ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

วิธีส่งเสริมให้ราษฎรสนใจประชาธิปไตย: สภาเดียว

15
กันยายน
2565
PRIDI Audio : อ่านบทความให้ฟัง

 

คุณเสาวนีย์ ลิมมานนท์ ได้แจ้งให้ผมทราบว่าก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม นั้น นักศึกษาได้จัดการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นฉบับหนึ่ง โดยกำหนดให้มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว เพราะเห็นว่าการมีสภาสูงที่เรียกว่าวุฒิสภาหรือพฤฒสภานั้น เป็นการฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็นเพราะทำให้ค่าใช้จ่ายของราษฎรโดยไม่จำเป็นและทำให้เรื่องล่าช้า เมื่อได้สนทนากันแล้ว ผมมีความเห็นด้วยกับความดำริของนักศึกษาที่จะให้มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว จึงได้รวบรวมความเห็นสนับสนุนนักศึกษาตามที่ได้แจ้งแก่คุณเสาวนีย์ฯ และที่ผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมประกอบรวมกันมาดังต่อไปนี้

๑. หลักการเดิมที่มีสภาสูงไว้ เพื่อมีหน้าที่ยับยั้งร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนเสนอมานั้น โดยถือกันว่าสมาชิกสภาสูงเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าสมาชิกสภาล่างจึงย่อมไตร่ตรองรอบคอบไม่หุนหันพลันแล่น แต่ความจริงผมเคยเล่าให้คุณเสาวนีย์ฟังว่าสมาชิกสภาสูงมีอายุมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนนั้น ก็เป็นแต่เขียนไว้ในกฎหมายว่า สมาชิกสภาสูงต้องมีอายุอย่างต่ำมากกว่าสมาชิกผู้แทน แต่ก็มิได้มีข้อห้ามไว้ว่า ถ้าคนมีอายุสูงเท่าใดจึงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนไม่ได้

ดังนั้น เราจึงเห็นจากรูปธรรมที่ประจักษ์ว่า สมาชิกสภาผู้แทนมีอายุขนาดเป็นพ่อ หรือ ปู่ของสมาชิกสภาสูงได้หลายคน เช่น ท่านเชอร์ชิลล์มีอายุถึง ๙๑ ปี ก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของอังกฤษ ท่านแฮร์ริโยต์มีอายุถึง ๘๕ ปีก็ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนของฝรั่งเศสและยังมีอีกหลายท่านที่นับไม่ถ้วนที่มีอายุสูงยิ่งกว่าอายุของสมาชิกสภาสูง แต่ท่านก็เป็นสมาชิกของสภาผู้แทน

แม้ในประเทศไทยเราเอง ผู้แทนหลายคนมีอายุมากกว่าวุฒิสมาชิก ฉะนั้นถ้ามีสภาเดียวก็ย่อมมีสมาชิกทั้งหนุ่มและแก่คละกันไป ฝ่ายคนหนุ่มใจร้อนหน่อยก็มีฝ่ายคนแก่ในสภาช่วยกันเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ดังนั้น ทฤษฎีที่ว่าสมาชิกสภาสูงมีอายุมากกว่าสมาชิกสภาผู้แทนจึงไม่เป็นไปตามความจริงที่ประจักษ์

๒. ผมได้ชี้แจงแก่คุณเสาวนีย์ฯ ถึงวิธีประชุมพิจารณาของสภาผู้แทนแล้วว่ามี ๓ วาระ คือ วาระที่ ๑ เป็นขั้นพิจารณาว่าจะรับหลักการร่าง พ.ร.บ. หรือไม่ วาระที่ ๒ คือการพิจารณารายละเอียดในร่าง พ.ร.บ. แล้วก็เข้าสู่วาระที่ ๓ คือการลงมติขั้นสุดท้ายว่าจะให้ร่าง พ.ร.บ. นั้นใช้เป็นกฎหมายได้หรือไม่

