ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

ขบวนการเสรีไทย : ภารกิจร่วมเพื่อชาติ และสัมพันธภาพระหว่างสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับปรีดี-พูนศุข

8
สิงหาคม
2566

Focus

  • การรักษาเอกราชของชาติให้ปลอดพ้นจากภัยคุกคามของญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่  2 ภายใต้การนำของขบวนการเสรีไทยนั้น เกิดขึ้นกับคนไทยทุกระดับชั้น รวมทั้งการเข้าร่วมของพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ขณะประทับในประเทศอังกฤษ หลังจากที่สมเด็จพระปกเกล้าสวรรคตแล้ว

  • พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีบทบาทเด่นชัดในขบวนการเสรีไทยในอังกฤษคือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็เป็นผู้มีบทบาทในกลุ่มผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเป็นหนึ่งใน 16 คน ของเสรีไทยสายอังกฤษที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการทหาร แต่ทรงปฏิบัติภารกิจสำคัญต่อขบวนการเสรีไทย ทั้งในด้านการประสานความช่วยเหลือแก่บรรดานักเรียนไทยในต่างแดนที่มีแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นหรือฝ่ายอักษะ การพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์ที่ได้จากการสนับสนุนนำมามอบให้แก่ขบวนการเสรีไทย เป็นต้น

  • การได้ร่วมภารกิจในขบวนการเสรีไทย ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไทยหรือในอังกฤษ ทำให้ครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันกับม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และทำให้ขบวนการเสรีไทยมีแนวร่วมที่กว้างขวางขึ้น โดยมีชนชั้นเจ้าเข้าร่วมด้วย และอาจด้วยอานิสงฆ์แห่งการกระทำดีเพื่อประเทศชาติในกรณีขบวนการเสรีไทย รัฐบาลใน พ.ศ. 2492 จึงได้ถวายวังศุโขทัยที่เคยยึดไว้คืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยและพิพากษาของศาล

 


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
(20 ธันวาคม พ.ศ. 2447-22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527)

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ประสูติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ทรงมีพระนามเดิม คือ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[1] กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี[2] ต่อมาทรงเข้าพิธีเสกสมรสพระราชทานเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิ์เดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งต่อมาได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

 


พระอิริยาบถในต่างแดน

 


พระอิริยาบถในต่างแดน

 

ภายหลังการอภิวัฒน์สยามของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปพำนักยังประเทศอังกฤษกระทั่งถึง พ.ศ. 2492 ทางรัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพื่อเชิญเสด็จกลับสู่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนเสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักวังศุโขทัย และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2528 ณ เมรุมาศ ท้องสนามหลวง[3]

หากสิ่งที่ชีวประวัติย่อยังขาดหาย คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชกรณียกิจเสรีไทยในอังกฤษช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 และทรงมีความสัมพันธ์อันดีต่อครอบครัวปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ นับตั้งแต่หลังรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. 2477 รวมทั้งยังมีพระราชจริยวัตรและความคิดเกี่ยวกับระบอบใหม่ของพระองค์ที่ควรค่าแก่การรำลึกซึ่งจะกล่าวถึงแง่มุมสำคัญไว้ในบทความชิ้นนี้

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มิ่งขวัญของเสรีไทย

 


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กับหัวหน้าและผู้นำเสรีไทยในไทย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

 

หลังจากรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงแสดงทัศนคติเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้นทั้งการให้สัมภาษณ์และบันทึกความทรงจำ ที่สำคัญคือ ทรงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในประเทศอังกฤษ ขณะนั้นทรงต้องลี้ภัยไปยังแคว้นเวลส์เพราะการทิ้งระเบิดบริเวณเกาะอังกฤษ

