สวัสดีมายัง คณะกรรมการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ผมได้รับจดหมายจากสาราณียกรของท่าน ขอให้ผมเขียนบทความในหัวข้อเรื่อง “ทางรอดของสังคมไทย” เพื่อนำลงในหน้งสือที่ระลึกซึ่งคณะของท่านจะพิมพ์เนื่องในโอกาส 10 ธันวาคมปีนี้ เรื่องทำนองเดียวกันนี้ ผมได้กล่าวไว้ในที่ประชุมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน ซึ่งหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ รายวัน ได้ลงพิมพ์ปาฐกถาซึ่งผมแสดงที่ฝรั่งเศส และ ประชาธิปไตย ได้ลงพิมพ์ปาฐกถาของผม ซึ่งแสดงที่อังกฤษตอนหนึ่ง นอกจากนี้ได้มีผู้พิมพ์เป็นจุลสาร ฉะนั้น ผมจึงขอสนองศรัทธาท่านเพียงเขียนหัวข้อโดยสังเขปเพื่อประกอบการพิจารณาของท่านในการที่จะหา ทางรอดของประเทศไทย ดังต่อไปนี้ คือ
-1-
ก่อนที่จะพิจารณาหาทางรอดของส่งคมไทยนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงว่า สังคมไทยในปัจจุบันนี้ต้องประสบภยันตรายขนาดใดบ้าง ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นไปยามยถากรรมไซร้ สังคมไทยที่เป็น “สังคมชาติ” (National Society) ของมวลชาวไทย ก็จะไม่รอดพ้นจากการเสื่อมแล้วจะสลายในที่สุด ครั้นได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว จึงศึกษาค้นคว้าหาวิธีที่เหมาะสมแก่สภาพ, ท้องที่, กาละของสังคมไทย เพื่อให้สังคมชาติของเราดำรงความเป็นเอกราชสมบูรณ์ และมวลราษฎรไทยมีความสุขไพบูลย์โดยปราศจากการกดขี่เบียดเบียนระหว่างมนุษย์กับมนุษย์
-2-
ผมขอเสนอให้ท่านคำนึงถึงภยันตรายที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบันนี้ 4 ประการ คือ
2.1 ภยันตรายจากการคุกคามเอกราชสมบูรณ์ของชาติ
การคุกคามเอกราชของชาติมีหลายแบบ อาทิ
แบบที่ 1. ต่างชาติยกกองทัพรุกรานประเทศไทยโดยตรง หรือโดยได้รับความยินยอมจากผู้ที่มีอำนาจรัฐในสังคมไทย เช่น กองทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยมีสิทธิพิเศษซึ่งเรียกตามภาษากฎหมายระหว่างประเทศว่า Extra-territoriality ซึ่งเคยแปลเป็นไทยว่า “สภาพนอกอาณาเขต” อันทำให้ชาติไทยต้องเสียอธิปไตยสมบูรณ์ อาทิ ทหารต่างชาติทำผิดในดินแดนไทยก็ไม่ต้องขึ้นศาลไทย และได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรรวมทั้งภาษีศุลกากร ฯลฯ
แบบที่ 2. ต่างชาติมิได้ยกกองทหารรุกรานหรือเข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทยโดยตรง แต่ใช้อำนาจเศรษฐกิจ, หรือการเมือง, หรือวัฒนธรรม (รวมทั้งทรรศนคติ), อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง, ทำให้สังคมไทยต้องตกอยู่ภายให้อำนาจหรืออิทธิพลของต่างชาติ นั้น ๆ
แบบที่ 3. ต่างชาติส่งจารชนเข้าหาแทรกซึมในกระทรวงทบวงกรมและสถาบันต่าง ๆ โดยให้เงินหรือประโยชน์เป็นสินจ้างในการขีดเขียน หรือโมษณา หรือเล่ห์กลต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้บุคคลบางส่วนตกอยู่ใต้อำนาจหรืออิทธิพลของต่างชาตินั้น ๆ
