ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
วันนี้ในอดีต

98 ปี ชาตกาล มหากวี “อังคาร กัลยาณพงศ์”

13
กุมภาพันธ์
2568

Focus

  • "98 ปี ชาตกาล มหากวี ‘อังคาร กัลยาณพงศ์’" เป็นบทความที่จะชวนผู้อ่านไปรู้จักความเป็นมหากวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ ผ่านชีวประวัติในทุกช่วงวัย ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ด้านศิลปะ ทั้งงานวาดภาพและบทกวี นอกจากนี้ บทความยังกล่าวถึงประสบการณ์ที่อังคารได้พบกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งบรรณาธิการวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ โดยทั้งสองได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และอาจารย์สุลักษณ์ได้ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์บทกวีของอังคาร
  • บทความนี้ยังเสนอผลงานสำคัญ เช่น "รวมกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์" (พ.ศ. 2507), "ลำนำภูกระดึง" (พ.ศ. 2512) และบางบทจาก "สวนแก้ว" (พ.ศ. 2515) รวมถึงการวิเคราะห์บทกวีของคุณอังคารผ่านมุมมองของกวีหญฺิง บทกวีอังคาร กัลยาณพงศ์ กับลัทธิเหนือจริง หรือเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ที่สะท้อนถึงความขบถเพื่อเสรีภาพของสังคม

 


นายอังคาร กัลยาณพงศ์
ที่มา : หอจดหมายเหตุ อังคาร กัลยาณพงศ์

 

ปีพุทธศักราช  พ.ศ. 2570 มหากวี “อังคาร กัลยาณพงศ์” จะมีอายุครบรอบชาตกาล 100 ปีเต็ม (ตามปฏิทินใหม่) เนื่องจากท่านเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2470[2] ดังนั้นในปีนี้จึงถือได้ว่าเป็นห้วงเวลาก่อนครบรอบวาระหนึ่งศตวรรษชาตกาลของท่านไปเพียง อีกไม่กี่ปี

บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ดิฉันขอแบ่งเนื้อหาออกเป็นสี่ส่วนหลัก ๆ

ส่วนแรก สรุปสิริชีวประวัติและผลงานของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ทั้งในมุมที่ดิฉันได้รู้จัก และทั้งในภาพรวมกว้าง ๆ เผื่อว่าผู้อ่านรุ่นหลังที่เกิดไม่ทัน ยังไม่เคยรู้จักมักคุ้นกวีนามอุโฆษท่านนี้มาก่อน

ส่วนที่สองเป็นเรื่องฉายานาม ภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ในความทรงจำของผู้คน

ส่วนที่สาม วิพากษ์บทกวีของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ในมุมมองของดิฉัน “เพ็ญ ภัคตะ” ในฐานะกวิณี

ส่วนที่สี่ จักชี้ให้เห็นถึงคุณูปการของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ที่ฝากไว้ต่อแผ่นดิน ว่าท่านได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กวีรุ่นหลังไว้อย่างไรบ้าง

 

ปฐมบท สิริชีวประวัติและผลงาน

ดิฉันได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” มาตั้งแต่ยังเด็กมากคืออายุเพียงแค่ 7-8 ขวบเท่านั้น ก่อนหน้าที่ดิฉันจะประสีประสาว่า “บทกวี” หมายถึงอะไร หรือก่อนจะเข้าสู่แวดวงวรรณกรรมเสียอีก

เหตุที่บิดาของดิฉัน “นุสรณ์ สุขคตะ” (หรือนามปากกา น.สุขคตะ) ชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช (ท่านได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครตั้งแต่อายุ 18 ปี) ชอบเขียนโคลงกลอนเป็นงานอดิเรก และคุณพ่อของดิฉันนี่เองมักเอ่ยถึงกวีรุ่นพี่ที่สนิทสนมกันผู้มีนามว่า “อังคาร กัลยาณพงศ์” ให้ดิฉันฟังอยู่เนือง ๆ ด้วยความนิยมชมชื่น คุณพ่อนุสรณ์เกิด พ.ศ. 2472 หลังจาก “อังคาร กัลยาณพงศ์” เพียงแค่ 3 ปี ถือเป็นบุคคลร่วมสมัยกัน เคยฝึกเขียนโคลงกลอนด้วยกันในชมรมวรรณศิลป์ ตั้งแต่สมัยยังร่วมรั้วโรงเรียนระดับมัธยมในจังหวัดนครศรีธรรมราช อันได้แก่ โรงเรียนพระพุทธเจ้าหลวงอุปถัมภ์ และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ตามลำดับ

นอกจากนี้แล้ว คุณพ่อนุสรณ์ยังมักเอ่ยถึงกวีรุ่นน้องชาวอำเภอลานสกา คนเมืองคอนอีกท่านหนึ่งให้ดิฉันฟังด้วยความปลาบปลื้ม นั่นคือคุณอา “ภิญโญ ศรีจำลอง” ผู้เป็น “ปฏิภาณกวี” เกิด พ.ศ. 2477 อายุน้อยกว่าคุณพ่อลงไปอีก 5 ปี

ดังนั้นชื่อของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ก็ดี และ “ภิญโญ ศรีจำลอง” ก็ดี จึงเป็นสองชื่อเสมือนเงาของกันและกัน ที่ดิฉันได้ยินได้ฟังจำติดหูมาตั้งแต่ยังเล็ก พลอยรู้สึกเคารพรักนับถือศรัทธากวีทั้งสองท่านตามอย่างคุณพ่อนุสรณ์ไปด้วย ทั้งที่ในช่วงวัยดรุณนั้นยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตาหรืออ่านงานเขียนของท่านทั้งสองมาก่อนเลย

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ดิฉันต้องการจะบอกแก่ผู้อ่านว่า โดยส่วนตัวแล้วดิฉันมีความผูกพันกับ “อังคาร กัลยาณพงศ์” โดยความเป็น “ลูกปักษ์ใต้” ที่อยู่ในสายเลือดแบบลึก ๆ มาก่อนที่จะได้รู้จักท่านแบบตัวเป็น ๆ

“อังคาร กัลยาณพงศ์” มักเอ่ยถึง “คุณครูแสวง ไชยเศรษฐ์” ผู้เล่าตำนานเรื่อง “สระล้างดาบและวีรกรรมของศรีปราชญ์” มหากวีศรีอยุธยาผู้เป็นขวัญใจ “คนเมืองคอน” ว่าคุณครูท่านนี้คือผู้จุดไฟวรรณคดีให้ลุกโชติกลางทรวงเขา

 


คุณสุวรรณี สุคนธา (สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง) อาจารย์ศิลป์ พีระศรี และอังคาร กัลยาณพงศ์ (เรียงตามลำดับ) ถ่ายที่วัดปราสาท จ.นนทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2500
ที่มา: หนังสือพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์

 

ครั้นย่างสู่ช่วงวัยรุ่น เขามีความสนใจในด้านการเขียนรูปเพิ่มอีกหนึ่งสาขา จึงเข้ามาศึกษาวิชาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างใน ปี 2484 จากนั้น ปี 2489 เข้าเรียนต่อในคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร (โปรดสังเกตว่ายุคนั้น ชื่อคณะนี้ยังไม่มีคำว่า ภาพพิมพ์อีกสาขาหลักมาต่อท้าย)

ถือเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของอาจารย์ศิลป์ หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Prof. Corrado Feroci) รุ่นที่ 4 การผ่านสถาบันศิลปะชั้นนำของสยาม ทำให้ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ไม่เพียงแต่เป็นศิลปินที่มีความสันทัดในด้านการเขียนบทกวีเท่านั้น หากยังมีความชำนิชำนาญในการเขียนภาพจิตรกรรมอย่างเอกอุอีกด้วย ทำให้หลายคนเรียกเขาว่า “กวี-จิตรกร” หรือ “จิตรกร-กวี”

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมนั้น “อังคาร กัลยาณพงศ์” มีโอกาสติดสอยห้อยตาม “อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์” ลงพื้นที่ไปคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังตามเมืองโบราณต่าง ๆ เพื่อการอนุรักษ์ เช่น พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ศรีสัชนาไลย เพชรบุรี นนทบุรี ฯลฯ ภาพจิตรกรรมฝาผนังย้อนยุคเหล่านี้ มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจอย่างสูงยิ่งให้แก่  “อังคาร กัลยาณพงศ์” ในการเขียนบทกวี

นอกจากนี้แล้ว จากบทสนทนาในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์” (นิพนธ์ ขำวิไล เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2542) “อังคาร กัลยาณพงศ์” ได้กล่าวถึงความลุ่มหลงของเขาที่มีต่อ “งานประติมากรรมปูนปั้นลายกรวยเชิงที่ประดับโบสถ์วิหารวัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา” ว่าเกิดขึ้นเพราะแรงเชียร์แรงคะยั้นคะยอของอาจารย์ศิลป์ ที่พร่ำพรรณนาถึงความวิจิตรของลายปูนปั้นดังกล่าว ในขั้น “ปีติ” จนถึงขนาดอาจารย์ศิลป์เอ่ยปากว่า “นักเรียนศิลปะคนไหนหากไม่ไปดูด้วยตาตัวเองก็เสียชาติเกิดแย่”

ถือว่าความหลงใหลในศิลปกรรมสมัยอยุธยาของอาจารย์ศิลป์ ได้ถ่ายทอดพลังแห่งความลุ่มหลงไปสู่ใจดวงน้อยของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาหนุ่มย่านหน้าพระลานเลยทีเดียว เขาจึงเทียวไล้เทียวขื่อลงพื้นที่สเก็ตช์ภาพลายกรวยเชิงวัดภูเขาทอง การยักย้ายถ่ายเทองศาของเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองวัดญาณเสน ฐานสิงห์อันหนักแน่นทรงพลังของมหาวิหารวัดพระศรีสรรเพชญดาญาณ บุษบกวัดเชิงท่า ธรรมาสน์วัดศาลาปูน เป็นต้น

 


หนังสือ 73 ศิลปินไทย ศิษย์ศิลป์ พีระศรี

 

จากบันทึกของตัวศิลปิน “อังคาร กัลยาณพงศ์” เอง ในหนังสือเรื่อง “73 ศิลปินไทย ศิษย์ศิลป์ พีระศรี” จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ. 2535 เขาได้กล่าวไว้ว่า ผลงานด้านการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของเขาปรากฏ ณ สถานที่เหล่านี้

1. หน้าบันกุฏิพระ วัดพุทไธสวรรย์

2. หน้าห้องอาหารโรงแรมเพรสิเดนท์

3. หน้าอาคารโรงเรียนเตรียมทหาร

4. หน้าอาคารห้องประชุมจิตตภาวันวิทยาลัย บางละมุง จ.ชลบุรี

5. หน้าอาคารโรงพยาบาลพุทธบาท จ.สระบุรี

6. ผนังภายในโบสถ์กลางน้ำวัดศรีโคมคำ จ.พะเยา

7. ผนังภายในโบสถ์วัดบุปผาราม (หมายเหตุ ไม่ได้ระบุว่าอยู่จังหวัดใด หากจะหมายถึงวัดสวนดอกบุปผาราม จ.เชียงใหม่ แล้วล่ะก็ ถือว่าน่าเสียดายยิ่งนัก เนื่องจากอุโบสถพระเจ้าเก้าตื้อของวัดแห่งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนภาพวาดบนผนังใหม่หมดนานแล้ว มีการวาดภาพชุดใหม่ทับที่ผนังอาคารเดิมหลายครั้งหลายครา)

8. ผนังภายในโบสถ์ วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน แห่งสุดท้ายนี้ถือว่าน่าสนใจยิ่ง เนื่องจากตัวดิฉันเองใช้ชีวิตเวียนวนอยู่ในจังหวัดลำพูน ได้ไปวัดพระพุทธบาทตากผ้านับ 100 ครั้ง มีโอกาสเข้าชมแต่เฉพาะวิหารจัตุรมุขหลังที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทในมณฑป ส่วนพระอุโบสถนั้น ทางวัดมักปิดตาย หรือถึงแม้นว่าเปิด แต่ธรรมเนียมของล้านนาโดยทั่วไปแล้วก็มิอนุญาตให้สตรีเข้าไปด้านในพระอุโบสถ

กล่าวโดยสรุปได้ว่าในบรรดาสถานที่ทั้ง 8 แห่งที่ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ได้ฝากผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ ดิฉันมีโอกาสได้ชื่นชมเพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น นั่นคือภายในอุโบสถกลางกว๊านพะเยาวัดศรีโคมคำ (โบสถ์แห่งนี้ถือว่าสร้างขึ้นใหม่แทนโบสถ์เดิม จึงไม่มีข้อห้ามเรื่องสตรีเข้าโบสถ์แต่อย่างใด)

ในส่วนของรางวัลและเกียรติคุณที่ “อังคาร กัลยาณพงศ์” เคยได้รับนั้น จากหนังสือเล่มเดียวกัน บันทึกไว้ว่า

  • ปี 2498 ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน (ประเภทสีเอกรงค์) จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6
  • ปี 2504 ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง (ประเภทวาดเส้น) จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 12
  • ปี 2515 ได้รับรางวัลดีเด่นของมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
  • ปี 2529 ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ SEA WRITES จากบทกวีรวมเล่มชื่อ “ปณิธานกวี”
  • ปี 2532 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (ด้านกวีนิพนธ์)  

ด้านชีวิตครอบครัว “อังคาร กัลยาณพงศ์” ได้สมรสกับภรรยาชื่อ “อุ่นเรือน” มีบุตรธิดารวม 3 คน เป็นชาย 1 หญิง 2 ช่วงบั้นปลายชีวิตท่านป่วยด้วยโรคเบาหวานเรื้อรัง และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวัย 85 ย่าง 86 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2555 กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพให้ ณ วัดตรีทศเทพ

 

ฉายานาม “ท่านอังคาร” และภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ในความทรงจำของผู้คน

หลายท่านอาจสงสัยว่าทำไมคนในแวดวงศิลปะและวรรณกรรม มักนิยมเรียก “อังคาร กัลยาณพงศ์” ว่า “ท่านอังคาร” จนเป็นเสมือนฉายานามเฉพาะ และบางคนตั้งคำถามว่า ฤๅมหากวีผู้นี้สืบเชื้อสายมาจากเจ้า?

