Focus
- บทความนี้เสนอเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์ และอนุสาร อ.ส.ท. โดยผู้เขียนนำเสนอข้อมูลใหม่ว่าก่อนหน้าที่นายปรีดีจะถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เพียงไม่นานได้มีผู้นำ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 เป็นฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยามาให้ และนายปรีดีอ่านอย่างละเอียด
- ข้อสังเกตประการสำคัญคือ การที่ผู้จัดทำ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับดังกล่าวบอกเล่าถึงนายปรีดีว่าได้อ่านนิตยสารฉบับนี้ด้วยความภาคภูมิใจนั้น สะท้อนภาพลักษณ์ของนายปรีดีต่อสังคมไทยหลังการอสัญกรรมว่าเป็นไปในทางแง่บวกโดยที่สื่อสิ่งพิมพ์ยอดนิยมในยุคนั้นและยังเป็นผลิตผลของสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้กล่าวถึงหัวหน้าสายพลเรือนของคณะราษฎรย่อมแสดงให้เห็นพลวัตของการมองผู้นำทางการเมืองกลุ่มคณะราษฎรและการอภิวัฒน์ 2475 ณ เวลานั้น
- จุดเด่นของบทความนี้คือ ผู้เขียนอ่านอนุสาร อ.ส.ท. และหนังสือที่ระลึกของ อ.ส.ท. อย่างละเอียดในคอลัมน์สำคัญพร้อมทั้งเกร็ดประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยผสานเข้ากับชีวิตบั้นปลายของนายปรีดี พนมยงค์ ณ บ้านอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส
กระแสข่าวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จะซื้อบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นที่พำนักหรือเป็นบ้านหลังสุดท้ายของ นายปรีดี พนมยงค์ มันสมองของคณะราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 7 และรัฐบุรุษอาวุโส ได้สร้างความตื่นตัวและเป็นที่สนใจของสาธารณชนในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง
กระทั่งในที่สุด นายธนาธร ก็กลายเป็นเจ้าของบ้านอองโตนีหรือบ้านเลขที่ 25 ถนนเรย์มงด์ อารง (Rue Raymond-Aron) จริงๆ โดยเขาตัดสินใจซื้อมาในราคาประมาณ 1.6 ล้านยูโร หรือราว 63,788,000 บาท
ควรกล่าวด้วยว่า เมื่อครั้ง นายปรีดี ยังมีชีวิตอยู่นั้น ที่ตั้งของบ้านอองโตนียังเป็นบ้านเลขที่ 173 ถนน Aristide Briand หากในเวลาต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงทั้งบ้านเลขที่และชื่อถนนเสียใหม่
ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน มีกิจกรรมการเปิดบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีสขึ้น ดังวันที่ 18 พฤษภาคม นายธนาธร แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เขาตั้งใจจะบูรณะบ้านหลังนี้โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่
- เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย และชีวิตของปรีดี พนมยงค์ สำหรับทั้งชาวไทยและชาวฝรั่งเศส
- เพื่อเปิดเป็นที่พักสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ และอยากสัมผัสบรรยากาศของบ้าน ซึ่งจะนำรายได้ส่วนนี้มาใช้ในการดูแลบ้าน
- เพื่อเปิดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ศิลปะ รวมถึงวิทยาศาสตร์ สำหรับคนไทยและนักเรียนไทยในทวีปยุโรป
นายธนาธร ยังเน้นย้ำอีกว่า บ้านหลังนี้ไม่ควรเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หากวันใดถึงเวลาที่เหมาะสม เขายินดีมอบบ้านหลังนี้ให้กับรัฐบาลและประชาชนชาวไทย โดยไม่คิดกำไรเลย เพื่อให้บ้านอองโตนี ซึ่ง นายปรีดี เคยพำนักพักอาศัยได้เป็นมรดกอันน่าภาคภูมิใจของชาติไทย
ช่วงเวลาใกล้ ๆ กับที่มีกิจกรรมการเปิดบ้านอองโตนี บรรณาธิการนาม ธนาพล อิ๋วสกุล ได้ตั้งข้อสอบถามไว้ผ่านทางหน้าเฟสบุ๊กเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 เกี่ยวกับ อนุสาร อ.ส.ท. ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ธนาพลกล่าวว่าเขาเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้จัดทำสิ่งพิมพ์นี้ที่บอกเล่าถึงความภาคภูมิใจว่าก่อนหน้า นายปรีดี พนมยงค์ จะถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ไม่นาน ได้มีผู้นำ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับดังกล่าวมาฝากที่บ้านอองโตนี และเมื่อ นายปรีดี อ่านแล้วถึงกับน้ำตาไหล