บุคคลย่อมมีเสรีภาพที่จะอาศัยคำสอนของลัทธิใด ๆ ที่เห็นว่าเป็นสัจจะนั้น เป็นหลักในการวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นของสังคมไทย แต่จะต้องไม่มุ่งเฉพาะการต่อสู้ระหว่างชนชั้นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คือ จะต้องไม่ละเลยคำนึงถึงการรักษาความเป็นเอกราชสมบูรณ์ของชาติไทยให้ดำรงคงไว้ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย
2.2 ภยันตรายจากการที่ราษฎรไทยส่วนมากถูกกดขี่เบียดเบียนทางเศรษฐกิจ
สังคมใดที่จำนวนพลเมืองส่วนข้างน้อยมีความไพบูลย์ด้วยการกดขี่เบียดเบียนพลเมืองส่วนข้างมากที่ต้องตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัส พลเมืองส่วนมากที่เป็นกระดูกสันหลังของประเทศนั้นก็ไม่มีสมรรถภาพพอที่จะเป็นพลังในการรักษาความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้ สังคมนั้นก็จะเสื่อมและสลายไป
ฉะนั้น ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงว่า พลเมืองประเภทใดบ้างที่เป็นฝ่ายทำการกดขี่เบียดเบียน และประเภทใดที่เป็นฝ่ายถูกกดขี่เบียดเบียน อีกทั้งพิจารณาขนาดของการกดขี่เบียดเบียนนั้นหนักหรือเบาอย่างใด การพิจารณาเรื่องนี้เกี่ยวกับการจำแนกบุคคลออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามฐานะและวิถีดำรงชีพเดิมคนไทยเรียกประเภทบุคคลที่แตกต่างกันเช่นนั้นตามมูลศัพท์บาลีสันสกฤตว่า “วรรณะ” ต่อมาเมื่อตำรายุโรปและจีนได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยก็เกิดความนิยมเรียกประเภทของบุคคลที่แตกต่างกันเช่นนั้นว่า “ชนชั้น”ซึ่งแปลคำอังกฤษ “Class” (คลาสส์) หรือภาษาจีน “เจียจิ”
ปัจจุบันนี้มีบทความมากมายที่กล่าวถึงการจำแนกชนชั้นของส่งคมไทย รวมทั้งบทความที่ผมเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง ความเป็นอนิจจังของสังคม และ “การวิเคราะห์สังคมสยามตามกฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง (สสารธรรมประติการและวิวรรตการ)” อันเป็นเรื่องที่ผมได้แสดงไว้ในที่ประชุมของนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมันเมื่อ พ.ศ. 2517 ต่อมานิตยสาร มหาราษฎร์ ได้นำลงพิมพ์ส่วนมากแล้วต่อไปผมจะได้ปรับปรุงพิมพ์เป็นเล่ม ขอให้ท่านทั้งหลายรับบทความของผู้อื่นและของผมเกี่ยวกับเรื่องจำแนกชนชั้นไว้ประกอบการพิจารณา แล้ววินิจฉัยตามที่ท่านเห็นว่าตรงกับสภาพจริงของสังคมไทย
ผมขอให้ข้อสังเกตว่า ทฤษฎีใดเป็นวิทยาศาสตร์สังคมนั้น ก็เพราะทฤษฎีนั้นนำกฎวิทยาศาสตร์ธรรมชาติมาประยุกต์แก่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม และการเมือง กับวัฒนธรรม (รวมทั้งทรรศนคติ) ซึ่งเป็นโครงสร้างเบื้องบนของสังคม ความขัดแย้งนี้ทำให้สังคมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง
ในทางชีววิทยา ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ธรรมชาตินั้น จำแนกพืชและสัตว์ที่มีชีวิตออกเป็น “ตระกูล” (Family), ตระกูลหนึ่ง ๆ จำแนกออกเป็น “ประเภท” (Genus), ประเภทหนึ่ง ๆ จำแนกเป็น “ชนิด” (species), ชนิดหนึ่ง ๆ จำแนกออกเป็น “ชนิดปลีกย่อย” (Sub-Species)
ถ้าเรานำวิธีจำแนกสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยามาใช้ในการจำแนกบุคคลที่มีฐานะและวิถีดำรงชีพต่างกัน เราก็อาจจำแนกบุคคลออกเป็น 2 จำพวก คือ จำพวกหนึ่ง ได้แก่ บุคคลที่ทำการกดขี่เบียดเบียนคนส่วนมากของสังคม อีกจำพวกหนึ่ง คือ คนส่วนมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียน คนจำพวกหนึ่ง ๆ ก็จำแนกออกเป็น “ประเภท”, ประเภทหนึ่ง ๆ ก็จำแนกออกเป็น “ชนิด”, ชนิดหนึ่ง ๆ ก็จำแนกออกเป็น “ชนิดปลีกย่อย”
สังคมไทยบัจจุบันเป็นประเทศที่เรียกว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” (Developing Country) หมายความว่า พลังการผลิต (Productive Forces) ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือการผลิต (Instruments of Production) พร้อมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคนิค และคนที่สามารถทำและใช้สิ่งเหล่านั้น กำลังพัฒนาจากวิธีการผลิตศักดินาที่ตกค้างอยู่เพื่อเข้าสู่พลังการผลิตสมัยใหม่ ความสัมพันธ์การผลิตทางเศรษฐกิจ (Relations of Economic Production) ตามระบบศักดินายังตกค้างอยู่ และมีความส้มพันธ์ตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่กำลังพัฒนา ฉะนั้น การจำแนกชนชั้นของสังคมไทยจึงต้องพิจารณาตามความสัมพันธ์แห่งเศรษฐกิจทั้งสองนั้น
กล่าวโดยย่อ ชนชั้นในสังคมไทยปัจจุบันมีชนชั้นประเภท (Genus) ใหญ่ คือ ชนชั้นกรรมกร, ชนชั้นชาวนา, ชนชั้นนายทุนน้อย, ชนชั้นนายทุนกลาง, ชนชั้นเจ้าสมบัติ, (Bourgeoisie) ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่สมัยใหม่ (Modern Capitalist Class) และมีประเภทนายทุนศักดินาที่ตกค้างอยู่
ถ้าเราตรวจอาการของสังคมเพียงประเภทใหญ่ของชนชั้นแล้ว ก็เปรียบประดุจตรวจอวัยวะส่วนใหญ่ของร่างกายเท่านั้นซึ่งยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น ขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาค้นคว้าจำแนกให้ถึงชนิดและชนิดปลีกย่อย เพราะอาการแห่งความขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นหนักเบาต่างกันตามสภาพ, ท้องที่, กาละของแต่ละสังคม เช่น
ชนชั้นประเภทชาวนา ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนข้างมากของสังคมไทยนั้น ในฐานะประเภทชาวนาก็มีส่วนคล้ายบางสังคมอื่น แต่ถ้าท่านศึกษาค้นคว้าถึงชนิดและชนิดปลีกย่อยแล้ว ท่านจะพบว่า มีลักษณะหลายอย่างที่แตกต่างกันกับหลายสังคม เช่น ชาวนาไทยชนิดยากจนที่ต้องเช่าที่ดินของผู้อื่นนั้นย่อมมีความขัดแย้งกับเจ้าที่ดินผู้ให้เช่าชนิดที่ขูดรีดค่าเช่า แต่ชาวนายากจนไทยยังต้องถูกขูดรีดจากผู้ค้าข้าวเปลือกและเจ้าของโรงสีข้าว สภาพของชนชั้นชนิดชาวนาไทยยากจนจึงต่างกับสภาพของชนชั้นชนิดชาวนายากจนจีนสมัยที่ชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ของจีนรวบอำนาจการให้เช่าที่ดิน, การค้าข้าวเปลือกและการสีข้าว