Focus
- ในบทความนี้ ชวนผู้อ่านทบทวนฉากชีวิตของ นายปรีดี พนมยงค์ นับตั้งแต่การถูกเนรเทศครั้งแรกในหน้าร้อนเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 จากกรณี “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หรือ “สมุดปกเหลือง” มุ่งหน้าสู่ฝรั่งเศสประเทศที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อนายปรีดีเมื่อครั้งเป็นนักเรียนนอก ผู้เขียนได้บอกเล่าการดำเนินชีวิตของนายปรีดีขณะอยู่ต่างแดน จนกระทั่งเดินทางกลับสยามอีกครั้งและปฏิบัติหน้าที่เพื่อส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์
- ผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่งของนายปรีดีและคณะราษฎรที่เพื่อตอบสนองต่อระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้น ผลิดอกออกผลเป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489” อันเกิดจากการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น จนเรียกได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นรัฐธรรมนูญที่มีหลักเกณฑ์เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง
- ทว่า ความผันผวนและการแทรกแซงทางการเมืองส่งผลให้ชีวิตของนายปรีดีต้องระส่ำระสายจนต้องลี้ภัยทางการเมืองอย่างถาวร ในช่วงทศวรรษ 2490 อันเป็นชะตากรรมชีวิตของนายปรีดีในการลี้ภัยครั้งสุดท้ายยังประเทศจีนและฝรั่งเศส กระทั่งนายปรีดีถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ณ บ้านพักชานกรุงปารีส กาลเวลาเคลื่อนเข้าสู่ปีที่ 3 ของการจากไปจึงมีการอัญเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดีกลับสู่มาตุภูมิในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 อันเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เคารพรักต่อนายปรีดีร่วมให้การต้อนรับอย่างเนืองแน่น
นายปรีดี พนมยงค์ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจวาย ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุราว 83 ปี ซึ่งอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ก็จะถึงวันครบรอบวันเกิดของนายปรีดี ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 การอสัญกรรมของนายปรีดีครั้งนี้ทางสำนักข่าว เอ.พี. ได้เผยแพร่ข่าวไปทั่วโลกโดยรายงานว่า ในตอนเช้าก่อนมรณกรรมนายปรีดี ยังมีสุขภาพแข็งแรง ยังเขียนจดหมาย อ่านตำรา แต่งหนังสือ และทำกิจวัตรประจำวันตามปกติกระทั่งเวลาดังกล่าวได้รู้สึกไม่สบายขึ้นแล้วมรณกรรมอย่างสงบ ท่ามกลางการปฐมพยาบาลของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และญาติๆ อย่างเต็มที่ ต่อมาได้มีพิธีฌาปนกิจศพนายปรีดี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ที่ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าคอมมูนปารีส สถานที่ประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก เนื่องในวาระพฤษภาชาตกาล และการอสัญกรรมของนายปรีดี บทความชิ้นนี้จึงขอเสนอฉากชีวิตนับจากการเนรเทศถึงนิวัติไทยทั้งผลงานสำคัญ และการลี้ภัยครั้งแรกตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์
ในยามถูกเนรเทศ : ชีวิตของนายปรีดี พนมยงค์ หลังการเนรเทศครั้งแรก พ.ศ. 2476
1 ปี หลังการอภิวัฒน์สยาม จากการประนีประนอมนำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในรัฐบาลใหม่ ที่ปะทุขึ้นให้เห็นเด่นชัดจากนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างนโยบายของฝ่ายพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จากกรณีการเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันว่า “สมุดปกเหลือง” ของนายปรีดี ต่อคณะรัฐมนตรีด้วยเจตนารมณ์ที่จะทำให้สยามเป็นเอกราชทางด้านเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจให้แก่ราษฎรตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
