
ในวาระ 120 ชาตกาล ดร.ดิเรก ชัยนาม บุคคลสำคัญทางการเมืองไทยที่อุทิศตนเพื่อชาติอย่างแท้จริง ตั้งแต่บทบาทในคณะราษฎร ขบวนการเสรีไทย จนถึงการเป็นรัฐมนตรีและเอกอัครราชทูต กองบรรณาธิการสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยคุณเขมภัทร ทฤษฎิคุณ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือนามปากกา ส. ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม ผู้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองไทยมาหลายบริบท หลายห้วงยาม พร้อมกับเป็นผู้มีโอกาสใกล้ชิดสนิทใจกับครอบครัวชัยนาม กระทั่งเข้าใจความเป็น ดร.ดิเรก ชัยนาม อย่างลึกซึ้ง
นักการทูตผู้ยึดมั่นในหลักการและความซื่อสัตย์

ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม (18 มกราคม พ.ศ. 2447 - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2510)
ในโอกาสนี้ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เล่าถึงชีวิตของ ดร. ดิเรก ชัยนาม ตั้งแต่เส้นทางสู่การเมือง ที่เริ่มต้นเส้นทางการเมืองจากการเป็นศิษย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และได้รับการชักชวนเข้าคณะราษฎรด้วยความไว้วางใจ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีบทบาทสำคัญในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร และโดยเฉพาะการดึงหลวงอดุล อดุลเดชจรัส (หลวงอดุลเดชจรัส) มาร่วมขบวนการเสรีไทย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่น
ดิเรกในมุมมองของสุลักษณ์ “เป็นคนอ่อนนอกแข็งใน นุ่มนวล พูดจาไพเราะ เป็นนักทูตที่ประเสริฐ แต่เวลาตัดสินใจแล้ว เป็นคนมั่นคง แม่นยำ แม่ในหลักการ ไม่โอนไปเอียงมา” ด้วยเหตุฉะนี้ ดร.ดิเรกจึงเป็นที่โปรดปราณของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำสำคัญในการอภิวัฒน์สยาม 2475
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดขบวนการเสรีไทย กล่าวได้ว่า ทวี บุณยเกตุ นั้นเป็นมือขวา และมี ดิเรก ชัยนาม เป็นเสมือนมือซ้ายของอาจารย์ปรีดี
ความเป็นนักการทูตของ ดร.ดิเรก ชัยนาม นั้น นับเป็นประโยชน์ทั้งภายในและภายนอก เพราะในเวลาสำคัญที่ต้องการกำลังพลในการกอบกู้เกียรติภูมิของชาติ ดร.ดิเรก สามารถดึงเอาอดุลรองนายกรัฐมนตรี ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยได้
ภายหลังเสร็จสงครามเสรีไทยทุกคนตกลงกันว่าจะไม่ยอมรับคำยกย่องใด ๆ แต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เห็นควรว่าจะต้องมีการระลึกเป็นบุคคลพิเศษ จึงได้เสนอเหรียญรัตนาภรณ์ อันดับ 1 ประจำรัชกาลที่ 8 ให้แก่ ดร.ดิเรก ชัยนาม อดุล อดลเดชจรัส และ ทวี บุณยเกตุ และในการณ์นี้อาจารย์ปรีดีต้องการเสนอชื่อ ดร.ดิเรก เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขากลับเสนอชื่อ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นเสรีไทยเช่นเดียวกันเป็นผู้รับตำแหน่งแทน
“อาจารย์ปรีดี ต้องการให้ ดร.ดิเรก เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอันนี้เป็นแบบไทยแท้ แบบดร.ดิเรก แท้ ๆ เลย สมัยนี้ใครได้รับชักชวนเป็นนายกฯ ก็กระโดดรับทันที แต่ ดร.ดิเรก บอกกับ อาจารย์ปรีดี ว่า อาจารย์ครับ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา เมื่อเราเอาพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ออกจากตำแหน่งแล้ว คณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมาโดยตลอด ผมเห็นว่าควรจะให้คนอื่นเขาเป็นบ้าง มิฉะนั้นเขาจะหาว่าเรายึดอำนาจมาเพื่อพวกเรา” สุลักษณ์กล่าวถึง ดร.ดิเรก อย่างชื่นชม