เข้าไว้ในกำมือของตน ฉะนั้น ชาวนาจีนยากจน (ก่อนปลดแอก) จึงใช้คำขวัญว่า “ต่อสู้เจ้าที่ดิน” ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะต้องต่อสู้การขูดรีดเบียดเบียนทุกชนิด แต่คำขวัญนั้นยังคลุมไม่ถึงการเบียดเบียนที่ชาวนายากจนไทยได้รับจากผู้ค้าข้าวและเจ้าของโรงสีข้าว แม้ชาวนากลางและชาวนารวยอันดับต่ำของสังคมไทย ซึ่งมิได้ค้าข้าวและไม่มีโรงสีข้าวของตนเองนั้น ก็ต้องถูกกดขี่เบียดเบียนจากนายทุนชนิดหลังนี้ด้วย ถ้าท่านศึกษาค้นคว้าเปรียบเทียบคิดเป็นจำนวนเงินว่า ชาวนาไทยต้องถูกเจ้าที่ดินและนายทุนสองชนิดหลังนั้นกดขี่เบียดเบียนอย่างไรแล้ว ท่านทั้งหลายก็ย่อมจะเห็นได้ว่า ชาวนาถูกกดขี่เบียดเบียนจากนายทุนชนิดใดมากน้อยต่างกันอย่างไร
ชนนั้นประเภทกรรมกร ก็มีหลายชนิดและชนิดปลีกย่อยที่ถูกกดขี่เบียดเบียนต่าง ๆ กัน อาทิ ชนชั้นชนิดกรรมกรที่ภาษาอังกถษ, เยอรมัน เรียกทับศัพท์ฝรั่งเศส “โปรเลตารียาต์” (PROLETARIAT) ซึ่งเป็นคนทำงานในอุตสาหกรรมใหญ่ก็ถูกกดขี่และมีจิตสำนึกต่างกับคนงานในวิสาหกิจบขนาดกลางและขนาดเล็ก
ชนชั้นประเภทนายทุนน้อย ก็ต้องจำแนกเป็นชนิดและชนิดปลีกย่อยตามสภาพของสังคมไทยโดยเฉพาะ เราจะถือเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้ว่า ถ้าเป็นชนชั้นประเภทนายทุนน้อยแล้ว ก็เป็นมิตรของกรรมกรและชาวนากับพลเมืองไทยส่วนมากได้ทั้งหมด ขอให้ท่านทั้งหลายสอบถามความรู้สึกแท้จริงของกรรมกรชาวนาและพลเมืองไทยส่วนมากว่า เขาถูกกกดขี่ขูดรีดเบียดเบียนคดโกงจากนายทุนน้อยชนิดและชนิดปลีกย่อยใดบ้าง แล้วขอให้ท่านจำแนกนายทุนน้อยให้ถูกต้องตามที่กรรมกรชาวนาและพลเมืองไทยส่วนมากประสบ
อันที่จริงในต้นฉบับตำราวิทยาศาสตร์สังคมนั้น นายทุนน้อยชนิดที่เป็นมิตรได้กับพลเมืองส่วนมากนั้น คือ นายทุนน้อยชนิดที่ถูกแข่งขันจากนายทุนใหญ่ ซึ่งทำให้นายทุนน้อยชนิดนั้นต้องขาดทุนย่อยยับที่จะต้องตกจากฐานะนายทุนน้อยมาเป็นคนยากจน จึงเกิดจิตสำนึกที่จะเข้าร่วมกับกรรมกรชาวนา ส่วนนายทุนน้อยชนิดที่ไม่ถูกนายทุนใหญ่ข่มเหงเช่นนั้น ก็จะเข้าร่วมกับนายทุนใหญ่เพื่อแสวงหากำไรเลื่อนฐานะตนขึ้นเป็นนายทุนกลางและนายทุนใหญ่ตามลำดับ ดังที่ท่านอาจสังเกตเองได้ว่า นายทุนใหญ่ก็เริ่มมาจากเป็นนายทุนน้อยก่อน
ชนชั้นประเภทนายทุนกลาง ก็จะต้องพิจารณาจำแนกชนิดและชนิดปลีกย่อยทำนองชนชั้นประเภทนายทุนน้อย
ชนชั้นประเภทเจ้าสมบัติ ซึ่งเป็นนายทุนใหญ่สมัยใหม่นั้น ก็จำเป็นต้องจำแนกออกเป็นชนิดและชนิดปลีกย่อยต่าง ๆ บางชนิดก็เป็นเจ้าสมบัติรักชาติประชาธิปไตย บางชนิดก็พัฒนาถึงขั้นเป็นนายทุนผูกขาดเป็นบรมธนานุภาพที่ทำการกดขี่เบียดเบียนพลเมืองส่วนข้างมากแห่งสังคมไทย บางชนิดก็เป็นสมุนของนายทุนผูกขาดต่างชาติที่เป็นบรมธนานุภาพ หรือจักรวรรดินิยม
2.3 ภยันตรายจากการที่ราษฎรไทยส่วนมากถูกกดขี่ทางการเมือง