 


หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี
ที่มา: หนังสือพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี

 

อนึ่ง คำว่า “ท่านอังคาร” นามนี้ได้มาจากคำหยอกล้อแกมรัก จากการที่คนใกล้ชิดเห็น “อังคาร กัลยาณพงศ์” มีความสนิทชิดเชื้อ ผูกพันมากเป็นพิเศษกับกวีเชื้อสายเจ้าตัวจริงพระองค์หนึ่ง นามว่า หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (21 ก.ค. 2453 – 29 พ.ย. 2534) โอรสของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ผู้ใช้นามปากกาว่า น.ม.ส. ส่วนหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ผู้ลูกซึ่งมีความสันทัดจัดเจนในการเขียนหนังสือตามรอยพระบิดา ใช้นามปากกาว่า พ. ณ ประมวลมารค และ นายโต๊ะ ณ ท่าช้าง

คนทั่วไปเรียกหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ว่า “ท่านจันทร์” มาจาก “ศักดิ์” ของราชนิกูลชั้น “หม่อมเจ้า” ตามกฎมณเฑียรบาลจักถูกเรียกว่า “ท่านชาย-ท่านหญิง” (เช่นเดียวกับชั้นหม่อมราชวงศ์ ย่อมถูกเรียกว่า “คุณชาย-คุณหญิง”)

“ท่านจันทร์” ช่วงหลังเลิกงานจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มักหอบแฟ้มกระดาษกองโตเดินออกมาจากประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง ข้ามถนน “หน้าพระลาน” มายังฝั่งตึกแถวที่อยู่ประชิดกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ร้านประจำของท่านคือ “ร้านพงษ์เต้ง” (ต่อมารู้จักกันในนามร้านโกเนี้ยวรุ่นลูก) เป็นที่รู้กันว่าทุกครั้งที่ท่านจันทร์เข้ามาในร้าน อาโกต้องรีบจองโต๊ะใหญ่สุดชิดเสากลางร้านให้ท่านนั่งแบบขาประจำ

กองกระดาษที่ท่านจันทร์หอบมานี้ หาใช่คนบ้างานประเภทที่ว่าเลิกงานแล้วยังหอบงานมาทำต่อในร้านเหล้า หากมันเป็นกระดาษสำหรับเขียนบทกวี การร่ำร้อยกวีนิพนธ์ของท่านจันทร์ต้องเคล้าสุราเมรัยด้วยจึงจักได้อรรถรส เจ้าของร้านรู้ทันทีว่าท่านจันทร์โปรดเสวยกับแกล้มชนิดใดบ้าง โดยมิพักต้องรอให้ท่านจันทร์เลือกเมนูทุกเมื่อเชื่อวัน ว่าแล้วเมื่อ “ก๊วนกวี” ทยอยมาจนครบองค์ ก็ทำการเล่นประชัน “โคลงสด” กัน ซึ่งพี่น้องชาวศิลปากรเรียกกิจกรรมนี้ว่าเป็นการ “เปิดบ่อนโคลง”

สหายกวี (รุ่นน้อง) ตัวเอ้ของท่านจันทร์ที่มักแวะเวียนมาดวลโคลงในบ่อนนี้ หนีไม่พ้น “อังคาร กัลยาณพงศ์” ผู้หลงใหลในโคลงสี่สุภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าท่านจันทร์ นอกจากนี้ยังมี สถิต เสมานิล นิพนธ์ ขำวิไล เรื่อยมาจนถึง “สองกุมารสยาม” ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งค่ายมติชน-ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งมีอายุห่างจากท่านจันทร์หลายสิบปี

ความเป็นกันเองของท่านจันทร์ ไม่ถือสาสหายกวีที่เป็นสามัญชน ทำให้เพื่อนฝูงมักหยอกล้อเรียก “อังคาร กัลยาณพงศ์” ผู้มีความสนิทสนมกับท่านจันทร์ชนิดที่ว่า แทบจะเป็นคนเดียวในบ่อนที่คว่ำโคลงท่านจันทร์ได้เป็นคนสุดท้ายว่า “ท่านอังคาร” ตามไปด้วย

หลังจากที่ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ได้รับฉายาว่า “ท่านอังคาร” จนติดปากเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวหน้าพระลาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เริ่มมีการหยอกล้อต่อไปอีกว่า ใครควรจะเป็น “ท่านพุธ” “ท่านพฤหัส” “ท่านศุกร์” ฯลฯ กวีดวงดาวหรือกวีสัปดาห์คนถัดไปดีเล่า ประเด็นนี้ นิพนธ์ ขำวิไล หรือ “พี่ได๋” ศิลปินหน้าพระลานคนดังในกลุ่มก๊วนผู้คอยรินเหล้าให้ท่านจันทร์ที่บ่อนโคลง เคยเล่าให้ดิฉันฟังอยู่ 2-3 ครั้งว่าฉายา “ท่านพุธ” นั้นมีอยู่จริง นามเต็ม ๆ คือ “ท่านพุธ ณ ธนบุรี” พี่ได๋ทิ้งท้ายว่า ขอให้ไปสืบค้นกันเอง แต่ไม่ใช่นิพนธ์ ขำวิไล อย่างแน่นอน จวบจนทุกวันนี้ ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ว่า ใครหรือคือ “ท่านพุธ” กวีคนถัดไปแห่งฟากฟ้าสยาม ถัดจากท่านจันทร์ และท่านอังคาร

ในด้านรูปลักษณ์นั้นเล่า เรามักพบเห็น “ท่านอังคาร” แต่งกายในยูนิฟอร์มเฉพาะของท่าน คือไม่เคยสวมเสื้อเชิร์ต เสื้อฮาวายลายดอกดวง เสื้อยืด กางเกงยีนส์ หรือชุดสูทเสื้อนอกสากลเหมือนใคร ๆ เลย พบแต่ว่าสวมเสื้อตัวใหญ่แขนยาว มีคอปกคล้ายเสื้อคอจีน ติดกระดุมผ่าหน้าเรียงเป็นแถว กางเกงทรงหลวมสีเดียวกันกับเสื้อ นิยมสีกรมท่ากับสีเทาควันบุหรี่เป็นหลัก สิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาดคือสร้อยคอยาวร้อยลูกปัดเม็ดประคำ หากท่านอังคารต้องออกงานใหญ่งานสำคัญ เช่น งานเสวนา อ่านบทกวี หรือวันที่ 15 กันยายนของบางปี เมื่อท่านอังคารมาร่วมงานวันศิลป์พีระศรี พบว่าชุดอีกรูปหนึ่งแบบของท่านที่ชอบสวมคือ เสื้อราชปะแตนสีขาวประยุกต์ กับผ้าโจงกระเบน คล้าย ๆ กับที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) นิยมใส่ บางครั้งก็พบว่าท่านชอบใส่หมวกที่ตัดเย็บด้วยผ้าสีเดียวกันกับเสื้อกางเกง ในช่วงบั้นปลายชีวิตพบว่าท่านเริ่มถือไม้เท้าช่วยพยุงน้ำหนักด้วยเช่นกัน