และช่วงนี้เองที่ปรีดีเริ่มกระชับสายสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์และชนชั้นนำต่างๆ มากขึ้นเพื่อสร้างแนวร่วมแก่เสรีไทยและเป็นกำลังสำคัญ ทั้งยังมี ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐา[4] ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ โดยเคยมีการทูลเชิญให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษเพราะทรงเป็นที่รู้จักในวงราชการและพระราชวงศ์ของอังกฤษ และทรงเป็นที่เคารพนับถือของคนไทยในอังกฤษแต่อาจก่อให้เกิดการกังขาในวงการเมืองได้[5]

แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเสรีไทยแต่ทรงเป็นหนึ่งใน 16 คนของเสรีไทยสายอังกฤษที่ไม่ได้มีตำแหน่งทางการทหาร และทรงปฏิบัติภารกิจสำคัญต่อขบวนการเสรีไทย เช่น ทรงประสานความช่วยเหลือแก่บรรดานักเรียนไทยในต่างแดนที่มีแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นหรือฝ่ายอักษะซึ่งนักเรียนไทยในอังกฤษกลุ่มใหญ่อยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ทั้งที่เรียนอยู่ก่อนและถูกย้ายมาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน อาทิ วิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร, ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, สว่าง สามโกเศศ, ม.จ.ภีศเดช รัชนี, ม.ล.จิรายุ นพวงศ์, เสนาะ ตันบุญยืน และเสนาะ นิลกำแหง เป็นต้น[6]

นอกจากนี้ยังทรงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์ที่ได้จากการสนับสนุนนำมามอบให้แก่ขบวนการเสรีไทย พระองค์และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน พระเชษฐาได้ทรงใช้อิทธิพลที่มีต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อให้ไทยเสียประโยชน์น้อยที่สุด

และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังพระราชทานอนุญาตให้ข้าราชบริพารฝ่ายหน้าไปเป็นเสรีไทยได้ และเสรีไทยในอังกฤษ จำนวน 36 คน ก่อนไปเข้าค่ายฝึกฯ ก็ได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารเพื่อบำรุงขวัญและเมื่อลาก็สามารถกลับมาพักที่ตำหนักได้โดยทรงพระราชทานสัมภาษณ์เรื่องเสรีไทยไว้อย่างถ่อมพระองค์ว่า

 

“ฉันเป็นแต่เพียงไปลงชื่อกับเขา เป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงาน ฉันเองไปช่วยเขาทางด้านกาชาด แต่ฉันทำอย่างไม่เป็นทางการระหว่างที่พวกเสรีไทยฝึกโดดร่มฝึกอาวุธกัน ฉันก็ไปช่วยเขาทำ ตอนนั้นไม่ได้อยู่ลอนดอนหรอก น่ากลัวมากทีเดียว แต่ก็มาลอนดอนอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง”[7]

 

กุลสตรีศรีสยาม: สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในบั้นปลายของชีวิต

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง และมีการประกาศสันติภาพขึ้นในไทย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 การเมืองก็ผันผวนจนกระทั่งปรีดีต้องลี้ภัยหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 กระทั่งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492 และกระแสอนุรักษนิยมในสังคมไทยพุ่งสูงขึ้นทางรัฐบาลฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กลับมาสู่ไทยใน พ.ศ. 2492[8] และทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง

 


ลายพระหัตถ์ของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน ถึงปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ 
อ่านลายพระหัตถ์ฉบับเต็มได้ที่ : https://pridi.or.th/th/content/2022/12/1368

 

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชดำรัสกล่าวขอบพระทัยปรีดี และพูนศุขผ่านมาทางจดหมาย[9] ว่า

 

“สมเด็จ (พระองค์เจ้ารำไพพรรณี-ผู้เขียน) ขอบพระทัยคุณหลวงและคุณพูนศุขมากที่ส่งเครื่องสักการะมาถวายพระบรมอัฐิและพอพระทัยมากที่คุณหลวงได้ช่วยเหลือ…”

 


คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พ.ศ. 2482 ในคดียึดทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า

 

ในช่วงเวลานี้เองที่คดีการฟ้องร้องเรื่องยึดทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นับตั้งแต่ทศวรรษ 2470 รวมทั้งการยึดวังศุโขไทย ซึ่งเป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ก็ได้สิ้นสุดลงด้วยดีโดยในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ในสมัยรัฐบาลของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และการผลักดันของปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส จากวิธีการเชิงไกล่เกลี่ย และประนีประนอมยอมความกันระหว่างรัฐบาลฯ กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจำเลยที่ 2 ซึ่งคำพิพากษาตัดสินให้บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน กล่าวคือไม่มีการริบทรัพย์เพิ่มเติม และได้ถวายวังศุโขทัยคืนแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เพื่อทรงประทับต่อไป[10]

 


พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงขอบใจปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ เรื่องโทรเลขเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ

 

จากกรณีถวายวังศุโขทัยคืนในสมัยรัฐบาลถวัลย์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวปรีดี-พูนศุข แนบแน่นยิ่งขึ้นสะท้อนให้เห็นทั้งการที่พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ[11] รวมถึงการส่งบัตรอวยพร และจดหมาย ฯลฯ

 

 


ลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีถึงพูนศุข พนมยงค์ เรื่องทรงขอบพระทัยที่พูนศุขได้ส่งกุ้งแห้งไปถวายฯ
อ่านบทความ พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้ที่ : https://pridi.or.th/th/content/2022/01/944

 

บั้นปลายชีวิตหลังเสด็จนิวัตไทยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชจริยวัตรที่งดงาม และปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างเต็มกำลังตราบกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สิริพระชนมายุ 79 พรรษา

ภาพประกอบ: หนังสืออนุสรณ์พระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี หนังสืออนุสรณ์ที่ระลึก และจุลสารหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บรรณานุกรม

หนังสืออนุสรณ์งานพระบรมศพและงานศพ :

  • สำนักราชเลขาธิการ คณะทำงานฯ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อิคารัส, 2528)
  • ห้องสมุดเฉพาะสำนักราชเลขาธิการ กองกลาง สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ป, 2531)
  • อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ต นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม. อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 20 เมษายน 2517 (กรุงเทพฯ: สหประชาพาณิชย์ แผนกการพิมพ์, 2517)

หนังสือ :

  • กษิดิศ อนันทนาธร, จดหมายกับความหมายต่อบางเรื่องในประวัติศาสตร์ ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 24, มิถุนายน 2563-พฤษภาคม 2564 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564), หน้า 110-147.
  • ทศ พันธุมเสน, กบฏกู้ชาติ (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2531)
  • ลลิตา พนมยงค์ และคณะฯ, 101 ปีปรีดี-90 ปีพูนศุข (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545)
  • ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย” (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540)
  • ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์นิติเวชช์, 2515)
  • พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560)
  • พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว., รายงานวิจัยการสังเคราะห์ประวัติศาสตร์บอกเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2559)
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559)
  • ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543)

สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :

 

[1] พระอนุชาในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ

[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร

[3] สำนักราชเลขาธิการ คณะทำงานฯ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ: อิคารัส, 2528)

[4] ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตนหรือท่านชิ้น พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ประกาศว่าปรีดี บริสุทธิ์ในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ใน ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543), หน้า 26.

[5] ทศ พันธุมเสน, กบฏกู้ชาติ (กรุงเทพฯ: ส่องสยาม, 2531), หน้า 20.

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 21-34.

[7] ประจิต วราภรณ์, วรรณกรรม “เสรีไทย” (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2540), หน้า 125.

[8] ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือท่านชิ้น พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ประกาศว่าปรีดี บริสุทธิ์ในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8 ใน ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน, ม.จ., 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์: 23 สิงหาคม 2543 (กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด มหาชน, 2543), หน้า 26-27.

[9] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย (พระนคร: โรงพิมพ์นีติเวชช์, 2515), หน้า 47.

[10] สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, เบื้องแรกประชาธิปตัย บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. 2475-2500 พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, 2559), หน้า 30-32.

[11] อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. (9 มกราคม 2565). พูนศุขถวายกุ้งแห้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. https://pridi.or.th/th/content/2022/01/944