ต่อมาจึงมีการเผยแพร่พระบรมราชวินิจฉัยฯ หรือ สมุดปกขาว ราว 3,000 เล่ม และประกาศใช้พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ขึ้นฉบับแรก ทั้งยังเกิดรัฐประหารครั้งแรกโดยพระราชกฤษฎีกาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ซึ่งส่งผลให้สังคมเข้าใจกันว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี มีรูปแบบเป็นคอมมิวนิสต์ และในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เชิญนายปรีดีไปพบที่วังปารุสกวัน ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2476 จนนำไปสู่การถูกเนรเทศของนายปรีดีในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476
นายปรีดีเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองของฝ่ายคณะราษฎรคนแรกที่รัฐบาลสยามได้ออกหนังสือเดินทางรับรองตัวต่อรัฐบาลทั่วโลกโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสังเกตว่าข้อความในหนังสือรับรองการเดินทางครั้งนี้ระบุว่านายปรีดีเดินทางไปเพื่อศึกษาภาวะทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ มิใช่ด้วยเหตุผลการเนรเทศหรือลี้ภัยการเมืองตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏโดยนัยในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2476 ที่พาดหัวข่าวและเขียนเล่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้อย่างละเอียดว่า
“หลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปอยู่ฝรั่งเศสด้วยความจำเป็น อันเป็นกฎสูงสุดของมนุษย์...เดิมหลวงประดิษฐ์ฯ คิดจะไปญี่ปุ่นแต่ทางฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไปฝรั่งเศสสมควรกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ จึงยอมไปฝรั่งเศส เวลานี้ได้เตรียมการเดินทางไว้พร้อมมูล ภรรยาท่านก็ไปด้วย แต่บุตรน้อยๆ ยังไม่นำไปเพราะเกรงจะลำบาก ต่อเมื่อได้ไปอยู่ที่ไหนแน่นอนแล้วจึงค่อยไปรับภายหลัง ท่านตั้งใจจะไปอยู่นอกปารีสเพราะไม่ชอบความเริงรมย์อย่างปัจจุบัน ชอบแต่จะดูตำหรับตำราเท่านั้น…”
ชีวิต 5 เดือนกว่าของนายปรีดีในยามถูกเนรเทศนั้นบันทึกไว้ว่าชอบไปอ่านหนังสือและศึกษาเรื่องเศรษฐกิจการเมืองที่หอสมุดปารีส โดยเล่าไว้ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพวารศัพท์ วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ด้วยว่า
“ข้อมุ่งแรกทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าต้องการพักผ่อน แต่ความจริงทีเดียวนั้น ข้าพเจ้าใช้เวลาเปนอันมากหมกอยู่ในหอสมุดแห่งปารีส เพื่อศึกษาประวัติการความเจริญในทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆ ในยุโรปต่างๆ สมัย…”
นายปรีดียังได้ปฏิเสธว่าตนไม่ได้ร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจด้วยวิธีการของคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกไว้ด้วย
“...เท่าที่ข้าพเจ้าได้มาจากการค้นคว้าศึกษาครั้งนี้อาจจะใช้เปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้าเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้าและเพื่อนฝูงได้ช่วยกันร่างโครงการแก้ไขและทำความก้าวหน้าให้กับเศรษฐกิจสำหรับกรุงสยามขึ้น ไม่เปนความจริงเลยที่ยุโรปพูดกันว่าข้าพเจ้าศึกษาวิธีการของคอมมิวนิสต์ หรือแม้เกี่ยวข้องกับราชการตำรวจฝรั่งเศสแต่อย่างใด”
บรรยากาศของวันถูกเนรเทศของนายปรีดี เวลา 15.00 น. ณ วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 นั้นคราคร่ำไปด้วยรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนราว 3,000 คน ที่มาส่งนายปรีดีบริเวณท่าเรือบีไอ ถนนเจริญกรุง เช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา, พระยามานวราชเสวี, หลวงศุภชลาศัย, หลวงพิบูลสงคราม, นายแนบ พหลโยธิน, นายตั้ว ลพานุกรม, หลวงเดชสหกรณ์, พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ โดยเฉพาะพระยาพหลฯ นั้นได้มีการสวมกอดต่อนายปรีดีอย่างอาลัยและยังมี “เสียงไชโยก้องกังสดาลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งเรือโกล่าเคลื่อนออก ลับตาไป”