ธนาพลคาดเดาว่าผู้ที่นำ อนุสาร อ.ส.ท. มามอบให้นั้น น่าจะเป็น สุภา ศิริมานนท์ และภรรยาคือ จินดา ซึ่งเพิ่งเดินทางจากเมืองไทยมาเยี่ยมเยียน นายปรีดี ที่ฝรั่งเศสเมื่อกลางเดือนเมษายน พ.ศ.2526 หลังจากมิได้พบเจอกันยาวนานกว่า 34 ปี สุภาและจินดาพักอยู่ที่บ้านอองโตนีร่วมกับครอบครัวของนายปรีดีราวสองสัปดาห์ ก่อนจะเดินทางกลับเมืองไทยช่วงปลายเดือนเมษายน
ธนาพลจึงอยากทราบว่ามีใครเคยอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้บ้าง และเป็นบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือฉบับใด
ทันทีที่ผมเห็นข้อสอบถามของ ธนาพล ก็พลันหวนนึกถึงการนำเสนอเรื่องนี้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางและภูมิศาสตร์การเมืองในรอบศตวรรษ: ว่าด้วยการท่องเที่ยว ในฐานะมรดกแห่งการสร้างชาติของรัฐไทย จากรัฐจารีต สงครามเวียดนาม สู่ยุครัฐประหาร 2549 (On Thai Tourism) ผลงานของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ซึ่งมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า
“ปี 2543 ยังถือว่าเป็นการครบรอบ 40 ขวบปีของ อนุสาร อ.ส.ท. ได้มีการรวบรวมความทรงจำบรรจุไว้ในฉบับพิเศษ ครบรอบ 50 ปี ในฉบับสิงหาคม 2543 ฉบับนี้ได้แสดงมุมมองหวนรำลึกกลับไปสู่จุดเดิมว่า อนุสาร อ.ส.ท. มีบทบาทในประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของความเป็นไทย เช่น การที่ทหารที่ไปรบในสงครามอินโดจีนบริเวณกัมพูชาและลาว หรือบริเวณชายแดน เมื่อได้รับ อนุสาร อ.ส.ท. ก็จะรีบอ่านด้วยความรู้สึกคิดถึงบ้าน มีหนังสือเป็นสื่อให้ได้รับรู้เรื่องเมืองไทยผ่านภาพถ่ายในหน้าหนังสือ ที่น่าสนใจคือ การที่ อนุสาร อ.ส.ท. ได้ให้ความหมายว่า หนังสือนี้เป็นหนังสือฉบับสุดท้ายที่ท่านปรีดี พนมยงค์ อ่าน ก่อนอสัญกรรมได้เพียง 1 วัน ณ กรุงปารีส อนุสาร อ.ส.ท. เล่มนั้นเป็นฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอันเป็นบ้านเกิดของท่าน โดยเล่าอย่างน่าสะเทือนใจว่า ท่านใช้เวลาตลอดบ่ายจนเย็นวันนั้น อ่านด้วยความคิดถึงบ้านเกิดที่ต้องจากไปตลอดมา อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับดังกล่าวได้รับการจัดเก็บและจัดแสดงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จนถึงบัดนี้”
ครั้นตรวจสอบการอ้างอิงของ ภิญญพันธุ์ แล้ว ก็พบว่าอ้างมาจาก อนุสาร อ.ส.ท. ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 แต่เมื่อผมไปตามอ่านดูในอนุสารฉบับดังกล่าวตลอดทั้งเล่ม ก็ไม่พบว่ามีรายละเอียดเรื่องนี้เลย จนสร้างความฉงนให้กับผมมิใช่น้อย พอลองมาตรวจดูการอ้างอิงของ ภิญญพันธุ์ เข้าอีกหนจึงถึง บางอ้อ!
นั่นเพราะเรื่องราวที่ว่านายปรีดีอ่าน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หาได้ปรากฏอยู่ในอนุสารนี้ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจุลสารที่แถมแนบมาในเล่มของอนุสาร คือ คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท.
ปัญหาสำคัญประการต่อมาคือ ใน อนุสาร อ.ส.ท. ประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2543 ที่ทางหอสมุดต่างๆจัดเก็บไว้นั้น ไม่พบว่ามี คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท. แนบอยู่ด้วย ซึ่งทำให้รู้สึกใจแป้วต่อการสืบค้นพอสมควร
โชคดีเหลือเกินที่เมื่อผมลองสอบถามจากบรรณารักษ์ของหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คือ ผจงรักษ์ ซำเจริญ และ รตยา พนมวัน ณ อยุธยา จึงทราบว่าทางหอสมุดมีจุลสาร คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท. เพียงแต่แยกส่วนออกมาจัดเก็บไว้ มิได้แทรกแนบไว้กับตัวเล่ม อนุสาร อ.ส.ท.
คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท. มีจำนวนทั้งสิ้น 17 หน้า ข้อมูลทั้งหมดในจุลสารนี้รวบรวมโดย อัมพร จิรัฐติกร
หน้าปกของจุลสารนั้นถอดแบบมาจากหน้าปกของ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแรกสุดหรือฉบับปฐมฤกษ์ที่ออกเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 อันเป็นภาพพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เมื่อพลิกเข้าไปข้างในจะพบกับข้อเขียนเรื่อง “จากวันนั้นถึงวันนี้ ๔๐ ปี อนุสาร อ.ส.ท.” ที่ว่า
“หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ ๔๐ ปีก่อน คนกลุ่มเล็กๆ ในองค์กรของรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ในนามองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ให้กำเนิดวารสารรายเดือนเล่มเล็ก ๆ ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ใช้ชื่อย่อขององค์กรเป็นชื่อหนังสือว่า “อนุสาร อ.ส.ท.” เป็นหนังสือขนาด ๘ หน้ายก หนาเพียง ๔๘ หน้า ปกพิมพ์สี่สี เนื้อในพิมพ์สีเดียว มียอดพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ตั้งราคาจำหน่ายไว้ฉบับละ ๑.๕๐ บาท วางตลาดฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓
แม้จะเป็นการท้าทายและเสี่ยงต่อความล้มเหลวเป็นอย่างยิ่งในยามนั้น เพราะแม้แต่เพียงคำว่า “ท่องเที่ยว” และองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อ.ส.ท.) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ในปีเดียวกัน ก็ยังเป็นคำใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยของผู้คนในยุคนั้น และคงไม่มีใครจะคาดคิดว่าองค์กรแห่งนี้จะเติบโตขึ้นจนกลายเป็นองค์กรที่สำคัญของประเทศชาติอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ท.ท.ท.) ในปัจจุบัน
แต่ด้วยวิสัยทัศน์อันยาวไกลของผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีผู้มีบัญชาให้ก่อตั้งองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้พลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการท่านแรก ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มที่จะจัดให้มีวารสารเพื่อเป็นสื่อบอกเล่าเรื่องราวของการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว และงานของ อ.ส.ท. ให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ อนุสาร อ.ส.ท. จึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีพลโท เฉลิมชัย จารุวัสตร์ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการท่านแรก พร้อมทั้งทีมงานยุคบุกเบิกอีกหลายท่าน ทำให้ อนุสาร อ.ส.ท. กลายเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว และพัฒนาเติบโตขึ้นจากฝีมือและการทุ่มเทแรงกายแรงใจ จิตวิญญาณ และแม้กระทั่งชีวิตของนักเดินทาง นักเขียน ช่างภาพ คนทำหนังสืออีกมากมายหลายรุ่น ซึ่งล้วนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ให้อนุสาร อ.ส.ท. เป็นนิตยสารรายเดือนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงยิ่งและหยัดยืนอย่างมั่นคงในปัจจุบัน
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ที่ท่านกำลังถืออยู่นี้ เป็นฉบับที่อนุสาร อ.ส.ท. มีอายุครบ ๔๐ ปีเต็มและกำลังขึ้นปีที่ ๔๑ กองบรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. จึงอยากจะพาท่านผู้อ่านรำลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ อีกครั้ง ด้วยการจำลองแบบปกอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับปฐมฤกษ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2503 นำมาเป็นปกคู่มือฉบับแถมนี้ พร้อมทั้งเรื่องราวย้อนอดีต ซึ่งอาจตัดตอนมาได้เพียงส่วนเสี้ยวของความเป็นไปใน ๔๐ ปีที่ผ่านมา”
รวมถึงข้อเขียนที่สำคัญคือ “๔๐ ปีของบทบาทอนุสาร อ.ส.ท. ต่อผู้อ่าน” ซึ่งมีเนื้อความว่า
“จากจำนวนพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่มในปีแรก จนเป็น ๒๐,๐๐๐ เล่มในปีที่สอง และเพิ่มเป็น ๖๐,๐๐๐ เล่มในช่วงสิบปีแรก สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของก้าวย่างแห่งการเติบโตของอนุสาร อ.ส.ท. ก็คือการเสนออรรถรสให้แก่ผู้อ่านอย่างครบครัน จาก ๔๘ หน้าในเล่มแรก จนมาเป็น ๑๖๔ หน้าในปัจจุบัน เรื่องราวของศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตไทย ธรรมชาติ และการผจญภัยไปยังที่ต่างๆ ล้วนได้รับการเสนอออกสู่สายตาผู้อ่านมาโดยตลอด เรื่องราวต่อไปนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทเล็กๆ ที่อนุสาร อ.ส.ท. มอบให้แก่ผู้อ่านตลอด ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา
อ.ส.ท. กับสงครามอินโดจีน คุณหญิงคณิตา เลขะกุล บรรณาธิการอนุสาร อ.ส.ท. ตั้งแต่ปีที่ ๕ จนถึงปีที่ ๓๔ เล่าว่า ในช่วงเวลาของสงครามอินโดจีน ตั้งแต่ห้วงทศวรรษ ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ทหารไทยจำนวนมากถูกส่งไปรบที่เวียดนาม และอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกส่งไปรักษาความปลอดภัยในเขตชายแดนลาวเขมร แทบทุกครั้งที่คุณหญิงคณิตาได้มีโอกาสเดินทางไปแถบชายแดนไทยในภาคอีสาน ก็จะได้รับคำบอกเล่าว่าอนุสาร อ.ส.ท. นั้น ถือเป็นของมีค่าอย่างยิ่ง หากทหารคนใดได้รับอนุสาร อ.ส.ท. ที่ส่งมาจากทางบ้าน ก็จะรีบอ่านด้วยความรู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงเมืองไทย และอนุสาร อ.ส.ท. ก็จะได้รับการส่งต่อกันไปรุ่นต่อรุ่น หากทหารชุดหนึ่งได้รับอนุญาตให้กลับบ้านก็จะทำการส่งอนุสาร อ.ส.ท. ให้กับรุ่นต่อไป เพื่อให้พวกเขาทหารหาญที่อยู่ไกลบ้านไกลแผ่นดินของตนได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของเมืองไทย ได้เห็นภาพบ้านเมืองของพวกเขาปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือ ซึ่งก็อาจจะทำให้ช่วยคลายความคิดถึงบ้านลงได้”
ในข้อเขียนนี้ ยังกล่าวถึงความคิดถึงบ้านของบุคคลอย่าง นายปรีดี พนมยงค์ อีกด้วย
“อนุสาร อ.ส.ท. กับท่านปรีดี พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ท่านต้องจากบ้านเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนโดยตลอด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นเวลา ๒๐ กว่าปีที่ท่านต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนของท่านไป ข่าวคราวเกี่ยวกับเมืองไทยที่ท่านได้รับรู้ก็เป็นเพียงจากเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ลูกหาที่แวะไปเยี่ยมเยียนคำนับท่าน และจากหนังสือต่างๆที่มีผู้ส่งไปให้จากเมืองไทย
ในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่อนที่ท่านปรีดี พนมยงค์จะถึงแก่อสัญกรรมได้เพียงหนึ่งวัน ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์เล่าว่าวันนั้นท่านปรีดีได้รับหนังสืออนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีผู้ส่งไปให้จากเมืองไทย ท่านจึงใช้เวลาตลอดบ่ายจนเย็นวันนั้น อ่านอนุสาร อ.ส.ท. เล่มนั้นด้วยความคิดถึงบ้านเกิดของท่านที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ท่านต้องจากไปตลอดห้วงเวลา ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา อนุสาร อ.ส.ท. จึงกลายเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่ท่านได้อ่านก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมในวันรุ่งขึ้น
ปัจจุบันอนุสรณ์ อ.ส.ท. เล่มดังกล่าวได้รับการเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ที่ห้องอนุสรณสถานผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ”
ดังนั้น คำถามของ ธนาพล อิ๋วสกุล เรื่องที่ นายปรีดี ได้อ่าน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนจะถึงแก่อสัญกรรมมาจากหนังสือหรือเอกสารใด ก็คงตอบได้ว่ามาจากจุลสาร คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท. นั่นแหละครับ
สำหรับ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 ซึ่ง นายปรีดี ได้อ่าน มีคณะผู้จัดทำคือ
พันเอกสมชาย หิรัญกิจ เป็นผู้ว่าการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา
นางคณิตา เลขะกุล เป็นบรรณาธิการ
นายปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ เป็นหัวหน้ากองวารสารท่องเที่ยว
นางสาวรำไพพรรณ แก้วสุริยะ เป็นหัวหน้างานวารสารภาษาไทย
นางสาววาสนา กุลประสูติ นางสาวดวงดาว สุวรรณรังสี และนางสาวรุ่งนภา ติณสูลานนท์ ประจำกองบรรณาธิการ
นางจันทนา ภูสุศิลปธร เป็นหัวหน้างานการตลาดวารสาร
นายสุธรรม ชมชื่น เป็นหัวหน้างานโสตทัศนูปกรณ์
นายนิพนธ์ ขำวิไล เป็นหัวหน้างานศิลปกรรม
นายสุดใจ รารักษ์ เป็นหัวหน้างานพิมพ์
นายนันทะ เจริญพันธุ์ และนายวีรชาติ บุณยศักดิ์ จัดรูปเล่ม
ด้วยความที่เป็นอนุสารฉบับมุ่งเน้นนำเสนอเรื่องราวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางคณิตา เลขะกุล จึงเสนอข้อเขียน “จากบรรณาธิการ” ไว้ว่า
อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับคืนเมษายนนี้ ภูมิใจที่จะแนะนำพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในโอกาสตรงกับเดือนที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นที่หนองโสนเมื่อ ๖๓๓ ปีก่อน ในปีพุทธศักราช ๑๘๙๓