ผู้ยึดมั่นในหลักการ
ในสมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ดร.ดิเรก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น เมื่อได้ยินว่ามีการโกงกินในรัฐบาลก็ได้ลาออกทันที แม้มีผู้ทัดทานว่าให้รอรัฐบุรุษอาวุโส (อาจารย์ปรีดี พนมยงค์) ที่กำลังเดินทางรับเชิญยังประเทศต่าง ๆ กลับมาก่อน ดร.ดิเรกก็ได้กล่าวว่า “รอไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องหลักการ ไม่เกี่ยวกับท่าน”
เมื่อหลังที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กลับมาแล้ว จึงได้ไกล่เกลี่ยให้ ดร.ดิเรก ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่ประเทศอังกฤษ ผลงานที่โดดเด่นในฐานะทูตอังกฤษก็คือ การเจรจาขอเงินจากรัฐบาลอังกฤษมาฟื้นฟูสถานทูตหลังสงคราม
“เราประกาศสงครามกับอังกฤษ สถานทูตเสียหายจากภัยสงคราม ดร.ดิเรกขอเงินจากรัฐบาลอังกฤษมาใช้ได้”
หรือแม้แต่ครั้งเมื่อท่านไปเป็นทูตที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น “เป็น Ambassador คนแรก ซื้ออาคารสถานทูตล้านเยน แต่ตอนนั้นญี่ปุ่นเอาเปรียบ เรียกเยนละบาทเลย แต่ถือว่าถูกมากเพราะว่าเจ้าของเขาอยากขาย ถ้าไม่ขายรัฐบาลจะรื้อเอาเหล็ก
เมื่อซื้อแล้วเจ้าของเดิมจะยกรูปเขียนศิลปะต่าง ๆ ให้กับ ดร.ดิเรก “แต่ ดร.ดิเรก ไม่เอา เป็นการคอรัปชันของหลวง ดร.ดิเรกทำงานเพื่อแผ่นดินอย่างเดียว ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแม้แต่เล็กน้อย”
ดิเรกนับเป็นนักการทูตผู้ยึดมั่นในหลักการ เป็นที่รู้จักในฐานะนักการทูตที่มีความนุ่มนวลแต่เด็ดเดี่ยว เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศสำคัญ เช่น อังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งผลงานของเขาไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ยังฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทยหลังสงครามโลกอีกด้วย
เมื่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ให้ ดร.ดิเรก ชัยนาม ไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้เล่าถึงภารกิจสำคัญครั้งแรกที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้แก่ศิษย์ผู้เป็นที่รักอย่าง ดร.ดิเรกนั่นคือ ภารกิจที่ต้องไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เพื่อทูลขอไม่ให้สละราชสมบัติ
“ทีแรกพระปกเกล้าฯ ไม่ให้เข้าเฝ้า เพราะไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ ให้เข้าเฝ้าแค่เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศที่เป็นประธาน กับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่เป็นเลขาฯ ให้เข้าเฝ้าแค่ 2 คนเท่านั้น”
ครั้งนั้น เจ้าพระยาธรรมาธิเบศต้องกราบบังคมทูลบอกว่า “ดิเรกเขาเป็นคนสำคัญและเขาจะจดรายงานการประชุมได้มั่นคง เพราะเขาไม่ต้องมาสนทนาด้วย” ครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงได้ให้ ดร.ดิเรกเข้าเฝ้าด้วย หลังการเข้าเฝ้าครั้งนั้น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศได้กล่าวกับ ดร.ดิเรก ว่า “พวกเธอนี่ต่อไปน่าจะได้ว่ากรมท่าอากาศยาน” ซึ่งสุลักษณ์ก็ยืนยันว่าเป็นจริงเช่นนั้น ด้วย ดร.ดิเรกเป็นรัฐมนตรี 3-4 หน และการเป็นรัฐมนตรีของเขามุ่งประโยชน์ของแผ่นดินเป็นใหญ่
ชีวิตส่วนตัวและครอบครัวชัยนาม

แถวหน้า ม.ล.ปุ๋ย กับ ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม, แถวหลังจากซ้าย เจษฎา, ชูศักดิ์, วัฒนา และวรพุทธิ์ บุตรชายทั้ง 4 คน เมื่อ พ.ศ. 2510