จากปารีสสู่กรุงเทพฯ : ผลงานหลังการเนรเทศของนายปรีดี
ราว 5 เดือนหลังการเนรเทศนายปรีดีทางพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทวงคืนประชาธิปไตยจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 กระทั่งนายปรีดีได้กลับสู่มาตุภูมิในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2476 จากท่าเรือมาแซลส์ เรือเดินสมุทรฮาโคนีมารู ที่พานายปรีดี และท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เดินทางจากปารีสกลับถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2476
ณ ท่าน้ำวังบางขุนพรหม มีการต้อนรับนายปรีดี โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรัฐบาลฯ มารอรับพร้อมกับภรรยา ประชาชน และลูกศิษย์บางคนนำพานายปรีดีไปยังวังปารุสกวันเพื่อพบกับพระยาพหลพลฯ และนายปรีดียังได้สนทนากับนักเรียนกฎหมายโดยมีใจความสำคัญซึ่งสะท้อนปณิธานการทำงานหลังจากนี้ของท่านว่ามีความมุ่งมั่นมากที่จะ “รักษารัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงถาวร”
หากผลงานแรกของนายปรีดีหลังการกลับมาจากการถูกเนรเทศคือได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีบทบาทนำเสรีไทยในประเทศ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโสจวบจนได้ทำตามปณิธาน “รักษารัฐธรรมนูญไว้ให้มั่นคงถาวร” ดังที่สนทนากับนักเรียนกฎหมายครั้งนั้นด้วยการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ขึ้นซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการกล่าวถึงว่ามีลักษณะส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์มากที่สุดในช่วงทศวรรษ 2500
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 : ผลงานสำคัญตามหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ของนายปรีดี และคณะราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2488 โดยนายปรีดีซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีเวลานั้นว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ที่ใช้กันอยู่นั้นเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วจึงมีการเสนอญัตติด่วนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ควรแก้ไขเพิ่มเติมประการใดบ้าง ต่อมาในรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อรวบรวมและเรียบเรียงบทบัญญัติที่เสนอไว้ขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ
จากนั้นจึงมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระแรก เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 7 นาย เช่น พระยามานวราชเสวี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายดิเรก ชัยนาม และ นายทองเปลว ชลภูมิ ในรายงานของคณะกรรมการวิสามัญเสนอให้ความคิดเห็นที่สอดรับกันว่ามีความสมเหตุสมผลที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่
- ให้ยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง
- ยกเลิกบทบัญญัติซึ่งกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์อยู่เหนือการเมือง
- กำหนดให้อำนาจนิติบัญญัติมีสองสภา คือสภาอาวุโส และสภาผู้แทน
- สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง
- สภาอาวุโสประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรได้เลือกตัวแทนของตนมาทำการเลือกตั้ง