พระนครศรีอยุธยา หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า กรุงเก่า เคยเป็นราชธานีของไทยนานถึง ๔๑๗ ปี มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาถึง ๓๓ พระองค์ ยังไม่มีราชธานีใดของไทยในแหลมทองที่จะมีอายุยืนนานเท่ากับพระนครศรีอยุธยานี้สักแห่งเดียว และดลอดระยะเวลาของการเป็นราชธานีนั้น จากหลักฐานทีชาวต่างประเทศผู้เคยเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยสมัยนั้นเขียนไว้เป็นภาษาต่าง ๆ จำนวนหลายร้อยเล่ม ได้กล่าวถึงสภาพของกรุงศรีอยุธยาในครั้งกระนั้นว่า เป็นเมืองที่ใหญ่โตมั่งคั่งสมบูรณ์ มีพ่อค้าต่างประเทศเข้ามาทำการค้าขายกันมาก บ้านเมืองสวยงาม มีพลเมืองคับคั่ง แต่แล้วได้ถูกข้าศึกเผาทำลายไปในคราวเสียกรุงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๓๑๐ ทรัพย์สมบัติ ผู้คน ช่างฝีมือ ถูกกวาดต้อนไปหมดสิ้นจนกรุงศรีอยุธยาเหลือแต่เมืองร้าง
อยุธยาปัจจุปัน แม้จะถูกทำลายจนเหลือแต่ซาก แต่โบราณสถานต่างๆ ทั้งในและนอกเกาะเมืองที่กรมศิลปากรกำลังบูรณะเป็นอุทยานประวัติศาสดร์ ก็ยิ่งใหญ่เหลือเกินแล้ว เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสมไว้ให้
แต่อยุธยาไม่ได้มีมรดกทางวัฒนธรรมเฉพาบริเวณอำเภอพระนครศรีอยุธยาแห่งเดียว อำเภอรอบนอกออกไปอีก ๑๕ อำเภอ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองนั้น ราษฎรส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพด้วยการทำนา ทำไร่ เมื่อผลผลิตลดลงหรือไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทำให้มีรายได้น้อยลง ชาวอยุธยาเหล่านั้นก็ได้อาศัยงานฝีมือซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่รับสืบทอดจากบรรพบุรุษมาเลี้ยงชีพเป็นรายได้เสริม ทั้งการจักสาน งานช่างสิบหมู่ การทำมีด ทำเครื่องดนตรี ฯลฯ
ท่านผู้อ่านที่สนใจจะชมชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนพลเมืองตามริมน้ำ และธรรมชาติแม่น้ำลำคลองที่ยังมีเอกลักษณ์ของไทย ไม่มีที่ไหนจะนำชมและประทับใจเท่าที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเลย
คณะผู้จัดทำขอขอบคุณ ร.ต. กิตติ ประทุมแก้ว ผู้ว่ราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยานายศักดิ์ ด่านชัยวิจิตร ประธานสภาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายดำรงค์ แก้วกุดั่น ที่ช่วยให้การจัดทำอนุลาร อ.ส.ท. ฉบับแนะนำพระนครศรีอยุธยาสำเร็จลงดังที่ท่านเห็น
เนื้อหาของ อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับนี้แสดงให้เห็นภาพของพระนครศรีอยุธยาหลากหลายด้านที่มากไปกว่าความเป็นเมืองทางประวัติศาสตร์และแหล่งโบราณสถานเท่านั้น รวมถึงมีภาพประกอบอันสวยงามจำนวนมาก เพื่อดึงดูดสายตานักอ่านทั้งหลาย
เฉกเช่น มีบทความเรื่อง “เมืองแห่งทุ่งราบและธัญญาหาร” ของ วิวัฒน์ชัย บุญยภักดิ์ ซึ่งแค่การเปิดฉากก็สะท้อนถึงความเป็นดินแดนที่เขียวขจี
คงจะไม่เป็นการเกินความจริงไปเลย หากจะขอเรียกขานขนานนามเมืองนี้ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ว่า “เมืองแห่งทุ่งราบและธัญญาหาร” เพราะเพียงแต่นั่งรถผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒ เข้าสู่อาณาเขตของเมืองนี้ก็จะพบกับท้องทุ่งที่แผ่ขยายไปไกลลิบจนจรดขอบฟ้า หากเป็นช่วงในฤดูกาลเพาะปลูกก็จะเห็นพรมธัญญาหารเขียวขจี ปกคลุมอยู่ทั่วทุ่งราบ และยิ่งได้มีซากหมู่โบราณสถานดูเด่นเป็นสง่าอยู่กลางทุ่งโล่งแล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่านั่นแหละเมืองที่ขนานนามถึง หรือ “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”
คณิตา เลขะกุล ยังเขียนบทความเรื่อง “อยุธยาปริทัศน์” เพื่อฉายให้เห็นเสน่ห์ของกรุงเก่า
ขณะที่ บัญชา วิทยสรณะ พยายามอธิบายถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเชื่อมโยงกับแม่น้ำสายสำคัญไว้ในบทความ “จากเจ้าพระยาถึงป่าสัก” ซึ่งมีคำโปรยชวนอ่านว่า
เจ้าพระยาและป่าสักสายน้ำสำคัญประดุจเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพื้นแผ่นดินของภาคเหนือและภาคกลางยังคงดินไหลผ่านไปเงียบๆ เหมือนไม่รับรู้ต่อเรื่องราวใดๆที่เกิดขึ้นและลับหายไป แต่หากหยดน้ำทุกหยดที่มารวมตัวกันเป็นสายน้ำจะสามารถบอกเล่าถึงทุกสิ่งที่ได้บังเกิดขึ้นบนสายน้ำและสองฟากฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของผู้คนที่ทุกข์เข็ญหรือสุขเกษมตลอดจนความรุ่งเรืองและล่มสลายของชุมชน บ้านเรือน ปราสาทราชวัง... บางทีเราอาจจะได้รับฟังเรื่องราวนับพันนับหมื่นเรื่องที่เกิดและดับลับหายไปกับสายน้ำและกาลเวลาที่ผ่านเลยไป... และนี่คือบันทึกบางตอนบนลำนำของลำน้ำสายนี้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน...