อัตลักษณ์อื่น ๆ ภายนอกที่เรามองเห็นด้านรูปลักษณ์ ก็คงมีเพียงเท่าที่กล่าวมานี้ ที่เหลือน่าจะเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นด้านน้ำเสียงเวลาท่านร่ายบทกวีบนเวที ด้วยลีลาเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือการใส่อารมณ์สะอึกสะอื้น เคล้าพลังอันพวยพุ่ง เวลาอ่านบทกวี ท่านมักยืนอ่านมากกว่านั่งอ่าน และแทบไม่ต้องดูโพยบทกวีของตัวเอง ประมาณว่าท่านจดจำถ้อยคำที่ท่านรจนาได้แทบทุกตัวอักขระ เวลาอ่านบทกวีท่านจะทิ้งช่วงช้า ๆ ทอดคำทอดเสียง แบบจงใจเน้นคำศัพท์สวย ๆ มิให้คนฟังผ่านเลยไป

 

บทกวีของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ในมุมมอง “เพ็ญ ภัคตะ” ฐานะกวิณี

ก่อนที่จักวิพากษ์บทกวีของท่านอังคารได้อย่างแจ่มแจ้ง ดิฉันขอจำแนกแจกแจงให้ผู้อ่านเข้าใจเบื้องต้นว่า ท่านอังคารได้แต่งผลงานอะไรไว้บ้าง เพื่อให้เห็นลำดับพัฒนาการของงานด้านกวีนิพนธ์

ท่านอังคารเริ่มเขียนบทกวีตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมแล้ว จากคำบอกเล่าของคุณพ่อนุสรณ์ สุขคตะ บิดาของดิฉันเอง ว่าบรรยากาศของเด็กนักเรียนที่ชอบภาษาไทยในโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช จะไปรวมตัวกันที่ชมรมคนรักศรีปราชญ์ ใช้เวลายามเย็นหลังเลิกเรียนมาฝึกแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนกัน ทำให้คุณพ่อนุสรณ์ได้รับการปลูกฝังให้คลั่งไคล้โคลงกลอนและรู้จักรุ่นพี่ที่ชื่อ “อังคาร กัลยาณพงศ์” มาตั้งแต่วัยเด็ก

 


ครั้งถ่ายร่วมกันที่เมืองโบราณ
ที่มา: หนังสือพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์

 

 

“อังคาร กัลยาณพงศ์” เขียนบทกวีอย่างเป็นกิจจะลักษณะ อย่างจริงจังจนแทบเป็นลมหายใจเข้าออก ในช่วงหลังจากจบการศึกษาระดับอนุปริญญาแล้ว เริ่มมีผลงานเผยแพร่ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้มารู้จักกับบุคคลสำคัญของยุคสมัย “อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์” (ส.ศิวรักษ์) บรรณาธิการวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ จึงได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันถูกคอ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เห็นคุณค่างานเขียนของท่านอังคาร จึงช่วยส่งเสริมให้นำบทกวีทั้งหมดมาตีพิมพ์เผยแพร่เป็นชิ้น ๆ ในวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนมิถุนายน 2506 และต่อเนื่องอีกยาวนานหลายปี จนกระทั่งนำไปสู่การนำบทกวีที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระมาจัดพิมพ์รวมเล่มจำนวนหลายชิ้น อาทิ รวมกวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์ ปี 2507, ลำนำภูกระดึง ปี 2512, บางบทจากสวนแก้ว ปี 2515, บางกอกแก้วกำสรวล (นิราศนครศรีธรรมราช) ปี 2521, ปณิธานกวี ปี 2529, หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของกาลเวลา ปี 2530 และ กวีศรีอยุธยา ปี 2542 งานทุกเล่มเขียนในลักษณะร้อยกรองทั้งหมด ยกเว้น “หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของกาลเวลา” ที่เขียนเป็นร้อยแก้ว

 

 

 

ในบรรดากวีนิพนธ์ของท่านอังคารหลายร้อยชิ้น ชิ้นที่มีชื่อเสียงอย่างมากจนผู้อ่านสามารถท่องจำวรรคทองได้หลาย ๆ วรรค ได้แก่บทกวีชิ้นที่ชื่อว่า “วักทะเล” “เสียเจ้า” และ “ปณิธานกวี”

“เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง     มิมุ่งหวังสิ่งใดในหล้า
มิหวังแม้กระทั่งฟากฟ้า    ซบหน้าติดดินกินทราย

จักเจ็บจำไปถึงปรโลก     รอยโศกฤๅรู้ร้างจางหาย...”

ตัวดิฉันเองยอมรับว่าในช่วงวัยรุ่นระหว่างอายุ 16-24 ปี ช่วงที่ต่อมแรงปรารถนานำพาให้อยากเป็นนักเขียน ดิฉันขอสารภาพว่า จิตวิญญาณได้รับการรดน้ำพรวนดิน ปลูกปัญญา บ่มเพาะอารมณ์ความรู้สึกให้อยากเป็น “กวี” มากกว่างานเขียนประเภทอื่นใด หนุนเนื่องด้วยการเสพย์งานกวีนิพนธ์ของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” อย่างหลงใหลได้ปลื้ม ยิ่งดิฉันเป็นนักศึกษาศิลปากรหน้าพระลาน ยิ่งท่านอังคารถูกกล่าวขานว่าเป็น “กวีแนวเซอร์เรียลิสต์” ก็ยิ่งทำให้ดิฉันรู้สึกมหัศจรรย์ อยากเรียนรู้จักท่านทั้งงานเขียน ทั้งตัวตน

จึงขอเปิดมุมมองของดิฉันที่มีต่อผลงานของท่านอังคารในภาพรวม

ทำไมบทกวีของท่านอังคารจึงถูกมองว่างานแนว เซอร์เรียลิสม์ คำนี้ แปลเป็นไทยว่า “ลัทธิเหนือจริง” มาจากศิลปะสกุลช่าง Surrealism ที่เคลื่อนไหวในประเทศฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันที่จริงศิลปินแนวเซอร์เรียลิสม์ มีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ เพื่อขบถต่อค่านิยมของชนชั้นกลาง ตลอดจนปฏิเสธขนบและกฎเกณฑ์ทุกชนิด เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกซึ่ง “ตัวตนภายใน” บางครั้งเรียกว่า “ความคิดบริสุทธิ์” หรือบ้างเรียก “จิตไร้สำนึก” ที่ถูกเก็บกดไว้ โดยศิลปินต้องการแสวงหา หรือบรรลุถึงความจริงสูงสุด อันเกิดจากการผสานรวมของความฝันกับความจริงแห่งโลกภายนอก กล่าวคือต้องการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดภายในออกมาอย่างเสรีในทุกรูปแบบ โดยปราศจากการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น งานศิลปกรรมของกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ที่เคลื่อนไหวในฝรั่งเศส และกระจายไปยังสหรัฐอเมริกา จึงเป็นงานที่ค่อนข้างรุนแรงทางความคิด มีการระเบิดจากภายในออกมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสังคม

เมื่อหันมาพินิจบทกวีของท่านอังคาร ผู้ได้รับฉายาว่า เจ้าพ่อเซอร์เรียลิสม์แห่งวงการกวีนิพนธ์ไทย เราจะเห็นร่องรอยแห่งความเป็นเซอร์เรียลิสม์ในด้านใดบ้าง การจักอธิบายบทกวีของท่านอังคาร จู่ ๆ จะให้มาพูดลอย ๆ คงไม่ได้ จำเป็นต้องหยิบยกตัวอย่างบทกวีชิ้นเยี่ยม มาให้ผู้อ่านเห็นในองค์รวมสัก 1 บทด้วย นั่นคือบทที่ชื่อว่า “วักทะเล”

 


ที่มา: หนังสือพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์

 

          “วักทะเล”

๏ วักทะเลเทใส่จาน           รับประทานกับข้าวขาว
เอื้อมเก็บบางดวงดาว        ไว้คลุกเคล้าซาวเกลือกินฯ

๏ ดูปูหอยเริงระบำ            เต้นรำทำเพลงวังเวงสิ้น
กิ้งก่ากิ้งกือบิน                 ไปกินตะวันและแสงจันทร์ฯ

๏ คางคกขึ้นวอทอง          ลอยล่องท่องเที่ยวสวรรค์
อึ่งอ่างไปด้วยกัน              เทวดานั้นหนีเข้ากะลาฯ

๏ ไส้เดือนเที่ยวเกี้ยวสาว     อัปสรหนาวสั่นชั้นฟ้า
ทุกจุลินทรีย์อมีบ้า             เชิดหน้าได้ดิบได้ดีฯ

๏ เทพไท้เบื่อหน่ายวิมาน    ทะยานลงดินมากินขี้
ชมอาจมว่ามี                     รสวิเศษสุดที่กล่าวคำฯ

๏ ป่าสุมทุมพุ่มไม้              พูดได้ปรัชญาลึกล้ำ
ขี่เลื่อยละเมอทำ              คำนวณน้ำหนักแห่งเงาฯ

๏ วิเศษใหญ่ใคร่เสวยฟ้า    อยู่หล้าเหลวเลวโง่เขลา
โลภโกรธหลงมอมเมา       งั่งเอาเถิดประเสริฐเอยฯ

 

ทันทีที่ผู้อ่านได้อ่านบทกวีชื่อ “วักทะเล” จบ เชื่อว่าคงบังเกิดคำถามตามมาหลายข้อ อาทิ ฉันลักษณ์ที่กวีใช้นี่ เรียกว่า “กาพย์ยานี 11” ได้ไหม? กวีต้องการสื่อถึงเนื้อหาเรื่องอะไรล่ะหรือทำไมจึงวกวนไปมา? รวมไปถึง ตรงไหนเล่าที่จะให้เหมาเรียกว่า งานแนวเซอร์เรียลิสม์?

ข้อแรก ฉันทลักษณ์ของ “วักทะเล” นี้ มีเค้าโครงว่าท่านอังคารต้องการนำ “กาพย์ยานี 11” มาใช้อย่างแน่นอน เหตุที่ในแต่ละบาทมีจำนวนคำไม่ยาวมากเกินไปนัก (ผิดกับกลอนแปด) คือมีแค่ 5 พยางค์บ้าง 6 พยางค์บ้าง มากที่สุดแค่ 7 พยางค์ สิ่งที่ผู้อ่านรู้สึกแปลกทะแม่งจนเกือบอึดอัดคือ การที่กวีได้ดัดแปลง “จังหวะ” บีบให้ผู้อ่านโยนสัมผัสแบบไร้ทิศทาง

แตกต่างไปจากลีลาของกาพย์ยานี 11 ที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นลีลาอ้อยสร้อยอ่อนหวานของเจ้าฟ้ากุ้ง ธรรมธิเบศวร์ สมัยอยุธยาตอนปลาย อาทิ เรื่องกาพย์เห่เรือ

นวลจันทร์เป็นนวลจริง     เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา      ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เห็นได้ว่าลีลากาพย์ยานี 11 ของเจ้าฟ้ากุ้ง แบ่งจังหวะให้เราอ่านแยก บาทแรกกับบาทที่สาม แยกกลุ่มคำระหว่างหน้าสอง, หลังสาม และบาทที่สองกับบาทที่สี่ แยกกลุ่มคำ หน้าสาม, หลังสาม ออกจากกันชัดเจน

หรือในบทกวีชิ้นที่ชื่อ “เปิบข้าว” ของมหากวีนามอุโฆษอีกท่านคือ “จิตร ภูมิศักดิ์” แม้จะใช้ลีลากาพย์ยานี 11 ในทำนองเร้ารุกดุดัน ต่างไปจากลีลาหวานเนิบนาบของเจ้าฟ้ากุ้ง ทว่าบทกวีเปิบข้าวก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นกาพย์ยานี 11 ของแท้ กล่าวคือแบ่งจังหวะ หน้าสอง, หลังสาม ในบาทที่ 1 และ 3 กับบีบบังคับให้เราอ่านด้วยจังหวะหน้าสาม, หลังสาม ในบาทที่ 2 และ 4 ดังตัวอย่างนี้

เปิบข้าวทุกคราวคำ     จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน            จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส             ให้ชนชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสิทุกข์ทน    และขมขื่นจนเขียวคาว

ในทางกลับกัน การเขียนกาพย์ยานี 11 ของท่านอังคารในวักทะเลนั้น มีทั้งการวางกลุ่มคำให้เกิดจังหวะในบาทที่ 1 กับ 3 แบบแยกคำ หน้าสองหลังสามอยู่บ้าง ซึ่งพบลักษณะเช่นนี้น้อยเหลือเกิน หนักไปทางปล่อยให้เราอ่านกลุ่มคำในแต่ละห้องแบบอิสระมากกว่า ไร้สัมผัส ไร้จังหวะ วางถ้อยคำเรียงยาว มิอาจช่วยให้แบ่งกลุ่มคำเป็นจังหวะตามแบบแผนกาพย์ยานี 11 ได้เลย ไม่ว่าในห้องบาทแรกหรือบาทใด ๆ อาทิ ดูปูหอยเริงระบำ / รสวิเศษสุดที่กล่าวคำ / วิเศษใหญ่ใคร่เสวยฟ้า ฯลฯ

ประเด็นถัดมา มองในด้าน “เนื้อหา” อาจกล่าวได้ว่าบทกวีของท่านอังคารแทบทุกชิ้น (โดยขอมองผ่าน “วักทะเล” เป็นตัวอย่าง) มักมิได้ตั้งใจนำเสนอ “เนื้อหาใดเนื้อหาหนึ่งแค่เนื้อหาเดียว” แต่มักหยิบยกสิ่งละอันพันละน้อยของสังคมทรามมาผสมผเสเข้าด้วยกันอยู่ตลอดเวลา หากจะให้ถอดรหัสเฉพาะแค่สิ่งที่กวีสื่อสารในบทที่ชื่อ “วักทะเล” ก็จะพบว่าตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกบททุกวรรค กวีได้ใส่เนื้อหาใหม่ ๆ เข้ามาเติมเนื้อหาเดิมอย่างไม่หยุดยั้ง