- คณะรัฐมนตรีนั้นพระมหากษัตริย์แต่งตั้ง โดยประธานสภาผู้แทน และประธานสภาอาวุโส เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่บุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีนั้น ไม่จำต้องเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกสภาอาวุโส จะเป็นข้าราชการประจำมิได้
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีมติแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระต่อไปจำนวน 15 นาย โดยมีนายปรีดีเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ เมื่อเข้าสู่การอภิปรายในวาระที่ 3 ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2489 มีข้อปรึกษาสำคัญกันว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้น สมควรประกาศใช้ฯ ได้หรือไม่โดยมีการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาประชุมฯ ครั้งนี้ จำนวน 172 ราย ดังต่อไปนี้ มีผู้เห็นชอบด้วยกันกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำนวน 165 ราย มีผู้ที่ไม่ออกเสียงจำนวน 6 ราย และมีผู้ไม่เห็นชอบด้วย 1 ราย คือหลวงกาจสงคราม เมื่อสิ้นเสียงสรุปคะแนนการลงมติของประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้วนายปรีดี นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าขอถือโอกาสขอบคุณท่านสมาชิกฯ ทั้งหลายในการที่ได้ลงมติกันเป็นส่วนมาให้รัฐธรรมนูญนี้ได้ผ่านไปด้วยดี และขอบคุณผ่านกรรมาธิการทั้งหลายที่ได้กระทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อย บัดนี้ รัฐธรรมนูญฉะบับใหม่ก็จะได้ประกาศใช้แล้ว ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสฝากความคิดบางประการต่อท่านทั้งหลายว่า ขอให้ทุกท่านพึงระลึกว่า รัฐธรรมนูญนี้จะได้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งผูกมัดเราทั้งหลายให้มีความสามัคคีกันเพื่อประโยชน์ของชาติ…”
ความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือปรากฏอุดมคติเรื่องหลักการประชาธิปไตยสมบูรณ์ และประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคีธรรมของนายปรีดีครั้งแรกทั้งจากการร่างรัฐธรรมนูญฯ และสุนทรพจน์ของนายปรีดี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นแนวคิด หลักการ และมุมมองของระบอบประชาธิปไตย หลัง พ.ศ. 2475 ของนายปรีดีไว้ด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ของไทยที่ตราขึ้นเป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ของปีเดียวกันโดยในมุมมองทางวิชาการต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง การให้ชนชั้นนำกลับเข้ามามีบทบาททางการเมือง เรื่องพฤฒสภา รวมถึงเสนอว่าเป็นจุดตั้งต้นของระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญครั้งใหม่
ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง
ชีวิตของนายปรีดีหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 เริ่มผันผวนจากหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดขึ้น พร้อมข้อกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ที่ยังตกค้างได้สร้างความคลางแคลงใจ กระทั่งเกิดการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ส่งผลให้นายปรีดีต้องลี้ภัยเอาตัวรอดจากเผด็จการทหาร และจำต้องลี้ภัยอย่างถาวรหลังขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นั้นล้มเหลว นายปรีดีมุ่งหน้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ภายใต้ความระส่ำระสายของชีวิตนายปรีดียังมีกัลยาณมิตรคู่ชีวิตคือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และครอบครัวแบ่งเบาความทุกข์ร้อนให้เบาบาง
จากบทสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข ในหนังสือปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง สะท้อนให้เห็นความลำบาก ณ ช่วงที่ลี้ภัยและการประคับประคองระหว่างกันขณะเวลานั้นว่าในห้วงยามแห่งความทุกข์ยาก นายปรีดีกลับได้รับความช่วยเหลือไม่ขาดห้วง