ต่อจากนั้น บัญชา ก็เปิดเรื่องอย่างน่าประทับใจด้วยสำนวนโวหารเชิงวรรณศิลป์ จนทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพพจน์และบังเกิดอารมณ์สุนทรีย์คล้อยตามตัวอักษร
เมษายนหมุนเปลี่ยนเวียนกลับมาเยือนอีกหนแล้ว พร้อมๆกับลมร้อนที่เริ่มโชยผ่านมาแผ่วๆ นี่เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า ฤดูร้อนกำลังมาถึงอีกครั้งหนึ่ง
หลายคนคงคิดถึงที่หลบลมร้อนแถวหาดทรายชายทะเลที่ลมระบึงพัดคลื่นทยอยเข้าซบหาดอยู่หยอยๆ บางคนคงคิดถึงภูเขาสีเขียวและน้ำตกสีใสที่ไหลโจนจากหน้าผาสูงกระทบแผ่นน้ำเบื้องล่างดังฉ่าฉาน ใครจะคิดถึงสายน้ำที่ให้ความฉ่ำเย็นเมื่อได้โผลงไปดำผุดดำว่ายบ้างไหมหนอ คิดถึงวันคืนที่บ้านริมน้ำซึ่งลมที่พัดผ่านทุ่งนาป่าข้าวได้หอบเอากลิ่นดินกลิ่นหญ้า กลิ่นหอมเจือจางของบัวริมฝั่งที่ออกดอกระดะ และกลิ่นคาวเฉพาะตัวของแม่น้ำมาฝาก ขณะที่เราเพลิดเพลินอยู่กับการจุ่มเบ็ดตกกุ้งตกปลาที่แพริมน้ำอย่างเบาสบายใจ
ในวันเวลาที่บ้านเมืองได้พัฒนาก้าวหน้าไป ถนนอันเป็นเส้นทางสัญจรเป็นวิถีชีวิตใหม่ก็ถูกสร้างเพิ่มเติมขยายแนวออกไป และสอดประสานกันราวกับตาราง เรากลับถูกทำให้ห่างเหินไปจากสายน้ำอันเป็นเส้นธารชีวิตสายเดิมจนแทบจะลืมไปว่า ครั้งหนึ่งเราได้ใช้ชีวิตและแนบสนิทอยู่กับแม่น้ำลำคลองมานานแสนนาน
และนี่คือบันทึกบางตอนบนลำนำของลำน้ำสำคัญสองสาย... เจ้าพระยาและป่าสัก...ในวันที่เราหวนกลับไปสืบค้นร่องรอยเรื่องราวและภาพร่างแต่เก่าก่อนบนวงจรชีวิตที่กว้างใหญ่และยาวไกลของแม่น้ำสำคัญสองสายนี้
ยังมีบทความ “ศิลปอยุธยา” ของ เสนอ นิลเดช และ “โบราณสถานในเกาะกรุงเก่า” ของ บังอร กรโกวิท ที่เชื้อเชิญให้ผู้อ่านร่วมสัมผัสทั้งศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมอันงดงามที่ปรากฏอยู่กับแหล่งโบราณสถานต่างๆในพระนครศรีอยุธยา
หรือเรื่อง “พุทธศิลปรอบนอกเกาะเมือง” ของ สงวน รอดบุญ ที่มีคำโปรยว่า
พุทธสถานอันโรยร้างซึ่งตั้งอยู่บริเวณนอกตัวเกาะเมืองนั้น นับเฉพาะวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำรอบตัวเกาะ จะมีประมาณ ๔๘ วัด ถ้าท่านสนใจเดินทางไปชม ได้สัมผัสกับก้อนอิฐกากปูนด้วยตัวของท่านเอง นอกจากจะได้รับความเพลิดเพลินจากมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าแล้ว ยังเป็นการช่วยกันศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานความเป็นมาของ "อโยธยา" ว่า จะเป็นไปได้มากน้อยหรือไม่เพียงใดอีกด้วย
ก่อนจะเปิดเรื่องว่า
เมื่อเอ่ยถึงบริเวณรอบนอกตัวเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านทิศตะวันออกแถบหน้าสถานีรถไฟออกไป จะมีพระอารามที่สำคัญหลายวัด ลางวัดก็เหลืออยู่แต่เพียงพระเจดีย์องค์เดียว นับตั้งแต่ วัดอโยธยา (วัดเดิม) มาจนถึง วัดใหญ่ชัยมงคล บริเวณดังกล่าวนักโบราณคดีลางกลุ่มมีความเชื่อว่าน่าจะเป็นที่ตั้งของตัวเมือง อโยธยา หรือที่เรียกว่า “สมัยอโยธยา” อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ( พระเจ้าอู่ทอง) จะทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ โดยเชื่อถือหลักฐานจากหนังสือ “พงศาวดารเหนือ” เป็นหลักและอ้างพยานหลักฐานทางศิลปกรรมประกอบ แต่นักโบราณคดีอีกกลุ่มหนึ่งยังไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่าหลักฐานและข้อมูลต่างๆยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกิดความเชื่อถือได้ จึงเกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันอยู่ตลอดมา และจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีหน่วยงานใดจัดการสัมมนาเกี่ยวกับปัญหา “อโยธยา” นี้ จึงทำให้ประวัติศาสตร์สมัยก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยายังไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร
รวมถึงการนำเสนอผลงานกวีนิพนธ์ของ อังคาร กัลยาณพงศ์ ว่าด้วยกรุงศรีอยุธยาที่เคยรุ่งเรือง แต่กลับต้องมาพังทลายลงเพราะสงคราม
๏ โอ้อยุธยายิ่งฟ้า มหาสถาน
มาล่มหาทกล้าทหาญ ล่าแล้ง
เสียแรงช่างเชี่ยวชาญ นฤมิต
แสนสัตว์ป่ามาแกล้ง ป่นเกลี้ยงมไหศวรรย์๚
๏ พระศรีสรรเพชญนิ่งกลิ้ง กลางดิน
แร้งหมู่หมากากิน ฟากฟ้า
ชลเนตรเจตภูตริน เป็นเลือด
นองหลากไหลไล้หล้า ล่มม้วยเมืองหาย๚
๏ ฤๅกรุงเกลี้ยงทะแกล้ว ไกรหาญ ฮะฮา
โอ้อยุธยาปาน ป่าช้า
ไอศูรย์มหาศาล เหลือซาก
เลือดมนุษย์แล้งหล้า ลึกซึ้งบัดสี๚ะ๛
๏ โอ้ศรีอยุธยา น้ำตาท่วมไอศวรรย์
ผุเปื่อยเป็นตมพลัน ปานป่าช้าโศกาดูร
๏ เวียงวังปรางค์ปราสาท วินาศสิ้นมไหศูรย์
เหลือแต่กากปฏิกูล มูลเถ้าถ่านกระดูกไทย
๏ อยุธยามหาสถาน นรกานต์มาผลาญไหม้สมัย
แร้งกาหมาทั่วไป ทลายจิกกินถิ่นที่รัก
๏ อาลัยในศิลปะ อารยะธรรมอันสูงศักดิ์
จบแล้วอาณาจักร จากปู่ไทยเสียดายจริง
๏ สถูปโบสถ์วิหารแก้ว ย่อยยับแล้วยังงามยิ่ง
เฟื่องบัวเสาฐานสิงห์ ทุกทุกสิ่งอเนจอนาถ
๏ ศรีสรรเพชญวรวิหาร แหลกลาญราชบูรณะมหาธาตุ
ทุกวัดวังปราสาท ราชฐานยับดับขวัญไทย
๏ เสียงกรวดทรายสะอึกสะอื้น ยะเยือดพื้นกรุงไกรไหว
อิฐปูนอันเปื่อยไป ขอดข้อนได้ทั้งกัปป์กัลป์
๏ อกธรณีมีน้ำตา ให้ป่าช้าแห่งสรวงสวรรค์
วิญญาณรำพึงรำพัน อาถรรพณ์ตาชาติตาปี
๏ พระอดีตมหาราช กัมปนาทร้องเสียงก้องผี
โห่อึงเอาชัยมี หมู่ม้าช้างแสนพลศึก
๏ ปี่ฆ้องกลองชนะ วิเวกจังหวะอึกทึก
ทุกหย่อมหญ้ารู้สึก สะอึกสิ้นสมประดีเอย
เป้าหมายหลักของ อนุสาร อ.ส.ท. คือการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองไทยทั้งในด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต เพราะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เริ่มจัดทำขึ้นโดยองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือ อ.ส.ท. แม้ต่อมาจะยกฐานะขึ้นเป็นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ก็ยังคงใช้ชื่อสื่อสิ่งพิมพ์ว่า อนุสาร อ.ส.ท. ดังเดิม
จึงไม่แปลกเลย ถ้าในอนุสารฉบับแนะนำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีบทความเรื่อง “ททท. กับการพัฒนาการท่องเที่ยวอยุธยา” ที่เขียนโดย ภราเดช พยัฆวิเชียร
คงไม่มีคนไทยคนไหนจะไม่รู้จักคำว่า อยุธยา กล่าวได้ว่า ถ้าจะให้ทบทวนความจำไล่ชื่อจังหวัดทั้ง ๗๓ จังหวัดทั่วประเทศแล้ว คำว่า อยุธยา นั้น คงแว่บเข้ามาในความคิด ๑ ใน ๕ ชื่อแรก หรืออย่างเลวก็ไม่เกิน ๑๐ ครับ ใครๆก็รู้จักอยุธยา แต่ที่อยากจะถาม ก็คือ เรารู้จักอยุธยากันมากน้อยแค่ไหน บางคนรู้จักแต่ว่าอยุธยาเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของเราแต่ก่อน ต่อจากสุโขทัย ก่อนธนบุรีและกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยไปเลย บางคนอาจจะเคยไปหรือที่ถูกแค่แวะรับประทานกุ้งเผาอยุธยา บางคนรู้จักสาวผักไห่อยุธยา ลำตัดหวังเต๊ะ ก๋วยเตี๋ยวเรืออยุธยา ข้าวเกรียบที่ไม่มีรสกุ้ง พุทรากวนจากอยุธยา หรืออยุธยาเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์
จากสถิติของ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในปี ๒๕๒๕ มีนักท่องเที่ยวเข้าชม ๒๓๑,๑๑๐ คน เฉลี่ยแล้วเดือนละ ๑๗,๗๕๙ และสำหรับ วิหารพระมงคลบพิตร มีผู้เข้าเยี่ยมชมและนมัสการในปี ๒๕๒๔ สูงถึง ๔๒๑,๗๓๒ คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่ใช่น้อย เมื่อเทียบกับจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่ทว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รู้จักได้เห็นอยุธยามากน้อยแค่ไหน...