แค่บทแรก “วักทะเลเทใส่จาน รับประทานกับข้าวขาว เอื้อมเก็บบางดวงดาว ไว้คลุกเคล้าซาวเกลือกินฯ” ก็สามารถถอดรหัสได้ว่า กวีใช้จินตภาพในลักษณะ “เหนือจริง” คือเอาสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มาทำให้เสมือนว่าเป็นไปได้ ภาพที่งดงามด้วยการ “วักทะเล” หาใช่การตักน้ำทะเลธรรมดาไม่ แต่เป็นลักษณาการของคนที่เอามือวักน้ำจากทะเลที่ซัดสาดตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่ง จับมาให้อยู่ในอุ้งมือ แล้วเอามาเทใส่จาน รับประทานกับข้าวขาว เสมือนว่าน้ำทะเลนั้นเป็น “กับข้าว” หรือ “แกง” ชนิดหนึ่งที่สามารถเอามากินกับข้าวขาวได้

ด้วยเหตุนี้กระมัง การที่กวีพยายามใช้จินตภาพด้วยการนำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง คือ ทะเลก็มีจริง ข้าวขาวก็มีอยู่จริง คนทั่วไปไม่มีใครเขาจับเอามนุษย์ปกติไปกินข้าวราดน้ำทะเลได้ มีแต่เพียงกวีแนวเซอร์เรียลลิสต์เท่านั้น ที่เสกสร้างให้สิ่งที่ไม่ปกติ กลายเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

บาทถัดไป เอื้อมเก็บบางดวงดาว ไว้คลุกเคล้าซาวเกลือกิน บทนี้ยิ่งล้ำลึก กวีมิได้ต้องการแค่โชว์ว่าเขาสนุกกับการเขียนงานแนวเซอร์เรียลิสต์ ที่นอกจากจะเล่นกับการวักน้ำทะเลมาเทราดข้าวเป็นข้าวแกงแล้ว ซ้ำยังสนุกที่จะเอื้อมไปเก็บดวงดาวเอามาคลุกเคล้าซาวเกลือเล่นอีกด้วย

ทว่านัยยะแห่ง “บางดวงดาว” นั้นยังซ่อนสัญลักษณ์ว่า มิใช่ดาวทุกดวงที่มนุษย์จะพึงมีความหวังได้ดอกนะ หากดวงดาวคือตัวแทนของความดีงามที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็แสดงว่าความดีงามนั้นคงเหลือน้อยเต็มทนแล้ว กวีจึงใช้คำว่า “บางดวงดาว” หรือ “ดาวบางดวง” ในเมื่อความดีความงามในโลกนี้แทบไม่หลงเหลืออยู่มากนัก เราจึงต้องรีบ “เอื้อมเก็บ” รีบหยิบมันมาไว้ “คลุกเคล้าซาวเกลือกิน” อันมีลักษณะเหมือนการยืดเวลาถนอมอาหาร คือการเก็บรักษาอาหารแห่งปัญญาไว้ให้ยืนยาว เอาไว้ช่วยเยียวยาจิตใจมนุษย์ยามทุกข์ระทมในวันที่ต้องการความดีงามมาปลอบประโลมใจ

เราจะเห็นได้ว่าบทกวีทุกบททุกบาทของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ใช้ถ้อยคำในทำนอง “สัญลักษณ์” ที่ต้องตีความหรือถอดรหัสตลอดเวลา โดยมากใช้สัญลักษณ์เป็นแนวเหนือจริง (เช่น ไส้เดือนเที่ยวเกี้ยวนางอัปสรสาว จุลินทรีย์อมีบ้าเชิดหน้าได้ดิบได้ดี เทวดาหนีเข้ากะลา ฯลฯ) และมีบ้างที่ใช้สัญลักษณ์แนวสามารถจับต้องได้ ไม่ว่าเขาจะหยิบยกสัญลักษณ์ใดก็ตามมาร้อยเรียงในบทกวี สิ่งหนึ่งที่เราพึงเห็น พึงรับรู้ และพึงรู้สึกได้ถึง “เจตจำนง” ในการสื่อสารของเขาก็คือ เขารังเกียจความชิงชัง ความชั่วร้ายเลวทรามทุกรูปแบบ

การที่มนุษย์เบียดเบียนกัน การที่คนสูงศักดิ์เหยียดหยามคนต่ำต้อย การที่คนรวยไม่แบ่งปันให้แก่คนยากไร้ การที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา การที่มนุษย์เกียจคร้านนั่งรอคอยโชคชะตา การที่คนขาดเขลาเบาปัญญาไม่อ่านหนังสือ ท้ายที่สุด เราจะพบว่าบทกวีของเขามักสอดแทรก “แนวคิดทางพุทธศาสนาแทรกปนกับแนวคิดแบบปรัชญาไว้ด้วยเสมอ” นั่นคือ เขาอยากให้มนุษย์ที่เกิดมาทุกคนไม่เสียชาติเกิด ควรมองเห็นสัจธรรมของชีวิต ก่อนสิ้นลมปราณ

อย่างไรก็ดี “อังคาร กัลยาณพงศ์” มิได้ยัดเยียดคำสอนของพระพุทธเจ้าแบบโต้ง ๆ ตรง ๆ ลงในบทกวีของเขา งานของเขาไม่มีกลิ่นอายของคำเทศนา เราไม่ได้ยินเสียงสวดมนต์แบบนักการศาสนา แต่เขาเอาหัวใจของพุทธ+ปรัชญา มารับใช้ในงานวรรณกรรมของเขาอย่างแยบยล

ว่าด้วยรูปแบบด้านฉันลักษณ์นั้น ท่านอังคารเขียนทั้งคำประพันธ์ประเภท “โคลง” ในลักษณะที่เรียกว่า “โคลงสี่สุภาพ” น่าสนใจว่าสำหรับโคลงสี่สุภาพนั้น ท่านอังคารเขียนแบบให้ความเคารพ “เอกเจ็ดโทสี่” มากกว่าการใช้คำขาด ๆ เกิน ๆ โดยภาพรวมของโคลงสี่สุภาพนั้น ถือว่าท่านอังคารให้ความเคารพต่อฉันลักษณ์ประเภทนี้มากที่สุด กล่าวคือแหกกฎเกณฑ์น้อยมาก จนนักวิจารณ์วรรณกรรมหลายท่านถึงกับกล่าวว่า “ท่านอังคารเขียนโคลงได้ไพเราะหรือดีกว่าเขียนกลอน”

ตัวอย่างโคลงสี่สุภาพของท่านอังคาร ในบทกวีชิ้นที่ชื่อว่า “ลูกคงลืมพ่อแล้ว” ในหนังสือ “กวีศรีอยุธยา”