“ตอนนั้น (หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 — ผู้เขียน) หลบไปอยู่ที่สัตหีบแล้วก็ไปอยู่สิงคโปร์ ตอนนั้นต่างประเทศยังไม่รับรองรัฐบาลชุดใหม่…จะว่าลำบากก็ลำบากค่ะ เพราะต้องพลัดพรากจากกัน แต่เป็นคนตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ ท่านอาจารย์นี่ไม่ทราบว่ามีอะไรไปที่ไหนก็ได้รับการช่วยเหลือตลอดไป จะเรียกว่าเป็นเพราะมีความสามารถอย่างเดียวคงไม่ได้ ที่รอดพ้นอันตรายมาอาจเป็นเพราะเราไม่เคยสร้างบาปกรรมอะไรไว้นะ ไปที่ไหนคนเขาก็ให้ความเมตตาช่วยเหลือ…”
ท่านผู้หญิงพูนศุขยังเล่าถึงแง่มุมส่วนตัวของนายปรีดีและงานอดิเรกที่ไม่ค่อยมีใครทราบมากนักนอกจากคนชิดใกล้ไว้ว่า
“(ตอนลี้ภัยในจีน — ผู้เขียน)...เราก็มีพื้นเพเป็นคนสมถะอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นพวกที่หรูหราฟุ่มเฟือย จีนเขาเป็นอย่างไรเราก็เข้ากับเขาได้ ไม่แต่งตัวเราก็ไม่แต่ง ปากเราก็ไม่ทา รู้สึกว่าอยู่ได้ ปกติโขนหนังเราก็ไม่ได้ดู ก็ไม่แปลกอะไร รัฐบาลเขาก็ให้เกียรติเราดี อาจารย์เอง (นายปรีดี — ผู้เขียน) ก็เป็นคนสมถะ ประหยัดมาก เสื้อผ้านี่มีน้อยมาก ไม่สนใจเรื่องแต่งตัวเลย มีอยู่ชุดหนึ่งที่ท่านใช้มาตั้ง 40 ปี แล้วก็ยังใช้อยู่ เวลาออกงานไปไหนก็เอามาใส่”
ส่วนงานอดิเรกของนายปรีดีในช่วงลี้ภัยยังสาธารณรัฐประชาชนจีนนอกจากการเขียนและอ่านตำราแล้วยังชอบทำกับข้าว
“ต้นไม้ ไม่ค่อยชอบหรอกค่ะ แต่ชอบทำกับข้าว เข้าครัวตอนอยู่เมืองจีน ของไม่มีเอาไอ้นั่นแทนไอ้นี่แทน…แหม…ของที่ใช้แทนกันแต่ละอย่างนี่ต้องมีเหตุผลทั้งนั้นนะคะ ก็ที่ปักกิ่งน่ะไม่มีพวกเครื่องแกงอะไรหรอกแต่ท่านก็ทำได้สารพัดเครื่องแกง ไม่มีของแท้สักอย่างก็ทำได้”
ต่อมาใน พ.ศ. 2513 นายปรีดีได้เดินทางจากจีนมายังปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 และพำนักอยู่จนถึงแก่อสัญกรรม รวมเวลาที่นายปรีดีลี้ภัยทางการเมืองทางการเมืองในปารีส ประมาณ 13 ปี
ความผกผันของชะตากรรมและเกมการเมืองจากจีนสู่ปารีสราว 36 ปี ของนายปรีดี กลับได้สร้างคุณูปการทางความคิดและแรงบันดาลใจในต่างแดนทั้งการเผยแพร่ความคิดผ่านงานเขียนและการเผยแพร่ความรู้สู่การบรรยาย จากการได้พบปะสนทนากับนิสิตนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการ และมิตรผู้มาเยือนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตราบจนวาระสุดท้ายที่ถึงแก่มรณกรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 11.45 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ด้วยอาการหัวใจวายบนโต๊ะทำงาน ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะมีอายุราว 83 ปี และใกล้ครบรอบวันเกิดของนายปรีดี ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
3 ปี ภายหลังการอสัญกรรมของนายปรีดี ในเช้าตรู่ของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 จึงมีการนำอัฐิธาตุนายปรีดีกลับสู่มาตุภูมิโดยท่านผู้หญิงพูนศุขให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดีไว้ว่า
“ครั้งแรกก็ตั้งใจว่าเมื่อสัจจะปรากฏก็จะเชิญกลับมา แต่คิดดูก็รู้สึกว่า สัจจะได้รับการยอมรับมากแล้ว เดี๋ยวนี้คนก็รู้เรื่องกันมากจะให้ยอมรับทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะสำหรับคนที่ไม่ยอมรับต่อให้ศตวรรษเขาก็ไม่ยอมรับ ก็คิดว่าสมควรเชิญกลับมาประเทศได้แล้ว”
ขณะที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวถึงมุมมองของบุตรนายปรีดีเรื่องการเชิญอัฐิธาตุกลับมายังประเทศไทยในปาฐกถาสารโกมลของตน ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของท่านผู้หญิงพูนศุขข้างต้นว่า
