปาง
ฝ่ายโรงงานน้ำตาล (เกาะคา) นำโดย นายประเวศน์ บริราช ผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง และนายวิชัย โลจายะ เลขานุการโรงงาน
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-10.jpg)
นายวิชัย โลจายะ เลขานุการโรงงานน้ำตาลลำปาง แกนนำสำคัญเสรีไทยโรงงานน้ำตาลลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔
ฝ่ายต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะต้องร่วมมือในหน้าที่ภารกิจแล้ว ยังมักตั้งวงเหล้า “ปิยะมิตร” สังสรรค์เที่ยวกลางคืนด้วยกันเสมอ จึงสามารถสร้างความสนิทสนมและความไว้วางใจ จนถึงกับร่วมมือปฏิบัติงานลับได้ทำให้ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารใกล้ชิด รวมทั้งการรับรองเสรีไทยสายอังกฤษชุดสะวันนา ภายใต้ ร.ต. ทศ พันธุมเสน
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-11.jpg)
ภาพวาดจำลองการสืบข่าวเสรีไทยลำปาง และเสรีไทยสายอังกฤษ
ในย่านการค้าและซ่องโสเภณีเมืองลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔
ภารกิจแรกเริ่ม ของนายทหารเสรีไทยสายอังกฤษเหล่านี้คือการสืบข่าวความเคลื่อนไหวทหารญี่ปุ่นในลำปางและเชียงใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลข่าวสารให้แก่กองกำลัง ๑๓๖ (Force 136) ในการวางแผนตัดสินใจต่อต้านญี่ปุ่นในพื้นที่นี้
เมื่อเสรีไทยจากกองพลที่ ๔ ออกสืบข่าวมักจะมีตำรวจท้องที่และพลเรือน (จากคณะปิยมิตร) เช่น ร.ต.ท. สำราญ กรัดศิริ และนายบุญเที่ยง พานิชพันธ์ จะคอยพาเสรีไทยเข้าไปในเมืองซึ่งมีทั้งย่านราชการ บริษัทห้างร้าน และย่านตลาด เพื่อสืบข่าวเกี่ยวกับทหารญี่ปุ่นที่มักจะวนเวียนในย่านเหล่านี้อยู่เป็นประจำ
ในขณะที่ ร.ต. ทศ พันธุมเสน ซึ่งประจำที่โรงงานน้ำตาลเกาะคา จะมีพนักงานโรงงาน เช่น นายเสน่ห์ วรกุล และนายถนอม ใยบัวเทศ ชวน ร.ต. ทศ ขี่จักรยานเข้าเมืองไปสืบข่าวทหารญี่ปุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะจากซ่องโสเภณีที่ทหารญี่ปุ่นมักใช้บริการ เช่น ซ่องย่าเสส่ง (ป่าขาม) ซ่องปู่เบี้ยวรถม้า ซ่องบ้านปู่เขียน และซ่องบ้านดอกไม้ เป็นต้น หลายครั้งที่นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษต้องทำธุรการส่งข่าววิทยุ คณะปิยะมิตร หรือกลุ่มโรงงานน้ำตาลก็จะลงมือสืบข่าวหาข่าว ส่งต่อให้เสรีไทยสายอังกฤษ
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-12.jpg)
นายเสน่ห์ วรกุล พนักงานโรงงานน้ำตาล ผู้ขี่จักรยานพา ร.ต.ทศ พันธุมเสน
เสรีไทยสายอังกฤษ Force 136 สืบข่าวกองทหารญี่ปุ่นเมืองลำปาง
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง
ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔
ผลจากการสืบข่าวของนายทหารเสรีไทยเหล่านี้ ได้ทำให้เกิดการโจมตีทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่ตรงเป้าหมายกองทหารญี่ปุ่นมากขึ้น เช่น แถบท่าครางน้อย บริเวณซึ่งจะเป็นหอนาฬิกาในเวลาต่อมา และกองบินญี่ปุ่นที่สนามบินพระบาทลำปาง นอกจากนี้ข่าวทหารญี่ปุ่นจะเป็นประโยชน์แก่กองทัพบกสัมพันธมิตรที่จะรุกเข้ามาปลดปล่อยดินแดนไทย
ค่ายพลพรรคเสรีไทยในจังหวัดลำปาง
ในขั้นต่อมาได้จัดตั้งหน่วยพลพรรคเสรีไทยในลำปาง เพื่อทำการรบแบบกองโจรประสานกับฝ่ายทหารไทยซึ่งจะทำการรบตามแบบต่อสู้กับญี่ปุ่น ในการนี้นายทหารเสรีไทยสายอังกฤษได้ประสานงานในการรับอาวุธจากฝ่ายอังกฤษ ในครั้งแรกที่ฝูงบินฝ่ายอังกฤษได้ทิ้งร่มที่ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ โดยมี ร.ต. ทศ พันธุมเสน และนายถนอม ใยบัวเทศ พนักงานโรงงานน้ำตาลเกาะคาไปร่วมรับร่ม หลังจากนั้นจึงเริ่มจัดตั้งค่ายพลพรรคลำปางที่ต่าง ๆ ได้แก่
๑) ค่ายฝึกอาวุธในโรงงานน้ำตาล อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งมีนายวิชัย โลจายะ เป็นผู้จัดการ ร.ต. ทศ พันธุมเสน (เสรีไทยสายอังกฤษ) เป็นผู้ฝึก