ดังนั้น ถ้ามีสภาเดียวก็ควรแก้การพิจารณาวาระที่ ๓ ให้ยึดเวลาออกไปเพื่อสมาชิกทั้งหนุ่ม และแก่จะได้มีเวลาช่วยกันตรึกตรองให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง แทนที่ข้อบังคับการประชุมสภา และวิธีปฏิบัติที่เคยทำกันมา ได้รวบรัดเร็วเกินไปนัก คือ เมื่อพิจารณาวาระ ๒ เสร็จแล้ว ประธานสภาโดยมากก็ให้สมาชิกลงมติวาระที่ ๓ ทันที

ผมจึงเห็นว่าเราควรแก้ไขเสียใหม่ให้ทิ้งระยะเวลาการพิจารณาวาระที่ ๓ ไว้ ให้มีเวลาที่สมาชิกจะตรึกตรองไม่ใจเร็วด่วนได้เพื่อลงมติให้เสร็จไปอย่างที่เคยทำมา กำหนดเวลานี้จะควรเท่าใดก็สุดแท้แต่นักศึกษาจะพิจารณาโดยเทียบกับรัฐธรรมนูญไทยที่เคยมีสภาสูง ว่าได้กำหนดระยะเวลาที่สภาสูงจะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ. ที่สภาผู้แทนพิจารณาแล้วนั้นให้เสร็จไปภายในกี่วัน

รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ มาตรา ๕๔ กำหนดว่าให้พฤฒสภาพิจารณาลงมติภายในกำหนด ๓๐ วัน แต่ถ้าเป็น พ.ร.บ. การเงินต้องพิจารณาและลงมติให้เสร็จภายใน ๑๕ วัน

แต่รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ที่มีผู้อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดนั้น ผู้ร่างท่านเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ใจร้อนเกินไปที่กำหนดเช่นนั้น ฉะนั้น ท่านผู้ร่างฉบับ ๒๔๙๒ จึงบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๒ ว่าให้วุฒิสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่สภาผู้แทนพิจารณาแล้วเสนอมานั้นให้เสร็จไปภายใน ๖๐ วัน ส่วน พ.ร.บ. การเงินให้เสร็จไปภายใน ๓๐ วัน เป็นการทวีคูณเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙

ผมจึงขอให้นักศึกษาตั้งกลุ่มพิจารณาด้วยตนเอง เทียบเคียงรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่มีสภาสูงว่าจะควรทิ้งระยะเวลาเมื่อสภาผู้แทนพิจารณาวาระที่ ๒ แล้วไว้สักกี่วันก่อนที่จะลงมติในวาระที่ ๓

๓. ประเทศไทยเรามีพระมหากษัตริย์ที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เป็นต้นมานั้นก็ถวายพระราชอำนาจพระองค์ท่านให้ทรงยับยั้งร่าง พ.ร.บ. ได้ ก็เหตุไฉนเล่าผู้ที่อ้างว่าจงรักภักดีในพระองค์ท่านจะคิดการตัดพระราชอำนาจมาให้แก่วุฒิสภาเป็นผู้ยับยั้งกฎหมาย

๔. หลายราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขก็มีทางโน้มไปในทางมีสภาผู้แทนราษฎรเดียว เช่น ราชอาณาจักรเดนมาร์กมีสภาผู้แทนราษฎรเดียวเรียกว่า “Folketing” ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก ราชอาณาจักรสวีเดนมีสภาผู้แทนราษฎรเดียวเรียกว่า “Riksdag” ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก

ขอให้สังเกตไว้ด้วยว่า มหาราชอาณาจักรญี่ปุ่นซึ่งมีพระจักรพรรดิเป็นประมุข อันเป็นพระราชวงศ์ที่ยั่งยืนนานที่สุดในโลก พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ ชื่อพระเจ้าชิมมุได้สถาปนาพระราชวงศ์ขึ้นเมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ ปี และมีพระทายาทสืบต่อมาจนกระทั่งถึงพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตปัจจุบันนั้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นก็ได้ยกเลิก “สภาเจ้าศักดินา” (House of Peers) โดยยกเลิกฐานันดรศักดิ์เจ้าศักดินาที่มีมาแต่โบราณกาลนั้นหมดสิ้นไป สภาสูงของญี่ปุ่นปัจจุบันนี้มีชื่อว่า “สภาที่ปรึกษา” (House of Councilors) มีจำนวน ๒๕๐ คน ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง ๑๐๐ คน และอีก ๑๕๐ คนเลือกโดยแขวงของมณฑล คือ เป็นสภาสูงที่ราษฎรเลือกตั้ง ส่วนสภาผู้แทนนั้นราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก

ดังนั้น แม้ญี่ปุ่นจะมี ๒ สภาแต่สมาชิกก็เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา เมื่อสมัยปัจจุบันราชอาณาจักรต่างๆ ได้เปลี่ยนระบบโบราณมาเป็นวิธีให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนดังนั้นแล้ว เราก็ควรพิจารณาว่า เหตุใดผู้ที่ต้องการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยจึงยังต้องการให้มีวุฒิสภาที่ราษฎรมิได้เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิก และจะถือเอาตัวอย่างของอังกฤษก็ต้องศึกษาประวัติและลักษณะของสภาสูงอังกฤษให้ถูกต้องว่าเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของอังกฤษที่เป็นประเพณีสืบมาจากที่ประชุมของเจ้าศักดินาแคว้นน้อยใหญ่ ที่อยู่ใต้พระราชาธิบดี เปรียบประดุจสภาสหพันธ์เจ้าศักดินาอังกฤษตามที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความอื่นๆ แล้ว

๕. ในประเทศไทยเรานี่เองก็เคยมีสภาเดียวซึ่งพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานไว้ ต่อมาในปี ๒๔๘๙ จึงมี ๒ สภา ผมเห็นเป็นการสมควรที่จะชี้แจงความเป็นมาดังต่อไปนี้

ก. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น ผมในนามคณะราษฎรเป็นผู้ยกร่างขึ้น เดิมไม่มีคำว่า “ชั่วคราว” ครั้นเมื่อผมนำไปทูลเกล้าฯ ถวายพระปกเกล้าฯ ที่วังสุโขทัยพระองค์ได้ขอให้เติมคำว่า “ชั่วคราว” แล้วก็ได้ทรงเขียนลายพระหัตถ์เองเติมคำว่า “ชั่วคราว” ไว้ โดยรับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อนแล้วจึงตั้งกรรมการและให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรขึ้นโดยทรงเห็นชอบด้วยในการให้มีสภาเดียว

ข. การร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ได้ถือหลักการมีสภาเดียว ผมได้กล่าวไว้ในบทความอื่นๆ ว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้สนพระทัยพระราชทานพระราชดำริมายังรัฐบาลว่ารับสั่งให้พระยามโนปกรณ์ฯ ไปเฝ้าบ้าง ให้พระยาพหลฯ กับข้าพเจ้าไปเฝ้าบ้าง และพระราชปรารภนั้น คณะราษฎรได้ถวายให้ทรงร่างโดยพระองค์เองตามพระราชประสงค์

ส่วนตัวบทนั้นก็ได้ทรงพิจารณาครบถ้วนกระบวนความอย่างแท้จริงตามที่ปรากฏในพระราชปรารภ ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้กล่าวไว้ในบทความอื่นๆ แล้ว ดังนี้ย่อมเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะทรงแทนระบอบสมบูรณาฯ ได้ทรงโอนพระราชอำนาจมาให้ปวงชนเพื่อให้มีสภาเดียวอันถือว่าเป็น “สังคมสัญญา” ระหว่างพระปกเกล้าฯ ในฐานะทรงแทนระบอบสมบูรณาฯ กับปวงชนชาวไทย แต่ในรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธันวาคมนั้น ได้มีบทบัญญัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้มิใช่โดยวิธีรัฐประหาร ดังนั้น ในการตรารัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ ให้มี ๒ สภานั้นก็โดยอาศัยวิธีการรัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ได้อนุญาตไว้ ความเป็นมาของการให้มี ๒ สภาตามรัฐธรรมนูญ ๒๔๘๙ เป็นอย่างไรนั้นจะกล่าวในข้อ จ. ต่อไป

