ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
เกร็ดประวัติศาสตร์

เด็กชายปรีดีที่โรงเรียนวัดศาลาปูน

27
พฤศจิกายน
2563

เมื่อเด็กชายปรีดีฯ เข้าเรียนในโรงเรียนวัดศาลาปูนวรวิหารนั้น เป็นระยะเวลาที่กระทรวงธรรมการได้ประกาศใช้ “หลักสูตรใหม่” โดยแบ่งระดับชั้นเป็น “ชั้นมูล” “ชั้นประถม” และ “ชั้นมัธยม” เด็กชายปรีดีฯ ได้เรียนต่อในระดับชั้นประถม 3 ปี และสอบไล่ได้ชั้นประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่ของกระทรวงธรรมการใน พ.ศ. 2452 เมื่อเด็กชายปรีดีฯ อายุได้ 9 ขวบ 

โรงเรียนวัดศาลาปูนวรวิหาร เป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอกรุงเก่า เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของอยุธยาในสมัยนั้น ตัวอาคารเรียนเป็นตึกชั้นเดียว ตั้งอยู่หน้าโบสถ์วัดศาลาปูนวรวิหาร พระครูวิเชียร ธมฺมวโร (วิเชียร บางบาล) เล่าว่า ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2457 ปัจจุบัน (พ.ศ. 2538) อายุ 81 ปี เป็นชาวจังหวัดอยุธยา เมื่อเป็นเด็กเคยเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูนฯ และไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนตัวอย่างมณฑลกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อจบการศึกษาแล้วได้บวชเป็นสามเณร ศึกษาธรรมและไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ต่อมาได้มาบวชเป็นพระภิกษุอีกครั้งหนึ่งจนถึงปัจจุบัน

พระครูวิเชียรฯ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดศาลาปูนฯ กับครูตรี สิทธิสนธิ์ พระครูวิเชียรฯ เล่าต่อไปว่า “ครูตรีเคยสอนท่านปรีดีฯ มาก่อน … ครูตรีเป็นครูเก่าที่โรงเรียนนี้ … สอน (พระครูวิเชียรฯ) เมื่ออายุมากแล้ว … ครูตรีมีนิสัยใจคอรักสนุก เป็นคนติดตลก … แต่เวลาสอนหนังสือเอาจริงเอาจัง … เป็นครูที่ดุ … มีการสอนเลขด้วย … สมัยนั้นหาคนเป็นครูยาก … ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนวิทยาลัย” เป็นอาคารตึกชั้นเดียว ต่อมาเมื่อราว ๆ พ.ศ. 2500 ได้มีการทุบทิ้งเพราะเก่ามาก … แต่นำอิฐไปสร้างเป็นกุฏิพระ … ปัจจุบันเป็นกุฏิเจ้าอาวาส…”

ต่อมาโรงเรียนวัดศาลาปูนฯ ก็ได้รับโอนไปเป็นโรงเรียนเทศบาลวัดศาลาปูนวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวัดฯ จนถึงปัจจุบัน

พระครูวิเชียรฯ เล่าต่อไปว่า “...โรงเรียนนี้สอนชั้นประถม … เรียน 3 ปี ... คนที่จะมาเรียนชั้นประถมสมัยนั้นต้องอ่านออกเขียนได้มาก่อน จึงจะเข้าชั้นประถมหนึ่ง ... เพราะฉะนั้นก่อนเรียนประถมหนึ่ง ต้องเรียนมูลบทมาก่อน ... ถึงจะเข้าเรียนประถมได้ ...”

 

โรงเรียนเทศบาลวัดศาลาปูน
โรงเรียนเทศบาลวัดศาลาปูน

 

วัดศาลาปูนวรวิหาร ตั้งอยู่ฝั่งเหนือของคลองเมือง อยู่ด้านทิศตะวันตกใกล้กับวัดพนมยงค์ พระครูวิเชียรฯ เล่าว่า “วัดศาลาปูนฯ เป็นวัดเก่าตั้งมานานแล้ว ชื่อเดิมว่า ‘วัดโลกยสุทธา’ แต่ชาวบ้านไม่เรียก ... มาเรียกกันว่า วัดศาลาปูน ... เพราะข้างวัดมีโรงเผาปูน (ปูนที่นำมาใช้กินกับหมาก) และมีศาลาคนไปนั่งเล่นกัน จนเรียกกันติดปากว่า วัดศาลาปูน … วัดศาลาปูนเป็นวัดหลวง ชั้นวรวิหาร ชื่อทางการเรียกว่า วัดศาลาปูนวรวิหาร  ชื่อเดิมวัดโลกยสุทธา จึงเลือนหายไป…”

สมัยที่นายปรีดีฯ เรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดศาลาปูนฯ พระธรรมราชานุวัตร (อาจ จนฺทโชติ) เป็นเจ้าคณะมณฑลพระนครศรีอยุธยาและเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนฯ  ท่านมรณภาพเมื่ออายุ 84 ปี (พ.ศ. 2464) (เขียนตามคำบอกเล่าและข้อความประกอบภาพถ่ายของพระครูวิเชียรฯ ที่นำมาแสดงให้ดู) พระครูเล่าว่า “... ท่านเจ้าประคุณพระธรรมราชานุวัตร เป็นคนในพื้นที่นี้...มีความสนิทชิดชอบกับเจ้าจอมมารดา ในสมัยรัชกาลที่ 5 … วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียง”

พระครูวิเชียรฯ กล่าวว่า “เดิมในสมัยโบราณเล่ากันต่อ ๆ มาว่า คลองเมืองที่อยู่หน้าวัดศาลาปูน … หน้าวัดพนมยงค์ … เคยเป็นแม่น้ำป่าสักมาก่อน … ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา … (ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเก่าอยุธยา) ... หน้าน้ำ น้ำเหนือไหลบ่ามาแรง กัดเซาะตลิ่งพัง … ชาวบ้านจึงเอาเสาไม้ไปปักในลำน้ำ (ที่บริเวณหัวรอปัจจุบัน) เพื่อรอน้ำหรือชะลอน้ำไว้ให้ไหลช้าลง จึงเรียกบริเวณนั้นกันมากว่า ‘หัวรอ’ เรียกกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ … ต่อมา น้ำเปลี่ยนทางเดินผ่านไปตามคูเมือง … เรื่อย ๆ ไป … ผ่านไปทางหน้าวัดพนัญเชิง … ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ของเกาะเมืองอยุธยา … ทำให้แม่น้ำป้าสักเดิมนี้ค่อย ๆ ตื้นเขินลงจนมีสภาพคล้ายคลอง … ชาวบ้านจึงเรียกกันเรื่อยมาว่า ‘คลองเมือง’... คลองเมืองสมัยก่อนมีบ้านเรือนแพจอดเรียงสองฝั่งคลอง และคลองเมืองก็เป็นตลาดขายสินค้าด้วย … และเป็นลำน้ำที่ประชาชนใช้สัญจร..."

 

ที่มา:  ปรับแก้เล็กน้อยจาก วิชัย ภู่โยธิน, ก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ดร.ปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2538), น. 20-23.