๒) ค่ายพลพรรคหุบเขาในอำเภองาว จังหวัดลำปาง กองทัพพายัพได้สำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ (ค.ศ. 1944) ต่อมาเมื่อช่วงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945) ในพื้นที่ป่าอำเภองาวได้มีค่ายฝึกพลพรรคจัดตั้งขึ้นแล้ว โดยร่วมมือกับเสรีไทยจากอังกฤษ
๓) ค่ายเสรีไทยบ้านป่าโทก ในเขตอำเภอเมือง ห่างจากสถานีรถไฟนครลำปาง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปประมาณ ๑๒.๕ กิโลเมตร พ.อ. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเสรีไทยสายอังกฤษ ได้เป็นผู้จัดตั้งและจัดทหารไปประจำค่ายฝึกนี้
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-13.jpg)
ภาพวาดจำลองการทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์ ให้แก่พลพรรคเสรีไทยลำปาง ที่ตำบลน้ำโจ้ อำเภอแม่ทะ โดยมี ร.ต.ทศ พันธุมเสน และนายถนอม ใยบัวเทศ
และกลุ่มพนักงานโรงงานน้ำตาลเกาะคาไปร่วมรับร่ม
ที่มา: คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยศักดิ์ รัตนชัย ลำปาง, ภาคเหนือนิวส์-เสียงโยนก, ๒๕๓๔
โดยค่ายพลพรรคเหล่านี้มีกำลังพลจากพลเรือน (มหาดไทย ครู โรงงานน้ำตาล และประชาชน) ตำรวจ และทหารบางส่วน เมื่อเกิดเหตุปะทะ พลพรรคจะทำการรบแบบกองโจร (Guerrilla Warfare) ลักลอบจู่โจมและก่อวินาศกรรมกองทหารญี่ปุ่นในและนอกเมือง พร้อมกับที่กำลังทหารกองพลที่ ๔ จะทำการรบตามแบบ (Conventional Warfare)
อย่างไรก็ตามการจัดตั้งหน่วยพลพรรคและการรับอาวุธด้านจังหวัดลำปาง ยังไม่ทันสำเร็จสมบูรณ์ สงครามได้ยุติลงเสียก่อน หลังจากญี่ปุ่นยอมจำนนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. 1945)
๓. สู่สันติภาพ
หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพายุติ ร.ต.ทศ พันธุมเสนรับเลื่อนยศเป็นร้อยเอกทั้งกองทัพบกอังกฤษและกองทัพไทย ช่วยเหลือกองทหารอังกฤษในปฏิบัติงานปลดอาวุธและควบคุมเชลยศึกญี่ปุ่น ต่อมาต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๙ (ค.ศ. 1946) เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจึงปลดประจำการจากกองทัพบกอังกฤษ ศึกษาต่อปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอนจนสำเร็จการศึกษาปี พ.ศ. ๒๔๙๒ (ค.ศ. 1949) หลังจากนั้นได้เรียนหลักสูตร Geophysical Prospecting และฝึกงานในเหมืองแร่ที่อังกฤษและสวีเดน แล้วเดินทางกลับประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๕ (ค.ศ. 1952) รับราชการกรมโลหกิจเป็นเวลา ๑๐ ปี แล้วลาออกไปทำงานที่บริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม และผู้จัดการฝ่ายธุรกิจ สุดท้ายได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทจัดการอุตสาหกรรมจำกัด จนเกษียณอายุการทำงาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ (ค.ศ. 1979) ใช้ชีวิตบั้นปลายท่องเที่ยวกับครอบครัว ปฏิบัติธรรม พบปะสังสรรค์กับเพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ หมั่นเยี่ยมเยือนครอบครัวและทายาทคณะราษฎร รวมทั้งได้เข้าคารวะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ อย่างสม่ำเสมอ อาศัยพักผ่อนในสถานปฏิบัติธรรมที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และบ้านพักในชนบทของประเทศออสเตรเลีย จนถึงแก่กรรม
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-14.jpg)
นายทศ พันธุมเสนและครอบครัว
ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน
ทศ พันธุมเสน ได้ฝากบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ ๒ ชิ้น คือ “กบฏกู้ชาติ” รวมบทความบันทึกปฏิบัติงานเสรีไทยสายอังกฤษ ซึ่งเคยพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทย และ “จากมหาสงครามสู่สันติภาพ” ผลงานร่วมกับ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร อดีตเสรีไทยสายอเมริกา อธิบายประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทยในและนอกประเทศให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้แล้วทศยังได้เขียนบทความบันทึกประวัติศาสตร์ไทยเกี่ยวกับเสรีไทยอีกหลายฉบับ ทั้งหนังสือเขียนร่วม และอนุสรณ์งานศพเล่มต่าง ๆ