ค. มีบางคนโฆษณาหลอกลวงให้ชนรุ่นใหม่หลงเข้าใจผิดว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำใจต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ประดุจเป็นพระลัญจกรประดับบนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นที่คณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย

ผมขอชี้แจงความจริงว่านอกจากทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชกระแสและทรงยกร่างพระราชปรารภประกอบรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. แล้ว ยังมีการปฏิบัติที่แสดงว่าพระองค์เต็มพระทัย ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้จะมีอายุมากแล้วซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก และนายทหารรักษาวังสมัยนั้น คงจำกันได้ว่า ก่อนถึงวันพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น พระองค์ได้เสด็จไปที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อทรงบัญชาการด้วยพระองค์เองว่าพิธีนั้นควรจัดอย่างไร ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาพหลฯ และผมไปเฝ้าด้วย แล้วได้ทรงบัญชาการซ้อมพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยให้นายทหารรักษาวังจำนวนหนึ่งยืนทางฝ่ายซ้าย สมมติว่าเป็นที่ประทับของเจ้านายที่จะมาเฝ้าในราชพิธี ทางฝ่ายขวาของราชบัลลังก์ให้พระยามโนปกรณ์ฯ พระยาพหลฯ และผมกับสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งยืนเข้าแถว สมมติว่าเป็นที่ซึ่งคณะกรรมการราษฎรและเสนาบดีและข้าราชการประจำชั้นผู้ใหญ่จะยืนเฝ้าในวันราชพิธี ส่วนเบื้องหน้าพระราชบัลลังก์นั้นกำหนดให้เป็นที่ยืนเฝ้าของเจ้าประเทศราชและขุนนางผู้ใหญ่อื่นๆ นี่ก็แสดงชัดแจ้งว่า มิใช่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยถูกบังคับหรือโดยเสียมิได้ก็จำต้องพระราชทาน

เมื่อได้กล่าวมาถึงตอนนี้แล้ว ก็ควรกล่าวเพื่อประวัติศาสตร์ไว้ด้วยว่าในวันพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เจ้าประเทศราชซึ่งเป็นประมุขของคนไทยแห่งนครและรัฐต่างๆ ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ก็ได้เต็มใจมาเฝ้า เห็นพ้องต้องกันสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ อาทิ เจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่, เจ้าจักรคำจร ผู้ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน, พระยาพิพิธเสนามาตย์ซึ่งเป็นราชาแห่งยะหริ่ง (อำเภอยามู),พระยาภูผาฯ ซึ่งเป็นราชาแห่งระแงะ

นอกจากนี้ หลายท่านที่เป็นเชื้อสายของราชา หรือ สุลต่านในบางจังหวัดภาคใต้ก็ได้มาร่วมแสดงความยินดีที่ราชอาณาจักรสยามมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย โดยถือเอาตัวบทถาวรเป็นสัญลักษณ์ ส่วนบทเฉพาะกาลนั้นก็เป็นเรื่องชั่วคราวซึ่งหมดกำหนดเฉพาะกาลแล้วก็มีบทถาวรตามมาตรา ๑๖ ที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้ “เลือกตั้งขึ้น””

ง. บางคนไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” จำนวน ๗๐ คน ซึ่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎรตั้งขึ้นตามฉบับ ๒๗ มิถุนายนนั้นคือใครบ้าง โดยผู้ไม่รอบคอบนั้นอ่านแต่ตัวหนังสือเมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ก็คิดเสียว่าเป็นเรื่องอย่างจอมพลสฤษดิ์ หรือ จอมพลถนอมแต่งตั้งขึ้น โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม

ผมจึงขอให้นิสิตนักศึกษานักเรียน และมวลราษฎรที่สนใจโปรดอ่านราชกิจจานุเบกษาว่า ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารในนามคณะราษฎร มิได้แต่งตั้งพวกของตัวเท่านั้น หากตั้งท่านผู้มีฐานันดรศักดิ์จากระบอบสมบูรณาฯ เป็นส่วนมากกว่าสมาชิกคณะราษฎรเอง คือ เจ้าพระยา ๓ ท่าน คือ (๑) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ผู้ซึ่งเป็นพระอัยยกาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน (๒) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ (๓) มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