หลักทั่วไปมีว่า ชนชั้นใดมีอำนาจเศรษฐกิจ, ชนชั้นนั้นก็อาศัยอำนาจเศรษฐกิจช่วยยึดครองอำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์แห่งชนชั้นของตนและพันธมิตรของตน ฉะนั้น รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทแห่งระบบการเมืองและแห่งระบบสังคม จึงเป็นไปตามความต้องการมองชนชั้นนั้นใช้กดขี่ราษฎรส่วนมากของสังคมให้จำต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นผลสะท้อนกลับไปยังรากฐานเศรษฐกิจคือรักษาและพัฒนาอำนาจเศรษฐกิจนั้น
แต่ข้อยกเว้นจากหลักทั่วไปมีอยู่ว่า ประเภทนายทุนต่าง ๆ นั้นก็มีชนิดและชนิดปลีกย่อยที่ได้พยุงตนขึ้นสู่ระดับเข้าใจกฎวิวรรตการทั้งปวงของมนุษยสังคม จึงเห็นว่าอนาคตของสังคมจะต้องตกอยู่ในกำมือของกรรมกร, ชาวนา, และราษฎรส่วนมาก บุคคลชนิดและชนิดปลีกย่อยแห่งชนชั้นนายทุนส่วนหนึ่งจึงสละชนชั้นเดิมของตนเพื่ออุทิศตนรับใช้ราษฎรส่วนมากของสังคม โดยสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ขอให้ท่านทั้งหลายซึ่งเป็นปัญญาชนโปรดพิจารณาว่า ส่วนมากของท่านอยู่ในชนชั้นนายทุนชนิดใดบ้าง เพราะเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ตามระบบการศึกษาชั้นมัธยมและอุดมของสังคมไทยปัจจุบันนี้ กรรมกร, ชาวนายากจน และคนยากจนทั่วไปไม่มีเงินพอให้ลูกใช้จ่ายเล่าเรียนได้ ผู้ที่มีโอกาสเล่าเรียนได้ส่วนมากถึงชั้นมัธยมและอุดมนั้นก็อยู่ในชนชั้นนายทุนน้อย, นายทุนกลาง, เจ้าสมบัติ ดังนั้น ท่านก็อาจสละชนชั้นเดิมของท่านโดยอุทิศตนปฏิบัติเพื่อให้มีระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ทางนิตินัยและพฤตินัย
2.4 ภยันตรายจากการที่ราษฎรไทยส่วนมากถูกกรอกสมองด้วยทรรศนคติที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์
ท่านทั้งหลายย่อมสังเกตได้ว่า ปัจจุบันนี้มีทรรศนคติหลายอย่างโฆษณาแพร่หลายมาก ฝ่ายชนชั้นประเภทนายทุนกับลูกสมุนก็เผยแพร่ทรรศนคติเพื่อจูงใจให้ราษฎรบริสุทธิ์หลงเชื่อเพื่อใช้เป็นหลักนำการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยปริยายแก่อำนาจเศรษฐกิจและการเมืองของฝ่ายประเภทนายทุน
ส่วนพวกที่เรียกกันว่าก้าวหน้านั้น ก็เผยแพร่ทฤษฎีซึ่งแต่ละพวกคิดว่า ชนิดหรือชนิดปลีกย่อยของตนนั้นก้าวหน้า
ถ้าราษฎรไทยส่วนมากถูกกรอกสมองให้หลงเชื่อตามทรรศนคติที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ไซร้ ภยันตรายก็เกิดขึ้นได้แก่สังคมไทย
ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาทรรศนคติทุก ๆ อย่าง แล้วพิจารณาว่า อย่างใดเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎวิทยาศาสตร์สังคมที่ประยุกต์ได้เหมาะสมแก่สภาพ, ท้องที่, กาละ ของสังคมไทย
-3-
เมื่อท่านทั้งหลายได้ศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างบนนั้นแล้ว ก็ขอให้ศึกษาค้นคว้าถึงวิธีที่จะทำให้ภยันตรายต่อสังคมไทยหมดไปเป็นขั้น ๆ ตามสภาพ, ท้องที่, กาละ ของสังคมไทย โดยเฉพาะ ขอให้คำนึงถึงภาษิตโบราณที่ว่า “ขึ้นต้นไม้ทีเดียวสุดยอดไม่มีทางสำเร็จ” ภาษิตของจีนที่เทียบได้กับภาษิตไทยนั้น ก็มีอยู่ว่า “การเดินให้ถึง 1000 ก้าว ก็ต้องตั้งต้นจาก 1 ก้าวก่อน”
ท่านทั้งหลายคงได้ทราบหรืออาจทราบว่า วิทยาศาสตร์สังคมให้คติไว้ว่า “ราษฎรเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ของตน” และให้ถือ “มวลชนเป็นใหญ่” ดังนั้น วิธีที่จะทำให้สังคมไทยรอดพ้นจากภยันตรายต่าง ๆ นั้น ก็ต้องสุดแท้แต่ความถนัดของราษฎรส่วนมากที่ถูกกดขี่เบียดเบียนแห่งสังคมต่าง ๆ ผู้ใดที่แม้มีความปรารถนาดีต่อมวลชน แต่ถ้าไม่คำนึงถึงความถนัดของมวลชนไซร้ ความปรารถนาดีนั้นก็เป็นรวามนึกคิดที่เรียกว่า “อัตวิสัย” (Subjectivism) และ “จิตนิยม” (Idealism) คือ การนึกเอาเองตามวิสัยและจิตของตน ซึ่งมิใช่ความปรารถนาดีทาง “ภาวะวิสัย” (Objectivism)
ผมขอคัดความตอนหนึ่งที่ผมกล่าวไว้ใน บทความที่ลงพิมพ์ใน หนังสือที่ระลึกของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ประจำพ.ศ. 2518 ดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีความเป็นอยู่อย่างราษฎร ซึ่งต้องการปลดเปลื้องความกดขี่เบียดเบียน ย่อมประสบพบเห็นว่า ราษฎรในประเทศหนึ่ง ๆ มีความถนัดต่าง ๆ กัน ในระหว่างบุคคลที่เข้าลักษณะเป็นกรรมกรนั้น กรรมกรก็มีความถนัดในการงานต่าง ๆ กัน ตามชนิดและปลีกย่อยของการงาน เช่น กรรมกรแบกหามก็ถนัดในการนั้น ส่วนกรรมกรในวิสาหกิจที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ก็มีความถนัดต่างกับกรรมกรแบกหาม ส่วนชาวนานั่นเล่า ก็มีความถนัดในวิธีทำนาต่าง ๆ กันตามสภาพ, ท้องที่, กาละ เช่น ชาวนาไทยไม่ถนัดในการใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ แต่ชาวนาจีนมีความถนัดในการใช้ปุ๋ยชนิดนั้น แม้ในระหว่างชาวนาจีนด้วยกัน แต่ก็ก็ถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ต่างกันตามท้องที่ เช่น ชาวนาจีนบริเวณใกล้กรุงปักกิ่ง ซึ่งผมเคยสังเกตการณ์หลายปีนั้น ก็เห็นว่า เขาถนัดใช้ปุ๋ยอุจจาระมนุษย์ที่ตากหรือผึ่งให้แห้งก่อน ส่วนชาวนาและชาวสวนผักบริเวณกวางตุ้งถนัดใช้อุจจาระสดโดยเขาไม่มีความรังเกียจ
ขอให้ท่านพิจารณาถึงวิธีรับประทานอาหารว่า คนในชาติหนึ่งถนัดวิธีต่างกับอีกชาติหนึ่งตามสภาพและท้องที่ เช่น ราษฎรไทยส่วนมาก (นอกจากคนสมัยใหม่) ก็ถนัดใช้มือเปิบข้าวที่รับประทานผักจิ้มน้ำพริก ถ้าใช้ตะเกียบรับประทานอาหารไทยแท้ก็ไม่ถนัด คนไทยสมัยใหม่ที่ใช้ช้อนส้อมนั้นก็ต้องมีผู้หั่นผักให้พอดีคำก่อน คนฝรั่งเศสถนัดใช้ส้อมกับมีดในการรับประทานอาหารและถนัดใช้ส้อมเป็นพิเศษ ถ้ารับประทานปลาก็ใช้ส้อมอย่างเดียว โดยเอามือขวาจับส้อม เอามือซ้ายถือขนมปังชิ้นหนึ่งดุนปลาให้เข้าส้อม แต่คนอังกฤษถนัดใช้มีดปลาที่ทำเฉพาะกับส้อม ฯลฯ
ฉันได้ก็ดี วิธีที่จะเข้าสู่การอภิวัฒน์ตามกฎหมายว่า ทุก ๆ ก้าวหน้าตามแนวทางกู้อิสรภาพนั้น ก็ต้องสุดแท้แต่ความถนัดของบุคคล การที่ผู้ใดอ้างว่าต้องทำตามวิธีที่ผู้อ้างต้องการจึงจะเป็นวิธีอภิวัฒน์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าคิดตาม “อัตวิสัย” และ “จิตนิยม” คือ คิดตามใจตนเองโดยไม่มองถึงความถนัดของแต่ละบุคคล ยิ่งผู้อ่านเองก็ไม่ถนัดในวิธีที่ชักชวนให้ผู้อื่นทำแล้ว ก็ยิ่งเป็นการพูดโดยไม่ผิดชอบ ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ผู้อื่นทำตามวิธีที่ตนเองก็ไม่ถนัด
ตามที่สาราณียกรปรารภไว้ในจดหมายถึงผมว่า ผู้นำชาวนาในชนบทถูกลอบสังหารไปแล้วหลายสิบศพ โดยรัฐบาลไม่สามารถติดตามคนร้ายได้เลยนั้น ผมขอแสดงความเห็นใจเป็นอันมากแก่ครอบครัวและญาติมิตรของผู้นำชาวนาที่ถูกทำลายชีวิต ผมขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณากฎธรรมชาติแห่งความขัดแย้งฯ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่อง “ประติการ” คือ เมื่อมีการ “กระทำ” ก็ต้องมีฝ่ายตรงข้าม “โต้การกระทำ” มิใช่เป็นเรื่องของ “วิธีวิพาษ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “พูดแตกต่าง, พูดแย้ง (ส. วิ+ภาษ)” ท่านก็ย่อมเห็นได้ว่า ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มนำชาวนานั้นมิได้ใช้วิธีวิภาษ หากใช้การกระทำโต้แย้งตามกฎประติการอย่างจริงจัง ผมหวังว่า ก่อนที่ผู้ปฏิบัติงานลงมือกระทำนั้น เราก็คงเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมื่อลงมือกระทำการใดนั้น ฝ่ายตรงข้ามต้อง “โต้การกระทำ” และกลุ่มนำจะใช้วิธีใดที่จะ “ตอบโต้การกระทำ” ให้ได้ผลนั้น ท่านทั้งหลายควรศึกษา
ผมขอเสนอให้ท่านทั้งหลายคิดไว้ด้วยว่า การหาทางรอดของสังคมไทยนั้น มวลชนย่อมต้องการทราบมิเพียงแต่ด้านทำลาย เพราะเพียงแต่ด้านนั้นยังมิใช่ทางรอดของสังคมไทย หากมวลชนต้องการทราบถึงด้านก่อสร้างที่เห็นได้เป็นรูปธรรมอย่างชัดแจ้งประกอบด้วย
ตัวอย่างในหลายประเทศที่ขบวนการหาทางรอดของสังคมนั้นคิดแต่ด้านทำลายโดยไม่มีแผนก่อสร้างไว้ล่วงหน้าก็เป็นเหตุให้เศรษฐกิจที่ทรุดอยู่แล้วต้องทรุดอีกหนักลงอีก เช่น สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสเนื่องจากการอภิวัฒน์ ค.ศ. 1789 คือ “บัตรแทนเงินตรา” ซึ่งเรียกว่า “อัสซิญยาต์” หรืออีกนัยหนึ่ง “ธนบัตร” นั้น ได้ลดค่าลงมาก แต่รัฐบาลที่ได้อำนาจรัฐต่อมานั้นมิได้มีแผนเศรษฐกิจไว้ล่วงหน้า และเมื่อเก็บภาษีอากรได้ไม่พอใช้จ่ายก็ใช้วิธีออกธนบัตรแทนเงินตราจนเหลือล้น ค่าของบัตรนั้นก็ลดลงเรื่อย ๆ จนเกือบศูนย์ กรรมกรฝรั่งเศสก็เบื่อหน่าย เพราะตนได้รับค่าจ้างเป็นบัตรที่เกือบไม่มีค่า ชาวนาและพลเมืองส่วนข้างมากที่ยากจนหรือมีทุนน้อยก็ไม่พอใจผู้ครองอำนาจรัฐใหม่ จึงเป็นเหตุหนึ่งที่นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต ทำรัฐประหารล้มระบอบสาธารณรัฐ แล้วตั้งธนาคารแห่งประเทศฝรั่งเศสขึ้นแล้วใช้เงินตราใหม่และรักษาเสถียรภาพเงินตราไว้ได้
ตัวอย่างของประเทศอื่น ๆ ก็มีมาก จึงขอให้ท่านทั้งหลายศึกษาหาความรู้ในเรื่องนี้ด้วย
-4-
ขอบคุณท่านทั้งหลายที่ระลึกถึงวันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกใช้มาเป็นเวลา 14 ปี ซึ่งยืนยาวที่สุดในประวัติรัฐธรรมนูญสยามที่มีมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวฉบับ 27 มิถุนายน 2475 และฉบับ 10 ธันวาคมนั้น คณะราษฎรย่อมมีความผิดพลาดหลายประการ ซึ่งท่านทั้งหลายควรศึกษาเพื่อไม่ผิดพลาดซ้ำอีก ขอให้ท่านรับฟังความเห็นทุก ๆ กลุ่มที่ขัดแย้งตั้งแต่ต้นมาจนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นประโยชน์ที่ท่านจะพิจารณาความเห็นของกลุ่มนั้น ๆ ที่ได้พิจารณาสภาพของสยามสมัยนั้นอย่างไรบ้าง
แต่คณะราษฎรเห็นว่า สมัยนั้นสยามตกอยู่ในวงล้อมของจักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งเศส ท่านที่ศึกษาประว้ติศาสตร์แม้เบื้องต้น จากผู้จำความได้ก็คงทราบจากหลายคนว่า ใน ค.ศ. 1896 จักรวรรดินิยมทั้งสองทำความตกลงกันว่า ยินยอมให้สยามเป็นเอกราชเพื่อเป็น “ประเทศกันชน” (Buffer State) ระหว่างอาณานิคมของสองประเทศในแหลมอินโดจีน โดยเขาขมวดไว้ว่า ข้อตกลงนั้นไม่ตัดสิทธิ์ที่สองประเทศจะยกกองกำลังมายึดเอาสยามไปแบ่งเป็นอาณานิคมของแต่ละประเทศนั้นได้ ถ้าท่านทั้งหลายทราบสภาพของสยามเช่นนั้นแล้ว ก็ขอให้ลองคิดดูว่า ถ้าคณะราษฎรใช้วิธีจัดตั้งมวลชนไทยสมัยนั้นให้กว้างใหญ่ไพศาลประกอบเป็นกองทัพใหญ่ยกมารบกับฝ่ายรัฐบาล จักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งเศสสมัยนั้นจะแทรกแซงได้หรือไม่ และถ้ามีการแทรกแซงขึ้นแล้ว สังคมไทยที่แม้มีเพียงเอกราชทางนิตินัย จะคงฐานะเช่นนั้นต่อไปได้ หรือจะสูญเสียเอกราชทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย คณะราษฎรใช้วิธียึดอำนาจโดยฉับพลันที่เรียกว่า “กูป์ เดตาต์” ซึ่งมีผู้แปลว่า “รัฐประหาร” อันเป็นการกระทำชุดเดียว ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระปรีชาญาณว่า ถ้ารับสั่งให้ทหารหัวเมืองที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ยกกำลังมาสู้กับฝ่ายคณะราษฎรแล้ว การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธก็จะยืดเยื้อ ซึ่งจะเป็นเหตุให้อังกฤษกับฝรั่งเศสส่งกองทัพมาแทรกแซง พระองค์ทรงมีพระทัยเห็นแก่ความเป็นเอกราชของชาติ จึงพระราชทานระบบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมญดังที่คณะราษฎรขอพระราชทาน
อย่างไรก็ตาม การกระทำของคณะราษฎรโดยวิธีนั้นมิได้ทำให้เศรษฐกิจที่เสื่อมโทรมอยู่แล้วนั้นทรุดหนักลง หากได้ทำนุบำรุงให้ดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ตามสภาพสมัยนั้น โดยเฉพาะได้รักษาเสถียรภาพของเงินบาท ซึ่งไม่ทำให้กรรมกรได้เงินตราที่เสื่อมค่าเป็นค่าแรง และชาวนาขายพืชผลตามเงินตราที่มีเสถียรภาพในที่สุดนี้ ขอส่งความปรารถนาดีมายังท่านและนิสิตทุกคน.
ที่มา: นายปรีดี พนมยงค์ เขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2518 เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก 10 ธันวาคม ของคณะกรรมการนิสิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อความในบทความนี้ ปรับแก้เล็กน้อยจากที่พิมพ์เป็นเล่มในชื่อ ปรีดี พนมยงค์ แนะวิธีพิจารณาทางรอดของสังคมไทย (กรุงเทพฯ: สถาบันสยามเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม, 2519).