“เราเห็นกันว่าตอนนี้ สัจจะคุณพ่อได้ทำให้กับบ้านเมืองได้ปรากฏมากแล้ว คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวที่ถูกต้องของท่านมากขึ้น แต่ที่จะให้ทุกคนยอมรับในสัจจะอันนี้ แล้วถึงเชิญกลับมานั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนที่ปิดหูปิดตาไม่ยอมรับนั้น แม้จะใช้เวลาอีกนานก็คงไม่ยอมรับ เราจึงเห็นว่าควรเชิญอัฐิธาตุคุณพ่อกลับประเทศไทยได้แล้ว”
การเชิญอัฐิธาตุของนายปรีดี รัฐบุรุษอาวุโสมาจากบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 และมาถึงสนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นได้มีงานต้อนรับอัฐิธาตุทั้งในกรุงเทพฯ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งท่านเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก และที่บ้านเกิดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ นั้นสมดังความตั้งใจของนายปรีดีที่เคยกล่าวกับนายสุภา ศิริมานนท์ มิตรทางความคิดและนักหนังสือพิมพ์อาวุโสไว้ว่า
“ตนเองเพิ่งเดินทางกลับจากปารีสเมื่อวันที่ 28 เมษายน และได้พูดคุยกับนายปรีดี ก่อนจะมรณกรรมไม่กี่วัน ท่านได้แสดงความห่วงใยประเทศไทย และประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างมาก ตัวท่านเองนั้นเคยสั่งเสียไว้ว่า เมื่อท่านมรณกรรม ให้เผาศพท่านที่ปารีส แล้วเก็บอัฐิกลับมาบรรจุไว้ที่วัดพนมยงค์ อยุธยา ซึ่งเป็นวัดต้นตระกูลของท่าน”
ภายในงานต้อนรับอัฐิธาตุของนายปรีดีทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการแสดงปาฐกถาธรรมโดยท่านปัญญานันทภิกขุ มีงานเสวนา มหรสพ การแสดงละคร และมีนิทรรศการชีวประวัติย่อของนายปรีดีนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานถึงนายปรีดีอย่างเป็นทางการและได้เผยแพร่ภาพลักษณ์ของรัฐบุรุษอาวุโสเชิงบวกครั้งแรกๆ จากความคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานร่วมกับมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ โดยมีกำหนดการบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานอัฐิธาติ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 ดังนี้
“กำหนดการบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุประทานอัฐิธาตุ
รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์
วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | เชิญอัฐิธาตุจากบ้านในประเทศฝรั่งเศส |
วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 06.50 น. อัฐิธาตุถึงสนามบินดอนเมือง (เที่ยวบิน ทีจี 93) 07.30 น. เชิญอัฐิธาตุขึ้นรถไปประดิษฐาน ณ เรือนไทย บริเวณอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ จ. พระนครศรีอยุธยา เจ้าภาพทอดผ้ามหาบังสกุล 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล 14.00 น. ปาฐกถาธรรมแสดงโดยพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) แสดงนิทรรศการ ฉายสไลด์ชีวิตและงานของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ณ เรือนไทย พิพิธภัณฑ์ 19.00 น. ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก |
วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลพระวัดพนมยงค์ 16.30 น. สวดพระพุทธมนต์ 17.30 น. อภิปราย ณ บริเวณอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ โดยปรีชา สุวรรณทัต ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ ธรรมเกียรติ กันอริ แล ดิลกวิทยรัตน์ 19.00 น. มหรสพฉลองอัฐิธาตุ |
วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 10.00 น. สมเด็จพระสังฆราช ทรงเปิดอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล 13.00 น. สมเด็จพระสังฆราช เสด็จนำขบวนเชิญอัฐิธาตุเข้ากรุงเทพฯ 15.00 น. เชิญอัฐิธาตุประดิษฐาน ณ ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีทอดผ้าบังสกุล |
วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 16.00 น. ปาฐกถาธรรม แสดงโดยพระราชวรมุนี |
วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 | 08.30 น. วางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ 10.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล เสร็จแล้วบังสกุล 13.30 น. เชิญอัฐิธาตุขึ้นรถไปลอยที่อ่าวไทย |
หมายเหตุ : ระหว่างที่อัฐิธาตุประดิษฐานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดให้บุคคลทั่วไปเคารพอัฐิธาตุพร้อมทั้งมีนิทรรศการ ฉายสไลด์ชีวิตและงาน และภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกตลอดงาน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
เจ้าภาพ”
การนำอัฐิธาตุของนายปรีดีกลับไทยได้ถูกเสนอข่าวในวงกว้างทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และรายการข่าวทางโทรทัศน์ว่ามีประชาชน และนิสิตนักศึกษามางานรับอัฐิธาตุของนายปรีดีอย่างล้นหลามสะท้อนถึงซึ่งสัจจะของสัตบุรุษที่ได้คืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างสง่างาม ท้ายที่สุดนี้ขอน้อมรำลึกถึงนายปรีดี พนมยงค์ จากบทกวีแด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโสของอังคาร กัลยาณพงศ์ ที่เขียนขึ้นเนื่องในวาระอสัญกรรมของนายปรีดี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526
แด่ท่านรัฐบุรุษอาวุโส
๑ ๏ อโหโอ้อนาถมฤตยู
จู่ปรหล้ามาล่าแล้ว
ซึ่งปูชนียบุคคลแก้ว
แววรุ้งรัตนาค่าชาติไทย ๚
๒ ๏ พณฯ ท่านปรีดี พนมยงค์
องค์กายทิพย์สถิตสวรรค์ชั้นไหน
ณ ชั้นนั้นเทวษหาโศกาลัย
ม้วยสมัยก็ไม่ม้วยอัญชลี ๚
๓ ๏ น้อมมิ่งขวัญกตัญญูกู้กล้า
นิมิตปัญญาเลิศประเสริฐศรี
บูชาคุณค่าอมตะความดี
คู่ปฐพีน้ำฟ้าบ่าธรรมะไป ๚
๔ ๏ สยามฟื้นคืนสิทธิ์อิสระเสรี
มีอธิปไตยจริงอันยิ่งใหญ่
เพราะท่านแก้สนธิสัญญาไทย
แจ่มใสวิเศษสุขทุกวิญญาณ ๚
๕ ๏ ปราชญ์เปรื่องเลื่องลือเกียรติยศ
อุโฆษหมดทั่วหล้ามหาสถาน
เอกราชชาติย่อยยับอัประมาณ
ท่านกู้สถานการณ์ไว้จับใจ ๚
๖ ๏ รัฐบุรุษวิสุทธิ์ศรีชีวิต
แววสถิตกลางดวงใจแห่งสมัย
เสมอบุหงาหอมอ้อมทุกขวัญไทย
เร่งแรงใจถึงชัยอุดมการณ์ ๚
๗ ๏ แผ่นดินสิ้นคนดีศรีอยุธยา
ยากจักหาตราบฟ้าอวสาน
วิปโยคยุคมืดทมิฬมาร
นานสุดนานทรมานชาติอนาถนัก ๚
๘ ๏ สิ้นท่านสิ้นหวังหมดขลังแล้ว
ลับบุรุษแก้วที่กู้เกียรติศักดิ์
เผด็จการจะผลาญชาติที่รัก
จมปลักงั่งบ้าแต่อาดูร ๚
๙ ๏ ราวเอกรุ้งดาราระย้าระยับ
มาดิ่งดับผลึกรุ้งวาวสูญ
สะเทือนใจไหวหวั่นไว้เทอดทูน
ค่ามนุษย์แท้ทนพิษอนิจจํ ๚
๑๐ ๏ ขออำนาจพระศรีรัตนไตร
โอมอวยสิทธิชัยวิเศษขลัง
ให้ท่านผ่านมิติทิพย์จีรัง
ยั่งยืนอยู่คู่ฟ้าดินเทอญ ๚ะ๛
อังคาร กัลยาณพงศ์
พฤษภาคม ๒๕๒๖
ภาคผนวก : ภาพถ่ายสำคัญในช่วงวาระสุดท้ายของนายปรีดี พนมยงค์ พร้อมคำบรรยายโดยละเอียด
ภาพงานอสัญกรรม ณ ฌาปนสถาน แปร์ ลาแชส กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ภาพงานอัฐิธาตุของนายปรีดี พนมยงค์ วันที่ 7-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
ที่มาของภาพ : ราชกิจจานุเบกษา, สถาบันปรีดี พนมยงค์, หอจดหมายเหตุแห่งชาติ คลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ และหนังสือที่ระลึกวันปรีดี 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2531-2544
บรรณานุกรม
เอกสารชั้นต้น :
- ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 1-4.
- ราชกิจจานุเบกษา, คำแถลงการณ์ของรัฐบาล, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 เมษายน 2476, เล่ม 50, หน้า 7.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 วันที่ 10 มีนาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 1518-1536.
