ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เมื่อกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนหนังสือโดยใช้นามปากกา “นายบำเรอ”

1
เมษายน
2568

Focus

  • ในวาระชาตกาล 120 ปีของศรีบูรพา บทความนี้จึงนำเสนอชีวประวัติของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ตั้งแต่ช่วงเวลาวัยเด็กจนกระทั่งเริ่มต้นการทำอาชีพนักเขียน โดยมุ่งเน้นไปที่บทความของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ใช้นามปากกาว่า “นายบำเรอ”

 


กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา

 

สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปีย่อมชวนให้หวนระลึกถึงนักคิด นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของเมืองไทยเยี่ยง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” นั่นเพราะ 31 มีนาคมเป็นวันเกิดของเขา ซึ่ง พ.ศ. 2568 นี้เป็นวาระครบรอบชาตกาล 120 ปีพอดี

โดยปกติแล้ว ผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของกุหลาบ สายประดิษฐ์ มักจะมุ่งเน้นความสนใจต่อชีวประวัติและผลงานเขียนในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาแล้วหรือไม่ก็อาจจะย้อนไปพิจารณาถึงช่วงที่เขาร่วมกับเพื่อนพ้องจัดทำหนังสือสุภาพบุรุษ เมื่อต้นทศวรรษ 2470 หรือกรณีที่เขาเขียนบทความการเมืองอันลือลั่นอย่าง “มนุษยภาพ” หากสำหรับชีวประวัติและผลงานในช่วงที่กุหลาบ เริ่มต้นเขียนหนังสือแล้วยึดอาชีพนักประพันธ์นั้น แทบจะยังไม่ค่อยปรากฏการเอ่ยถึงสักเท่าไหร่ เท่าที่สำรวจดู คนหนึ่งที่พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อตามแกะรอยกุหลาบ ในวัยหนุ่มเนือง ๆ ก็เห็นจะมีผมอยู่คนหนึ่ง

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึงห้วงยามเมื่อครั้งที่ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนหนังสือโดยใช้นามปากกาว่า “นายบำเรอ”

ถ้าใครศึกษาชีวประวัติของ “ศรีบูรพา” ก็ย่อมจะทราบดีว่า ช่วงที่ กุหลาบ เรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ เขาได้เริ่มเขียนหนังสือ และจัดทำหนังสือพิมพ์อ่านกันเองในชั้นเรียน ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2468 ขณะเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 ก็เคยเขียนงานชิ้นแรก ๆ ลงตีพิมพ์ในหนังสือ แถลงการณ์เทพศิรินทร์  ต่อจากนั้นจึงหัดเขียนหนังสืออย่างจริงจัง และได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์คลุกคลีที่สำนักงานรวมการแปลของ บุญเติม โกมลจันทร์ เจ้าของนามปากกา “ศรีเงินยวง” ซึ่งบุญเติมก็ได้ตั้งนามปากกาให้กุหลาบ ว่า “ศรีบูรพา” นับแต่นั้น เขาก็เริ่มยึดอาชีพนักประพันธ์อย่างเต็มตัว โดยหมั่นเขียนหนังสือส่งไปตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ

ในระยะแรก ๆ กุหลาบ ยังเขียนเรื่องไปลงในหนังสือ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ ของกรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งนายพันโทพระพิสิฐพจนาการ (บิดาของนักเขียนเจ้าของนามปากกา “ป.อินทรปาลิต”) เป็นบรรณาธิการ กระทั่ง หลวงสารานุประพันธ์ มารับตำแหน่งบรรณาธิการแทนในช่วงทศวรรษ 2460 โดยเปลี่ยนโฉมให้หนังสือนี้ได้รับความนิยมจากนักอ่านทั่วไปมากยิ่งขึ้น จึงชักชวน กุหลาบ มาเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ แต่ต่อมาเขาก็ตัดสินใจลาออก

ช่วงปลายทศวรรษ 2460 กุหลาบ ยังได้ใช้นามปากกา “นายบำเรอ” นำเสนอข้อเขียนอันน่าสนใจไว้หลายชิ้นและเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ดังปรากฏใน สยามรีวิว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแหล่งแรกสุดที่เขาใช้นามปากกานี้ โดยเขียนคอลัมน์ “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด”

 

 

สยามรีวิว ออกวางจำหน่ายทุกวันอาทิตย์ ราคาฉบับละ 10 สตางค์ นายพร้อม เจ้าของร้านพร้อมภัณฑ์ เป็นผู้จัดการการเงิน นายสนิม เลาหะวิไล เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 120 ถนนเจริญกรุง ประตูสามยอด พระนคร ถัดจากร้านสรรพานิชขึ้นไป 2 คูหา และโรงพิมพ์บางกอกการเมืองเป็นผู้จัดพิมพ์ สิ่งพิมพ์ฉบับนี้มีอัตราค่าบำรุง 1 ปี ราคา 6 บาท  6 เดือน ราคา 3 บาท  และ 3 เดือน ราคา 1 บาท 50 สตางค์ แต่ถ้าจะให้จัดส่งทางอากาศยาน ก็ต้องเพิ่มค่าส่งอีกปีละ 50 สตางค์

นายพร้อมเป็นคนมาจากทางปักษ์ใต้ แต่ได้รับการเลี้ยงดูแบบบุตรบุญธรรมโดยนายสงวน โชติมา เจ้าของร้านเจริญเกศากิจ เคยเป็นทหารม้า ก่อนที่จะมาเป็นต้นความคิดออกหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง แล้วต่อมาจึงมาออกหนังสือ สยามรีวิว ด้วยตนเอง

เดิมทีทางกองบรรณาธิการ สยามรีวิว จะเป็นผู้เขียน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” เอง ซึ่งจะนำเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับข่าวสารและความเป็นไปของบ้านเมือง แต่เมื่อเขียนมาถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2469 (นับเทียบกับศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ. 2470 แล้ว) ต่อจากนั้นก็เว้นหายไปหลายฉบับ

จนกระทั่งใน สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 31 ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พระพุทธศักราช 2469 กุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงได้มาเขียน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด”  ในร่างทรงของ “นายบำเรอ”

“หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” ชิ้นแรกที่เขียนโดย “นายบำเรอ” มีความว่า

การเปลี่ยนแปลงของข้าราชการตั้งแต่ตำแหน่งเล็กที่สุดจนถึงใหญ่ที่สุด มีการลาออก, ดุนออก, เชิญออก และออกโดยวิธีอื่นๆอีกบ้างซึ่งขี้เกียจนึก ยังไม่ทันจะพ้นไปจากความเอาใจใส่ของมหาชนดี ก็มีข่าวว่าจะเปลี่ยนเสนาบดีชุดใหม่ในเร็วๆนี้ประดังเข้ามาอีก เลยทำให้หูของมหาชนซึ่งลดความผึ่งลงมากแล้ว กลับพึงขึ้นอีกเท่าเดิมหรือที่จริงอาจยิ่งกว่า