รองลงไปมีนายพลตรี มหาเสวกตรี มหาอำมาตย์ตรีและโท ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา ๑๕ คน รองต่อไปมีนายพันเอก นายนาวาเอก นายพันตำรวจเอก อำมาตย์เอก ที่มีบรรดาศักดิ์พระยา ๖ คน ที่มีบรรดาศักดิ์พระ ๓ คน ที่มีบรรดาศักดิ์หลวง ๖๐ คน นอกนั้นไม่มีบรรดาศักดิ์ ในจำนวนนั้นมีเชื้อราชตระกูลหลายท่าน คือ ท่านเจ้าพระยาวงศาฯ แห่งราชตระกูล “สนิทวงศ์ฯ” ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯ แห่งราชตระกูล “เทพหัสดินฯ” ท่านเจ้าพระยาพิชัยญาติ แห่งราชนิกุล “บุนนาค” พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ แห่งราชตระกูล “อิศรศักดิ์ฯ” หลวงเดชาติวงศ์ฯ แห่งราชตระกูล “เดชาติวงศ์ ฯ” หลวงสุนทรเทพหัสดิน แห่งราชตระกูล “เทพหัสดิน ฯ” หลวงดำริอิศรานุวรรตแห่งราชตระกูล “อิศรางกูร” หลวงเดชสหกรณ์ และหม่อมหลวงอุดมฯ แห่งราชตระกูล “สนิทวงศ์ฯ” ซึ่งทั้ง ๒ ท่านหลังนี้เป็นพระมาตุลาของสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน

ในจำนวนผู้แทนราษฎรชั่วคราว ๗๐ คนนั้น มีสมาชิกคณะราษฎรเพียง ๓๑ คนเท่านั้น เมื่อนิสิตนักศึกษานักเรียนและมวลราษฎรทราบรายชื่อ “ผู้แทนราษฎรชั่วคราว” ตามฉบับ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ก่อนเสนอพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แล้วท่านผู้สนใจที่มีใจเป็นธรรมก็ย่อมเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ นั้น ท่านที่เป็นราชตระกูลกับราชนิกุล รวมทั้งผู้มิได้มีฐานะดังกล่าวแล้ว คือ สืบมาจากสกุลราษฎรธรรมดาสามัญ ได้ร่วมมือกันเป็นเอกฉันท์ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. เสร็จแล้วลง มติเห็นชอบพ้องกันให้นำเสนอพระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะลงพระปรมาภิไธยในพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ และท่านทั้งหลายก็คงจะเห็นได้ว่าถ้ารัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ไม่เคารพพระมหากษัตริย์แล้วท่านที่มีฐานันดรศักดิ์ทั้งหลายนั้นจะยอมลงคะแนนให้ง่ายๆ หรือ ซึ่งต่างกับจำพวกที่เรียกกันว่า “ฝักถั่ว” ในการพิจารณาลงมติให้แก่รัฐธรรมนูญบางฉบับ

ในหนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” จัดพิมพ์ในโอกาส ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ ผมได้กล่าวความไว้ตอนหนึ่งว่า

“...........ในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสที่ผู้จงรักภักดีอย่างแท้จริงในระบอบประชาธิปไตยได้เตือนพวกที่ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “Ultra-royaliste” ซึ่งมีคำธิบายว่า พวกที่อ้างเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีเอง ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสปรากฏว่าระหว่างเวลา ๘๐ ปี นับตั้งแต่การอภิวัฒน์ฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๔ ถึง ค.ศ. ๑๘๗๐ นั้น ราชวงศ์บูร์บองได้กลับมาครองราชย์หลายครั้ง