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 วันที่ 28 ตุลาคม พุทธศักราช 2476 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 630-631.
- ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 10 พฤษภาคม 2489, เล่ม 63, ตอนที่ 30, หน้า 118-168.
หนังสือพิมพ์ :
- กรุงเทพวารศัพท์, 4 ตุลาคม พ.ศ. 2476
- กรุงเทพวารศัพท์, 5 ตุลาคม พ.ศ. 2476
หนังสือภาษาไทย :
- โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”, มิตรกำสรวล เนื่องในมรณกรรมของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526).
- ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535).
- ปรีดี พนมยงค์, เค้าโครงการเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2552).
- ดุษฎี พนมยงค์, ปรีดี พนมยงค์ กับชีวิต 21 ปีในจีน (กรุงเทพฯ: มติชน, 2555).
- สันติสุข โสภณสิริ บรรณาธิการ, ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง (กรุงเทพฯ: อักษรสาส์น, 2529).
- วาณี พนมยงค์ บรรณาธิการ, 101 ปี ปรีดี-90 ปี พูนศุข (กรุงเทพฯ: ปาปิรุส พับลิเคชั่น, 2545).
- ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: บพิธการพิมพ์, 2526).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน เผชิญวิกฤติทางการเมือง, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ประวัติรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตอน จากปารีสถึงกรุงเทพฯ, (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2516).
- สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีหนี (กรุงเทพฯ: โครงการหนังสือประวัติศาสตร์การเมือง สำนักพิมพ์ “จิรวรรณนุสรณ์”, 2527).
- ศุภมิตร ปิติพัฒน์, จุดเริ่มต้นสถาปนา “การปกครองประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2563).
วิทยานิพนธ์ :
- ชวลิต ทรงกิตติ, “การต่อสู้ทางการเมืองของ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2475-2490),” (วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530).
สื่ออิเล็กทรอนิกส์ :
- นริศ จรัสจรรยาวงศ์, (12 เมษายน พ.ศ. 2564), ปรีดีนิราศ ปรีดีนิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๖.
- ปรีดี พนมยงค์. ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปี ที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน.
- พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม, (14 มิถุนายน พ.ศ. 2563), ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรที่มีผลต่อหนังสือพิมพ์.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์, (2 พฤษภาคม 2563). เนื่องในวันมรณกรรมของปรีดี พนมยงค์ 2 พฤษภาคม 2526.
- สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2 พฤษภาคม 2565). 2 พฤษภาคม 2526 รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม.
- วันปรีดี พนมยงค์
- ปรีดี พนมยงค์
- รวินทร์ คำโพธิ์ทอง
- ปรีดีนิวัติ สัจจะคืนเมือง
- พูนศุข พนมยงค์
- หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
- สมุดปกเหลือง
- พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- คณะราษฎร
- สมุดปกขาว
- คอมมิวนิสต์
- ประชาธิปไตย
- พระยาพหลพลพยุหเสนา
- พระยามานวราชเสวี
- หลวงศุภชลาศัย
- หลวงพิบูลสงคราม
- แนบ พหลโยธิน
- ตั้ว ลพานุกรม
- หลวงเดชสหกรณ์
- พระยาฤทธิอัคเนย์
- พระประศาสน์พิทยายุทธ
- หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
- คึกฤทธิ์ ปราโมช
- ดิเรก ชัยนาม
- ทองเปลว ชลภูมิ
- หลวงกาจสงคราม
- สุลักษณ์ ศิวรักษ์
- จินดา ศิริมานนท์
- สุภา ศิริมานนท์
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
- มูลนิธิปรีดี พนมยงค์
- อังคาร กัลยาณพงศ์
- วาณี สายประดิษฐ์
- วาณี พนมยงค์
- สุดา พนมยงค์
- ศุขปรีดา พนมยงค์
- ดุษฎี พนมยงค์
- สันติสุข โสภณสิริ
- ไสว สุทธิพิทักษ์
- สุพจน์ ด่านตระกูล
- ศุภมิตร ปิติพัฒน์
- ชวลิต ทรงกิตติ
- นริศ จรัสจรรยาวงศ์