ถวิลหวังสุดเสน่ห์ไว้           ชีวาตม์ พ่อฤๅ
วารดิ่งลับดับชาติ              ลิ่วแล้ว
ฝันฝากกาพย์กลอนธาตุ    วิเศษทิพย์ พ่อแล

โอมแด่ใจลูกแก้ว               แต่งกู้ขวัญสมัย

ในขณะที่ฉันทลักษณ์ประเภท “กลอน” และ “กาพย์” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ท่านอังคารจะไม่ใส่ใจจำนวนพยางค์ จังหวะดั้งเดิมของกาพย์ยานี 11 บาทที่ 1 และ 3 ควรวางกลุ่มคำ หน้าสองหลังสาม ส่วนบาทที่ 2 และ 4 ควรวางกลุ่มคำ หน้าสามหลังสาม ไม่ได้ต่างไปจากการเขียนฉันทลักษณ์ประเภทกลอนของท่านเท่าใดนัก ไม่ต้องไปนิยามว่ากลอนของท่านอังคารคือ กลอนหก กลอนเจ็ด กลอนแปด หรือกลอนเก้า ในงานชิ้นเดียวกัน แต่ละบาทไม่มีการจำกัดจำนวนพยางค์ ซ้ำไม่สนใจอีกด้วยว่าจะต้องส่งสัมผัสจากคำสุดท้ายของบาทแรกไปยังคำใดในบาทที่สอง อาจเป็นคำที่ 1-9 ได้เหมือนกันหมด ซึ่งโดยปกติแล้ว การรับสัมผัสสระของบาทที่ 2 มักรับในคำที่สามตามมาตรฐาน

อะไรเป็นปัจจัยให้ท่านอังคารไม่เคารพลีลาจังหวะกลอนแปดแบบสุนทรภู่ แน่นอนว่าคำตอบคือ มิใช่ท่านไร้ความสามารถในการเขียน ไม่มีความพยายามในการเคารพกฎเกณฑ์ จึงแกล้งฉีกฉันทลักษณ์ให้กระจุยกระจายเล่น ๆ ก็หาไม่ จากบทสัมภาษณ์หลาย ๆ ชิ้นของท่านอังคารที่ดิฉันติดตามอ่านความเห็นของท่านต่อประเด็นนี้นั้น ท่านมักอธิบายแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ในทำนองว่า

“ผมเคารพรักเทิดทูนสุนทรภู่ ไม่ต่างไปจากศรีปราชญ์และกรมพระปรมานุชิตนิโนรส แต่ผมมองว่า โคลงสี่สุภาพนั้นงามลงตัว เราไปฉีก ไปแผลงมากไม่ได้ มันจะเสียรูปเสียเสียง กรณีของสุนทรภู่ ท่านได้บุกเบิกกลอนแปดไว้สุดยอดชนเพดานแล้ว ในยุคของเรา ควรมีการฉีกขนบออกไปบ้าง เพราะการทำลายล้างถือเป็นการสร้างสรรค์ประเภทหนึ่ง ตามคติของศิลปะกลุ่มดาด้า DADA”

ตัวอย่างบทกวีฉันทลักษณ์ประเภทกลอนของท่านอังคาร ในบทกวีชิ้นที่ชื่อว่า “แด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส”

ฯพณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์
องค์กายทิพย์สถิตสวรรค์ชั้นไหน
ณ ชั้นนั้น เทวษหาโศกาลัย

ม้วยสมัยก็ไม่ม้วยอัญชุลี

 

 

คุณูปการของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ที่ฝากไว้ต่อแผ่นดิน การสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กวีรุ่นหลัง

อหังการ (หากอยากให้อ่านเสียงสระอา ให้ใส่การันต์ตัวท้าย กลายเป็น อหังการ์) ของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” คือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่เราพบได้ในบทกวีหลายๆ ชิ้น เขาน่าจะเป็น “กวีต้นแบบ” ที่ประกาศให้กวีมีความอหังการ หยิ่งทระนง ภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่ว่ากวีจักยากดีมีจน แต่คนที่ริจักเป็นกวีต้องมี “อหังการ” อันถือเป็นภาพลักษณ์ที่ตกทอดมายังนักเขียนรุ่นหลัง ๆ โดยเฉพาะในสายของกวี

 


อังคาร กัลยาณพงศ์ ช่วงบั้นปลายของชีวิต
ที่มา: หนังสือพระราชทานเพลิงศพ นายอังคาร กัลยาณพงศ์

 

บทกวีของท่านอังคารปรากฏอยู่หลายครั้ง ว่าท่านเลือกที่จะปฏิเสธการไปพระนิพพานด้วยซ้ำ โดยขอตั้งมโนปณิธานอธิษฐานจิตว่า “ขอให้เกิดเป็นกวีทุกภพทุกชาติไป” “อังคาร กัลยาณพงศ์” ประกาศตนแบบอหังการว่า “สภาวะของความเป็นกวีนั้น มีความยิ่งใหญ่เหนือสิ่งใด ๆ ในโลก เหนือกว่าการเข้าถึงพระนิพพานเสียอีก”

คนที่จะเป็น “กวี” ได้ มิใช่แค่ “เขียนกลอนเป็น” แต่คนผู้นั้น “ต้องเป็นกวีโดยกำเนิด ต้องเป็นกวีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน”

ใครที่ได้ฟังท่านอังคารพูดเรื่องราวในทำนองนี้เป็นครั้งแรก อาจนึกขันว่าเขาน่าจะเป็นคนผิดปกติ เพ้อเจ้อ แต่หากเราติดตามชีวิตและวิธีคิด บทสัมภาษณ์ของเขา “อังคาร กัลยาณพงศ์” ย้ำพูดย้ำคิดย้ำทำแต่ประโยคเช่นนี้มาตลอดตั้งแต่หนุ่มจนชราตราบสิ้นอายุขัย

“คนเป็นกวีนั้น ไม่ใช่แค่เขียนโคลงกลอนได้ หากทำได้แค่นี้ เราควรเรียกคนเหล่านั้นว่า ‘นักกลอน’ ก็พอ แต่คนที่เป็นกวีจริง ๆ เขาต้องดำรงชีวิตเยี่ยงเทพ เยี่ยงโพธิสัตว์ รับรู้ความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์ มีจิตใจที่อาจหาญต้องการช่วยปลดปล่อยความทุกข์ให้แก่มนุษย์ ด้วยวิถีแห่งสุนทรียอักษร”

ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า “กวีควรมีอหังการ” หากใครไม่มีสิ่งนี้ ก็ไม่ควรได้รับยกย่องว่าเป็น “กวี” จริงตามอย่างที่ท่านอังคารพูด อนึ่ง คำว่า “อหังการ/อหังการ์” คำนี้ มิใช่การปิดหูปิดตายกยอปอปั้นยกหางตัวเอง ความอหังการนั้นควรเกิดขึ้นจาก