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-15.jpg)
นายทศ พันธุมเสน กับเพื่อนในอังกฤษ
ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน
ทศมักย้ำในงานเขียนหลายชิ้นว่า งานกอบกู้ประเทศชาติในคราวสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น เสรีไทยนอกประเทศทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาเพียงหยิบมือ ไม่สามารถที่จะกอบกู้ประเทศชาติได้ หากมวลชนชาวไทยทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ประชาชน ครู จำนวนหลายหมื่นไม่ร่วมมือด้วย จึงนับเป็นกำลังสำคัญในงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น ไม่นับคนไทยทั้งประเทศ ๑๗ ล้านคน ผู้รักอิสรภาพของประเทศชาติ ที่สนับสนุนหรือไม่ขัดขวางขบวนการใต้ดิน
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-16.jpg)
นายทศ พันธุมเสนและเพื่อนเสรีไทยสายอังกฤษ ในวัยชรา
ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน
“...พวกเรา (เสรีไทยสายอังกฤษ) ซาบซึ้งในน้ำใจของชาวบ้านที่ทำงานกับพวกเราอย่างไม่กลัวเหน็ดเหนื่อยหรืออันตราย พวกเขาคือวีรชนแท้ และเป็นวีรชนนิรนาม เขาปิดทองหลังพระ เราปิดทองหน้าพระ มีหน้ามีตาในสังคม ขึ้นชื่อลือนามว่าได้ทำงานเพื่อชาติ... ผมขอให้คนไทยรุ่นใหม่รู้ถึงน้ำใจอันประเสริฐของชาวบ้านนอกที่ช่วยเสรีไทย...”
“...ผมจึงขอย้ำว่า แม้ปฏิบัติงานของเสรีไทยจากต่างแดน โดยเฉพาะเสรีไทยสายอเมริกาได้ผลดีแก่ประเทศไทยเป็นอันมาก แต่กำลังสำคัญในการกู้ชาติ คือพลังของคนไทยทุกชั้นวรรณะผู้รักความเป็น “ไท” ไม่ใช่เสรีไทยจากต่างแดนเพียงร้อยกว่าคน...”
![](/sites/default/files/2025/2025-02/2025-02-09-003-17.jpg)
นายทศ พันธุมเสนในช่วงบั้นปลายชีวิต พร้อมครอบครัว
ภาพจากอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน
บรรณานุกรม :
- ทศ พันธุมเสน, กบฏกู้ชาติ. (กรุงเทพ : ส่องศยาม, ๒๕๓๑)
- ทศ พันธุมเสน, จินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงคราม สู่สันติภาพ. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายทศ พันธุมเสน จ.ช. ณ เมรุวัดชลประทานรังสฤษฏ์ จังหวัดนนทบุรี วันเสาร์ ที่ ๒๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
- ทศ พันธุมเสน, “บันทึก..เสรีไทย สายอังกฤษ”. อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพ “บุญส่ง พึ่งสุนทร”. มปท.
- ศักดิ์ รัตนชัย, คู่มือประวัติศาสตร์ศึกษายุทธเวหาลำปางเรื่อง ลำปางกับเหตุการณ์ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒, (ลำปาง : ภาคเหนือนิวส์ - เสียงโยนก, ๒๕๓๔)
- สุทธิสารรณกร, พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ.. ชีวประวัติของ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. หลวงสุทธิสารรณกร ธนาคารทหารไทย จำกัด พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. หลวงสุทธิสารรณกร ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๕ มิถุนายน ๒๕๑๑, (พระนคร :โรงพิมพ์ศิวพร, ๒๕๑๑)
- วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, ตำนานเสรีไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว,๒๕๔๗)
- อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. PRIDI Sanjorn : เรื่องเล่าประวัติศาสตร์และปฏิบัติการเสรีไทยในลําปาง วันศุกร์ที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง, เว็บไซต์ https://www.facebook.com/TULP.pr/videos/3913538595570383
- วันใหม่ นิยม, เสรีไทยในภาคเหนือ ปฏิบัติการเสรีไทยในจังหวัดลำปาง ชุมทางใหญ่พายัพ. เว็บไซต์ https://pridi.or.th/th/content/2024/11/2221
- ศักดิ์พินิต พร้อมเทพ, พล.อ.อ.. รำลึก ๘๐ ปี สดุดีวีรชนสงครามมหาเอเชียบูรพา ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ประวัติกองทัพอากาศไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา, (กรุงเทพฯ: กองประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร กรมสารบรรณทหารอากาศ, ๒๕๖๔)