ต่อมาเมื่อ ค.ศ.๑๘๗๐ นโปเลียนที่ ๓ แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ตได้สละราชสมบัติ เนื่องจากแพ้เยอรมัน ฝ่ายเจ้าสมบัติเมื่อได้ปราบปรามขบวนการสหการปารีสสำเร็จแล้ว ได้จัดให้มีระบบสภาเพื่อลงมติว่าฝรั่งเศสจะปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐหรือระบอบราชาธิปไตย โดยอัญเชิญรัชทายาทแห่งราชวงศ์บูร์บองขึ้นครองราชย์

เสียงราษฎรส่วนมากที่พ้นจากการปราบปราม ขณะนั้นปรารถนาตามวิธีหลังนี้ แต่ฝ่ายพวกที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดีนั้นได้อ้างพระราชหฤทัยรัชทายาทที่จะได้รับอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และเรียกร้องเกินเลยไป แม้เรื่องธงชาติก็จะให้เปลี่ยนจากธงสามสีมาใช้ธงขาวประกอบด้วยรูปดอกไม้สามแฉก (คล้ายดอกบัวดิน) ……

สมเด็จเจ้าแห่งมาจองตา (Duc de Magenta) ได้มีรับสั่งเตือนผู้ที่ทำตนเป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์ราชาธิบดี และอ้างว่ารู้พระราชหฤทัยต่างๆ นั้นว่า ถ้าพวกนั้นต้องการจะเอาธงขาวมีรูปดอกไม้ชนิดนั้นมาใช้แทนธงสามสีแล้ว ทหารปืนยาวก็จะเดินแถวไปตามลำพังโดยปราศจากธงประจำกอง แต่พวกนั้นก็หัวรั้นไม่ยอมฟังคำเตือนของสมเด็จเจ้า จึงเป็นเหตุให้เสียงในรัฐสภาที่เดิมส่วนมากปรารถนาสถาปนาราชวงศ์บูร์บองขึ้นมาอีกนั้นต้องลดน้อยลงไป แม้กระนั้นเมื่อถึงเวลาลงมติฝ่ายที่นิยมสาธารณรัฐชนะเพียง ๑ เสียงเท่านั้น

ถ้าหากผู้ทำตนเป็นราชธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดีไม่อวดอ้างเอาเด่นของตนแล้ว ราชวงศ์บูร์บองก็จะได้กลับขึ้นครองราชย์อีก ดังนั้น พวกที่เป็นราชาธิปไตยยิ่งกว่าองค์พระราชาธิบดี จึงมิเพียงแต่เป็นพวกที่ทำให้ราชบัลลังก์ฝรั่งเศสต้องสะเทือนเท่านั้น หากยังทำให้ราชบัลลังก์แห่งราชวงศ์บูร์บองสลายไป ตั้งแต่ครั้งกระนั้นจนถึงปัจจุบันนี้”

การเปลี่ยนจากมีสภาเดียวมาเป็นสองสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ นั้น ผมขอให้ผู้สนใจได้อ่านหลักฐานที่ปรากฏในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ เสียก่อนเพื่อทราบความเป็นมาซึ่งหลักฐานเอกสารดังต่อไปนี้

“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ ๑๔ ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้ จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ทราบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทเฉพาะกาล อันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้น ปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๘ ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง และ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

สภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาค้นคว้าตรวจสอบรัฐธรรมนูญตามคำเสนอข้างต้นนี้ กรรมาธิการคณะนี้ได้ทำการตลอดสมัยของรัฐบาลคณะนายควง อภัยวงศ์ คณะนายทวี บุณยเกตุ และคณะหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช

ต่อมารัฐบาลคณะหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อกรรมการคณะนี้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแก้ไขอีกชั้นหนึ่ง แล้วนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประชุมปรึกษาหารือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท ๒ และคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญที่ประชุมได้ตั้งกรรมการขึ้นพิจารณา เมื่อกรรมการได้ตรวจพิจารณาแก้ไขแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่  ๒ จึงได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาลงมติรับหลักการแล้ว จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่ง

บัดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้วเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นว่า ประชากรของพระองค์ประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฎฐาภิปาลโนบาย สามารถจรรโลงประเทศชาติของตนในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยะธรรมแห่งโลกได้โดยสวัสดี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้ขึ้นไว้ ประสิทธิประสาทประกาศให้ใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นไป”

ท่านผู้สนใจทั้งหลายที่มีใจเป็นธรรมย่อมเห็นได้ว่า ผมและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทเป็นผู้ริเริ่มเลิกบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ๑๐ ธ.ค. ๒๔๗๕ ที่ใช้มาแล้วถึงปีที่ ๑๔ แทนที่จะนิ่งเฉยปล่อยให้บทเฉพาะกาลนั้นดำเนินต่อไปอีก ๖ ปี คือ ครบ ๒๐ ปี ตามที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม

ถ้ารัฐบาลได้ดำเนินการตามการริเริ่มดังที่ผมกล่าวแล้ว ประเทศไทยก็มีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว แต่ความก็ปรากฏชัดอยู่ว่า รัฐบาลคณะ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อรวบรวมความเห็นและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้ว คณะรัฐมนตรีนำเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งผมดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น

ครั้นแล้ว ผมจึงได้ประชุมปรึกษาหารือบุคคลต่างๆ ที่ปรากฏในคำปรารภ ในระหว่างนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จกลับกรุงเทพมหานครตามคำกราบบังคมทูลของผมและของรัฐบาล ผมจึงพ้นจากหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมเป็นรัฐบุรุษอาวุโส โดยผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล

ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ฯ ก็เป็นอยู่ด้วยผู้หนึ่งได้เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามร่างที่รัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ และคณะกรรมการได้ทำขึ้นนั้น ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาพิจารณาลงมติรับหลักการให้มี ๒ สภาแล้ว จึงตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งซึ่งมีผมได้รับแต่งตั้งด้วยผู้หนึ่ง คณะกรรมาธิการได้ตกลงเลือกผมเป็นประธาน และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เป็นเลขานุการ ผมจึงทำหน้าที่ตามที่ได้รับแต่งตั้งพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญตามที่สภาลงมติรับหลักการนั้น

ในระหว่างนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมได้ดำเนินหน้าที่ประธานคณะกรรมาธิการนั้น พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจนสำเร็จแล้วเสนอต่อสภาฯ พิจารณาเป็นการสำเร็จบริบูรณ์ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายตามความที่ปรากฏนั้นแล้ว

หลักการของรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ได้เคารพหลักประชาธิปไตยอันเป็น “สังคมสัญญา” อันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะแทนระบอบสมบูรณาฯ กับปวงชนชาวไทยที่ได้อิสราธิปไตยสมบูรณ์ ราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนโดยตรงและราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งพฤฒสมาชิกโดยทางอ้อม (Indirect) หรือ การเลือกตั้ง ๒ ชั้น แต่ในระยะเริ่มแรกมีบทเฉพาะกาลที่ให้ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่ ๑ และประเภทที่ ๒ ประกอบกันเป็นองค์การเลือกตั้ง ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ยังคงใช้อยู่เพียงอีก ๓ ปี พฤฒสมาชิกก็ต้องออกไปกึ่งหนึ่งซึ่งผู้ที่จะเป็นแทนในตำแหน่งที่ว่างก็เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา และต่อไปอีก ๓ ปี พฤฒสมาชิกก็เป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมาครบถ้วนบริบูรณ์

แต่เมื่อได้พิจารณาเหตุผลต่างๆ ในทางปฏิบัติตามที่ผมได้กล่าวมาแล้วในข้อต่างๆ ข้างต้นนั้นประกอบด้วยทางโน้มของหลายราชอาณาจักร เพื่อเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของโลก ผมจึงเห็นด้วยกับองค์การนักศึกษาที่ราชอาณาจักรไทยควรมีสภาผู้แทนราษฎรแต่สภาเดียว

 

ที่มา: ปรีดี พนมยงค์. การมีสภาเดียว, ใน, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2535), น. 99-105

บทความที่เกี่ยวข้อง: