ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปัญหาเอกราชในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

23
กันยายน
2563

ปัญหาเอกราชของสยามนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่การที่กษัตริย์สยามต้องยอมลงนามในสัญญาบาวริงกับอังกฤษในเดือนเมษายน พ.ศ. 2398 โดยที่สัญญานี้เป็นสัญญาไม่เสมอภาค เพราะสยามจําต้องยอมรับในความเหนือกว่าแห่งแสนยานุภาพของจักรวรรดินิยมอังกฤษ จึงได้ยอมให้อังกฤษได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการศาลในสยาม คือ ให้ชาวอังกฤษและคนในบังคับอังกฤษ เมื่อกระทําความผิดไม่ต้องขึ้นศาลสยาม หากแต่จะต้องพิจารณาคดีในศาลกงสุลที่อังกฤษจะจัดตั้งขึ้น

ยิ่งกว่านั้นยังต้องยกเลิกภาษีทุกชนิดแก่สินค้าอังกฤษ นอกจากภาษีสินค้าขาเข้าซึ่งเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 3 และยังต้องปฏิบัติต่ออังกฤษในฐานะ “ชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง” เงื่อนไขของสัญญายังระบุด้วยว่า การบอกเลิกสัญญาจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายถึงว่า ฝ่ายสยามจะดําเนินการใด ๆ เพื่อเลิกสัญญานี้ฝ่ายเดียวมิได้

จะเห็นได้ว่า สนธิสัญญาบาวริงเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เพราะบังคับเอาจากสยามฝ่ายเดียว แต่กระนั้นก็ได้กลายเป็นต้นแบบที่ประเทศตะวันตกทั้งหลายทํากับรัฐบาลกษัตริย์สยาม ที่สําคัญก็เช่น การลงนามในสัญญากับสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2399 โปรตุเกส พ.ศ. 2402 เนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2403 ปรัสเซีย พ.ศ. 2405 ออสเตรีย-ฮังการี พ.ศ.2412 ต่อมารุสเซียก็ลงนามในสัญญาลักษณะเดียวกันกับสยามใน พ.ศ. 2442 และแม้แต่ประเทศมหาอํานาจตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น ก็ได้ทําสัญญาไม่เสมอภาคกับสยามในแบบเดียวกับตะวันตกในปี พ.ศ. 2441

ในการที่สยามทําสัญญาเสียเปรียบกับอังกฤษแล้ว ยังยอมทําสัญญาเสียเปรียบกับประเทศอื่นอีกเช่นนี้ ได้รับการอธิบายจากสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ (2504 : 326) ด้วยเหตุผลที่แปลกว่า

ข้อนี้เป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดําริเห็นว่า ถ้าทําสัญญาเช่นนั้นกับชาติหนึ่งชาติใดแต่ชาติเดียว ฐานะของประเทศสยามก็จะเหมือนอยู่ในการจับจองของชาตินั้น ถ้าทําให้เหมือนกันเสียหลายชาติ แม้เสียเปรียบในข้อสัญญา ก็ได้เปรียบที่เป็นอิสรภาพมั่นคง

แต่สนธิสัญญาเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาเอกราชในทัศนะของผู้นําคณะราษฎรถึง 3 ประการตามที่ระบุไว้ในข้อแรกของหลักหกประการ นั่นคือ เอกราชทางการศาล ทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง ซึ่งสามารถประมวลได้ดังนี้

ปัญหาเอกราชในทางการศาล

ปัญหาเอกราชในทางการศาล ก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” (Extraterritoriality) ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษที่ชาวต่างชาติได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นศาลของประเทศที่ตนพํานัก เมื่อกระทําความผิด คือ ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายของประเทศนั้น แต่ใช้กฎหมายของประเทศตนเองขึ้นกับศาลกงสุลประเทศตนเอง (ทรงศรี อาจอรุณ 2506 : 81) โดยผู้ที่ได้รับสิทธินี้ คือ บุคคลในคณะทูตหรือผู้แทนของประเทศ และบุคคลที่ขึ้นบัญชีเป็นคนในบังคับต่างชาติ

เหตุผลสําคัญของปัญหาเอกราชในทางการศาล ก็คือ การที่ประเทศจักรวรรดินิยมหลายประเทศ ไม่ยอมรับหลักการของกฎหมาย และศาลของประเทศสยามว่าจะให้ความเป็นธรรมได้เพียงพอ หรืออีกนัยหนึ่ง ชาวตะวันตกเห็นว่า จารีตของกฎหมายสยามที่ใช้อยู่ล้าหลังและไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นความจริงที่กฎหมายของสยามก็ยังไม่ได้มาตรฐานตามแบบตะวันตก เพราะไม่มีการแบ่งแยกเป็นแพ่งและอาญา ไม่มีการจัดหมวดหมู่ และมีบทบัญญัติที่ให้หลักประกันแก่ชาวตะวันตกได้ นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษที่ไม่ชัดเจน แต่กลับดูทารุณโหดร้ายผิดปกติวิสัย และในด้านการศาลของสยามที่มีอยู่เดิมก็ยังสับสนมาก เพราะกรมกองหน่วยบริหารต่าง ๆ สามารถมีศาลของตนเองได้ (พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์ 2516 : 37-44)

แต่ประเด็นสําคัญอยู่ที่ว่า กฎหมายของสยามบังคับใช้กับบุคคลอย่างไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างราษฎรที่เป็นไพร่กับเจ้านายและขุนนาง แม้กระทั่งเซอร์จอห์น บาวริง ก็ยังสะท้อนว่า ศาลและกฎหมายสยามมิได้ให้หลักประกันเพียงพอ เพราะพระราชปรารถนาจะเข้ามาแทนที่ความยุติธรรม และเจ้านายและผู้มีอิทธิพลในสยามมีอํานาจแทรกแซงในทางปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายอยู่เสมอ (Bowring 1857 : 170) ด้วยเหตุเช่นนี้ อังกฤษและมหาอํานาจอื่น ๆ จึงต้องบังคับเอาสิทธิพิเศษทางการศาลเหนือประเทศสยาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือ การตีความเกี่ยวกับคนในบังคับต่างประเทศ เพราะตามสัญญาบาวริง ฝ่ายสยามตีความว่า คนในบังคับอังกฤษ หมายถึงคนอังกฤษที่เกิดในประเทศอังกฤษ มิได้หมายถึงชาวเอเชียที่มาจากอาณานิคมของอังกฤษ แต่ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสยืนยันให้ชาวเอเชียในอาณานิคม เช่น จากอินเดีย พม่า ฮ่องกง เขมร มลายู และเวียดนาม เป็นคนในบังคับด้วย ซึ่งฝ่ายสยามก็จําต้องยอมตามนั้น โดยเฉพาะในกรณีของฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้ชาวเขมร ไม่ว่าจะอยู่ในสยามมานานเท่าไร หรือเพิ่งมาจากเขมร ให้เป็นคนในบังคับฝรั่งเศสเสมอ ทําให้ได้ยกเว้นจากการขึ้นศาลของสยาม (เพ็ญศรี ตุ๊ก 2542 : 167)

กรณีนี้จึงโน้มนําให้ชาวจีนและชาวเอเชียทั้งหลายที่อยู่ในสยามต้องการเลี่ยงกฎหมายสยาม โดยการขอจดทะเบียนเป็นคนในบังคับต่างชาติแทบทั้งสิ้น เพราะนอกจากจะไม่ต้องขึ้นศาลสยามแล้ว ยังได้ยกเว้นไม่ต้องรับราชการทหาร และไม่ต้องเสียภาษีรัชชูปการ ปรากฏว่า การเป็นคนในบังคับต่างชาติก็ง่ายและสะดวก เพราะเพียงแต่เอาหนังสือเดินทางมาแสดงเท่านั้น และยังปรากฏว่า คนในบังคับซื้อขายทะเบียนระหว่างกันอีกด้วย และในขณะเดียวกัน กงสุลของประเทศภาคีสมาชิกยังขยายสิทธิไปถึงลูกจ้างของตน รวมทั้งบุพการีและลูกหลานของลูกจ้าง โดย ไม่ได้คํานึงว่าจะเป็นชาวสยามโดยกําเนิดหรือไม่

ปัญหาเอกราชทางเศรษฐกิจ

ไม่เพียงแต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านการศาลเท่านั้นที่ยังดํารงอยู่ในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศจักรวรรดินิยมก็มีสิทธิพิเศษตามสัญญาไม่เสมอภาค คือประเทศสยามถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้า แม้ว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีการขอแก้ไขสนธิสัญญาให้สยามมีสิทธิเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อกําหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศยังมีสิทธิพิเศษอื่น ๆ อีก เช่น สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ และการเดินเรือ

ปัญหาเอกราชทางการเมือง

ในทางการเมือง จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองครอบงําสยาม ทั้งทางตรงและทางอ้อม เคยคุกคามให้สยามโอนดินแดนไปเป็นอาณานิคมของตน และยังเคยคุกคามที่จะยึดเอาสยามทั้งประเทศไปแบ่งปันเป็นอาณานิคมของสองประเทศ ปรากฏว่ามีข้อตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1896 (พ.ศ. 2438) ซึ่งสยามไม่ได้มีส่วนรับรู้ตามข้อตกลงนี้ อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงให้สยามเป็น “ประเทศกันชน” ระหว่างอาณานิคม 2 ประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อตกลงนี้มิได้ตัดสิทธิที่สองประเทศจะยกกองกําลังมายึดครองสยามได้

ประการต่อมา แม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะไม่ได้ใช้อํานาจปกครองสยามโดยตรงเหมือนเช่นอาณานิคมของตน แต่ก็มีข้อตกลงโดยตรงกับสยาม ให้สยามจ้างคนอังกฤษหรือฝรั่งเศสมาเป็นที่ปรึกษา และมิใช่เป็นที่ปรึกษาธรรมดา แต่เป็นที่ปรึกษาที่มีอํานาจเหนือราชการไทย หรือที่ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า “ที่ปรึกษาที่มีอิทธิพล”

ทั้งนี้สืบมาจากข้อตกลงอังกฤษ-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1896 ที่คุกคามเอาสยามเป็นเมืองขึ้น รัฐบาลสยามจึงต้องมี “ความเข้าใจต่อกัน” (understanding) ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงกับอังกฤษและฝรั่งเศส ที่จะต้องปฏิบัติไม่ให้กระทบกระเทือนถึงประเทศทั้งสองในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในการนี้จึงมักจะต้องจ้างชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลเกี่ยวกับราชการที่ประเทศนั้นจะมีผลประโยชน์ เช่น ในด้านการคลังและการธนาคาร ซึ่งเป็นกุญแจสําคัญในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องจ้างชาวอังกฤษเป็นที่ปรึกษามีตําแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาการคลังของรัฐบาลสยาม” (Financial Adviser to the Government of Siam) ซึ่งมีฐานะสูงกว่าที่ปรึกษาประจํากระทรวงที่ต้องขึ้นต่อเสนาบดีกระทรวงนั้น แต่ที่ปรึกษาของรัฐบาลสยามนี้มีฐานะถวายความเห็นกับพระมหากษัตริย์ได้

ปัญหาเอกราชในทางการเมืองรุนแรงมากขึ้นจากสนธิสัญญากับฝรั่งเศส พ.ศ. 2436 ซึ่งสยามจะต้องยอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ําโขงทั้งหมด และยังต้องยอมรับเงื่อนไขที่ว่าจะตั้งกองทหารไม่ได้ตามแนวรัศมี 25 กิโลเมตรจากฝั่งแม่น้ําโขง จะมีเรือใหญ่หรือเรือเล็กที่ติดอาวุธแล่นในแม่น้ําโขงไม่ได้ และยอมให้ดินแดนนี้เป็นเขตปลอดศุลกากรที่ฝ่ายสยามจะเก็บภาษีมิได้

จากกรณีดังกล่าวนี้เอง รัฐบาลสยามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วย 2 วิธี คือ วิธีแรก จะต้องการปฏิรูปกฎหมายสยามให้เป็นที่ยอมรับของตะวันตก และวิธีที่สอง ก็คือ การเปิดเจรจากับมหาประเทศให้ผ่อนผันมาตรการ

ความจริง การแก้ไขปัญหาสัญญาไม่เท่าเทียมนั้น มีตัวอย่างที่สําเร็จผลจากกรณีของญี่ปุ่นที่สามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเงื่อนไขไม่เท่าเทียมอื่น ๆ ได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น โดยใช้การปรับปรุงระบอบกฎหมายให้เป็นแบบตะวันตก เริ่มจากการที่ญี่ปุ่นส่งคณะผู้แทนอิวากูระเดินทางไปยุโรปใน พ.ศ. 2414 เพื่อหาทางแก้ไขสัญญาไม่เสมอภาค แม้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ล้มเหลวในการขอเจรจา แต่ก็ได้ข้อสรุปมาว่า ในการที่จะได้สิทธิทางการศาลกลับคืนมา ญี่ปุ่นจําเป็นจะต้องทําให้ชาวตะวันตกเห็นว่า ญี่ปุ่นสามารถให้ความคุ้มครองปลอดภัยทางการศาลได้อย่างเพียงพอ ภายใต้ระบบกฎหมายที่มีมาตรฐานแบบตะวันตก มิใช่ด้วยกฎหมายแบบศักดินาสวามิภักดิ์ของญี่ปุ่น ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงได้เริ่มร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตลอดจนการจัดระเบียบการศาลแบบยุโรป โดยอาศัยความช่วยเหลือจากนักกฎหมายจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ในที่สุด พ.ศ. 2433 การแก้ไขกฎหมายก็เรียบร้อยและได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายและระบบการศาลแบบใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ญี่ปุ่นจึงยกเลิกสนธิสัญญาไม่เทียมกันในทางการศาล ได้สําเร็จภายในปี พ.ศ. 2437

ในกรณีของสยาม รัฐบาลสมัยรัชกาลที่ 5 แทนที่จะใช้วิธีเร่งแก้ปัญหาเช่นเดียวกับญี่ปุ่นกลับพยายามแก้ด้วยวิธีที่เรียกว่า “ค่อยเป็นค่อยไป (นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 2530 : 188) โดยการเปิดเจรจากับอังกฤษในกรณีของเขตเชียงใหม่ ซึ่งมีการลงนามในสัญญาที่เรียกว่า “สัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2417” โดยอังกฤษยอมให้คนในบังคับอังกฤษในเขตเชียงใหม่ขึ้นศาลสยาม เมื่อทําความผิดฐานปล้นสะดม ซึ่งถือว่านี่เป็นก้าวแรกในการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสยาม

ต่อมาก็ได้มีการตกลงแก้ไขสัญญาเป็น “สัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2426” ซึ่งฝ่ายสยามยอมให้อังกฤษตั้งศาลกงสุลที่เชียงใหม่ พร้อมกันนั้น ฝ่ายอังกฤษก็ได้ยอมผ่อนผันให้ฝ่ายสยามตั้งศาลต่างประเทศ (International Court) ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรป ร่วมกันพิจารณาคดีคนในบังคับอังกฤษในเขตเชียงใหม่ แต่ในสนธิสัญญาได้กําหนดไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของที่ปรึกษาปัญหากฎหมายสยามขัดแย้งกับที่ปรึกษาชาวยุโรป ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปนั้นเป็นใหญ่กว่าโดยไม่ต้องคํานึงว่า ผู้พิพากษาชาวสยามมีมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป และคดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษยังสามารถที่จะถอนคดีไปชําระเองที่ศาลกงสุลได้ สัญญาฉบับนี้เป็นเหตุให้ฝรั่งเศสลงนามกับสยามในอนุสัญญาหลวงพระบาง พ.ศ. 2429 เพื่อผ่อนผันให้สิทธิแก่สยามเช่นเดียวกันในเขตหลวงพระบาง แต่ปรากฏว่ารัฐสภาฝรั่งเศสไม่ให้สัตยาบันในสัญญานี้ เพราะเกรงจะเป็นการรับรองสิทธิของสยามในเขตหัวเมืองลาว

ต่อมาใน พ.ศ. 2442 ก็ได้มีการเจรจาระหว่างสยามกับอังกฤษ และได้ลงนามกันในสัญญาชื่อ “สัญญาว่าด้วยการจดบัญชีคนในบังคับอังกฤษในกรุงสยาม” เพื่อจํากัดสิทธิชาวเอเชียในการลงทะเบียนเป็นคนในบังคับอังกฤษ ต่อมาสยามก็ประสบความสําเร็จในการเจรจากับฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา ปี พ.ศ. 2450 โดยฝรั่งเศสยอมให้ชาวเอเชียในบังคับฝรั่งเศสมาขึ้นศาลต่างประเทศที่ฝ่ายสยามกําหนดขึ้น แต่ฝรั่งเศสผนวกดินแดนพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณของสยามไปเป็นการแลกเปลี่ยนจากนั้นในสนธิสัญญากับอังกฤษ พ.ศ. 2452 อังกฤษได้ยอมให้คนในบังคับอังกฤษและชนชาติอังกฤษทั้งหมดขึ้นศาลต่างประเทศ และวางเงื่อนไขไว้ว่า อังกฤษจะยอมเลิกศาลระหว่างประเทศเมื่อสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ข้อสัญญานี้ก็เกิดขึ้นโดยที่ฝ่ายสยามต้องสูญเสียไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิศ เป็นการแลกเปลี่ยนเช่นกัน

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามได้ใช้โอกาสยุติสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับเยอรมนี และออสเตรีย-ฮังการี เพราะรัฐบาลสยามประกาศสงครามกับสองประเทศนี้ในปี พ.ศ. 2460 และเมื่อประเทศรุสเซียเกิดการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค และมีการสถาปนาสหภาพโซเวียต รัฐบาลสยามไม่รับรองรัฐบอลเชวิค สัญญาและข้อตกลงที่ทําไว้กับจักรวรรดิรุสเซียจึงสิ้นสุดลง แต่ยังเหลือประเทศที่มีสัญญาไม่เท่าเทียมกับสยามอีก 12 ประเทศ[1] เมื่อสงครามโลกยุติลง รัฐบาลสยามจึงได้เปิดเจรจากับสหรัฐอเมริกา และได้รับผลสําเร็จเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ตกลงว่าจะยุติสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในสยามสําหรับคนอเมริกาและคนในบังคับ คงเหลือแต่สิทธิในการถอนคดีถ้าหากกงสุลสหรัฐฯ มีความเห็นเช่นนั้นยกเว้นในศาลฎีกาซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงอํานาจสูงสุด และสิทธินี้จะสิ้นสุดลงทันที ถ้าหากสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายครบถ้วนไปแล้ว 5 ปี นอกจากนี้ยังตกลงยกเลิกข้อตกลงภาษีขาเข้าร้อยละ 3 อีกด้วย

เมื่อประสบความสําเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ รัฐบาลสยามก็พยายามเปิดเจรจากับประเทศอื่น ๆ เพื่อจะจัดทําสัญญาในแบบเดียวกับที่ทํากับสหรัฐฯ โดยสามารถแก้ไขสัญญากับญี่ปุ่นได้ในปี พ.ศ. 2466 สําหรับอังกฤษพยายามประวิงเวลาในการเจรจา และฝรั่งเศสได้ตั้งข้อเสนอมาถึง 7 ข้อ ในการแลกเปลี่ยนที่สําคัญ ก็เช่น สยามจะต้องจัดตั้งกรมร่างพระราชบัญญัติและกฎข้อบังคับขึ้นในกระทรวงยุติธรรม โดยมีเนติบัณฑิตฝรั่งเศสเป็นผู้ชํานาญประจํากรม ในกรณีที่สยามจะต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายต้องจ้างชาวฝรั่งเศส และที่ฝรั่งเศสขอให้คงศาลต่างประเทศไว้ ในที่สุดรัฐบาลสยามก็ยอมตามข้อตกลง และลงนามในสัญญากับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2467 จากนั้นก็ได้ลงนามกับอังกฤษและอีกหลายประเทศในปี พ.ศ. 2468 โดยในข้อตกลงกับอังกฤษได้ระบุว่า คนในบังคับอังกฤษต้องขึ้นศาลไทยในเงื่อนไขเดียวกับสหรัฐฯ การเก็บภาษีให้เก็บเท่าสหรัฐฯ ยกเว้นฝ้าย เหล็ก และเหล็กกล้า สยามจะเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 5 และจะต้องจ้างชาวอังกฤษเป็นครูสอนกฎหมายเช่นกัน แต่สัญญานี้มีกําหนดอายุเพียง 10 ปี

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาลสยามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้วิธีปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ญี่ปุ่นใช้ได้ผล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะชนชั้นนําสยามไม่ได้นิยมในแบบแผนกฎหมายแบบฝรั่งเศสและเยอรมนีมาแต่แรกเริ่มดังจะเห็นได้ว่าการส่งนักเรียนสยามไปเรียนกฎหมายที่อังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากสถาบันสอนกฎหมายในอังกฤษได้สอนกฎหมายฮินดู โดยเน้นคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ และบทบัญญัติของพระมนูสาราจารย์ เพราะเห็นว่ากฎหมายเหล่านี้มีรากฐานเดียวกับกฎหมายตราสามดวงของสยาม และเป็นการสอดคล้องกับทัศนคติของผู้ปกครองสยาม (กนิษฐา ชิตช่าง 2533 : 48) กว่ารัฐบาลสยามจะเริ่มทําการปฏิรูปกระบวนการศาล ก็คือปี พ.ศ. 2435 เมื่อมีการตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น เพื่อรวบรวมศาลที่เคยขึ้นกับขุนนางตําแหน่งต่าง ๆ มาขึ้นกับพระมหากษัตริย์ ทําให้ระบบศาลเป็นเอกภาพกันทั่วราชอาณาจักร

สําหรับการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นแบบตะวันตกเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2440 เริ่มเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจชําระและร่างประมวลกฎหมาย โดยมีกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนคนอื่น ๆ ได้แก่ กรมหลวงพิชิตปรีชากร อดีตเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม  พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม) อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง  โรแลง ยัคแมง (Rolin Jaequemyns) ชาวเบลเยี่ยมซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการทั่วไป  ริชาร์ด เคิร์กแพททริก (Richard Kirkpatrick) ที่ปรึกษากฎหมายชาวเบลเยี่ยม  และโทกิซิ มาซาโอะ ชาวญี่ปุ่น ที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม

คณะกรรมการนี้มีหน้าที่ดําเนินการปฏิรูปกฎหมายสยาม โดยปัญหาในระยะแรก ก็คือ จะเลือกระบบประมวลกฎหมายหรือซีวิลลอว์ (civil law) แบบภาคพื้นยุโรป หรือจะเลือกระบบคอมมอนลอว์ (commom law) ตามแบบอังกฤษ ความแตกต่างที่สําคัญ ก็คือ ระบบของภาคพื้นยุโรปจะมีประมวลกฎหมายที่ชัดเจน ขณะที่ระบบของอังกฤษกฎหมายจะวิวัฒนาการมาจากประเพณีและคําพิพากษาของศาลในอดีต ในที่สุดคณะกรรมการตรวจชําระกฎหมายของสยามตกลงเลือกรับระบบประมวล ด้วยวินิจฉัยว่า ระบบนี้สอดคล้องกับระบบกฎหมายเดิมของสยามมากกว่า และเห็นว่า ระบบอังกฤษจะสิ้นเปลืองเวลาและงบประมาณ เพราะต้องศึกษาคําพิพากษาเป็นจํานวนมาก

จากนั้นคณะกรรมการจึงได้ร่างกฎหมายอาญาขึ้นก่อน แต่การร่างกฎหมายนี้ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่บรรลุผล จนในที่สุด ในปี พ.ศ. 2447 ต้องมีการตั้งกรรมการชุดใหม่ โดยมี จอร์ช ปาดซ์ (Georges Padoux) ชาวฝรั่งเศส เป็นประธาน เพื่อยกร่างกฎหมายใหม่  ในครั้งนี้ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประกาศไม่เอาธุระกับการร่างประมวลกฎหมาย เพราะความจริงแล้ว กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้รับการศึกษาจากอังกฤษและนิยมระบอบกฎหมายประเพณีของอังกฤษมากกว่า อย่างไรก็ตาม กรรมการชุดของ จอร์ช ปาดูซ์ ก็สามารถร่างประมวลกฎหมายอาญาได้เรียบร้อย และประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2451

จากนั้นจึงได้มีการตั้งกรรมการอีกชุดหนึ่งทําการร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยแบ่งหน้าที่ออกเป็น 6 กอง แต่ปรากฏว่า การร่างยิ่งเป็นไปอย่างเชื่องช้ามากกว่าเดิม กว่าจะร่างเสร็จและประกาศใช้ 2 บรรพแรก คือ บทเบ็ดเสร็จทั่วไป และบรรพว่าด้วยนิติกรรมและหนี้ ก็มาถึงปี พ.ศ. 2468 ซึ่งเท่ากับใช้เวลาไปถึง 17 ปี  ในระหว่างที่สังคมสยามยังไม่มีกฎหมายในด้านการพาณิชย์ใช้ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็แก้ปัญหาอย่างง่ายโดยเอาหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของอังกฤษมาใช้ไปก่อน  สําหรับบรรพที่ 3 ว่าด้วยเอกเทศสัญญา ได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2472  บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2473  ส่วนบรรพ 5 และบรรพ 6 ว่าด้วยครอบครัว และมรดกนั้น ไม่ได้มีการประกาศใช้จนกระทั่งถึงปี 2475 ที่เกิดการปฏิวัติ เท่ากับว่า รัฐบาลสมัยสมบูรณาสิทธิราชย์ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่แล้วเสร็จ แม้ว่าจะใช้เวลาถึง 24 ปี และสิ้นเงินในการร่างกฎหมายถึง 2 ล้านบาทเศษ (ปาฐกถาของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม 27 มิถุนายน 2477)

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าตั้งแต่หลังสัญญาบาวริงปี พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา สยามเผชิญปัญหาความไม่เท่าเทียมในความสัมพันธ์กับมหาประเทศ เพราะจะต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียสิทธิการกําหนดอัตราภาษี ศุลกากร และยังถูกบังคับให้จ้างชาวต่างชาติเป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ ปัญหาเหล่านี้ รัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์พยายามแก้ปัญหาโดยใช้การเจรจาทางการทูตกับมหาประเทศจักรวรรดินิยม ยิ่งกว่าการใช้วิธีที่จะปฏิรูปกฎหมายของให้ทันสมัย การอธิบายในเรื่องนี้คงจะต้องเข้าใจถึงโลกทรรศน์ และอุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สําคัญ 2 ประการคือ

ประการแรก รัฐบาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ไม่ได้สนใจและให้ความสําคัญกับการที่สยามจะต้องมีประมวลกฎหมายแบบตะวันตกมากนัก เพราะในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ย่อมเป็นกฎหมายโดยตัวเอง การประกาศใช้กฎหมายทําได้โดยการที่คณะกรรมการร่างกฎหมายเสนอกฎหมาย แล้วกราบบังคมทูลให้ลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ดังนั้น แนวความคิดที่จะต้องมีระบอบการปกครองที่ใช้กฎหมายอย่างทั่วด้านและใช้กับสมาชิกประชาคมโดยเท่าเทียมกัน จึงไม่ใช่อุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยิ่งกว่านั้นการนํากฎหมายตะวันตกมาพิจารณาปรับใช้ยังต้องระมัดระวังไม่ให้มีแนวคิดใหม่ ๆ แอบแฝงเข้ามากับกฎหมาย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค เป็นต้น จึงต้องมีการกลั่นกรองกฎหมายตะวันตกมากเป็นพิเศษ (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2533 : 73)

ดังนั้น การที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของสยามยังไม่สมบูรณ์ ก็แก้ปัญหาด้วยการอนุโลมให้นําเอากฎหมายอังกฤษมาใช้แทน การใช้กฎหมายเช่นนี้จึงประกาศให้ประชาชนรู้ทั่วไปมิได้ เพราะเกรงมหาอํานาจอื่น เช่น ฝรั่งเศสจะเรียกร้องให้ใช้กฎหมายของตนในสยามบ้าง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสยามไม่ให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงข้อกฎหมายก็สอดคล้องกับแนวคิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถือว่ากฎหมายนั้นเป็นเพียงหลักราชประเพณีการปกครองของชนชั้นนําเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นการที่จะต้องให้ประชาชนรับรู้กฎหมายโดยทั่วกัน ก็ไม่ใช่อุดมการณ์ของสมบูรณา ญาสิทธิราชย์เช่นกัน และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นถูกวิจารณ์ว่ามีการปกครองที่ไม่เป็นไปตาม “หลักวิชา”

ประการที่สอง ในทัศนะของชนชั้นนําในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น การมีประมวลกฎหมายแบบตะวันตกนั้นไม่ใช่ความจําเป็นอันเร่งด่วน เพราะสยามไม่มี “ปัญหาเอกราช” การที่พระมหากษัตริย์สยามยังทรงราชย์อยู่ตลอดเวลาและรักษาพระราชอํานาจสูงสุดไว้ได้อย่างต่อเนื่อง หมายถึงสยามมีเอกราชอยู่เสมอ ความพยายามเน้นว่า สยามไม่เคยเสียเอกราชแก่ชาติใดดําเนินมาแล้วอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ดังนั้น จึงไม่เคยปรากฏเลยว่า ผู้นําสยามก่อน พ.ศ. 2475 จะอธิบายว่า สยามมีปัญหา “เอกราช”  ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาอํานาจจึงเป็นเพียง “ปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” จึงจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจากับมหาประเทศเหล่านั้น ยิ่งเสียกว่าการดําเนินการปฏิรูปกฎหมาย ถ้าหากว่ากฎหมายที่ใช้อยู่แล้ว สามารถที่จะใช้ได้กับชาวสยาม ชาวจีน และชาวเอเชียอื่น ๆ

 

บรรณานุกรม

กนิษฐา ชิตช่าง 2533. “มูลเหตุของการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127” ไทยคดีศึกษา (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานแสดงมุทิตาจิต อาจารย์ พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา).

ดํารงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา 2504. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 (พระนคร : องค์การค้าคุรุสภา).

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2533. ความคิด ความรู้ และอํานาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม (กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย).

นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 2530. “การเรียกร้องเอกราชทางการศาลและการเงินของเมืองไทย” ศาลไทย ประวัติและการต่อสู้เพื่อเอกราช (กรุงเทพฯ : สมาคมประวัติศาสตร์).

ทรงศรี อาจอรุณ 2506. การแก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระนคร : สํานักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย).

พัชรินทร์ เปี่ยมสมบูรณ์ 2516. การปฏิรูปกฎหมายของประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2411 จนถึง พ.ศ. 2477 วิทยานิพนธ์ แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพ็ญศรี ตุ๊ก 2542. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน).

Bowring, John 1857. The Kingdom and the People of Siam. vol. I (London : Oxford University Press), 1969.

 

ที่มา: แก้ไขเล็กน้อยจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ปรีดี พนมยงค์ กับปัญหาเอกราช,” ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 (2543), น. 26-48. (ส่วนแรกของบทความ) 

 

[1] 12 ประเทศนี้คือ 1. อังกฤษ 2. ฝรั่งเศส 3. สหรัฐอเมริกา 4. อิตาลี 5. ญี่ปุ่น 6. เนเธอร์แลนด์ 7. เบลเยี่ยม 8. เดนมาร์ก 9. สวีเดน 10. นอรเวย์ 11. สเปน 12. โปรตุเกส