ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
บทบาท-ผลงาน

เค้าโครงการเศรษฐกิจกับนโยบายรัฐสวัสดิการไทยในปัจจุบัน

17
เมษายน
2567

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเรียกร้องเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” เป็นหนึ่งในข้อเสนอรูปธรรมที่มีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในขบวนการของคนรุ่นใหม่ และในนโยบายของพรรคการเมือง รัฐสวัสดิการกลายเป็นรูปธรรมของความเป็นประชาธิปไตย รูปธรรมของความยุติธรรม เสรีภาพ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน ข้ออเสนอถูกพูดถึงในวงกว้างจากท้องถนนถึงรัฐสภา จากแม่สายถึงเบตง จากวงเสวนาวิชาการถึงสภากาแฟของชาวบ้าน จากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกถึงความฝันของเด็กมัธยม

แม้ว่าวันนี้เราอาจจะยังไม่ได้บรรลุข้อเสนอว่าด้วยรัฐสวัสดิการที่ประสงค์ไว้ แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าความเข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการได้แพร่กระจายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จึงชวนคิดว่าหากพิจารณาถึงหน่ออ่อนของแนวคิดรัฐสวัสดิการจึงไม่พ้นข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์เมื่อปี 2475 (นับตามปฏิทินเก่า) 

ข้อเสนอที่ปรากฏใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” และเป็นข้อเสนอที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งสำคัญในการอภิวัฒน์สยาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิเคราะห์ต่อว่า แม้ข้อเสนอรัฐสวัสดิการจะเป็นข้อเสนอที่สั่นสะเทือนวงการทุกยุคทุกสมัย แต่ก็เป็นข้อเสนอที่ดูเหมือนเป็นข้อเสนอที่ตกค้างมาหลายยุคหลายสมัยเช่นกัน ดังนั้นหากเราวิเคราะห์ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เทียบเคียงกับพัฒนาระบบสวัสดิการไทยในปัจจุบัน

 

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ

ปรีดี พนมยงค์ เน้นให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรวมถึงการลดอิทธิพลของกลุ่มทุนภายใน และระหว่างประเทศ โดยสร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และลดการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ หากพิจารณาแล้วความพยายามส่วนนี้ดูจะประสบความสำเร็จในช่วงแรก

แต่หลังจาก ปี 2500 การสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่รัฐราชการ และกองทัพเข้ามาผูกขาดในรัฐวิสาหกิจเสียเอง หลายภาคส่วนยังคงมีอิทธิพลในปัจจุบัน ขณะที่หลายภาคส่วนได้ผ่านกระบวนการแปรูปรัฐวิสาหกิจและเปิดโอกาสให้การบริหารของกลุ่มทุนมีอิทธิพลมากขึ้น

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่วิธีการคิดสุดท้ายนำสู่วิธีคิดสองขั้วของรัฐวิสาหกิจ คือ “รัฐรวมศูนย์” และ “ตลาดเอกชน” ที่แท้จริงแล้วข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ วางอยู่บนพื้นฐานประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากเทียบแล้วมีลักษณะในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ที่เรียกว่า ชุมชน-บรรษัทนิยม (Social-Coporatism) ที่วิสาหกิจทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทั้งผ่านระบบการเมือง การมีส่วนร่วมของแรงงาน การกำหนดนโยบาย และมิติทางเศรษฐกิจต่างๆ  ที่ดึงภาคส่วนต่างๆ มามีส่วนร่วม

 

2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสวัสดิการ

ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การคมนาคม การชลประทานและสาธารณูปโภคต่างๆ ที่กล่าวถึงเรื่องความมั่นคงพื้นฐานในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การประกันการว่างงาน การรักษาพยาบาล หรือมิติบำนาญ ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจ เมื่อเราพบว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะมีแยกส่วน ในความเข้าใจของนักนโยบายสาธารณะนั้น “นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน” และ “นโยบายสวัสดิการ” ถูกแยกออกจากกัน เช่น “นโยบายรถไฟความเร็วสูง” กับ “นโยบายเงินเลี้ยงดูเด็ก” ถูกออกแบบผ่านฐานความคิดคนละแบบ หรือบางทีก็นำแนวคิดของอีกสายมาอธิบายอีกแนวคิดหนึ่งเสียยุ่งวุ่นวายหรือบางมิติที่ดูใกล้เคียงกันเช่น “นโยบายสร้างโรงเรียน” กับ “นโยบายเรียนฟรี” ก็ถูกสร้างอยู่บนคนละฐานแนวคิด

กล่าวคือ มีชุดนโยบายที่พิจารณาอยู่บนฐานความคุ้มทุน และฐานสิทธิพื้นฐาน การแยกสองมิตินี้ออกจากกันกลายเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เพราะสิทธิพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินบำนาญ ประกันว่างงาน หรือการศึกษาฟรี ก็นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญหากไม่มีสิ่งเหล่านี้ คนย่อมใช้โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ไม่ได้ ไม่มีเวลาไปพักผ่อน ไปเที่ยว ไม่สามารถคิดฝันเรื่องการสร้างมูลค่าต่างๆ ที่หลากหลาย และในช่วงหลัง นโยบายหลายอย่างถูกควบคุมผ่าน “ความคุ้มค่า” อย่างล้นเกิน

ไม่นานมานี้ผู้เขียนมีโอกาสสนทนากับนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่ง ถึงกับปรารภว่า “นักเศรษฐศาสตร์ปัจจุบันดูจะบ้าตัวเลขเกินไป เห็นเพียงแต่สิ่งที่คุ้มหรือไม่คุ้ม” หากย้อนไปในยุคสมัยของปรีดี พนมยงค์ข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานความคุ้มค่าอย่างเดียว แต่ล้วนวางอยู่บนฐานสิ่งที่ควรเป็น สิ่งที่ประชาชนควรได้ ความคุ้มค่าของนโยบายไม่ได้วัดดูว่ารัฐจะทำเงินเท่าไรกับประชาชน แต่คือความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับงบประมาณที่เคยใช้กับคนกลุ่มอื่นที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อความก้าวหน้าของสังคมในขณะนั้น

 

3. การปฏิรูประบบภาษี

ปรีดี พนมยงค์ เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมแก่ประชาชน การวัดเรื่องภาษีถูกตีความอย่างผิดเพี้ยน ว่าใครเสียภาษีเยอะกว่ากัน ในปัจจุบันเองก็ยังคงมีปัญหานี้ ทุกรอบของปีภาษี จะมีชุดข้อมูลออกมาว่า มีคนกลุ่มหนึ่งเสียภาษี (คนรวย) เสียภาษีมากกว่ากลุ่มคนจน  ซึ่งนับว่าเป็นการตีความตามความหมายแคบ เพราะหากกล่าวเช่นนี้ คนรวยก็เป็นผู้เสียสละมาทุกยุคทุกสมัย สมัยศักดินาพวกเขาก็เสียสละข้าวให้ไพร่พลกินเยอะกว่ากลุ่มอื่น หรือพวกเขาก็บริจาค และสร้างโรงทานเยอะกว่าชาวบ้านร้านตลาด

ข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์นับเป็นข้อเสนอแรกๆ ที่พูดถึง “อัตราความก้าวหน้า” ของภาษี กล่าวคือการวางรากฐานว่า “ผู้ที่มีมากกว่าก็ต้องส่งกลับคืนเข้าสู่สังคมมากกว่า” หรือความรวยและอำนาจของพวกเขาไม่ได้วางอยู่บนสุญญากาศ แต่ล้วนได้มาจากหยาดเหงื่อของผู้คนธรรมดาที่ทำงานหนัก เกษตรกร แรงงาน

ในปัจจุบันมาตรการทางภาษีของไทยสร้างปัญหา นโยบายทั้งระยะสั้นและระยาวในการลดหย่อนภาษีกลับกลายเป็นส่วนที่ “ลดระดับความก้าวหน้าของภาษี” เพราะทำให้คนรวยได้ประโยชน์จากนโยบายมากกว่า และเมื่อพิจารณาในปัจจุบัน เราจะพบว่าคนมีรายได้น้อยเสียภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมสูงกว่าคนรวยที่นอกจากมีทรัพย์สิน อำนาจ ทรัพยากรยังมีโอกาสในการหลบเลี่ยงภาษีทั้งอย่างถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายได้หลายทาง

เมื่อพิจารณาจะเห็นได้ว่าข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นข้อเสนอร่วมสมัย ในสังคม แม้มีหลายภารกิจที่มีความคืบหน้า แต่ปัญหาหลายส่วนเองก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ตามประเด็นที่ได้ยกมาไม่ว่าจะเป็นบทบาทของกลุ่มทุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งเราควรมีทางเลือกมากกว่า รัฐรวมศูนย์และกลุ่มทุนเอกชน เช่นเดียวกันกับปัญหาสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบัน การออกแบบนโยบายดูจะล้าหลังกว่ายุคของปรีดี พนมยงค์ ที่เรานำชีวิตของคนธรรมดามาประเมินความคุ้มค่าว่าสิ่งใดไม่ควรทำ และสุดท้ายประเด็นภาษีและการลดความเหลื่อมล้ำเราจะเห็นได้ว่า แม้ข้อเสนอที่เรียบง่ายของปรีดี พนมยงค์เมื่อ 90 กว่าปีก่อน ในปัจจุบันยังไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จสมบูรณ์ได้ อำนาจของกลุ่มทุนที่มีผลต่อการกำหนดนโยบาย ในภาพใหญ่ยังคงชัดเจนและฝังรากลึก

หากผู้เขียนจะสรุปเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” และ ข้อเสนอใน “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” หาใช่เรื่องพ้นสมัย หาใช่เรื่องที่มีความเฉพาะของยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง แต่ยังคงเป็นเรื่องที่เรายังต้องผลักดันกันอย่างจริงจังในยุคสมัยของเราอย่างต่อเนื่องเช่นกัน