ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

นโยบายเศรษฐกิจสวัสดิการสังคมของปรีดี พนมยงค์

30
กรกฎาคม
2567

Focus

  • นโยบายและแนวคิดเศรษฐกิจสวัสดิการสังคม ของปรีดี พนมยงค์ ปรากฏทันทีภายหลังการอภิวัฒน์ 2475 โดยมีหลักการสำคัญในหลัก 6 ประการ ในประกาศคณะราษฎร และนำมาสู่การปฏิญาณในรัฐสภา วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชรเสนอว่า นายปรีดีควรจะนับได้ว่าเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่มีแนวคิดในด้านสวัสดิการสังคมและไม่เพียงแต่แนวคิดเท่านั้น ยังได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสวัสดิการสังคมอย่างเป็นรูปธรรม
  • หลักการของนายปรีดี พนมยงค์ ในการประกันสวัสดิการสังคมดังกล่าวนี้ก็คือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคนในจํานวนที่เพียงพอสําหรับการดํารงชีวิต ด้วยปัจจัยที่จําเป็นต่าง ๆ เพื่อการนั้นการที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้กับราษฎรก็จะมีผลเท่ากับว่า ราษฎรมีฐานะเป็น “ข้าราชการ”
  • นอกจากเรื่องการประกันสังคมแล้ว นายปรีดียังได้เสนอให้พิจารณาถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างซึ่งเป็นวิสาหกิจเอกชนกับผู้เป็นลูกจ้าง ซึ่งการนั้นอาจนํามาซึ่งปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน เช่น การนัดหยุดงานและการที่นายจ้างต้องปิดโรงงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในลักษณะใดก็ตามก็ย่อมเป็นผลเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวมทั้งสิ้น

 


นายปรีดี พนมยงค์ ช่วง 1 ปีแรกของการอภิวัฒน์ พ.ศ. 2475-2476

 

นายปรีดี พนมยงค์ ควรจะนับได้ว่าเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่มีแนวคิดในด้านสวัสดิการสังคมและไม่เพียงแต่แนวคิดเท่านั้น ยังได้เสนอหลักการและร่างกฎหมายว่าด้วยการประกันสวัสดิการสังคมอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ยิ่งกว่านั้นก็ยังเป็นบุคคลแรกที่ได้เสนอปัญหาอันเกี่ยวข้องกับแรงงานสู่การพิจารณาในระดับนโยบายและสู่สายตาของสาธารณชน แนวความคิดและข้อเขียนของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ล้าสมัยและแม้ว่าบ้านเมืองและสังคมจักได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ ก็ยังคงมีคุณค่าต่อการพิเคราะห์

 


หลัก 6 ประการ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทศวรรษ 2480
หลัก 6 ประการข้อที่ 3 คือ “จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก”

 

นายปรีดี พนมยงค์ ยืนยันเป็นหลักการว่า “ราษฎรทุกคนควรได้รับประกันจากรัฐบาล” ว่าตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เจ็บป่วย พิการ หรือชราภาพจะต้องมีปัจจัยที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตและการประกันโดยรัฐบาล เช่นนี้จะมีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทองทั้งปวงซึ่งจะต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล เพราะเอกชนไม่สามารถที่จะรับผิดชอบได้อย่างสมบูรณ์ แนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ เกิดจากความตระหนักในความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของแต่ละชีวิตไม่ว่าจะในแง่ของฐานะทางเศรษฐกิจหรือในแง่ของสังขารแห่งร่างกาย

 


คำชี้แจงเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับที่นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ครั้งแรกจำนวน 200 ฉบับ

 

สําหรับหลักการของนายปรีดี พนมยงค์ ในการประกันสวัสดิการสังคมดังกล่าวนี้ก็คือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจ่ายเงินให้แก่ราษฎรทุกคนในจํานวนที่เพียงพอสําหรับการดํารงชีวิต ด้วยปัจจัยที่จําเป็นต่าง ๆ เพื่อการนั้นการที่รัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้กับราษฎรก็จะมีผลเท่ากับว่า ราษฎรมีฐานะเป็น “ข้าราชการ” ซึ่งในการนี้รัฐบาลก็อาจกําหนดให้บุคคลที่มีอายุ เช่น ตั้งแต่ ๑๘ ปี ถึง ๕๕ ปี ต้องทํางานตามความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคลและภายหลังจากนั้นก็จะได้รับบํานาญไปตลอดชีวิตสําหรับผู้ที่มีอายุต่ํากว่า ๑๘ ปี ก็มีหน้าที่ต้องเล่าเรียนและทํางานบ้างเล็กน้อยตามกําลังและความเหมาะสมของวัย อัตราเงินเดือนนั้นก็จะแตกต่างกันไปตามความรู้ความสามารถโดยอัตราขั้นต่ํา (เทียบได้กับค่าจ้างขั้นต่ําในปัจจุบัน) จะต้องเพียงพอแก่การดํารงชีพตามอัตภาพ

นายปรีดี พนมยงค์ มีความมั่นใจว่าราษฎรโดยทั่วไปจะสมัครใจเข้า “รับราชการ” เพราะทําให้มีหลักประกันสวัสดิการที่มั่นคง ซึ่งในกรณีนั้นก็เป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะใช้ประโยชน์กําลังแรงงานของชาติในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการให้การศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพและแม้กระทั่งการฝึกวิชาทหาร สําหรับในกรณีของสหกรณ์นั้น ราษฎรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็จะได้รับเงินเดือนจากสหกรณ์ และเป็นโอกาสของสหกรณ์ที่จะดําเนินการใช้ประโยชน์จากแรงงานและความรู้ความสามารถของสมาชิกในลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตามแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ นั้นรัฐบาลหรือสหกรณ์ไม่จําเป็นจะต้องบังคับให้ราษฎรทุกคนเข้ามาอยู่ในโครงการสวัสดิการสังคมดังกล่าวนี้ บุคคล ๒ ประเภท ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้าอยู่ในโครงการสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดขึ้น ก็คือผู้ที่แสดงว่ามีฐานะและทรัพย์สินเพียงพอที่จะดําเนินชีวิตได้ตามลําพังและสามารถเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองได้ประเภทหนึ่งและบุคคลที่มีอาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก ศิลปิน ฯลฯ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ดังนั้นการประกอบอาชีพเป็นอิสระก็ยังกระทําได้ซึ่งอยู่นอกระบบสวัสดิการสังคมที่มีความมุ่งหมายจะเป็นหลักประกันให้แก่บุคคลที่ช่วยตนเองโดยลําพังไม่ได้ นอกจากนั้นสําหรับบุคคลบางประเภท อันได้แก่ หญิง มีครรภ์ คนเจ็บป่วย คนพิการ เยาวชนในวัยศึกษาและคนชราที่พ้นวัยทํางาน และได้รับบํานาญแล้วก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทํางาน แต่จะได้รับเงินเดือนหรือบํานาญเป็นปกติ

สวัสดิการสังคมตามแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นสิ่งที่นานาอารยประเทศได้ถือปฏิบัติกันมาแล้วเป็นเวลาช้านาน เรื่องใหม่ในประเทศไทยซึ่งมีผู้ไม่เข้าใจในหลักการและเหตุผลอยู่มาก จนแม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นที่ไกลจากความสมบูรณ์ ในอดีตนั้นข้อรังเกียจต่อสวัสดิการหรือการประกันสังคมมาจากความสับสนระหว่างเรื่องดังกล่าวกับการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อได้มีการพยายามหลีกเลี่ยงความเข้าใจสับสนที่กล่าวถึงโดยผลักภาระความรับผิดชอบไปให้แก่วิสาหกิจเอกชนแม้เพียงบางส่วนก็ตามก็เกิดปัญหาว่าด้วยค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของภาคเอกชนจนเกรงกันไปว่า สวัสดิการสังคมจะทําให้วิสาหกิจเอกชนเสียเปรียบในการแข่งขันหรือในบางกรณีจะทําให้ต่างชาติไม่ เต็มใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศ

นอกจากเรื่องการประกันสังคมแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้เสนอให้พิจารณาถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างซึ่งเป็นวิสาหกิจเอกชนกับผู้เป็นลูกจ้าง ซึ่งการนั้นอาจนํามาซึ่งปัญหาต่าง ๆ หลายด้าน เช่น การนัดหยุดงานและการที่นายจ้างต้องปิดโรงงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในลักษณะใดก็ตามก็ย่อมเป็นผลเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวมทั้งสิ้น ในแนวความคิดของนายปรีดี พนมยงค์ นั้นในหลักการความขัดแย้งดังกล่าวจะมีน้อยลงและไม่รุนแรงถ้าหากราษฎรที่เป็นลูกจ้างมีฐานะเป็นเจ้าของกิจการเช่น ในกรณีที่เป็นสมาชิกสหกรณ์หรือเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตามการที่ในสมัยปัจจุบันมักจะมีข้อขัดแย้งค่อนข้างรุนแรงระหว่าง “นายจ้าง” กับ “ลูกจ้าง” ในกิจการของรัฐ เหตุผลก็คงจะเป็นเพราะการดําเนินกิจการของรัฐยึดแบบแผนของระบบทุนนิยมมิใช่สังคมนิยมเช่น รัฐวิสาหกิจก็เป็น รัฐวิสาหกิจทุนนิยมหรือสหกรณ์ก็เป็นสหกรณ์ทุนนิยมดังนั้นการขัดแย้งก็ย่อมจะเป็นปรากฏการณ์ปกติในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว

นายปรีดี พนมยงค์ให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งเป็นเครื่องกําหนดเงินเดือนหรือรายได้ของราษฎร ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาให้ราษฎรอย่างทั่วถึง ซึ่งในกรณีที่เป็นคนของรัฐบาลหรือสมาชิกสหกรณ์แล้วก็พึงจะต้องบังคับให้ต้องศึกษาหรือรับการฝึกอบรมต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแต่ละคนตลอดจนเงินเดือน ค่าจ้าง และรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้วิเคราะห์ว่าการสูญเสียในทางเศรษฐกิจของประเทศไทยส่วนสําคัญเนื่องมาจากแรงงานที่สูญเสียโดยไม่ได้รับการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด หรือได้รับการใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ซึ่งการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานในประเด็นนี้ สําหรับสิ่งแวดล้อมใน ปี ๒๔๗๕ จําเป็นที่รัฐบาลจักต้องมีบทบาทหลักในการจัดการเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

 

หมายเหตุ

  • คงอักขร วิธีการสะกด และเลขไทยตามต้นฉบับ
  • ปรับปรุงชื่อบทความโดยบรรณาธิการ

 

บรรณานุกรม

  • วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร, แนวคิดทางเศรษฐกิจของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, 2543)