๏ ๏ ๏

บางกอกการเมืองประจำวันเสาร์ที่ ๑๑ เดือนนี้ นำข่าวลือมาบอกและป่าว (ขอยืมคำของกรมรถไฟหลวง ดีไม่ดีไม่รู้ด้วย) ว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ จะได้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แต่เสฯกระลาโหมใครจะถือบังเหียน บางกอกการเมืองไม่ได้กล่าว แต่ศรีกรุง,ในวันเดียวกัน, เล่าว่าจะได้แก่เสด็จในกรมเสฯกระทรวงพาณิชย์แลคมนาคม หรือนายพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช เสนาธิการทหารบกพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในสองพระองค์นี้ หากได้แก่พระองค์แรก ลุงว่ากรมพระจันทร์ฯ จะได้ส่งตำแหน่งเสฯพาณิชย์แลคมนาคม เพราะเปนผู้ทรงชำนาญในเชิงนี้อยู่ และบางกอกการเมืองเล่าต่อว่า เจ้าพระยาพลเทพฯ เสฯเกษตร์จะมาเปนเสฯกระทรวงพระคลังฯ เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการจะมาแทนที่เจ้าพระยาพลเทพ  พระองค์เจ้าธานีนิวัติจะทรงนิวัติรจากเสฯธรรมการ ไปเปนราชเลขาธิการ และเจ้าพระยาธรรมศักดิมนตรี บรมครูซึ่งลุกมาจากเก้าอี้เสฯธรรมการเมื่อเร็วๆนี้ จะกลับไปนั่งอีก แต่พระยาไพศาลฯ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการจะเยื้องย่างไปข้างไหน หรือจะคงนั่งวางหน้าเฉยตาเฉย เหมือนดังที่วางอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้

๏ ๏ ๏

ถ้าข่าวการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวนี้ อาจเปนจริงได้ทั้งหมดหรือแม้ไม่หมดเพียงจริงบ้าง ใครๆก็ต้องเห็นว่า รัฐบาลที่รักของเราทำงานคึกคักไม่ใช่เล่น คนชาติอื่นจะมาดูแคลนว่า รัฐบาลไทยทำงานชอบเกรงใจคน หรือข้าราชการทำงานอย่างรักอาตมามากกว่ารักชาติ เปนว่าไม่ได้อีกละ! เพราะการเปลี่ยนอย่างนี้ ต้องแสดงเจตนาอันแน่วแน่ของคณะรัฐบาล ที่หวังจะนำสยามประเทศให้ก้าวบรรใดแห่งความเจริญพัฒนายิ่งๆขึ้นไป สิ่งใดที่เห็นว่าจะไม่หมดจดไม่งดงาม ก็เร่งรัดจัดทำด้วยความขาดเด็ด ผู้ใดเหมาะแก่การงานชะนิดใดก็ให้ทำงานชะนิดนั้น หรือมีผู้ใดเหมาะกว่าก็เปลี่ยนกันใหม่ ขอให้ชาวไทยได้ชมความเจริญรุ่งเรืองของชาติที่รักสมด้วยความหวังซึ่งมั่นอยู่ทุกเวลานาทีเถิด

๏ ๏ ๏

อาการจ้องมองกันอย่างถมึงทึงระหว่างจีนฝ่ายหนึ่ง กับชาวต่างประเทศมีอังกฤษ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น ฯลฯ ฝ่ายหนึ่ง กำลังเปนไปอย่างน่าหวาดเสียวและความตั้งใจของจีนซึ่งเสมือนว่าข้าจะขับให้คนต่างชาติไปจากคอนเซสชั่น (ที่ดินในเมืองซึ่งชาวต่างประเทศทำสัญญาเช่าอยู่) ก็มิได้ลดน้อยลง อังกฤษซึ่งเปนชาติหนึ่งที่จีนไม่พอใจที่สุด  จะเดินแต้มกับจีนอย่างไรไม่ทราบ มาเมื่อวันที่ ๑๕ เดือนนี้ (มกร) โทรเลขรอยเตอร์จากกรุงลอนดอนบอกว่า กองเรือครูเซอร์ที่ ๑ เว้นแต่เรือตอนเช้าซึ่งกำลังเข้าอู่ มีนายพลเรือวิลเลียมบอยส์เปนผู้บังคับการ ได้ยาตรากระบวนตรงไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้  เพื่อไปสมทบกับกองราชนาวีซึ่งมีประจำอยู่แล้วที่เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และเรือพยาบาลชื่อเมน ซึ่งอยู่ในอู่ ก็เตรียมจะไปเมืองจีนเหมือนกัน

๏ ๏ ๏

ตามข่าวโทรเลขซึ่งแจ้งดังนี้ยากที่ใครจะพยากรณ์ได้ว่าความบาดหมางระหว่างจีนกับต่างประเทศมีอังกฤษเปนสำคัญ  จะอาจคงอยู่ในขีดเดิมหรือบรรเทาลง และก่อนที่เรื่องซึ่งกำลังเขียนอยู่นี้จนตีพิมพ์เสร็จออกจำหน่าย เหตุการณ์จะหันไปข้างร้ายแรงสักเพียงใด ก็อาจได้ คอยดูว่าจีนจะรับรองอังกฤษอย่างไร.

๏ ๏ ๏

นายเจริญโลเรนซ์ซึ่งถูกหาเปนจำเลยในคดีปลอมตั๋วฟุตบอล  ขณะที่ให้การชั้นไต่สวน  ใจความตอนหนึ่งที่นายเจริญตอบหลวงวิศาลดรุณกร มีว่า "- เพราะคุณหลวงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวที่คุณหลวงมีวงแชร์ เป็นเจ้าหนี้นายฟังอยู่เปนอันมาก  คุณหลวงเกรงว่าเงินของคุณหลวงจะสูญหรืออย่างไร เรื่องมันจึงกลับตาละปัดมาทางผม-“

๏ ๏ ๏

ตามคำให้การนี้ท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรบ้างหรือไม่? แต่จะรู้สึกอย่างไรก็สงวนไว้ก่อนเถอะ. ที่จริงคดีเรื่องนี้มีผู้อยากทราบผลที่สุดกันมาก. เพราะจะได้ดูกันว่าใครเปนใครในโรงเรียนสวนกุหลาบแน่."

หมายเหตุเบ็ดเตล็ดคราวนี้ออกรู้สึกว่าพูดมากอยู่สักหน่อย  เหตุคงเกิดจากที่เปลี่ยนตัวใหม่ ยังมีกำลังแข็งแรงดีไม่เหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าเหนื่อยเมื่อไรก็ต้องผลัดเปลี่ยนตัวกันเมื่อนั้น จะดื้อเขียนทั้งๆที่ไม่มีกำลังจะเขียนเปนไม่ได้ ถ้าไม่ทำงานอย่างนี้ก็อายรัฐบาลแย่!

๏ ๏ ๏

สยามรีวิวเล่ม ๒๙ บางทีจะถูกผู้อ่านค้อนเอามาก  เพราะเรื่องที่บรรจุอยู่ข้างจะไม่สมใจทั้งฝ่ายคณะและฝ่ายผู้อ่าน. พี่เปนไปก็เพราะผู้เขียนเรื่องประจำป่วยไปหลายเวลาจึงทำงานไม่ได้สมกับความตั้งใจ. ขอผู้อ่านสยามรีวิวทุกท่านโปรดอภัยด้วย. ถ้าไม่มีโรคาพยาธิมาเบียดเบียนแลร่างกายคงแข็งแรงมีกำลังจับปากกาเขียนได้อยู่เสมอแล้ว  ก็จะรับใช้ให้ส่งความปรารถนาของท่านทุกประการ แต่ถ้ามีภายนอกอำนาจเกิดขึ้นในบางคราวก็เปนที่จนใจนะท่าน!

ถ้อยความข้างต้นแสดงถึงเอาใจใส่ของผู้เขียนต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในห้วงยามนั้น ทั้งกรณีในประเทศอย่างการดุลข้าราชการออกสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นับแต่ พ.ศ. 2468 เรื่อยมา และการเปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงชุดใหม่ หรือกรณีในต่างประเทศอย่างสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างจีนกับชาติตะวันตก มิเว้นกระทั่งเรื่องการปลอมตัวฟุตบอลของโรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งแต่ละเรื่องผู้เขียนก็จะเสนอข้อคิดเห็นของตนเองตามความคาดหวังให้ประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง

“นายบำเรอ” ออกตัวอีกทำนองว่าตนเพิ่งจะได้รับการเปลี่ยนตัวใหม่ให้มาเขียน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” แทนคนอื่น จึงสามารถเขียนเนื้อหาได้เยอะ เพราะ “ยังมีกำลังแข็งแรงดีไม่เหน็ดเหนื่อย แต่ถ้าเหนื่อยเมื่อไรก็ต้องผลัดเปลี่ยนตัวกันเมื่อนั้น จะดื้อเขียนทั้งๆที่ไม่มีกำลังจะเขียนเปนไม่ได้…”  มิหนำซ้ำ ยังโยงภารกิจของตนไปเกี่ยวข้องกับภารกิจของรัฐบาลว่า “ถ้าไม่ทำงานอย่างนี้ก็อายรัฐบาลแย่!”

ถัดต่อมาใน สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 32 ประจำวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช 2469 ก็ยังปรากฏ “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” ที่เป็นผลงานของ “นายบำเรอ” อีกชิ้นหนึ่ง มีความว่า

ข่าวว่าจะเปลี่ยนเสนาบดีชุดใหม่ตามที่ได้เล่าไว้แต่เล่มก่อนนั้น มาเมื่อวันที่ ๒๔/๑๐/๖๙ เดลิเมล์เขาประกาศว่าไม่มีมูล แลอ้างว่าได้ไปสืบสวนมาถ่องแท้แล้ว กับยังได้เสริมว่าเสนาบดีชุดที่มีอยู่เดี๋ยวนี้เหมาะแก่การงานดีมาก เมื่อเดลิเมล์เขาพูดจาได้หนักแน่นเช่นนี้ ท่านผู้อ่านก็ควรเชื่อไว้พลาง แต่ที่จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนน่ะ สำหรับเราก็ไม่ค่อยกระตือรือร้นนักหรอก ขอแต่ให้งานการมันจำเริญขึ้นไปได้เรื่อยๆก็แล้วกัน พวกเราต้องการกันเช่นนี้ทุกคนไม่ใช่หรือ!

๏ ๏ ๏

เรารู้มาว่า ต่อไปตามจังหวัดต่างๆทั่วพระราชอาณาจักร์สยามจะได้มีไฟฟ้าใช้เหมือนกับในจังหวัดพระนครบ้างละ โดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายๆท่านซึ่งสามารถมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นอาทิ ได้ร่วมมือกันตั้งบริษัทไฟฟ้าขึ้นเรียกว่า 'บริษัทไฟฟ้ากลางจำกัด' เรียกเงินทุน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ได้ทำเรื่องราวขอจดทะเบียนเปนบริษัทแล้ว ข่าวนี้ราษฎรต่างจังหวัดคงพอใจ  แต่สำหรับเราสยามรีวิว ก็คงพอใจเหมือนกัน แต่ขอบอกว่าไม่ใช่พอใจโดยที่มีโอกาสจะได้เห็นบริษัทไฟฟ้าเกิดขึ้นใหม่และเรียกค่าแรงไฟต่อยูนิตละ ๓๕ สตางค์มิได้! เพราะอ้ายค่าไฟที่บริษัทไฟฟ้าสยามเรียกเอาอยู่เดี๋ยวนี้ ก็ยังเปนหนองบ่มอยู่ในทรวงอกของพศกนิกรไทยอันย่อมจะลืมความชอกช้ำเสียไม่ได้!

๏ ๏ ๏

มีผู้ปกครองของเด็กนักเรียนคนหนึ่งมาหารือข้าพเจ้าว่า เวลานี้มีเด็กหนุ่มที่เรียนสำเร็จชั้นประโยคมัธยมบริบูรณ์เปนจำนวนมาก ที่หางานทำไม่ได้ ฉะนั้น เขาควรจะให้บุตรซึ่งอยู่ในความปกครองของเขาออกจากโรงเรียนเสียก่อนเรียนสำเร็จจะดีไหม  ถึงจะไม่มีงานทำก็ยังดีกว่าทุ่มเทเงินทองให้เรียนจนกระทั่งสำเร็จแล้วหางานทำไม่ได้อีก

๏ ๏ ๏

ข้าพเจ้าถามว่า เห็นจะมีท่านคนเดียวกระมังที่คิดเช่นนี้ เขากลับตอบว่าผู้ที่มีความคิดร่วมกับเขานั้นจะต้องการสักร้อยสองร้อยหาไม่ยากเลย ข้าพเจ้าตกใจรีบบอกว่าให้เร่งชวนกันกลับความคิดเสียเถิด มิฉะนั้นพลเมืองของประเทศสยาม จะกลายเปนคนป่าไปหมด

๏ ๏ ๏

เพื่อนข้าพเจ้าถาม "ก็เมื่อเรียนสำเร็จแล้วไม่มีงานทำจะมีประโยชน์อะไร?"

ข้าพเจ้าตอบ "ท่านจงระลึกถึงถ้อยคำของอ๎ริสโตต๎ล์นักปราชญ์กรีกที่กล่าวว่า 'ความเจริญแลความเสื่อมของชาติขึ้นอยู่แก่การศึกษาของผู้เยาว์'  อีกข้อหนึ่งท่านควรเข้าใจว่าการให้เด็กของท่านได้ศึกษาจนสำเร็จประโยคมัธยมบริบูรณ์นั้น เปนเพียงสามัญศึกษาเท่านั้น หรือจะว่าให้สั้นเข้าก็คือเด็กของท่านเพียงได้เรียนรู้จรรยาของมนุสส์ และความเปนมนุสส์มาอย่างดีเท่านั้น ส่วนวิชชาชีพจะต้องมาเรียนกันทีหลังอีก ข้อสำคัญท่านอย่าลืมว่าสามัญศึกษานั่นแหละคือวิชชาที่สอนถึงความเป็นมนุสส์ที่แท้จริงละ ท่านอย่าให้เด็กของท่านขาดความรู้คั่นนี้เปนอันขาด!"

๏ ๏ ๏

เพื่อนข้าพเจ้า "ผมก็เห็นด้วย แต่ท่านก็เห็นแล้วว่าผมจน ไม่สามารถหาเงินให้บุตร์ได้เรียนวิชชาชีพได้เลย เช่นนี้ท่านจะโปรดผมว่ากระไร"

ข้าพเจ้า "แน่ละซี ผมจะไปโปรดท่านได้อย่างไร เพราะมันเปนอีกปัญหาหนึ่งซึ่งหลายคนกำลังร่ำร้องอยู่และขบไม่แตก ไว้หน้าที่กระทรวงธรรมการท่านสิ เราคงจะได้เห็นการศึกษาเปลี่ยนรูปจากที่เปนอยู่เดี๋ยวนี้บ้างในวันหนึ่ง เมื่อมีความจำเปนเข้าจริงๆ  แต่ขอเตือนท่านว่าในปัจจุบันนี้  ท่านต้องกัดฟันทนให้เด็กของท่านได้เรียนจบหลักสูตรสามัญศึกษาเถิด เขาจะได้เป็นคนแท้ๆคนหนึ่ง ถึงบุตร์ท่านจะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชชาชีพท่านก็อย่าได้ไปตก เพราะคนแท้ๆย่อมมีมานะหาเลี้ยงท้องโดยสุจจริตธรรมได้เสมอ และคนแท้ๆนี้แหละคือดวงประทีปที่ฉายแสงสว่างมาสู่ประเทศสยามอันเปนมาตุภูมิของเราละ!"

๏ ๏ ๏

เขียนมาถึงเพียงนี้ พอได้อ่านข่าวโทรเลขรอยเตอร์ลงวันที่ ๒๔-๒๖ เดือนก่อน ทำเอาพวกเราใจเต้นไปตามๆกัน เช่นบอกว่ารัฐบาลโซเวียต (รัสเซีย) ส่งทหารประมาณ ๕ หมื่นคน เข้ามาในเขตต์แดนของแมนจูเรีย (ห่างจากกรุงปักกิ่งราว ๔,๔๐๐ เส้น)

๏ ๏ ๏

ส่วนทางฝ่ายอังกฤษผู้ที่จะขันเข้าเปนคู่มวยกับจีนก็ไม่หยอก เพื่อนได้ประกาศให้โลกรู้ว่า 'เดี๋ยวนี้เพื่อนได้ส่งกองทัพบกและเรือเข้าไปไว้ที่เซี่ยงไฮ้แล้วอย่างจุใจ เมื่อจีนต้องการจะจดหมัดกันเพื่อนก็เชิญ !'

๏ ๏ ๏

แต่พวกเรากลับได้อ่านโทรเลขรอยเตอร์ลงวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกันด้วยความปลื้มใจแท้ คือบอกว่าเดี๋ยวนี้อังกฤษได้เปลี่ยนแต้มเดือนรัฐประสาสโนบายใหม่ โดยแจ้งความให้จีนทราบว่า อังกฤษเตรียมพร้อมที่จะคืนเขตต์ที่อังกฤษเช่าไว้ทั้งหมดให้แก่จีน ขอให้จีนเตรียมข้อมารับไปจากอังกฤษโดยเร็ว เมื่อโทรเลขบอกมาเช่นนี้ ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า  อังกฤษไม่สมัคที่จะกระทบไหล่กับจีนโดยรุนแรงมากกว่าข้ออื่น แต่เพราะอะไรจึงไม่สมัคนั้น เปนเรื่องที่ใครๆจะรู้ดีไปกว่าอังกฤษไม่ได้  ในที่นี้เราเปนแต่ยินดีด้วยในเหตุการณ์ที่หันมาข้างความสงบ ขอให้ธรรมมีอำนาจอย่างจริงจังบ้างเถอะเจ้าประคุณ!

๏ ๏ ๏

กล่าวตามความเห็นของเรา, อังกฤษนั้นเปนชาติที่มีความคิดสุขุมลึกซึ้ง ไม่มีชาติใดๆในโลกจะหลักแหลมเท่า ในคราวที่วิวาทกับจีนครั้งนี้ ถ้าอังกฤษไม่เปนเจ้าของดวงตาซึ่งสามารถมองเห็นการได้ไกลนักแล้ว อังกฤษก็คงไม่ยอมให้จีนกระทบไหล่ได้ข้างเดียวเปนแน่นอน แต่นี่อังกฤษกลับรามือไว้ไม่กระทำตอบ ก็เพราะว่าวันข้างน่าที่จะมามันสำคัญกว่าวันที่ล่วงไปแล้ว  อีกอย่างหนึ่งอังกฤษคงไม่ลืมว่าจีนนั้นมีพลเมืองถึง ๔๐๐ ล้านเศษ ถ้าได้เปนศัตรูกันเข้าจริงก็น่าหนักใจมากอยู่ อังกฤษคงได้ตรองถี่ตรองห่างอย่างดีแล้ว.

๏ ๏ ๏

ส่วนข้างรัฐบาลโซเวียต (รัสเซีย) ผู้เป็นเจ้าของลัทธิ 'บอลเชวิค' เมื่อเห็นอังกฤษเปลี่ยนรูปรัฐประศาสน์แบบใหม่เช่นนี้คงจะนั่งยิ้มแก้มแทบปริ เพราะลัทธิของตัวให้ได้เพาะไว้และกำลังจะงอกงามขึ้นนั้น คงไม่มีใครมาขัดขวางได้ และในกาลต่อไปก็มีแต่จะแผ่ไพศาลงอกงามถ่ายเดียว เพราะพลเมืองของจีนก็กำลังระบมอยู่ด้วยความที่ถูกกดขี่ เมื่อเปนเช่นนี้ลัทธิบอลเชวิคจะไม่อาจงอกงามอย่างไรได้.

๏ ๏ ๏

ถ้าการที่คาดเอาว่า รัสเซียอาจเพาะบอลเชวิคให้เจริญงามได้ในจีนแล้ว ชาติต่างๆในทวีปเอเชียที่ชอบกดขี่กันเอง ขอได้โปรดระวังตัวจงหนัก และวิธีที่จะป้องกันนั้นอะไรไม่ประเสริฐเท่า เห็นคนเปนคนโดยเสมอหน้ากัน เราไม่ชอบให้ใครมาดูถูกกดขี่เรา มนุสส์อื่นๆที่ได้รับการศึกษาก็มีใจเช่นเดียวกัน เราเห็นดังนี้แหละ หรือใครจะเห็นอย่างไร?

๏ ๏ ๏

ระหว่างที่สยามรีวิวเล่มนี้ยังไม่มาถึงมือท่าน (สมาชิกรับประจำและท่านที่ซื้อปลีก) บางทีอาจจะมีความคิดแปลกๆเกิดขึ้นในเจตสิกของท่านหลายอย่างหลายประการก็ได้ มีเปนต้นว่า สยามรีวิวล้มหรือ? สยามรีวิวหยุดตรุษจีนหรือ? มีอุปสรรคอะไรแก่สยามรีวิวหรือ?

๏ ๏ ๏

บรรณาธิการจึงบอกให้ข้าพเจ้าเรียนให้ท่านทราบความจริงว่า การที่ต้องพักไปสัปดาหะหนึ่งนั้น  เปนเพราะโรงพิมพ์บางกอกการเมืองหยุดตรุษจีนเสีย ๔ วัน และต้องย้ายโรงพิมพ์ไปที่ใหม่ด้วย จึงพิมพ์สยามรีวิวให้ไม่ทัน แต่สยามรีวิวเข้าใจว่าโรงพิมพ์จะทำให้ทัน จึงมิได้ประกาศให้ท่านผู้อ่านทราบล่วงหน้าในเล่ม ๓๑ หวังว่าท่านคงให้อภัย

๏ ๏ ๏

นอกจากนี้บรรณาธิการยังกำชับให้ข้าพเจ้าเรียนท่านว่า สยามรีวิวไม่ได้เลิกล้มหรือไม่ได้หยุดตรุษจีนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หยุดไป ๑ สัปดาห์เพราะอุปสรรคดังข้างบนนั้น และจะไม่ทำให้สยามรีวิวถือโอกาสงุบงิบเอา ๕๑ ฉะบับเปน ๑ ปีเปนอันขาด อย่างไรๆก็ต้อง ๕๒ ฉะบับเปน ๑ ปี  สยามรีวิวจะไม่เอารัดเอาเปรียบแก่ท่านเลย ขอให้ท่านไว้ใจสยามรีวิวเถิด.