หม่อมหลวงปุ๋ย (นพวงศ์) ชัยนาม ภรรยาของเขา เป็นผู้อยู่เคียงข้างและสนับสนุนสามีอย่างแข็งขัน เธอใช้ชีวิตเรียบง่ายและยึดมั่นในพุทธศาสนา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลี้ยงดูลูก ๆ โดยเฉพาะนายวรพุทธิ์ ชัยนาม ที่เติบโตมาเป็นนักการทูตผู้มีความสามารถไม่แพ้ผู้เป็นบิดา
“ดร.ดิเรก มีภรรยาเป็นผู้หญิงที่ประเสริฐ หม่อมหลวงปุ๋ย (นพวงศ์) ชัยนาม เป็นคนที่เรียบร้อย และเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย”
ม.ล. ปุ๋ย และ ดร.ดิเรก ชัยนาม มีลูกชาย 4 คน ได้แก่ วัฒนา ชัยนาม (ปุ๊) ผู้ประสบอุบัติเหตุตกม้าจนขาพิการ ชูศักดิ์ ชัยนาม (แป๊ะ) ชายหนุ่มรูปหล่อและเป็นที่โปรดปรานของแม่ แม้จะมีชื่อเสียงในด้านความเจ้าชู้ เจษฎา ชัยนาม (ปึก) ที่มีอนาคตสดใสแต่กลับประสบอุบัติเหตุตกต้นไม้จนได้รับบาดเจ็บทางสมอง และ วรพุทธิ์ ชัยนาม (ป๋อ) อภิชาตบุตรผู้เดินตามรอยบิดาอย่างเต็มภาคภูมิ
ป๋อได้รับการศึกษาจาก Public School ในอังกฤษ และปรารถนาจะเป็นศิลปิน แต่ด้วยความกตัญญู เขายอมตามคำขอที่ ดร.ดิเรกผู้เป็นพ่อได้ขอให้สุลักษณ์ไปเกลี้ยกล่อม
สุลักษณ์เล่าว่า “ป๋อบอกว่า “Why does it have to be me? I want to be artist.” ผมบอก “ป๋อ คุณพ่อมีลูก 4 คน ผิดหวังมาหมด ป๋อเอาใจคุณพ่อ” แต่ว่าป๋อเป็นลูกกตัญญูบอก “ผมตกลง” ถึงได้มาเรียน Middle temple สำนักเดียวกับผม”
วรพุทธิ์ศึกษาด้านกฎหมายที่ Middle Temple จนจบ ก่อนไปศึกษาต่อยอดความรู้ด้านการทูตที่ Fletcher School of Law and Diplomacy สหรัฐอเมริกา และเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศทันช่วงเวลาที่บิดายังมีชีวิตอยู่ เขากลายเป็นนักการทูตหัวก้าวหน้าผู้มีความสามารถไม่แพ้บิดา ทั้งยังเป็นนักเขียนที่เฉียบคม น่าเสียดายที่ชีวิตของเขาจบลงด้วยโรคทางสมองเมื่ออายุเพียง 55 ปี
มรดกทางประวัติศาสตร์จากชีวิตการงานของ ดร.ดิเรก ชัยนาม
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึ่งในผลงานสำคัญของ ดร.ดิเรกคือการเจรจาข้อตกลงด้านราคาข้าวกับอังกฤษ บทบาทนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทาย โดย ดร.ดิเรกในฐานะเอกอัครราชทูต ได้เข้าเจรจากับรัฐบาลอังกฤษจนสามารถตกลงราคาที่เหมาะสมแทนการส่งข้าว 1.5 ล้านตัน ให้แก่องค์การสหประชาติฟรีเพื่อชำระหนี้สงคราม
ความสำเร็จของ ดร.ดิเรกในครั้งนั้นช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางเศรษฐกิจและสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศไทย และยังสะท้อนถึงความสามารถด้านการทูต ความมุ่งมั่นในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และผลงานในครั้งนั้นได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การต่างประเทศไทย
แม้การเมืองไทยจะเต็มไปด้วยความผันผวน แต่ชื่อของ ดร.ดิเรกยังคงอยู่ในความทรงจำในฐานะบุรุษผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์
สุลักษณ์ทิ้งท้ายถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ที่ต้องอาศัยสติและวิจารณญาณว่า “การเรียนรู้ประวัติบุคคลไม่ใช่ของง่าย โดยเฉพาะเมืองไทยเขียนเชียร์กันสุด ๆ เลย มิฉันนั้นก็เขียนวิจารณ์ เรื่องนี้ฝรั่งเขียน Biography (ชีวประวัติ) มีทั้งชมทั้งติ เมืองไทยหายากที่จะเป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น การศึกษาแต่ละเรื่องแต่ละคนก็จะต้องใช้สติวิจารณญาณให้มาก อย่าไปหลงเชื่อ แม้ที่ผมพูดไปก็อย่าหลงเชื่อ พินิจพิจารณาให้รอบคอบแล้วค่อยเชื่อ จำหลักกาลามสูตรพระพุทธเจ้าไว้ให้ดี”
ผู้สัมภาษณ์ : เขรมภัทร ทฤษฎิคุณ
ณ วันที่ 22 มกราคม 2568