“มนุษย์ต้องยกตัวเองให้สูงขึ้น ด้วยมันสมองและลำแข้งของตนเอง เปรียบดั่งการก่อตัวขึ้น สูงลิบลิ่วของภูเขาหิมาลัย ซึ่งเกิดจากความมานะพยายามของธาตุต่าง ๆ ที่มารวมตัวเป็นภูเขาเอง มิใช่เกิดจากสิ่งใดอื่นมาเสกสร้างให้ภูเขาลูกนี้มีความสูงขึ้นได้”

นอกเหนือจากการบ่มเพาะ “สภาวะการเป็นกวี” ก็ดี “สถานะของกวี” ก็ดี ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใดในโลก ทำให้คนที่ก้าวเข้ามาสู่ถนนสายนี้มีความมุมานะเพื่อที่จะบรรลุถึงจุดสูงสุดของภูเขาหิมาลัยแล้ว

คุณูปการของ “อังคาร กัลยาณพงศ์” ยังฉานโชนให้กวีส่วนใหญ่ อยากสร้างงานศิลปะมากกว่า 1 แขนง ด้วยการที่ท่านเป็นต้นแบบของ “จิตรกร-กวี/กวี-จิตรกร” กล่าวคือ การที่ท่านเขียนภาพประกอบกวีนิพนธ์ของท่านด้วยลายมือของตัวเอง แน่นอนว่ากวีทุกคนมิใช่ว่าจะมีทักษะในการวาดภาพประกอบผลงานของตัวเองได้ทัดเทียมกับภาพวาดของท่านอังคารที่มีการตวัดลวดลายกระหนกด้วยดินสอเกรยองอย่างวิจิตรบรรจงในระนาบเดียวกันกับโคลงกลอนอันอลังการของท่านเสมอไปไม่

เฉกนี้แล้ว กวีทุกคนจักสามารถเขียนภาพประกอบให้บทกวีของตัวเองได้อย่างไร ประเด็นนี้ท่านอังคารมักบอกกับกวีรุ่นหลัง ๆ ว่า

“เขียนไปเถิด ทั้งเขียนรูปและเขียนบทกวี ศิลปะทั้งสองแขนงนี้มีความแตกต่างกันอยู่ กวีนิพนธ์เป็นงานที่ต้องรวบรวมภูมิปัญญาที่กระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ ให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว คล้ายกับการทำสมาธิ ส่วนงานจิตรกรรมนั้นเป็นการสำแดงพลังที่เก็บสะสมไว้ ให้พวยพุ่งออกแบบระเบิดระบาย ถือว่าเป็นการทำงานที่สวนทางกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกัน คือเราต้องการสื่อให้คนดูรู้สึกสะเทือนอารมณ์ เกิดการแตกหน่อออกกอทางพุทธิปัญญาไม่ต่างกัน”

คุณูปการอีกสองข้อสุดท้ายของมหากวี “อังคาร กัลยาณพงศ์” ที่ฝากไว้ให้คนที่ปรารถนาจะไปให้ถึงฝั่งฝันของความเป็นกวี ก็คือต้องหมั่นเพียรกับสองสิ่งนี้ อย่าละเลย หรือเลิกทำไม่ได้เด็ดขาด ข้อแรกคือต้องหมั่นเขียน และข้อสองคือต้องเพียรอ่าน

“บทกวีของมนุษย์ อันที่จริงก็เหมือนไดอารี่แห่งชีวิต การเขียนบทกวีหรือการเขียนหนังสือ แท้จริงก็คือการเขียนบันทึกรายวันแบบไดอารี่ เพียงแต่เราเรียงร้อยด้วยภาษาที่สละสลวย การเขียนบันทึกรายวันอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองย้อนจะทำให้เราเห็นพัฒนาการของอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่ว่ามันจะดีหรือชั่ว แต่ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์ของเราตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวัยชรา และเมื่อมาถึงจุด ๆ หนึ่ง ประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติก็ควรมีการชำระได้ด้วยเช่นกัน…”

“วงวรรณกรรมไทยจะพัฒนาขึ้นอีกมาก หากกวีทุกคนหมั่นเขียนไดอารี่ด้วยโคลงสี่สุภาพ และประเทศสยามจักรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น หากเราร่วมกันหัดเขียนบทกวีให้เป็นนิสัย แม้ตายไปแล้วไปอยู่ภพภูมิไหน ๆ ก็ไม่ควรอยู่นิ่ง ไม่ว่าจะเกิดเป็นหนอน เป็นแมลง หรืออยู่ในนรกขุมโลกันตร์ ก็น่าจะฆ่าเวลาว่างด้วยการเขียนบทกวี โลกทั้งสามคือสวรรค์ มนุษย์ และนรก ก็จะเต็มไปด้วยสุนทรีย์”

ส่วนมุมมองว่าด้วยการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะคนที่เป็นกวียิ่งต้องอ่านหนังสือให้มากกว่าคนอื่น ๆ

“กวีควรอ่านหนังสือหมดทุกเล่มในโลก อ่านตั้งแต่ปฐมสมโพธิกถา ยันตำราทำกับข้าว ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ ก็ต้องอ่าน ซึ่งคนที่ริจะเป็นกวี ต้องเรียนรู้ชั่วชีวิตด้วยตัวเอง ต้องเอาหนังสือเป็นครู และในที่สุดก็เป็นครูให้กับตัวเอง แม้จะไปจบเมืองนอกเมืองนามา ผ่านสถาบันมากมาย อ่านหนังสือมาเป็นพัน ๆ เล่ม หากไม่มีความคิดเป็นตัวของตัวเองก็เรียกได้ว่ายังไม่เกิดความรู้ที่แท้จริง”

บทสัมภาษณ์ช่วงท้าย ๆ ของบทความชิ้นนี้ ดิฉันนำมาจากบทความของตัวเองที่เคยเขียนถึงท่านอังคารในงานมุทิตาจิต 72 ปีชาตกาล อังคาร กัลยาณพงศ์ ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ฐานรายสัปดาห์” (เครือฐานเศรษกิจ) ฉบับปี 2542 ภายใต้ชื่อบทความว่า “บางอมตพจน์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ : เก็บตกจากงานเสวนา เจียระไนแก้วมณีแห่งชีวิต” ด้วยเห็นว่าเป็นงานเขียนที่ยังคงสะท้อนภาพจิตวิญญาณของ “กวีศรีอยุธยา” ท่านนี้ในวาระ 98 ปีชาตกาล ได้อย่างตรงชัดมากที่สุด และมิมีวันเปลี่ยนแปลง

 


[1] "เพ็ญ ภัคตะ" เป็นนามปากกาของ ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ 

[2] การนับพุทธศักราชก่อนการเปลี่ยนแปลงการนับปีใหม่เป็นเดือนมกราคม 2484 จากเดิมที่ไทยนับวันขึ้นปีใหม่ในเดือนเมษายน ดังนี้ ถ้าไม่ได้มีการระบุว่าเป็นการนับตามปฏิทินแบบใหม่ ถือเป็นการนับตามปฏิทินแบบเก่าโดยจะต้องบวก 1 ปี และเปรียบเทียบเป็น ค.ศ. อาทิ คุณอังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2469 จะครบชาตกาล 98 ปี ใน พ.ศ. 2568