การเขียน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” เป็นครั้งที่สองของ “นายบำเรอ” ดูเหมือนว่าเขาจะกล้าแสดงความเห็นและทัศนคติมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสะท้อนตัวตนว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้ประเทศชาติมีความเสมอภาคและคนทุกคนย่อมเท่าเทียมโดยเสมอหน้ากัน ดังที่เขาเอ่ยถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในต่างประเทศ แล้วเสนอว่าความเท่าเทียมของบุคคลคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ซึ่ง “นายบำเรอ” ได้เผยให้ผู้อ่านทราบว่าเขามีภูมิความรู้เรื่องลัทธิทางการเมืองในโลกตะวันตกด้วย เฉกเช่นลัทธิบอลเชวิคที่กำลังถูกจับตาในยุคนั้นหรือการกล่าวถึงกรณีที่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศสยามกำลังจะมีไฟฟ้าใช้เหมือนในกรุงเทพฯ แต่ก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงค่าไฟฟ้าที่สร้างความทุกข์ให้กับราษฎร นอกจากนี้ ก็คือเรื่องของการศึกษา ซึ่ง “นายบำเรอ” เล็งเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ และเขาได้คัดค้านความคิดที่จะให้บุตรหลานออกจากโรงเรียนแล้วมาทำงานหาเงินแทน โดยอ้างถ้อยคำของนักปราชญ์ชาวกรีกอย่างอริสโตเติลมาสนับสนุนความเห็นของตน

ในตอนท้าย “นายบำเรอ” ยังแจกแจงถึงเหตุผลที่ทำให้ สยามรีวิว ไม่ได้ออกเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (หากนับเทียบศักราชปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ. 2470) อยู่ฉบับหนึ่ง เนื่องจากโรงพิมพ์ที่เคยจัดพิมพ์ให้นั้นปิดบริการหลายวันในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงจัดพิมพ์ออกมาไม่ทัน

ภายหลังจากฉบับนี้แล้ว “นายบำเรอ” ได้ห่างหายไปหลายเดือนจาก สยามรีวิว โดยมีผู้ใช้นามปากกาอื่นมาเขียน “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” แทน แต่ต่อมาก็ปรากฏ “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด” ที่เขียนโดย กุหลาบ สายประดิษฐ์ อีกครั้งคือในฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2470 ซึ่งน่าเสียดายที่ยังหาหลักฐานของสิ่งพิมพ์ฉบับนี้ไม่พบ และไม่ทราบว่าได้ใช้นามปากกา “นายบำเรอ” ด้วยหรือไม่

ช่วงเวลาใกล้ๆกัน นามปากกา “นายบำเรอ” ยังไปปรากฏในวิทยาจารย์ ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2469 (หากนับเทียบศักราชแบบปัจจุบันจะตรงกับ พ.ศ. 2470 แล้ว) อีกด้วย

 


หนังสือพิมพ์ธงไทย วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2469

 

ไม่เพียงแค่ใน สยามรีวิว และ วิทยาจารย์ เท่านั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังใช้นามปากกา “นายบำเรอ” เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ ธงไทย อีกด้วย ซึ่งสิ่งพิมพ์ฉบับนี้มี เฉวียง เศวตะทัต เป็นทั้งเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้จัดการ ที่ทำการสำนักงานต้องอยู่เชิงสะพานแม้นศรี พระนคร และจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์เฮงหลี ละแวกใกล้ ๆ กัน

เฉวียง คงจะรู้จักมักคุ้นและชื่นชมฝีมือการเขียนของ กุหลาบ จึงชักชวนให้ส่งผลงานมาลงพิมพ์ ซึ่งเขาก็ส่งบทความที่เขียนโดยใช้นามปากกา “นายบำเรอ” มาให้พิจารณา และได้เผยแพร่ใน ธงไทย ปีที่ 1 เล่ม 5 ประจำวันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2469 นั่นคือเรื่อง “พวกไม่กลัวตาย ! กรมสาธารณะสุขลองหันมาโต้กับพวกนี้ดูก่อนปะไร”  มีเนื้อความว่า

ปีนี้อหิวาตกโรคได้เด็ดชีวิตมนุสส์ชาวสยามไปเสียมากมายก่ายกอง มองเห็นรายงาน จำนวนคนตายด้วยโรคนี้ แต่ละคราวแล้วช่างน่าอนาถ ความจริงถ้าจะว่าปีนี้เปนปีที่อหิวาตกโรคดกที่สุด ก็ต้องไม่ลืมกล่าวว่ากรมสาธารณะสุขก็ทำการคึกคักที่สุดเหมือนกัน แม้อหิวาต์จะแผ่โรคานุภาพเข้ามาปล้นชีวิตราษฎรอย่างร้ายแรง ม.จ.สกลฯ แม่ทัพฝ่ายสาธารณะสุขก็มิได้นิ่งนอนใจได้คั่วทรายคั่วกรวดเตรียมไว้โดยพร้อมสรรพ มีการประกาศโฆษนาบอกต้นทางและการสังหารอหิวาต์แก่ ประชาชนด้วยกโลบายอันแยบคาย พิมพ์หนังสือวิธีป้องกันอหิวาต์แจกแก่มหาชนทั่วไป ใช้ภาพ ประกอบการโฆษนาอย่างแพร่หลายและมีหน่วยสุขศึกษาสำหรับส่งไปตามบ้านราษฎรและสมาคม ซึ่งขอร้องมาให้ไปแสดงถึงวิธีปฏิบัติตนให้พ้นจากโรค ฯลฯ ดูๆก็ไม่น่าเจ้าอหิวาต์จะอวดวิเศษมาทำ การขับเคี่ยวกับกรมสาธารณะสุขอยู่ได้ แต่ถ้าไตร่ตรองดูให้ลึกซึ้งก็จะจับเค้าได้ว่า เหตุที่อหิวาต์ยังมี กำลังแข็งขันอยู่เช่นนี้ ก็เนื่องจากราษฎรส่วนมากยังกระทำตนเปนไส้ศึกของมันอยู่ กล่าวคือไม่ ยอมรับโอวาทของกรมสาธารณะสุขซึ่งได้ลงทุนลงแรงแนะนำไปแทบล้มประดาตายนั่นเอง ถ้าแลพวกเรายังไม่ยอมลืมตาดูหนทางที่ผู้รู้เขาชี้ให้เดินอยู่ตราบใดแล้ว เวลาที่โรคอหิวาต์จะสงบลงได้ก็จะ ต้องยืดออกไปอีกนาน

ราษฎรโดยมากมักมายึดเอาคำว่า ‘ไม่ถึงที่ไม่ตาย’  เปนข้อขำประจำวันกันเสียจึงเลยกลายเปนคนหัวดื้อไม่ยอมฟังเสียงเอาเสียเลย ใครจะแนะนำอย่างไรข้าทำไม่เข้าใจทั้งนั้น รำคาญเข้าก็ยก เอาถ้อยคำ "ไม่ถึงที่ไม่ตาย' มาตอบเปนรั้วกั้นเสียที ที่จริง ‘ไม่ถึงที่ไม่ตาย' นี้มีอนุสนธิ์มาจากกลอน ของสุนทรภู่ซึ่งประพันธ์ไว้ในเรื่องพระอภัยมณี เราเชื่อเถิดว่าที่สุนทรภู่เขียนไว้คงไม่มีความ ประสงค์จะให้คนชั้นหลังๆ ถือเปนเกณฑ์สำหรับบำเพ็ญตนเปนคนหัวดื้ออย่างแน่นอน ต้องมีจุดความหมายของสุนทรภู่ลึกซึ้งยิ่งกว่าที่คนโดยมากเก็บเอามาเข้าใจอย่างผิดๆจนกลายเปนโทษได้เปนแน่ เหมือนกับภาษิตของสุนทรภู่อีกบทหนึ่งในเรื่องพระอภัยมณีว่า ‘รู้อะไรก็ไม่สู้รู้วิชชา รู้รักษาตัวรอดเปนยอดดี' นี่ก็มีคนเข้าใจผิดกันชุม ไม่ทราบแจ่มแจ้งว่าการใช้วิชชารู้รักษาตัวรอดเปนยอดดีนั้นควรใช้ในเวลาไหน เอะอะข้าก็จะขอ ‘รอดเปนยอดดี' เปนการรักษาอาตมาไว้ก่อนใครจะเปนจะ ตายก็ช่างหัวมัน แต่ความข้อนี้ได้มีผู้เขียนอรรถาธิบายไว้แล้วในหนังสือรายเดือนฉะบับหนึ่งเมื่อเร็วๆนี้เอง ผู้ที่เข้าใจเพียงเผินๆ ถ้าได้อ่านดูก็จะซึมซาบดีขึ้น และจะไม่เข้าใจผิดๆ อีก

'ไม่ถึงที่ไม่ตาย' ก็เหมือนกัน ถ้ากรมสาธารณะสุขจะพยายามปัดเป่าให้พ้นจากความหลง เข้าใจไม่เปนโล้เปนพายของมหาชนที่งมงายได้แล้ว เชื่อว่าจะช่วยต้อนงานของกรมสาธารณะสุขซึ่งได้ลงทุนลงแรงไปแล้วให้มีวงแคบเข้ามาได้อีกมาก และในขณะเดียวกันนี้ก็จะรวบประโยชน์ได้เต็ม กอบเต็มกำไม่มีเรี่ยราดด้วย! เวลานี้ถึงกรมสาธารณะสุขจะประกาศให้คอแทบแตกว่า "ฉีดวัคซีนเสีย นา, อย่าไปกินผักสดนา, อย่ากินของสำส่อนนา ฯลฯ" ถ้าราษฎรจะพูดกลบเสียงขึ้นมาว่า " ข้าไม่ฉีด และจะกินไม่ถึงที่ไม่ตาย ข้าทำตามแก ถึงที่ข้าก็ต้องตาย" โดนอีไม้นี้เข้ากรมสาธารณะสุขก็ต้องถึง หอบฮักๆ เราได้ยินมาอย่างงี้แหละโดยมาก รู้สึกสังเวทก็ที่สุดแต่ไม่รู้จะช่วยกันได้อย่างไร เห็นอยู่ก็ ทางเดียวดังที่กล่าวแล้ว ถ้าหักด่านนี้สำเร็จเด็ดขาดลงไปได้ ต่อจากนี้จะใช้วิธีโจมตีอหิวาตกโรคโดย กโลบายประการใดอีกก็เห็นจะง่ายและเปลืองรี้พล (เงิน) น้อยเข้า ว่าที่จริงการแนะนำหรือโฆษนาเพื่อทำความเข้าใจอะไรกันก็ตาม ถ้าได้เปนลายลักษณ์อักษรร้อยกรองให้เห็นตัวเหตุตัวผล และด้วยโวหารที่สามารถย้อมใจผู้อ่านให้คล้อยตามได้แล้ว จะมีคุณประโยชน์มากกว่าอะไรหมด คนไทยยุคนี้ใช่ว่าจะมีดวงตาสว่างไปเสียทั้งสิ้นเมื่อไหร่ ที่ยังมืดและไม่พยายายามจะลืมก็ยังมีอีกมาก พูดกันคำสองคำไม่รู้เรื่องก็องก็อึดตะปือนังไป ฉนั้นถ้าได้มองดูสภาพให้ทั่วถึงแลค่อยคลำหาเงื่อนที่เห็นผลได้ ชัดและโดยเร็วที่สุด แล้วเริ่มแนะนำปลุกใจรวบยอดขึ้นมาก็จะได้ผลทวีขึ้นมาก ตัวอย่างเมื่อครั้งเริ่มกระทำการดุลยภาพแก่ข้าราชการในตอนต้น ๆ เสียงผู้ที่จะถูกดุลย์ดูละห้อยหวลครวญครางไปตามๆกัน ด้วยเปนการฉุกละหุกไม่รู้เนื้อรู้ตัวไม่รู้เหตุผลต้นปลายว่าจะดุนกันด้วยเรื่องอะไร จับหางเสียงได้แว่วๆ แต่ว่ารัฐบาลของเราต้องการประหยัดรายจ่าย แต่กระนั้นพวกข้าราชการยังอยากรู้ต่อไปอีกว่า ทำไมถึงจะประหยัดและต้องประหยัดกันเดี๋ยวนี้?  ต่อมาอีกหน่อยก็มีแถลงการณ์จากหอรัษฎากรลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทย ฯลฯ เขียนยกเหตุยกผลด้วยโวหารอันชวนอ่าน กล่าวถึงดุลยภาพครั้งนี้ที่ ต้องกระทำก็เพราะเหตุอย่างงั้น..อย่างงั้น! และเกิดจากความจำเปนข้อนั้น_ข้อนั้นเทียว! ผลที่สุดผู้ที่ได้อ่านแถลงการณ์นั้นแล้วก็เห็นใจรัฐบาลแทบทั้งสิ้น เสียงที่โอดครวญจึงค่อยเบาบางลงบ้าง ชวนให้คิดว่าการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันถ้าพูดให้สำคัญๆ แล้วก็ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เล่นเห็นคุณเร็วชะมัดนัก  ถ้าแลกรมสาธารณะสุขจะถือโอกาสบรรยายถึงคุณและโทษของเค้าความ ‘ไม่ถึงที่ไม่ตาย' ให้แจ่มแจ้งเพื่อปลดเปลื้องความงมงายของราษฎรให้สิ้นไปได้แล้ว มั่นใจว่าจะได้ผลดีขึ้น และ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็คงยินดีรับลงโฆษนาให้เพื่อเปนไปทั้งในทางกุศลและทางเกื้อกูลต่อราชการอีกด้วย

ที่เขียนมานี้บอกได้เต็มปากว่า ด้วยความหวังดีอย่างเดียวไม่ได้หวังอย่างอื่นอีกเลย! เพราะได้ยินปรากฏแก่หูมานักต่อนัก ไม่ใช่ตั้งใจจะตำหนิการกระทำของกรมสาธารณะสุขในข้อไหน  แท้ที่จริงงานของกรมสาธารณะสุขเท่าที่ทำ ๆ มาแล้ว วิญญูชนทั้งหลายย่อมเห็นความเอาใจใส่ได้อย่างดี ต่างสรรเสริญอยู่เซ็งแซ่ ขอความเข้าใจเปนครั้งที่สุดว่า ที่เขียนนี้เปนเสียงของคนๆหนึ่งเท่านั้น จึงไม่จำเปนต้องรับรองว่าเปนเสียงที่มีความรอบคอบดีที่สุดแล้ว แต่ถ้ากรมสาธารณะสุขจะมองเห็นประ โยชน์บ้างเพียงรางๆ ก็ควรดวัดเอาเข้าสู่ดุลยพินิจในการช่วยมนุสส์ครั้งนี้เสียด้วย!

ในบทความข้างต้น “นายบำเรอ” บ่งชี้ให้เห็นว่าถึงแม้กรมสาธารณสุขจะพยายามรณรงค์เพื่อป้องกันอหิวาตกโรคอย่างแข็งขันแล้ว แต่เหตุที่โรคนี้ยังคงระบาดหนัก ก็เนื่องจากราษฎรไม่ได้รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน เพราะถือคติที่ว่า “ไม่ถึงที่ไม่ตาย” ดังนั้น ตามความเห็นของ “นายบำเรอ” กรมสาธารณสุขควรจะต้องอาศัยพื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์เพื่อนำเสนอให้ประชาชนตระหนักชัดเจนว่าอหิวาตกโรคนั้นสร้างอันตรายยิ่งนัก จึงต้องรู้จักป้องกัน มิใช่ว่าปล่อยปละละเลย หากโรคภัยยังไม่แพร่มาถึงตน ซึ่ง “นายบำเรอ” ยังเปรียบเปรยกับการนำเสนอเรื่องความจำเป็นของการดุลข้าราชการออกผ่านหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ จนทำให้ผู้อ่านรู้สึกเห็นอกเห็นใจรัฐบาล

 

 

ราวสองเดือนต่อมา “นายบำเรอ” ก็เขียนบทความเผยแพร่ใน ธงไทย ปีที่ 1 เล่ม 15 ประจำวันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2469 คือเรื่อง “ไปกันหรือยัง”

เฮดดิ้งของเรื่องนี้ ผู้อ่านคงนึกแปลกใจพิลึกละ  อะไร, พอโผล่ขึ้นมาก็ถามว่าไปกันหรือยัง?อยู่ข้างหาคนสมัคยากสักหน่อย ไปสวรรค์หรือนรกไปดีหรือร้าย ฯลฯ จะเอาอย่างไหนแน่ก็ยังไม่รู้ชัด ถ้าระแวงอยู่เช่นนี้ก็เชิญอ่านเรื่องซึ่งได้วาดไว้ต่อไปนี่เถิด

ทำไมส่วนมากของพลเมืองสยามจึงพอใจเปนข้าราชการกันนัก ขอโทษ, ปัณหาอันนี้ไม่ใช่ของใหม่ มีหลายคนได้ถามและตอบกันมามากต่อมากแล้ว แต่ทว่าเปนปัณหาซึ่งพวกเรากำลังติดใจถามและตอบกันอยู่ในเวลานี้อย่างซู่ซ่า ดังนั้น ถึงข้าพเจ้าจะพูดอีก และต่อไปข้างน่าจะมีผู้อื่นนำไปพูดซ้ำอีก พวกเราก็ยังไม่รู้สึกเบื่อ เมื่อความนิยมในการเปนข้าราชการของคนไทยลดลงมากกว่านี้สักครั้งหนึ่ง จะโดยความจำเปนหรืออะไรก็แล้วแต่ เมื่อนั้นแหละปัณหาข้อนี้จึงจะทำให้พวกเรานึกรำคาญได้บ้าง !

คำตอบปัณหาที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าตามจริงที่เขียนกันมาแล้วก็มีแปลกๆ แต่สมบูรณ์ด้วยกรณีย์ พูดกันง่ายๆ ก็คือเขาถกกันอย่างมีท่ามีทาง ไว้เหลี่ยมไว้คูน่าฟังโดยมาก

คำตอบอย่างสั้นๆ และแยกรวบหัวรวบหางได้ ๒ ข้อมีดังนี้ (๑) เพราะการอาชีพในทางทำราชการ เปนหนทางอาชีพที่ราบรื่นไม่ค่อยจะมีการถอยหลังจนเซแซดๆ อย่างเลวที่สุดก็เสมอตัวตามปรกติมักเดินน่า มีรายได้ทำนองเสือนอนกิน ถึงเดือนเปนแบมือนุ่มๆ เข้าไป รับเอามาอุ่นซิมได้ อย่างไม่มีพลาดผิดกับอาชีพในทางอื่น_ตรงกันข้าม  (๒) เพราะการทำราชการมีบรรดาศักดิ์ขุน, หลวง,พระ, พระยา, เปนเครื่องล่อให้คนติดแลบรรดาศักดิ์นิยมกันว่า เปนเครื่องชูเกียรติยศเกียรติคุณ ให้เปนคนมีหน้าใหญ่หน้าโตได้อย่างวิเศษ ใครมีบรรดาศักดิ์เปนขุนเปนหลวง  ก็ถือกันว่าผู้นั้นเปนมนุษย์อีกชั้นหนึ่งเสียแล้ว ไม่ใช่นายนั้นนายนี้ ซึ่งเรียกกันว่าสามัญชน พวกเหล่านี้สามัญชนอย่างเราๆ ยกย่องท่านว่าเปนคนชั้นสูง เปนแมนออฟออนเน่อร์

เหตุสองประการนี้แหละเปนสิ่งจูงใจคนให้น่าวิ่งเข้าไปหาทางเปนข้าราชการกันนัก ที่จริง อาจมีเหตุที่สามที่สี่อีก  แต่ข้าพเจ้ายังไม่ติดใจจะพูด เห็นว่าสองข้อนี้เปนเนื้อเปนหนังสำคัญ ซึ่งต้องการจะใช้พูดอยู่

เวลานี้ย่อมทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลของเรากำลังอัตคัดขัดแคลนเงินทอง จะหยิบใช้หยิบ สรอยในการที่จำเปนจริงๆ แต่ละเมื่อละคราวไม่ค่อยจะคล่องอกคล่องใจเสียเลย ให้ขัดสนไปทุกอย่าง การศึกษาการคมนาคม และอะไรอื่นๆอีก ผู้สามารถก็ได้วางโครงการงานไว้อย่างไกลละลิบลิ่ว มองดูเหมือนว่าสืบรอยเท้าของชาติที่เจริญ ทันๆกันกับเขาเข้าไปทีเดียว แต่นั่นก็เปนเพียงโครงการ ที่ดำริห์ไว้ หรือจะฝันกันไว้พลางๆ ก่อนยังไม่แก้เปนตัวการตัวงาน ที่เกิดมรรคเกิดผดขึ้นมาทีเดียว ทั้งนี้รัฐบาลของเราแก้ว่า เพราะเรายังจน..... เราไม่มีเงินพอ!  ถ้ามีก็ไม่ต้องสงสัยว่าความฝันจะเปน ความจริงได้หรือไม่ และเมื่อรัฐบาลได้คำนึงดูแล้วว่า เห็นความจำเปนในเรื่องที่จะต้องตัดทอนรายจ่ายให้ลดน้อยลง การจะลดรายจ่ายก็อาศัยจากการโล๊ะคนงานที่เหลือเฟือ แลไม่จำเปนแท้ ๆออกเสียบ้าง ซึ่งได้เริ่มโล๊ะกันมาตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งบัดนี้ และจะโล๊ะเรื่อยไปในบัดน่าอีก

เมื่อรัฐบาลถึงแก่ต้องระบายข้าราชการออกโดยความขัดสนจนยากเช่นนี้ เรื่องจะรับคนเข้าบรรจุอย่างไหลมาเทมาดังคลื่นในมหาสมุทอีกนั้น จึงไม่น่าจะเปนปัณหาผู้ที่ต้องการมีอาชีพในทาง เสือนอนกิน (เหตุชักนำให้นิยมข้อ ๑) ถึงจะยังกระหาย และพยายามจะวิ่งเข้าไปยึดเหนี่ยวไว้อีก การกระทำของรัฐบาลก็ย่อมแสดงอยู่ว่าเตรียมจะสลัดอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จึงเกิดเปนความจำเปนกีดกั้นความนิยมเปนข้าราชการในข้อ ๑ ไว้อยู่

ส่วนความนิยมอันเนื่องจากเหตุในข้อ ๒ นั้น ถึงเวลานี้จะยังชวนให้คนกระหายอยู่มากก็จริง แต่ก็คลายความเอร็จอร่อยผิดกว่าเดิมไปบ้าง เพราะหน่วยก้านของขุนนางสมัยนี้ ไม่สู้จะงดงาม เหมือนก่อน ๆ ด้วยบางขุนนางสมัยนี้โกงคนก็เก่ง ขะโมยเงินหลวงเอาไปใช้เปนส่วนตัวจับได้เสมอ โกหกตอแหลก็มีเยอะ ยิ่งนักเลงเหล้าและนักเลงผู้หญิงแล้ว เยอะดาแป๊ะทีเดียว เมื่อจำนวนขุนนาง ที่ได้ปัวเปียกับความชั่วช้าลามกมีหนาตาขึ้น แลหนังสือพิมพ์นำเอามากล่าวจนชินกับความรู้สึกของ คนทั้งหลายมากเข้า รัศมีของพวกขุนนาง ซึ่งเคยแวววาวก็เลยหม่นหมองลง ที่ท่านดีๆ ทำราชการงานเมืองโดยซื่อสัตย์สุจริตถึงจะไม่หม่นหมอง แต่ขึ้นชื่อว่าทำงานอยู่ในพวกในเหล่าเดียวกันแล้ว ก็ต้องพลอยเสียแววไปบ้าง เมื่อความรู้สึกของประชาชนเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยเช่นนี้ ก็ย่อมลดความนิยมในการเปนข้าราชการจากเหตุข้อ ๑ ลงบ้างตามส่วน

เท่าที่เขียนมาแล้วก็พอจะมองเห็นได้ว่า การเปนข้าราชการสมัยนี้ ไม่ใช่เปนความรักใคร่อย่างจับกระดูกดำของมหาชนเสียแล้ว เพราะสำหรับเหตุชักนำให้เกิดความนิยมข้อหนึ่งนั้น รัฐบาลได้ตัดจนขาดผึงออกไปโดยไม่มีเยื่อใยเหลือ ทำให้ผู้อยากเปนเกิดความท้อแท้ขึ้นเอง แต่ในเหตุข้อ ๒ นั่นแหละยังเปนยาเสน่ห์ล่อให้คนติดเห่อเหิม พยายามจะบุกบั่นเข้าไปเกาะอาชีพในทางการเปน ข้าราชการจนได้คิดๆดูก็น่าสังเวชอยู่บ้าง

กล่าวตามความรู้สึกของข้าพเจ้าๆเล็งเห็นว่าเกียรติยศเกียรติคุณนั้น ไม่จำเปนจะต้องมีแก่ บุคคลจำพวกข้าราชการจำพวกเดียว ใครๆก็ควรมีได้ พระพุทธเจ้ายังตรัสเปนภาษิตไว้ว่า "ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว" คำว่าทำในที่นี้ไม่ได้เจาะจงว่าต้อง ทำราชการจึงจะได้ดีมิได้ ย่อมหมายทั่วไปในกิจการทุกอย่าง แต่ที่คนไทยมาถือเอาการ ทำราชการดีเปนดีกว่าทำอะไรทั้งสิ้นนั้น ก็โดยตัดจริตถือกันเอาเอง พวกที่ยกย่องข้าราชการจนลอยเลิศเช่นนี้ ก็ต้องเปนพวกข้าราชการซึ่งต่างก็ยกย่องกันขึ้นเอง ต่อไปนี้จำนวนข้าราชการจะน้อย ก็แปลว่าจำนวนพวกที่ยกย่องจะต้องลดตามลงด้วย และเมื่อการศึกษาได้ซึมทราบจนชุ่มหัวใจของพวกเรามีจำนวนมากขึ้น ข้าพเจ้าหวังว่าธงแห่งเกียรติยศเกียรติคุณจะต้องมีปักอยู่ที่น่าประตูโรงงานทุกชนิดไม่จำเปนจะต้องโบกสบัดอยู่ฉเพาะสถานที่ทำการของรัฐบาลแห่งเดียว

เมื่อเขียนมาถึงเพียงนี้! แล้วย้อนไปอ่านเฮดดิ้งที่ให้ไว้ว่า "ไปกันหรือยัง?" ดูอีกครั้ง ข้อสงสัยว่าจะไปทางไหน ก็เห็นจะตอบไต้ง่ายทีเดียว แต่ถ้าท่านยังลังเลใจอยู่ว่า จะไปทางไหนจึงจะดี ข้าพเจ้าขอชี้ให้ว่าทางไหนๆก็ไปเทอญ จะไปทางค้าขาย, ทางเพาะปลูก, ทำนา, หรือที่สุดจนเปน กรรมกร ก็สุดแล้วแต่โอกาศแลความสามารถของท่านจะเลือกช่องให้เดินเถิด แต่ทางราชการนั้น  ข้าพเจ้าได้ทักไว้แล้ว ถ้าท่านจะดื้อไปให้ได้ ข้าพเจ้าขอตะโกนอีกครั้งหนึ่งว่า หนทางนั้นตันหนา!

ก่อนที่ท่านจะจากไป โปรดเอาถ้อยคำของนายลอยด์ยอชอรรคมหาเสนาบดีประเทศอังกฤษเปนเสบียงกรังติดตัวไปด้วย ท่านผู้นี้กล่าวว่า "ผู้ที่ทำงานเปนกรรมกรก็ดี, เปนชาวสวนชาวนาหรือพ่อค้าก็ดี แม้ว่าได้กระทำด้วยวิริยะภาพบากบั่นไม่ท้อถอย, ด้วยความซื่อตรงและบริสุทธิต่อน่าที่ ผู้นั้นย่อมเปนบุคคลที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติไม่น้อยกว่าอรรคมหาเสนาบดีเลย ที่ต้องต่างกันใน น่าที่ก็เพราะโอกาศอำนวยให้เปนไปเช่นนั้นเอง ด้วยเปนธรรมตาของงานจะต้องมีมากอย่างมากชนิด แต่ความพูมใจนั้น ขอให้ผู้ทำงานชนิดต่างๆ พึงเข้าใจเถิดว่า เปนความพูมใจชนิดเดียวกับอรรคมหาเสนาบดีนั้นแล

จากถ้อยความข้างต้น จะเห็นว่า “นายบำเรอ” ได้ท้วงติงถึงค่านิยมความอยากเป็นข้าราชการโดยมองว่าผู้ที่อยากยึดอาชีพนี้ก็เพราะต้องการเกียรติยศอันเลิศเลอเสียมากกว่าการจะเข้าไปทำงานเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ซึ่งหนทางการเป็นข้าราชการเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นหนทางตันเสียมากกว่า สู้ไปทำอาชีพอื่นแต่ได้สร้างคุณูปการให้สังคม ย่อมเป็นหนทางที่น่าไปยิ่งกว่า “นายบำเรอ” จึงชักชวนในเชิงตั้งคำถามว่า “ไปกันหรือยัง?”

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นับเป็นหนึ่งในคนหนุ่มที่ได้สร้างผลงานเขียนออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงทศวรรษ 2460 และต้นทศวรรษ 2470 ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทว่างานเขียนในช่วงเริ่มต้นนั้น ดูเหมือนยังไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษาค้นคว้าสักเท่าใดนักทั้ง ๆ ที่ก็เป็นงานสำคัญอันสะท้อนแนวความคิดอย่างคมคายและบันทึกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยโดยเฉพาะงานเขียนที่ใช้นามปากกา “นายบำเรอ” ดูเหมือนจะไม่เคยมีใครศึกษามาก่อนเลย ผมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ละเลยความสนใจในการศึกษาผลงานจากนามปากกาดังกล่าวนี้

 

หมายถึง:

  • คงอักขรและการสะกดตามหลักฐานชั้นต้น และต้นฉบับของนักเขียน

เอกสารอ้างอิง : 

  • คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาลกุหลาบ สายประดิษฐ์. ตรีศิลป์ บุญขจร บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะอนุกรรมการฝ่ายประสานงานโครงการ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), 2548.
  • นายบำเรอ. “ไปกันหรือยัง?.” ธงไทย ปีที่ 1 เล่ม 15 (31 สิงหาคม 2469). หน้า 403, 405, 407, 409.
  • นายบำเรอ. “พวกไม่กลัวตาย! กรมสาธารณะสุขลองหันมาโต้กับพวกนี้ดูก่อนปะไร.” ธงไทย ปีที่ 1 เล่ม 5 (22 มิถุนายน 2469). หน้า 99, 101, 103, 105.
  • นายบำเรอ. “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด.” สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 31 (30 มกราคม 2469). หน้า 571-572.
  • นายบำเรอ. “หมายเหตุเบ็ดเตล็ด.” สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 32 (13 กุมภาพันธ์ 2469). หน้า 590-592.