มิเว้นกระทั่งคอลัมน์ “เที่ยวไป-กินไป” ที่แนะนำร้านอาหารอร่อยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับเรื่องอาหารการรับประทานของจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น พูดไปก็เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ซึ่งไม่ใช่สวนธรรมดาเสียด้วย แต่เป็นมะพร้าวชาวเกาะกันเลยทีเดียว เพราะถึงแม้จะเป็นแฟนหรือไม่ใช่แฟนของเชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ เที่ยวไปกินไปก็ตาม จะต้องรู้จักชื่อเสียงของกุ้งนางและปลาเนื้ออ่อนกันดีอยู่แล้ว เมื่อก่อนถ้าต้องการจะรับประทานอาหารกุ้งนางและปลาเนื้ออ่อนให้อร่อยถึงใจ ก็จะต้องไปรับประทานกันที่อยุธยาเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นกุ้งนางเผา กุ้งนางพล่า กุ้งนางทอดพริกไทยกระเทียม หรือปลาเนื้ออ่อนทอดคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ เหยาะน้ำปลาปลาสร้อยแท้ๆของอยุธยา ก็อร่อยไม่รู้จบแล้ว หรือจะต่อด้วยขนมจีนแกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากรายก็ยังได้ น้ำพริกแกงปรุงเองใหม่ๆ หอม และอร่อย ลูกชิ้นปลาก็ขูดเอง โขลกเองเหมือนกัน จึงได้เหนียวหนึบหนับเคี้ยวเพลินดีแท้
รายการอาหารอร่อยๆอย่างนี้ จะหารับประทานได้ตามร้านอาหารไทยทั่วไปในเกาะเมือง ทั้งที่มีป้ายชวนชิมและไม่มีป้าย แต่ราคาก็แตกต่างกันตามลำดับไป
ส่วนในคอลัมน์ “เที่ยวไปกับภาพ” ก็ปรากฏภาพถ่ายบรรยากาศยามอัสดงของสถานที่ในพระนครศรีอยุธยา นั่นคือบ้านเรือนไทยริมน้ำในอำเภอเสนา ผลงานโดยบัญชา ชินโน ซึ่งใช้กล้องถ่ายรูป HASSEBLAD ฟิล์มสไลด์โกดัก เอคตาโครม 120. 64 ASA เลนส์ 80 มม. หน้ากล้อง F.8 โดยกดถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ 1/125 วินาที
ภาพถ่ายดังกล่าวยังมีคำบรรยายประกอบภาพว่า
อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งมีถึง ๑๖ อำเภอนั้น ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำและลำคลอง อันเป็นเส้นหล่อเลี้ยงชีวิตและเส้นทางคมนาคม บ้านเรือนและการดำเนินชีวิตจึงเรียบง่าย แลดูสงบ สันโดษ ตามเอกลักษณ์ของไทย เมื่อผมเดินทางจากตัวเกาะเมืองไปตามทางหลวงสายใหม่หมายเลข ๓๒๖๓ ประมาณ ๑๖กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าอำเภอเสนา ก็เห็นพระอาทิตย์ใกล้จะตกดินหลังเรือนไทย แลดูท้องฟ้าเป็นสีแดงสวย มีลำน้ำสะท้อนภาพอันงดงามนั้นอยู่ข้างหน้า
ด้วยเนื้อหารอบด้านและภาพถ่ายหลากมุมมองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ปรากฏใน อนุสาร อ.ส.ท. ฉบับประจำเดือนเมษายน พ.ศ. 2526 ก็คงเป็นธรรมดาที่เมื่อ นายปรีดี ซึ่งเป็นชาวจังหวัดนี้เช่นกันได้ไล่สายตาต่อหน้ากระดาษตลอดทั้งเล่มขณะพำนักอยู่ห่างไกลถึงบ้านอองโตนี ชานกรุงปารีส แล้วเขาจะรู้สึกดื่มด่ำซาบซึ้งและหวนระลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง เพราะได้พลัดพรากมาเสียเนิ่นนานเกินกว่า 30 ปี
แต่พออ่านแล้ว นายปรีดี จะน้ำตาไหลด้วยหรือเปล่านั้น ใน คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท. มิได้ระบุไว้ เพียงแต่บอกว่าอ่านแล้วคิดถึงบ้านเกิด เป็นไปได้ว่า เรื่องที่ นายปรีดี น้ำตาไหลอาจมีต้นเค้ามาจากคำบอกเล่าของใครสักคนที่ถ่ายทอดต่อกันมา
อีกข้อหนึ่งคือ ผู้ที่นำ อนุสาร อ.ส.ท. ไปฝาก นายปรีดี จะเป็น สุภา ศิริมานนท์ และภรรยาคือ จินดา ก็ยังไม่ทราบแน่ชัด ตรวจสอบในหนังสือ ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส ที่เขียนโดย จินดา แม้จะพบการกล่าวถึงห้องหนังสือของ นายปรีดี แต่ก็ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการนำ อนุสาร อ.ส.ท. จากเมืองไทยไปฝากเลย
แหละที่สาธยายมาทั้งหมดนี้ คือความสัมพันธ์ระหว่าง นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายชีวิต กับสื่อสิ่งพิมพ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองไทยอย่าง อนุสาร อ.ส.ท.
หมายเหตุ:
- คงอักขร การสะกด เลขไทย และรูปแบบการอ้างอิงไว้ตามต้นฉบับ
บรรณานุกรม:
- คู่มือ 40 ปี อนุสาร อ.ส.ท.
- อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 23 ฉบับที่ 5 (เมษายน 2526)
- อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 (สิงหาคม 2543)
- จินดา ศิริมานนท์. ความทรงจำจากบ้านชานกรุงปารีส : ปัจฉิมชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2536.
- ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. ประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางและภูมิศาสตร์การเมืองในรอบศตวรรษ: ว่าด้วยการท่องเที่ยว ในฐานะมรดกแห่งการสร้างชาติของรัฐไทย จากรัฐจารีต สงครามเวียดนาม สู่ยุครัฐประหาร 2549 (On Thai Tourism). กรุงเทพฯ : สมมติ, 2563
ภาคผนวก:
ภาพอนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อนุสรณ์สถานสร้างขึ้นบริเวณที่นายปรีดี พนมยงค์ ถือกำเนิดในเรือนแพริมคลองเมืองตรงข้ามวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา