ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
แนวคิด-ปรัชญา

ปัญหาเอกราชในทัศนะของปรีดี พนมยงค์

23
กันยายน
2563

เมื่อ พ.ศ. 2482 รัฐบาลสยามภายใต้นายกรัฐมนตรี พล.ต. หลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ จากนั้นก็ได้ออกรัฐนิยมฉบับที่ 1 ให้เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย นอกจากนี้ ในโอกาสวันชาติ พ.ศ. 2482 นี้ ก็ได้มีการขยายถนนราชดําเนินให้กว้าง และเริ่มก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยทําพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันเดียวกัน และที่น่าสนใจ ก็คือ ในโอกาสวันชาติที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ได้มีการเน้นการฉลองความเป็น ‘เอกราชบริบูรณ์’ ควบคู่ไปกับการฉลองวันชาติด้วย ดังจะเห็นได้จากเอกสารของทางราชการได้เรียกโอกาสการฉลองนี้ว่าเป็น “อภิลักขิตสมัยแห่งงานเฉลิมฉลองวันชาติและสนธิสัญญา” และในคําแถลงของนายกรัฐมนตรีทางวิทยุกระจายเสียงในวันนั้น ได้มีข้อความเน้นถึงความ เรื่องสนธิสัญญาว่า 

...สนธิสัญญากับนานาประเทศ ซึ่งได้ผูกมัดมิให้ชาติของเราสร้างความเจริญขึ้นได้ตามใจเรามานานนักหนานั้น ได้เป็นผลสําเร็จลงด้วยความไมตรีจิตต์อันดีของนานาชาติ เราได้เอกราชทางการศาลสามารถที่จะตัดสินอรรถคดีได้ โดยมิต้องให้นานาชาติเข้ามาเกี่ยวข้องแทรกแซง เราสามารถที่จะขึ้นพิกัดอัตราภาษีขาเข้าได้ตามควรแก่ความพอใจของเราเอง เราสามารถที่จะออกกฎหมายทุกชนิดเพื่อให้พี่น้องชาวไทยมีอาชีพสมกับที่เป็นชาติเอกราชนั้นได้ และในที่สุดเราก็ได้ฉลองสนธิสัญญาของเราด้วยความภาคภูมิใจ (สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 : 19-20) 

รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามนั้น ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลของชาวคณะราษฎรรุ่นใหม่ และน่าที่จะเข้าข่าย “รัฐบาลปฏิวัติในความหมายของหลวงวิจิตรวาทการ” (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2533 : 221) การที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสําคัญกับความเป็นเอกราชบริบูรณ์ ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ ในคําแถลงของคณะราษฎรในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้นได้ประกาศให้หลักเอกราช เป็นข้อที่ 1 ในหลัก 6 ประการ ซึ่งมีข้อความว่า “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง”

การให้ความสําคัญต่อความเป็นเอกราชในอันดับแรกเช่นนี้ คงจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญฉ จากกรณีนี้ในบทความนี้จึงจะชี้ให้เห็นว่า มีความเข้าใจและการตีความที่แตกต่างกันต่อปัญหาเอกราช ในระหว่างผู้นําในระบอบเก่าและกลุ่มผู้นําคณะราษฎร โดยกลุ่มผู้นําคณะราษฎรน่าจะให้ความสําคัญแก่เรื่องเอกราชอธิปไตยไม่สมบูรณ์มากกว่าผู้นําในระบบเดิม[1] และในฐานะที่ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน และเป็นผู้ร่างหลักหกประการดังกล่าว บทความนี้จึงจะต้องศึกษาความคิดเรื่องเอกราชของปรีดี ในฐานะตัวแทนที่มีบทบาทของกลุ่มผู้นําใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 เช่นกัน 

ปัญหาเอกราชนั้นเป็นประเด็นสําคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของปรีดี พนมยงค์ ทั้งนี้ คงจะต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขในยุคสมัยที่ปรีดี พนมยงค์ เติบโตขึ้นมา ซึ่งยังเป็นยุคสมัยที่จักรวรรดินิยมยังคงมีบทบาท คุกคาม ครอบงําโลกเอเชียและสยาม ดังนั้น ตั้งแต่วัยหนุ่ม เมื่อปรีดีศึกษาอยู่ที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เขาก็ได้เรียนรู้ถึงความไม่เสมอภาคทางกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่กฎหมายไทย ซึ่งให้สิทธิพิเศษแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และชาวต่างชาติ ตามที่เขาได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า 

ในปี พ.ศ. 2460 เมื่อปรีดีได้เป็นนักเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม แม้ว่าสมัยนั้นโรงเรียนกฎหมายได้สอนวิชากฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นประเภทกฎหมายเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ในวิชาพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และวิชาวิธีพิจารณาความอาญาและความแพ่งนั้น อาจารย์ผู้สอนก็ต้องกล่าวถึงบุคคลที่มีสิทธิพิเศษ นอกอํานาจศาลยุติธรรมสําหรับพลเมือง ส่วนมากคือ 

1. พระบรมศานุวงศ์หม่อมเจ้าขึ้นไปนั้น ถ้าทรงกระทําความผิดอาญา ก็เป็นอํานาจของศาลรับสั่ง กระทรวงวังที่จะพิจารณา และนําความขึ้นกราบบังคม ทูลขอพระบรมราชวินิจฉัย จึงต่างกับพลเมืองไทยส่วนมากที่ขึ้นกับศาลอาญา ถ้าในหลวงทรงวินิจฉัยว่า เจ้านายองค์ใดกระทําผิดอาญา เจ้านายองค์นั้น ก็ถูกขังในที่แห่งหนึ่งของกระทรวงวัง เรียกว่า ‘สนม’ ไม่ใช่เรือนจํา และไม่ต้องถูกใส่โซ่ตรวน เพียงเจ้าหน้าที่เอาตรวนใส่พานไว้ในห้องขังนั้น 

2. คนสัญชาติในบังคับต่างประเทศที่มีสัญญาไม่เสมอภาคกับสยามนั้น มีสิทธิพิเศษในทางอาญา และแพ่ง คือ ถ้าทําผิดในทางแพ่งหรืออาญา ศาล ยุติธรรมไม่มีอํานาจชําระ ผู้เสียหายและอัยการต้องฟ้องผู้กระทําผิดนั้นต่อศาลกงสุลของชาติต่างประเทศนั้น ๆ นอกจากชาวยุโรปและชาวญี่ปุ่นแล้ว มีชาวเอเชียแห่งอาณานิคมของฝรั่ง ญี่ปุ่น ได้สิทธิพิเศษเช่นนั้น ส่วนคนจีนหลายคนที่เห็นว่าได้ประโยชน์จากการเป็นคนในบังคับต่างประเทศนั้นก็หาทางเป็นคนในบังคับต่างประเทศนั้นด้วย เพราะได้ประโยชน์ที่กงสุลบางประเทศให้ความคุ้มครองในการทําผิดกฎหมายไทย 

(ฉัตรทิพย์ นาถสุภา 2526 : 43-44) 

ความตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันประการที่สองนี้เอง คือ ปัญหาเอกราช ความสํานึกในปัญหานี้ยังแสดงให้เห็นจากผู้นําคณะราษฎรคนอื่น ดังเช่น ประยูร ภมรมนตรี เล่าถึงความสะเทือนใจว่า เมื่อเป็นนักเรียนในยุโรปและเดินทางไปยังอังกฤษนั้น ได้รับการต้อนรับอย่างเลวและถูกจับไป รวมในกลุ่มแขกนิโกร ทั้งที่เขาเป็นนายทหารของประเทศสยามและเดินทางมาโดยเรือชั้นหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ของอังกฤษก็ยังหัวเราะเยาะแล้วกล่าวว่า “เอกราชของเมืองไทยไม่มีความหมาย ถ้าอยากจะได้รับการต้อนรับให้ดี ก็ควรจะต้องเป็นคนในบังคับอังกฤษเสียก็จะได้รับการปฏิบัติที่พอใจ” (ประยูร ภมรมนตรี 2518 : 70) และอีกครั้งเมื่อเป็นนักเรียนอยู่ในฝรั่งเศส แล้วเดินทางไปเยอรมนีกับ ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ เมื่อเดินทางกลับถูกเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเหยียดหยามหาว่า ไทยเป็นดินแดนในเครือการปกครองของอินโดจีนฝรั่งเศส แม้ว่าเมื่อเถียงจนต้องยอมจํานนแล้ว ก็ยังบอกว่า ประเทศสยามนั้นเป็น “...เมืองเหาเมืองหมัด จะรู้จักได้อย่างไร ควรมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเสียจะได้รุ่งเรือง” ซึ่งทําให้ ร.ท. แปลกเดือดดาลมาก (เรื่องเดียวกัน : 103) ที่น่าสังเกต คือ การได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ย่อมมีความแตกต่างอย่างยิ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเสด็จต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หรือการที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จไปศึกษาในโรงเรียนชั้นสูงของอังกฤษ ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติอยู่เสมอ 

ดังนั้น ปัญหาเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและสัญญาที่ไม่เท่าเทียมจึงเป็นปัญหาที่สําคัญยิ่งสําหรับคนรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานจากสามัญชน และข้าราชการระดับล่าง และรวมถึงเจ้านายบางพระองค์ที่มีแนวโน้มทัศนะในทางก้าวหน้า และจะเป็นผู้มีบทบาทสําคัญเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินหลังจากการปฏิวัติ 2475 เจ้านายพระองค์นี้ คือ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งได้เขียน “บทนํา” สะท้อนว่า ปัญหาความไม่เสมอภาคเหล่านี้เป็นปัญหา “เอกราชไม่บริบูรณ์” ดังข้อความตอนหนึ่งว่า 

ที่ประชาชาติฝ่ายตวันออกเสียเปรียบประชาชาติฝ่ายตวันตกในเชิงเอกราชย์นั้น เป็นด้วยได้ทําสัญญาผูกมัดข้างเดียวไว้ และได้ให้อํานาจอย่างมากแก่ประชาชาติฝ่ายตวันตก ซึ่งเป็นการตัดทอนเอกราชของตน จึงเรียกสัญญาเช่นนี้ว่า สัญญาไม่สม่ําเสมอกัน... ถ้าข้อสัญญาเป็นอันสม่ําเสมอกันแล้ว เอกราชย์ที่มีก็ย่อมจะต้องนับว่าเป็นเอกราชย์ที่บริบูรณ์ 

(ประชาชาติ 30 ธันวาคม 2475) 

ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ได้ย้ำด้วยว่า เอกราชบริบูรณ์จะได้มาด้วยการที่สยามจะต้องออกใช้ประมวลกฎหมายให้ครบถ้วน นี่เป็นทัศนะเดียวกันกับกลุ่มของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนักนิติศาสตร์ และมีความเห็นว่า การก่อร่างระบบใหม่ของสยามจะต้องดําเนินการด้วยการร่างกฎหมายที่บังคับใช้กับราษฎรอย่างเสมอภาคกัน และด้วยความสําคัญเช่นนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม จึงร่างให้หลักเอกราชมาเป็นอันดับแรกในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และต่อมาหลังการปฏิวัติ เมื่อคณะราษฎรจะได้จัดส่งผู้แทนไปปาฐกถาให้ราษฎรจังหวัดต่าง ๆ ให้ทราบหลักการของคณะราษฎร ได้มีข้อความเชิงสรุปดังนี้ 

“คณะราษฎร คือ ชาวเมืองส่วนหนึ่ง ซึ่งมีทหารบก ทหารเรือ พลเรือน พ่อค้า ชาวนา ชาวสวน และกรรมกร รวมกันขึ้นเป็นคณะหนึ่ง เพื่อมุ่งทําประโยชน์แก่พี่น้องร่วมชาติดังหลัก 6 ประการ 

(1) จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายให้มั่นคง เช่น เอกราชในทางการเมือง หมายความว่า รัฐบาลของเราจะต้องสามารถจัดการบ้านเมืองภายในได้ตามอําเภอให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองของตน ใน ดินแดนต่างประเทศ เป็นต้น 

เอกราชในการศาล หมายความว่าจะต้องพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง โดยปราศจากอํานาจใดๆ มาบังคับ 

เอกราชในทางเศรษฐกิจหมายถึงว่า ให้พวกเราทํามาหากินได้โดยเต็มที่เพื่อความเจริญแก่ตนและประเทศของเรา...” 

(กจช. [2]สร.0201.10/3) 

ในปัญหาเรื่องหลักเอกราชนี้ ปรีดี พนมยงค์ ได้สรุปให้เห็นว่าหลังปี 2475 ยังมีสิทธิพิเศษที่ตกค้างมาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกหลายประการ เช่น สิทธิในการถอนคดีในกรณีที่คนต่างชาติเป็นจําเลยในศาลของสยาม สิทธินี้ยังคงอยู่จนกว่าสยามจะได้ประกาศประมวลกฎหมายครบถ้วนไปแล้ว 5 ปี  ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร ก็คือ ข้อจํากัดเกี่ยวกับการเก็บอากรขาเข้าบางอย่าง เช่น ฝ้ายกับวัตถุกระดาษ เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ เครื่องจักร หมวก นมข้นและเหล้า นอกจากนี้ สยามยังถูกผูกมัด ข้างเดียวในเรื่องการคืนอากรกระสอบป่าน สิทธิการเก็บภาษีอากรในเขต 25 กิโลเมตรทางชายแดนฝั่งขวาแม่น้ําโขง เรื่องการให้ผลปฏิบัติบางอย่างแก่คนชาติพื้นเมืองในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เรื่องการยอมรับสัญชาติต่างประเทศของคนบางประเภทที่เกิดในประเทศสยาม และการที่สยามจะตั้งการผูกขาด หรือเรียกเกณฑ์คนในบังคับต่างประเทศเพื่อการใช้แรงงานไม่ได้ 

ดังนั้น คําแถลงนโยบายของรัฐบาลทุกชุดหลังการปฏิวัติตั้งแต่รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี พ.ศ. 2475 จนถึงรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในปี พ.ศ. 2481 จะแสดงเจตจํานงอย่างชัดเจนที่จะให้ได้มาซึ่งเอกราชบริบูรณ์เสมอ และหลังจากการปฏิวัติได้เพียง 2 เดือน คือ ในเดือนสิงหาคม 2475 คณะกรรมการราษฎรที่นําโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้เร่งให้กรมร่างกฎหมายร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ให้เสร็จเพื่อเสนอคณะกรรมการราษฎรพิจารณา 

ความเชื่อมโยงปัญหาเอกราชกับการใช้กฎหมายนี้เป็นความแตกต่างอย่างสําคัญของกลุ่มผู้นํายุค 2475 กับผู้นําในระบอบเก่า หรือกล่าวให้ชัดขึ้น ก็คือ ความตระหนักที่ว่า สยามยุคใหม่จะต้องมีการปกครองด้วยกฎหมายให้เป็นไปตาม “หลักวิชา” ดังนั้น หลังจากได้มีการตั้งรัฐสภาชุดแรก จึงได้มีการประชุมสภาอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาออกกฎหมาย ดังจะเห็นได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดแรกนั้น จะประชุมกันโดยเฉลี่ยถึงสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อวางรากฐานให้สยามยุคใหม่เป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมาย ให้เป็นไปตามหลักวิชาอันถูกต้อง ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นระยะเวลาราว 9 เดือนเศษ สภาผู้แทนราษฎรจึงประชุมกันถึง 59 ครั้ง พิจารณาร่างพระราชบัญญัติออกเป็นกฎหมาย 53 ฉบับ ตอบกระทู้ 20 กระทู้ออกกฎหมายใหม่มาเป็นจํานวนมาก 

ในที่สุด ใน พ.ศ. 2478 สมัยรัฐบาล พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาสยาม ก็สามารถร่างประมวลกฎหมายทั้งหมดได้สําเร็จเรียบร้อย นั่นคือ ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่เสร็จสมบูรณ์ และประกาศใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ. 2477 และกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม จากการที่ประมวลกฎหมายเสร็จเรียบร้อยในครั้งนี้ หมายความว่า สยามก็จะได้สิทธิทางการศาลครบถ้วนในปี พ.ศ. 2483 แต่กระนั้นรัฐบาลสยามสมัยคณะราษฎรยังต้องการแก้ปัญหาสัญญาไม่เท่าเทียม ด้วยเวลาที่เร็วกว่านั้น จึงได้ใช้วิธีการในการเจรจากับนานาประเทศ เพื่อเร่งเวลาให้สยามมีเอกราชบริบูรณ์ โดยนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นผู้ดําเนินการดังกล่าว ดังที่ปรีดี พนมยงค์ เล่าไว้ว่า 

...พระยาพหลจึงมอบหน้าที่ให้ปรีดีเป็นผู้ปฏิบัติการเพื่อเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศ เพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ปรีดีจึงใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญาที่ไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมต่าง ๆ และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามจะได้เอกราช และอธิปไตยสมบูรณ์ให้แก่ประเทศนั้นพิจารณา และใช้ “ความอุตสาหะในการเจรจา” จนทําให้ประเทศจักรวรรดินิยมยอมรับในสัญญาฉบับใหม่ ที่ทําให้สยามได้เอกราชและ อธิปไตยบริบูรณ์ทั้งในทางการเมือง การศาล และในทางเศรษฐกิจ 

(ปรีดี พนมยงค์ 2526 : 23-25) 

การดําเนินการเพื่อให้สยามเป็นเอกราชบริบูรณ์นั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศครั้งแรก ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเจรจาให้ลดอัตราดอกเบี้ย กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2467 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กู้เงินจากธนาคารแห่งอังกฤษเป็นเงิน 2,340,300 ปอนด์ เพื่อนํามาใช้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภค โดยเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจึงเดินทางไปต่างประเทศ ในปี พ.ศ. 2479 เพื่อเจรจาให้ลดดอกเบี้ย และประสบความสําเร็จให้ธนาคารอังกฤษลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งทําให้ลดรายจ่ายดอกเบี้ยจํานวนมาก ในการเดินทางครั้งนี้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็ได้เริ่มทาบทามให้เลิกสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศในยุโรปด้วย 

เริ่มด้วยการที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเดินทางไปขึ้นบกที่ตริเอสเต ประเทศอิตาลีในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2479 ได้พบและเจรจากับ เบนนิโต มุสโลลินี ผู้นําอิตาลี ซึ่งได้ผลว่า ผู้นําอิตาลีรับรองที่จะยกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับสยามโดยเร็ว  จากนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจากับปิแอร์ ลาวาล ผู้นําฝรั่งเศส ปรากฏว่า ฝ่ายฝรั่งเศสยอมรับเพียงแต่ว่าจะพิจารณาข้อเสนอในการเลิกสัญญา แต่ไม่ได้รับปากว่าจะเลิก  ต่อมาเมื่อเดินทางไปเจรจากับอังกฤษ ก็ได้รับท่าทีเดียวกับฝรั่งเศส คือ “จะพิจารณาเรื่องการยกเลิกสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรมนี้ด้วยดี” ต่อมาปรีดีก็ได้เดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกาและได้เจรจากับคอร์เดล ฮัลล์ (Cordell Hull) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ปรากฏว่า ทางฝ่ายสหรัฐฯ ตกลงที่จะเลิกสัญญาไม่เสมอภาคกับสยามโดยเร็ว จากนั้นก็ได้เดินทางไปเจรจากับญี่ปุ่นเป็นประเทศสุดท้าย ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควร (ไสว สุทธิพิทักษ์ 2493 : 446-449) 

เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศสยามแล้ว จึงได้ดําเนินการในเรื่องการแก้ไขสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือใหม่ สัญญานี้เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2479 และได้เสนอให้นานาประเทศลงนามเรียบร้อยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ. 2480 โดยประเทศสําคัญที่ลงนามในสนธิสัญญาใหม่ คือ 

13 พฤศจิกายน 2480     ผู้แทนสหรัฐอเมริกา     ลงนามที่กรุงเทพฯ 

23 พฤศจิกายน 2480     ผู้แทนอังกฤษ         ลงนามที่กรุงเทพฯ 

3 ธันวาคม 2480      ผู้แทนอิตาลี         ลงนามที่กรุงเทพฯ 

7 ธันวาคม 2480     ผู้แทนฝรั่งเศส         ลงนามที่กรุงเทพฯ 

8 ธันวาคม 2480     ผู้แทนญี่ปุ่น         ลงนามที่กรุงเทพฯ 

(ไสว สุทธิพิทักษ์ 2493 : 478) 

สนธิสัญญาใหม่นี้อาศัยหลักการถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกัน หลักความเป็นธรรม และหลักคุณประโยชน์แก่กัน การลงนามนี้นับว่าเป็นการสิ้นสุดสัญญาไม่เป็นธรรมที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเป็นการบรรลุอุดมการณ์ของคณะราษฎรที่ต้องการให้ประเทศสยามมีเอกราชบริบูรณ์ ทั้งทางการศาล การเศรษฐกิจ และทางการเมือง ตามหลัก 6 ประการข้อที่ 1 

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรับตําแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2478 ผลจากการนี้ ทางคณะผู้สําเร็จจึงได้แสดงความขอบใจและชมเชยเป็นกรณีพิเศษต่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และ ม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ซึ่งเป็นผู้ช่วยผลักดันให้เอกราชบริบูรณ์  ความสําเร็จในการได้มาซึ่ง เอกราชบริบูรณ์นี้เข้ากับระบอบรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากในคําแถลงทางวิทยุถึงนโยบายของรัฐบาล พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม กล่าวคือ 

รัฐบาลได้แก้ไขสนธิสัญญากับนานาประเทศเสร็จสิ้น จนสยามได้สิทธิอธิปไตยกลับคืนมาอย่างเต็มที่ มีอิสรภาพสมบูรณ์ในเรื่องอํานาจศาล และการภาษีอากรโดยอาศัยไมตรีจิตร ความเห็นใจ และความเข้าใจอันดีจากนานาประเทศในนโยบาย และสมรรถภาพของสยามในระบอบรัฐธรรมนูญ อันมีคุณค่ายิ่งแห่งหลักเอกราชของชาติ 

(ไสว สุทธิพิทักษ์ 2493 : 483) 

กล่าวโดยสรุป เอกราชในความใฝ่ฝันของปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นความใฝ่ฝันร่วมกับผู้นํายุคใหม่ หลังปี พ.ศ. 2475 คนอื่น ๆ ที่ต้องการให้สยามมีเอกราชบริบูรณ์ปราศจากอํานาจสิทธิพิเศษใด ๆ บนแผ่นดินสยาม ซึ่งในกรณีนี้ สยามจะมีเอกราชบริบูรณ์จึงไม่ได้ขึ้นกับการพิจารณาว่า สยามยังมีพระมหา กษัตริย์ทรงราชย์อยู่หรือไม่ แต่ขึ้นกับการที่ชาติสยามจะต้องมีอธิปไตย (sovereignty) สมบูรณ์บนดินแดนของตนเอง ดังนั้น เราจึงพบด้วยซ้ําไปว่า คําว่า “เอกราช” เมื่อหลังปี พ.ศ. 2475 จะสะกดเป็น “เอกราษฎร์” ซึ่งเป็นการสะกดที่ค่อนข้างมีนัยยะสําคัญ 

ในที่นี้ขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ลัทธิชาตินิยม ที่ขยายตัวอย่างมากหลังปี พ.ศ. 2475 ก็มีส่วนสําคัญที่ทําให้สิทธิพิเศษของต่างชาติบนผืนดินสยามเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้มากยิ่งขึ้น และทําให้ผู้นําสยามยุคใหม่เร่งหาวิธีการแก้ไขจนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุเอกราชบริบูรณ์ใน ปี พ.ศ. 2480 

 

บรรณานุกรม 

กจช. [2]สร.0201.10/3 ปีก 1 เรื่องคณะราษฎรส่งผู้แทนไปแสดงปาฐกถา 

กนิษฐา ชิตช่าง 2533. “มูลเหตุของการร่างกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127” ไทยคดีศึกษา (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการจัดงานแสดงมุทิตาจิต อาจารย์ พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา). 

กนิษฐา เกษเพ็ชร 2542. “สัมพันธภาพระหว่างสยามกับญี่ปุ่น : ด้านการเจรจาขอแก้ไขสิทธิสภาพนอกอาณาเขต” รวมบทความประวัติศาสตร์ ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2542) : 45-66. 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. สัมภาษณ์, 2526. ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดําเนินงานโครงการฉลอง 100 ปีชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส), 2543. 

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2533. ความคิด ความรู้ และอํานาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม (กรุงเทพฯ : สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย).

ปรีดี พนมยงค์ 2526. ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพ : โครงการ “ปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย”). 

วรรณไวทยากร, ม.จ. 2486. ประวัติการทูตของไทย พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพนางสั้น เผ่าวิบูล 4 กุมภาพันธ์ 2514.

สุพจน์ ด่านตระกูล 2526. อนุสรณ์ ปรีดี พนมยงค์ ภาคสอง (กรุงเทพฯ : จิรวรรณนุสรณ์).

ไสว สุทธิพิทักษ์ 2493. ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ : บพิตรการพิมพ์), 2526.

อ. พิบูลสงคราม 2518. จอมพล ป.พิบูลสงคราม เล่ม 2 (กรุงเทพฯ : ศูนย์การพิมพ์) 

Bowring, John 1857. The Kingdom and the People of Siam. vol. I (London : Oxford University Press), 1969. 

 

ที่มา: แก้ไขเล็กน้อยจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ปรีดี พนมยงค์ กับปัญหาเอกราช,” ใน รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 (2543), น. 26-48. (ส่วนหลังของบทความ)  

 

[1]  ต้องขอขอบคุณ กนิษฐา ชิตช่าง และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่ได้ให้คําปรึกษาแลกเปลี่ยนเป็นอย่างมากในประเด็นเรื่องคณะราษฎรและปัญหาเอกราชของสยาม แต่กระนั้น ความบกพร่องหรือความไม่ชัดเจนใด ๆ ที่นําเสนอในบทความนี้ ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่ผู้เดียว